วันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ความกล้าหาญและแนวทางการปฏิรูปประเทศ


มนุษย์เราส่วนใหญ่นับถือ "ความกล้าหาญ"

เพราะความกล้าหาญเป็นคุณธรรมประการสำคัญที่หาอย่างอื่นแทนได้ยาก แม้แต่ "ความดี" หรือ "ความเฉลียวฉลาด" ก็สู้ความกล้าหาญไม่ได้

ในสายตาคนรุ่นหลัง National Hero จึงมักมีคุณสมบัติเป็น "ผู้กล้า"

ดูอย่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นตัวอย่าง

หรืออย่าง "พระราม" ฮีโร่ตลอดกาลของชาวอินเดียและชาวเอเชียที่รับเอาวัฒนธรรมอินเดียมาแต่เก่าก่อนนั้น ก็แสดงออกถึงความกล้าหาญอย่างยิ่ง แม้จะมีจุดอ่อนแยะก็ตามที

แม้แต่ "เจ็งกิสข่าน" ฮีโร่อีกคนหนึ่งของชาวเอเชียก็หาใช่คนดีเด่อะไร ยึดดินแดนไหนได้ก็มักปล้น ฆ่า สังหารหมู่ และข่มขืน

ทว่า เขาเป็นฮีโร่ได้เพราะคนรุ่นหลังนับถือใน "ความกล้า" ของเขานั่นเอง

ผมว่าที่นายพลประยุทธ์ได้รับความนิยมมากในขณะนี้ก็เพราะผู้คนชื่นชมในความกล้าหาญของท่านที่ยอมเอาตัวเข้าเสี่ยงและรับปัญหาทุกอย่างเอาไว้

ดีแล้วครับ

เพราะการปฏิรูปให้ถึงกึ๋นนั้น ต้องการความกล้าหาญเป็นอย่างสูง

อย่างแรกเลยคือต้องกล้าริดรอนผลประโยชน์ของเพื่อนข้าราชการที่โกงกิน หรือที่ใช้ตำแหน่งหาเศษหาเลย หรือเอื้อประโยชน์ให้พ่อค้า

และต้องกล้าริดรอนผลประโยชน์ของบรรดานักธุรกิจที่เอารัดเอาเปรียบ อาศัยช่องทางพิเศษ คอนเน็กชั่นกับนักการเมือง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ หรือกับสถาบันระดับสูง อาศัยข้อมูลภายใน อาศัยโครงสร้างอันอยุติธรรม ผูกขาดตัดตอน หรือใช้อำนาจเหนือตลาด เอาเปรียบคู่ค้า หรือผู้ประกอบการที่อ่อนแอกว่า และผู้บริโภค

ในกระบวนการนี้ ต้องปราบปรามมาเฟียทั้งระดับชาติ (บางรายก็เป็นบรรษัทข้ามชาติหรือบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ) และระดับท้องถิ่นซึ่งอาศัยความได้เปรียบจากสัญญาสัมปทานหรือความใกล้ชิดนักการเมือง ที่เอื้อให้หากินและเก็บเกี่ยวเอาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจบนดินใต้ดินอยู่เยอะแยะไปหมด

นั่นคือแนวทางการปฏิรูปข้อแรก ทำได้ง่ายๆ เลยครับ ถ้ามีความกล้าหาญ เพราะในกระบวนการนี้มันต้องขัดผลประโยชน์กับผู้ทรงอิทธิพลในสังคมไทยหลายกลุ่ม ซึ่งบางกลุ่มในนั้นก็มีส่วนอุ้มชูคณะ คสช. และท่านประยุทธ์อยู่ด้วย

กล่าวโดยสรุปคือต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจให้เกิดความเท่าเทียมและความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ ให้ได้เสียก่อน

ผู้ประกอบการรุ่นใหม่จำนวนมากจะมีโอกาสเกิดและเติบโตแข็งแกร่งขึ้นได้ในหลายอุตสาหกรรม หากพลังผูกขาดตัดตอนถูกจำกัดริดรอน และเปิดโอกาสให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม (ตามแต่ความสามารถและสิทธิในการเข้าถึงปัจจัยการผลิตเท่าเทียมกัน) ซึ่งในระยะยาวแล้ว สิ่งที่คนบางกลุ่มเรียกว่า "ทุนสามานย์" จะถูกทัดทานโดยพลังของตลาดและความคิดสร้างสรรค์หรือนวัตกรรมที่จะเกิดขึ้น และระบบเศรษฐกิจไทยจะเข้มแข็งหลากหลายขึ้นในระยะยาว โดยผู้บริโภคก็จะมีทางเลือกในชีวิตมากขึ้นด้วย

ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมหรือบริการใหม่ๆ หรือพื้นที่ทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ที่เกิดและเติบโตขึ้นและพอจะเป็นความหวังหรือโอกาสให้กับคนเล็กคนน้อยและลูกหลานได้บ้าง ก็จะไม่ถูกกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเข้าไปผูกขาดตัดตอนได้โดยง่าย

ข้อต่อมาคือการปฏิรูประบบยุติธรรม ควรมุ่งที่การบังคับใช้กฎหมายให้เฉียบขาด เอาคนผิดมาลงโทษ และใช้เวลาในการดำเนินคดีความและตัดสินความให้สั้น ไม่ใช่ยาวนานแบบที่ผ่านมา

การปฏิรูประบบยุติธรรมไม่ใช่การเขียนกฎหมายเพิ่ม แต่ต้องปรับปรุงให้กฎหมายที่มีอยู่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน ทันสมัย และ Practical และต้องรับใช้เป้าหมาย "ความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ" ที่กล่าวมาข้างต้นด้วย

ข้อสุดท้ายคือปฏิรูปการเมือง โดยผมคิดว่านอกจากจะต้องนำนักการเมืองที่โกงกินและทำความผิดมาลงโทษให้ได้ และแก้ไขวิธีการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรมและป้องกันมิให้เกิดเผด็จการรัฐสภาดังที่แล้วมา ควรถือโอกาสนี้วางกรอบและแนวทางเพื่อจำกัดบทบาทหน้าที่และกิจกรรมของรัฐบาลให้ลดน้อยถอยลงในอนาคต ด้วยอีกโสตหนึ่ง

ในระยะยาวแล้ว รัฐบาลไม่ควรเข้ามาเป็น Player ในระบบเศรษฐกิจเสียเอง ควรเป็นแต่เพียงผู้คุ้มกฎ โดยปล่อยให้เอกชนแข่งขันกันเองภายใต้กฎเกณฑ์ที่ยุติธรรมนั้น

ยิ่งรัฐบาลเข้าไปเป็น "เจ้ามือ" ในหลายๆ เรื่องด้วยแล้ว ในระยะยาวย่อมเกิดปัญหาทางการคลัง ดังสหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่างที่สุดขั้วอยู่ในขณะนี้

รัฐบาลควรตั้งใจทำ 5 เรื่องหลักเท่านั้นคือ

  1. การป้องกันประเทศ
  2. ความมั่นคงภายใน (ความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน)
  3. การรักษาค่าเงินบาทให้มั่นคงน่าเชื่อถือ ไม่ให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและเงินฝืดและค่าเงินบาทหมดความน่าเชื่อถือในสายตานานาชาติ
  4. บริการสาธารณะพื้นฐาน (รวมถึงการสร้างและปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานด้วย) โดยรัฐบาลต้องหลีกเลี่ยงการเป็นเจ้ามือเอง แต่เน้นการกำกับดูแลให้มีจำนวนเพียงพอ มีคุณภาพ ในราคาสมเหตุสมผล
  5. ป้องกันหายนภัยอันจะเกิดจากธรรมชาติ

