วันพุธที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ความเว่อร์ของผู้นำ


ผมเริ่มร่างเค้าโครงบทบรรณาธิการฉบับนี้ไว้ในใจคร่าวๆ ขณะกำลังเดินทางเที่ยวเล่นอยู่ในภาคเหนือของประเทศอียิปต์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา


พูดให้เฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้น ก็ต้อง “Zoom-in” เข้าไปใกล้ๆ อีกนิด คือขณะที่อยู่ในเมือง Alexandria ชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียนด้านทวีปอาฟริกา

และเมื่อ “ซูมอิน” จากตรงนั้นเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง ก็จะเห็นผมยืนอยู่บนฝั่ง กำลังมองออกไปยังท้องทะเลสีครามเข้ม ท่ามกลางแสงแดดเปรี้ยง ณ Montazah ซึ่งเคยเป็นพระราชวังฤดูร้อนของกษัตริย์ฟารุคแห่งอียิปต์ก่อนที่จะโดนประชาชนลุกฮือขึ้นขับไล่ออกนอกประเทศและสละราชสมบัติใน พ.ศ. 2495


เดี๋ยวนี้จึงกลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตลอดจนหนุ่มสาวชาวอียิปต์ที่นิยมมาปิกนิก นำเสื่อมาปู เอาแซนวิชมานั่งกิน คุยและหยอกเอิน กระจุ๋มกระจิ๋ม พอหอมปากหอมคอ สุดแท้แต่กรอบเกณฑ์ของสัมคมมุสลิมจะมีขันติธรรมให้ได้โดยไม่เวอร์จนเกินไปนัก

ชาวอียิปต์ที่พาผมมาที่นี่ เป็นคนมีความรู้แยะเพราะผ่านโลกมามาก (ก่อนหน้านี้เขาได้พาผมไปยังห้องสมุดอเล็กซานเดรียเพื่อดูต้นฉบับของเอกสารสมัย Ptolemy) เขาเกิดทันยุคที่กษัตริย์ยังปกครอง และบอกว่าทรัพย์สินทั้งหลายซึ่งเคยอยู่ในปราสาทราชวังได้ถูกหยิบฉวยไปจนเกลี้ยงในช่วงที่ถูกบุกระหว่างการลุกฮือ เขายังบอกความรู้สึกลึกๆ ให้ฟังว่าสมัย Kingdom นั้นดีกว่ายุค Republic โดยเฉพาะในเชิงคอรัปชั่น


ที่สำคัญ เขาได้ชี้ให้ผมดูแหลมเล็กๆ ที่งอกออกไปในทะเล และว่าตอนนี้มีนักวิชาการเชื่อกันมากแล้วว่า Lord Nelson เคยบัญชาการรบอยู่ ณ ที่นั่น ผมจึงให้ความสนใจเป็นพิเศษ


ผมเคยได้ยินวีรกรรมของ Horatio Nelson มามาก และก็เคยอ่านชีวประวัติของเขานานมาแล้ว แต่ไม่คิดว่าเขาจะเคยมายืนบัญชาการอยู่ ณ ที่นั้น นึกว่าลอยเรืออยู่กลางทะเลแถวอ่าว Abu Qir (ใกล้ๆ ตรงนั้น) หรือไม่ก็อยู่บนเกาะเล็กๆ Nelson Island ที่ตอนนี้ค้นพบหลุมศพทหารนิรนามจำนวนมาก ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นทหารอังกฤษที่เสียชีวิตระหว่างการรบครั้งนั้น ที่เรียกว่า “ศึกลำน้ำไนล์” (“Battle of the Nile” แต่คนอียิปต์ออกเสียงเรียกแม่น้ำไนล์ว่า “นิล”)


การพ่ายแพ้ของกองทัพเรือฝรั่งเศสครั้งกระโน้น เป็นผลให้นโปเลียนถูกตัดขาดจากกองหนุน และทำให้เขาพ่ายแพ้ในอียิปต์ จนต้องแอบหนีกลับฝรั่งเศสก่อน Egyptian Campaign ของเขาที่คิดจะตัดทอนกำลังของจักรวรรดิอังกฤษด้วยการเข้าครอบครองเส้นเลือดใหญ่ที่เป็นทางผ่านของความมั่งคั่งทั้งมวล ซึ่งไหลเวียนไปมาระหว่างอังกฤษและอินเดียและอาณานิคมในเอเชียตะวันออก ก่อนจะเข้าตีเกาะอังกฤษตามความฝันของเขาต้องล้มเหลวลงโดยสิ้นเชิง


ผมจินตนาการเห็นเนลสันบัญชาการโดยให้โบกธงสีต่างๆ เป็นระหัสสั่งการโดยตรงถึงผู้บัญชาการเรือรบอังกฤษแต่ละลำ ให้ปล่อยมุกเชิงกลยุทธ์และ Tactics ของแต่ละคนอย่างสอดรับกัน เพราะการรบดำเนินอยู่นอกชายฝั่งและสมัยนั้นยังไม่มีโทรศัพท์มือถือหรือดาวเทียมสื่อสาร แม้แต่วิทยุสนามก็ยังไม่มี คือแบบว่า ยุครัชกาลที่ 1 โน่นแล้ว


คนอังกฤษเขานับถือเนลสันมาก เพราะควบคุมน่านน้ำให้กับ British Empire ตั้งแต่เมดิเตอร์เรเนียนตลอดไปจนชายฝั่งแอตแลนติกทั้งหมด ซึ่งถือเป็นเส้นทางสำคัญที่สร้างความมั่งคั่งให้กับจักรวรรดิ เขาสร้างชื่อด้วยการเอาชนะกองทัพเรือฝรั่งเศสศัตรูหมายเลขหนึ่งของอังกฤษหลายครั้งหลายหนด้วยกลยุทธ์การรบที่ชาญฉลาด แยบคาย และบางครั้งก็เหลือเชื่อ เขาจึงเป็นฮีโร่ของคนอังกฤษตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ แม้ตอนตาย ก็ได้ทำพิธีศพอย่างอลังการและสร้างอนุสาวรีย์ที่ยิ่งใหญ่กลางกรุงลอนดอนและขนานนามให้ว่า Trafalgar Square เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ความกล้าหาญ เสียสละ และการรบครั้งสุดท้ายที่ปลิดชีพเขา


ตามประวัติแล้วเนลสันเป็น Military Genius ที่กล้าหาญมาก เขาผ่านการรบมาเป็นร้อยครั้ง ตั้งแต่เด็กจนโต อยู่ท่ามกลางห่ากระสุนและคมหอกดาบอย่างใกล้ชิด แต่ก็แปลกที่ไม่เคยได้รับบาดเจ็บเลย ยกเว้นตอนหลังที่เขาต้องสูญเสียการมองเห็นไปข้างหนึ่ง อันเนื่องมาแต่ลูกหลงขณะพัวพันการรบในศึกที่เรียกว่า “The Siege of Calvi” และบาดเจ็บที่แขนขวาจนต้องตัดทิ้งระหว่าง “ศึกซางตาครูซ” (“The Battle of Santa Cruz”)


ทว่า คนเรานั้น แม้ว่าจะฉลาดแค่ไหน ยิ่งใหญ่ เก่งกาจ รอบคอบ หรือ Perfect เพียงใด ก็ย่อมต้องมี “จุดอ่อน”


นิสัยอันเป็นจุดอ่อนฉกรรจ์ของเนลสัน คือความเป็นคน “ขี้โอ่”


เนลสันภูมิใจอย่างยิ่งกับความเป็นฮีโร่ของเขา และต้องแสดงออกด้วยการแต่งตัวเต็มยศ ประเภทเหรียญตราเต็มหน้าอก เครื่องราชฯ สายสะพาย หรือแม้แต่ประดับมาลา ต้องแบบเต็มยศเสมอ เมื่อเขาปรากฏกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานที่สาธารณะ


หากใช้ภาษาสมัยนี้ ก็ต้องว่า “ชอบโชว์”


ท่านผู้อ่านลองสังเกตรูปวาดของเขาที่หลงเหลือตกทอดมาจนบัดนี้ก็ได้ว่าผมพูดจริงหรือไม่ (ลองคลิกดูรูปวาดที่ประดับอยู่ใน National Maritime Museum ณ หมู่บ้านกรีนวิช ชานกรุงลอนดอน ก็จะเห็นความแวววาวของเครื่องราชฯ แห่งจักรวรรดิและราชวงศ์อังกฤษ หรือแม้แต่ภู่ปีกนกยูงเงินประดับมาลาซึ่งสุลต่านแห่งตุรกีมอบให้เขาเพื่อเป็นเกียรติต่อชัยชนะในศึกแม่น้ำไนล์....(ท่านผู้อ่านลองคลิกดูได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/File:HoratioNelson1.jpg หรือ http://www.nmm.ac.uk/upload/package/49/index.htm )


และจุดอ่อนอันนี้เองที่นำภัยร้ายแรงถึงแก่ชีวิตมาสู่เนลสัน


วันที่เขาถึงฆาต เขากำลังบัญชาการรบอยู่ท่ามกลางกองเรือผสมฝรั่งเศส-สเปนในน่านน้ำสเปน ที่เรียกกันภายหลังว่า “ศึกแห่งทราฟัลก้า” (Battle of Trafalgar) และเขาก็แต่งตัวเต็มยศในเครื่องแบบนายพลเรือและบรรดาศักดิ์อย่างท่านลอร์ดแห่งจักรวรรดิอังกฤษ มัดผม Pigtail สมฐานะ ราวกับเป็นเวลาปกติ โดยระหว่างนั้นเอง ที่หน่วยสไนเปอร์แม่นปืนของศัตรูสังเกตเห็นความแวววาวของเหรียญตราที่วอบแวบมาแต่ไกลแต่อยู่ในระยะยิง จึงได้ลั่นกระสุนสังหารเนลสันลงโดยง่ายดาย เป็นอันจบสิ้นตำนานของ Military Genius ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดที่กองทัพเรืออังกฤษเคยมีมา

ผมหยิบสมุดโน๊ตที่ตัวเองเคยบันทึกไว้ตอนไปดูชุดฟอร์มที่เนลสันสวมใส่ในวันสุดท้าย ซึ่งแสดงอยู่ ณ National Maritime Museum ก็พบรายละเอียดเครื่องประดับโลหะดังนี้คือ กระดุมทองตราสมอลงยาประดับยศ Vice-admiral ข้างหน้าซ้าย 9 เม็ดเรียงแถวลงมาตามแนวเสื้อคลุมยาว และข้างขวาอีก 9 เม็ด ข้างหลังซ้าย 3 เม็ด เรียงหน้ากระดานราวเอว และขวาอีก 3 เม็ด กลาง 2 เม็ด ติดแบบสมดุล และรอบแขนเสื้ออีกข้างละ 6 เม็ด อินทนูบนบ่าทั้งสองข้างเลี่ยมทองทั้งแผ่นบนและภู่ที่ย้อยลงปกไหล่ เหรียญเครื่องราชฯ ใหญ่ๆ บนแผ่นอกซ้ายอีก 4 เหรียญฯ กลัดติดตั้งแต่ช่วงราวอกเหนือหัวใจลงมาถึงข้างเอว โดยพบรอยกระสุนสังหาร 4 นัด เจาะเข้าไหล่ซ้ายวกผ่านกระดูกสันหลัง เจาะเข้าแถวท้องน้อยหรือสะดือผ่านเข้าอวัยวะสำคัญภายใน และเจาะเข้าระหว่างเป้า โดยเม็ดสุดท้ายเจาะเข้าที่ขาท่อนล่างราวหน้าแข้ง.....


Irony of Life ของกรณีเนลสันนี้ เป็นบทเรียนสำคัญที่คนอังกฤษรุ่นหลังจดจำไว้สืบมาจนกระทั่งบัดนี้


อันที่จริง “ความขี้โอ่” หรือ “ชอบอวดอ้าง” “อวดวิเศษวิโส” "อวดใหญ่อวดโต" "อวดศักดา" หรือ “ชอบโชว์” หรือ “ขี้เห่อ” หรือ “ขี้คุย” หรือนิสัยอะไรก็ตามในทำนองนี้ เป็นธรรมดาของมนุษย์ (ในที่นี้ผมขอใช้คำว่า “ความขี้โอ่” แทนนิสัยทำนองนี้ไปพลางๆ ก่อน)


และมันก็มีดีกรีการแสดงออกของแต่ละคนต่างกัน เริ่มแต่แบบหยาบไปจนถึงแบบละเมียดหรือแยบคาย สุดแท้แต่ความรู้ รสนิยม ระดับการศึกษา ตลอดจนการถูกเลี้ยงดู ระดับความมั่นใจในตัวเอง ความยับยั้งขั่งใจ ตลอดจนปัจจัยเชิงจิตวิทยาทั้งมวล ของเจ้าของนิสัยนั้นเอง ณ ขณะหนึ่งๆ


บางคนแสดงออกด้วยการซื้อ Bentley รุ่นใหม่คันละหลายสิบล้าน แต่บางคนก็แสดงออกด้วยการสะสม Bentley รุ่นเก่าหายากประเภทในโลกนี้มีหลงเหลืออยู่ไม่กี่คันและคันที่อยู่กับข้านี้คือคันที่พระองค์เจ้าพีระเคยขับชนะมาก่อนในครั้งกระโน้น บางคนซื้อกระเป๋าหลุยส์ทุกรุ่นที่ออกมาใหม่ สะสมไว้เป็นร้อยเป็นพัน และเมื่อซื้อแต่ละครั้งก็ต้องเป็นข่าว แบบว่าตั้งใจซื้อโชว์ แต่บางคนกลับมีแค่ใบเดียว ทว่าเป็นใบที่ช่างฝีมือของหลุยส์ตัดเย็บให้เป็นพิเศษโดยใช้วัสดุพิเศษสุดๆ ด้วย โดยเธอผู้นั้นกลับไม่เลือกเป็นข่าว แต่ให้พวกไฮโซรับรู้กันเองเป็นการภายในเพียงไม่กี่คนและลือกันปากต่อปากจนกลายเป็นตำนาน บางคนแสดงออกด้วยการสร้างบ้านหลังละหลายร้อยล้านบาท เรียงไปด้วยเสาโรมันอลังการและวางตี่จู๋เอี้ยไว้เสาหว่างเสา (ผมขอยืมคำของอาจารย์แดง ไบเล่) แต่บางคนกลับใช้เวลาเป็นสิบปีเสาะหาเรือนไทยโบราณหลายๆ หลังแล้วมายุบรวมกันเป็นบ้านตัวเอง หรือบางคนก็แสดงออกด้วยเครื่องราชอิสริยาภรณ์โก้หร่านและแสดงตัวเป็นถุงเงินถุงทองให้กับนักการเมือง และอ้างตัวเป็นผู้จัดการเงาของพรรคการเมืองโน้นนี้ ทว่าบางคนกลับสามารถเข้าพบผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองได้แบบเดินเข้าบ้านโน้นออกบ้านนี้ หรือวังโน้นวังนี้ได้เกือบตลอดเวลา และก็เป็นข่าวแบบซุบซิบๆ ในหมู่ชนชั้นผู้นำและบรรดาไฮโซเสมอ เมื่อทำแบบนั้น ฯลฯ


“ความขี้โอ่” ย่อมมีข้อดีและเป็นคุณถ้าถูกใช้ไปในเชิงสร้างสรรค์ ในโลกนี้มีการให้รางวัลสำคัญๆ มากมายเพื่อตอบแทนความคิดอันลึกล้ำหรืองานอันบรรเจิด หรือแม้กระทั่งความเพียรพยายามอันน่ายกย่อง...รางวัลโนเบล รางวัลออสการ์ รางวัลพูลิตเซอร์ รางวัลศรีพบูรพา รางวัลเมฆขลา ทุนอานันทมหิดล ทุนเล่าเรียนหลวง ตำแหน่งรัฐบุรุษและรัฐบุรุษอาวุโส ฯลฯ


นี้ยังไม่นับเหรียญตราต่างๆ ที่ให้กับพวก “ของจริง” ตลอดจนเหรียญเงิน ทอง ทองแดง ที่ให้กับผู้ชนะการแข่งขันกีฬา เช่น ถ้วยจูลิเม่ เหรียญทองโอลิมปิก หรือ วิลเบอร์ดัล เป็นต้น


