วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2555

เฉลียว สุวรรณกิตติ สุภาพบุรุษนักคิด




ผมพบกับคุณเฉลียวครั้งแรกเมื่อยี่สิบปีก่อนที่ร้านอาหารแถวสยามสแควร์ จากการแนะนำของคุณสมชัย วงศาภาคย์ โดยการสนทนาครั้งนั้นเกี่ยวเนื่องด้วยเรื่องโทรศัพท์สามล้านเลขหมายซึ่งกำลังถูกหั่นลงให้เหลือสองล้านเลขหมาย
คุณเฉลียวเป็นนักเล่าเรื่อง ความจำดี เล่าสนุก พูดยากเป็นง่าย มีอารมณ์ขัน และมีมุขหักมุม แต่ก็พูดจาสุภาพ อีกทั้งยังรู้จักคนแยะ เพราะผ่านงานมาหลายแห่งและหลายลักษณะ
ผมทราบว่าคุณเฉลียวจบบัญชีจุฬาฯ แล้วไปต่อเอ็มบีเอที่อินเดียนา แล้วก็กลับมาเป็นอาจารย์ที่บัญชีจุฬาฯ แล้วก็ออกไปทำ ร.ส.พ. แล้วก็ ข.ส.ม.ก. แล้วก็ทำกิจการเรือขนส่งสินค้าของครอบครัว แล้วก็มาทำธนสถาปนาซึ่งเป็น Venture Capital แห่งแรกของเมืองไทยภายใต้การร่วมทุนของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ในขณะนั้น แล้วถึงจะเข้าร่วมกับซีพี
ผมทราบอีกว่าคุณเฉลียวเป็นลูกเขยของเหียมุ่ยเก๋า (บุตรบุญธรรมและอดีตมือขวาของเหียกวงเอี่ยม) เจ้าหน้าที่ระดับสูงผู้มีความสัมพันธ์อันดีกับเติ้งเสี่ยวผิง และเป็นคีย์แมนคนสำคัญของความสัมพันธ์ไทย-จีนมาตั้งแต่ยุคโจวเอินไหล จึงเป็นผู้ช่วยเปิดประตูให้กับนักธุรกิจไทยเชื้อสายจีนได้เข้าไปร่วมลงทุนในจีนหลังจากเติ้งเสี่ยวผิงเปิดประเทศ และเป็นที่มาแห่งความสำเร็จของซีพี
สมัยนั้นธุรกิจโทรคมนาคมกำลังเป็นดาวดวงใหม่ และคุณเฉลียวก็เป็นคน “ทำคลอด” ให้กับโครงการสามล้านเลขหมายของซีพี ซึ่งพัฒนาไปเป็นเทเลคอมเอเซียในเวลาต่อมา และกลายมาเป็น True ในปัจจุบัน
แม้คุณเฉลียวจะไม่ใช่วิศวกร แต่ก็เข้าใจธุรกิจโทรคมนาคมทะลุปรุโปร่ง และด้วยความเป็นคนมีอัธยาศัยง่ายๆ แบบอาจารย์ผู้ใหญ่ใจดี จึงกลายเป็นขวัญใจของสื่อมวลชนที่ต้องติดตามเบื้องหน้า (ซึ่งเกี่ยวเนื่องด้วยมิติทางด้านเทคโนโลยี การแข่งขัน การตลาด การเงิน การลงทุน การร่วมทุน และการจัดการ) และเบื้องหลัง ซึ่งเกี่ยวเนื่องด้วยเรื่องสัมปทานรัฐและการเมืองระดับชาติอย่างแยกไม่ออก โดยมีไส้สนกลในค่อนข้างลึกลับซับซ้อน (และต้องอัพเดตตลอดเวลา) คือโยงถึงนักการเมืองแทบทุกพรรค และข้าราชการระดับสูง นายหน้าล็อบบี้ยิ้สต์ ตลอดจนกลุ่มนายทหารผู้ถืออำนาจรัฐในช่วงนั้น
การสนทนาในครั้งนั้นช่วยให้ผมสามารถฟอร์มความคิดได้ชัดและเข้าใจแนวโน้มว่าธุรกิจโทรคมนาคมในเมืองไทยจะพัฒนาต่อไปยังไง Pattern ของการแข่งขันจะออกมาแนวไหน และจะอ่านใจผู้เล่นสำคัญๆ อย่างคุณธนินท์ เจียรวนนท์ ดร.อดิศัย โพธารามิก คุณบุญชัย เบญจรงค์กุล และ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ว่าใครน่าจะเคลื่อนไหวเดินหมากยังไงกันต่อไป ฯลฯ
คุณเฉลียวช่วยให้ผม Conceptualize ได้ทันที ผมจึงประทับใจและยังคงจดจำเนื้อหาส่วนใหญ่ของการสนทนาครั้งนั้นได้จนกระทั่งบัดนี้
ผมมีโอกาสสนทนากับคุณเฉลียวอีกเพียงสามครั้งหลังจากที่ท่านล้มป่วยและย่างเข้าวัยชราแล้ว แต่ผมก็ได้อ่านงานเขียนของคุณเฉลียวเป็นระยะ และยังเคยทำบทสัมภาษณ์และนำความเห็นของคุณเฉลียวมาตีพิมพ์ในนิตยสาร Corporate Thailand ของผม ก่อนหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คของคุณเฉลียวจะวางแผงอีกด้วย
ผมพบว่าคุณเฉลียวเป็นคนทันสมัย ไม่ตกเทรน มีความสนใจกว้างขวาง และมีลักษณะแบบนักคิดที่เข้าใจปัญหาสังคมอย่างลึกซึ้งแต่ไม่ค่อยแสดงออก
ที่สำคัญ คุณเฉลียวเป็นคนมีความสุข และมองชีวิตด้วยอารมณ์ขัน หัวเราะเยาะได้แม้กระทั่งความเจ็บป่วยและโชคชะตาของตัวเอง ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นผลมาจากการมีลูกเมียที่น่ารักและอบอุ่น โดยที่คุณเฉลียวคงจะเข้าถึงสัจธรรมขั้นสูงอีกโสตหนึ่งด้วย
ครอบครัวคือ Asset ที่สำคัญของคุณเฉลียว โดยคุณเฉลียวมีภรรยาที่ประเสริฐ อุทิศตน และลูกๆ ก็ประสบความสำเร็จในชีวิต
ครั้งสุดท้ายที่ผมพบกับคุณเฉลียว ผมได้ขออนุญาตว่าจะเข้าไปขอความรู้จากคุณเฉลียวอย่างสม่ำเสมอ โดยจะขอให้คุณเฉลียวเล่าเรื่องเก่าๆ ให้ฟังแบบไม่ปิดบัง แม้จะพาดพิงถึงผู้คน (และผมจะไม่เปิดเผยหรือนำไปเผยแพร่ในระหว่างที่คุณเฉลียวยังคงมีชีวิตอยู่)...ซึ่งคุณเฉลียวบอกกับผมว่ายินดีจะเล่าให้ฟัง
แต่จนแล้วจนรอด ผมก็ยังไม่ได้ลงมือทำ
ผมเสียดายมากที่พลาดโอกาสสำคัญที่จะได้รับรู้ถึงประสบการณ์อันมีค่ายิ่งของคนรุ่นก่อนว่าพวกท่านคิดยังไง ผ่านอะไรกันมาบ้าง กว่าจะสามารถสร้างผลงานสำคัญๆ ไว้ให้กับสังคมไทยและลูกหลาน
ผมได้ทราบว่าภรรยาของคุณเฉลียวดำริจะตั้งมูลนิธิขึ้นในนามของท่านผู้ล่วงลับ
ผมคิดว่ามูลนิธิดังกล่าวจะเป็นกลไกสำคัญในการถ่ายทอดความรู้สำคัญๆ ให้กับคนรุ่นหลัง และจะเป็นบุญกิริยาอันยิ่งใหญ่ให้กับท่านผู้ล่วงลับ

