วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

AEC: TOO GOOD TO BE TRUE





ระยะนี้คนเห่อ AEC กันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงธุรกิจไทย

หลายเดือนมานี้ ท่านผู้อ่านคงจะได้ยินได้ฟังและได้อ่านความเห็นของนักธุรกิจใหญ่ นักการเมือง ข้าราชการระดับสูง คอลัมนิสต์ นักเศรษฐศาสตร์ นักการตลาด และนักวิชาการ มาแยะแล้ว

ส่วนใหญ่มอง AEC เป็นความหวังในเชิงการค้าขาย การทำมาหากิน การขยายตลาด และการลงทุน ซึ่งผมคิดว่าค่อนข้างตื้นและแคบไปนิด

อย่าลืมนะครับว่าการค้าขายมันต้องแย่งชิงผลประโยชน์กัน ดังนั้นคำว่า Economic Co-operation หรือ Cross Border Joint Venture หรือ Mutual Investment Benefits นั้น ในทางทฤษฎีแม้จะดูดี แต่ในทางปฏิบัติ มักล้มเหลวเสียมาก เพราะความเป็นจริงทางธุรกิจหรือทางการตลาดหรือเรื่องเงินเรื่องทอง มันจะมีการได้เปรียบเสียเปรียบกันตลอดเวลา หรือในทางกลยุทธ์ธุรกิจ มันก็ต้องมีการหลอกล่อกัน โกหกกัน ขุดหลุมพรางกัน หรือไม่ก็บอกกันไม่หมด

และประเด็นสำคัญที่มักถูกมองข้าม คือใจคอคนแถวนี้ มันถูกหล่อหลอมกันมาแต่อดีต ตั้งแต่บรรพบุรุษเป็นรุ่นๆ มา แต่ละพวกก็ผ่านร้อนผ่านหนาวมาต่างกัน และมันก็มีลักษณะ ชาติใครชาติมัน เชื้อใครเชื้อมัน พวกใครพวกมัน ยากที่จะไว้ใจกันได้หมด จะเข้าใจสิ่งเหล่านี้ให้ทะลุปรุโปร่งได้ มันต้องมองในเชิงวัฒนธรรม เชิงประวัติศาสตร์ หรือเชิงที่ไม่ใช่เอาเงิน เอาตลาด เอาตัวเลขประชากร เอาความมั่งคั่งของทรัพย์ในดินสินในน้ำ หรืออำนาจ เป็นตัวตั้ง

แล้วใจคอคนนี้มันกำหนดการค้า กำหนดเศรษฐกิจ กำหนดกลยุทธ์ธุรกิจ การตลาด การลงทุน อีกทอดหนึ่ง

อันนี้เป็น AEC ในมิติเชิงลึก เชิงละเอียด เชิงลึกซึ้ง ที่มักไม่เอามาพูดกัน ไม่เอามาถ่ายทอดให้กันฟังในวงกว้าง

ผมยกตัวอย่างคนเวียดนาม พวกเขามักไม่ไว้ใจคนต่างชาติ มันน่าเห็นใจ เพราะพวกเขาเคยอยู่ภายใต้จีนมาเกือบพันปี แล้วก็มาถูกฝรั่งเศสข่มเหงน้ำใจอีก พอทำท่าว่าจะเป็นอิสระ ก็มาถูกอเมริกันย่ำยี ซ้ำเข้าไปอีกมีดหนึ่ง ทำให้นิสัยใจคอคนเวียดนามเป็นอย่างนี้

พื้นฐานความไม่ไว้ใจคนต่างชาติของคนเวียดนามนี้เอง ที่ทำให้กิจการร่วมทุนต่างๆ ในเวียดนาม ไปได้ไม่ไกล และมักล้มเหลวเสียเป็นส่วนมาก

สมัยเวียดนามเปิดประเทศใหม่ๆ นักธุรกิจไทยเข้าไปร่วมทุนกันมาก สุดท้ายล้มเหลวกลับมาเสียเป็นส่วนใหญ่

ผมเคยพูดคุยกับนักธุรกิจใหญ่หลายท่านที่มีประสบการณ์กับเวียดนาม แทบทั้งหมดพูดตรงกัน บางคนไปไกลถึงว่าคนเวียดนามชอบหลอกคนไทยก็มี

