วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

อนาคตเชียงใหม่



สมัยเด็ก ผมยังทันเห็นพิธีสักยันต์แบบเก่าของทางเหนือโดยอาจารย์เงี้ยว (ไทยใหญ่) และผมกับเพื่อนๆ ยังได้ขนขวายหาบทคาถาขณะสักยันต์ มาท่องจำกันตามประสาเด็ก หวังว่าจะช่วยในเชิงคงกระพันชาตรีได้อย่างที่บรรดาผู้เฒ่าเล่าขานให้ฟัง

ผมยังจำบรรยากาศได้ดีว่ามันค่อนข้างสนุกสนาน ลักษณะงานค่อนไปในทาง Entertainment มีเด็กๆ จำนวนมากไปมุงดู มีดนตรีเล่นเป็นระยะ และผู้ใหญ่นั่งดื่มเหล้ากันเต็มไปหมด...

พอได้ที่ คนที่ต้องการจะประทับรอยสักก็ละจากวง แล้วคลานเข้าไปกราบพระและครูบาอาจารย์ ก่อนจะเข้าประจำที่ เพื่อเตรียมตัวรองรับเข็มยาวใหญ่จุ่มน้ำหมึกที่กำลังจะปักเข้ามาในเนื้อหนังอย่างเป็นศิลปะ ควบกับคาถาแห่งความศักดิ์สิทธิ์ที่เปล่งจากปากพระอาจารย์ระหว่างที่มือปักเข็มไปด้วย...พี่ๆ น้าๆ บางคนทำหน้าเฉยเมย แต่บางคนก็หน้าแดง ถมึงตา ขมวดคิ้ว กัดฟัน และใบหน้าแสดงความเจ็บปวดจากความแหลมคมของปลายเข็มอย่างเห็นได้ชัด

“....(ฉึก ฉึก ฉึก ฉึก!)...ทัต ปาริ จ๋า ก๊ะ ตั๋ง ปั๋ง ละ กั๋น ตุ๊...(เพี้ยง)....(ฉึก ฉึก!)....กั๋นละหะ เนละหะ ป๋าละปาทะ คง คง คง...(ฉึก ฉึก ฉึก ฉึก ฉึก!)....อุ่งสั่ว ทาละทัป จั๊กจ๋าหวุติ ชาลิหวู่จิ๊...(เพี้ยง)....(ฉึก ฉึก ฉึก!)....”

นั่นเป็น Fashion ในยุคเก่าแก่ แต่เหตุการณ์ที่ผมพูดถึงนี้ ยังหลงเหลือมาให้ผมได้เห็นในช่วงกลางทศวรรษ 1970s ณ กลางเมืองเชียงใหม่

เมื่อผมเติบโตขึ้น การสักยันต์กลายเป็นเรื่อง Old Fashion

คนที่มีรอยสักตามตัว กลายเป็น "คนนอก" ของสังคมกลายๆ ไม่มีใครเต็มใจรับเข้าทำงาน และพ่อแม่ก็ไม่อยากให้คบค้าเพื่อนแบบนั้น

สมัยผมเรียนมหาวิทยาลัยในช่วงต้นทศวรรษ 1980s เคยเรียนวิชา Personnel Management และยังจำได้แม่นว่ามีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ได้สอบถามความเห็นของผู้จัดการฝ่ายบุคคลถึงเรื่องรอยสัก โดยผลลัพธ์ที่ออกมาค่อนข้างติดลบ คือเกือบทั้งหมดยอมรับว่าคนที่มีรอยสักมักก้าวหน้าในอาชีพการงานช้ากว่าคนที่ไม่มีรอยสัก โดยเฉพาะในตำแหน่งบริหาร และคนที่มีรอยสักมักปกปิดไม่ให้คนรู้ว่าตัวเองมีรอยสักเมื่อมาสมัครงาน เพราะโอกาสได้งานทำน้อยกว่าคนทั่วไป (สมัยก่อนยังไม่มีเทคโนโลยี Laser ลบรอยสักเหมือนสมัยนี้) และอาชีพที่สักกันแยะมักได้แก่ทหาร เกษตรกร กรรมกร และพ่อค้าเร่



ในสมัยโบราณนั้น เราคงไม่แปลกใจที่ทหารต้องสักยันต์ เพราะทหารเป็นอาชีพที่เสี่ยงและต้องอาศัยความกล้าหาญ ดังนั้นพวกเขาจึงต้องหาทางระงับความกลัวในใจของตัวเองลง ซึ่งรอยสักและคาถาประกอบย่อมมีวัตถุประสงค์เช่นนั้น

เช่นเดียวกับพ่อค้า ที่ต้องร่อนเร่รอนแรมไปในต่างถิ่นกับกองคาราวานวัวต่างหรือม้าต่าง ซึ่งนับว่ามีความเสี่ยงกว่าอาชีพอื่น