แค่ห้าเรื่องนี้ก็ยากแล้วครับ ถ้าจะทำให้ Perfect

แต่ถ้าทำได้ตามนี้ การคอรัปชั่นในอนาคตก็น่าจะลดน้อยลงไปเอง เพราะรัฐวิสาหกิจจะลดอิทธิพลลงและอาจจะแปรสภาพไปโดยมาก และอำนาจในการให้สัมปทานของรัฐบาลก็จะจำกัด ตรวจสอบได้ง่าย รัฐบาลก็ไม่ต้องมีหน้าที่ไปปกป้องใคร (แม้แต่สหภาพแรงงาน) เอื้อให้ใครได้เปรียบเสียเปรียบ ปล่อยให้เอกชนเขาตกลงต่อรองกันไปเอง

หากเราศึกษาประวัติศาสตร์ เรามักเห็นว่านโยบายของรัฐบาลที่สำเร็จและได้รับความสนับสนุนจากราษฎรส่วนใหญ่โดยมากนั้น มักเป็นนโยบายที่ไม่ซับซ้อน และสามารถสรุปรวบยอดออกมาให้เป็นแนวคิดหรือคำพูดง่ายๆ เพียงไม่กี่ข้อ

คล้ายๆ กับที่ผมสรุปมาข้างต้นนั่นแหละ

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
27 มิถุนายน 2557














วันอังคารที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และการเปลี่ยนแปลง


Rene Descartes เคยแสดงความเห็นไว้ว่า “ความจริงส่วนใหญ่ มักถูกค้นพบโดยคนๆ หนึ่ง มากกว่า (ที่จะถูกพบโดย) ชนชาติ” (1)

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เคยตรัสไว้ว่า มนุษย์เราส่วนใหญ่นั้นเป็น "เวไนยสัตว์" คือสามารถที่จะอบรมสั่งสอนให้เปลี่ยนแปลงพัฒนาได้

Emanuel Kant เป็นฝรั่งคนแรกที่กล่าวว่ามนุษย์เราไม่สามารถรับรู้โลกที่นอกเหนือจากประสบการณ์ของเราได้เลย...โลก "อย่างที่มันเป็น" จึงไม่สำคัญ

คือเรารับรู้โลกได้เพราะใจของเราปรุงแต่งโลกให้เราได้รับรู้ ความจริงของโลกจึงขึ้นอยู่กับใจเรา

การเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและกระบวนทัศน์ใหม่ที่ Kant นำเสนอและฝรั่งชั้นนำพากันเชื่อตามนี้ ทำให้การมองโลกของฝรั่งเปลี่ยนแปลงไปหลังจากนั้น และเมื่อมนุษย์เป็นตัวกำหนดและเป็นศูนย์กลางของธรรมชาติ อะไรต่อมิอะไรย่อมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

ต้นไม้จึงมีไว้ตัด โค่น เพื่ออุตสาหกรรม ป่าไม้ถูกถาง หลีกทางให้กับเส้นทางรถไฟและรถยนต์ แร่ธาตุมีไว้ขุดขึ้นมาถลุง กระเทาะ แยกธาติ หรือกลั่น เพื่อป้อนโรงงาน ทะเลมีไว้เพื่อเป็นเส้นทางค้าขาย ล่าอาณานิคม และทิ้งของเสีย ฯลฯ

แนวคิดเปลี่ยน คนจึงเปลี่ยน แล้วโลกก็เปลี่ยนตาม

เพราะนวัตกรรมจำนวนมาก หลั่งไหลมาจากสังคมตะวันตกนับจากนั้น เพื่อรับใช้ชีวิตมนุษย์ พร้อมกับราคาที่ต้องจ่าย

Modern Lifestyle จึงเกิดขึ้น และพัฒนาต่อยอดมาจนกระทั่งบัดนี้

ชุดบทความต่อไปนี้ จะว่าด้วย “คนๆ หนึ่ง” ที่นำ "การเปลี่ยนแปลง” มาให้กับเรา ซึ่งถือเป็นชุดต่อเนื่องจากฉบับที่แล้ว ที่ว่าด้วย "คลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลง" หรือการเปลี่ยนแปลงในระดับมหภาคที่มากระทบกับตัวเราและสังคมและองค์กรของเรา โดยได้แสดงให้เห็นถึงที่มาของ "จิตสำนึกที่เหนี่ยวรั้งการเปลี่ยนแปลง" เป็นกรณีศึกษาประกอบคือ กรณีซูสีไทเฮากับการเปลี่ยนแบบค่อยเป็นค่อยไปทว่าก็สายเกินไป และ สไตล์การเปลี่ยนแปลงในวินาทีสุดท้ายกรณีการยอมแพ้สงครามของญี่ปุ่น

ใจเปลี่ยน คนเปลี่ยน:

การเปลี่ยนแปลงใดๆ ย่อมเริ่มจาก "ความคิด"

ก่อนหน้า Thomas Edison การจะสร้าง “ไฟ” มนุษย์จำต้อง “เผา” อะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นขี้ผึ้ง กระดาษ ไต้ น้ำมันสน ก๊าส ฯลฯ

ทว่าเอดิสันเปลี่ยนแนวคิดเสียใหม่ โดยตั้งเป้าว่าจะสร้าง “ไฟ” โดยไม่ต้อง “เผา” อะไรเลย

นั่นจึงเป็นที่มาของ “หลอดไฟ” ที่เขาคิดขึ้นจนสำเร็จ

แม้จะเป็นเรื่องยากเย็นสำหรับเอดิสันที่ต้องทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่าถึงหลายร้อยแนวทาง แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้นมันเริ่มจากความคิดแรกที่เขามองต่างจากที่เคยมีมานั่นเอง

ก่อนหน้า กาลิเลโอ (Galileo Galilei) ความเข้าใจในเรื่องฟิสิกส์ถูกครอบงำโดยความคิดของอริสโตเติล (Aristotle) อริสโตเติลพูดว่าความเร่งของวัตถุที่ตกถึงพื้นนั้นสม่ำเสมอ แต่กาลิเลโอเห็นแย้ง จึงหาทางพิสูจน์โดยคิดเครื่องมือทดลองแบบง่ายๆ ที่เรียกว่า "Inclined Plane” (ปัจจุบันอยู่ที่ Museo Galileo เมืองฟลอเรนส์) เพื่อลดความเร็วของวัตถุอันเนื่องมาแต่แรงโน้มถ่วงของโลก เพราะสมัยนั้นยังไม่มีกล้องถ่ายรูป หรือคอมพิวเตอร์ หรือเครื่องมือวัด

กาลิเลโอคิดว่าการจะพิสูจน์ด้วยสายตาคงเป็นไปไม่ได้ เพราะวัตถุจะตกเร็วมาก เขาจึงคิดพิสูจน์ด้วยหู โดยการนำกระดิ่งไปติดตั้งไว้เป็นช่วงๆ ห่างกันช่วงละเท่าๆ กัน 

แล้วเขาก็ทดลองกลิ้งลูกกลิ้งลงมา เมื่อลูกกลิ้งผ่านกระดิ่งก็จะส่งเสียงดัง "กริ่ง กริ้ง กริ๊ง กริ้ง" เป็นอันว่าเสียงกระดิ่งช่วงสองสามสี่...นั้นสั้งลงเรื่อยๆ แสดงว่าลูกเหล็กมันเร่งความเร็วขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมันใกล้ถึงพื้นดิน