หรืออย่างสิงคโปร์ มักดูถูกคนแถบนี้ ยิ่งตอนหลังรวยแล้ว ก็ยิ่งดูถูกเข้าไปใหญ่ แต่พวกเขาจะยอมลงให้ฝรั่ง

คนไทยเองก็เกลียดคนสิงคโปร์ หาว่าชอบฉวยโอกาส และชอบใส่ร้ายประเทศไทยลับหลัง ผมเคยได้ยินกันหูตัวเองจากปากของผู้ใหญ่มากๆ ของไทยอย่างน้อย 3 คน ที่เรียกสิงคโปร์ว่า “เจ๊กสิงคโปร์”

ดังนั้นการค้าหรือการดีลกับสิงคโปร์ ย่อมต้องคำนึงถึงความรู้สึกนึกคิด หรือ Assumption  ในแง่นี้ด้วย

หรืออย่างญี่ปุ่นนั้นมักพูดน้อย ชอบเก็บงำความรู้สึก และที่พูดมักไม่ใช่สิ่งที่คิดอยู่ในใจ แต่ถ้าไว้ใจกันแล้ว จะคบกันไปนาน

ประเด็นเหล่านี้มิใช่การค้า แต่มันจะกำหนดการค้าและวิธีค้าขาย ตลอดจนแนวนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระหว่างกัน ทั้งในแบบทวิภาคีและพหุภาคี อีกทอดหนึ่ง

ดังนั้น การที่ในแบบเรียนลาว เขียนว่าไทยเคยย่ำยีพวกเขา แม่ทัพไทยหลายท่านเคยเผากรุงศรีสัตนาคนะหุต และแบบเรียนเขมรเขียนว่าไทยแย่งชิงเขาพระวิหารไปจากพวกเขา หรือแบบเรียนไทยบอกว่าพม่าเป็นศัตรูที่เคยข่มเหงน้ำใจชาวไทยทั้งประเทศ ฯลฯ เหล่านี้ย่อมจะมีผลกระทบต่อความเป็นไปและอนาคตของ AEC อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น   

ผมอยากให้ท่านผู้อ่านได้อ่านความเห็นในอีกแง่มุมหนึ่ง ซึ่งเป็นของ ส.ศิวรักษ์ ที่เคยพูดให้สัมภาษณ์ไว้ในประเด็นนี้ว่า

ถาม: อาจารย์คิดเห็นอย่างไร กับประเทศไทย ที่กำลังก้าวสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN) มีผลดี-ผลเสีย อย่างไรครับ

ส.ศิวรักษ์ : คือคนที่พูดถึงอาเซียน (ASEAN) เนี่ย เข้าใจอาเซียนขนาดไหน เข้าใจประเทศเพื่อนบ้านขนาดไหน ถ้าลึกๆ เรายังดูถูกพม่า ดูถูกลาว ดูถูกเขมร ดูถูกมลายู เข้าอาเซียน ไม่มีประโยชน์อะไรเลย เข้าไปเพื่อจะไปตักตวง เพื่อไปแข่งกับเขา นี่อาเซียน ประการแรก คือเป็นประเทศเพื่อนบ้านกัน ทำยังไงเราถึงจะรักประเทศเพื่อนบ้านได้ เราจะรักประเทศเพื่อนบ้านได้ เราต้องลดความเป็นชาตินิยมลง ให้เห็นว่าพม่า เขามีอะไรดีไม่แพ้เรา เขมร เขามีอะไรดีไม่แพ้เรา เขามีข้อบกพร่อง เราก็มีข้อบกพร่อง เป็นเพื่อนกันก็ต้องเข้าใจกัน เพราะฉะนั้นการอยู่ในอาเซียน คือเป็นเพื่อนกันในภูมิภาคนี้ เราต้องเคารพในความรักใคร่ ด้วยความเกรงใจกัน ให้อภัยกัน แล้วมองเขามีจุดเด่นอะไร จุดด้อยอะไร แต่ตอนนี้ไปมอง โอ้โห เช่น สิงคโปร์นี่รวยที่สุด จะเอาอย่างสิงคโปร์ มองไม่เห็นเลย สิงคโปร์เป็นเมืองที่ไม่มีมนุษย์อยู่ มีแต่สัตว์เศรษฐกิจทั้งนั้น มีเงินเยอะแยะ แต่ไม่มีความสุข ขากเสลด ถ่มน้ำลายก็ต้องออกไปนอกประเทศ จะเอาอย่างงั้นหรือ เพราะฉะนั้น ผมว่าเรื่องอาเซียน ต้องเข้าใจให้ชัดนะ นี่ตอนนี้ตื่นเต้น ว่าที่ยุโรปเขามี common market - ตลาดร่วม มี European Union จะเอาอย่างเขา ตอนนี้เอาอย่างฝรั่งทั้งนั้น มีความคิดที่บัดซบ ไม่ใช่ความคิดที่ฉลาด” (อ้างจากข้องความใน Facebook ของ Sulak Sivaraksa: 21 May, 2012)