เหล่านี้นับว่าเป็นการใช้กลไกของความขี้โอ่หรือความอยากอวดอยากโชว์ในใจคนนั่นแหละ เป็นตัวกระตุ้นผลักดันให้คนทำความดี ความสร้างสรรค์ และความเพียร โดยผลลัพธ์ที่ออกมานอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่ม สมาคม สังคม ประเทศชาติ และมวลมนุษยชาติโดยรวมแล้ว ยังบังเกิดความจรรโลงใจและความยินดีให้กับคนที่ได้รับรางวัลหรือเกียรติยศนั้น จนเพื่อนฝูงพี่น้อง ตลอดจนคนทั่วไปที่พบเห็นและรับรู้เรื่องราวเหล่านั้นในวงกว้างอีกด้วย (ผมเคยเห็นเพื่อนที่ดูถ่ายทอดสดการแจกรางวัลออสการ์แล้วน้ำตาไหลเมื่อดาราในดวงใจได้รับรางวัล หรืออย่างแม่ยายผมนั้นจะไม่ออกจากบ้านไปไหนเลยเมื่อมีโปรแกรมถ่ายทอด “เอเอฟ” เป็นต้น)

การแข่งกันทำความดี แข่งกัน “ให้” แข่งกันตั้งกองทุน ตั้งมูลนิธิ และโชว์ออฟแบบพวก Philanthropist หรือมหาเศรษฐีระดับโลก ตลอดจนบรรดากิจการขนาดยักษ์ใหญ่ที่หันมาใส่ใจกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาสังคมผ่านโครงการ CSR หรือ Sustainability ทั้งหลาย ก็ล้วนเป็นความขี้โอ่ในเชิงสร้างสรรค์ทั้งสิ้น



และถ้าจะว่ากันในเชิงเศรษฐกิจแล้ว “ความขี้โอ่” ย่อมมี Economic Value ถึงแม้จะไม่ชัดเท่า “ความขยัน” เพราะหากเปรียบเทียบราษฎรของสองประเทศ ประเทศกอไก่ขยันขันแข็ง ประเทศขอไข่เกียจคร้านสันหลังยาว แน่นอนว่าประเทศกอไก่ย่อมมั่งคั่งกว่า แต่ถ้าราษฎรของประเทศกอไก่ มีแต่คนขี้โอ่ ชอบอวดชอบโชว์ ก็อาจจะมีแต่การบริโภคสินค้าและบริการแบบออกนอกหน้า ทว่า ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิต สื่อ และอุตสาหกรรมโฆษณาประชาสัมพันธ์

“ความขี้โอ่” ทำให้เกิดพฤติกรรมการบริโภคที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Conspicuous Consumption นักการตลาดและผู้ผลิตสินค้าแบรนด์เนมทั้งหลายย่อมเข้าใจเรื่องแบบนี้ดี กลยุทธ์การตลาดและ Branding นั้น เกี่ยวข้องพัวพันกับนิสัยขี้โอ่ของคนอย่างแยกไม่ออก


ผม Observe มานานแล้วว่าผู้ผลิตสินค้า Brand Name ในยุโรปนั้นเข้าใจกิเลสมนุษย์และ “ความขี้โอ่” อย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขี้โอ่ของบรรดา “เศรษฐีใหม่” ทั้งหลาย


ผมยกตัวอย่างจีนที่คนเพิ่งจะรวยขึ้นมาได้สักยี่สิบปีมานี้ ตอนแรกๆ ก็ใช้ของญี่ปุ่นหรือไต้หวันกันมาก แต่พอรวยขึ้นมาอีกนิด ก็ต้องนั่งรถเยอรมัน ใส่นาฬิกาสวิส ใช้ปากกาสวิส ใส่รองเท้าอิตาลี เข็มขัดอิตาลี ถือกระเป๋าฝรั่งเศส เสื้อเชิ้ตจากฝรั่งเศส เน็กไทฝรั่งเศส ดื่มไวน์ฝรั่งเศส วิสกี้สก๊อช และตัดสูทจากลอนดอน เป็นต้น


แม้แต่ผ้าพันคอของฝรั่งเศสบางยี่ห้อ ขายกันผืนละสองแสนบาท ก็มีคนซื้อและขายดีด้วย! ผมจึงยกย่องผู้ผลิตยุโรปมากว่าพวกเขาเข้าใจกิเลสเศรษฐีใหม่ได้อย่างลึกซึ้งถึงกึ๋นจริงๆ และอยากให้ผู้ประกอบการ SME ไทยศึกษา Secret Code อันนี้กันให้มาก


ปรากฎการณ์แบบจีนนี้ก็เคยเกิดขึ้นกับเศรษฐีรุ่นใหม่ของไทยมาก่อน และก่อนหน้านั้นก็เคยเกิดกับสิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และก่อนหน้าของก่อนหน้านั้นก็เคยเกิดกับญี่ปุ่น


แน่นอน “ความขี้โอ่” นั้นย่อมมีโทษ โดยเฉพาะการอวดร่ำอวดรวย


ผมเพิ่งอ่านนวนิยายเรื่อง “คนนอก” ของอัลแบร์ กามูส์ จบไปหมาดๆ ผมติดใจกับเรื่องเล่าตลกร้ายของเมอโซ พระเอกหนุ่มตามท้องเรื่อง ที่ก่อนเขาจะถูกประหาร เขาได้เล่าข่าวชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเชคโกสโลวะเกีย โดยผมจะขอคัดลอกสำนวนแปลของอาจารย์อำภา โอตระกูล มาให้อ่านกันดังนี้ “...ชายผู้หนึ่งจากหมู่บ้านของตนไปเพื่อแสวงหาโชคลาภ 25 ปีให้หลังร่ำรวยขึ้น เขาได้เดินทางกลับมาพร้อมภรรยาและบุตรคนหนึ่ง แต่เนื่องจากมารดาของเขาทำกิจการโรงแรมอยู่กับพี่สาวของเขาที่หมู่บ้านเดิม เพื่อจะทำความแปลกใจให้แก่ทั้งสอง เขาจึงทิ้งภรรยาและบุตรไว้ที่ที่พักอีกแหล่ง ขณะที่ตนเองแยกไปยังบ้านมารดาซึ่งจำบุตรของนางเองไม่ได้ เมื่อเขาเข้ามาเพื่อความสนุก จึงทำเป็นขอเช่าห้องพักห้องหนึ่งพร้อมกับอวดเงินของเขา ตกกลางคืน มารดาและพี่สาวของเขาได้ร่วมมือกันฆ่าเขาตายโดยใช้ค้อนทุบเพื่อขโมยเงิน ก่อนจะนำศพไปทิ้งลงแม่น้ำ ตอนเช้าภรรยาของเขามาถึง เรื่องทั้งหลายแหล่จึงเปิดเผยขึ้น หลังจากนั้นตัวมารดาได้ผูกคอตาย ส่วนคนเป็นพี่สาวไปกระโดดน้ำจบชีวิตลงเช่นกัน.....”


เห็นไหมครับว่าการอวดร่ำอวดรวยส่งผลร้ายอันไม่คาดฝันเช่นไร!


ยิ่งในทางการเมืองด้วยแล้ว ความอวดร่ำอวดรวยยิ่งเป็นภัยมหันต์ ผมคิดว่าการล่มสลายทางการเมืองของทักษิณและครอบครัว ส่วนหนึ่งเกิดจากความอิจฉาริษยา เนื่องเพราะเขาและครอบครัวชอบแสดงความอวดร่ำอวดรวยให้เห็นอยู่ตลอดเวลา หรืออย่างผู้มีอำนาจยุคหลังทักษิณที่ทำท่าว่ากำลังจะตกจากอำนาจอยู่รอมร่อ ก็เป็นกลุ่มที่แม้จะขึ้นครองอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองได้ไม่นาน ก็เข้าซื้อทีมฟุตบอลอังกฤษอย่างเอิกเกริกเสียแล้ว


ไม่มีราษฎรที่ไหนชมชอบผู้นำที่อวดร่ำอวดรวย อวดอัครฐาน ดำเนินชีวิตแบบ Luxury และ Extravagant Life ในขณะที่ราษฎรส่วนใหญ่ยังยากจน แม้รัชกาลที่ 6 เอง ก็ทรงพังเพราะเหตุนี้


ผู้นำทางการเมืองของไทยที่ประสบความสำเร็จล้วนเป็นผู้มีภาพออกไปในเชิงพอเพียง เป็นอยู่แบบง่ายๆ Low Profile และไม่ชอบอวดวิเศษณ์ บางคนก็อยู่ตัวคนเดียว ไม่มีลูกเมีย ไม่มีและไม่สะสมทรัพย์สมบัติส่วนตัว บางคนเป็นนายกรัฐมนตรีมาสองรอบ แต่ก็อยู่บ้านไม้เล็กๆ ในซอยเล็กๆ แถวประตูน้ำ บางคนมีเพียงรถปอร์เช่และรีสอร์ตบนเขายายเที่ยง ไม่ได้มีอพาร์ตเม้นต์หรูที่ Mayfair หรือ Park Avenue แต่อย่างใด หรืออย่างนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันก็ยังอาศัยบ้านพ่อแม่อยู่ แม้จะมีครอบครัวและลูกๆ ก็โตกันหมดแล้วก็ตาม

คนไทยนั้นแม้จะนิยมและภูมิใจในอัครฐานของสถาบันหลักของชาติ เช่นความยิ่งใหญ่อลังการของพิธีกรรมที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ แต่ก็ไม่ชอบให้ผู้นำในฐานะตัวบุคคลเป็นคนขี้โอ่


Bad Habit ของชนชั้นปกครองและรัฐบาลทุกรัฐบาลตลอดจนราชวงศ์ทุกราชวงศ์ที่จะนำมาซึ่งความล่มสลายของตัวเอง ก็คือ “ความเว่อร์” ของผู้นำนั่นแหละ (ผมอยากจะใช้ภาษาอังกฤษว่า “Hubris”)

แต่ก็แน่นอน เราคงไม่คาดหวังให้ผู้นำมาเดินดินกินข้าวแกง ผู้นำต้องมีคนล้อมหน้าล้อมหลังบ้าง ไปไหนก็ต้องมีคนเปิดประตูให้ ขับรถให้ และคงไม่สามารถมาเดินเล่นในสวนสวยๆ หน้าตึกไทยคู่ฟ้าได้ แม้พรรณไม้จะงามเพียงใด หรือคงไม่สามารถมาเดินจับมือเด็ก คนแก่ คนจนในสลัม ในชนบท ตลอดจนคนเร่ร่อนผู้อาภัพทั้งหลายได้ทั้งหมด แม้พวกเขาจะต้องการกำลังใจและการเหลียวแลจากผู้นำของเขา แม้แต่จะอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานานก็คงจะทำไม่ได้และไม่ปลอดภัย

ประธานาธิบดีลิงคอนที่ถูกยิงตายในโรงละครก็เพราะนั่งในที่แจ้ง ไฟสว่าง และโดดเด่น เป็นเป้าหมายชัดเจนเกินไป หรืออย่าง JFK ก็ประมาทไปนิด ยอมเปิดหน้าเปิดตาบนรถเปิดประทุนในที่โล่ง ท่ามกลางฝูงชนและหมู่ตึกในรัศมียิง

ผมอยากจะจบบทบรรณาธิการนี้ด้วยข้อความที่ผมคัดลอกมาด้วยมือ (เพราะเขาห้ามถ่ายรูป) จากคำบรรยายใต้ภาพเนลสัน ที่ใช้สีน้ำมันวาดลงบนผืนผ้าใบ (Oil on canvas) โดย Sir William Beechey ซึ่งแขวนอยู่บนผนังของห้องหมายเลข 17 ณ National Portrait Gallery หลังจตุรัสทราฟัลก้ากลางกรุงลอนดอนว่า

“Nelson’s last engagement was his greatest victory, Beechey’s sketch capture the proud resolve of the admiral who, refusing to cover his glittering medals, was killed by a sniper while destroying the combined French and Spain fleets at the Battle of Trafalgar in 1805.” (ผมขีดเส้นใต้ของผมเอง..และผู้อ่านที่สนใจอาจหาดูภาพนั้นได้ทางอินเทอร์เน็ต)


พบกันใหม่ฉบับหน้าครับ


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
17 ตุลาคม 2553
เมย์แฟร์, ลอนดอน


ไหนๆ ก็เขียนถึงเรื่อง "ขี้โอ่" ผมก็ขอโชว์รูปตัวเองกับลูกสาวซะเลย
ส่วนรูปแรกนั้นกำลังเดินอยู่ในสวน Scholar Garden ณ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และรูปที่สองอยู่บนยอดไม้ (Treetop Walkway) ณ Kew Garden...นานๆ ก็ควรจะเห็นหน้าค่าตากันมั่ง ระหว่างคนเขียนกับคนอ่าน ครับ

ขุมทรัพย์สุดปลายฟ้า ของผู้ประกอบการไทย



To discover the planet, mankind would have to be liberated from ancient hopes and fears, and open the gateways of experience. The largest dimensions of space, the continents and the oceans, were only slowly revealed. The West proved a vantage point, and for most of history the West would be the discoverer, the East the discovered. The first reaches from the West to another half of the planet came from laborious and lonely overland travelers. But the full extent of the planet could be glimpsed only by organized communities of adventures on the sea, which became a highway to grand surprises.


Daniel J. Boorstin
The Discoverers (1983, page 79)



ผมเคยตั้งคำถามกับตัวเองนานมาแล้วว่า ทำไมคนจีนถึงไม่ใช่พวกแรกที่เดินเรือไปพบอเมริกา ทั้งๆ ที่พวกเขาเดินเรือไปค้าขายที่โน่นที่นี่มาช้านาน แถมยังค้าขายกับฝรั่งผ่านตะวันออกกลางมาก่อนหน้านั้นเสียอีก อีกทั้งพวกมองโกลก็เคยบุกยึดไปไกลจนถึงยุโรปตะวันออกมาแล้ว


ทำนองเดียวกัน ทำไมพวกอาหรับและอินเดียถึงไม่มีใครคิดจะเดินเรืออ้อมแหลมกู๊ดโฮปไปยุโรปและต่อไปจนรอบโลก ทั้งๆ ที่ตัวเองก็รู้อยู่ว่ายุโรปเป็นยังไงเพราะตัวเองควบคุมคาราวานสินค้าในฐานะพ่อค้าคนกลางระหว่างเอเซียกับยุโรปอยู่แท้ๆ ทำไมรอให้ฝรั่งโปรตุเกสและสเปนมาสำเร็จภาระกิจนี้


องค์ความรู้ก็มี เทคโนโลยีก็มี แต่เพราะอะไรหรือ พวกเขาถึงไม่ “สร้าง” ภาระกิจอันนี้


แม้ผมจะยังหาคำตอบที่พอใจไม่ได้ แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะคำถามย่อมสำคัญกว่าคำตอบ !