ดังนั้น เขาจึงเคลื่อนจุดวางกระดิ่งเสียใหม่ โดยใช้หูฟัง กะให้แต่ละระยะเท่ากัน "กริ้ง กริ้ง กริ้ง กริ้ง" จึงทำให้รู้ว่า เมื่อนำไม้บรรทัดมาวัดระยะแล้ว ระยะของกระดิ่งที่สองกับกระดิ่งที่สาม ยาวกว่าระยะระหว่างกระดิ่งที่หนึ่งถึงกระดิ่งที่สอง และระหว่างกระดิ่งที่สามกับกระดิ่งที่สี่ก็ยาวกว่าระหว่างกระดิ่งที่สองถึงกระดิ่งที่สาม

ยิ่งลูกกลิ้งใกล้ถึงพื้น มันยิ่งเร่งความเร็วให้เร็วขึ้น โดยกาลิเลโอสามารถเสนอเป็นสูตรคณิตศาสตร์ออกมาได้ และหลังจากนั้น ความรู้ในเรื่องแรงโน้มถ่วง ความเร่ง และการเดินทางของวัตถุ ก็เปลี่ยนแปลงไป ช่วยให้วิทยาศาสตร์หลังจากนั้นพลิกไปอีกทางหนึ่ง

มีคนคิดภาษาอังกฤษหลายคำเพื่อให้มีความหมายใกล้เคียงกับการเปลี่ยนแปลงแนวคิดแบบฉับพลันที่กล่าวมานี้

ทั้ง Think Different! และ Change Perception! Shift Paradigm! Reorganize Mind-Set! Revolutionized Idea! Revolutionized Thought!

Steve Jobs เป็นฝรั่งซึ่งคนรุ่นเรารู้จักกันดีอีกคนหนึ่ง ที่ได้สร้างนวัตกรรมสำคัญๆ ไว้ให้กับโลก ในระดับที่สามารถเปลี่ยนแปลงไลฟสไตล์ของมนุษย์ทั่วทั้งโลกได้

และเขาก็เริ่มจาก การเปลี่ยนแปลงแนวคิด (อ่านเพิ่มเติม คิดต่าง ชีวิตเปลี่ยน : ว่าด้วย Steve Jobs & Ralph Waldo Emerson)

การเปลี่ยนแปลงแนวคิดหรือการคิดต่าง ต้องอาศัย "ความคิดสร้างสรรค์" (Creativity) ซึ่งมีอยู่แล้วในตัวเราทุกคน

แม่บ้านชาวไทยใหญ่ของผมคนหนึ่ง เมื่ออยู่กับเรามาได้สักระยะ ก็สามารถคิดค้นวิธีและกระบวนการทำความสะอาด พร้อมกับเก็บของเล่น (ที่ลูกๆ ผมทำรกไว้) พร้อมกับซักผ้า พร้อมกับถูบ้าน พร้อมกับรดน้ำต้นไม้ ก่อนที่จะหันมาทำกับข้าว ได้อย่างเรียบร้อย ในเวลาที่ลดลงๆ จนเธอสามารถมีเวลาว่างในแต่ละวันเพิ่มขึ้นๆ ส่งผลให้เธอว่างเรียนรู้ภาษาไทย อังกฤษ แถมยังมีเวลาดูรายการทีวีที่เธอชอบและออกอากาศในเวลาต่างๆ กัน ซึ่งเธอได้คำนวณไว้ก่อนแล้วอีกด้วย

สิ่งนั้นจะเรียกเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจาก "ความคิดสร้างสรรค์"

ฝรั่งเชื่อว่ามนุษย์เราเป็นผลผลิตของ "พระเจ้า" ซึ่งเป็นที่สุดของความจริง ความงาม ความดี ความรัก ความยุติธรรม และทุกสิ่งทั้งปวง และในเมื่อพระเจ้าทรงมีพลานุภาพและเป็นที่สุดของการสร้างสรรค์ (ฝรั่งเรียกพระเจ้าอีกชื่อหนึ่งว่า Creator”) ดังนั้นมนุษย์ย่อมได้รับ "พรสวรรค์" (Gift) อันนั้นมาด้วยอยู่แล้ว

แต่การจะให้ความคิดสร้างสรรค์สำแดงตนออกมานั้น บางทีมันจำต้องอาศัยความเชื่อ บางทีมันอาจต้องอาศัยความลำบาก บางทีก็ความกลัวและความกล้าที่จะเอาชนะความกลัว หรือแม้แต่ความเกลียดเองก็สามารถกระตุ้นให้ "ความคิดสร้างสรรค์" สำแดงออกมาได้เช่นกัน

พระพุทธเจ้าเริ่มจาก "ความทุกข์" แล้วพระองค์ก็ทุ่มเทชีวิตแสวงหาทางดับทุกข์ การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าถือเป็นการสำแดงตนของความคิดสร้างสรรค์อันยิ่งใหญ่ เพราะทำให้วิธีมองโลกหลังจากนั้นเปลี่ยนแปลงไป (อย่างน้อยในหมู่คนฉลาดๆ ของเอเชีย ซึ่งต่อมายอมตนลงเป็นสาวกของพระพุทธเจ้ากันหมด แม้ปัจจุบันสถาบันสงฆ์จะเสื่อมไปมากแล้ว ทว่าก็ยังมีคนฉลาดอยู่เป็นจำนวนมาก....อ่านเพิ่มเติมใน "ความเป็นเช่นนั้นเอง" ของนวัตกรรม คือปัญหาของสังคมพุทธ)

J.S. Bach เริ่มจาก "ศรัทธา" ดนตรีของเขาเกิดจากความศรัทธาอันยิ่งยวดและแน่นแฟ้นต่อพระเจ้า ในชีวิตเขาแต่งเพลงไว้มากมาย เขาแต่งเพลงทุกวัน และคิดถึงดนตรีเกือบจะตลอด มีเวลาก็นำมาขัดเกลา เพื่อให้เกิดความเป็นเลิศ สำหรับพระผู้เป็นเจ้า เพราะเขาเชื่อว่าคีตกรรมคือหนทางที่จะโน้มนำจิตวิญญาณมนุษย์ให้เข้าใกล้พระเจ้า

เดี๋ยวนี้ เมื่อเราฟังดนตรีในโบสถ์แถวยุโรปที่มีระบบเสียงชั้นดี เราจะพบว่าดนตรีมีส่วนหนุนใจให้สัมผัสกับความงามและความไพเราะ หรือบางทีก็ความศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์บางอย่างที่อธิบายไม่ถูก...และนั่นคือคุณูปการของ Johan Sebastien Bach

Ludwig Van Beethoven มีความทุกข์และความกลัวจากการหูหนวกและโรคอื่นที่รุมเร้า ความคิดสร้างสรรค์อันยิ่งยวดของเขา ส่วนหนึ่งมาจากความกล้า กล้าที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้กับโชคชะตา อย่างไม่ยอมแพ้ ไม่ย่อท้อ แม้จะหูหนวกสนิทแล้วก็ยังคงแต่งเพลง (เขาเริ่มมีปัญหากับหูเมื่ออายุเพียง 27 และหลังจากนั้นก็ได้ยินเสียงประหลาดพิกลต่างๆ ตลอดเวลาจนเครียดและเป็นโรคอื่นตามมา