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่อาจารย์สักยันต์ดังๆ ในภาคเหนือจะเป็นพวกเงี้ยวหรือไทยใหญ่ (หรือถ้าเป็นพระสงฆ์ก็มักจะร่ำเรียนมาจากพระอาจารย์เชื้อสายเงี้ยวอีกทอดหนึ่ง) เพราะคนกลุ่มนี้เคยควบคุมเครือข่ายการค้าของเชียงใหม่อยู่ก่อนที่ชาวจีนจะอพยพเข้ามาในยุครัชกาลที่ 5 และทะลักเข้ามาอีกชุดใหญ่หลังเส้นทางรถไฟสายเหนือสร้างเสร็จเมื่อ พ.. 2464

โลกาสันนิวาสทำให้กลุ่มทุนเงี้ยวหมดอิทธิพลลง รัฐฉานหรือ "เมิงไต" ก็หมดอำนาจอิทธิพลลงด้วย แม้แต่พม่าเมืองแม่เองก็เอาตัวไม่รอด ถูกอังกฤษยึดครอง เช่นเดียวกับเจ้าเชียงใหม่ ที่สูญเสียอิทธิพลให้กับเจ้ากรุงเทพฯ และระบบราชการไปในที่สุด

กลุ่มทุนเชื้อสายจีนขึ้นมามีอิทธิพลเหนือเศรษฐกิจของเชียงใหม่ บางตระกูลก็บังเกิดอภิชาติบุตร สามารถสะสมทุนและเคลื่อนเข้าสู่ศูนย์กลางอำนาจของประเทศได้ภายในสามชั่วคน แม้ขณะที่ผมเขียนต้นฉบับอยู่นี้ ลูกหลานของตระกูลจีนแคะตระกูลหนึ่งของเชียงใหม่ที่คนรุ่นปู่ยังพูดไทยไม่ชัดนัก ก็กำลังนั่งบัญชาการอยู่ ณ ตึกไทยคู่ฟ้า โดยมีพี่ชายที่เป็นมหาเศรษฐีระดับโลกบัญชาการมาจากนอกประเทศอีกชั้นหนึ่ง

แต่โลกาสันนิวาสย่อมมีพลวัตรของมันอยู่ตลอดเวลา ความไม่แน่นอนจึงแน่นอน

ปัจจุบัน กลุ่มทุนเชื้อสายจีนท้องถิ่นต้องหลีกทางให้กับกลุ่มทุนเชื้อสายจีนจากส่วนกลาง และทำท่าว่าจะมีกลุ่มทุนจากต่างประเทศเพิ่มดีกรีความคุกคามเข้ามาอีก

ลูกหลานของพ่อค้าจีนเหล่านั้น ปัจจุบันเรียกตัวเองว่านักธุรกิจ ต่างพากันเข้าสู่อำนาจ และเรียกตัวเองใหม่ว่านักการเมือง และกลายเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการจัดสรรอำนาจทางการเมืองและทรัพยากรทางเศรษฐกิจของเชียงใหม่

ข้าราชการท้องถิ่นที่เคยยิ่งใหญ่ กลายเป็นเพียงลูกไล่ของนักการเมืองเหล่านี้

สมัยผมเด็กๆ ผมรู้สึกว่านายอำเภอฯ ผู้กำกับฯ หรือผู้ว่าฯ นั้น ยิ่งใหญ่มาก แต่ปัจจุบันคนเหล่านี้แทบไม่อยู่ในสายตาเด็กสมัยนี้ด้วยซ้ำ

การเปลี่ยนแปลงในเชิงภูมิศาสตร์การเมืองของเอเชียและของโลกที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ ก็จะทำให้โลกาสันนิวาสของเชียงใหม่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงอีกรอบหนึ่ง

แต่มันน่าจะเป็นคุณมากกว่าเป็นโทษ

การเปลี่ยนความคิดของชาวคอมมิวนิสต์ระดับสูงของจีน ลาว เวียดนาม และคณะทหารพม่า ทำให้บ้านเมืองแถบนี้ร่มเย็นขึ้น หันมาคบค้าสมาคม ไปมาหาสู่และค้าขายกันมากและบ่อยขึ้นกว่าเดิม

ถนนหนทาง สนามบิน ทางรถไฟ สะพาน และอุโมงค์ ที่จะเชื่อมต่อระหว่างกัน ย่อมส่งผลดีต่อเชียงใหม่อย่างแน่นอน เพราะภูมิศาสตร์ของเชียงใหม่ตั้งอยู่ในจุดที่เป็นเนื้อนาบุญอย่างยิ่ง

ยิ่งผู้คนในย่านตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้ของจีนร่ำรวยขึ้น ในลาวเหนือร่ำรวยขึ้น และในพม่าและเมิงไตและคะฉิ่นว้าแดงร่ำรวยขึ้น เชียงใหม่ย่อมได้ประโยชน์มาก ทั้งในทางส่งออกและรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งในแง่ของการใช้พื้นที่และแรงงานเหล่านั้นเป็นฐานการผลิตราคาถูก

คนจากต่างถ่ินคงจะหลั่งไหลเข้ามาในเชียงใหม่ และคณะผู้นำหรือผู้กุมชะตากรรมทางเศรษฐกิจในอนาคตของเชียงใหม่ย่อมเปลี่ยนโฉมไป มีความหลากหลายยิ่งขึ้น และอาจจะสร้างสรรค์ยิ่งขึ้นด้วย...ใครจะไปรู้

