วันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2557

หม่อมอุ๋ย ซาร์เศรษฐกิจองค์ใหม่



หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล หรือ "หม่อมอุ๋ย" เป็นสมาชิกของราชวงศ์จักรีเพียงคนเดียวที่ออกหน้าอยู่กับ คสช. ในฐานะที่ปรึกษาใหญ่ทางเศรษฐกิจ และอาจได้ดำรงตำแหน่งในรัฐบาลของ พลเอกประยุทธ์ จันโอชา ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ซึ่งถ้าได้ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจริง เขาก็จะมีอำนาจควบคุมเศรษฐกิจภาพรวม การค้าระหว่างประเทศ การจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน การลงทุน ตลาดเงินตลาดทุน และทรัพย์สินทั้งมวลของรัฐ

เรียกว่าเป็น "ซาร์เศรษฐกิจ" ผู้ที่จะขึ้นมากุมหางเสือของนโยบายและความเป็นไปของเศรษฐกิจไทยนับแต่นี้

ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็น่าจะนับได้ว่าเขาเป็นสมาชิกของราชวงศ์จักรีคนแรก ที่สามารถไต่เต้าขึ้นมามีอำนาจทางเศรษฐกิจถึงขั้นนี้ได้ นับแต่หลัง พ.. 2475 เป็นต้นมา

แต่ไหนแต่ไรมา แม้ในหมู่สมาชิกของราชวงศ์จักรี จะมีผู้ปรีชาสามารถในด้านต่างๆ จำนวนมาก ทว่า ยากจะหาผู้ชำนาญทางด้านเศรษฐกิจ

แน่นอน วรรณะกษัตริย์ย่อมไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการค้าขายและหมุนเงินหมุนทอง

ในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น เศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ จึงอยู่ในมือขุนนาง โดยเฉพาะตระกูลบุนนาค และในยุคปฏิรูปใหญ่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา แม้เสนาบดีกระทรวงเศรษฐกิจจะเป็นเจ้านายหรือขุนนาง ทว่า การตัดสินใจสำคัญๆ ย่อมขึ้นอยู่กับที่ปรึกษาฝรั่งเสียเป็นส่วนใหญ่ เป็นแบบนั้นมาจนกระทั่งเปลี่ยนแปลงการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 7

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเคยมีพระดำริว่า เสนาบดีกระทรวงพระคลังนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ ขอเพียงให้ไว้วางพระทัย (และพระราชหฤทัย) ได้เป็นพอ

นั่นน่าจะสะท้อนความเห็นของสมาชิกราชวงศ์ชั้นสูงที่ปกครองบ้านเมืองนับแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา

สมาชิกที่โดดเด่นและทรงมีผลงานทางด้านนี้ค่อนข้างมากมีอยู่เพียงพระองค์เดียวคือกรมพระจันทบุรีนฤนาถ ซึ่งรัชกาลที่ 5 เคยตรัสว่าเหมาะกับงานด้านนี้ เพราะ "เป็นลูกเจ๊ก" แต่ก็ทรงขัดแย้งกับรัชกาลที่ 6 อย่างแรง จนต้องทรงลาออกจากราชการกลางคัน ส่วนกรมหมึ่นสรรควิสัยนรบดี ซึ่งเป็นคนไทยที่สำเร็จปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์จากเยอรมนีเป็นคนแรก แต่ก็มิได้ทรงงานทางด้านนี้โดยตรง และทรงปลิดชีพพระองค์เองตั้งแต่พระชนมายุเพียง 28 พรรษาเท่านั้นเอง

สมัยรัชกาลที่ 7 ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ราคาข้าวและดีบุกตกต่ำ ส่งออกได้น้อยลงเพราะเศรษฐกิจโลกวิกฤติ จนรัฐบาลอังกฤษต้องประกาศถอนตัวออกจากมาตราฐานทองคำ ทำให้เงินบาทแข็งค่า (เพราะไทยตัดสินใจอยู่กับข้อตกลงมาตรฐานทองคำต่อไป) และเกิดปัญหาขาดดุลงบประมาณในที่สุด เพราะจัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้า

รัชกาลที่ 7 ทรงเชื่อที่ปรึกษาฝรั่งว่าต้องตรึงค่าเงินบาท ไม่ควรลด และไม่ควรใช้นโยบายขาดดุลแบบเคนส์ (ผมหมายถึง John Maynard Keynes) แต่ให้จัดเก็บภาษีชนิดใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะภาษีเงินได้ที่เก็บเอาจากผู้มีรายได้ประจำ ซึ่งกระทบต่อบรรดาข้าราชการอย่างจัง แถมยังให้รัดเข็มขัดทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ และที่แย่คือสั่งปลดข้าราชการออกเพื่อปรับให้งบประมาณ "ได้ดุลย์" ทำให้ข้าราชการไม่พอใจกันมาก โดยเฉพาะพวกทหาร (เหตุการณ์ครั้งนั้น ถูกกล่าวขานกันในเวลาต่อมาว่าเป็นการ "ดุลย์ข้าราชการออก")

ว่ากันว่า นโยบายเหล่านี้ส่งผลให้เกิดการยึดอำนาจของคณะราษฎรในวันที่ 24 มิถุนายน 2475