เพื่อพิสูจน์ว่าอัจฉริยะของตัวเองนั้นยิ่งใหญ่เท่าเทียมกับพระเจ้า (ผมเคยอ่านบันทึกของเพื่อนเขา ซึ่งมองว่าเบโธเฟนคิดเสมอว่าศิลปินที่อัจฉริยะแบบเขานั้นถูกแต่งตั้งโดยพระเจ้า มีสถานะเป็นตัวกลางระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ และเขาคิดกับพระเจ้าด้วยความเท่าเทียม) เขาต้องสู้ ต้องเอาชนะ ต้องพิสูจน์ว่าอัจฉริยะของเขาต้องทำได้ ต้องสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นอมตะให้กับมนุษยชาติได้ โดยเขาสามารถได้ยินเสียงในใจ โดยไม่ต้องพึ่งหู เขาจึงมุ่งมั่นแต่งเพลงในแบบที่ยากขึ้น ยิ่งใหญ่ขึ้น ซับซ้อนขึ้น จนมาถึงจุดสุดยอดที่ Symphony No. 9 ซึ่งสำหรับผมแล้ว เป็นเพลงที่ยิ่งใหญ่มากที่สุดที่มนุษย์ได้เคยสร้างสรรค์ขึ้นมา

Beethoven น่าจะเป็นศิลปินอัจฉริยะคนแรกที่แสดงบุคลิกแบบ (ที่เรียกในสมัยนี้ว่า) เซอร์" ทั้งในเชิงการแต่งตัว ในเชิงการพูดจา และในเชิงกริยาท่าทาง เขามักแต่งเพลงตอนเดิน นึกจะตะโกนก็ตะโกน นึกจะเห่าใส่หมาก็เห่า นึกจะกระทืบเท้าใส่เป็นเชิงขู่วัวก็ทำ ครั้งหนึ่งมีคนเห็นเขายืนทำไม้ทำมือที่หน้าต่าง ทำท่าครุ่นคิด และโบกไม้โบกมือเป็นจังหวะเพลง แต่ลืมใส่กางเกง เป็นต้น 

แต่กระนั้น ผู้คนในเวียนนา นับตั้งแต่กษัตริย์และราชินีลงมา ก็ยกย่องในอัจฉริยะของเขา ว่านั่นแหละคือบุคลิกที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อจะคั้นเอาพลังแห่งความสร้างสรรค์อันยิ่งยวด และหาใครเปรียบได้ยาก ในตัวเขาออกมาให้โลกได้รับรู้

กระบวนการสำแดงออกซึ่งความคิดสร้างสรรค์มันคงยากเย็นแสนเข็ญ หนักหนา หนักหน่วง กดทับ ขึงตึง เครียดเขม็ง แต่ในขณะเดียวกันก็ตื่นเต้น เร้าใจ มีเสน่ห์ ใจเพรียกหา เข้าใจยาก และพูดไม่ออก

เบโธเฟนเป็นตัวแทนของศิลปินหรือนักสร้างสรรค์และอัจฉริยะโรแมนติก ที่ออกเซอร์ ออกบ้าๆ บอๆ ไม่ค่อยมีเหตุมีผล แต่ฉลาด อ่อนไหว อัจฉริยะ และมีความคิดสร้างสรรค์สูงมาก ...

เขาคือ Role Model ของศิลปินนักสร้างสรรค์ยุคหลัง โดยตอนหลัง บรรดานักวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์แกมธุรกิจที่มองตัวเองว่ากำลังสร้างสรรค์งานระดับพลิกโลกและมองตัวเองว่ามีพรสวรรค์หรือความเป็นอัจฉริยะเหนือคนอื่น อย่าง Einstein หรือ Edison หรือแม้กระทั่ง Steve Jobs ก็พยายามเลียนแบบบุคลิกแบบนั้น...แบบที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า "Divine Madness” นั่นเอง

ความรัก" ก็เป็นแรงกระตุ้นสำคัญของความคิดสร้างสรรค์ พระเยซูทรงรักมนุษย์เป็นพื้นฐาน และคำสอนของพระองค์ล้วนโฟกัสไปที่ความรักและการให้อภัย

ศรีปราชญ์และเจ้าฟ้ากุ้ง รวมตลอดถึงสุนทรภู่ ล้วนประพันธ์โคลงกลอนอันสุดยอดของพวกท่าน ระหว่างที่ท่านมีความรัก หรือย้อนระลึกถึงสภาวะแห่งรักและประสบการณ์เชิงอารมณ์ในห้วงรัก เป็นฉากหลังในการประพันธ์บทกวีอันไพเราะเพราะพริ้งเหล่านั้น....

นี่ยังไม่นับ Shakespeare หรือ Goethe หรือ Byron หรือ Homer หรือกวีอัจฉริยะของโลกผู้เปี่ยมด้วยความคิดสร้างสรรค์อันยิ่งยวด (Creative Fecundity) อีกเป็นจำนวนมาก

ความเกลียด" ก็เป็นแหล่งที่มาอันหนึ่งที่สามารถกระตุ้นให้ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์สัมแดงออก

Karl Marx เป็นปราชญ์อัจฉริยะคนสำคัญของโลก เขาเกลียดระบบทุนนิยมอย่างเข้าไส้ เขาจึงอุทิศชีวิตไปกับการปฏิวัติและครุ่นคิดกระบวนทัศน์ใหม่ในการล้มล้างระบบทุนนิยม จนเป็นที่มาของระบบคอมมิวนิสต์ ซึ่งต่อมามีอิทธิพลทางความคิดต่อคนฉลาดๆ ในโลกจำนวนมาก และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงและมีพลวัตอย่างที่เป็นในศัตวรรษที่ 20 และยังส่งผลต่อเนื่องมาจนกระทั่งปัจจุบัน (การล่มสลายของระบบคอมมิวนิสต์ในช่วงทศวรรษ 80 มีส่วนเร่งกระบวนการโลกาภิวัฒน์ซึ่งเป็นพื้นฐานของปัจจุบัน...แม้กระนั้นก็ตาม เดี๋ยวนี้ก็ยังคงมีประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์อยู่อีก 5 ประเทศคือ จีน เกาหลีเหนือ ลาว เวียดนาม และคิวบา)

ความลำบาก” "อัตคัต" และ "ข้อจำกัด" ก็เป็นอุปสรรคหนึ่งที่กระตุ้นให้ความคิดสร้างสรรค์สำแดงออก 

Ravel ประพันธ์ Piano Concerto for the Left Hand ให้กับนักเปียโนที่เหลือแขนข้างเดียว และเราก็มีเรื่องรวมทำนองนี้อีกมาก เช่นนักดนตรีแจ๊สผิวดำผู้สร้างสรรค์ผลงานเพลงอันยอดเยี่ยมจำนวนมากด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจที่ถูกเหยียดผิว (Autobiography ของ Miles Davis เขียนถึงเรื่องนี้ไว้แยะ) หรือนักดนตรีระดับโลกที่พิการ และสามารถแต่งเพลงอันงดงามอย่าง Stevie Wonder ก็เป็นตัวอย่างของการเอาชนะข้อจำกัด

หรืออย่างศิลปะ Impressionist และหลังจากนั้น ก็พัฒนามาจากข้อจำกัดที่โลกเริ่มมีกล้องถ่ายรูป ทำให้บรรดาศิลปินต้องแสวงหาแนวทางใหม่ในการสร้างงานศิลปะ เพราะการเลียนแบบธรรมชาติตรงๆ ย่อมทำได้ด้อยกว่ากล้องถ่ายรูป

เปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นนวัตกรรม:

แม้นว่าการเปลี่ยนวิธีคิดหรือจะสำคัญมาก เพราะเป็นการเปลี่ยนแนวการมองโลก มองชีวิต มองธรรมชาติ มองความจริง ความงาม ความดี ความยุติธรรม ฯลฯ และที่สำคัญคือมองความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งเหล่านั้น

