วันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ความมั่งคั่งในโลกยุคใหม่ Wealth Building Styles






ผมคิดว่า “เศรษฐกิจ” คือกิจกรรมที่มนุษย์เอาประโยชน์จากผิวโลกใบนี้

แน่นอน มนุษย์ย่อมสร้างความมั่งคั่งจากการขุดดิน เพาะปลูก เจาะผิวโลกเพื่อตักแร่ธาตุและน้ำมันขึ้นมาใช้ ตัดต้นไม้ จับปลา และเอาคลื่นในอากาศมาเป็นพาหะของคลื่นเสียง สัญญาณภาพ และไฟล์ข้อมูล

สมัยนานแสนนานมาแล้ว ความรู้ในการเอาประโยชน์จากผิวโลกยังมีน้อย (เราเรียกความรู้แบบนี้ว่า “เทคโนโลยี”) กิจกรรมเศรษฐกิจของมนุษย์จึงจำกัดอยู่แค่การหากินกับป่าหรือหนองน้ำและทะเล (ล่าสัตว์) จนต่อมาก็ขุดดินปลูกพืช (เพาะปลูก หรือต่อมาเรียกว่า “เกษตรกรรม”)

ดังนั้น คนที่โชคดี มีโอกาสเกิดมาและอาศัยอยู่บนผิวโลกในย่านที่อุดมสมบูรณ์ ย่อมได้เปรียบและสามารถสร้างและสะสมความมั่งคั่งได้ง่ายและมากกว่าคนอื่น

จนต่อมาอีกนาน มนุษย์จึงสามารถสร้างเครื่องจักรและทำการผลิตทีละมากๆ ในโรงงานอุตสาหกรรม จนต้องขุด เจาะ ตัด ฟัน ดัก และจับ เอาจากผิวโลกมาใช้ทีละมากๆ และในอัตราเร่ง และพัฒนาระบบการซื้อขายแลกเปลี่ยนหมุนเวียนกันทั่วทั้งโลก จึงเกิดเป็นความมั่งคั่งสะสมจำนวนมหาศาลเหลือคณานับ

ความมั่งคั่งเหล่านี้นอกจากจะถูกใช้ไปกับการปรนเปรอความสุขให้แก่มนุษย์ผู้สะสมมันแล้ว ยังถูกใช้สร้างกองกำลังเพื่อข่มขู่ คุกคาม เอาเปรียบ และยึดครองทรัพยากรบนผิวโลก และแรงงาน เพื่อให้ได้มาแบบถูกๆ หรือแบบฟรีๆ แล้วนำมาผลิตและขายเพื่อสะสมความมั่งคั่งให้เพิ่มพูนขึ้นไปอีก

เมื่อสักสองร้อยกว่าปีมานี้ มนุษย์ในยุโรปที่มีเชื้อชาติเดียวกันและพูดภาษาเดียวกัน เริ่มมีความรู้สึกอันหนึ่งอันเดียวกันขึ้นมาเป็นปึกแผ่น รู้สึกว่าต้องรวมตัวกันเป็นประเทศที่มีอาณาเขตชัดเจนและสร้างระบบปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ และต้องแข่งขันกันสะสมความมั่งคั่งกับชาติอื่นตลอดเวลา

The Wealth of Nations ตีพิมพ์ในปี 1776 ชี้ให้เห็นความรู้สึกชาตินิยมอย่างชัดเจน (สังเกตุคำว่า Nations)

ข้อคิดในหนังสือเล่มนั้นมีอิทธิพลต่อผู้ปกครองของชาติสำคัญๆ ถึงแนวทางในการสร้างและสะสมความมั่งคั่งระดับชาติ