ผมมีเพื่อนหลายคน ตลอดจนผู้หลักผู้ใหญ่ที่ผมรู้จัก จำนวนมากเป็นนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จ บางคนเป็นผู้บริหารระดับสูงของกิจการแสนล้าน ท่านเหล่านั้น เมื่อสนทนากันเรื่องธุรกิจ เศรษฐกิจ การเมือง และความเป็นไปของโลก ตลอดจนความยิ่งใหญ่ของฝรั่ง และการขึ้นมาของจีน ท่านก็มักจะพูดว่า “คุณรู้หรือเปล่าว่า...(สิ่งประดิษฐ์) อันนั้น อันนี้ คนจีนคิดได้ก่อนฝรั่งตั้งนานแล้วน๊ะ” ฯลฯ หรืออะไรทำนองนี้แหละ ทำให้การสนทนาเปลี่ยนทิศทางไป

จะว่าคนจีน อินเดีย หรืออาหรับ ไม่มีคุณสมบัติของ Entrepreneur หรือที่เรียกเป็นภาษาสมัยใหม่ว่า Entrepreneurial Spirit ก็ไม่เชิง พวกเขาเหล่านั้นพิสูจน์ให้เราเห็นตลอดมาว่า เปี่ยมไปด้วยจิตใจผจญภัย กล้าได้กล้าเสีย อยากครอบครองทรัพย์ แสวงหาทรัพย์สมบัติและโอกาสอยู่เป็นนิตย์ อยากชนะ ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคทั้งปวง ขยันหมั่นเพียร อดทน อดออม ใจกว้าง มีลักษณะผู้นำ ฯลฯ

พวกเขาเหล่านั้นเคยครอบครองอาณาเขตทั่วท้องน้ำเอเชียตะวันออกแต่โบราณ ก่อนสมัยที่ฝรั่งจะมาเพ่นพ่านเสียซ้ำ พวกเหล่านี้แหละที่ช่วยเผยแพร่อารยธรรมต่างๆ รวมถึงศาสนาพุทธ อิสลาม และขงจื้อด้วย

เจ้าพระยาพระคลัง ตลอดจนกรมท่าซ้าย กรมท่าขวา ซึ่งเป็นผู้ควบคุม International Trade ทั้งมวลของไทย ทั้ง Import และ Export นับแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมา จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ล้วนแต่เป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากอาหรับ อินเดีย และจีน แทบทั้งสิ้น (กระทั่งปัจจุบัน ขณะที่ผมกำลังนั่งเขียนต้นฉบับอยู่นี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อธิบดีกรมศุลกากร และปลัดกระทรวงการคลัง ก็สืบเชื้อสายมาจากชาวจีน)

หากกวาดสายตาไปทั่วดินแดนอุษาคเนย์ในปัจจุบัน เราก็จะพบว่านักธุรกิจเชื้อสายจีนนั่นแหละ ที่ยึดกุมธุรกิจส่วนใหญ่เอาไว้ ไม่เชื่อก็ดูไปตั้งแต่ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ พม่า เขมร ลาว ญวน นี่ยังไม่นับฮ่องกงกับไต้หวัน ที่เป็น Derivative ของจีนโดยตรง และไม่ได้สังกัดอยู่ใน South-East Asia


ในฐานะบรรณาธิการ ผมได้มีโอกาสพูดคุยและสัมภาษณ์คนในแนวลึกเป็นจำนวนมาก เมื่อสบโอกาส ผมมักจะตั้งคำถามกับนักธุรกิจใหญ่ นักคิดคนสำคัญ นักวิชาการตามมหาวิทยาลัย หรือนักการเมืองหัวใหม่ ว่าทำไมผู้ประกอบการไทยถึงไม่สามารถ “สร้าง” สินค้าหรือบริการไปสู้ฝรั่งได้ ทำไมผู้ประกอบการไทยจึงชอบหากินในลักษณะ “นายหน้า” หรือ “ตัวแทน” ยอมรับรายได้เป็นค่าหัวคิว หรือส่วนต่างเล็กน้อยจากการซื้อมาขายไป แทนที่จะ “เป็นเจ้าของ” อะไรสักอย่างที่เก็บกินได้ถึงลูกถึงหลาน เหมือนกับผู้ประกอบการญี่ปุ่น ที่มี “โตโยต้า” มี “โซนี่” มี “แคนนอน” มี “ฮอนด้า” และ ฯลฯ ไปฟาดฟันกับฝรั่งในตลาดโลกได้



ผมอยากจะยกตัวอย่างคำตอบของคนสำคัญบางคน เช่นคุณธนินท์ เจียรวนนท์ ก็บอกชัดเลยว่าเทคโนโลยี (ผมแปลว่า “ความรู้”) มีอยู่ทั่วไป เหมือนอากาศที่ลอยอยู่รอบตัวเรา ผู้ประกอบการที่เก่งต้องรู้จักยื่นมือไปเลือกคว้าเอาอันที่ดีและเหมาะสมมาบวกกับเงิน และทำ (หรือจัดการ) ให้เป็น ก็จะสำเร็จ ดังนั้น เราไม่จำเป็นต้องสร้างเองตั้งแต่ต้น



ดังนั้น ถ้าท่านลองสังเกตุธุรกิจหลักของเครือซีพีทั้งเครือดู ก็จะเห็นว่าเขาต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีจากต่างประเทศทั้งสิ้น แม้กระทั่ง 7-11 ก็ยังต้องเสียค่าธรรมเนียมตอบแทนในส่วนนี้เป็นจำนวนกว่าครึ่งของกำไร เพราะลองคิดดูว่า ยอดขายของซีพีออลล์ประมาณแสนล้าน และมี Net Profit Margin ประมาณ 2-3% โดยเฉลี่ย แต่ก็ต้องมาจ่ายให้กับญี่ปุ่นเป็นเงินตั้งพันกว่าล้านต่อปี (เจ้าของตัวจริงเขาคิดค่าวิชาเป็นจำนวน 1% ของยอดขาย) คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของกำไรสุทธิ เพียงเพราะว่าต้องพึ่งพา Software จากเจ้าของตัวจริง ที่คอยมา Upgrade เวอร์ชั่นใหม่ให้เป็นระยะๆ เหมือนกับที่ Microsoft ทำกับพวกเราชาวออฟฟิสนั่นแหละ



เห็นไหมครับว่าธุรกิจของซีพีจึงต้องใหญ่ ต้องมีฐานกว้าง ซึ่งจะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องผูกขาด และต้อง Invest ใน Politic นั่นแหละครับเนื้อแท้ของ "ซีอีโอตะวันออก"


หรืออย่างคุณบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ผู้นำสูงสุดของกลุ่มสหพัฒน์ฯ ผู้ซึ่งเคยไปใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่นในช่วง Formative Years และรู้เรื่องญี่ปุ่นลึกซึ้งมาก นอกจากเรื่องค้าขายซึ่งก็ลึกซึ้งอยู่แล้ว เพราะร่ำเรียนมากับเจ้าสัวเทียมผู้พ่อโดยตรง ก็เคยให้ความเห็นว่าญี่ปุ่นเขามีคนมากมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เขาจึงพัฒนาสินค้าและบริการของเขาเองได้ ต่างกับไทยซึ่งมีคนจำนวนน้อย



ผมจึงไม่แปลกที่ Key Success Factor สำคัญของสหพัฒน์ฯ ก็คือเทคโนโลยีของญี่ปุ่นนั่นเอง และมันก็ยังคงเป็นอยู่ในขณะนี้



หรืออย่างนักธุรกิจชั้นแนวหน้าอีกหลายคนที่ผมจะไม่ขอเอ่ยนาม บางคนก็ขายรถเมอซิดีส บางคนก็ขายเหล้าขายเบียร์ บางคนก็ขายน้ำอัดลมยักษ์ใหญ่ บางคนก็ขายแอร์คอนดิชั่น บางคนขายน้ำชาเขียว บางคนขายบะหมี่สำเร็จรูป บางคนขายยา บางคนขายเครื่องดื่มบำรุงกำลัง บางคนขายโทรศัพท์มือถือและเป็นเจ้าของสัมปทานเครือข่าย ฯลฯ พวกท่านเหล่านั้น ล้วนเป็นนักธุรกิจระดับพันล้านหมึ่นล้าน แต่ไม่มีใครเลยที่เป็นเจ้าของสินค้าที่ตัวเองขายอยู่ พวกท่านล้วนเป็นแต่เพียงนายหน้าของฝรั่งหรือญี่ปุ่น ทว่า ก็ร่ำรวยมหาศาล



เมื่อผมยิงคำถามว่า ไม่คิดจะสร้างอะไรเป็นของตัวเองบ้างเหรอ ท่านเหล่านั้นต่างให้คำตอบที่คล้ายคลึงกันซึ่งทำให้ผมแปลกใจ เพราะเป็นการถามต่างกรรมต่างวาระ ท่านว่าคนไทยเราถ้าจะสร้างจริงก็สร้างได้ แต่มันไม่คุ้ม เพราะมันจะแพง



ผมได้แต่คิดในใจว่า ถ้าคุณธงชัย แม็คอินไตย์ ผู้เป็นแต่เพียงนักร้องในสังกัดแกรมมี่ สามารถทำเงินจนร่ำรวยหลักหลายร้อยล้าน แล้วคุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ผู้เป็นเจ้าของก็ต้องขึ้นหลักหลายหมึ่นล้าน และถ้า ไทยน้ำทิพย์ ของตระกูลสารสินร่ำรวยหลักหลายหมึ่นล้านแล้ว โคคาโคล่า จะได้กี่แสนล้าน และถ้าคุณทักษิณ ชินวัตร ร่ำรวยจากกิจการโทรศัพท์มือถือขนาดนี้ แล้วพวก Nokia หรือเจ้าของเทคโนโลยีตัวจริงจะได้ Top Up ไปเท่าไหร่ (แถมยังไม่ถูกยึดทรัพย์อีก)...และ ฯลฯ


ทำไมเราพอใจแค่เพียงเศษเนื้อ?


คุณพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ที่ปรึกษาใหญ่ของนายกรัฐมนตรีหลายสมัย ผู้ให้กำเนิดนโยบาย SME ซึ่งเป็นที่มาของความตื่นตัวของรัฐบาลและภาคธุรกิจไทยต่อความสำคัญของการสร้างผู้ประกอบการ จนก่อให้เกิดหน่วยงานสนับสนุนมากมาย ตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณและต่อมาถึงบัดนี้ เช่น ธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สสว. ฯลฯ ก็เคยบอกผมว่า ผู้ประกอบการเชื้อสายจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ ส่วนใหญ่ไม่คิดสู้ฝรั่ง จึงไปได้ไม่ถึงไหนในตลาดโลก



คุณพันศักดิ์บอกว่า เมื่อผู้ประกอบการเหล่านี้สร้างตัวเองด้วยการเป็นนายหน้าตัวแทนจนร่ำรวยในประเทศของตนแล้ว ก็ไม่คิดสร้างอะไรเป็นของตัวเองไปขายในตลาดโลก เพราะกลัวฝรั่ง นับถือฝรั่งว่าเก่งกว่า จะมีส่วนน้อยมากเท่านั้นที่คิดจะออกไปสู้ฝรั่งหรือญี่ปุ่น อย่างช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 สมัยที่เงินท่วมประเทศ ก็เห็นได้ชัดว่าพวกเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็หันไปเก็งกำไร อย่างเช่นซื้อขายหลักทรัพย์ หรือไม่ก็ทำอสังหาริมทรัพย์ตามๆ กันไป จนน่าผิดหวัง


คุณพันศักดิ์ว่าจะหาใครสมัยนี้เหมือนเจ้าสัวชิน โสภณพนิช สมัยก่อร่างสร้างแบงก์กรุงเทพฯ นั้นยาก ท่านว่าเจ้าสัวชินเป็น Banker ที่ตาแหลม ดูคนเก่ง (บางทีก็จ้างนักสืบให้สืบประวัติและพฤติกรรมของลูกค้า หรือผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพสูง) รู้ว่าใครจะเป็นผู้ประกอบการที่ไปได้ไกล และหัวก้าวหน้า กล้าใช้คนเก่ง คนมีความรู้ และคนหัวสมัยใหม่ ฯลฯ ว่าไปแล้ว คุณชินก็เหมือนกับ George Siemens (ผู้ก่อตั้ง Deutsche Bank) หรือ J.P. Morgan ที่มีลักษณะเป็น Entrepreneurial Banker ช่วยสร้างผู้ประกอบการให้กับประเทศของตนอย่างอเนกอนันต์ น่าเสียดายที่รุ่นหลานไม่มี Drive เช่นนั้นบ้าง เพราะถ้าสังเกตุธนาคารกรุงเทพฯ บัดนี้ ก็จะเห็นได้ไม่ยากว่า ยังหากินกับกลุ่มธุรกิจที่เป็นลูกค้าเดิมๆ ที่มีความสัมพันธ์กันมาแต่เก่าก่อน หาได้ทำตัวเป็นที่พึ่งของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ไม่ (ความข้อหลังนี้ ผมว่าของผมเอง)


ดร.ชัยอนันต์ สมุทวนิช นักวิชาการผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่ง ก็เคยให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า ผู้ประกอบการเชื้อสายจีนส่วนใหญ่ที่สามารถสร้างตัวเองขึ้นมาเป็นเจ้าสัวได้แล้ว แต่ลึกๆ กลับรู้สึกไม่มั่นคง (ท่านใช้คำว่า Insecured) ยังคงรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนจีน และจะกลับบ้าน แม้ตายแล้วได้กลับไปฝังที่โน่นก็ยังดี แม้เมืองไทยจะร่มเย็น แต่ก็ไม่คิดว่าเป็นบ้าน คงคิดว่าตัวเองเป็นแต่เพียง “ผู้อาศัย”



ดังนั้น พวกท่านจึงมักไม่เลือกที่จะลงทุนในธุรกิจที่มันถาวร เอาแค่ซื้อมาขายไป หรือเป็นนายหน้าก็พอแล้ว


ผมสังเกตุว่ารุ่นลูกหลานส่วนใหญ่ก็มักคิดไม่ต่างกันในเชิงธุรกิจ แม้รุ่นนี้จะเปลี่ยนนามสกุล เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยของไทย (แล้วก็ไปต่อ MBA จากต่างประเทศ) พูดภาษาไทย และหมดความผูกพันกับเมืองจีน แต่ก็ยังคงไม่คิดสู้ฝรั่ง เพียงแต่เขยิบสถานะจากซื้อมาขายไป มาทำโรงงานผลิต แต่ก็จะผลิตกันแบบ “รับจ้างทำของ” เป็นพื้น (ภาษาสมัยใหม่เดี๋ยวนี้เรียกว่า OEM)


อันที่จริง ความสงสัยและคำถามในใจของผม มิได้จำกัดอยู่แต่ักับประเด็น “ขีดความสามารถของผู้ประกอบการ” หรือ “Mindset” ของผู้ประกอบการไทย เท่านั้น แต่ยังขยายขอบข่ายไปสู่ Economic Apparatus ทั้งปวงด้วย



เพราะบางทีผมก็สงสัยว่า ถ้านับตั้งแต่สมัยโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ เราก็เปิดสอนวิศวกรรมศาสตร์กันมาแล้วเกือบร้อยปี เรามีด็อกเตอร์จำนวนมาก บางคนสามารถ ออกแบบเขียนแปลนแอร์โรไดนามิคได้เหมือนปอกกล้วยเข้าปาก บางคนก็เก่งขนาดช่วยออกแบบอุปกรณ์ต่างๆ ให้องค์กรนาซ่าก็มี แต่ทำไมเราไม่สามารถสร้างรถยนต์หรือมอเตอร์ไซด์ได้ ทั้งๆ ที่ประเทศเราใช้ยานพาหนะสองประเภทนี้มากเหลือเกิน (อันนี้ยังไม่นับรถไฟ เรือ หรือเครื่องบิน) หรืออย่างเครื่องจักรที่ใช้ผลิตสินค้าก็ยังต้องสั่งมาจากต่างประเทศตลอดเวลา แม้กระทั่ง Mold หรืออะไหล่ง่ายๆ ของเครื่องเหล่านั้น ยังต้องสั่งมาจากต่างประเทศด้วยราคาแพง


และถ้านับตั้งแต่มีการตั้งโรงเรียนแพทย์ขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว และมาแยกแผนกปรุงยามาเป็นคณะเภษัชกรรมศาสตร์ในเวลาต่อมา จนมีด็อกเตอร์จำนวนมาก และหลายคนก็มีความรู้เก่งกาจทะลุปรุโปร่งเรื่องสมัยใหม่อย่างวิศวพันธุกรรมไม่แพ้ฝรั่ง แต่ผมก็สงสัยว่าทำไมเราถึงผลิตยาเองไม่ได้ แม้กระทั่งยาพื้นๆ เราก็ไม่เคยมีสารตั้งต้นของตัวเอง ทั้งๆ ที่คนของเราต้องใช้ยาปีหนึ่งๆ เป็นเงินกว่าแสนล้านบาท


คำถามเช่นนี้ สามารถใช้ถามคณะอื่นๆ นอกเหนือไปจากสองคณะที่ยกตัวอย่างมานั้นได้เช่นกัน หรือแม้กระทั่งระบบการศึกษาทั้งระบบก็ได้ และเมื่อมองจาก Performance ที่ผ่านมาแล้ว พวกเราก็จะรู้สึกวังเวงเสมอ เพราะคำตอบมันลอยอยู่ในสายลม...แล้วตกลงว่า เราสอนอะไรกันเหรอในมหาวิทยาลัยและในสถาบันการศึกษาชั้นสูง


ครั้งหนึ่งเราเคยเชื่อว่าความรู้มันถ่ายทอดกันได้ หากเรายอมให้ฝรั่งหรือญี่ปุ่นเข้ามาเอาประโยชน์จากทรัพยากรและแรงงานราคาถูกของเรา พวกเขาก็จะสอนเรา หรือบอกความลับในการผลิตให้เรา (เราใช้ภาษาอย่างเป็นทางการว่า “มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี”)


แต่พอเอาเข้าจริง สิ่งเหล่านั้นก็ไม่เกิด เพราะมันจะไม่ง่ายขนาดนั้น และถ้าเราดูประวัติของญี่ปุ่น เราจะเห็นว่าญี่ปุ่นต้องลำบากกับเรื่องนี้มาก บางทีต้องส่งคนไปขโมยสูตรการผลิตที่เป็นความลับสุดยอดของฝรั่ง โดยการกลืนลงท้องแล้วฆ่าตัวตาย เพื่อให้ฝรั่งยอมส่งศพกลับบ้าน แล้วพรรคพวกที่บ้านก็ค่อยผ่าท้องออกมา


หากเรื่องเล่านี้เป็นจริง ก็หมายความว่า “การสู้ฝรั่ง” นั้นยากเย็นเพียงใด และฝรั่งจะไม่มีทางบอก “กึ๋น” ของตัวเองเด็ดขาด เพราะถ้าบอกไปแล้ว ก็เท่ากับเป็นการสร้างคู่แข่งให้กับตัวเอง

เรามี BOI มาตั้งแต่ปี 2509 มีสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาก่อนหน้านั้น ทว่า เรื่องเหล่านี้ก็หาได้เกิดขึ้นจริงจังไม่ (ผมอยากแนะนำให้ท่านผู้อ่านที่สนใจ Mindset ของเทคโนแครตไทย อ่านหนังสือเรื่อง “ไอ้เสือคล้อย” ของสำนักพิมพ์ผู้จัดการดูครับ แล้วจะเข้าใจว่าทำไม?)