ทว่า การจะก่อเกิดนวัตกรรม ที่จะงอกจากฐานความคิดใหม่นั้น ยังต้องอาศัยเวลา และอาศัยการเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นด้วย

ที่สำคัญ มันต้องอาศัยคนกล้าเสี่ยง กล้าทดลอง การจัดองค์กร การเงินที่เข้มแข็ง และการจัดการ โดยถ้าพิจารณาในบริบทของธุรกิจ เรามักใช้คำว่า "จิตใจแบบผู้ประกอบการ" (Entrepreneurial Spirit)

นวัตกรรม ต้องการงบประมาณ ต้องการการวางแผน ต้องการกลยุทธ์ โปรแกรมการทำงาน ต้องการทีมงาน และการบริหารจัดการ

ยกตัวอย่าง Thomas Edison ที่ยกมาข้างต้น แม้เขาจะเปลี่ยนวิธีคิดแล้ว (ว่าจะสร้างไฟโดยไม่เผาอะไร) แต่กว่าที่เขาจะผลิตหลอดไฟฟ้าออกมาสำเร็จ เขาต้องผ่านกระบวนการลองผิดลองถูกอย่างลำบากแสนเข็ญ 

และกว่าที่สิ่งประดิษฐ์ของเขาจะกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายได้ และมาช่วยเพิ่มความสะดวกสะบายให้กับมนุษย์ได้ทั่วโลกนั้น มันยังจะต้องผ่านอีกหลายขั้นตอน โดยเขาต้องหาผู้ร่วมทุน เพื่อสร้างธุรกิจ หาผู้บริหารที่เก่ง ฯลฯ 

แต่ในที่สุดเขาก็ทำสำเร็จ ด้วยการก่อตั้งโรงงานและกิจการอันหลากหลาย และพัฒนามาเป็น General Electric ซึ่งยังคงเป็นกิจการยักษ์ใหญ่ของโลกในปัจจุบัน

แต่จะมีนักประดิษฐ์ หรือนักสร้างสรรค์ที่มีความคิดสร้างสรรค์อย่างยิ่งยวด (คือสามารถเปลี่ยนวิธีคิดหรือแนวการมองสิ่งต่างๆ แบบหักมุมอย่างยิ่งใหญ่) ที่จะสามารถเป็นได้แบบ Edison

ส่วนใหญ่คิดแล้วจบ ไม่สามารถนำความคิดใหม่นั้นมา "ต่อยอด" สร้างให้เกิดเป็น "นวัตกรรม" (Innovation) ใหม่ของโลกได้

"นวัตกรรม" ยังต้องรอให้คนอื่นซึ่งมี "จิตใจแบบผู้ประกอบการ" มาสร้างให้เกิดขึ้น

Steve Jobs หรือ Jeff Bezos คือคนในแบบที่จะมาเติมเต็มช่องว่างอันนั้น

ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงที่จะก่อเกิดผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ ย่อมต้องเกิดเป็นสองขั้นตอน คือเปลี่ยนแนวคิด และต่อยอดจากแนวคิดที่เปลี่ยนนั้นให้เป็นนวัตกรรม

ขั้นตอนแรกต้องอาศัย "ความคิดสร้างสรรค์" สูง แต่ขั้นตอนที่สองต้องอาศัย “จิตใจแบบผู้ประกอบการ” และ "ความสามารถในการจัดการ"

นวัตกรรม ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องดีหรือถูกทำนองคลองธรรมเสมอไป

เฮโรอิน วิสกี้ ไวอากร้า เซ็กทอย คาสิโน ระเบิดปรมาณู หรือแม้กระทั่งการโฆษณาชวนเชื่อ (ที่ต้องอาศัยการโกหก หลอกลวง) ล้วนเป็นนวัตกรรมสำคัญของโลก

หรือแม้กระทั่ง "ตำรวจลับ" หรือ "รัฐตำรวจ" ในแบบที่เรารู้จักกันในปัจจุบันก็ถือเป็นนวัตกรรมสำคัญทางการปกครอง (แบบเผด็จการ) เช่นกัน

ตำรวจลับสมัยใหม่ในแบบที่เรารู้จักกันในบัดนี้ แรกเริ่มเดิมทีนั้นมีต้นแบบมาจากตำรวจลับของจักรพรรดินโปเลียน (Napoleon Bonaparte) ภายใต้การสร้างสรรค์และบริหารจัดการโดย Joseph Fouche

โดยหลังจากปี 1799 หรือ พ.. 2342 ราวปลายรัชกาลที่ 1 เมื่อนโปเลียนทำรัฐประหารแล้ว เขาก็จัดตั้งหน่วยงานตำรวจลับทันที ด้วยมีเป้าหมายกำจัดฝ่ายตรงข้าม คือไม่ต้องการให้เกิดพรรคฝ่ายค้าน หรือกลุ่มคัดค้านการปกครองของเขาอย่างเปิดเผย

Fouche ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงตำรวจ (ต่อมาเป็นกระทรวงมหาดไทย) จึงจัดตั้งสายลับ (Agents Provocateur) นอกเครื่องแบบจำนวนมาก ให้ทำตัวปะปนกับฝูงชนหรือเป้าหมาย คอยสืบข่าว สะกดรอย หลอกล่อ (ให้ฝ่ายตรงข้ามเผยตัวเพื่อจะได้ยัดข้อหาถนัด) จัดทำรายงาน หรือแม้กระทั่งล่าสังหาร ศัตรูทางการเมืองของนโปเลียน และเมื่อนโปเลียนทำสงครามขยายอาณาจักร บุกยึดและเข้าไปปกครองเพื่อนบ้าน หน่วยงานนี้ก็ตามไปทุกที่ อีกทั้งยังขยายขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบไปจนถึงการใช้จารชน การสืบข่าวเพื่อประโยชน์ในเชิงการสงครามและทางการทูต จึงกลายเป็นต้นแบบของ Spy ระดับชาติในเวลาต่อมา

ตำรวจลับภายใต้ Fouche มีชื่อเสียงในทางน่ากลัวและทรงประสิทธิภาพมาก ช่วยให้นโปเลียนเผด็จอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จได้ตลอดรัชสมัย จึงเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้เผด็จการในยุคต่อมา เมื่อขึ้นสู่อำนาจได้แล้ว เป็นต้องจัดตั้งหน่วยงานตำรวจลับของตัวเองขึ้น ตามแบบอย่างของฟูเช่

เลนิน จึงมี Cheka และ OGPU ภายใต้ Felix Dzerzhinsky ฮิตเลอร์ ก็มีหน่วย SS (Schutzstaffel) และ Gestapo ภายใต้ Heinrich Himmler และสตาลินก็มี NKVD ภายใต้ Lavrentiy Beria ซึ่งต่อมาเยอรมนีตะวันออกในยุคสงครามเย็นเลียนแบบมาเป็นหน่วย Stasi อันโด่งดัง เหมาเจ๋อตง มีคังเซิน และจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ก็มีหน่วยสันติบาล ภายใต้การบริหารจัดการของ พลตำรวจเองเผ่า ศรียานนท์

เหล่านี้ล้วนเลียนแบบมาจากนวัตกรรมของฟูเช่ทั้งสิ้น

รวมพลังเพื่อเปลี่ยน:

การเปลี่ยนแปลงที่ทรงพลังจึงต้องเกิดจากการร่วมกันของคนสองแบบ คือนักสร้างสรรค์ที่เด่นทางด้านการคิดสร้างสรรค์ หรือคิดต่าง คิดแหวกกรอบ สร้างกระบวนทัศน์ แนวคิด หรือไอเดียใหม่ คือคิดถึงระบบใหม่ที่ไม่เคยมีใครคิดมาก่อน ผนวกกับนักสร้างนวัตกรรม ที่นำความคิดสร้างสรรค์เหล่านั้น มา ต่อยอด บด ผสม เคี้ยว เสริม เติม แต่ง และบริหาร จัดการ ให้ไอเดียนั้นก่อเกิดเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการหรือระบบการผลิตหรือสถาบันทางสังคม/การเมือง ฯลฯ ที่ไม่เคยมีมาก่อน

นิสัยสองแบบนี้อาจอยู่ในตัวคนๆ เดียวก็ได้ แต่ส่วนใหญ่มันมักจะไม่ไปด้วยกัน

ดังนั้น ถ้าท่านรู้ตัวเองว่า ท่านเป็นคนแบบแรก ท่านต้องหาคู่หูที่เป็นแบบหลัง และถ้าท่านถนัดแบบหลัง ท่านต้องหาคู่หูเป็นคนแบบแรก มันถึงจะเกิด "พลังผนึก" หรือ Synergy

อย่าลืมว่า แบบแรกท่านเก่งคนเดียวได้ แต่แบบหลังท่านต้องทำงานเป็นทีม

ท่านเคยสงสัยไหมว่าทำไมต้องเป็น Hewlett-Packard, Ernst & Young, Goldman Sachs, Morgan Stanley, Roll-Royce, Pratt & Whitney, Bang & Olufsen หรือแม้แต่ TCC ของเจริญ สิริวัฒนภักดี

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
15 .. 57
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือน พ.ค. 2557

(1) Descartes เขียนประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจในบทที่สอง ย่อหน้าที่สี่ของ Discourse on the Method of Rightly Conducting and Seeking for Truth in the Sciences ว่า I also considered how very different the self-same man, identical in mind and spirit, may become, according as he is brought up from childhood amongst the French or Germans, or has passed his whole life amongst Chinese or cannibals. I likewise noticed how even in the fashions of one's clothing the same thing that pleased us ten years ago, and which will perhaps please us once again before ten years are passed, seems at the present time extravagant and ridiculous. I thus concluded that it is much more custom and example that persuade us than any certain knowledge, and yet in spite of this the voice of the majority does not afford a proof of any value in truths a little difficult to discover, because such truths are much more likely to have been discovered by one man than by a nation. I could not, however, put my finger on a single person whose opinions seemed preferable to those of others, and I found that I was, so to speak, constrained myself to undertake the direction of my procedure.” ผู้สนใจอ่านฉบับเต็มได้ที่ www.marxists.org/reference/subject/philosophy/works/fr/descarte.htm

วันอาทิตย์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2557

"ความเป็นเช่นนั้นเอง" ของนวัตกรรม คือปัญหาของสังคมพุทธ




ผมชอบฟังเพลงของเบโธเฟนและมาห์เลอร์

ลองคำนวณคร่าวๆ ดูแล้ว พบว่าในชีวิตที่ผ่านมา ตัวเองเคยเปิดฟังท่อนที่สามของซิมโฟนีหมายเลข ของเบโธเฟน (Adagio molto e cantabileและท่อนสองของซิมโฟนีหมายเลข 2 (Andante moderato. Sehr gemächlich. Nie eilen.และ Der Abschied (คือท่อนที่ ของเพลง Das Lied von der Erdeของมาห์เลอร์มาแล้วไม่ต่ำกว่าเพลงละหนึ่งพันรอบ

ผมฟังมาแล้วทุกรูปแบบ ทั้งจากแผ่นเสียง ซีดี คาสเซ็ท เทปรีล และไฟล์เสียง ทั้งแบบ Download และ Streaming และทั้งการอัดเสียงแบบโมโนและสเตอริโอ ยกเว้นจากการแสดงสดเท่านั้นที่ยังไม่เคยมีโอกาสได้ฟัง

มีเพื่อนชาวเยอรมันคนหนึ่งชอบฟังเพลงเหมือนกัน เมื่อเราพบกัน มักดื่มเบียร์หรือไวน์และนั่งฟังเพลงด้วยกันเป็นเวลานานๆ ทีละหลายชั่วโมง

เขามักสอนให้ผมฟังโปรเกสซีฟร็อก อย่างงานของ Gentle Giant, Yes, และ Peter Gabriel ฮีโร่ของเขา เป็นต้น โดยผมสอนให้เขาฟังแจ๊สสมัยฮาร์ดบ็อบอย่าง Miles Davis, Hank Mobley, Jackie McLean, และ John Coltrane

ผมเคยถามเขาว่าเป็นคนเยอรมันแท้ๆ ทำไมไม่ชอบฟังเพลงคลาสสิกเอาเสียเลย ทั้งๆ ที่คีตกวีสำคัญๆ ของโลกล้วนเป็นคนเยอรมัน

เขาตอบว่ามัน “ยาว ยืดเยื้อ น่าเบื่อ” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Wagner เขาไม่ชอบเอามากๆ

นานมาแล้ว ผมเคยถามถึงรายละเอียดของงาน Bayreuth Festival ว่าต้องจองตั๋วยังไง กะจะฝากเขาจองและชวนเขาไปด้วย แต่เขากลับบอกผมว่า “ให้รอไปเที่ยวงาน Oktoberfest น่าจะดีกว่า!”

เมื่อเราสนิทกันมากขึ้น เขาก็เริ่มเล่าเรื่องเก่าๆ ให้ผมฟัง โดยเฉพาะเรื่องพ่อกับแม่ของเขา ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นรุ่นใกล้เคียงกับพ่อแม่ผม แต่พวกท่านโชคร้ายกว่า เพราะเติบโตขึ้นมาท่ามกลางสงครามโลกครั้งที่สองในทวีปยุโรป

สมันโน้น พ่อเขาเป็นอาสาสมัครอยู่หน่วยแพทย์ จึงเห็นเรื่องเลวร้ายสุดๆ ในช่วงนั้นมานับไม่ถ้วน เขาว่าประสบการณ์ที่พ่อแม่เขาเล่าให้ฟัง ประกอบกับการเติบโตขึ้นมาในฐานะคนเยอรมันระหว่างยุคสงครามเย็น ทำให้เขากลายเป็นคนยึดมั่นในศรัทธาแห่งศาสนา

เขาเป็นคาทอลิก และเมื่อมาเมืองไทย สิ่งหนึ่งที่เขาขาดไม่ได้คือต้องไปอธิษฐาน ณ โบสถ์อัสสัมชัญ ตรงบางรัก ข้างๆ โรงแรมโอเรียนเต็ล

ต่อมา เมื่อรู้แล้วว่าผมชอบเพลงคลาสสิก เขาจึงแนะให้ผมฟัง String Quintet in C Major ของ Schubert เทียบกับ String Quartet in C Sharp Minor ของ Beethoven ซึ่งเขาคิดว่ามันเจ๋งมากและมีมิติเชิงศาสนา และต่างก็เป็นเพลงสำหรับเครื่องสายที่ผู้ยิ่งใหญ่ทั้งคู่ประพันธ์ไว้ก่อนตาย ทำให้ผมฟังเพลงทั้งสองนั้นเรื่อยมา และบางทีก็รวมถึง Groze Fuge ด้วย

ที่สำคัญ เขายังแนะให้ผมฟัง St. Matthew Passion ของ Bach พร้อมทั้งอธิบายที่มาที่ไปของเนื้อหาซึ่งหยิบยืมมาจากพระคัมภีร์สำคัญๆ ของศาสนาคริสต์แทบทุกคัมภีร์