ก่อนหน้านั้นเพียง 4 เดือน รัชกาลที่ 7 เคยทรงพระราชดำริถึงความไม่รู้ไม่เชี่ยวชาญของพระองค์เองไว้ว่า "The financial war is a very hard one indeed. Even expert contradict one another until they become hoarse. Each offer a different suggestion. I myself do not profess to know much about the matter and all I can do is listen to the opinions of others and choose the best. I have never experienced such a hardship; therefore if I have made a mistake I really deserve to be excused by the officials and people of Siam.” (อ้างจาก The End of the Absolute Monarchy in Siam” Benjamin A. Batson หน้า 187 Oxford University Press, 3rd. 1986)

โจทย์เศรษฐกิจของไทยวันนี้ที่หม่อมอุ๋ยจะต้องเข้ามาแก้ นับว่ายังไม่เลวร้ายเหมือนช่วงก่อน 2475 แต่ก็ไม่ง่ายนัก

การจัดเก็บรายได้เริ่มเป็นปัญหาใหญ่ในภาวะเช่นนี้ ทว่า บทเรียนของ 2475 ทำให้ไม่เคยมีรัฐบาลไหนอีกเลยที่กล้าปลดข้าราชการออก หรือแม้แต่ลดเงินเดือนข้าราชการก็ยังไม่กล้าทำ (นอกจากพลเอกประยุทธ์จะไม่ยอมลดเงินเดือนข้าราชการแล้ว ยังประกาศเพิ่มเงินเดือนข้าราชการอีกด้วย) ดังนั้น รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์คงต้องจัดเก็บภาษีเพิ่มเติม ทั้งภาษีที่ดิน ภาษีมรดก และ ฯลฯ รวมทั้งการขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยเหล่านี้ หม่อมอุ๋ยจะต้องเข้ามารับหน้าแบบเต็มๆ

ปัญหาราคาพืชผลตกต่ำก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่น่าหนักใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งราคายางพารา ซึ่งในที่สุดรัฐบาลคงต้องเข้าไปแทรกแซงราคาหรือใช้มาตราการอื่นซึ่งต้องใช้เงินงบประมาณเข้าไปช่วยเหลือ

นี่ยังไม่นับปัญหาหนี้ครัวเรือนและหนี้ส่วนบุคคล ซึ่งถ้าไม่ได้รับการแก้โดยเร็ว ก็จะเหนี่ยวรั้งการเติบโตของระดับการบริโภคโดยรวมอย่างมิต้องสงสัย

การหดตัวของการส่งออกและเศรษฐกิจภาพรวมก็เป็นปัญหาหนึ่งที่น่าเป็นห่วง การถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีจากประเทศคู่ค้าสำคัญซึ่งไม่ยอมรับการรัฐประหาร รวมถึงการสูญเสียความสามารถเชิงแข่งขันในเชิงการผลิตให้กับจีนและประเทศเพื่อนบ้าน ที่ตอนหลังสามารถปรับตัวและวิ่งไล่กวดเรามาติดๆ ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเชีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา เวียดนาม หรือแม้กระทั่งพม่า

ปัญหานี้เป็นปัญหาโครงสร้างที่ส่งผลทั้งระยะสั้น กลาง และยาว

สองปีมาแล้วที่เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าอัตราเติบโตเฉลี่ยของเศรษฐกิจโลก นับเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีที่เราถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

เราเคยเจ๋ง เคยอยู่แนวหน้าในหมู่ประเทศ Emerging Market สถานการณ์ของโลกเคย "Plays on Strengths" ของเราเสมอมา ทุกคนคิดว่าเราสงบ มีสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ทรงประสิทธิภาพ และคนงานมีทักษะ ขยันขันแข็ง...แต่ปัจจุบัน จุดแข็งหรือข้อได้เปรียบทุกด้านที่กล่าวมานั้น เผลอแป๊บเดียว มันกลับกลายเป็นจุดอ่อนของเราไปเสียแล้ว

สังคมไทยไม่สงบ โครงสร้างพื้นฐานเริ่มเก่าและติดขัดไปหมด ทั้งถนนหนทาง ท่าเรือ ท่าอากาศยาน และที่สำคัญคือรถไฟ แรงงานก็ขาดแคลน เด็กเกิดใหม่น้อยลงมาก สินค้าจากโรงงานที่เราเคยผลิตได้ด้วยต้นทุนถูกๆ ก็กลายเป็นแพง เมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่น...ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายใต้พัฒนาการที่ประเทศคู่แข่งของเราปรับตัวดีขึ้นแยะ ที่เคยจมอยู่กับสงครามกลางเมืองหรือระบบเผด็จการทหารอย่างล้าหลัง ก็เลิกและหันมาค้าขายกับโลกและแข่งขันกับเราในเชิงของการแย่งชิงเงินลงทุนที่เป็น Hard Currencies

โลกทุกวันนี้ "Plays on Weaknesses” ของเราไปเสียแล้ว

เหล่านี้ นอกจากจะรอคอยให้หม่อมอุ๋ยเข้ามาแก้ไขแล้ว ยังรอคอยให้หม่อมอุ๋ยเข้ามาสร้างเสริมเพิ่มเติมและขึ้นเค้าโครงใหม่ให้กับประเทศไทยในเชิงเศรษฐกิจสำหรับอนาคตอีกด้วย