ผมไม่จำเป็นต้องพูดถึงจินตนาการในเชิง Geopolitics กระแสหลัก ที่กำลังถูกใช้เป็น Theme สำคัญใน Growth Story ของเชียงใหม่ที่กำลังขายความคิดกันอยู่ในขณะนี้ เพราะท่านผู้อ่านคงทราบดีอยู่แล้ว...การขึ้นมาของจีน รถไฟความเร็วสูง การเปิดประเทศของพม่า การเชื่อมทางหลวงผ่านพม่าไปสู่อินเดีย การเพิ่มเที่ยวบินตรงระหว่างเชียงใหม่กับเมืองสำคัญในเอเชียและในโลก หรือแม้กระทั่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาอุตสาหกรรมที่อาศัยทักษะสูง และการให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกกับการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ...ฯลฯ

แต่ผมจะยำ้ว่าโลกาสันนิวาสมันมีพลวัตร ดังนั้น "ความไม่แน่นอน" จึงเป็น "ความแน่นอน"

"เงี้ยว" หรือ "ลื้อ" หรือ "ลัวะ" ที่เคยหมดความสำคัญต่อเชียงใหม่ไปนานแล้ว อาจกลับมามีความสำคัญอีก แต่ไม่ใช่ในฐานะกลุ่มชาติพันธุ์หรือกลุ่มอิทธิพล แต่ในฐานะ "ตลาด" หรือ Market คือทั้งในพม่า ลาวเหนือ และยูนนาน

เพราะ (ย้ำ!) โลกาสันนิวาสเป็นเรื่องของพลวัตรและการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ดูเหมือนมั่นคงกลับล่มสลายไปต่อหน้าต่อตา และสิ่งที่ดูเหมือนล่มสลายหรือสูญหายไปแล้ว กลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาและเติบโตได้อย่างมั่นคง

ดังวัฒนธรรมการสักเป็นพยานอยู่ เพราะในเมื่อผมนำท่านผู้อ่านเข้าท่องจินตนาการของผมต่อเชียงใหม่ผ่านประตูบานเล็กๆ ที่เรียกว่าการสัก ผมควรนำท่านผ่านประตูบานนี้กลับไปสู่โลกอนาคตเช่นกัน โดยหวังว่าท่านจะได้จินตนาการหรือมุมมองที่เป็นประโยชน์เพิ่มขึ้นหลังจากที่ท่านอ่านบทความนี้จบลง

อย่าลืมว่า การสักเพิ่งจะกลับมานิยมอีกครั้งในรอบสิบปีหลังมานี้เอง ทว่ารอบนี้มันไม่ได้มาในนามของความคงกระพันชาตรี แต่มาในนาม "Body Art” หรือศิลปะบนเรือนร่าง

ผมเข้าใจว่าที่มันกลับมาฮิตอย่างรวดเร็วรอบหลังนี้ เพราะคนดังๆ เช่นบรรดาดาราฮอลิวู๊ดอย่าง แองเจลินา โจลี และอีกหลายคน รวมถึงนักฟุตบอลระดับซูปเปอร์สตาร์อย่าง เดวิด เบคแฮม หันมานิยมสัก เลยกลายเป็นแฟชั่นที่ลุกลามอย่างรวดเร็ว และการมีเทคโนโลยีลบรอยสักที่ค่อนข้างได้ผล ก็ทำให้คนรุ่นใหม่ตัดสินใจง่ายขึ้น

ทว่า ศูนย์กลางการสักได้ย้ายออกจากวัดหรือสำนักอาจารย์ผู้คงกระพันไปอยู่ตามย่านท่องเที่ยวหรือย่านงานฝีมือ เช่น สวนจตุจักร ถนนข้าวสาร เชียงใหม่ ภูเก็ต สมุย และพัทยา เป็นต้น

ถึงกระนั้นก็ตาม ในวงการระดับสูง การมีรอยสักอยู่ตามตัวยังคงเป็นเรื่องไม่ค่อยเหมาะสมและมิพึงปรารถณาอยู่ อย่างเมื่อเร็วๆ นี้เองที่ Caroline Kennedy ลูกสาวของอดีตประธานาธิบดีเคนเนดี้ผู้ล่วงลับ ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีโอบามาให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงโตเกียว โดยเธอผู้นั้นได้พยายามหาทางลบรอยสักรูปผีเสื้อกระพือปีกที่ใต้ท่อนแขน แถมยังต้องหาชุดที่สามารถปกปิดตรงนั้นไว้ในบางโอกาสอีกด้วย

แม้การวาดและสักบนเรือนร่างจะเป็นศิลปะดึกดำบรรพ์ คงจะก่อนที่มนุษย์จะรู้จักวาดรูปลงบนผนังถ้ำด้วยซ้ำ โดยไม่จำเป็นต้องเปรียบกับแผ่นปาปิรุส แผ่นหิน Mosaic ดินเผา Terracotta แผ่นไม้ และผืนผ้าใบหรือ Canvas ที่เริ่มมาได้อย่างมากก็สักหาพันปีมานี้เอง