ผมยังมีคำถามอีกมาก ที่ยังไม่มีคำตอบ แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะบางเรื่องคำถามสำคัญกว่าคำตอบ


ผมไม่คิดว่าคนรุ่นใหม่จะขาดแคลนความคิดสร้างสรรค์ พวกเขาสนใจ Creativity และรู้จัก Innovation ดี

พวกเขาเรียนเรื่อง Management และกรณีศึกษาของฝรั่งอย่างทะลุปรุโปร่ง พวกเขารู้เรื่องของสตีฟ จ๊อบส์ มาร์ค ซุกเคอเบิก บิล เกตต์ เจฟ บิซอส บิส สโตน เอแวน วิลเลี่ยม โฮเวิด ชู้ท และใครต่อใครที่สามารถต่อยอดเอา Management และ Design ใส่เข้าไปใน Creative Idea จนเกิดเป็นสินค้าและบริการที่ Amazing และเปลี่ยนแปลงโลก

พวกเขาไม่ขาดแคลนแรงบันดาลใจ

แต่พวกเขาก็ไม่แน่ว่าจะเหมือนกับรุ่นพ่อและรุ่นปู่ ที่ไม่คิดสู้ฝรั่ง ทั้งๆ ที่สามารถทำได้

ต่างกับผู้ประกอบการรุ่นปู่ย่าตายายของญี่ปุ่น ที่ลงมือ “สร้าง” มรดกไว้ให้ลูกหลานได้เก็บกินมาจนถึงบัดนี้

ในนวนิยายเรื่อง The Alchemist ของ Paulo Coelho (แปลเป็นไทยในชื่อ “ขุมทรัพย์สุดปลายฟ้า”) เด็กเลี้ยงแกะ Santiago นั่นแหละคือ Entrepreneur แบบไทยๆ



เขามีความฝัน เดินไปตามฝัน เพื่อหาขุมทรัพย์ แม้พบพานอุปสรรคมากมายก็ไม่ย่อท้อและไม่ละทิ้งฝัน ในระหว่างทางเขาพบรัก พยัญตราย โอกาส และิวิกฤติ ที่พรากทรัพย์เขาไปจนหมดตัวถึงสองครั้งสองครา ทว่าเขาก็ไม่ย่อท้อ



แต่เมื่อเขาเริ่มปล่อยวาง เขากลับพบขุมทรัพย์อย่างง่ายดาย



ทว่า สำหรับผู้ประกอบการฝรั่งแล้ว Story จบไปแบบนี้ มันยังไม่พอ!


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
21 กันยายน 2553

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนกันยายน 2553

ปรองดอง แต่อย่าฮั้ว



"If war among the whites brought peace and liberty to blacks, what will peace among the whites bring?"


Frederick Douglass

Speech at Washington D.C.
July 4, 1875



คนอเมริกันเชื่อแบบฟังหัวต่อๆ กันมาตั้งแต่ก่อตั้งประเทศแล้วว่า การมีกลุ่มผลประโยชน์หรือกลุ่มการเมืองหลากหลายย่อมเป็นผลดีต่อเสรีภาพของปวงชน หลักการแบ่งแยกอำนาจก็มาจากความเชื่ออันนี้

เอกสารเฟเดอรัลลิสต์หมายเลข 51 ที่ร่างโดยเจมส์ เมดิสัน หนึ่งใน Founding Fathers คนสำคัญ บอกเจตนารมณ์ไว้ชัดเจนว่าต้องใช้ความมักใหญ่ใฝ่สูง (Ambition) ของแต่ละฝ่ายมาคานกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการรวบอำนาจและนำไปสู่ความสุดขั้ว เช่นการปกครองแบบทรราชหรือสงครามกลางเมือง

ในข้อเขียนของผมชิ้นนี้ ผมจะอ้างข้อความต่างๆ ที่ผมอ่านแล้วจับใจ และเห็นว่ามีประโยชน์ น่านำมาคิดต่อ โดยสามารถมองผ่านกรอบนั้นเข้ามาในสถานการณ์ของบ้านเราขณะนี้ ที่กำลังขาดหลักการ หรือไม่รู้จะยึดหลักการพื้นฐานในเชิงประชาธิปไตย หรืออะไรดี ท่ามกลางความตึงเครียดของสังคม ที่กำลังก่อคลื่นใต้น้ำ และจ้องเผชิญหน้าที่จะใช้กำลังเข้าหักหาญ โดยมีความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึงเป็นเดิมพัน



ลำดับแรก ผมขอยกข้อความของวรรคที่สามของเอกสารดังกล่าว ที่แปลเป็นไทยโดย ดร.สมบัติ จันทรวงศ์ และคณะ ว่า “แต่หลักประกันอันยิ่งใหญ่ที่จะป้องกันการค่อยๆ รวบอำนาจทั้งหลายเข้าไว้ในฝ่ายเดียวกันนั้น อยู่ที่การให้ผู้บริหารของแต่ละฝ่ายมีช่องทางที่จำเ็ป็นตามรัฐธรรมนูญและแรงดลใจส่วนตัวที่จะต้านทานการรุกล้ำโดยฝ่ายอื่น ข้อกำหนดเพื่อป้องกันตัวในกรณีนี้ควรต้องทำไว้ให้เหมือนในกรณีอื่นๆ ทั้งปวงคือ ต้องให้ทัดเทียมกับอันตรายจากการถูกโจมตี ต้องใช้ความมักใหญ่ใฝ่สูงมาต่อต้านความมักใหญ่ใฝ่สูงกันเอง ผลประโยชน์ของมนุษน์จะต้องถูกเชื่อมโยงเข้ากับสิทธิตามรัฐธรรมนูญของตำแหน่ง การที่กลไกดังกล่าวจำเป็นสำหรับการควบคุมการใช้อำนาจไปในทางมิชอบของรัฐบาลนั้น อาจจะเป็กการสะท้อนให้เห็นถึงธรรมชาิติของมนุษย์นั่นเอง แต่ตัวรัฐบาลคืออะไรเล่าถ้าไม่ใช่การสะท้อนธรรมชาติของมนุษย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด? ถ้ามนุษย์เป็นเทวดา ก็คงไม่จำเป็นต้องมีรัฐบาล หรือถ้าเทวดามาปกครองมนุษย์ก็คงไม่จำเป็นต้องมีการควบคุมรัฐบาลทั้งจากข้างในและข้างนอก ในการสร้างรัฐบาลที่มนุษย์จะเป็นผู้บริหารเหนือมนุษยืด้วยกันนั้น ความยากลำบากอันใหญ่หลวงอยู่ตรงนี้คือ ประการแกท่านต้องทำให้รัฐบาลสามารถควบคุมผู้ที่อยู่ใต้การปกครองได้เสียก่อน แล้วค่อยบังคับรัฐบาลให้ควบคุมตัวเองเป็นการถัดไป ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการที่รัฐบาลต้องพึ่งพาอาศัยประชาชนนั้นเป็นตัวควบคุมรัฐบาลในอันดับแรก แต่ประสบการณ์ก็ได้สอนมนุษยชาติว่ายังจำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันไว้ล่วงหน้าอื่นๆ เพิ่มเติมอีก” (เดอะเฟเดอรัลลิสต์เปเปอร์: เอกสารความคิดทางการเมืองอเมริกัน แปลโดย สมบัติ จันทรวงศ์ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เกษียร เตชะพีระ วิกิจ สุขสำราญ สุวรรณา วงศ์ไวศยวรรณ, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2530 หน้า 394)



ถึงกระนั้น เมดิสันก็รู้ว่าความยากของการเมืองแบบประชาธิปไตยมันอยู่ที่ Faction Politic นี้แหละ ว่าจะบริหารยังไงถึงจะเหมาะสม โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิของเสียงส่วนน้อย โดยเขาเสนอให้ขยายขอบเขตของผู้มีส่วนร่วมออกไปให้กว้างขวางและหลากลายยิ่งขึ้น ยิ่งกว้างขวางและหลากหลายเท่าใด ยิ่งเป็นประโยชน์ต่อเสรีภาพส่วนบุคคลของปวงชนเท่านั้น



เขาเขียนว่า “....เป็นเรื่องสำคัญ อย่างยิ่งที่ไม่เพียงแต่จะต้องป้องกันสังคมไม่ให้ถูกผู้ปกครองกดขี่เท่านั้น หากแต่ยังต้องป้องกันส่วนหนึ่งของสังคมจากความอยุติธรรมของอีกส่วนหนึ่งด้วย ผลประโยชน์ซึ่งแตกต่างกันจำเป็ํนอยู่เองที่จะต้องดำรงอยู่ในพลเมืองต่างชนชั้นกัน ถ้าเสียงข้างมากเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพราะผลประโยชน์ร่วมกันสิทธิของคนส่วนน้อยย่อมจะไม่มั่นคง มีวิธีการป้องกันสิ่งเลวร้ายนี้เพียงสองวิธีเพียงเท่านั้น วิธีหนึ่งโดยการสร้างเจตนารมย์ที่เป็นอิสระจากคนส่วนใหญ่ขึ้นในประชาคม นั่นคือเป็นอิสระจากสังคมเอง อีกวิธีหนึ่งโดยการทำให้สังคมประกอบด้วยพลเมืองประเภทต่างๆ แยกจากกันมากมายหลายประะเภทจนถึงขนาดที่การรวมตัวอย่างไม่เที่ยงธรรมของคนส่วนมากนั้นยากยิ่งที่จะเกิดได้ ถ้าไม่ถึงกับปฏิบัติไม่ได้เอาเสียเลย วิธีการแรกนั้นใช้กันอย่างแพร่หลายในรัฐบาลทั้งปวงที่สิทธิอำนาจเป็นแนบสืบตระกูลหรือสถาปนาตนเอง แต่อย่างดีที่สุดนี่ก็เป็นได้แค่หลักประกันที่ไม่แน่นอนเพราะอำนาจที่เป็นอิสระจากสังคมสนับสนุนทัศนะที่ไม่่ยุติธรรมของคนส่วนใหญ่พอๆกับสิทธิที่ชอบธรรมของคนส่วนน้อยได้ และอาจจะหันมาต่อต้านทั้งสองฝ่ายก็เป็นได้ ส่วนวิธีการที่ สองจะมีแบบอย่างปรากฏในสหพันธ์มหาชนรัฐแห่งสหรัฐ ในขณะที่สิทธิอำนาจทั้งปวงในระบบนี้จะมีที่มาจากสังคมและขึ้นต่อสังคม ตัวสังคมเองจะแตกแยกออกเป็นส่วนต่างๆเป็นผลประโยชน์และชั้นต่างๆ ของพลเมืองมากมายหลายหลากจนสิทธิของปัจเจกบุคลหรือของคนส่วนน้อยจะตกอยู่ในอันตรายเพียงน้อยนิด จากการรวมตัวกันเพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ สำหรับการปกครองที่เสรีนั้นหลักประกันสิทธิทางการเมืองของพลเมืองจะต้องเป็นอย่างเีดียวกับหลักประกันสิทธิทางศาสนา ในกรณีหนึ่ง หลักประกันอยู่ ที่ผลประโยชน์อันหลากหลายและในอีกกรณีหนึ่งอยู่ที่นิกายอันหลากหลาย ความมั่นคงของหลักประกันทั้งสองกรณีจะขึ้นอยู่กับจำนวนของผลประโยชน์และนิกาย และอาจกล่าวได้ว่าจำนวนดังกล่าวขึ้นอยู่กับขอบเขตของประเทศและจำนวนประชากรที่อยู่ภายใต้รัฐบาลเดียวกัน...(...)...ความยุติธรรมคือเป้าหมายของรัฐบาล ความยุติธรรมคือเป้าหมายของสังคมการเมือง ความยุติธรรมเป็นสิ่งที่ถูกแสวงหาตลอดมาและจะถูกแสวงหาตลอดไป จนกว่าจะได้มาหรือจนกว่าจะสูญเสียเสรีภาพไปในการแสวงหานั่นเอง

ภายในรูปแบบของสังคมที่กลุ่มเฉพาะที่แข็งแรงกว่าสามารถรวมตัวกันกดขี่กลุ่มที่อ่อนแอกว่าได้ทุกเมื่อนั้นอาจจะกล่าวได้ว่าอนาธิปไตยเป็นใหญ่เหมือนในสภาพธรรมชาติอย่างแน่แท้ อันเป็นภาวะที่ปัจเจกบุคคลที่อ่อนแอกว่าไม่มีหลักประกันใดๆ ที่จะต่อต้านความรุนแรงของปัจเจกบุคคลที่เข้มแข็งกว่า และเช่นเดียวกันในภาวะธรรมชาติที่แม้แต่ปัจเจกบุคคลที่เข้มแข็งกว่าที่ยังถูกกระตุ้นโดยสภาพอันไม่แน่นอนของตน ให้ยอมสวามิภักดิ์ต่อรัฐบาลที่จะปกป้องผู้อ่อนแอเช่นเดียวกับตนเอง ในทำนองเดียวกันในสภาพอนาธิปไตย กลุ่มเฉพาะหรือพรรคที่มีอำนาจากกว่าก็จะค่อยๆ ถูกชักจูงด้วยแรงดลใจคล้ายๆกันให้อยากได้รัฐบาลที่จะปกป้องพรรคทั้งปวงทั้งพรรคที่อ่อนแอกว่าเหมือนๆกับพรรคที่มีอำนาจมากกว่า แทบไม่ต้องสงสัยเลยว่า ถ้าหากโรดไอแลนส์ถูกแยกให้ออกจากสหพันธรัฐให้อยู่เพียงลำพัง ความไม่มั่นคงของสิทธิภายใต้รูปแบบรัฐบาลของประชาชนในขอบเขตที่คับแคบขนาดนั้น ย่อมจะถูกแสดงออกมาโดยการกดขึ่ครั้งแล้วครั้งเล่าของคนส่วนใหญ่ที่เป็นกลุ่มเฉพาะ จนกระทั่งในไม่ช้าก็จะมีเสียงเรียกร้องหาอำนาจอะไรบางอย่างที่เป็นอิสระจากประชาชนอย่างสิ้นเชิง ดังออกมาจากกลุ่มเฉพาะผู้ซึ่งการปกครองอันผิดพลาดนั้นเองเป็นตัวพิสูจน์ถึงความจำเป็นถึงอำนาจดังกล่าว ส่วนในมหาชนรัฐที่ขยายตัวออกไปของสหรัฐ และท่ามกลางผลประโยชน์พรรคพวกและนิกายต่างๆอันหลากหลายยิ่งภายในสังคมดังกล่าวการรวมตัวกันของคนส่วนใหญ่ของทั่วทั้งสังคมบนพื้นฐานหลักการอื่นใดที่นอกเหนือไปจากหลักการแห่งความยุติธรรมและคุณประโยชน์ส่วนรวม จะเกิดขึ้นได้ยาก...(...)...สังคมยิ่งกว้างใหญ่เพียงใด ขอเพียงแต่ให้อยู่ในขอบเขตที่พอปฏิบัิติได้แล้ว สังคมนั้นก็จะยิ่งสามารถปกครองตนเองอย่งเหมาะสมสูงขึ้นเพียงนั้น” (หน้า 396-398 โดยผู้สนใจอ่านต้นฉบับภาษาัอังกฤษ สามารถอ่านได้ที่ http://www.constitution.org/fed/federa51.htm)