นับเป็นภาระกิจที่ต้องอาศัยวิสัยทัศน์และความสามารถในการมองการณ์ไกล พ้นไปจากผลประโยชน์เชิงการเมืองเฉพาะหน้า เฉกเช่นเดียวกับที่บรรดาสมาชิกของราชวงศ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งถือเป็นคนรุ่นปู่ของหม่อมอุ๋ย เคยขึ้นเค้าโครงใหม่ให้กับประเทศมาแล้วในครั้งกระโน้น

หม่อมอุ๋ยเป็นบุตรของ หม่อมเจ้าปรีดีเทพย์พงษ์ เทวกุล อดีตนายทหารคนสนิทของ สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ กับชายาลำดับที่ 3 คือ หม่อมแตงไทย เดชผล ประสูตรเมื่อพระบิดาทรงมีพระชนมายุได้ 54 พรรษาแล้ว

เขาเป็นน้องชายต่างมารดาของ มรว.หญิงสำอางวรรณ มารดาของ บัณฑูร ล่ำซำ เรียนจบเซนต์คาเบรียล เป็นรุ่นน้องของ พลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ เพียง 1 ปี หลังจากนั้นเข้าศึกษาที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโดยบารมีของ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ ซึ่งนับเป็นญาติในสายล่ำซำ เขาก็ได้ไปศึกษาต่อที่ Wharton School of Business ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลกทางด้านเศรษฐกิจ บริหารธุรกิจ และการเงิน จนจบ MBA เมื่อปี 2513

เขาร่วมสร้างธนาคารกสิกรไทยกับ บัญชา ล่ำซำ พี่เขย จนไต่เต้าขึ้นเป็นเบอร์สองของธนาคาร สมัยโน้นเขาเป็นที่เกรงขามของพนักงานมาก โดยเฉพาะพนักงานรุ่นใหม่ๆ ที่หัวก้าวหน้า รวมทั้งนักเรียนทุน ซึ่งแม้เมื่อเวลาทำงานจะเกรงกลัวเขาเอามากๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไปและหวนคิดกลับไปก็จะรักเขา เพราะล้วนได้รับความรู้และการสอนงานอย่างเข้มข้นกันมาจากความเข้มงวดของเขาในสมัยนั้น

เขาต้องระเห็ดออกจากกสิกรเมื่อบัณฑูรขึ้นมากุมบังเหียนหลังจากมรณกรรมของบัญชา แต่ก็เป็นเสมือน Blessing in Disguise เพราะไม่นานเขาก็มาได้งานทางการเมืองครั้งแรกในฐานะโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งถือเป็นช่วง "ขาขึ้นมากๆ" ของเศรษฐกิจไทย

การได้งานครั้งนั้นเป็นผลมาจากการผลักดันของกลุ่มที่ปรึกษาหนุ่ม "บ้านพิษณุโลก" เพราะพวกเขาเหล่านั้นลงความเห็นกันว่าหม่อมอุ๋ยนี่แหละ เป็นคนที่สามารถพูดเรื่องเศรษฐกิจยากๆ ให้คนทั่วไปเข้าใจง่ายๆ ได้

ความสนิทสนมกับคณะที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลกในครั้งกระโน้น จะเป็นที่มาของการได้ตำแหน่งใหญ่โตในเวลาต่อมา คือตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในสมัยของรัฐบาลทักษิณ 1 ซึ่งมี พันศักดิ์ วิญญรัตน์ เป็นที่ปรึกษาใหญ่

อย่างไรก็ตาม สถานะความเป็นสมาชิกของราชวงศ์ก็นับเป็นจุดแข็งของหม่อมอุ๋ย

สังเกตุว่าหลังจากการยึดอำนาจของ รสช. ภายใต้การนำของ พลเอกสุจินดา คราประยูร เขาก็มีบทบาทอย่างมากต่อการตัดสินใจของพลเอกสุจินดาในการเลือกเอา อานันท์ ปันยารชุน มาเป็นนายกรัฐมนตรี และเขาเองก็ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลนั้นด้วย

ในทางการเมืองแล้วเขาเข้าได้ทุกฝ่าย

ว่ากันว่า เขาเคยเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินให้กับ เปลว สีเงิน ในระยะแรกที่เปลวออกจาก ไทยรัฐ มาก่อตั้งหนังสือพิมพ์ของตัวเอง

และการที่เขาได้รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีควบรัฐมนตรีคลังในรัฐบาลของ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็แสดงให้เห็นว่า พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และบุคคลระดับสูงสนับสนุนเขาเต็มที่

ทว่า การที่เขาลาออกกลางคันแบบกระทันหัน ย่อมแสดงให้คนทั่วไปเห็นว่าเขา Sensitive ต่อการที่พลเอกสุรยุทธ์ตั้ง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ให้เข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาทางด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

นั่นแสดงว่าเขาระแวงและมองสมคิดว่าเป็นคู่แข่งสำคัญของเขาทางด้านการเมือง

ด้วยชาติกำเนิดแล้ว สมคิดเทียบกับเขาไม่ได้ แต่ด้วยชาติกำเนิดอีกเช่นกัน ที่ทำให้สมคิดสนิทสนมกับพ่อค้าเชื้อสายจีน และได้รับการสนับสนุนจากพวกเขาในฐานะ Power Broker” ทั้งจากสมาคมหอการค้า สมาคมอุตสาหกรรม และสมาคมธนาคารไทย ซึ่งถือเป็นตัวแทนของนักธุรกิจไทยเชื้อสายจีนที่กุมอำนาจเศรษฐกิจไทยอยู่อย่างเบ็ดเสร็จ