ผมฟังแล้ว อิ่มเอิบใจมากและรู้สึกว่า “ภายใน” ของตัวเอง ขยายออกทั้งแนวกว้าง แนวสูง และแนวลึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้หลับตาฟัง Erbarme Dich Mein Gott แล้ว รู้สึกว่าตัวเองค่อยๆ ลอยไปมาบนก้อนเมฆ ภายใต้การจ้องมองของ “อำนาจเหนือ” บางอย่าง และพอฟังมากเข้า หลายๆ รอบเข้า ผมจึงเริ่มเข้าใจความรู้สึกของชาวคริสต์ว่าการสัมผัสกับ “พระเจ้า” เป็นเช่นนี้นี่เอง


Caravaggio's Calling of St. Matthew

นั่นทำให้ผมเกิดแรงบันดาลใจที่จะหาหนังสือประวัติพระเยซูและประวัติคริสต์ศาสนามาอ่าน ทำให้ตัวเองตระหนักว่าความรู้เรื่องศาสนาคริสต์ของตัวเองมีอยู่น้อยมาก แม้ว่าสมัยเด็กจะเคยเรียนในโรงเรียนคาทอลิกอยู่ถึง 10 ปี และภรรยาก็เป็นคริสเตียน โดยสมัยแต่งงานก็ทำพิธีกันในโบสถ์

ผมเพิ่งรู้ว่าพระเยซูสวรรคตตั้งแต่ยังหนุ่มแน่น พระชันษาได้เพียง 33 เท่านั้น (บ้างก็แย้งว่า 36) และประวัติของพระองค์ขาดหายไปอย่างไร้ร่องรอยถึง 18 ปี คือตั้งแต่พระชนมายุ 12 กว่าๆ จนถึง 30 และเสด็จสั่งสอนผู้คนได้เพียงไม่กี่ปีก็ถูกตรึงกางเขน 

ต่างกับพระพุทธโคดมมาก ที่มีเวลาเสด็จสั่งสอนและเผยแพร่คำสอนอยู่นานถึง 45 ปี (พระพรหมคุณาภรณ์ (..ปยุตโตเคยบรรยายถึงช่วงที่หายไปของพระเยซูว่ามีหนังสือตำราเกี่ยวกับพระเยซูจำนวนมากได้ค้นคว้ามาแสดงเหตุผลให้เห็นว่าระหว่างที่พระเยซูหายไปนั้น พระองค์ท่านได้เดินทางมาศึกษาพุทธศาสนาที่อินเดีย บางเล่มถึงกับบอกว่าเคยบวชเรียนด้วยซ้ำไป โดยมีเล่มหนึ่งชื่อ The Original Jesus ถึงกับเขียนไว้ชัดเจนเลยว่า “Jesus was not a Christian, he was a Buddhistโดยได้เทียบคำสอนระยะแรกของพระองค์กับหลักศาสนาพุทธว่าเหมือนกัน นั่นหมายถึงว่าพระเยซูมาเรียนรู้พุทธศาสนาแล้วรับเอาไปพูดเป็นสำนวนใหม่)


พระพรหมคุณาภรณ์​

ประวัติของพระองค์เต็มไปด้วยอิทธิฤทธิปาฏิหาริย์ โดยสมัยของพระองค์นั้นเป็นสมัยที่โหดร้าย ป่าเถื่อน และอยู่ยากสำหรับคนที่มีความคิดสร้างสรรค์สูง เป็นตัวของตัวเอง และต้องการสร้างและผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

พระองค์เสด็จสั่งสอนผู้คนในบริเวณที่เป็นประเทศอิสราเอลในปัจจุบัน ทว่าสมัยนั้นยังเป็นเมืองขึ้นของจักรวรรดิโรมัน แห่งรัชสมัยจักรพรรดิทิเบริอุส (พระเยซูประสูติในรัชสมัยของจักรพรรดิออกุสตุส บุตรบุญธรรมของจูเลียสซีซ่าร์)

ท่านนำเสนอชีวิตอีกแบบหนึ่ง ให้เป็นทางเลือกสำหรับคนสมัยนั้น โดยมิใช่การปฏิวัติรัฐประหารหรือการลุกขึ้นสู้และยึดอำนาจรัฐแล้วค่อยเปลี่ยนแปลง แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงจากภายใน เปลี่ยนวิถีชีวิตและจิตใจตัวเอง ให้เกิดสันติ ให้รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน เปี่ยมด้วยความรักต่อมวลมนุษย์และสรรพสัตว์ ใจกว้างและมีเมตตากรุณา รู้จักให้อภัย และที่สำคัญคือให้อยู่อย่างมีความหวัง

หวังใน “ความรอด” และโลกหน้า

พระเยซูต่างกับพระพุทธเจ้าตรงที่ท่านประจันหน้ากับอำนาจเหนือและอำนาจบาตรใหญ่แบบตรงๆ ดังนั้น ผมจึงคิดว่าถ้าพระองค์มาประสูตในสมัยนี้ พระองค์ก็คงต้องพบจุดจบแบบนั้นอยู่ดี เพราะสมัยของเราก็โหดร้ายใช่ย่อย แม้จะมีที่ยืนให้กับนักสร้างสรรค์มากกว่าสมัยพระองค์ท่านก็ตาม

แต่การมาเกิด ดำรงอยู่ และตาย (รวมถึงการฟื้นคืนชีพ แล้วขึ้นสวรรค์ของพระองค์นั่นแหละคือสิ่งที่เรียกว่า “ศาสนาคริสต์” ในเวลาต่อมา (I am the way, the truth, and the life)

พระคัมภีร์ไบเบิ้ลเอง เมื่อเทียบกับพระไตรปิฏกแล้ว ถือว่าคลุมเครือยิ่งกว่ามาก ดังนั้น “ศรัทธา” จึงสำคัญมากสำหรับคริสเตียน

ในความเห็นของผม การจะเริ่มเป็นคริสเตียนนั้นง่ายกว่าการเป็นพุทธมาก เพราะคริสเตียนนั้น เพียงแต่ต้อง “ศรัทธา” และ “รับเชื่อ” เป็นเบื้องแรก เท่านั้นเป็นพอ โดยหลังจากนั้นกระบวนการศึกษาจึงจะเริ่มขึ้นแบบเป็นขั้นเป็นตอน และศรัทธาก็จะแน่นแฟ้นมั่นคงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งระหว่างนั้นถ้าศรัทธาคลอนแคลนก็จะมีคนช่วยหนุนใจให้เป็นระยะๆ


Raphael's The Sistine Madonna

ส่วนพุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาของการใช้เหตุผลค่อนข้างมากแถมยังซับซ้อนด้วยเรื่องจิตและการทำงานของจิตซึ่งเป็นนามธรรมอันลึกซึ้ง ผู้ศึกษาต้องทำความเข้าใจเอาเอง เข้าถึงให้ได้ด้วยตนเอง เป็นศาสนาที่เรียกร้องต่อความตั้งใจและความพยายามของผู้ศึกษาสูงมาก จะเชื่อใครก็หาได้ไม่ และไม่จำเป็นต้องมาเชื่อมาศรัทธาอย่างขาดเหตุขาดผล ดังที่กาลามสูตรเตือนไว้นั้นแล

คำสอนจำนวนมากที่ละเอียด ลึกซึ้ง และครอบคลุมของพุทธเจ้า (และบรรดาสาวกที่ช่วยขยายความหรือให้อรรถาธิบายเพ่ิมเติมในเวลาต่อมา ตลอดระยะเวลาเป็นพันๆ ปีนี้เอง ที่เป็นอุปสรรคสำหรับคนรุ่นหลัง ซึ่งคิดจะเถียงหรือโต้แย้งกับพระธรรมของพระพุทธองค์