น่าคิดนะครับ ความเห็นของ ส.ศิวรักษ์

อีกอย่างหนึ่งที่ผมอยากจะพูดถึง คือนโยบายของไทยเกี่ยวกับคนต่างชาติ ก็เป็นนโยบายที่เอาเรื่องเงินเป็นตัวตั้งเช่นกัน

เรามีกฎหมาย 11 ฉบับที่ยอมให้ทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนเป็นเจ้าของกิจการของเราได้ เรายอมให้ต่างชาติที่แต่งงานกับคนไทยสามารถถือครองทรัพย์สินต่างๆ ได้ และเราให้วีซ่ากับผู้ที่นำเงินเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนเกินเท่านั้นเท่านี้ ทว่า อีกด้านหนึ่งเราก็ยังกีดกันคนงานต่างชาติ และนักวิชาชีพผู้มีทักษะสูงต่างๆ อย่างยิ่งยวด

ผมเห็นกระบวนการตรวจคนเข้าเมืองที่แม่บ้านไทยใหญ่ของผมต้องทำตามในแต่ละปีแล้ว ผมรู้เลยว่า นโยบายของไทยต่อคนงานต่างชาติมันมีลักษณะ Racism มาก

อย่ากระนั้นเลย แม้แต่คุณมาร์เซล บารัง ชาวฝรั่งเศสผู้มีคุณูปการสูงมากต่อวงวรรณกรรมไทย ผู้รู้ภาษาไทยอย่างลึกซึ้ง สามารถแปลวรรณกรรมชั้นยอดของไทยเป็นอังกฤษและฝรั่งเศส จนสร้างชื่อเสียงไปทั่วโลก และเขายังมีภรรยาเป็นคนไทย อยู่เมืองไทยมาช้านาน ทว่าก็ยังถูกกระบวนการวีซ่าและตรวจคนเข้าเมืองกีดกันและรังแกอยู่อย่างเรื้อรังและน่าน้อยใจ อย่าว่าแต่จะขอแปลงสัญชาติเป็นไทยเลย

อันนี้นับว่านโยบายของเราเป็นนโยบายที่โบราณล้าสมัย เพราะไม่คำนึงถึง “ทักษะ” หรือ “Talented” ใดๆ ทั้งสิ้น

เรา Treat คนงานต่างชาติเป็นแบบ Monotone ไม่แยกแยะ โดยเอา Skill เป็นตัวตั้ง ว่าคนไหนเป็นคนพิเศษและคนไหนเป็นคนธรรมดา

อย่าลืมว่า Competitive Advantage ในโลกสมัยใหม่มันมาจากทักษะและความรู้ที่อยู่ในหัวของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ประกอบการ นักวิทยาศาสตร์ หมอ นักพันธุกรรม Bio-engineer ดีไซเนอร์ สถาปนิก วิศวกร โปรแกรมเมอร์ นักการเงิน ครีเอตีฟ ศิลปิน ครู นักวิจัย Venture Capitalist นักสิ่งแวดล้อม และผู้เชี่ยวชาญ (จริงๆ) ฯลฯ

มันไม่ใช่อะไรๆ ก็ “เงิน”ๆๆ ลูกเดียว

ดังนั้น นโยบายการอนุมัติวีซ่าและ Immigration ในอนาคต ควรต้องยึดเอา “ทักษะ” และ “ความรู้ความสามารถ” ของคนเป็นตัวตั้ง