นั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่ส่งให้ชื่อของสมคิดเข้ามาเป็นหนึ่งในคณะที่ปรึกษาของ คสช. เช่นเดียวกัน

ในฐานะคนรุ่นหลังที่นับถือในฝีมือเชิงเศรษฐกิจของทั้งคู่ ผมคิดว่าประเทศไทยจะได้ประโยชน์มาก หากบุคคลทั้งสองสามารถทำงานร่วมกันได้

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
27 สิงหาคม 2557
หมายเหตุ: บทความนี้เขียนขึ้นก่อนจะมีการประกาศรายชื่อคณะรัฐมนตรี
ภาพประกอบจากเว็บไซต์มหาวิทยาลัยของแก่น

วันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2557

อุ้มบุญเพื่อเป็นอะไหล่



ผมมีข้อสังเกตุส่วนตัวในทางร้ายแรงว่า "กรณีอุ้มบุญ" ที่กำลังอื้อฉาวและเป็นที่สงสัยกันมากถึงที่มาที่ไปของมันในบัดนี้ อาจจะมีวัตถุประสงค์แอบแฝงซึ่งเกี่ยวข้องกับการอยากได้ "รกเด็ก" ไปทำ Stem Cell ในอนาคต

ทว่า ผมก็ยังคงวิงวอนอยู่ลึกๆ ขอให้ข้อสังเกตุของผมผิดพลาดเถอะ

เพราะถ้ามันเป็นจริงตามนั้น มันจะไม่เพียงเป็นปัญหาของการ "เช่าซื้อพื้นที่มดลูก" หรือแม้กระทั่งเป็นการ "ค้ามนุษย์" ธรรมดา แต่มันจะยกระดับเป็นปัญหาอาชญากรรมระดับโลก ที่มีกลุ่มคนซึ่งกำลังทำความผิดต่อมนุษยชาติ ทำการผลิตมนุษย์ เพื่อวัตถุประสงค์ในการเตรียมและพัฒนาไปเป็น "อะไหล่" หรือ "อวัยวะสำรอง" ของตัวเอง

นอกจากหลักจริยธรรมสากลจะถูกท้าทาย ด้วยคำถามที่ว่าพวกเราจะยอมให้มีผู้พยายามเล่นบทบาทพระเจ้า ผู้สร้างและชี้ชะตามนุษย์ลอยนวลอยู่ต่อไปได้หรือไม่แล้ว การกระทำดังนี้ ยังเป็นการกดขี่ข่มเห็งเอารัดเอาเปรียบกดคนลงเป็นทาสแบบเห็นๆ และยังจะเป็นการสร้าง "มนุษย์อะไหล่" มนุษย์ชนชั้นใหม่ขึ้นมาเป็นปัญหาของโลกในอนาคตอีกด้วย

ที่แย่ก็คือ ในกระบวนการเหล่านี้ ดันมีประเทศไทยและแพทย์ไทยเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยตั้งแต่ต้น

มันจะผิดกันอย่างมหันต์และน่าละอายเอามากๆ

ผมคิดว่าตำรวจไทยรวมทั้งสมาคมวิชาชีพแพทย์และสื่อมวลชนกระแสหลัก จะต้องสืบสวนสอบสวนเรื่องนี้อย่างละเอียด ว่าการคลอดอันเนื่องมาแต่อุ้มบุญเหล่านี้ มีการนำรกเด็กไปใช้ประโยชน์ต่อหรือไม่อย่างไร หรือถ้าอ้างว่าได้มีการทำลายทิ้ง พวกเขาใช้วิธีไหน พิสูจน์ได้หรือไม่ โดยต้องหาทางพิสูจน์ให้มั่นใจว่าพวกเขามิได้นำไปฝากไว้ตามศูนย์รับฝากรกเด็ก (หรือ "ธนาคารสเต็มเซลล์") หรือนำออกนอกประเทศ

อีกทั้งน้ำเชื้ออสุจิของพ่อเด็กที่นำมาจ้างผู้หญิงไทยให้ทำการอุ้มบุญทั้งหมดนั้น มาจากบุคคลคนเดียวกัน หรือมาจากบุคคลหลายคน และแต่ละคนเป็นใคร มีความเกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมระหว่างประเทศ (เช่น "ยากูซ่า") ทั้งทางตรงทางอ้อม หรือไม่อย่างไร (ขณะที่ผมกำลังเขียนต้นฉบับอยู่นี้ นายมิตสึโตที่อ้างว่าเป็นพ่ออุ้มบุญของเด็กๆ ได้ส่งตัวอย่างดีเอ็นเอของตัวเองให้กับนิติเวช แต่ผลการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอเมื่อเทียบกับเด็กๆ ยังไม่ออกมา (19 ..) และต่อมาอีก 1 วันตำรวจก็ได้ออกมาแถลงข่าวว่ายังไม่ปักใจเชื่อดีเอ็นเอที่ทนายของหนุ่มญี่ปุ่นส่งให้พิสูจน์เป็นของเจ้าตัวจริง ชี้ควรได้รับการรับรองจากสถานทูต รวมถึงโรงพยาบาล พร้อมแนะควรมาให้ข้อมูลด้วยตัวเอง (20 ..))