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
17 มกราคม 2555


ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนมกราคม 2555

หมายเหตุ:


โปรดอ่านบทความที่ผมเคยเขียนถึง พ.ญ.ลดาวัลย์ สุวรรณกิตติ ได้ตามลิงก์ข้างล่าง...




***คุณหมอลดาวัลย์ที่ผมรู้จัก

วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2555

ความกล้าของยิ่งลักษณ์





เมื่อรู้สึกเบื่อหน่าย ท้อแท้ สิ้นหวัง กังวล สับสน หรือหวาดหวั่น กับความเสี่ยงในอนาคตของสังคมไทย และรู้สึกเป็นห่วงลูกๆ ว่าอาจจะต้องพานพบกับสงครามกลางเมืองหรือความขัดแย้งและรุนแรงอย่างยืดเยื้อจนถูกทำให้ล้าหลัง หรือถูกริดรอนเสรีภาพ หรือตกอยู่ในความหวาดกลัว ขมขื่น สูญเสีย พลัดพราก เศร้าสลด และเคียดแค้น เหมือนกับสังคมลาว เขมร เวียดนาม ลิเบีย หรือจีน ในครั้งกระโน้น และพม่า อิรัก หรือเกาหลีเหนือในบัดนี้ ผมมักเชียร์ตัวเองให้มีกำลังใจด้วยการฝากความหวังไว้กับผู้หญิง เพราะผมรู้สึกว่าผู้หญิงปัจจุบันมีบทบาทต่อการแก้ปัญหาสังคมมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด เมื่อเทียบกับสมัยที่ผมยังเป็นเด็ก และก็น่าจะมีบทบาทมากยิ่งขึ้นไปอีกในอนาคต