กล่าวง่ายๆ คือรัฐบาลต้องจัดเก็บภาษี แล้วนำมาสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเอื้ออำนวยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หรือเอื้ออำนวยต่อกระบวนการสร้างความมั่งคั่งในระดับกิจการและปัจเจกชน โดยที่รัฐบาลจะต้องไม่เข้าไปก้าวก่ายกิจกรรมเหล่านั้น ไม่ไปบังคับให้ราษฎรผลิตสิ่งนั้น ไม่ผลิตสิ่งนี้ ปริวรรตสิ่งนั้น ไม่ปริวรรตสิ่งนี้ บริโภคสิ่งนั้น ไม่บริโภคสิ่งนี้ คือต้องปล่อยให้กลไกตลาดหรือ “มือที่มองไม่เห็น” (Invisible Hand) ทำงานของมันเอง  

การตื่นตัวทางการค้าระหว่างประเทศและการผลิตผนวกกับความมั่งคั่งที่สะสมมาได้ระดับหนึ่ง ทำให้เกิดระบบทุนนิยมขึ้นอยู่ก่อนแล้ว ต่อมาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าไปมาก ก็ถูกนำมารับใช้ระบบการผลิตและการค้าในระบบทุนนิยม ทำให้ความมั่งคั่งและแสนยานุภาพของยุโรปเพิ่มพูนขึ้นจนไม่มีใครเทียบได้

ความขัดแย้งในสังคมระหว่างคนรวยกับคนจน ทำให้เกิดลัทธิสังคมนิยมขึ้น Karl Marx ได้เขียนหนังสือ Das Capital ขึ้นในปี 1867 เพื่อตีแผ่ให้เห็นความเลวร้ายของระบบทุนนิยม ซึ่งเจ้าของทุนสะสมความมั่งคั่งโดยการขูดรีดเอาจากเจ้าของแรงงาน

เขาจึงเสนอให้บรรดาผู้เป็นเจ้าของแรงงานทั้งปวง (เรียกว่าชนชั้นกรรมาชีพ) ทำการยึดอำนาจรัฐ แล้วจัดระบบเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ทางการผลิตเสียใหม่ โดยให้ยึดเอาทุนและทรัพย์สินมาเป็นของรัฐให้หมด และหลังจากนั้นก็ค่อยให้รัฐทำการจัดสรรทุนเพื่อการผลิต ปริวรรต และบริโภค คือให้รัฐทำหน้าที่วางแผนเศรษฐกิจแบบเบ็ดเสร็จโดยไม่เหลือที่ยืนให้กับกลไกตลาดอีกเลย

มีประเทศคอมมิวนิสต์จำนวนมากเคยทดลองจัดระบบเศรษฐกิจตามแนวคิดของ Marx ในการสร้างความมั่งคั่งให้กับสังคมของตัวเอง ทว่าสุดท้ายก็ล้มเหลว

ปัจจุบัน ระบบเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ล้วนจัดอยู่ระหว่างแนวคิดสองขั้วนี้ทั้งสิ้น คือผสมผสานเอา Chemistry ของกลไกตลาดกับการวางแผนจากส่วนกลางเข้าด้วยกัน โดยบ้างก็เน้นดีกรีการวางแผนมากหน่อย (เรียกว่า “เอียงซ้าย” หรือ ระบบสังคมนิยม) แต่บ้างก็เน้นกลไกตลาดแยะหน่อย (เรียกว่า “เอียงขวา” หรือ ระบบเสรีนิยม) และบ้างก็แบ่งประเทศออกเป็นสองซีก ซีกหนึ่งปล่อยให้กลไกตลาดทำงานและสะสมทุนได้โดยอิสระ แต่อีกซีกหนึ่งยังคงควบคุมเข้มงวด เช่นสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้น

ประเทศไทยเราใช้ระบบเสรีนิยมมาแต่ไหนแต่ไร แต่ก็มีการวางแผนจากภาครัฐอย่างอ่อนๆ แซมอยู่บ้าง ทว่าเป็นนโยบายแบบ Industrial Policy คล้ายกับญี่ปุ่นช่วงหลังสงครามโลกครั้งหลัง ที่มีการเลือกอุตสาหกรรมเป้าหมายและสนับสนุนให้เติบโตอย่างเปิดเผย