เห็นไหมครับว่าคนอเมริกันกลัวนักการเมือง “ฮั้ว” กันมากขนาดไหน ถ้าใครติดตามการเมืองอเมริกา คงรู้จัก Tea Party Movement ซึ่งกำลังมาแรงมากในขณะนี้ พวกเขาล้วนไม่พอใจการฮั้วกันของชนชั้นนำ และไม่พอใจที่รัฐบาลเข้ามายุ่มย่ามในชีวิตประชาชนมากเกินไป ทั้งเรื่องภาษี ทั้งเรื่องการทุ่มงบประมาณไปโอบอุ้มสถาบันการเงินและกิจการขนาดยักษ์ ตลอดจนระบบสาธารณสุขที่ดูเหมือนจะไม่มีวันถมเต็ม พวกเขาต้องการรัฐบาลเล็กๆ และต้องการการเปลี่ยนแปลง



หลังจากเมดิสันเขียนบทความนั้น 73 ปี เมื่อประธานาธิบดีลิงคอนเข้ารับตำแหน่ง เขาได้กล่าวสุนทรพจน์หลังจากพิธีสาบานตนครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2404 ท่ามกลางการแยกตัวของรัฐทางใต้ (Secession) ประชาชนแบ่งออกเป็นสองฝ่าย เผชิญหน้ากัน พร้อมจะห้ำหั่นกันเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองทุกเมื่อ คล้ายๆ กับบรรยากาศของสังคมไทยขณะนี้ (แต่สาเหตุต่างกัน) โดยเขาก็ยังเน้นย้ำหลักการพื้นฐานของเมดิสันว่า



“Plainly the central idea of secession is the essence of anarchy. A majority held in restraint by constitutional checks and limitations, and always changing easily with deliberate changes of popular opinions and sentiments, is the only true sovereign of a free people. Whoever rejects it does of necessity fly to anarchy or to despotism. Unanimity is impossible. The rule of a minority, as a permanent arrangement, is wholly inadmissible; so that, rejecting the majority principle, anarchy or despotism in some form is all that is left.” (First Inaugural Address of President Lincoln ย่อหน้าที่ 25, ผู้สนใจคลิกดูฉบับเต็มได้ที่ http://www.bartleby.com/124/pres31.html)


นอกจากนั้น เขายังได้กล่าวสุนทรพจน์จับใจอีกหลายตอน โน้มน้าวชักจูงให้ฝ่ายใต้กลับเข้ามาร่วมอยู่ใน Union เหมือนเดิม และว่าฝ่ายเหนือจะไม่ห้ามเรื่องทาสซึ่งเป็นทรัพย์สินของคนใต้ที่ครอบครองอยู่ เพียงแต่ไม่ให้มันขยายตัวมากไปกว่านี้ เขาว่าเหนือใต้เหมือนคนคนเดียวกันย่อมยากที่จะขาดจากกันไปได้ แม้สามีภรรยาจะหย่าขาดกันได้แต่ชาวอเมริกันขาดกันไม่ได้ ฯลฯ



ผมอยากจะยกย่อหน้าที่ 34 และ 35 ซึ่งประธานาธิบดีที่คนสหรัฐฯ ยกย่องมาก สามารถใช้ภาษาที่สละสลวยให้มีความหมายทั้งในเชิง “ขู่” และ “ปลอบ” ไปในเวลาเดียวกัน

เขากล่าวไว้อย่างจับใจว่า “In your hands, my dissatisfied fellow-countrymen, and not in mine, is the momentous issue of civil war. The Government will not assail you. You can have no conflict without being yourselves the aggressors. You have no oath registered in heaven to destroy the Government, while I shall have the most solemn one to "preserve, protect, and defend it."




I am loath to close. We are not enemies, but friends. We must not be enemies. Though passion may have strained it must not break our bonds of affection. The mystic chords of memory, stretching from every battlefield and patriot grave to every living heart and hearthstone all over this broad land, will yet swell the chorus of the Union, when again touched, as surely they will be, by the better angels of our nature.”



ท่านผู้อ่านคงทราบดีแล้วว่า ในที่สุดลิงคอนก็หลีกเลี่ยงสงครามกลางเมืองไม่พ้น สงครามกลางเมืองครั้งนั้นต่อสู้กันด้วยความโหดร้าย สูญเสีย ขมขื่น และฝังอยู่ในความทรงจำของคนอเมริกันมาจนบัดนี้ (ผมแนะนำให้ซื้อ DVD ชุด The Civil War กำกับโดย Ken Burns มาดู จะได้ทั้งความบันเทิงและสาระตลอดจนข้อคิดมากมาย) และท่ามกลางสงครามนั้นเอง ประธานาธิบดีลิงคอนก็ได้รับเลือกตั้งเข้ามาอีกครั้ง

สุนทรพจน์ครั้งที่สองของเขาจับใจยิ่งกว่าครั้งแรก ทั้งในแง่การใช้ภาษา การเลือกสรรคำ ความหมายแฝงนัย ความเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ การจับประเด็น และการตีความ โดยเฉพาะประโยคอันโด่งดังที่ว่า “and the war came” และ “and until every drop of blood drawn with the lash shall be paid by another drawn with the sword”

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2408 สามปีก่อนที่รัชกาลที่ 5 เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ อับราฮาม ลิงคอน ได้กล่าวสนทรพจน์ในวันสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สอง เขากล่าวแบบสั้นๆ เพียง 4 ย่อหน้า แต่จับใจและกลายเป็นสุนทรพจน์ที่อมตะ ผมจึงอยากจะยกมาให้ท่านอ่านโดยไม่ต้องแปล เพราะผมรู้ว่าผู้อ่าน MBA มีนักการเมืองและผู้นำรุ่นใหม่หัวก้าวหน้าอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย เผื่อว่าท่านจะอ่านแล้วฉุกคิดได้ ว่าต้องอาศัยบทเรียนความขมขื่นของคนอื่นในอดีต มาป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งในบ้านเราเลยเถิดไปไกลขนาดเขา

เขากล่าวว่า “Fellow-Countrymen. At this second appearing to take the oath of the Presidential office there is less occasion for an extended address than there was at the first. Then a statement somewhat in detail of a course to be pursued seemed fitting and proper. Now, at the expiration of four years, during which public declarations have been constantly called forth on every point and phase of the great contest which still absorbs the attention and engrosses the energies of the nation, little that is new could be presented. The progress of our arms, upon which all else chiefly depends, is as well known to the public as to myself, and it is, I trust, reasonably satisfactory and encouraging to all. With high hope for the future, no prediction in regard to it is ventured.




On the occasion corresponding to this four years ago all thoughts were anxiously directed to an impending civil war. All dreaded it, all sought to avert it. While the inaugural address was being delivered from this place, devoted altogether to saving the Union without war, urgent agents were in the city seeking to destroy it without war—seeking to dissolve the Union and divide effects by negotiation. Both parties deprecated war, but one of them would make war rather than let the nation survive, and the other would accept war rather than let it perish, and the war came.





One-eighth of the whole population were colored slaves, not distributed generally over the Union, but localized in the southern part of it. These slaves constituted a peculiar and powerful interest. All knew that this interest was somehow the cause of the war. To strengthen, perpetuate, and extend this interest was the object for which the insurgents would rend the Union even by war, while the Government claimed no right to do more than to restrict the territorial enlargement of it. Neither party expected for the war the magnitude or the duration which it has already attained. Neither anticipated that the cause of the conflict might cease with or even before the conflict itself should cease. Each looked for an easier triumph, and a result less fundamental and astounding. Both read the same Bible and pray to the same God, and each invokes His aid against the other. It may seem strange that any men should dare to ask a just God's assistance in wringing their bread from the sweat of other men's faces, but let us judge not, that we be not judged. The prayers of both could not be answered. That of neither has been answered fully. The Almighty has His own purposes. "Woe unto the world because of offenses; for it must needs be that offenses come, but woe to that man by whom the offense cometh." If we shall suppose that American slavery is one of those offenses which, in the providence of God, must needs come, but which, having continued through His appointed time, He now wills to remove, and that He gives to both North and South this terrible war as the woe due to those by whom the offense came, shall we discern therein any departure from those divine attributes which the believers in a living God always ascribe to Him? Fondly do we hope, fervently do we pray, that this mighty scourge of war may speedily pass away. Yet, if God wills that it continue until all the wealth piled by the bondsman's two hundred and fifty years of unrequited toil shall be sunk, and until every drop of blood drawn with the lash shall be paid by another drawn with the sword, as was said three thousand years ago, so still it must be said "the judgments of the Lord are true and righteous altogether."



With malice toward none, with charity for all, with firmness in the right as God gives us to see the right, let us strive on to finish the work we are in, to bind up the nation's wounds, to care for him who shall have borne the battle and for his widow and his orphan, to do all which may achieve and cherish a just and lasting peace among ourselves and with all nations.”




ท่านผู้อ่านคงทราบดีแล้วว่าหลังจากนั้นเดือนกว่า สงครามก็สงบลงโดยนายพล Robert E. Lee ยอมจำนนต่อนายพล Ulyses S. Grant ที่ Appomattox โดยมีเกร็ดที่ผมอยากเล่านิดนึงว่า นายพลลีนั้นสืบเชื้อสายผู้ดีเก่าทางใต้มา และเคร่งครัดในวินัยทหาร เขาเตรียมตัวโดยแต่งเครื่องแบบเต็มยศ และกะจะมอบกระบี่ให้นายพลแกร้น ซึ่งเป็นแบบแผนแต่เดิมมา ทว่า นายพลแกร้นซึ่งไม่มากพิธีรีตรองกลับกล่าวสั้นๆ เพียงว่า “I don’t want your sword, go home.” และหลังจากนั้นอีกไม่กี่วัน ประธานาธิบดีก็ถูกลอบสังหาร



อเมริกาจัดการกับภาวะหลังสงครามอย่างยากลำบาก ไหนจะต้องสมานฉันท์ (ผู้นำฝ่ายใต้ไม่มีใครเลยที่ถูกลงโทษ) ไหนจะต้องเยียวยาทั้งกายและใจ ไหนจะต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจ และที่สำคัญคือจัดการลดความเหลื่อมล้ำให้คนดำ ที่เพิ่งพ้นจากสถานะทาส มาเป็นแรงงานอิสระได้อย่างไร



นักประวัติศาสตร์เรียกช่วงนั้นว่า Reconstruction Period ซึ่งกินเวลากว่าสิบปี โดยที่คนใต้ก็ยังขมขื่นเจ็บปวดฝังลึก และคนดำก็มิได้ดีขึ้นมากมายนัก ความพยายามในการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจให้คนดำลืมตาอ้าปาก เช่นการจัดตั้งสถาบันคล้ายๆ “ธนาคารประชาชน” ก็ไปได้ไม่ดี การปฏิรูปที่ดินให้คนดำก็เป็นไปอย่างไม่เต็มที่ หรือการให้สิทธิทางการเมืองต่างๆ ก็มีหลายมาตรฐาน ฯลฯ จนเป็นปัญหาคาราคาซังมาอีกเกือบร้อยปี



ผมขอนำสุนทรพจน์ของอดีตทาส Bailey Wyatt ที่กล่าวไว้ในปี 2411 และสะท้อนถึงปัญหาของคนดำหลังสงครามกลางเมืองว่า “We now as a people desires to be elevated, and we desires to do all we can to be educated, and we hope our friends will aid us all they can. I may state to all our friends and to all our enemies that we has a right to the land where we are located. Why? I'll tell you. Our wives, our children, our husbands, has been sold over and over again to purchase the lands we now locates upon. For that reason we have a divine right to the land. And then didn't we clear the lands and raise the crops of corn and of cotton and of tobacco and of rice and of sugar and of everything? And then didn't them large cities in the North grow up on the cotton and the sugars and the rice that we made? Yes, I appeal to the South and to the North, if I hasn't spoken the words of the truth. I say they have grown rich, and my people are poor."




ฟังแล้วให้หวลนึกถึง Marx จัง! เพราะแม้พวกเขาจะได้เสรีภาพมาแล้ว แต่เมื่อเข้าถึงทุนไม่ได้ ก็ไม่ต่างอะไรกับชาวนาไทย ที่สุดท้ายต้องเช่านา แล้วก็กลายมาเป็นรับจ้างทำนา เพราะปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว (ผมอยากแนะนำให้ท่านผู้อ่านที่สนใจจริงๆ เข้าไปอ่านจดหมายของ Jordan Anderson อดีตทาสที่เขียนถึงเจ้านายเก่าของเขาที่มาตามตัวเขากลับไปทำงานหลังสงครามกลางเมือง จดหมายนั้นจะทำให้เราเข้าใจปัญหาของอเมริกันหลังสงครามยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นบทเรียนที่ดี โดยผมจะโพสต์เอาไว้ในบล็อกส่วนตัวที่ http://www.mba-magazine.blogspot.com/)



ยุค Reconstruction ของอเมริกาทำให้เราเข้าใจสังคมหลังผ่านสงครามกลางเมือง และบทเรียนต่างๆ ที่ตกทอดมาจนปัจจุบัน การต่อสู้ของคนดำ (หรือคนด้อยโอกาส) ในเรื่องสองมาตรฐานและในเรื่องสิทธิ ยังไม่สิ้นสุดเพียงเท่านั้น ทว่า หน้ากระดาษผมหมดแต่เพียงเท่านี้



ก่อนจากกันผมอยากจะแนะให้ไปอ่านสุนทรพจน์อันมีชื่อเสียงมากของ Martin Luther King ที่กล่าวไว้เมื่อ 28 สิงหาคม 2506 และเรียกกันอย่างไม่เป็นทางการว่า “I have a dream” (ค้นหาในกูเกิ้ลได้ง่ายๆ) ท่านก็จะรู้ว่า Civil Rights Movement นั้นเป็นผลพวงมาจากอดีตยังไงบ้าง



สุดท้ายผมจะขออ้างคำพูดของ Christine O’Donnell ตัวแทนของกลุ่ม Tea Party ที่เพิ่งชนะเลือกตั้งได้เป็นวุฒิสมาชิกแห่ง Delaware สดๆ ร้อนๆ ว่า “When the people fear the government, there is tyranny. When the government fears the people, there is liberty....We the people will have our voice heard in Washington once again.”