เมื่อหวนระลึกถึงความเมตตาและอบอุ่นของแม่ในยามเด็ก และสังเกตความรักที่ภรรยามีต่อผมและลูกๆ ผมก็สัมผัสได้กับพลังด้านบวกของผู้หญิง และคิดว่าถ้าผู้หญิงเข้ามาแชร์อำนาจจากผู้ชายแยะขึ้น ครอบครัว องค์กร สังคม ประเทศ และโลก น่าจะดีขึ้นด้วย


น่ายินดีที่ผู้หญิงในปัจจุบันสามารถหยิบยื่นโอกาสให้ตัวเองได้สำแดงพลังออกมาในแทบทุกวงการ

“พลัง” ในที่นี้ย่อมหมายถึง ความคิดสร้างสรรค์ ความหวัง ความฝัน ความเห็น อารมณ์ความรู้สึก และจินตนาการ

ลองมองไปรอบด้าน เราจะเห็นผู้หญิงเป็นใหญ่ในองค์กรจำนวนมาก

เอาแค่วงการสื่อมวลชนของพวกเราเอง ก็มีบรรณาธิการเป็นผู้หญิงจำนวนไม่น้อย และถ้ามองเจาะลึกเข้าไปยังฝ่ายขายขององค์กรสื่อทุกสำนัก ผมว่ากว่าเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ที่ผู้หญิงคุมอำนาจอยู่

ผมคิดว่าผู้หญิงแถวหน้าที่สามารถถีบตัวเองขึ้นมาแชร์อำนาจในองค์กรกับผู้ชายได้ ย่อมมี “ความกล้า” เป็นเจ้าเรือน

โดยเฉพาะในวงการเมืองด้วยแล้ว ยิ่งต้องอาศัยความกล้าเป็นอย่างมาก

คนอย่างอองซานซูจี, โกลด้า เมียร์, สิริมาโว บันดาไนยเก, อินทิรา คานธี, มากาเร็ต แทชเชอร์, หรือแม้แต่ แองเจล่า เมอร์เคล, คริสตินา เฟอร์นานเดซ เคิร์ซเนอร์, ดิลมา รุสเซฟ, จูเลีย กิลลาร์ด, เอลเลน จอห์นสัน-เซอร์รีฟ, ซีค ฮาสินา วะเจด, โจฮันนา ซิเคอดรอตเตอร์, ลอร่า ซินซิลล่า, ตรายา ฮาโลเนน, ดาเลีย กริโบสเกียต, กัมลา เปอร์ซาต-บิสเซสซ่าร์, และ ซาร่าห์ เพลิน ล้วนเป็นผู้หญิงที่กล้าหาญมากๆ

และความกล้าย่อมเป็นคุณธรรมข้อสำคัญของนักการเมือง

เพราะแม้ว่าคุณจะมีไอเดียดี หรือพูดเก่งพรีเซ้นต์เก่ง หรือสวยต้องตาต้องใจ หรือมีเสน่ห์คนรักคนหลง หรือฉลาดมีไหวพริบ แต่ถ้าคุณขาดความกล้า...กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง กล้าตัดสินใจ หรือแม้แต่กล้าพูดความจริง...คุณธรรมข้ออื่นก็จะไม่มีประโยชน์

ความกล้าคือหัวหน้าของคุณธรรมข้ออื่นทั้งสิ้น

คุณยิ่งลักษณ์ก็มีความกล้ามากๆ แบบหนึ่ง คือ “กล้าเอาคอขึ้นเขียง” แทนพี่ชาย

การตัดสินใจเข้ามาสู่การเมืองของเธอท่ามกลางปลายหอกแหลนหลาวของศัตรูอกสามศอกผู้ถือทั้งอาวุธและกฎหมายเปี่ยมด้วยอำนาจราชศักดิ์และบารมีทั้งในและนอกรัฐธรรมนูญอย่างเหลือล้น นับเป็นความกล้าหาญอันใหญ่หลวง แบบภาษานักเลงเรียกว่า “ใจถึง”