หรืออาจเป็นการอุ้มบุญในแบบให้เช่าพื้นที่มดลูกเท่านั้น คือผู้ว่าจ้างนำน้ำเชื้อที่ผสมกับไข่ของพ่อและแม่มาจากต่างประเทศเรียบร้อยแล้ว แล้วค่อยมาว่าจ้างให้แม่อุ้มบุญไทยรับจ้างตั้งท้องและคลอดให้เฉยๆ

ถ้าหากว่าน้ำเชื้ออสุจิเหล่านั้นเป็นเชื้อของหลายคน หรือเป็นเชื้อที่ผสมกับไข่มาเรียบร้อยแล้ว ก็อาจเป็นไปได้ว่าบุคคลที่กล่าวอ้างเป็นพ่อของเด็กและออกหน้าเป็นผู้จ้างวานบรรดาแม่ๆ อุ้มบุญเหล่านั้น (ในกรณีนี้คือนายมิตสึโตกิ ชิเกตะ) เป็นแต่เพียงนายหน้า ที่ต้องการผลิตเด็ก (และรกเด็ก) ไปเพื่อสำรองเป็นอะไหล่สำหรับบรรดาพ่อๆ (และแม่ๆ ในกรณีน้ำเชื้อผสมแล้ว) แต่ละคน ซึ่งเป็นผู้จ้างวานนายมิตสึโตกิมาอีกทอดหนึ่ง

สองกรณีหลังนี้ ใช่ว่าจะไม่มีความเป็นไปได้เสียเลยทีเดียว เพราะตามรายงานข่าวของสำนักข่าวไทยรัฐทีวี ได้พบพิรุธซึ่งน่าคิดบางประการว่า นายมิตสึโตกิ ชิเกตะ "มีความเชื่อมโยงกับนายสำราญ ปาสาเนย์ ผู้มีชื่อเป็นเจ้าบ้านของบ้านเลขที่ 466/151 โดยทีมข่าวไทยรัฐทีวีทำการตรวจสอบเชิงลึกพบว่า บ้านหลังดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2556 ถึงวันที่ 4 มิถุนายน 2557 มีการแจ้งย้ายเด็กเข้าอย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งเป็นสัญชาติสวีเดน 4 คน มาเลเซีย 1 คน สเปน 7 คน บราซิล 2 คน ออสเตรเลีย 2 คน อเมริกา 1 คน อิสราเอล 3 คน และจีน 1 คน รวมทั้งหมด 21 คน และยังไม่ได้มีการย้ายชื่อเด็กทั้งหมดออกจากทะเบียนบ้านแต่อย่างใด แต่เมื่อตรวจสอบกลับไม่พบเด็กอยู่ในบ้านเลขที่ดังกล่าวแม้แต่คนเดียว ซึ่งเจ้าหน้าที่สงสัยว่าเด็กทั้งหมดอาจถูกส่งไปยังต่างประเทศแล้ว" (อ้างจาก "สาวอุ้มบุญยุ่นแฉ ได้เด็กแฝด" ทีมข่าวหน้า 1, ไทยรัฐ 15 สิงหาคม 2557)

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อข่าวการจ้างวานผลิตเด็กของนายมิตสึโตกิอื้อฉาวขึ้น เรากลับพบกรณีรับจ้างอุ้มบุญอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก เฉพาะตำบลปากช่องเพียงตำบลเดียว ก็พบว่ามีแม่อุ้มบุญอยู่ถึง 24 รายแล้ว ดังข่าวจาก ไทยรัฐ วันที่ 21 สิงหาคม 57 "สำรวจหมู่บ้าน 'แม่อุ้มบุญ' ที่เพชบูรณ์ เชื่อทำแล้วได้บุญ" ที่ว่า "ล่าสุด ช่วงเย็นวันเดียวกัน นายสมยศ รอดแช่ม นายอำเภอหล่มสัก นายอำนาจ พูนยอด ปลัดฝ่ายความมั่นคง ได้นำคณะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย นางเกษร วงศ์มณี สาธารณสุขอำเภอหล่มสัก และเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่สำรวจแม่อุ้มบุญในหมู่บ้าน ซึ่งพบว่า ต.ปากช่อง 4 หมู่บ้าน มีหญิงสาวเป็นแม่อุ้มบุญทั้งหมด 24 ราย เป็นหญิงสาวที่อุ้มบุญจนคลอดลูกไปแล้ว 14 ราย เหลือยังคงอุ้มท้องอยู่อีก 10 ราย โดยในจำนวนแม่อุ้มบุญที่ยังอุ้มท้องอยู่นั้น ได้อาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯ 8 ราย อยู่ต่างประเทศ โดยไม่ทราบว่าประเทศใด 1 ราย ส่วนอีก 1 ราย ยังอาศัยอยู่ในหมู่บ้านปากออก กระทั่งเมื่อวันก่อนมีสื่อมวลชนเดินทางเข้ามาทำข่าว ทำให้แม่อุ้มบุญที่ยังอาศัยอยู่ในหมู่บ้านรายสุดท้าย ตัดสินใจเดินทางออกจากหมู่บ้านเข้ากรุงเทพฯ ตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา"