เพราะมนุษย์คงต้องการความสวยงามและดึงดูดเพศตรงข้าม นอกเหนือไปจากเป้าหมายในเชิงศิลปะคือมุ่งหาความงาม (พูดแบบภาษาสมัยใหม่ได้ว่า Fine Art) และเป้าหมายในเชิงสังคมคือการเข้าพวกให้รู้ว่าสักแบบนี้แล้วเป็นพวกเดียวกัน (ภาษาสมัยใหม่เรียกว่า Fashion Art

มนุษย์จึงพัฒนาศิลปะบนเรือนร่างแบบการสักหรือวาดลงไปบนผิวหนังตรงๆ ให้ต่อยอดมาสู่เครื่องสำอางและเครื่องประเทืองผิวตลอดจนปรับปรุงเสริมแต่งอวัยวะหลายส่วนของร่างกาย และมาสู่เสื้อผ้าอาภรณ์ เครื่องประดับอัญมณี กลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่โตในทุกๆ ทาง จนปัจจุบัน สลับซับซ้อนก้าวหน้าไปถึงขั้น Cosmetic Surgery, High Fashion และ Brand Name อย่างโอ่อ่า อลังการณ์ และสูงมูลค่า

ถ้าปุจฉา วิสัจฉนา ความข้อนี้แตก จนเห็นทะลุปรุโปร่งแล้วไซร้ ก็จะเห็นอนาคตของเชียงใหม่ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
14 พฤศจิกายน 2556
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือน พ.ย. 2556
ภาพโดย ฐิติวุฒิ บางขาม และภาพคนสัก จาก Facebook ของ Thanarak Suwannakij



วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

YGWYS


ในสมัยโน้น "พระสังข์" ต้องอาศัยการอธิษฐานถึงเบื้องบนให้ช่วยร่ายมนต์เพื่อดลใจสาวเจ้า "รจนา" จนเกิดสภาวะตาทิพย์่ และสามารถมองทะลุทะลวงเกราะกำบังรูปชั่วน่าชิงชังของ "เจ้าเงาะ" จนเห็นเนื้อในที่เป็นเจ้าชายรูปงามผิวทองเหลืองอร่ามโดยลำพัง ในขณะที่คนอื่นๆ ซึ่งนั่งและยืนอยู่ในบริเวณเดียวกันนั้น มองไม่เห็น

ถ้าเป็นสมัยนี้ "พระสังข์" คงไม่จำเป็นต้องอธิษฐานขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ เพราะสามารถกระทำการได้ด้วยตัวเอง โดยการส่ง Private Message ไปตาม Line หรือ Instagram หรือ Facebook ให้กับ "รจนา" โดยตรง เพราะมันจะสะดวกกว่า และสามารถตอบโต้กันได้ตลอดเวลาโดยที่คนอื่นไม่สามารถล่วงรู้ได้เช่นกัน

ข้อแตกต่างระหว่างสมัยโน้นกับสมัยนี้ อยู่ที่ตอนถอดเงาะ เพราะเมื่อพระสังข์เผยตัวตนที่แท้จริง คนที่ได้เห็นรวมทั้งรจนาล้วนพอใจ ดังคำกลอนตอนที่นางมณฑาชื่นชมลูกเขยและรจนาเมื่อได้เห็นเจ้าเงาะถอดรูปว่า:

คิดคิดขึ้นมาน่าหัวเราะ เอารูปเงาะสวมใส่ทำใบ้บ้า
อัปยศอดอายขายหน้าตา เจ้าแกล้งแปลงมาแม่ไม่รู้
รจนายาจิตเจ้าคิดถูก หมายมั่นพันผูกก็ควรอยู่
ทีนี้แหละลอยแก้วแล้วลูกกู โฉมตรูแย้มยิ้มกระหยิ่มใจ

แต่ถ้าเป็นสมัยนี้ อาจจะมีอะไรให้ Surprise! มากกว่า "รูปทอง" ก็เป็นได้

เพราะสมัยนี้เป็นสมัยของกล้องดิจิทัล เป็นสมัยของมุมกล้อง เป็นสมัยของคลิป เป็นสมัยของแอ๊พผิวขาว แอ๊พผิวเนียน แอ๊พตาคม และแอ๊พแต่งภาพ ลบส่วนที่ไม่พึงปรารถนา หรือบิดเบือนภาพสารพัดชนิด 

แถมยังเป็นสมัยของการสร้าง Story สร้างเรื่องสร้างราวบน Facebook และ Twitter และ Instagram ให้คนติดตาม พร้อมภาพ คลิป และกราฟฟิกเก๋ๆ ที่จูงใจหรือหลอกให้คนหลงเชื่อได้ง่ายๆ

จึงไม่แปลกที่เราจะสามารถเนรมิตพระสังข์ใน Social Media ได้ง่ายๆ โดยที่ตัวจริงอาจเป็นคนละคน และเรื่องราวของตัวจริงนอกจอก็อาจจะเป็นคนละเรื่องเดียวกันเลยก็ได้...แบบว่า Another Stories เลยอ่ะ