ยิ่งไปกว่านั้น สมาคมวิชาชีพต่างๆ ของไทยคงต้องหันมาทบทวนกฎเกณฑ์ของตัวเองที่กีดกันคนต่างชาติอย่างเอาเป็นเอาตาย ไม่ว่าจะเป็น แพทย์ วิศวกร สถาปนิก ฯลฯ เพราะมันเป็นการปิดโอกาสที่นักวิชาชีพต่างชาติเก่งๆ จะเข้ามาประกอบอาชีพในเมืองไทย และสังคมไทยก็คงจะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากทักษะและความรู้ของพวกเขาเมื่อเปิด AEC แล้ว

ผมไม่แน่ใจว่า คนอย่าง Steve Jobs, Bill Gates, และ Mark Zuckerberg เมื่อยังเป็นเด็กกะโปโล ยังไม่ดังและยังไม่รวย ถ้าเกิดอยากมาทำงานในเมืองไทย พวกเขาจะได้รับวีซ่าหรือไม่

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
18 กรกฎาคม 2555


ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนกรกฎาคม 2555


อ่านบทความของผมที่เกี่ยวเนื่องได้ตามลิงก์ข้างล่าง....

**จีน พี่เบิ้มผู้มั่งคั่งทว่าว่างเปล่า



***GERMAN INNOVATIONS




****PARIS INNOVATIONS



*EURO CRISIS กับนโยบายพิมพ์แบงก์ของมหาอำนาจและโอกาสของไทย



วันเสาร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

"รัฐปัตตานี" จะไปรอดเหรอ?



จะเป็นอะไรไหม ถ้าปัตตานี ยะลา และนราธิวาส แยกตัวเป็นประเทศของเขาเอง?

มันจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น?

ประเทศเล็กๆ ของพวกเขาจะไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่?

ขนาดประเทศใหญ่ๆ แถบนี้ยังต้องรวมตัวกันเป็น AEC แล้วประเทศเล็กๆ เพิ่งจะตั้งไข่ จะหากินกันยังไง จะลำบากเกินไปหรือเปล่า? สู้อยู่รวมกันเป็นประเทศไทยอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ไม่ดีกว่าเหรอ?

หากแยกเป็นเอกเทศ ประเทศเกิดใหม่นั้นจะทำยังไงกับปัญหารายได้ รายจ่าย ภาษี งบประมาณ ตลอดจนระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เช่นระบบการเงิน ระบบธนาคาร ระบบการผลิต การจัดหาทุน ระบบการศึกษา การสาธารณสุข การสื่อสาร และการลงทุน ฯลฯ ?

อย่าลืมว่าปัจจุบันและในอดีตที่ผ่านมา สามจังหวัดนั้นได้รับการ Subsidized จากรัฐบาลที่กรุงเทพฯ อยู่ตลอดเวลา และเป็นจำนวนที่มีนัยะสำคัญ โดยเฉพาะในระยะหลัง ที่งบประมาณรายจ่ายในเขตนั้น เพิ่มขึ้นหลายร้อยเปอร์เซ็นต์

ถ้าแยกไปเดินเองคนเดียว จะต้องแบกรับต้นทุนหนักหน่วงเพียงใด และจะรับได้หรือไม่ในเชิงการเมือง?

ลำพังเพียงน้ำมันและก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งและยางพาราและการประมงแบบพื้นบ้านจะสร้างความมั่นคงในระยะสั้นได้จริงหรือ?

ฯลฯ

ผมว่าพวกเราไม่เคยรู้คำตอบเหล่านี้เลย แม้กระทั่งคนในเขตสามจังหวัดนั้น ผมว่าก็ไม่รู้ หรือแม้กระทั่งนักการเมือง นักการทหาร และข้าราชการระดับสูง ผู้มีส่วนต่อการดำเนินนโยบายความมั่นคงระดับชาติ ก็อาจจะไม่มีคำตอบที่ชัดเจน

เพราะในอดีตที่ผ่านมา พวกเรามักมองปัญหานี้ในเชิงชาตินิยม ท้องถิ่นนิยม ในเชิงความมั่นคง และเกี่ยวเนื่องกับสงครามศาสนาและการก่อการร้าย ซึ่งมีความซับซ้อนและทับซ้อนกันทั้งในระดับพื้นที่และระดับสากล