ข้อนี้พิสูจน์ว่าเธอรักพี่ชายและพร้อมที่จะเสี่ยงชีวิตเพื่อครอบครัว

ความกล้าแบบนี้ย่อมทำให้ศัตรูนับถือ ลูกน้องกลัว คนที่ยังกลางๆ หันมาเข้าด้วย และพวกที่ชอบแทงม้าเริ่มลงขัน

ถ้าเปรียบรัฐบาลเป็นองค์กรธุรกิจ การเข้ามาของเธอทำให้พี่ชายวางใจได้ว่ารัฐบาลจะไม่เกิดปัญหาที่เรียกว่า Agency Problem อย่างแน่นอน เพราะผู้ถือหุ้นและผู้บริหาร (ซึ่งในกรณีนี้มีหน้าที่ใช้อำนาจรัฐ) เป็นกลุ่มเดียวกัน ดังนั้นโอกาสที่คุณยิ่งลักษณ์และคณะผู้บริหารที่คุณยิ่งลักษณ์ควบคุมอยู่ในฐานะ COO จะใช้อำนาจรัฐไปขัดผลประโยชน์ของพี่ชายคงไม่มี

กิจการที่ผู้บริหารกับผู้ถือหุ้นเป็นคนละคนกัน มักเกิดปัญหาดังว่านั้น เพราะผู้บริหารมิได้บริหารงานเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้น แต่กลับใช้อำนาจหน้าที่และทรัพยากรของกิจการไปเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง เช่น ตั้งเงินเดือนตัวเองสูงๆ บวกโบนัสก้อนโตๆ พร้อมผลตอบแทนรูปอื่นสารพัด หรือจัดซื้อจัดจ้างพรรคพวกตัวเอง หรือแอบใช้ทรัพยากรและเครือข่ายของกิจการเพื่อแสวงประโยชน์ส่วนตน ทุจริตคอรัปชั่น หรือยอมให้กิจการต้องเสียค่าโง่ เพีียงเพราะต้องการให้กลุ่มของตนได้รับประโยชน์....

Agency Problem เป็นปัญหาคลาสสิกในเรื่องกรรมสิทธิ์ของการบริหาร หรือ Corporate Control ซึ่งในสังคมตะวันตกนิยมแก้ไขโดยวิธี Takeover หรือ Mergers & Acquisitions คือเข้ายึดหรือครอบครองกิจการแล้วเปลี่ยนผู้บริหาร (ซึ่งเป็น Agent) เสียใหม่ ให้เป็นคนกลุ่มเดียวกับผู้ถือหุ้น (ซึ่งเป็น Principal)

แน่นอน รัฐบาลย่อมมิใช่บริษัท และนายกรัฐมนตรีย่อมมิใช่ตำแหน่งสัมปทานที่ได้มาเพราะการเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองหรือเป็นผู้สมัครหมายเลขหนึ่งของพรรคเท่านั้น เพราะมันต้องมี Accountability ต่อราษฏรเป็นภาระกิจหลักด้วย มิใช่ต่อผู้ถือหุ้นของพรรคแต่เพียงแง่เดียว

นับแต่นี้ ถ้าการใช้อำนาจรัฐของเธอเป็นผลดีต่อพี่ชายและในขณะเดียวกันก็เป็นผลดีต่อราษฎรด้วย การณ์ครั้งนั้นย่อมไม่เป็นไร...แต่ถ้ามันไม่ใช่แบบนั้น เธอก็ต้องกล้าเตือนหรือพูดกับพี่ชายตรงๆ ว่าต้องไม่ขอหรือสั่งให้เธอฝืนใจทำและทำอีก

เพราะการใช้อำนาจรัฐเพื่อผลประโยชน์ของพี่ชายแต่ดันไปขัดกับผลประโยชน์ของราษฏร ย่อมทำให้กิจการล่มสลายและพี่ชายก็จะเป็นที่เกลียดชังไปยิ่งกว่านี้

ไม่ว่าจะมองในแง่ไหน มีแต่ความกล้าหาญของเธอเท่านั้นแหละ ที่จะช่วยพี่ชายเธอได้

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
14 มกราคม 2555
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนมกราคม 2555
ภายใต้ชื่อเรื่อง "Better to reign in Hell than serve in Heaven"
(ภาพประกอบจาก The Bangkok Post)


หมายเหตุ:


อ่านเรื่อง ดร. ทักษิณ กับการจัดการรัฐบาลนี้จากนอกประเทศ ได้ตามลิงค์หัวข้อข้างล่างครับ