สมัยนี้ผู้คนจึงถูกหลอกกันแยะ เพียงเพราะดูรูปและติดตามเรื่องราวจาก Social Media แต่เวลาเจอตัวจริง กลับไม่ใช่ "พระสังข์ถอดรูป" อย่างที่จินตนาการไว้

ไม่ต่างจากสินค้าและบริการที่ถ้าดูใน Facebook แล้ว   เริ่ดมาก! แต่พอเห็นของจริงหรือสถานที่จริงแล้วน่าผิดหวัง

ร้านกาแฟ ร้านอาหาร ร้านเหล้า ร้านสปา ร้านหนังสือ หรือแม้แต่คอนโดฯ จำนวนมากในย่านใจกลางกรุงเทพฯ ที่โปรโมทโดยใช้กลยุทธ์ Social Media เสียเริ่ดหรู เลือกแต่มุมกล้องที่สวยและคึกคักด้วยผู้คน แต่พอไปใช้บริการจริง กลับเงียบเหงาและทรุดโทรม

เหมือนกับบ้านตัวอย่างสมัยก่อนที่เจ้าของชอบหลอกต้มคนซื้อ แบบว่าเมื่อสร้างเสร็จและส่งมอบแล้วกลายเป็นคนละหลังไปเลย

แบบนี้ ภาษาการตลาดเขาเรียกว่า Delivery Discrepancy”

ปัญหานี้ มักเป็นภัยต่อชื่อเสียงและทำให้แบรนด์มัวหมอง หากเราเป็นเจ้าของกิจการหรือผู้บริหาร เราต้องคอยสอดส่อง ระมัดระวังมิให้เกิดปัญหาดังว่านี้กับสินค้าและบริการของเรา

ต้องหมั่นสำรวจ Perception ของลูกค้าและผู้ที่มีศักยภาพจะเป็นลูกค้าอยู่เสมอ

เพราะถ้าปัญหาเกิดขึ้นในใจของลูกค้าแล้ว กระบวนการแก้กลับจะยากมาก

ตัวอย่างของ Bad Perception ที่เกิดจาก Delivery Discrepancy ซึ่งเรามักเห็นเป็นประจำคือ "นักการเมือง" เพราะนักการเมืองจำนวนมาก พูดแล้วทำไม่ได้ และมักไม่ทำตามที่พูดหาเสียงโฆษณาไว้แต่แรก นักการเมืองจึงเป็นอาชีพที่คนเหม็นเบื่อและเอือมกันมาก

ในยุค Social Media แบบปัจจุบัน แน่นอนว่าเราจำเป็นต้องอาศัยมันในเชิงการตลาด แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องระวังปัญหาที่กล่าวมาด้วย 

เพราะมันเป็น Side Effect หรือผลข้างเคียงของ Social Media Marketing

ดีไม่ดี ในอนาคต นักการตลาดและนักกลยุทธ์ อาจจะต้องระบุห้อยท้ายไปด้วยว่า YGWYS

“You Get What You See”

คงเก๋ไม่เบา

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
20 พฤศจิกายน 2556

วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ม็อบเชิงยุทธ์



ผมเริ่มเขียนต้นฉบับนี้ในสถานการณ์สู้รบ ขณะที่ม็อบสามม็อบที่ราชดำเนิน นางเลิ้ง และมัฆวาน รวมเข้าด้วยกัน...เป็น M&A (Mergers & Acquisitions) หรือ Joint Venture "แบบม็อบๆ"

ในฐานะบรรณาธิการของนิตยสาร MBA ซึ่งว่าด้วยกลยุทธ์ธุรกิจและการจัดการเป็นหลักใหญ่ ผมย่อมสนใจศึกษาและสังเกตุม็อบในเชิงกลยุทธ์ตลอดถึงแง่มุมเชิงบริหารจัดการอยู่เสมอ

เช่น ผมมักสนใจว่าคนที่มาชุมนุมเป็นล้านบนถนนราชดำเนินนั้น จะอุจจาระปัสสาวะกันยังไง สะดวกสบายหรือทุลักทุเลหรือไม่ในมาตรฐานของแต่ละม็อบ (เช่นม็อบเสื้อเหลืองหรือฟ้าหรือหลากสีซึ่งเป็นชนชั้นกลางย่อมรู้สึกถึงความไม่สะดวกสบาย ในขณะที่ม็อบเสื้อแดงไม่ค่อยแคร์เรื่องแบบนี้เท่าใดนัก เป็นต้น) และกลยุทธ์การลุกขึ้นสู้ในแต่ละขั้นตอน โดยประเมินว่ามันสอดคล้องกับ Life Cycle ของม็อบในช่วงนั้นๆ หรือไม่ ตลอดไปจนถึงขั้นตอนเผด็ดศึกอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดนั้น แต่ละทีมทำกันยังไง และอะไรคือปัจจัยแห่งความสำเร็จหรือล้มเหลว และที่ละเลยไม่ได้คือสไตล์การนำของแต่ละทีมว่ามีดีกันตรงไหน

ที่สำคัญคือความคิดสร้างสรรค์ของม็อบแต่ละม็อบเหล่านั้นสำแดงออกด้วยวิธีใดกันบ้าง

ความคิดสร้างสรรค์นั้นสำคัญมากสำหรับการจัดม็อบและการนำม็อบ!