ฟังแล้วน่าตกใจไม่น้อย

ความก้าวหน้าทางด้าน Molecule Biology และ Genetic Engineer ทำให้เรารู้ว่าสมัยนี้คนรวยๆ ในโลกนี้ สามารถตรวจความบกพร่องของพันธุกรรมได้ด้วยการนับคู่เบสในโครงสร้างของ “ดีเอ็นเอ” (DNA) ที่เรียงตัวกันยาวประมาณ 3.1 พันล้านคู่เบส

ข้อมูลที่บรรจุอยู่ใน "จีโนม" (Genome) หรือชุดของ DNA ทั้งหมดที่บรรจุอยู่ในนิวเคลียสของทุกๆ เซลล์ ถือเป็น "แบบพิมพ์เขียว" ของชีวิตคนๆ นั้น

ฉะนั้น ถ้าเรารู้ข้อมูลทั้งหมด เราก็ควรจะรู้ว่าความบกพร่องทางพันธุกรรมของคนๆ นั้นอยู่ตรงไหน คู่ไหนบ้างที่ผิดปกติ เช่นสลับข้าง หรือเรียงผิด และสามารถระบุตำแหน่งของคู่ที่ผิดปกติเหล่านั้นได้อย่างค่อนข้างแน่ชัดว่าเรียงลำดับอยู่ในช่วงไหน หรือจากช่วงไหนถึงช่วงไหน

ความก้าวหน้าทางด้านชีวโมเลกุลในปัจจุบัน สามารถระบุได้ค่อนข้างแม่นยำแล้วว่า ช่วงที่ผิดปกตินั้นๆ ทำหน้าที่อะไร และสำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวันสักแค่ไหน

หากว่าช่วงที่ผิดปกตินั้นๆ เป็นส่วนซึ่งทำหน้าที่สำคัญ เช่น เป็นตัวควบคุมการเต้นของหัวใจ หรือควบคุมการหลั่งอินซูลินของตับอ่อน หรือควบคุมความทรงจำ หรือควบคุมการสร้างไขกระดูก เป็นต้น มนุษย์ผู้เป็นเจ้าของ "แบบพิมพ์เขียว" ชุดนั้นย่อมต้องพบกับความเสื่อมของอวัยวะสำคัญเหล่านั้น และออกอาการของโรคร้ายแรงเข้าสักวันหนึ่ง ช้าเร็วขึ้นอยู่กับนาฬิกาที่กำหนดไว้ในชุดข้อมูลตาม "แบบพิมพ์เขียวชีวิต" นั้นแล

เมื่อรู้ดังนี้แล้ว การแพทย์สมัยใหม่ย่อมสามารถยื่นมือเข้าแก้ไขแทรกแซงโดยตรงไปที่พันธุกรรมมนุษย์ได้โดยง่าย เราจึงมักได้ยินอยู่บ่อยๆ ว่า การแพทย์สมัยนี้สามารถรักษาโรคเบาหวานชนิดที่หนึ่ง หรือป้องกันไม่ให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อม หรือแม้แต่อัลไซเมอร์ในคนที่มีแนวโน้มจะเป็นโรคนี้ หรือโรคพันธุกรรมบกพร่องอื่นๆ อีกหลายโรคได้แล้ว โดยอาศัยเทคนิคทางด้าน "วิศวพันธุกรรม"

ย่ิงไปกว่านั้น ด้วยเทคนิคเดียวกันนี้ มนุษย์อาจสามารถปรับแต่งพันธุกรรม หรือทำให้สมบูรณ์ขึ้นได้ หากต้องการจะทำ

ถือเป็นการสร้าง "Superman” โดยไม่จำเป็นต้องกำจัดหรือกวาดล้างเผ่าพันธุ์ที่อ่อนแอทิ้ง คัดไว้แต่พวกเลือดบริสุทธิ์ อย่างที่ฮิตเลอร์เคยฝันค้างไว้

อีกเทคนิคหนึ่งที่นิยมใช้คือการปลูกถ่ายอวัยวะที่เสื่อมไปโดยใช้ Stem Cell ซึ่งถ้าจะให้ได้ผลดีอาจต้องใช้ "รกเด็ก" นำมาสกัดเอา Stem Cell ซึ่งเป็นเซลล์ตั้งต้นที่ยังไม่พัฒนาเติบโตไปเป็นเซลล์เฉพาะ ที่จะกุมขึ้นเป็นอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายในอนาคต (ที่เรียกว่า "ครบ 32”)

หลังจากนั้นก็นำ Stem Cell มาเลี้ยงและพัฒนาให้เป็นเซลล์เฉพาะบางอย่างที่ต้องการ เช่น ผนังหลอดเลือดหัวใจ หรือกระดูกอ่อน หรือเส้นเลือดในตับ ฯลฯ เพื่อใช้เป็น "อะไหล่สำรอง" สำหรับคนที่อวัยวะเหล่านั้นเสื่อมไป หรือคาดว่าจะเสื่อมในอนาคต เนื่องจากข้อมูลพันธุกรรมระบุไว้เช่นนั้น