รัฐบาลปัจจุบันก็มี Industrial Policy รายจังหวัดเช่นกัน (ดูแผนผังประกอบ)




Corporate Wealth


ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเรื่องของแนวคิดในการสร้างความมั่งคั่งระดับประเทศ ซึ่งย่อมเป็นผลรวมของความมั่งคั่งระดับธุรกิจและวิสาหกิจและผู้ประกอบการ

แนวคิดในการสร้างความมั่งคั่งระดับองค์กรได้พัฒนาขึ้นมากในรอบร้อยปีมานี้

หลักสูตรบริหารธุรกิจและ MBA แพร่กระจายไปทั่วโลกและเติบโตอย่างมากในรอบสี่สิบปีมานี้

ความรู้ทางด้านการเงินและการขยายตัวของตลาดทุนตลอดจนนวัตกรรมทางการเงินช่วยให้กระบวนการสะสมความมั่งคั่งเป็นไปอย่างก้าวกระโดดแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

เกิดอภิมหาเศรษฐีชั้นใหม่ขึ้นในโลกที่เราเรียกว่า Super Rich

คนเหล่านี้ส่วนใหญ่สร้างความมั่งคั่งในระดับนั้นขึ้นมาได้ด้วยอาศัยตลาดหุ้นและเครื่องมือการเงินใหม่ๆ ที่ใช้ต่อยอดจากผลผลิตอันเกิดขึ้นจริง

ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Apple มียอดขายเมื่อปีที่ผ่านมาทั้งสิ้น 155.97 พันล้านเหรียญฯ และมีกำไรสุทธิเพียง 41.73 พันล้านเหรียญฯ (อันนี้เป็นผลผลิตจริงที่กิจการผลิตสินค้าและขายสินค้าได้ตลอดปี 2555) แต่กลับมีมูลค่าตามราคาตลาด หรือ Market Capitalization (คิดเป็นมูลค่าของกิจการ ณ ขณะใดขณะหนึ่ง) เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2556 ซึ่งเป็นวันที่ผมเขียนต้นฉบับนี้อยู่ถึง 433.76 พันล้านเหรียญฯ หรือสี่แสนกว่าล้านเหรียญฯ คิดเป็นเงินไทย ณ อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันก็ปาเข้าไปเกือบ 13 ล้านล้านบาท มากกว่า GDP ประเทศไทยทั้งประเทศเสียอีก

จะเห็นว่ามูลค่ากิจการมันมีตัวคูณจากฐานกำไรถึงสิบกว่าเท่า

สมมติว่าพ่อของคุณเป็นเพื่อนกับ Steve Jobs และร่วมถือหุ้นตอนเขาก่อตั้งบริษัทเมื่อหลายสิบปีก่อนอยู่เพียง 1% และคุณก็รักษาสัดส่วนนี้มาจนกระทั่งปัจจุบัน หุ้นของคุณก็จะมีมูลค่าถึง 130,000 ล้าน หรือหนึ่งแสนสามหมึ่นล้านบาท

นี่เพียงแค่ 1% ของหุ้นเพียงบริษัทเดียว!

เห็นหรือยังครับว่าพวกบรรดา Super Rich ที่เที่ยวประมูลภาพเขียนเป็นร้อยล้านพันล้าน มีเรือยอชต์เป็นฝูง และนิยมเขย่าเชมเปญดอมเปอริยองอย่างแพงที่สุด เพื่อฉีดกันเล่นสนุกสนานจนงวดเหลือแค่ก้นขวดไว้ดื่มกันเหล่านั้น มันโผล่ขึ้นมาได้อย่างไร

ความมั่งคั่งระดับนี้เกิดขึ้นได้ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมสมัยใหม่ (ที่มีอุตสาหกรรมทางการเงินและตลาดทุนที่ก้าวหน้าตลอดจนมีการสะสมทุนขนาดมโหฬาร) เท่านั้น

ความรู้ทางการเงินจึงถือเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างความมั่งคั่งยุคใหม่

มีคนจำพวกหนึ่งถึงกับสามารถใช้ชีวิตเสวยสุขไปตลอดชีวิตได้ด้วยการสะสมทุนหรือการระดมทุนจากเงินคนอื่นแล้วเอาเงินนั้นไปต่อเงินด้วยการลงทุน โดยไม่จำเป็นต้องทำงานลงแรงผลิตแต่อย่างใด

พวกเขาตัดตอน โดยให้คนอื่นลงแรงให้แทน ส่วนตัวเองคอยหาโอกาสทำกำไรจาการซื้อหุ้นและตราสารการเงินที่ออกมาขายโดยใช้ผลผลิตและผลิตภาพของฐานแรงงานเหล่านั้น Back Up อีกทอดหนึ่ง พวกเขาทำเช่นนั้นได้ด้วยอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านการเงินเป็นหลัก

พวกเขารวยหรือสะสมความมั่งคั่งขึ้นมาด้วยการเล่นกับตัวคูณในตลาดหุ้น

ผู้บริหารยุคใหม่ที่ประสบความสำเร็จในระดับโลกนั้น นอกจากจะเก่งในเชิงการบริหารแล้ว พวกเขายังต้องเชี่ยวชาญเรื่องที่พูดมานี้ ซึ่งถือเป็น A MUST สำหรับการสร้างความมั่งคั่งให้กับกิจการธุรกิจสมัยใหม่และบรรดาผู้ถือหุ้นของพวกเขา

นอกจากพวกเขาจะต้องสร้างความมั่งคั่งให้กับองค์กร โดยอาศัยไหวพริบและความเชี่ยวชาญในเชิงบริหารให้เกิดการเติบโต มีกำไร และทรงประสิทธิภาพแล้ว พวกเขายังต้องสร้าง Market Capitalization หรือมูลค่าของกิจการให้สูงอย่างต่อเนื่องอีกด้วย เพราะนั่นเท่ากับความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้น ซึ่งกิจการยุคใหม่ย่อมรวมถึงผู้บริหารและพนักงานด้วย

ปัญหาของ Market Cap. มีอยู่อย่างเดียว คือเรายังไม่มีความรู้ที่แม่นยำขนาดเจาะจงลงไปได้ว่าจะสร้างมันมายังไง

ถึงแม้เราจะรู้ว่า Market Cap. เป็นที่มาของความมั่งคั่งของโลกธุรกิจสมัยใหม่ และจะดลบันดาลให้เกิดความสุขทางวัตถุและทรัพย์สฤงคารที่จะตามมา แต่เราก็ไม่มีสูตรสำเร็จที่จะได้มันมา

Market Cap. ยังคงเป็นความลี้ลับของทุน (Mystery of Capital)

แนวทางในการสร้าง Market Cap. ของแต่ละกิจการย่อมไม่เหมือนกัน และผู้บริหารแต่ละคนก็ต่าง Style กัน

Steve Jobs ก็สไตล์หนึ่ง Bill Gates ก็อีกสไตล์หนึ่ง

ดังนั้น เพื่อให้ท่านเกิดไอเดีย เราจึงคัดสรรเอาบทสัมภาษณ์ที่เรียกได้ว่าเป็นงานชั้นคลาสสิก ซึ่งเคยตีพิมพ์ในนิตยสาร Fortune เมื่อเกือบยี่สิบปีที่แล้ว มาตีพิมพ์ให้ได้อ่านกันอีกครั้งในภาคภาษาไทย (โปรดพลิกไปที่หน้า 87)