เพราะม็อบมันประกอบด้วยราษฎรธรรมดา ต่างคนต่างมา ไม่ได้ถืออำนาจรัฐ มีลักษณะเป็นเบี้ยล่าง จึงต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ค่อนข้างมากและหนักหน่วง กว่าจะให้ม็อบเดินไปในทิศทางเดียวกัน หรือยอมปฏิบัติการณ์เชิงยุทธ์ตามแผนที่วางไว้แบบลับๆ หรือกึ่งลับกึ่งแจ้ง...จนสามารถเผด็จศึกจนเอาชนะได้

ผู้นำม็อบที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่มักเปิดกว้างรับความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ และพร้อมที่จะ Improvise ไปกับจังหวะจะโคนของโอกาสที่เปิดให้ในแต่ละชั่วโมง

เพราะแม้จุดเริ่มต้นหรือการ "จุดติด" ของม็อบขนาดใหญ่ที่อาจสามารถโค่นล้มรัฐบาลได้ในที่สุดนั้น มักมีที่มาจาก "อุบัติเหตุ" ซึ่งเกิดจากความประมาทของฝ่ายตรงข้าม อย่างเช่นคราวนี้ที่ทักษิณ ชินวัตร ทำตามอำเภอใจและมองข้ามความรู้สึกของประชาชนคนชั้นกลาง หรือคราวก่อนที่จงใจหลบเลี่ยงภาษีจากการขายหุ้นให้กับเทมาเส็ก เช่นเดียวกับฝ่ายตรงข้ามที่เลือกใช้วิธีรัฐประหารและตั้งศาลเตี้ย หรือใช้เล่ห์เพทุบายให้เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีในค่ายทหาร เป็นต้น...ถึงกระนั้นก็ตาม การนำม็อบจำนวนมากๆ ให้เผชิญหน้าและกดดันต่อผู้กุมอำนาจรัฐในสถานการณ์สู้รบนั้น คงไม่มีใครสามารถอ่านสถานการณ์ล่วงหน้าได้แม่นยำเท่าใดนัก

ดังนั้น กลยุทธ์ที่ฝ่ายม็อบต้องใช้ ย่อมต่างกับฝ่ายรัฐบาลที่กุมอำนาจรัฐอยู่ในมือโดยถูกต้องตามกฎหมาย และสามารถใช้อำนาจผ่าน State Apparatus ได้อย่างรุนแรงและเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร ข้าราชการ หน่วยงานความมั่นคง หรือสื่อมวลชนในเครือข่าย เป็นต้น

นักเรียนหรือผู้บริหารที่ชอบและศึกษาเรื่องกลยุทธ์หรือ Strategy มักคุ้นเคยกับแนวการวางกลยุทธ์มาจากเบื้องบน

คือเข้าใจกันไปว่ากลยุทธ์ย่อมต้องถูกกำหนดโดยคณะผู้บริหาร บนยอดปิรามิดขององค์กรเสมอ

Vision+Mission+Strategy...

นั่นคือสูตรสำเร็จที่นักเรียน MBA และผู้บริหารองค์กรสมัยใหม่ทุกคนคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว

ถ้าเป็นธุรกิจก็จะว่าด้วยการที่คณะกรรมการและคณะผู้บริหารกำหนดกลยุทธ์การแข่งขันในแต่ละด้านอย่างละเอียด เพื่อเอาชนะคะคานคู่ต่อสู้ เพื่อแย่ง Market Share หรือ Mind Share หรือเพื่อสร้างปมเด่นในการแข่งขัน หรือ Competitive Advantage ให้เหนือกว่าคู่แข่งขันทั้งมวลในอุตสาหกรรม

หรือถ้าเป็นสงครามก็คือการจัดทัพ เคลื่อนทัพ การรุก การรับ การเข้าตี...ไปจนถึงการข่าวและการส่งกำลังบำรุง

ซึ่งทั้งหมดนั้นจะกระทำโดยคณะเสนาธิการ ในระดับแม่ทัพและผู้บัญชาการเหล่าทัพเท่านั้น

กระทั่งกลยุทธ์การแข่งขันระดับชาติ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของนโยบายเศรษฐกิจสมัยใหม่ ที่ว่าด้วยการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย การสร้าง Cluster ตลอดจนแนวทางการสนับสนุนผู้ประกอบการ และ ฯลฯ ที่เรียกว่า Industrial Policy ดังตัวอย่างของชาติที่เคยประสบความสำเร็จในแนวนี้มาก่อนเช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์....เหล่านี้ย่อมถูกกำหนดโดยข้าราชการระดับสูงและรัฐบาลทั้งสิ้น

ตำราที่ว่าด้วยกลยุทธ์ที่ได้รับการยกย่องในระดับโลก นับตั้งแต่ ซุนวู สามก๊ก Xenophon, Alexander, Julius Caesar, Machiavelli, Clausewitz, Napoleon มาจนถึง Nuclear Games ในยุคสงครามเย็น และ Michael E. Porter กูรูทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่ยังมีชีวิตอยู่ ล้วนว่าด้วยกลยุทธ์จากเบื้องบนเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์

ทว่า การเอาชนะด้วยม็อบ ต้องอาศัย "กลยุทธ์จากเบื้องล่าง"!