แม้ทุกวันนี้ หมอเก่งๆ จะสามารถพัฒนาเทคนิคการคัดกรองเอา Stem Cell จากไขสันหลังหรือรากฟันของตัวเราเองได้เป็นผลสำเร็จแล้ว แต่ความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ก็บอกเราว่า Stem Cell เหล่านั้น มันน่าจะมีอายุเท่ากับตัวเราในขณะนี้ และเมื่อนำไปพัฒนาเป็นเซลล์เฉพาะทาง อายุของเซลล์และอวัยวะสำรองที่กุมขึ้นได้จาก Stem Cell ชุดนั้น มันก็น่าจะแก่ตามเราไปด้วย

นั่นเป็นความลับของธรรมชาติซึ่งมหัศจรรย์มาก เพราะนาฬิกาที่ซ่อนอยู่ในข้อมูลพันธุกรรมของแต่ละเซลล์นั้น มันมีจริง และมันก็น่าจะเป็นตัวกำหนดว่ามนุษย์แต่ละคน จะต้องเผชิญกับความเสื่อมของอวัยวะแต่ละอย่างในช่วงไหน และจะสิ้นอายุไขกันเมื่ออายุเท่าไหร่...แต่ละคน ทีละคน ไม่เท่ากัน

ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดคือการคัดกรองเอา Stem Cell จาก "รกเด็ก"

และถ้าเป็น "รกเด็ก" ที่มีข้อมูลพันธุกรรมของเราฝังอยู่ในนั้นครึ่งหนึ่ง ย่อมต้องดีที่สุด

การว่าจ้างให้อุ้มบุญโดยฉีดน้ำเชื้อของพ่อเข้าไปผสมกับแม่อุ้มบุญไทย ก็จะได้ "รกเด็ก" ที่อุดมไปด้วย Stem Cell ซึ่งฝังข้อมูลพันธุกรรมของพ่อผู้ว่าจ้างครึ่งหนึ่ง และการอุ้มบุญโดยนำน้ำเชื้อที่ผสมแล้วมาฉีดใส่ ก็ย่อมได้ Stem Cell ที่ฝังข้อมูลพันธุกรรมของพ่อเศรษฐีผู้ว่าจ้างและแม่เศรษฐีผู้ว่าจ้างอย่างละครึ่ง

หากจินตนาการให้แย่ยิ่งกว่านั้น ดีไม่ดีเด็กอุ้มบุญพวกนี้ อาจถูกเลี้ยงดูให้เติบโตขึ้นในฐานะ "อะไหล่" เพื่อสำรองไว้สำหรับพ่อแม่เศรษฐี จะได้หยิบฉวยเอาอวัยวะไปเปลี่ยนถ่ายให้กับตัวเองในอนาคต ก็เป็นได้

ดังนั้น ถ้าหากว่าไทยเรายังต้องการให้มีการอุ้มบุญต่อไป ย่อมต้องทำให้โปร่งใส เพื่อให้แน่ใจว่ามันจะไม่เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ดังที่ผมได้กล่าวมา

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
22 ส.ค. 2557
รูปประกอบ Britney Spears จาก www.justgoodwallpaper.com

วันจันทร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ทุกข์ที่ต้องปฏิรูป เมื่อชนชั้นกลางเจ็บป่วย



คำสนทนาต่อไปนี้เป็นเรื่องจริงที่เพิ่งเกิดขึ้นกลางดึกของค่ำคืนหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ โดยมันบ่งบอกข้อเท็จจริงบางประการเกี่ยวกับระบบรักษาพยาบาลของไทย:

ก่อนอื่นขออนุญาตแจ้งให้ญาติทราบเรื่องค่าใช้จ่ายเบื้องต้นก่อนน๊ะค๊ะ”

ค่าผ่าตัดและห้องผ่าตัดหัวใจในแบบที่คุณหมอฯ แจ้งให้ทราบนั้นราคา 1 ล้านบาท ส่วนค่าห้องซีซียูคืนละ 1 แสนบาทค่ะ...ทางเราจะจัดเตรียมทุกอย่างพร้อมทันทีที่คนไข้มาถึง"

นั่นเป็นคำพูดที่แว่วมาจากปลายสายของประชาสัมพันธ์โรงพยาบาลเอกชนชื่อเดียวกับพระนคร ย่านซอยศูนย์วิจัย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ พูดกับญาติผู้ป่วยหนักที่กำลังจะถูกส่งต่อไปจากโรงพยาบาลเอกชนอีกแห่งหนึ่งแถวๆ ซอยทองหล่อ ถนนสุขุมวิท ซึ่งแพทย์เวรที่นั่นพิจารณาแล้วว่าทรัพยากรตลอดจนเครื่องไม้เครื่องมือของโรงพยาบาลแห่งนั้น ไม่สามารถรองรับคนป่วยได้ จำต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลอื่นในละแวกใกล้เคียง ซึ่งตัวเองประเมินแล้วว่ามีศักยภาพและความพร้อมสูงกว่า

ณ ห้วงเวลาวิกฤติขณะนั้น ญาติผู้ป่วยซึ่งกำลังร้อนใจและล้วนไม่มีพื้นฐานความรู้ทางด้านการแพทย์มาก่อนแม้แต่น้อย ย่อมไม่มีความสามารถที่จะต่อรองได้เลย