มันเป็นบทสัมภาษณ์คู่กันระหว่าง Roberto Goizueta และ Jack Welch

คนหนึ่งเป็นตำนานของ COKE และอีกคนหนึ่งเป็นตำนานของ GE

แต่ทั้งคู่เป็นตำนานของผู้บริหารตลอดกาล

พวกเขาต่างก็สร้างความมั่งคั่งให้กับกิจการและผู้ถือหุ้นของตน

แต่ต่างคนก็ต่างสไตล์

Coca-cola เป็นกิจการที่ขาย Image แต่ GE ขาย Performance

Coca-cola โฟกัสอยู่กับสินค้าตัวเดียว แต่ GE เล่นตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ

แต่เมื่อเจาะลึกเข้าสู่ประเด็นในเชิงของกระบวนการสร้างความมั่งคั่ง พวกเขากลับคิดคล้ายกัน

ถ้าตีประเด็นคำพูดของพวกเขาแตก ท่านผู้อ่านก็จะหยั่งรู้ถึงความลี้ลับของ Market Capitalization ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความมั่งคั่งของกิจการในโลกสมัยใหม่




Wealth Style ในยุคอินเทอร์เน็ต

อินเทอร์เน็ตมาเปลี่ยนวิถีธุรกิจจำนวนมาก เพราะอินเทอร์เน็ตทำให้พฤติกรรมการบริโภค วิธีการจัดจำหน่าย การชำระเงิน หรือแม้กระทั่งวิถีการผลิต เปลี่ยนแนวไป จึงทำให้วิถีธุรกิจจำต้องเปลี่ยนตาม ทั้งที่พร้อมใจเปลี่ยนและถูกบังคับให้เปลี่ยน

กิจการที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อนเมื่อครั้งยังไม่มีอินเทอร์เน็ต ต่างเติบใหญ่ปรู๊ดปร๊าดกันอย่างรวดเร็วและมั่งคั่งอู้ฟู่กันอย่างมหาศาล Google, Yahoo!, Amazon.com, eBay, Facebook, Groupon, Expedia, iTune Store เป็นต้น

ในขณะที่กิจการซึ่งเคยเป็นยักษ์ใหญ่เดิมเริ่มประสบปัญหา เช่น หนังสือพิมพ์และร้านหนังสือ ทะยอยปิดตัวลงทั่วโลก

อินเทอร์เน็ตสร้างโอกาสให้กับคนเล็กคนน้อย

ช่างฝีมือที่ชอบสร้างของสวยงามประเภท Handmade สามารถเข้าถึงตลาดโลกโดยตรงผ่าน Etzy.com หรือบรรดานักเล่น D-I-Y ก็สามารถผ่านทาง SparkFun.com ได้เช่นกัน

เช่นเดียวกับผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยที่สามารถระดมทุนผ่านเว็บไซต์ประเภท Crowdsourcing ได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าจะเป็น Kickstarter.com, Quirkey.com, Profunding.com, OpenIndie.com, Crowdcube.com, Fundingcircle.com, Microventures.com, Peerbackers, Pozible, Rocky Hub, Co.fundos, FanNextDoor, Appbacker, และ 33 Needs

หรือแม้กระทั่งชาวบ้านธรรมดาก็สามารถเข้าหาเว็บไซต์ประเภท Microfinance ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเงินกู้นอกระบบอีกต่อไป ตัวอย่างของเว็บไซต์ประเภทนี้ที่ดังๆ ก็มีเช่น KIVA.com, Buzzbnk, CauseVox, Give.fm, Ioby, MicroPlace, OpenIDEO, Sparked, Sponsume, StartSomeGood

เว็บไซต์พวกนี้ นับวันจะเพิ่มจำนวนขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อบรรดา SME มาก เพราะช่วยให้กระบวนการสร้างความมั่งคั่งของพวกเขาเป็นจริงเป็นจังขึ้น