ทักษิณกับการจัดการระยะไกล (Managing from Afar)

วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2555

ทักษิณกับการจัดการระยะไกล (Thaksin: Managing From Afar)






พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้นำคนหนึ่งที่สนใจ “Management” และชอบ “Manage” 


เขาอ่าน Peter Drucker, Michael Porter, Michael Hammer, Tom Peters, Gary Hamel และ C.K. Prahalad และอวด และวางโชว์ไว้บนชั้น และคั่นหน้า และขีดเส้นใต้ และจด และจำเอาไอเดียสำคัญๆ จากหนังสือทางด้านการจัดการและการบริหารจำนวนมาก ซึ่งนิสัยอันนี้ได้ตกทอดมาสู่น้องสาวคนสุดท้องของเขาด้วย (ผมเคยไปสัมภาษณ์คุณยิ่งลักษณ์ ณ ห้องทำงานที่อาคารชินวัตร 3 ก่อนจะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่นาน และได้เห็นหนังสือทางด้านการจัดการและการบริหารจำนวนพอควร อีกทั้งเธอยังได้หยิบบางเล่มที่เธออ่านแล้วประทับใจมาให้ดู...เธอคั่น ขีดเส้นใต้ ทำไฮไลต์ ทำโน้ต และ Jot Down ไอเดียสำคัญๆ และบรรยายสรุปประเด็นในหนังสือได้อย่างถูกต้อง)



ยิ่งไปกว่านั้น พ.ต.ท.ทักษิณยังอ้างและนำไอเดียเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้กับแคมเปญหาเสียงและนำเสนอนโยบายสำคัญๆ ทางการเมืองอีกด้วย

ลองสังเกตุสโลแกนพรรคไทยรักไทยกับคำว่า “คิดใหม่ ทำใหม่” ที่ประยุกต์มาจาก Rethinking the Future นั่นเอง

ระหว่างที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรี เขาแนะนำหนังสือแนวนี้ไว้หลายเล่ม ทั้งระหว่างการให้สัมภาษณ์และระหว่างออกรายการวิทยุพบประชาชน และยังได้เขียนคำนำหรือคำนิยมให้กับหนังสือประเภทนี้อีกจำนวนหนึ่ง

เขายังชอบวาง Positioning ตัวเองเป็นนักจัดการ ชอบนั่งหัวโต๊ะ วางแผน สั่งการ และให้คุณให้โทษ โดยไม่คิดว่างานจัดการเป็นสิ่งที่น่าเบื่อ ต้องรบกับคน ต้องผลัก ต้องดัน ต้องหว่านล้อม ต้องลงแส้ ต้องทุบ ต้องหัก ต้องกระทืบ ต้องหนัก-เบา-เร็ว-ช้า ตามแต่จังหวะ

เขาเกิดมาเป็น Manager โดยแท้ และชอบที่จะให้คนเรียกตัวเองว่า “หัวหน้า” และ “CEO”

จากสำนักงานใหญ่นอกประเทศ ทุกวันนี้เขาต้องพึ่งพาเครื่องไม้เครื่องมือหลายอย่างเพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลเขาเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลและหันเหการดำเนินงานไปตามทางที่เขาวางวิสัยทัศน์เอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น Web Conference, Internet Phone, Instant Message, Personal Digital Assistant, และอาจรวมถึงซอฟแวร์บางชนิดเช่น NetMeeting, Dwyer, Microsoft SharePoint, Backpack It และฮาร์ดแวร์อีกจำนวนมาก รวมทั้ง Private Jet, iPad, Smart Phones, และพาสปอร์ตอีกอย่างน้อย 3 เล่ม

และเขาต้อง Manage ความสัมพันธ์กับลูกน้องและสมาชิกในครอบครัวจากระยะไกล โดยนอกจาก Phone-in แล้ว เขาคงต้องส่ง SMS, Skype, Digital Photo, E-card, Love Letter E-mail, และ File Sharing จำนวนมาก ทุกๆ วัน วันละหลายๆ ครั้ง

นับว่าเขายังโชคดีกว่านักปฏิวัติจำนวนมากในอดีตที่ต้องบริหารขบวนการหรือพรรคการเมืองของตัวเองจากระยะไกล หรือจากฐานนอกประเทศในฐานะผู้ลี้ภัยเหมือนกับเขา เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสื่อสารและอินเทอร์เน็ตทำให้ต้นทุนการสื่อสารและการจัดการลดลงและระยะทางก็ไม่ใช่อุปสรรคอีกต่อไป