งวดนี้ผมไม่มีอะไรจะเขียน ได้แต่หยิบยืมคำพูดและ้ข้อเขียนของคนอื่นมาให้อ่านกัน ท่านผู้อ่านที่จริงจัง และนำไปคิดต่อ หรือคิดแย้ง ตลอดจนค้นคว้าลงลึกและต่อยอด ย่อมเห็นว่าความคิดที่แสดงมานี้ จะจำเป็นและให้ประโยชน์กับการแก้ปัญหาของสังคมไทยในอนาคตอันใกล้นี้แหละ



ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
22 กันยายน 2553
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนกันยายน 2553

ลูกเราเรียนดนตรีเพราะอริสโตเติล


ดนตรี



ผมเห็น “กรณีสองคอนดักเตอร์” ที่คุณทฤษฎี ณ พัทลุง เปิดโปงและถอดหน้ากากคุณบัณฑิต อึ้งรังษี แล้วก็อยากจะเขียนเรื่องดนตรีสักครั้ง


ท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ว่า การที่คนสมัยนี้นิยมส่งลูกหลานไปเรียนดนตรีกันตั้งแต่ยังเล็ก จนทำให้เกิดโรงเรียนดนตรีกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เป็นอุตสาหกรรมในบัดนี้ เป็นเพราะ “อริสโตเติล”


ใช่แล้วครับ ผมกำลังพูดถึงอริสโตเติลนักคิดนักเขียนชาวกรีกโบราณ เมื่อสมัยสองพันกว่าปีมาแล้ว คนนั้นแหละ


ยิ่งเดี๋ยวนี้เราเอาอย่างวิถีชีวิตแบบตะวันตก การมีลูกหลานที่สามารถเล่นเปียโน ไวโอลิน กีตาร์ หรือร้องเพลงได้ดี ย่อมเป็นค่านิยมที่พึงปรารถนาแบบหนึ่ง ต่างกับค่านิยมแบบพุทธที่ (เมื่อพูดให้ถึงที่สุดแล้ว) ถือว่าดนตรีส่งเสริมกิเลส

ความนิยมส่งลูกเรียนดนตรี มิได้จำกัดอยู่แต่ในแวดวงของลูกหลานคนชั้นสูงเหมือนเมื่อก่อน เพราะคนชั้นกลางและชนชั้นล่างก็นิยมส่งลูกไปเรียนดนตรีด้วย โดยเฉพาะคนชั้นกลางนั่นแหละ ที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ คอยอุดหนุนโรงเรียนดนตรีที่เปิดขึ้นเป็นดอกเห็ด


ลองสังเกตผู้เข้าประกวด “เอเอฟ” ดู ก็จะเห็นความคละเคล้าเชิงชนชั้นได้ไม่ยาก


สมัยผมยังเล็ก การสอนดนตรีอย่างเป็นระบบ (ผมพูดถึงดนตรีตะวันตก) จะจำกัดอยู่เฉพาะกับโรงเรียนฝรั่งบางโรงเรียน หรือโบสถ์คริสต์บางแห่ง โดยมีบรรดาภารดาหรือนักบวชต่างชาติเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาการด้านนี้ให้ ตั้งแต่การอ่านโน้ต จังหวะ คอร์ด โหมด เคาเตอร์พ้อทย์ และพัฒนาการของดนตรีตะวันตกเบื้องต้น ฯลฯ พร้อมทั้งให้ปฏิบัติเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ ที่เด็กสนใจ

และถ้าเด็กคนนั้นทำได้ดี ก็อาจสมัครเข้าร่วมในวงคอนเสิร์ต ฝึกซ้อมเพลงคลาสสิกง่ายๆ หรือวงดุริยางค์ (Band) ที่เน้นบรรเลงเพลงมาร์ช เช่นของ John Philip Sousa ซึ่งคนสมัยนั้นรู้จักดี เพราะเป็นเพลงไตเติ้ลข่าวสองทุ่มของสถานีโทรทัศน์ทุกช่องในเมืองไทยขณะนั้น

หากต้องการจะศึกษาชั้นสูงขึ้นไป ก็จะต้องไปเรียนในต่างประเทศ หรือไม่ก็ต้องสมัครไปเป็นทหาร เพื่อเข้าร่วมกับวงดุริยางค์เหล่าทัพ เช่น วงดุริยาค์ทหารเรือ ทหารบก หรือทหารอากาศ เป็นต้น

ไม่เหมือนสมัยนี้ที่มีโรงเรียนดนตรีอิสระจำนวนมาก ทั้งแบบโดดๆ และที่เป็นเครือข่ายใหญ่โต มีสาขาตามศูนย์การค้าทั่วประเทศ แยกย่อยลงลึกไปเป็นดนตรีแต่ละประเภทอย่างหลากหลาย ทั้งแจ๊ส ร็อก คลาสสิก พ็อพ เร้กเก้ ฮิพฮอพ ฯลฯ และแยกตามประเภทของเครื่องดนตรีอีกด้วย เช่น กีต้าร์แจ๊ส กีต้าร์ร็อก กีตาร์คลาสสิก เปียโนแจ๊ส เปียโนคลาสสิก เบสไฟฟ้า ดับเบิ้ลเบส ขับร้องแจ๊ส ขับร้องพ็อพ ขับร้องโอเปร่า ขับร้องประสานเสียง (วง Choir) เป็นต้น

อีกทั้ง มหาวิทยาลัยจำนวนมาก ยังเปิดสอนดนตรีชั้นสูงในระดับอุดมศึกษาอีกด้วย

สรุปแล้ว การเรียนดนตรีแบบตะวันตกในบ้านเราเติบโตมากในรอบหลายปีมานี้ เติบโตยิ่งกว่าการเรียนดนตรีไทยหลายร้อยเท่า อุตสาหกรรมดนตรีที่ผลิตงานเกือบทั้งหมดออกมาภายใต้โครงสร้างดนตรีตะวันตกแต่ใส่เนื้อร้องภาษาไทย ก็เป็นผลพวงของพัฒนาการของโรงเรียนดนตรีในรอบหลายสิบปีมานี้ด้วยเช่นกัน

ทีนี้กลับมาเรื่องอริสโตเติล ว่าเขามาเกี่ยวอะไรกับกรณีสองคอนดักเตอร์ และการส่งลูกหลานไปเรียนดนตรี แล้วทำไมผมถึงต้องมาเขียนถึงเขาในคอลัมน์ “Management Guru” ด้วย

ผมจะลองแสดงเหตุผลโยงใยให้ดูครับ



อริสโตเติล


ท่านผู้อ่านคงรู้อยู่แล้วว่าอริสโตเติลมีอิทธิพลต่อความคิดของฝรั่งมากขนาดไหน แม้คนไทยเรา ถ้าเคยเรียนหนังสือกันมาบ้าง ก็ต้องรู้จักอริสโตเติล เพราะถ้าไม่เจอในวิชาวิทยาศาสตร์สมัยเด็ก โตขึ้นก็ต้องเจอเขาในวิชาอื่นอยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นปรัชญา รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ จริยศาสตร์ ดาราศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ เป็นต้น



อริสโตเติลมีความสำคัญต่อองค์ความรู้ และพัฒนาการเชิงองค์ความรู้ในสาขาใหญ่ๆ ของฝรั่งมากทีเดียว เพราะฝรั่งนั้น ถือตัวว่าชาวกรีกโบราณเป็นต้นแบบของตน ทั้งในเชิงวิธีคิดและวิธีดำเนินชีวิต ตลอดจนวิถีเชิงสังคม หรือที่เรียกโดยรวมว่าอารยธรรมตะวันตก



แม้เดี๋ยวนี้ฝรั่งจะก้าวหน้าไปสักเพียงใด แต่ในสถาบันการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมจนถึงระดับสูงสุด ก็ยังต้องเรียนความคิดของชาวกรีกโบราณอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรขาคณิตของยูคลิก วรรณคดีของโฮเมอร์ ซึมซับเรื่องราวของม้าไม้กรุงทรอยในเอเลียด และการผจญภัยของโอดิสสิส อ่านประวัติศาสตร์แบบเฮโลโดตัส จมไปกับไดอาล็อกของเปลโต้ เพื่อสะท้อนความเห็นเชิงวิวาทะของโสกราตีส ตลอดจนตรึกตรองความคิดและวิจารณญาณของอริสโตเติลอยู่



ในบรรดานักคิดชาวกรีกโบราณ ฝรั่งนับถือโสกราตีส เปลโต้ และอริสโตเติล มากกว่าใครเพื่อน โดยที่สามคนนั้นเกี่ยวเนื่องซึ่งกันและกัน ทั้งในเชิงความคิด วิธีคิด ประเด็นที่คิด และมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกันด้วย

คนเหล่านี้เสนอความคิดในเชิง “Management” ไว้แยะ ซึ่งล้วนเป็นแก่นความคิดที่สำคัญ ตกทอดมาให้ฝรั่งได้ยึดถือกันมาเป็นสรณะจนกระทั่งบัดนี้ ทั้งในแง่ของรูปแบบการปกครอง โครงสร้างการปกครอง เครื่องมือของการปกครอง (เช่นกฎหมายและ State Apparatus ต่างๆ) การจัดองค์กรการบริหาร การสร้างผู้นำและภาวะผู้นำ การออกแบบและวิธีจัดการศึกษาสำหรับผู้นำและผู้ตาม ตลอดจนถึงกลยุทธ์การบริหารคน การจัดการเมืองหรือนคร การทหาร การฑูต และการระหว่างประเทศ ฯลฯ




ความคิดของท่านเหล่านั้นล้วนมีประโยชน์กับผู้นำองค์กรหรือผู้ที่อยากจะเป็นผู้นำทุกประเภท



ผมใคร่แนะนำให้ท่านผู้อ่าน MBA อ่านความคิดของชาวกรีกเหล่านั้นดูบ้าง จะได้เปิดกว้าง ไม่ติดยึดอยู่กับบรรดากูรูรุ่นใหม่อย่าง ดรักเกอร์ พอร์เตอร์ พาหะรัต ฮาเมล ทอม ปีเตอร์ มอสแคนเตอร์ ค็อตเลอร์ เลวิต ฯลฯ หรือใครต่อใครที่พูดเป็นแต่เรื่องฮาวทู โดยละเลยที่จะกล่าวอ้างถึงรากเหง้าของฝรั่งอย่างลึกซึ้ง



แต่แม้ความคิดของอริสโตเติลจะลึกซึ้ง ทว่ารูปร่างของเขาอาจไม่หล่อเหลา



เก้าปีก่อน ผมเคยพาลูกๆ ไปดูรูปปั้นครึ่งตัวที่เรียกว่า Bust ของอริสโตเติลที่กรุงเวียนนา เพราะว่ากันว่ารูปปั้นอันนั้น ชาวโรมันก็อปมาจากของกรีกที่ปั้นเมื่อเขายังมีชีวิตอยู่ จึงเชื่อว่าเหมือนตัวจริง


ผมสังเกตดูก็เห็นว่าหัวล้าน และปากเล็ก หนวดเคราเฟื้อม แต่เมื่อมาค้นคว้าเพิ่มเติมภายหลังก็ทราบว่าอริสโตเติลขาลีบ และพูดไม่ค่อยชัด (เกือบยี่สิบปีก่อน ผมเคยถ่ายรูปคู่กับรูปปั้นเต็มตัวของเขาที่นั่งถือม้วนหนังสือแล้วมองออกไปในท้องทะเล กลางจัตุรัสเมือง Thessaloniki ก็เห็นว่าขาไม่ลีบ)


อริสโตเติลเป็นลูกหมอหลวงแห่งราชสำนักมาเซโดเนีย เกิดเมื่อประมาณปี 385-384 ปีก่อนคริสตกาล ตระกูลเขาเป็นหมอมาหลายชั่วคน พออายุได้สิบแปดปี เขาเดินทางเข้าเมืองหลวง Athens เพื่อไปศึกษาวิชาการขั้นสูงที่ Academia ของเปลโต้ เมื่อจบแล้วก็อยู่สอนและวิจัยที่นั่นต่อมาอีก 20 ปี


เมื่อเปลโต้ตาย และเขามิได้รับเลือกให้ขึ้นบริหารสถาบันแห่งนั้น เขาจึงลาออกและเดินทางไปเอเชียน้อย อยู่ที่นั่นประมาณ 3 ปี ช่วงนั้นเขาแต่งงานและทำงานวิจัยทางด้านชีววิทยาไปด้วย แต่เมื่อเพื่อนเขาซึ่งเป็นเจ้าเมืองถูกลอบสังหาร เขาก็กลับบ้านเกิด



ช่วงนี้เองที่เขาได้งานเป็นติวเตอร์ให้กับเจ้าชายอเล็กซานเดอร์แห่งมาเซโดเนีย ซึ่งตอนนั้นยังอายุเพียงสิบสามขวบ แต่ต่อมากลายเป็น Alexander the Great ผู้ยิ่งใหญ่ อริสโตเติลติวให้เจ้าชายอยู่สามปี จนเจ้าชายขึ้นครองราชต่อจากพระราชบิดาที่ถูกสังหาร อริสโตเติลก็ตกงาน และเดินทางเข้าเอเธนอีกครั้ง



คราวนี้เขากะว่าจะได้ขึ้นเป็นใหญ่ที่ Academia เพราะตำแหน่งอธิการบดีว่างลง แต่คนก็ไม่เลือกเขา เขาจึงหันไปเปิดสถาบันชั้นสูงแข่งกันชื่อว่า Lyceum (หรือ Gymnasium) โดยชักชวนเพื่อนเก่าที่ Academia ให้สมองไหลไปอยู่กับเขาจำนวนหนึ่ง


เขาบริหารและบรรยายที่นั่นอยู่ 12 ปี จึงลี้ภัยไป Chalcis กับลูกศิษย์ลูกหาหลายคน แล้วก็ไปตายที่นั่น สิริอายุได้ประมาณ 62-63 ปี ต่อมา ลูกศิษย์ลูกหา ก็ได้รวบรวมคำบรรยาย ตลอดจนเอกสารการบรรยายทั้งหลาย ปะติดปะต่อออกมาเป็นผลงานของเขาที่สืบทอดมาให้เราได้อ่านกันจนถึงปัจจุบัน (ข้อนี้ต่างกับเปลโต้ที่งานเขียนของเขาไม่สูญหายไปก่อน และตกทอดมาถึงพวกเราโดยตรง)


อริสโตเติล + ดนตรี



หนังสือเล่มสำคัญที่สุดของอริสโตเติลชื่อ Politics จะว่ามันเป็นหนังสือ Management ก็ได้ เพราะว่าด้วยเรื่องการจัดรูปแบบสังคมมนุษย์และการปกครองที่เหมาะสม

อริสโตเติลว่ามนุษย์เป็นสัตว์การเมือง (Zoon Politikon) และต้องอยู่ร่วมกันเป็นสังคมถึงจะพัฒนาสู่ความสมบูรณ์ได้ (Telos) รูปแบบสังคมที่พัฒนามาในขั้นสูงสุดคือ Polis หรือ “นคร” ซึ่งพัฒนามาจากครอบครัว เผ่า หมู่บ้าน จนเป็นเมือง อริสโตเติลกล่าวอีกว่าพวก Apolis หรือพวกที่มิได้อยู่ร่วมกับคนอื่นย่อมมิใช่มนุษย์ คือถ้าไม่ใช่สัตว์ป่าก็เป็นเทวดาหรือพระเจ้า



อริสโตเติลพูดถึงวิธีการจัดการเมืองในรูปแบบต่างๆ ทั้งที่ปกครองโดยคนๆ เดียว โดยหมู่คณะ และโดยคนหมู่มาก ตลอดจนอธิบายถึงข้อดีข้อเสียของธรรมนูญการปกครองแบบต่างๆ อย่างละเอียด ที่สำคัญเขายังพูดถึงพลเมือง (Citizen) ที่พึงปรารถนา และหน้าที่พลเมือง ตลอดจนการจัดการศึกษาสำหรับพลเมืองด้วย



ตรงนี้แหละที่อริสโตเติลพูดถึงความสำคัญของการเรียนดนตรี



หนังสือ Politics ฺBook VIII : The Trainin of the Youth บทที่ 5-7 ภายใต้หัวข้อ C จั่วหัวว่า “The Aims and Methods of Education in Music”


อริสโตเติลแสดงเหตุผลไว้อย่างละเอียดโดยผมจะสรุปมาให้อ่านแบบง่ายๆ เป็นภาษาสมัยนี้ ว่า การเรียนดนตรีนั้นมีประโยชน์อยู่สามประการคือ มันทำให้มนุษย์ผ่อนคลายและแฮปปี้ (amusement and relaxation) และมันยังช่วยขัดเกลาและพัฒนาศีลธรรมประจำใจ (means of moral training) อีกทั้งยังสามารถยกระดับจิตใจมนุษย์ให้ละเมียดและสูงขึ้นได้ด้วย (cultivation of the mind)

เขาว่าดนตรีทำให้มนุษย์แฮปปี้และผ่อนคลายจากการทำงานหนักและใช้ความคิด คล้ายๆ กับการนอนและการดื่ม ช่วยปลดเปลื้องจากความปวดล้าเขม็งเกลียวทั้งมวล จึงทำให้เกิดความสำราญ (pleasure) และด้วยเหตุที่ความสำราญแห่งชีวิตนี้ นับเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ดี (cultivate way of life) นอกไปจากความกล้าหาญและศักดา (Nobility) ดังนั้นเขาจึงสรุปว่าการเรียนดนตรีนั้นมีประโยชน์ เพราะจะช่วยให้บรรลุถึงความดีด้วยประการทั้งปวง


เขาอ้างคำของกวีกรีก Musaeus ว่า “Song is to mortals the sweetest;”



นั่นแหละสไตล์ของอริสโตเติลที่ต้องแสดงเหตุผลเป็นขั้นเป็นตอนโดยละเอียด ประเภทถามเองตอบเองแทบทั้งเล่ม