ในระดับปัจเจก อินเทอร์เน็ตก็ได้ช่วยและเปลี่ยนชีวิตของผู้คนจำนวนมาก ตัวอย่างเช่นแม่คนหนึ่งที่ผมรู้จัก เธอเคยเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่น นับเป็นคนไทยที่มีตำแหน่งสูงสุดที่โรงงานแห่งนั้น แต่โชคร้ายที่ลูกเธอล้มเจ็บลงด้วยโรคที่หาสาเหตุไม่ได้และรักษาไม่หาย ตระเวนรักษามาทั่วแล้ว ก็ดูเหมือนจะหมดหวัง จนเธอต้องตัดสินใจทิ้งเงินเดือนเป็นแสนเพื่อมาทุ่มเทให้กับการพยาบาลลูก

ด้วยจิตใจที่ไม่ยอมแพ้ เธอหันเข้าหาอินเทอร์เน็ต เริ่มหาข้อมูลผ่าน Google ธรรมดาๆ จนพบบทความวิชาการทางการแพทย์เกี่ยวกับโรคชนิดนี้ และพบกับพ่อแม่กลุ่มหนึ่งซึ่งมีลูกเป็นโรคชนิดเดียวกัน

เธอเข้าร่วมถกเถียง ค้นคว้า แลกเปลี่ยนข้อมูลกับพ่อแม่กลุ่มนี้ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์และทางยาจากทั่วโลกที่อยู่ใน Web Ring อันนั้น

จนสุดท้าย เธอพบยาตัวหนึ่งที่ช่วยให้ลูกเธอดีขึ้น พร้อมกับการรักษาในแบบดุลยภาพบำบัด

ปัจจุบัน อาการของลูกเธอดีวันดีคืน และเธอก็ค้นพบอาชีพใหม่คือเป็นตัวแทนนำเข้ายาตัวนั้นให้กับโรงพยาบาลทั่วไทย

เราจะเรียกเหตุการณ์นี้ว่าอย่างไร?

จะเรียกว่าอินเทอร์เน็ตกับกระบวนการสร้างความมั่งคั่งได้หรือไม่ เพราะมันไม่เกี่ยวกับเรื่องเงินทองหรือเรื่องสะสมทุนหรือสะสมความมั่งคั่งใดๆ ทั้งสิ้น

แต่ถ้าคุณไปถามคุณแม่คนนั้น และคุณแม่อีกหลายๆ คนทั่วโลก คุณจะพบว่าประโยชน์ที่อินเทอร์เน็ตให้กับเธอนั้น มันตีเป็นมูลค่าไม่ได้เลย

เมื่อครั้งที่ผมไปปารีสตอนกลางปีที่แล้ว ผมได้มีโอกาสพบและพูดคุยกับนักศึกษาไทยคนหนึ่ง

น้องคนนี้เป็นคนเก่ง เรียนจบสถาปัตยกรรมศาสตร์จากจุฬาฯ และกำลังจะเรียนต่อปริญญาโทด้านการออกแบบที่ Grande Ecole ซึ่งมีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งในปารีส

น้องคนนี้ส่งตัวเองเรียนโดยขอให้พ่อซื้อคอนโดฯ ย่านพญาไทไว้สองห้อง และตัวเองปล่อยเช่าด้วยการจัดการผ่านเว็บไซต์ Airbnb.com

เขาโชว์ Gantt Chart บน iPad ของเขาให้ผมดูว่าเดือนนั้น ห้องทั้งสองที่กรุงเทพฯ ถูกจองไว้ช่วงไหนบ้าง และจองจากใคร

รายได้จากคอนโดทั้งสองห้องนั้น บางเดือนคิดเป็นเกือบครึ่งแสน

ที่สำคัญ เธอสามารถ Manage ไปจากปารีสได้ โดยที่เมืองไทย เธอขอให้ญาติๆ กัน ช่วยดูแลความสะอาดและความเรียบร้อยต่างๆ เฉพาะในช่วงเปลี่ยนกะ คือเมื่อผู้เช่ารายเก่าย้ายออก ก่อนที่ผู้เช่ารายใหม่จะเข้าอยู่