แต่ต้องอย่าลืมว่า คำตอบที่ชัดเจนต่อประเด็นเชิงเศรษฐกิจพื้นฐานเหล่านี้ ย่อมสำคัญต่อทิศทางของนโยบายความมั่นคงในเขตนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ารัฐบาลจะเปลี่ยนเข็มมุ่งไปให้น้ำหนักกับการเจรจายิ่งกว่าการปราบปราม

คำตอบต่อประเด็นเหล่านี้ต้องอาศัยจินตนาการและการวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงลึกซึ่งกระจัดกระจายกันอยู่ตามหน่วยราชการต่างๆ จำนวนมาก

ถ้าลองคิดแบบคร่าวๆ ปัญหาแรกและสำคัญที่รัฐบาลของประเทศใหม่ ขนาดประชากรประมาณ 2 ล้านคนนั้น (สมมติว่าจะไม่มีคนอพยพออกหลังจากตั้งประเทศ) จะต้องปวดหัว ก็คือปัญหารายได้ ไม่พอกับค่าใช้จ่ายที่จะต้องคงระดับมาตรฐานการให้บริการประชาชนในระดับปัจจุบันเอาไว้

ปัจจุบันภาษีที่เก็บได้จากเขตสามจังหวัด ทั้งภาษีเงินได้ ภาษีธุรกิจ ภาษีศุลกากร และภาษีสรรพสามิต ไม่มีทางเพียงพอกับค่าใช้จ่ายบริการสาธารณะต่างๆ อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล ยารักษาโรค และค่าใช้จ่ายในเชิงความมั่นคงปลอดภัย เช่นเงินเดือนตำรวจ ทหาร เป็นต้น

แม้ค่าใช้จ่ายในเชิงความมั่นคงจะลดลงหลังจากแยกตัวแล้ว (เพราะการก่อการร้ายจะลดลง) และรายได้ศุลกากรจากชายแดนจะเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับรายได้จากการท่องเที่ยวจะกลับมาสู่ปกติ แต่โรงงานและธุรกิจที่เสียหายและอพยพออกไปมากแล้ว อาจไม่กลับมาลงทุนใหม่ในเร็ววัน

ปัจจุบันรายได้จากยางพาราลดลงมากเพราะการเปลี่ยนเวลากรีดยางเพื่อความปลอดภัย และประมงก็ประสบชะตากรรมเดียวกัน

สมมติว่าสถานการณ์ของยางพาราและประมงจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทว่า ยางพาราในประเทศไทยก็กำลังจะอยู่ในช่วงขาลง เพราะคู่แข่งในเอเซียเพิ่มขึ้นแยะ ทั้งพม่า เขมร ลาว ซึ่งจีนผู้ซื้อรายใหญ่ เข้าไปลงทุนเป็นเจ้าภาพเองเลยทีเดียว โดยที่ผลผลิตจากการประมง ก็จำต้องนำไปแลกกับคาร์โบไฮเดรตหลักที่เขตสามจังหวัดผลิตเองไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ข้าว" ซึ่งต่อไปจะต้อง Import เข้าไปจากไทย


คนส่วนใหญ่คิดว่าทรัพย์สมบัติหลักของเขตสามจังหวัดนั้นคือบ่อน้ำมันและหลุมก๊าซในอ่าวไทย แต่ถ้าดูกันในรายละเอียด เราจะพบว่าหลุมบ่อเหล่านั้นได้ให้สัมปทานแก่บริษัทขุดเจาะไปมากแล้ว และให้เป็นเวลาล่วงหน้ายาวๆ คือแม้มันจะสร้างรายได้ให้ตกสู่แผ่นดินบ้าง ก็คงจะไม่เกิน 10% ของจีดีพีประเทศใหม่เป็นแน่


นี่ยังไม่นับระบบการเงิน สกุลของเงินตรา ระบบธนาคาร และระบบชำระเงิน ซึ่งจะต้องพึ่งพาธนาคารพาณิชย์ของประเทศไทยหรือมาเลเซียอยู่ดี