คำสอนของท่านครอบคลุมไปหมดแล้วทุกเรื่อง แม้เรื่องที่ท่านไม่อยากลงรายละเอียด (อย่างปัญหาอภิปรัชญาทั้งหลายท่านก็มีวิธีบอกปัดแบบที่โต้แย้งได้ยาก (เช่น อุปมาอุปไมยเรื่องใบไม้ในมือและใบไม้บนต้น ที่อุปมาอุปไมยว่าเป็น “ความรู้ที่ไม่นำไปสู่ความดับทุกข์”)

โอกาสที่จะ Breakthrough ในสังคมพุทธจึงเป็นไปได้ยาก เรียกว่าต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์สูงมากจริงๆ ถึงจะเอาชนะพระพุทธเจ้าได้

คนฉลาดๆ และบรรดาอัจฉะริยะบุคคลแทบทั้งหมดที่เคยอาศัยอยู่ในดินแดนแถบเอเชียซึ่งพระพุทธศาสนาได้เผยแพร่ไปถึง เมื่อได้ลองศึกษาพุทธศาสนาหรือได้ลองปะทะกับความคิดของพระพุทธเจ้าแล้ว เกือบทั้งหมดก็ยอมสยบให้กับพระพุทธเจ้าโดยสิ้นเชิง


พุทธทาสภิกขุคือตัวอย่างหนึ่งในรอบสองพันห้าร้อยกว่าปีของอัจฉริยะฝ่ายตะวันออกที่ยอมสิโรราบให้กับพระพุทธเจ้า

คนเหล่านั้น ถ้าไม่บวชและช่วยพัฒนาต่อยอดให้กับพระศาสนาทั้งในเชิงปรัชญาและแนวปฏิบัติและในเชิงเผยแพร่ ก็กลายเป็นผู้เชื่อถือศรัทธา และส่งเสริมสนับสนุนให้คำสอนของพระพุทธเจ้ายังคงทรงอิทธิพลสืบไป

โอกาสที่จะ “คิดแย้ง” จึงเป็นไปได้ยาก

อย่าว่าแต่ “เอาชนะ” หรือ “ลบล้าง” แล้ว “สร้างเป็นองค์ความรู้ใหม่” นั้นยิ่งเป็นไปไม่ได้เลย แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า 2500 ปีแล้วก็ตาม

มันเป็น Paradox ของการพัฒนาเชิงความคิดของมนุษย์

คือ “ความคิดสร้างสรรค์ที่สูงมากอย่างยิ่งยวด” ในอดีต กลับปิดกั้นมิให้เกิดนวัตกรรมทางความคิดอีกเลยหลังจากนั้น

ตามความเข้าใจของผม ผมคิดว่ามีเหตุมาจาก การที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบแก่นแท้ของธรรมชาติอย่างถึงที่สุดแล้ว และการค้นพบนั้นค่อนข้างครอบคลุมในประเด็นสำคัญที่จำเป็นและเพียงพอต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ไว้ก่อนแล้ว ดังนั้น จึงไม่เหลือพื้นที่ปริศนาให้คนรุ่นหลังค้นพบได้อีก

ความคิดสร้างสรรค์ขั้นสูงของพระพุทธองค์ที่ก่อให้เกิดความรู้อันสมบูรณ์ในทัศนะของชาวพุทธ กลับเป็นอุปสรรคต่อนวัตกรรมเชิงความคิดของคนรุ่นหลัง

ต่างกับวิทยาศาสตร์ที่บรรดาอัจฉะริยะบุคคลของตะวันตกได้ค้นพบความจริงของวัตถุและธรรมชาตินั้น มันเป็นการค้นพบทีละส่วนทีละเสี้ยว ทำให้เกิดการต่อยอดหรือไม่ก็คิดแย้งเพื่อหาข้อสรุปใหม่ได้ตลอดเวลา 

ซึ่งถ้าใครศึกษาประวัติของความคิดทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญๆ ก็จะเห็นประเด็นนี้ได้ชัด ทั้งในเชิงดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ และล่าสุดที่กำลังมาแรงในปัจจุบันคือ Biotechnology และ Genetic Science และ Molecular Biology

แม้แต่ความคิดในเชิงปรัชญาของปราชญ์และบรรดาอัจฉริยะบุคคลของตะวันตกนับแต่แต่พวกยิว กรีก โรมัน และยุโรป ก็หามีผู้ใดที่สามารถครอบงำหรือมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อนักคิดรุ่นหลังอย่างเบ็ดเสร็จได้ (ในแบบที่พระพุทธเจ้ามีอิทธิพลต่อนักคิดรุ่นหลังในเอเชีย)

แม้แต่สดมภ์หลักของระบบคิดแบบตะวันตกที่มีอิทธิพลอย่างมากต่ออัจริยะทั้งหลายในรอบสองพันกว่าปีมานี้คือ เพลโต และ อริสโตเติล ยังคิดไปคนละทาง แม้จะเป็นอาจารย์ลูกศิษย์กัน และความคิดที่ขัดแย้งกันสองแนวทางนั้นเอง ที่ได้ช่วยสร้างพลวัตของระบบคิดแบบตะวันตกให้พัฒนามาจนกระทั่งบัดนี้

พัฒนาการเชิงแนวคิดของสังคมตะวันตกจึงมีลักษณะ “กระทบไหล่” กันอยู่ตลอดเวลา และนวัตกรรมมักจะเกิดขึ้นเสมอเป็นระยะๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถึงจุดหักเหที่นักคิดรุ่นใหม่สามารถสั่นคลอนและ “โค่น” เสาหลักหรือสดมภ์หลักในอดีตลงได้ โดยอาศัยเหตุผลเป็นเครื่องมือ เช่นเมื่อ Copernicus, Kepler, และ Galileo ปฏิเสธอริสโตเติล หรือ Descartes ปฏิเสธเปลโต หรือ Kant บอกให้เดินสายกลาง หรือ Nietzsche และ Darwin ปฏิเสธพระเจ้า และ Marx ปฏิเสธ Adam Smith และบรรดานักเศรษฐศาสตร์คลาสสิก และคิดว่าตัวเองสามารถค้นพบความลับหรือกฏเกณฑ์ตายตัวของประวัติศาสตร์และเปิดโปงมันออกมา โดยอาศัยการประยุกต์ใช้วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

เรื่องนี้มีส่วนอย่างมากต่อวิวัฒนาการสองแนวทางของโลกทัศน์แบบตะวันตกและตะวันออก ซึ่งครอบคลุมไปถึงการพัฒนาองค์ความรู้ การจัดการผลิต การสร้างนวัตกรรม การสร้างสินค้าและบริการ สถาบันทางสังคม/การเมือง และไลฟ์สไตล์

และมีส่วนอย่างมากในการกำหนดความ “ก้าวหน้า” และ “ล้าหลัง” ของอารยธรรมในแต่ละช่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลายร้อยปีมานี้

ส่วนว่าผู้ใดจะคิดว่าใครก้าวหน้า ใครล้าหลัง ช่วงไหนใครวิ่งนำหน้า และใครวิ่งไล่กวด ก็สุดแท้แต่ความเห็นของตน

ผมคิดว่ามันไม่ใช่เรื่อง “ดี” “เลว” “ถูก” “ผิด”

ทว่ามัน “เป็นมาของมันแบบนั้น" และ “เป็นเช่นนั้นเอง”


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
พ.ค. 2557
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือน พ.ค. 57