เลนินใช้ชีวิตนานถึง 17 ปี ตะลอนลี้ภัยในยุโรป (ระหว่างนั้นเขามีโอกาสได้กลับไปจัดการต่อสู้ในรัสเซียเพียงช่วงสั้นๆ) และบริหารจัดการพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks) และจัดการการประท้วง เดินขบวน หรือลุกขึ้นสู้ในรัสเซีย ไปจากลอนดอนบ้าง จากซูริคบ้าง เจนีวาบ้าง หรือจากปารีสบ้าง จนสุดท้ายเมื่อสถานการณ์สุกงอมและเป็นใจ ก็ลอบเข้าไปในรัสเซียเพื่อก่อการปฏิวัติใหญ่โค่นล้มพระเจ้าซาร์และราชวงศ์โรมานอฟจนสำเร็จ

ดร.ซุนยัตเซ็นเองก็บริหารจัดการขบวนการผู้รักชาติในจีนจากระยะไกลเสียเป็นส่วนใหญ่เพราะเขาต้องลี้ภัยอยู่เกือบตลอดเวลา ทั้งจากฮ่องกง มาลายา ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา หรือแม้กระทั่งเยาวราช เขาก็เคยมา...และสุดท้ายเขาก็นำขบวนการจนล้มราชวงศ์ชิงลงได้เช่นกัน

โฮจิมินห์ยิ่งแล้วใหญ่ ชีวิตการต่อสู้ของเขาก่อนยึดอำนาจรัฐได้สำเร็จ ต้องระเหเร่ร่อนอยู่นอกประเทศ และบริหารจัดการพรรคการเมืองของผู้รักชาติชาวเวียดนามแบบใต้ดิน โดยที่ตัวเขาโยกย้ายไปตั้งบัญชาการอยู่ตามแหล่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปารีส มอสโค ฮ่องกง สิบสองพันนา ลาวเหนือ หรือแม้กระทั่งกรุงเทพฯ พิจิตร อุดรธานี และนครพนม ซึ่งว่ากันว่าเขามาอาศัยซ่องสุมผู้คนอยู่นานประมาณห้าถึงหกปีทีเดียว

หัวหน้าทั้งสามนั้น ไม่เคยใช้อินเทอร์เน็ต ไม่มีอีเมล์ ไม่มีโฟนอิน ไม่มี Skype ไม่มี Facebook และ Twitter และ NetMetting และ Private Jet และ...ฯลฯ แต่พวกเขาก็ทำสำเร็จ 


พวกเขาได้แสดงให้คนรุ่นหลังอย่างเราเห็นว่าสามารถจัดการบริหารจากระยะไกลได้อย่างหาตัวจับยาก และพิสูจน์ให้เห็นว่า “ระยะทาง” มิได้เป็นอุปสรรคต่อการ “ยึดอำนาจรัฐ”

ผมอยากจะยกตัวอย่างอีกสักหนึ่งคนคือพระเจ้าเฮนรี่ที่เจ็ด (Henry VII) พระราชบิดาของพระเจ้าเฮนรี่ที่แปด (Henry VII) กษัตริย์ผู้อื้อฉาวที่สุดของอังกฤษ พระราชอัยกาของพระนางเจ้าเอลิสาเบ็ธที่หนึ่ง ราชินีผู้ร่วมสมัยกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเจ้า ซึ่งเรารู้จักกันดีเพราะปรากฎอยู่ในหนังฮอลิวู๊ดหลายเรื่อง

พระเจ้าเฮนรี่ที่เจ็ดนั้นก็ใช้ชีวิตลี้ภัยอยู่ไม่ต่ำกว่า 14 ปีก่อนจะกลับไปยึดอำนาจรัฐได้สำเร็จ เรียกว่าใช้ชีวิตส่วนใหญ่ลี้ภัยและบริหารจัดการขบวนการของตัวเองอยู่นอกประเทศเลยก็ว่าได้ พระองค์ใช้ทุกวิถีทาง ทั้งเงิน ทั้งติดสินบน ทั้งล่อลวง ทั้งโกหก ทั้งปล่อยข่าวลือ ทั้งโฆษณาชวนเชื่อ ทั้งยุยงให้เกลือเป็นหนอน ทั้งข่มขู่ และใช้กำลังทหาร จนสุดท้ายก็กลับไปล้มล้างราชวงศ์เดิมลงและตั้งราชวงศ์ Tudor ของตัวเองขึ้นมาจนสำเร็จ โดยสังหารกษัตริย์องค์เก่าเสียในสมรภูมิรบ