เพราะถ้าเลือกวิธีชาตินิยม สร้างขึ้นมาใหม่เองทั้งหมด คงจะอลเวงน่าดู และเงินสกุลใหม่คงจะไม่ได้รับความเชื่อถือเท่าที่ควร ยากแก่การดำเนินนโยบายการเงิน และจะกระทบต่อมาตรฐานการครองชีพในที่สุด


เพื่อให้ดำเนินการได้ รัฐบาลใหม่คงต้องเลือกใช้วิธีลดค่าใช้จ่ายให้ “พอเพียง” กับรายได้ และงดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งก็หมายความว่าคุณภาพชีวิตของราษฎรก็จะถดถอยลงด้วย


ผมอยากให้มีการศึกษาวิจัยในทุกแง่มุมที่กล่าวมานั้นอย่างละเอียดแล้วนำผลงานมาเผยแพร่อย่างกว้างขวาง เพราะเรามีนักเศรษฐศาสตร์เก่งๆ มากมาย ทั้งในหน่วยงานราชการ มหาวิทยาลัย ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทโบรเกอร์จำนวนมาก

เผื่อว่าเราจะได้มองปัญหาภาคใต้ในแง่มุมที่ต่างออกไปบ้าง 

เพราะนั่นจะเป็นที่มาของ Innovative Policy หรือ Creative Policy ที่จะไม่วนอยู่ในอ่างเหมือนอย่างทุกวันนี้


ผมเชื่อว่า ถ้าเราเผยแพร่การศึกษาแนวนี้ให้กว้างขวาง แล้วลองจัดทำประชานิยมดู แม้ราษฎรในเขตสามจังหวัดนั้นจะชาตินิยมหรือท้องถิ่นนิยมเพียงใด ถ้าลองพวกเขาได้ตระหนักว่าการแยกตัวนั้นมี “ต้นทุน” ที่สูงเกินไป และกระทบต่อคุณภาพชีวิตของพวกเขาเกินไป พวกเขาคงไม่ Vote ให้แยกตัว แม้แต่ระดับหัวหน้าขบวนการใต้ดินที่ชี้นำ “การก่อการร้าย” อยู่ในขณะนี้ ผมก็ไม่แน่ใจว่าพวกเขารับรู้ข้อมูลและการวิเคราะห์ในเชิงนี้กันบ้างหรือไม่


ที่พูดมานี้ มิใช่ว่าผมจะไม่ให้น้ำหนักกับเรื่อง “ก่อการร้าย”


แต่เพราะผมคิดว่า “การก่อการร้าย” มิใช่ปัญหาใหญ่ในระยะยาว หรืออย่างน้อยก็มิใช่ “ประเด็นหลัก”


ผมคิดว่าคณะผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดนหรือขบวนการใต้ดินใช้ “การก่อการร้าย” เป็นเพียงเครื่องมือเท่านั้นเอง มิใช่เป็นเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์


พวกเขาน่าจะรู้ว่า “การก่อการร้าย” มีข้อจำกัดแยะ โดยเฉพาะถ้าเลือกใช้มันอย่างต่อเนื่องยาวนาน เพราะถ้าคนไม่กลัวหรือชินกับมันแล้วหันมาต่อต้าน ขบวนการก่อการร้ายก็จะพ่ายแพ้ (อย่าลืมว่า Terror แปลว่า “ความกลัว” Torrorist ย่อมหมายถึง “ผู้ทำให้กลัว” ดังนั้น ถ้าผู้คนเกิด “ไม่กลัว” กลยุทธ์นั้นก็คงจะใช้ไม่ได้ผล) 

และการก่อการร้ายมักจำกัดขอบเขตไม่ให้ไปกระทบกระทั่งกับ “แนวร่วม” ได้ยาก การวางระเบิดในหาดใหญ่ทำให้ขบวนการสูญเสีย “แนวร่วม” ซึ่งถ้าแนวร่วมที่กว้างขวางเพียงพอหันมาต่อต้าน หรือไม่ให้ความช่วยเหลือ ขบวนการก็ยากจะสำเร็จไปได้แบบตลอดรอดฝั่ง

และขบวนการก่อการร้ายมักมุ่งเป้าหมายโจมตีไปที่คนเล็กคนน้อยซึ่งพวกเขาคิดว่าเป็นแนวร่วมกับรัฐบาล (เพราะการโจมตีรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐบาลเป็นเรื่องยาก) ซึ่งการฆ่าคนบริสุทธิไปเรื่อยๆ ย่อมทำให้ Goodwill ของขบวนการลดต่ำลง