อหิงสา สัตยาเคราะห์ อนาระยะขัดขืน อนาธิปไตย ก่อการร้าย จรยุทธ์ ไปจนถึงการปิดล้อม หรือยึดสถานที่สำคัญ และ Insurrection Strategies ตามแนวทางของ Marx หรือ Lenin หรือเหมาเจ๋อตง ย่อมเป็นกลยุทธ์จากเบื้องล่างที่ผู้นำม็อบในโลกนี้ใช้ล้มผู้ปกครองเดิมแล้วเข้ายึดอำนาจรัฐสำเร็จมาแล้วนักต่อนัก

การยึดเมืองหลวงและสถานที่สำคัญหรือพื้นที่ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการกดขี่หรือระบบปกครองที่ฉ้อฉลนับเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ฝ่ายมวลชนมักใช้ต่อรองกับฝ่ายกุมอำนาจรัฐ

แต่ถ้าจะเผด็จศึก ก็จำเป็นต้องเข้ายึดครอง State Apparatus ที่เป็นกลไกการใช้อำนาจรัฐสำคัญ เช่นทหาร ตำรวจ และระบบราชการ หรืออย่างน้อยต้องให้ผู้มีอำนาจในองค์กรเหล่านั้นอยู่เฉยๆ ไม่ต่อต้านการลุกขึ้นสู้ของมวลชน การอภิวัฒน์จึงจะสำเร็จ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทยเป็นรัฐรวมศูนย์และอาวุธหนักส่วนมากอยู่ในกรมกองที่กองบัญชาการในกรุงเทพฯ สามารถเอื้อมถึงได้โดยง่าย (ไม่ว่าจะเป็นรถถัง ปืนใหญ่ เครื่องบินรบ หรือปืนกลหนัก) ดังนั้น การจะทำให้การอภิวัฒน์ของราษฏรประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องให้ฝ่ายทหาร ซึ่งเป็นผู้ถืออาวุธหนักเกือบทั้งหมดในสังคมไทยและมีศักยภาพสูงสุดในการจัดระเบียบสังคมหากเกิดวิกฤติการณ์ เข้าข้างราษฏรหรืออย่างน้อยต้องตั้งอยู่ในความเป็นกลาง

พูดง่ายๆ คือฝ่ายม็อบจำเป็นต้องเข้ายึดครองหัวใจของผู้บัญชาการขององค์กรราชการที่จัดตั้งมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ และรัฐบาลต่อจากนั้นรับช่วงสืบทอดมาจนถึงบัดนี้นั่นเอง

ม็อบที่ผ่านมาสำแดงความคิดสร้างสรรค์โดยการเข้ายึดครองสถานที่สำคัญทางเศรษฐกิจสมัยใหม่เพื่อต่อรองกับรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นสนามบินสุวรรณภูมิ และสี่แยกราชประสงค์

เดชะบุญที่ม็อบไทยยังไม่เคยถึงขั้นบุกเข้ายึดเส้นเลือดใหญ่ของระบบเศรษฐกิจอย่าง ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งควบคุมระบบการเงินและระบบการชำระเงินของประเทศไว้ทั้งระบบ แถมยังครอบครองโรงพิมพ์ธนบัตร และเป็นผู้ดูแลทรัพย์ก้อนใหญ่ของประเทศ คือทุนสำรองระหว่างประเทศ ไว้อีกด้วย

เพราะถ้าทำเช่นนั้น แม้รัฐบาลอาจพ่ายแพ้ไปโดยเร็ว แต่ความเสียหายของระบบเศรษฐกิจโดยรวมที่จะตามมาย่อมมากมายหนักหน่วงจนราษฎรบางฝ่ายตลอดจนนักธุรกิจอุตสาหกรรมรับไม่ได้ และหันมาเป็นปฏิปักษ์กับการอภิวัฒน์ในระยะยาว

ทว่า กลยุทธ์อันนั้นเป็นกลยุทธ์ที่เฉียบขาด รวดรัด และเบ็ดเสร็จ อันหนึ่งในสงครามประชาชน