ถ้าคุณเปิดดูเว็บไซต์ Airbnb.com หรือดูหน้า Facebook ของกิจการแห่งนั้น คุณจะเห็นทันทีว่าเว็บนี้ Popular และได้ผลมาก เพราะมีคนเอาบ้านและที่อยู่อาศัยประเภทอื่นมาปล่อยเช่า หรือมาแชร์ให้เช่าในช่วงที่ตัวไม่อยู่ กันเป็นจำนวนหลายแสนราย โดยมาจากจำนวนเมืองกว่า 30,000 เมืองใน 192 ประเทศ

โดย Airbnb.com ขอตัดค่าธรรมเนียมเพียงประมาณ 9-15% ของค่าเช่าเท่านั้นเอง แต่มีประกันให้กับเจ้าของบ้านในกรณีที่ผู้เช่าทำข้าวของเสียหายถึงรายละ 50,000 เหรียญฯ

เว็บไซต์ประเภทนี้ยังมีอีกหลายอัน ที่มีชื่อเสียงก็เช่น Roomorama, Wimdu, และ BedyCasa เป็นต้น

ถ้าท่านผู้อ่านเป็นคนที่ท่องอินเทอร์เน็ตเป็นประจำ คงทราบดีว่าไม่เพียงแต่บ้านช่องเท่านั้นที่คนนิยมเอามาแชร์กันโดยตรงผ่านอินเทอร์เน็ต แต่ยังมีของส่วนตัวอีกมากที่นิยมเอามาแชร์ให้เช่ากันเป็นครั้งคราว ในยามที่ตัวเองไม่มีธุระจะใช้ของส่วนตัวเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ (เช่น WhipCar, RelayRides, Tamyca, Wheelz, Getaround, Buzzcar เป็นต้น หรือแบบให้บริการเท็กซี่เช่น Lyft, SideCar, Uber, Weeels) เรือ (Boatbound) รถจักรยาน กล้อง คอมพิวเตอร์ เครื่องดนตรี อุปกรณ์ตกแต่งสวน อุปกรณ์ครัว อุปกรณ์สนาม หรือแม้แต่ที่จอดรถ ออฟฟิสชั่วคราว เครื่องจักร เพื่อนเที่ยว และหมา (เช่น DogVacay และ Rover เป็นต้น)

สมาร์ทโฟนและแอพพลิเคชั่นที่พ่วง GPS ทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้แบบง่ายๆ

เรื่องราวเหล่านี้ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างความมั่งคั่งในระดับปัจเจกชนที่จะก่อผลรวมให้เกิดเป็นความมั่งคั่งของสังคมหรือระดับประเทศหรือไม่ หรือเพียงเป็น Business Model ใหม่ที่เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและการสื่อสารสมัยใหม่บันดาลให้เกิดขึ้น

คำตอบต่อคำถามนี้ ไม่ง่ายนัก

แต่ไม่ว่ามันจะเป็นอะไร มันล้วนเกิดขึ้นแล้ว เป็นความจริง และจับต้องได้

ในกรณีของรถเช่าคอนเซ็ปใหม่นั้น ผมเคยประสบกับตัวเองมาแล้วครั้งหนึ่ง และเคยเขียนเรียบเรียงไว้ให้อ่านมาแล้วเมื่อฉบับมกราคม 2555 (ชื่อเรื่อง "ธุระครอบครัว")

ผมจึงอยากจะขอปิดท้ายบทความนี้ไว้ด้วยล้อมกรอบอันนั้น เพื่อความครบถ้วนสมบูรณ์ของบทความที่ว่าด้วยแนวคิดในการสร้างความมั่งคั่งของมนุษย์นับแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน

หวังว่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย (หมายเหตุ: ท่านผู้อ่านสามารถคลิกอ่านได้ที่หัวเรื่องต่อไปนี้ได้เลย: ธุระครอบครัว)



ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
22 มีนาคม 2556
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนมีนาคม 2556
(ภาพประกอบ The Iron-rolling Mill โดย Menzel แสดงชีวิตโรงงานฝรั่งในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมได้ชัดมาก)