ยิ่งมีการเอา “การก่อการร้าย” ไปพ่วงกับศาสนาด้วยแล้ว โอกาสสำเร็จยิ่งยากใหญ่

คนที่ทราบอดีตมาบ้าง คงรู้ว่าขบวนการ Islamic Extremist นั้น มีขึ้นเป็นระยะๆ ในหลายช่วงประวัติศาสตร์ แต่เมื่อเวลาผ่านไป มันก็จะซาลงไปเอง เพราะเนื้อแท้ของทุกศาสนาย่อมใฝ่หาสันติ และในที่สุดผู้คนจะกลับไปสู่ตรงนั้น

ที่พูดมานี้มิใช่จะให้เกิดความประมาท 

ผมว่ารัฐบาลจะต้องลงทุนเรื่องต่อต้านการก่อการร้ายต่อไป โดยเฉพาะในเชิงการข่าวหรือข่าวกรอง และควรแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานข่าวกรองของประเทศที่มีประสบการณ์ให้มากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ หรืออิสราเอล (แน่นอน ต้องทำแบบลับๆ)

ปัจจุบัน การต่อต้านการก่อการร้ายก้าวหน้าไปมาก มีการใช้หุ่นยนต์ไฮเทค (Drone) ชนิดที่เราคาดไม่ถึงไปปฏิบัติการแทนคนจริงในการปฏิบัติภารกิจเสี่ยงๆ อย่างหลากหลาย

เช่น Flying Surveillance Drone (ชื่อเรียกว่า DelFly) ซึ่งมีน้ำหนักเท่าแหวนแต่งงานวงเล็กๆ เพียงวงเดียว สามารถบินลาดตระเวนหาพวกผู้ก่อการร้ายในทะเลทรายและเขตป่าลึก หรืออย่าง Avenger ที่สามารถแบกระเบิดไปทิ้งยังเป้าหมายด้วยตัวเอง (โดยไม่จำเป็นต้องมีพลขับ) ได้ถึง 2.7 ตัน ด้วยความเร็วถึง 740 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นต้น

หรืออย่างเจ้าหุ่นที่ใช้สะกดรอยตามมนุษย์ สามารถค้นหาบุคคลเป้าหมายท่ามกลางฝูงชนได้ด้วยเซ็นเซอร์พิเศษ และเจ้าหมายักษ์ LS3 ที่ช่วยแบกสัมภาระหนักได้ถึง 180 กิโลกรรม หรืออย่างเจ้าหุ่นแมงสาบ 6 ขา RISE ที่สามารถไต่กำแพงได้แบบจิ้งจก หรืออย่างเจ้าเห็บหมา Sand Flea ที่เน้นเผ่นโผนโจนทะยาน วันดีคืนดีก็กระโจนออกนอกหน้าต่าง ขึ้นบนหลังคา ในขณะเดียวกันก็บันทึกวิดีโอไปด้วย แล้วก็ลงมาเดินมาวิ่งมากลิ้ง จนเมื่อถึงเวลาก็กระโจนอีก เป็นต้น

ผมคิดว่าทั้งการก่อการร้ายโดยฝ่ายขบวนการใต้ดินหรือแบ่งแยกดินแดน และการไล่จับผู้ก่อการร้ายโดยฝ่ายรัฐบาล หรือการดำเนินนโยบายปราบปรามในแบบ “สายเหยี่ยว” จะไม่เป็นผลดีกับใครในระยะยาว นอกจากพ่อค้าอาวุธ นายหน้า และกิจการไฮเทคเหล่านั้น ตลอดจนนายทหาร นักการเมือง และนักล็อบบี้ยิ้สต์ ที่ได้รับเปอร์เซนต์จากพวกเขา


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนกรกฎาคม 2555

ภาพประกอบภาพแรกเป็นภาพแผนที่ประเทศไทยพร้อมบ่อน้ำมันและก๊าซที่ได้ให้สัมปทานขุดเจาะ
ส่วนภาพที่สองเป็นภาพหุ่น Drone รุ่น LS3 (ภาพจาก The Economist)