ด้วยเหตุนี้เขาจึงสนับสนุนให้เด็กเรียนดนตรี เพราะดนตรีมีพลังส่งให้จิตใจเด็กเกิดความปิติ (gladdening their heart) และดนตรียังช่วยเสริมสร้างนิสัยหรือบุคลิกลักษณะของมนุษย์ที่ดี เมื่อฟังดนตรีแล้วก็สามารถสัมผัส Image ของอารมณ์และวิญญาณแบบต่างๆ เช่น โกรธ สงบนิ่ง กล้าหาญ ใจเย็น ราบเรียบ หรือแม้แต่เกิดแรงบันดาลใจ ซึ่งเหล่านี้ไม่สามารถหาได้จากการเสพศิลปะบางแขนง เช่น การมองภาพวาดหรือรูปปั้น เพราะมันไม่มีจังหวะ (Rythm) และเมโลดี้ ที่มากระทบโสตและก่อเกิดความสะเทือนอารมณ์ (ซึ่งอริสโตเติลเขียนอธิบายโดยละเอียดว่ามาจากโหมดต่างๆ ซึ่งเป็นโหมดดนตรีแบบกรีกโบราณ ว่าโหมดไหนให้อารมณ์หรือ Character แบบใด)

เขากล่าวสรุปว่า “What we have said makes it clear that music possesses the power of producing an effect on the character of the soul. If it can produce this effect, it must clearly be made a subject of study and taught to the young.” (1340b10)

นอกจากนั้น อริสโตเติลยังให้เหตุผลอีกว่า การที่เด็กเรียนดนตรีแต่เล็ก จะช่วยให้บอกได้ทันทีว่าดนตรีแบบไหนดีแบบไหนเลว โตขึ้นจะสามารถตัดสินได้ว่าใครเล่นดีไม่ดีอย่างไร

แนวคิดแบบนี้เองที่ปัจจุบันนี้เรายังให้เด็กเรียน Appreciation of Music กันอยู่ในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย

แต่กระนั้นก็ตาม อริสโตเติลก็มิได้ส่งเสริมให้เด็กเรียนในขั้นลึกซึ้งเกินไปเพราะจะทำให้การศึกษาด้านอื่นเสียหาย กลายเป็นคนด้านเดียว และมุ่งเป็นนักดนตรีอาชีพไป ซึ่งอริสโตเติลไม่ถือว่าเป็นอาชีพที่มนุษย์ผู้พีงปรารถนาจะต้องเดินไปในหนทางสายนั้น

เขายังห้ามไม่ให้สอนเด็กเพื่อไปประกวดประขัน เพราะจะทำให้เด็กต้องไปเล่นเอาใจคนดูคนฟัง ซึ่งในจำนวนนั้นมีชนชั้นต่ำและทาสอยู่ด้วย เลยจะทำให้เด็กต้องไปเล่นโหมด จังหวะ หรือร้อง หรือเครื่องดนตรีบางชนิดที่ไม่เหมาะไม่ควร ซึ่งในสายตาของอริสโตเติลไม่ถือว่าเพื่อเป้าหมายของการเสริมสร้างศีลธรรมจรรยา และ “ชีวิตที่ดี”

แม้เครื่องดนตรีบางชนิดเช่น ขลุ่ย (Flute) เขาก็สั่งห้ามว่าไม่ควรให้เด็กเล่น

เห็นหรือยังครับว่าการส่งลูกไปเรียนดนตรีนั้นเกี่ยวพันกับอริสโตเติลยังไง

อันที่จริง เปลโต้อาจารย์ของอริสโตเติลก็เคยเขียนเรื่องให้เด็กเรียนดนตรีมาแล้วตั้งแต่แต่งหนังสือ Republic แต่นั่นเปลโต้ให้ถือมั่นจริงจังว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างผู้นำหรือ “กษัตริย์ปราชญ์” โดยเลียนแบบมาจากวิธีฝึกเด็กของรัฐสปาต้า ที่ก็นิยมให้เด็กเรียนดนตรีเช่นกัน* แต่อริสโตเติลเป็นคนแรกที่มาแสดงเหตุผลสามข้อ (ที่ผมแปลมาข้างต้น) โดยละเอียด ว่าทำไมราษฎรของนครรัฐถึงต้องเรียนดนตรีตั้งแต่เด็ก และมันจะมีประโยชน์อะไรต่อตัวเขาและสังคมที่เขาสังกัดอยู่

เราจะเห็นว่าดนตรีนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมตะวันตกตลอดมาจนกระทั่งปัจจุบัน แม้กระทั่งองค์กรศาสนาก็ยังใช้ดนตรีเป็นส่วนประกอบในการหนุนใจให้คนเข้าถึงความดี ความงาม ความจริง ซึ่งเป็นนามธรรม อย่าว่าแต่ โรงโอเปร่า โรงคอนเสิร์ตประจำเมือง หรือแม้กระทั่ง ผับ บาร์ ตลอดไปจนอุตสาหกรรมเพลง ซีดี ดีวีดี เอ็มพีสามและสี่ หรือ ไอพ็อตไอแพท และนักร้องนักดนตรี ตั้งแต่สมัยก่อนยุคบาร็อก มาจนถึง เย้ เย เย และฮิพฮอพ ว็อซเซพเพนนิ่ง ล้วนเป็นหนี้บุญคุณอริสโตเติลกันบ้างไม่มากก็น้อย


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว

20 ตุลาคม 2553
เมย์แฟร์, ลอนดอน

*หมายเหตุเพิ่มเติม: ผมเพิ่งได้อ่านหนังสือเล่มใหม่ของ Paul Johnson เรื่อง SOCRATES: A Man for Our Times เขาเล่าว่าโสกราตีสเป็นคนแนะให้เปลโตมาสนใจดนตรี โดยเฉพาะในประเด็นว่าด้วยแง่มุมเชิงจริยศาสตร์ของดนตรี โดยที่โสกราตีสอาจได้รับอิทธิพลทางความคิดในแนวนี้มาจาก Damon และ Prodicus อีกทอดหนึ่ง ซึ่ง Paul Johnson ได้กล่าวต่อไปอีกว่า "Socrates, I suspect, had a poor musical ear. Although he knew that a man seeking wisdom and virtue ought to attend to music, he found it hard to do so.  He exculpated himself by arguing that philosophy was the finest kind of music. In old age he aspired to learn the lyre, the instrument most accessible to amateurs, as the guitar is for us today. He never doubted the importance of music and listened to Damon earnestly." (หน้า 54, SOCRATES: A Man for Our Times, Viking Press 2011)

และในคืนสุดท้ายแห่งชีวิตเขา ระหว่างที่ถูกคุมขังอยู่ในคุกก่อนถูกให้ดื่มยาพิษ เขาได้บอก Crito ว่าเขาฝันออกบ่อยว่าได้เล่นดนตรี ซึ่งเขาเทียบว่านั่นเป็นการ "Practice Philosophy" เลยทีเดียว โดย Paul Johnson กล่าวว่า "He said he had a regular dream in which he appeared to be commanded to "pratice music".  He had always interpreted this to mean "do philosophy," for the search for wisdom is the finest music." (หน้า 169-170)

ผู้อ่านที่สนใจ ลองหาหนังสือเล่มนั้นมาอ่านเพิ่มเติมดูก็ได้ครับ อ่านสนุกดีมาก
(**ผมเขียน "หมายเหตุเพิ่มเติม" นี้เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2554)

***โปรดคลิกอ่านบทความเกี่ยวเนื่องที่ผมเรียบเรียงขึ้นได้ตามลิงก์ข้างล่างนี้ครับ

1. วาระสุดท้ายของโสกราตีส


และ
2. ศรีปราชญ์ ยักษ์ใหญ่ที่ไร้ตัวตน


และ 
3. วาระสุดท้ายของนโปเลียน


และ


วันอังคารที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2553

Tocqueville กับ Social Networks


ผมไม่ชอบ ปีเตอร์ ดรักเกอร์ อยู่ข้อหนึ่ง



คือเขามักทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจไขว้เขวว่า ตัวเองเป็นคนก่อตั้งศาสตร์แห่งการจัดการหรือการบริหาร ที่เขาเรียกว่า Management Science



เพราะมันเป็นการโอ้อวดที่เกินจริงอย่างไม่ค่อยอ่อนน้อมถ่อมตนเท่าไหร่



อันที่จริง “การจัดการ” ย่อมมีมาแต่บุพกาล ตั้งแต่มนุษย์มาอยู่ร่วมเป็นสังคม ก่อนยุคสร้างบ้านแปลงเมืองเสียอีก



ดรักเกอร์เพียงแต่อ่านประวัติศาสตร์ แล้วนำเอาภูมิธรรมเดิมมาถ่ายทอดในอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง เป็นเวอร์ชั่นที่เหมาะกับสังคมสมัยใหม่ ที่ยึดเอาการค้าและธุรกิจอุตสาหกรรมเป็นแกนกลาง



ถ้าบอกว่าดรักเกอร์เป็นคนคิดศัพท์แสงเิชิงการจัดการสมัยใหม่ ผมจะไม่เถียงสักคำ แต่แก่นความรู้และกรอบความคิดที่เขานำมาแสดงนั้น หาได้เป็น Original ไม่



ยังไงเสีย เราก็ต้องให้เครดิตเขา ที่ได้ช่วยขุดลึกลงไปในรากเหง้าของอารยธรรมตะวันตก เพื่อหาความคิดแบบสรุปรวบยอด ผ่านกรอบวิธีคิดหรือแว่นของการจัดการ แล้วสร้างเป็นภูมิปัญญาใหม่ ที่เหมาะกับยุคสมัยของเรา



ดังนั้น ผู้อ่านรุ่นใหม่ที่สนใจในประเด็นการจัดการ การบริหาร การปกครอง การวางกลยุทธ์ การจัดองค์กร ตลอดจนภาวะผู้นำ ฯลฯ ต้องไม่จำกัดตัวเองอยู่กับนักคิดหรือผู้ที่อ้างตัวว่าเป็น “กูรู” ทางด้านบริหารธุรกิจหรือการจัดการหรือกลยุทธ์รุ่นใหม่ เท่านั้น เพราะย่อมมีนักคิดและความคิดสำคัญก่อนหน้านั้น ให้หยิบฉวยอีกมากมาย



ในบรรดานั้น Alexis de Tocqueville เป็นบุคคลที่น่าสนใจไม่น้อย



ผมเริ่มศึกษา Tocqueville เพราะได้แรงบันดาลใจมาจากอาจารย์ภูพาเนช มะเด็ง



อาจารย์ภูพาเนชท่านเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยชิคาโก ทันเรียนกับ Milton Friedman และก็ได้ด็อกเตอร์จากฝรั่งเศส ท่านเข้าใจความคิดความอ่านของคนฝรั่งเศสและคนอเมริกันดี เชี่ยวชาญทั้งภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และสเปน เคยอ่านหนังสือคลาสสิคเล่มสำคัญๆ มาก็มาก อีกทั้งยั้งเคยผ่านงานบริหารระดับสูงจากกิจการยักษ์ใหญ่ชั้นแนวหน้าของไทยมาหลายองค์กร



เมื่อท่านรับปากจะเขียนซีรี่ส์ “ปฏิวัติฝรั่งเศส” ให้กับเราเป็นจำนวน 8 ตอน (อ่านหน้า...) ท่านว่าตอนสุดท้ายจำต้องเขียนความคิดของ Tocqueville เพราะ แม้จะเป็นคนฝรั่งเศส แต่ความคิดเขาก็มีอิทธิพลต่อคนอเมริกันรุ่นหลังมาก และยังศึกษากันอยู่ในสถาบันการศึกษาระดับสูงของประเทศนั้นมาจนกระทั่งปัจจุบัน


ท่านผู้อ่าน MBA ไม่ควรพลาดข้อเขียนของอาจารย์ภูพาเนชด้วยประการทั้งปวง



ณ ที่นี้ ผมขอว่าของผมไปพลางก่อน



๋Alexis de Tocqueville เกิดในตระกูลขุนนางของฝรั่งเศสทางตอนเหนือที่เรียกว่าแคว้นนอร์มังดี ใกล้ๆ กับชาดหาดทั้งหลายที่ทหารสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกเมื่อวันดีเดย์นั่นแหละ เขาเกิดในยุคนโปเลียน พ.ศ. ๒๓๔๘ ตรงกับปลายรัชกาลที่ ๑ ก่อนหน้านั้น ระหว่างปฏิวัติใหญ่ พ่อแม่เขาถูกจับ แต่ยังไม่ทันถูกบั่นคอด้วยกิโยตินเพราะสิ้นโรเบียสปิแอร์เสียก่อน Tocqueville สำเร็จกฎหมายจากมหาวิทยาลัยปารีส และรับราชการที่แคว้นบ้านเกิด



ความสำคัญของเขาอยู่ที่ทริปทัวร์อเมริกา เมื่อเขากับเพื่อนอีกคนได้รับคำสั่งจากรัฐบาลให้เดินทางไปดูงานทางด้านการบริหารคุกตารางในอเมริกาเมื่อเขาอายุได้ 25 ตรงกับยุคของรัชกาลที่ ๓ เขาตระเวนไปทั่ว ตั้งแต่นิวอิงแลนด์ลงไปถึงนิวออร์ลินส์และเลี้ยวเข้าไปข้างในจนถึงทะเลสาบมิชิแกน รวมเวลาประมาณ 9 เดือน (เส้นทางของเขานี้มีนักเดินทางเลียนแบบกันมากในตอนหลัง)



อีกเกือบห้าปีต่อมา เขาเขียน Observation ต่อประชาธิปไตยของอเมริกาเป็นหนังสือเล่มแรกชื่อว่า De la Démocratie en Amerique และอีกห้าปีหลังจากนั้นก็ออกเล่มสองตามมา โดยหนังสือทั้งสองเล่มนั้น ทำให้เขามีชื่อเสียงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรปและอเมริกา ในฐานะที่สามารถให้อรรถาธิบายประชาธิปไตยในอเมริกาได้ดีที่สุด เท่าที่เคยมีมา แม้แต่ John Stuart Mill ปราชญ์ชาวอังกฤษร่วมสมัยผู้มีชื่อเสียง ยังยกย่องงานชิ้นนี้มาก



Democracy in America ยังคงสถานะอันยิ่งใหญ่มาจนกระทั่งบัดนี้ คนที่ต้องการเข้าใจประชาธิปไตยแบบอเมริกันอย่างลึกซึ้ง ย่อมต้องหวลกลับไปเช็คความคิดของเขาในเล่มนั้น เช่นเดียวกับที่ต้องอ่าน คำประกาศอิสรภาพ และ เฟดเดอรัลลิสต์เปเปอร์ เป็นพื้นฐานข้อบังคับ ฉันใดก็ฉันนั้น

การศึกษาของชนชั้นนำอเมริกันย่อมต้องมาในแนวนี้ด้วย ลูกหลานของพวกเขาที่ผลัดกันเติบใหญ่ขึ้นมารับไม้บริหารราชการแผ่นดินในแต่ละรุ่น ทั้งในสายบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติ ตลอดจนภาคเอกชนทั้งปวง ย่อมต้องถูกปลูกฝังกล่อมเกลาจิตสำนึกด้วยความเห็นของบรรดา Founding Fathers และ Tocqueville มาก่อนแล้วทุกคน แม้เขาจะเป็นคนฝรั่งเศสและไม่ใช่ Founding Fathers แต่สถานะของเขาก็เทียบชั้นกับพวกท่านเหล่านั้น

เนื้อหาของหนังสือสองเล่มนั้นมีมาก แต่ที่สะกิดใจผมและคิดว่าต้องนำมาเขียนก่อนในคอลัมน์ “กูรูการจัดการ” นี้ มีอยู่เพียงสองสามประเด็น ซึ่งเป็นความคิดหลักของหนังสือนั้น ที่น่า “คิดต่อ” หรือ “คิดแย้ง” และผมคิดว่ามันเป็นคำถามปลายเปิดที่ดีมาก ซึ่งควรจะสำเหนียกอยู่ในใจคนสมัยนี้ ที่รักและให้คุณค่ากับประชาธิปไตยทุกคน