สำหรับหัวหน้าทักษิณนั้น ใครก็รู้ว่าภาระกิจในการยึดอำนาจรัฐของเขายังไม่เสร็จสิ้น แม้ในหลายกรรมหลายวาระ ก่อนที่จะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีและยังคงประกอบการธุรกิจสื่อสารอยู่ เขามักเน้นย้ำถึงความสำคัญของเทคโนโลยีสื่อสารอยู่เสมอ ว่าจะทำให้โลกหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว เพราะระยะทางจะไม่มีความหมายอีกต่อไป ถึงกับเคยเปรยว่ายุคต่อไปจะเป็นยุคที่เรียกว่า “The Death of Distance” แต่ผมก็ไม่คิดว่าปัจจุบันเขาจะเชื่อเช่นนั้นแล้ว

เพราะอย่างน้อยเขาก็ถูกยึดอำนาจขณะกำลังอยู่ในนิวยอร์ก.... ดังนั้น “Distance still matters.”

โดยเฉพาะในทางการจัดการบริหารงานปฏิวัติหรือยึดอำนาจรัฐแบบเบ็ดเสร็จภายในประเทศที่ความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างบุคคลเป็นเรื่องใหญ่และการคลุกคลีตีโมงฉันท์พี่น้องญาติมิตรยังเป็นแหล่งหลักของความเกรงใจและความไว้เนื้อเชื่อใจ (Trust) แบบสังคมไทยแล้ว “ระยะทาง” (ผมหมายถึงความใกล้ชิด) ย่อมเป็นปัจจัยสำคัญต่อการบัญชาการ และอาจเป็นปัจจัยชี้ขาดด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะในช่วงเข้าด้ายเข้าเข็ม หรือในวันสุกดิบ ที่การตัดสินใจ Switch ข้าง สามารถตัดสินความเป็นความตายได้

ดังนั้นเป้าหมายหลักของคุณทักษิณเวลานี้คือจะต้องหาทางกลับมาและจะต้องกลับมาให้ได้ เพื่อศึกใหญ่ที่รออยู่ข้างหน้า

ผมว่าคุณทักษิณเสียเวลาในชีวิตไปมากกับการเมืองและกิจกรรมการยึดอำนาจรัฐ จนบัดนี้เขาถลำลึกและถูกผลักอย่างจำใจให้ไปอยู่ขั้วตรงข้ามกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งผมคิดว่าเขาก็ไม่ค่อยสบายใจนักและไม่ได้เป็นสิ่งที่เขาคิดไว้แต่แรก

ในความเห็นของผม ผมว่าลึกๆ แล้ว คุณทักษิณมิได้มีอุดมการณ์และอุดมคติเหมือนหัวหน้าทั้งสามคนที่ผมยกมาแต่ต้น


ความสนใจของเขาคือเรื่องทางเศรษฐกิจและการหาทรัพย์ และแสวงหาโอกาสทางการค้าและการลงทุน ซึ่งนับเป็นจุดเด่นและพรสวรรค์ของเขา...แม้แต่ศัตรูของเขาก็ยังยอมรับในข้อนั้น

เขาเป็นนักลงทุนที่เก่งกาจ และมี Common Sense ทางด้านเงินทอง ตลอดชีวิตการทำงานของเขา มีแต่เรื่อง make-believe เกี่ยวกับความสำเร็จทางด้านธุรกิจ-การค้า-การลงทุน-และทรัพยสฤงคาร เขาสามารถได้กลิ่นเงินก่อนใครเพื่อน และจินตนาการเห็นการณ์ล่วงหน้าได้ด้วย Insight และสามารถ Identify โอกาสอันเนื่องมาแต่การเปลี่ยนแปลงและจากกระแสโลกได้ถูกต้องแม่นยำ และรู้ดีว่าจะเข้าไปจับหรือเอาประโยชน์จากมันได้ยังไง เขาคิดทะลุเรื่องซื้อมาขายไป ซื้อถูกขายแพง...Buy Low, Sell High และสร้างมูลค่า สร้างความมั่งคั่ง ทั้งในระดับส่วนตัว ครอบครัว องค์กร และประเทศ

เขาเห็นว่าธุรกิจสื่อสารในเมืองไทยจะโตช้าลงและทำเงินยาก แต่ยุคต่อไปจะเป็นเรื่องของเม็กกะโปรเจ็กและพลังงาน เขาจึงขายหุ้นกิจการสื่อสารทั้งหมดของครอบครัวเพื่อเตรียมเงินไว้ลงทุนและหากำไรรอบใหม่ แต่ก็มาสะดุดเพราะถูกรัฐประหาร