Karl Marx บรมครูของนักปฏิวัติทั่วโลกเอง ยังเคยวิเคราะห์สรุปบทเรียนความล้มเหลวของการลุกฮือของ “ม็อบปารีส” ที่เรียกว่า Paris Commune เมื่อปี ๒๔๑๔ ทั้งๆ ที่สามารถยึดครองปารีสอยู่ได้ถึง 70 วัน ว่าความผิดพลาดฉกรรจ์ของฝ่ายคอมมูนที่สำคัญมีอยู่สองข้อ ข้อแรกคือการใช้กลยุทธ์ทางทหารที่ผิดพลาด คือแทนที่จะบุกไปตีกองกำลังฝ่ายรัฐบาล (ซึ่งตั้งทำการอยู่ที่แวร์ซาย) แล้วทำลายให้สิ้นซากเสียแต่ต้นมือ ขณะที่ยังตั้งตัวไม่ติด กลับใช้วิธีตั้งรับ สร้างปราการและ Barricade ทั่วปารีส แล้วรออยู่ในปารีสจนรัฐบาลตั้งตัวติดแล้วยกทัพมาปราบ ส่วนข้อที่สอง คือการเพิกเฉย ไม่ยอมเข้ายึด Banque de France ยังคงปล่อยให้ธนาคารแห่งนั้นดำเนินการอย่างอิสระ 

(ผู้สนใจ ผมแนะนำให้อ่านข้อเขียนเรื่อง Civil War in France ของ Marx และคำนำใหม่ของ Engels ได้ที่เว็บไซต์ www.marxists.org/archive/marx/works/download/Marx_The_Civil_War_in_France.pdf ซึ่ง Engels พูดไว้ชัดเจนว่าIt is therefore comprehensible that in the economic sphere much was left undone which, according to our view today, the Commune ought to have done. The hardest thing to understand is certainly the holy awe with which they remained standing respectfully outside the gates of the Bank of France. This was also a serious political mistake. The bank in the hands of the Commune — this would have been worth more than 10,000 hostages. It would have meant the pressure of the whole of the French bourgeoisie on the Versailles government in favor of peace with the Commune.”)

ดังนั้น เมื่อเลนิน (Vladimir Llyich Lenin) ซึ่งเป็นสาวกคนสำคัญของ Marx นำพลพรรคบอลเชวิก (Bolshevik) เข้ายึดอำนาจรัฐในรัสเซียเมื่อปี ๒๔๖๐ เขาจึงใช้วิธีเชิงรุกอย่างต่อเนื่องและเข้ายึดธนาคารชาติไว้ในกำมือเสียก่อน

สมัยนโปเลียนยังรุ่งเรืองอยู่ในยุโรป ก็เคยคิดจะบุกเกาะอังกฤษ โดยสถานที่แห่งแรกๆ ที่นโปเลียนวางแผนว่าจะยึกครองทันทีที่ยกพลขึ้นบกได้ก็คือ Bank of England” ซึ่งมีความสำคัญมากต่อระบบเศรษฐกิจของจักรวรรดิอังกฤษ และว่ากันว่าเก็บทองคำและทรัพย์สินมีค่าของ British Empire ไว้เป็นจำนวนมหาศาล

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ผมกำลังเขียนถึงบรรทัดนี้ ม็อบก็ยังไม่สามารถเผด็จศึกรัฐบาลลงได้

ผมได้แต่หวังว่า เมื่อราษฏรชนะแล้ว ทุกอย่างจะไม่กลับไปเป็นเหมือนเดิมอีก

การอภิวัฒน์ควรต้องก้าวหน้าไปอีกขั้น โดยราษฏรจะมีอำนาจมากขึ้น และเพิ่มช่องทางให้สามารถต่อรองกันเอง ทุนผูกขาดจะถูกทำลาย เจ้าสัวที่ชอบผ่องถ่ายทรัพย์สินของสาธารณะไปเป็นทรัพย์สมบัติส่วนตัวจะถูกดำเนินคดี ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจจะถูกตราไว้ในกฎหมายและมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง อุตสาหกรรมสำคัญๆ ที่คนเล็กคนน้อยเคยเข้าถึงได้ อย่างค้าปลีกค้าส่งจะถูกดึงกลับมาเป็น Social Safety Net แทนที่จะถูกผลักเข้าไปอยู่ในกำมือของบรรษัทข้ามชาติแบบทุกวันนี้ ระบบตุลาการจะทรงประสิทธิภาพขึ้น ระยะเวลาในการพิจารณาคดีต่างๆ ควรสมเหตุสมผลยิ่งกว่านี้ และสถาบันแห่งนั้นควรมี Accountability ต่อราษฏร การคอรัปชั่นจะถูกกำราบอย่างเด็ดขาด การเลือกตั้งจะต้องบริสุทธิ์ยุติธรรม การใช้อำนาจของข้าราชการ ทหาร ตำรวจ จะต้องถูกตรวจสอบได้ การศึกษาและสาธารณสุขจะต้องมีคุณภาพและอย่างเพียงพอ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนจะถูกแก้ไขโดยมาตรการภาษี ฯลฯ

ผมขอจบบทความนี้ด้วยความตอนหนึ่งของ Marx ที่เขาเขียนไปถึง Dr. Kugelmann ต่อความเห็นเกี่ยวกับ "ม็อบปารีส" ว่า ...If you look at the last chapter of my Eighteenth Brumaire you will find that I say that the next attempt of the French revolution will be no longer, as before, to transfer the bureaucratic-military machine from one hand to another, but to smash it, and this is essential for every real people's revolution on the Continent....”

ผมก็หวังเช่นนั้น

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
25 พฤศจิกายน 2556
ภาพประกอบจาก ASTV/ผู้จัดการ