Tocqueville มีความเชื่อว่าประวัติศาสตร์สังคมจำต้องดำเนินไปโดยมีเจตจำนงค์ คล้ายๆ Marx คือวิวัฒน์จากสังคมที่ปกครองด้วยชนชั้นขุนนางไม่กี่คน (Aristocrat) ไปสู่สังคมประชาธิปไตยโดยคนส่วนใหญ่ (Democracy) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพียงแต่ความหมายของประชาธิปไตยของ Tocqueville ไม่ตายตัวเหมือน Marx ที่มีลักษณะเป็นระบอบ (Regime) ตายตัว ทว่า Tocqueville มิได้คิดไปไกลขนาดนั้น เพียงแต่แสดงนัยะให้คิดไปได้ว่าประชาธิปไตยมันเป็น “กระบวนการ” หรือ “กลไก” (Process) แบบหนึ่ง ที่สามารถพัฒนาต่อไปได้เรื่อยๆ แบบปลายเปิด สุดแท้แต่เงื่อนไขของความคิดและยุคสมัย

นั่นจึงทำให้ความคิดของเขามีเสน่ห์และไม่ล้าสมัย

ประชาธิปไตยที่ Tocqueville สังเกตเห็นในอเมริกาเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นสิ่งที่เขายังเป็นห่วง โดยข้อสำคัญที่่สุดอยู่ที่พลังของสังคม ของเสียงส่วนใหญ่ ที่จะมีพลังมหาศาล และอาจเบียดบังเสรีภาพของผู้คนได้ ไม่ว่าผู้คนเหล่านั้นจะเป็นปัจเจกชน เป็นเสียงส่วนน้อย หรือเป็นเสียงส่วนใหญ่เองก็ได้

ประเด็นนี้ ยังเป็นประเด็นใหญ่ในสังคมไทยปัจจุบัน

Tocqueville มองว่าประชาธิปไตย ได้สร้างสังคมแบบใหม่ขึ้น เป็นสังคมที่ความเหลื่อมล้ำน้อยลงกว่าสมัยขุึนนาง แต่ก็ได้สร้าง Social Power แบบใหม่ที่มีอำนาจเหลือล้น เป็นอำนาจอธิปไตยของคนส่วนใหญ่ที่เป็นชนชั้นกลาง (Bourgeois Democracies) ซึ่งจะเติบโต พัฒนาขึ้นในประเทศอื่นด้วยในที่สุด และพลังอันนั้นแหละที่เขากลัวว่ามันอาจเป็นภัยกับเสรีภาพได้ในอนาคต

เขาเรียกมันว่า “เผด็จการของเสียงส่วนใหญ่” หรือ “Tyranny of the majority” ที่สุดท้ายอาจสร้างคนแบบนโปเลียน ขึ้นมาได้เหมือนกัน (หรือฮิตเลอร์ หรือสตาลิน หรือเหมาเจ๋อตง--อันนี้ผมพูดเองเพรา Tocqueville เกิดทันแค่นโปเลียน แต่ผมสังเกตนักเผด็จการรุ่นหลังที่อ้างเสียงส่วนใหญ่ขึ้นมาเป็นใหญ่ มักเอาอย่างนโปเลียน ในขณะที่นโปเลียนเอาอย่างจูเลียสซีซ่าร์อีกทอดหนึ่ง)

เขาค่อนข้างเห็นด้วยกับ Aristotle ที่ให้ความเห็นในประเด็นนี้มาก่อน เพราะ Democracy สำหรับอริสโตเติลคือเผด็จการของชนชั้นหนึ่งที่มีต่อชนชั้นอื่น และถึงแม้เขาจะทราบว่า James Madison (แกนนำคนสำคัญของกลุ่ม Founding Fathers) เคยให้ความเห็นแก้ต่างเรื่องนี้ไว้แล้วในเอกสารหมายเลข 10 (Federalist No.10) ว่าต้องแก้โดยการ “ขยายขอบข่ายของรัฐบาลให้กว้างขวางออกไปอีก” (“to enlarge the orbit of government”--อ่านประกอบใน เดอะเฟดเดอรัลริสต์เปเปอร์ สมบัติ จันทรวงศ์ และคณะ แปล สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.๒๕๓๐) เพื่อเจือจางส่วนใหญ่ลงให้กลายเป็นส่วนน้อย และสร้างฝักฝ่ายเพิ่มขึ้น เพื่อให้ผลประโยชน์ของแต่ละฝ่ายเกิด Check and Balance กันเอง

ทว่า เขาก็ยังไม่มั่นใจ 100% เพราะเขาสังเกตคำขึ้นต้นในบทนำของรัฐธรรมนูญอเมริกันที่ร่างโดยบรรดา Founding Fathers มันดันขึ้นต้นว่า “We the People” ซึ่งแสดงนัยะของเสียงส่วนใหญ่ที่เขาใช้คำเสียดสีว่า “Empire of Majority” หรือ “จักรวรรดิแห่งเสียงส่วนใหญ่” นั่นเอง

ผมเชื่อว่าคนไทยจำนวนมาก ที่อยู่ตรงกลางระหว่างความขัดแย้งของสีเสื้อต่างๆ ในรอบหลายปีมานี้ จะรู้สึกว่าตัวเองถูก “เผด็จการของเสียงส่วนใหญ่” เล่นงานเอาอย่างจัง เพราะความเห็นของพวกเขาไม่ได้รับการรับฟังเอาเลย ในแทบทุกพื้นที่ที่สามารถแสดงออกได้

หรือแม้แต่ในยุคทักษิณเอง เราก็ได้ยินวลีนี้ออกบ่อย

ปัญหานี้เป็นปัญหาในเชิงการจัดการ เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง ที่องค์กรซึ่งคิดว่าตัวเองจัดระบบการบริหารเป็นแบบประชาธิปไตยแล้ว ย่อมต้องเผชิญเข้าสักวันหนึ่ง



On Social Networks



ในหนังสือเล่มแรกนั้น Tocqueville ยังเสนอความคิดหลักอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญสืบมาจนกระทั่งบัดนี้



เขาตั้งคำถามว่าทำไมประชาธิปไตยในอเมริกาที่เริ่มใช้มาแต่สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีจนพัฒนามาได้ถึงยุครัชกาลที่ ๓ ในขณะนั้น ต่างกับประชาธิปไตยแบบฝรั่งเศสหลังการปฏิวัติใหญ่ในยุครัชกาลที่ ๑ เพราะไม่ได้ก่อความรุนแรง อีกทั้งยังมีลักษณะยืดหยุ่น และเปิดรับกับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา



อะไรคือปัจจัยเชิงสังคมหรือจิตวิทยาเบื้องหลังที่ช่วยขัดเกลาให้ประชาธิปไตยในแบบอเมริกันสไตล์อ่อนข้อลงมาจนมีลักษณะเป็น Liberal Democracy ได้



เขาสังเกตเห็นอยู่ ๓ ข้อ คือความสำคัญของรัฐบาลท้องถิ่น องค์กรระดับท้องถิ่น หรือความเป็นท้องถิ่น (Township) และองค์กรประชาชนหรือราษฎรเข้มแข็ง (Civic Association) และความเชื่อทางศาสนาแบบเพียวริตัน (Puritanism) ที่คอยกำกับความคิดทางการเมืองและโลกทัศน์ของราษฎรอเมริกันอยู่ในใจอย่างควบคู่กัน



ผมติดใจกับข้อสังเกตที่สองนั้นมาก เพราะมันคือ “เครือข่ายสังคม” (Social Network) หากพูดเป็นภาษาสมัยใหม่ ที่กำลังฮ็อตฮิตอยู่ในขณะนี้



Tocqueville สังเกตเห็นสิ่งนี้ฝังรากลึกอยู่ในสังคมอเมริกันนานมาแล้ว และเขาก็ให้ค่าว่ามันเป็นเสาค้ำยันประชาธิปไตยที่สำคัญด้วย


เขาเขียนไว้ว่า “In democratic countries, the science of association is the mother science.” เพราะเขามองว่า Civic Association จะช่วยให้ราษฎรได้เรียนรู้ที่จะสร้างสรรค์ สังสรรค์ ร่วมมือร่วมใจ และรู้จักรับผิดชอบ รู้จักปกป้องผลประโยชน์ของส่วนรวม ซึ่งสุดท้ายก็คือผลประโยชน์ของตัวเองด้วย



“Sentiments and ideas renew themselves, the heart is enlarged and the human mind is developed.” เขารังสรรค์ถ้อยคำให้สะท้อนความหมายนั้น



เห็นไหมครับว่าเขาให้ความสำคัญกับ Social Network มากเพียงใด เขาว่ามันจะช่วยทัดทานอำนาจของส่วนกลาง ทัดทานแนวโน้มเผด็จการ และเป็นอู่ข้าวอู่น้ำให้กับจิตวิญญาณประชาธิปไตย



พอรู้แบบนี้แล้วก็ไม่แปลกที่ฝรั่งสมัยนี้จะเชื่อกันว่าเครือข่ายสังคมประเภท Facebook, Twitter, MySpace, Ning, Google และ ฯลฯ จะมีความหมายต่อมนุษยชาติและประชาธิปไตยมากไปกว่าพื้นที่สำหรับเจ๊าะแจ๊ะและสำหรับโฆษณาบนอินเทอร์เน็ต เพราะเขาเหล่านั้นต่างก็เป็นทายาททางความคิดของ Tocqueville



เครือข่ายสังคมเหล่านี้มันฟิตเปรี้ยะกับจริตของสังคมประชาธิปไตยพอดีๆ มันจึงสามารถอวดอ้างความวิเศษวิโสในดีกรีที่มากไปกว่าที่เห็นและสัมผัสได้ด้วยประสาททั้งห้า


ทว่า พวกเราในสังคมไทยที่ใช้มันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน วันละหลายๆ ครั้ง ครั้งละหลายๆ ชั่วโมง ย่อมรู้อยู่แก่ใจว่ามันเป็นดาบสองคม



เพราะแม้ว่ามันจะเป็นประโยชน์มากในช่วงวิกฤติที่ผ่านมา แต่มันก็มีลักษณะ “Tyranny of majority” อันไม่พึงปรารถนาแฝงลำอยู่ด้วยไม่มากก็น้อย มันมีลักษณะ “พวกใครพวกมัน” “สาวกใครสาวกมัน” “พวกฉันเธอไม่เกี่ยว” และ “พวกมากลากไป” “เอาไหนเอาด้วย” “กินอะไรกินด้วย” “ซื้ออะไรซื้อด้วย” “เกลียดใครเกลียดด้วย” “ถ้าเธอว่าไอ้นั่นโกง ฉันก็ว่ามันโกง” “ถ้าเธอว่ามันไม่รักพระเจ้าอยู่หัว ฉันก็ว่างั้นแหละ” ฯลฯ อย่างเห็นได้ชัด



สิ่งเหล่านี้จะไม่ก่ออันตรายอันใด หากผู้คนในเครือข่ายย่อยต่างๆ ใช้สติและวิจารณญาณ แต่ส่วนใหญ่ก็อดที่จะเชื่อเพื่อนฝูงญาติพี่น้องไม่ได้...มันเป็นลักษณะของคนไทย ประชาธิปไตยแบบไทยสไตล์



ผมอยากจะตั้งคำถามต่อไปอีกสักนิดว่า “แล้วเราจะแน่ใจได้ยังไงว่า “เสรีภาพ” จะไม่ถูกคุกคาม ไม่ถูกเบียดบัง ไม่ถูกกีดกัน”



มันเป็นคำถามเดียวกับที่ Tocqueville เองก็เคยถามมาแล้ว



หากเสรีภาพเป็นอุดมการณ์ที่มีค่าสำหรับมนุษย์ มีค่าเพียงพอให้มนุษย์ยังคงดำรงชีวิตอยู่ต่อไปอย่างมีความหวังแล้ว เราจะมีวิธีป้องกันไม่ให้ “Tyranny of majority” กลายเป็นภัยคุกคามได้อย่างไร ทั้งในเชิงการจัดการและในเชิงโครงสร้าง



แม้ Tocqueville เอง จะไม่มีคำตอบให้ แต่ผมว่าถ้าเราจริงจังกับมัน ก็ต้องคิดออกสักวัน




ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
๗ กันยายน ๒๕๕๓

จดหมายจากอดีตทาส




จดหมายต่อไปนี้ เป็นเอกสารทางการเมืองที่สำคัญชิ้นหนึ่งของการเลิกทาสในอเมริกา โดยผู้เขียนคือ Jordan Anderson อดีตทาสผู้เพิ่งได้รับการปลดปล่อยหลังสงครามกลางเมืองใหญ่ ท่านผู้อ่านที่สนใจการเมืองอเมริกัน หรือ American Civil War และเรื่องราวทางด้านสิทธิมนุษยชน ตลอดจนผลของสงครามกลางเมือง ควรอ่านไว้เพื่อประดับสติปัญญา และศึกษาบทเรียนจากอดีต โดยเฉพาะในแง่ของผลกระทบของสงครามกลางเมือง ว่าเสรีภาพที่ได้มานั้นย่อมมีต้นทุน และสร้างเงื่อนไขของปัญหาชนิดใหม่อย่างไร

ผมคัดลอกมาลง ณ ที่นี้ เพื่อให้อ่านประกอบกับบทบรรณาธิการของผมเอง ในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนกันยายน 2553 เรื่อง “ปรองดอง แต่อย่าฮั้ว” ดังที่ได้สัญญากับท่านไว้ในข้อเขียนชิ้นนั้น

Jordan Anderson เขียนจดหมายฉบับนี้ในฤดูร้อนของปี 1865 เขาเคยเป็นทาสอยู่ใน Tenessee แต่ขณะนี้เขาอยู่ที่ Ohio แล้ว ก่อนหน้านี้เขาได้รับจดหมายจากนายเก่า ผู้พัน P.H. Anderson ชักชวนให้เขากลับไป และเขาก็ตอบกลับไปว่า

"Thank you very much for your letter." 

"Dear Sir, 

I got your letter, and was glad to find you had not forgotten old Jordan, and that you wanted me to come back and live with you again, promising to do better for me than anybody else can. I have often felt uneasy about you. I thought the Yankees would've hung you long before this for harboring Rebs they found at your house. I suppose they never heard about you going to Colonel Martin's to kill the Union soldier that was left by his company in their stable. Although you shot at me twice before I left you, I did not want to hear of your being hurt, and am glad you are still living. It would do me good to go back to the dear old home again, see Miss Mary and Miss Martha and Allan and Esther and Green and Lee. Give my love to them all, and tell them I hope we will meet in a better world, if not in this. I would've gone back to see you all when I was working in the Nashville Hospital, but one of the neighbors told me Henry intended to shoot me, if he ever got a chance.

I want to know particularly what the good chance is you proposed to give me. I'm doing tolerably well here. I get $25.00 a month with victuals and clothing, have a comfortable home for Mandy"--that's his wife. "The folks here call her Mrs. Anderson, and the children, Millie Jane and Grundy, go to school and are learning. The teacher says Grundy has a head to be a preacher. They go to Sunday school, and Mandy and me attend church regularly. We are kindly treated. Sometimes we overhear others saying, 'Them colored people were slaves down in Tennessee.' The children feel hurt when they hear such remarks, but I will tell them it was no disgrace in Tennessee to belong to Colonel Anderson.
Many darkies would have been proud, as I used to was, to call you 'Master.' Now, if you will write and say what wages you will give me, I will be better able to decide whether it would be to my advantage to move back again. 

As to my freedom, which you say I can have, there's nothing to be gained on that score as I got my Free Papers in 1864 from the Provost Marshal General of the Department of Nashville. Mandy says she would be afraid to go back without some proof that you are sincerely disposed to treat us justly, and we have concluded to test your sincerity by asking you to send us our wages for the time we served you. This will make us forget, and forgive old scores, and rely on your justice, and friendship, in the future. I served you faithfully for thirty-two years, and Mandy twenty years. 

At $25.00 a month for me, and $2.00 a week for Mandy, our earnings would amount to $11,680.00. Add to this the interest for the time our wages has been kept back, and deduct what you paid for our clothing and three doctors' visits for me and pulling a tooth for Mandy, and the balance will show what we are in justice entitled to. 

Please send the money, by Adam's Express, care of V. Winters Esquire, Dayton, Ohio."

P.S. "Say howdy to George Carter, and thank him for taking the pistol from you when you were shooting at me."



อ่านแล้วรู้สึกยังไงกันบ้างครับ.....นี่แหละ Irony of Freedom

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
26 ตุลาคม 2553