ในเชิงภาพรวม เขาเล็งเห็นโอกาสของไทยในโลกกว้าง แนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์และอาหารโลก จะทำให้ไทยได้ประโยชน์มากหากจัดการให้ดี และการผงาดขึ้นมาของจีน อินเดีย และเอเชีย จะเป็นประโยชน์ต่อไทยมาก โดยการฑูตจะต้องเน้นไปที่เศรษฐกิจการค้าการลงทุนและการร่วมทุน รัฐบาลที่เก่งจะต้องทำเงินจากสินทรัพย์และศักยภาพที่มีอยู่และต้องรู้จักตัวคูณในตลาดหุ้น ต้องนำทุนสำรองระหว่างประเทศมาลงทุนเพื่อเพิ่มพูนความมั่งคั่งของประเทศและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และรัฐบาลจะต้องมี Investment Arm ที่เข้มแข็งคล้ายๆ กับเทมาเส็กของสิงคโปร์ และต้องรวบรวมทำบัญชีสินทรัพย์ของชาติและ Redefine Assets ของประเทศเสียใหม่ เพื่อที่จะรู้ได้ว่าอันไหนนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ไม่ได้อย่างไร...และถ้าได้ก็ต้องหยิบเอามาสร้างมูลค่าต่อยอดโดยพลัน

บัดนี้ทีมของเขากลับมาแล้ว และ Investment Story ก็จะต้องดำเนินไปตามแนวคิดที่วางไว้แล้ว

อำนาจจึงสำคัญกับเขาในแง่นี้!

เพราะเขาเป็นคนมี
“Interest” และเขาก็ไม่อายที่จะแสวงหาอำนาจ หาทางยึดอำนาจรัฐให้กลับมาอยู่ในมือ และเปลี่ยนแปลงปรับปรุงการบริหารราชการแผ่นดิน และแก้ไขรัฐธรรมนูญ และสร้างประชาธิปไตยที่แท้ และสร้างโอกาสให้ราษฏร และสร้างเศรษฐกิจที่ดี และสร้างความมั่งคั่ง จนกว่าผลประโยชน์ของราษฎรและของชาติจะสอดคล้องกับผลประโยชน์ส่วนตัวของเขา

ความกินดีอยู่ดีของราษฎรจะต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับความกินดีอยู่ดีของตัวเขาเอง



ปัญหาใหญ่ของเขาคือฝ่ายตรงข้ามที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้และไม่ไว้ใจเขา โดยหัวหน้าของฝ่ายตรงข้ามย่อมเป็นคนที่เขากลัวที่สุด

พวกเราในฐานะคนนอก คงจะไม่มีทางได้รู้ว่าเขาไปทำอะไรให้คนที่ถืออำนาจระดับนั้นไม่พอใจและไม่ไว้ใจมากขนาดนี้...คงมีเขาคนเดียวเท่านั้นแหละที่รู้อยู่เต็มอก และเขาก็คงจะเก็บความลับอันนั้นไปจนตาย

ผมขอกลับมาที่พระเจ้าเฮนรี่ที่เจ็ด ซึ่งหลังจากโค่นล้มศัตรูทางการเมืองและขึ้นครองอำนาจสำเร็จ พระองค์ก็ทรงใช้ชีวิตที่เหลือด้วยความระแวดระวัง พระองค์เคร่งเครียด ไม่ยิ้ม และทรงงานอย่างลงรายละเอียด อีกทั้งยังต้องปราบปรามกบฎที่นั่นที่นี่ด้วยความเฉียบขาดรุนแรง และคณะลอบสังหารอีกหลายคณะจนตลอดรัชกาล

เมื่อผมคิดมาถึงตรงนี้แล้ว ผมขนลุกนิดหน่อย!



ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
13 มกราคม 2555
(วันปรับคณะรัฐมนตรี)
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนมกราคม 2555

(หมายเหตุ: ที่ต้องวงเล็บหัวเรื่องเป็นภาษาอังกฤษว่า "Thaksin: Managing From Afar" ก็เพื่อจะให้สะดวกกับคนไทยในต่างประเทศที่เป็นแฟนข้อเขียนของผมจะได้ค้นหาจาก search engine ได้สะดวกด้วยการใช้ Key words ภาษาอังกฤษ)


ติดตามอ่านเรื่องคุณสมบัติของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่จะช่วยพี่ชายได้ตามลิงค์ข้างล่าง




***ความกล้าของยิ่งลักษณ์