พวกเขามีทางเลือกเพียง 2 ทาง คือยอมรับหรือไม่ก็ปฏิเสธไปเลย ซึ่งถ้าเลือกทางหลัง พวกเขาอาจจะต้องรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาเดินทางที่ต้องไกลออกไปและในระหว่างนั้นอาจเกิดเหตุการณ์ไม่พึงปรารถณาขึ้นกับคนไข้ ในขณะที่ราคาซึ่งจะต้องจ่ายให้กับโรงพยาบาลอื่นก็อาจจะพอๆ กัน (หรือไม่อย่างไร ไม่อาจรู้ได้ เพราะราคาค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทยขณะนี้ ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยเหมือนกับราคาก๋วยเตี๋ยวหรือราคาสินค้าในห้างสรรพสินค้าหรือซูปเปอร์มาร์เก็ตที่ผู้ขายต้องติดป้ายให้ทราบเป็นแบบเปิดเผยโดยทั่วกันตามกฎหมาย) ฯลฯ

คำพังเพยที่ว่า "ไปตายเอาดาบหน้า" มันช่างผ่าลงตรงกลางใจและก่อให้เกิดความหดหู่ได้จริงๆ ในสถานการณ์เช่นนั้น หากพวกเขาเลือกที่จะปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว

พวกเขาไม่เคยซาบซึ้งวลีดังกล่าวมาก่อนเฉกเช่นนี้เลยในชีวิตจนกว่าค่ำคืนนั้น!

จะเห็นว่าระหว่างโรงพยาบาลกับคนไข้หรือผู้ใช้บริการนั้น ฝ่ายหลังย่อมเสียเปรียบได้ง่ายๆ

ในทางเศรษฐศาสตร์เราเรียกสถานการณ์แบบนี้ว่า "ความได้เปรียบเสียเปรียบในเชิงข้อมูลหรือการรับรู้" (Asymmetry of Information) ซึ่งจะนำไปสู่การได้เปรียบของฝ่ายหนึ่ง (ในกรณีนี้คือผู้ให้บริการหรือผู้ขายหรือโรงพยาบาล) และเสียเปรียบของอีกฝ่ายหนึ่ง (ในกรณีนี้คือผู้ซื้อหรือผู้ใช้บริการหรือคนไข้) ทั้งในแง่การตั้งราคาแบบไม่เป็นธรรม หรือตั้งราคาตามใจชอบ แบบแต่ละคน ทีละคน ไม่เท่ากัน (Discriminatory Pricing) และการผูกขาดตัดตอน

ในสังคมไทย เรามักได้ยินคำพูดของหมอหรือพยาบาลที่ชอบพูดแบบทีเล่นทีจริงว่า "สำหรับเด็กๆ นั้น พ่อแม่พูด บางทีก็ไม่เชื่อ ต้องให้คุณครูพูดเด็กถึงจะเชื่อ แต่สำหรับคนแก่ ไม่ว่าจะดื้อขนาดไหน ถ้าหมอพูดก็มักจะทำตาม"

คนส่วนใหญ่เชื่อหมอ

คนไข้ยิ่งเชื่อหมอ

ดังนั้นถ้าหมอกลายเป็นพ่อค้าเสียเอง คนไข้ย่อมลำบาก

สถานการณ์ในเมืองไทยขณะนี้ หมอโรงพยาบาลเอกชน ได้กลายเป็นพ่อค้าไปเสียแล้ว หรือถ้าพูดให้ชัดก็คือได้กลายเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการค้าเพื่อแสวงหากำไรสูงสุด หรือเพื่อ Maximize Shareholder Value ไปเสียแล้ว 

เพราะโรงพยาบาลเอกชนสำคัญๆ ล้วนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งต้องดูแลราคาหุ้นให้ผู้ถือหุ้นพอใจ เพราะต้องเพิ่มทุน ต้องระดมเงิน ต้องเอาเงินของคนอื่นมาใช้ เพื่อลงทุนเพิ่ม ขยายกิจการ เข้าซื้อหรือ Takeover โรงพยาบาลอื่นด้วยเงินสดหรือการแลกหุ้นซึ่งกันและกัน หรือควบกิจการเข้าด้วยกันกับกลุ่มอื่นแล้วแบ่งกันถือหุ้นคนละครึ่งหรือตามสัดส่วนที่ตกลงกัน (Mergers) เพื่อผูกขาดรวบอำนาจธุรกิจไว้ในกลุ่มตน และที่สำคัญคือต้องจ่ายเงินปันผล หรือต้องสร้างอัตราการเติบโตของยอดขายและกำไรอยู่ตลอดเวลาทุกไตรมาส ต้องเทียบไตรมาสนี้กับไตรมาสที่ผ่านมา ต้องเทียบไตรมาสนี้กับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ต้องบริหารให้มันเพิ่มขึ้นเท่านั้นเท่านี้เปอร์เซนต์ เพื่อให้ผู้ถือหุ้นพอใจและแสดงถึงศักยภาพของธุรกิจ และหุ้นก็จะเป็นที่นิยมของนักลงทุน โดยราคาหุ้นจะเติบโตยิ่งๆ ขึ้น ตามศักยภาพของกิจการและความนิยมของนักลงทุนดังว่านั้นแล ฯลฯ

เมื่อย่างเท้าเข้าโรงพยาบาลเอกชนในปัจจุบันนี้ ผู้ป่วยจะไม่สามารถล่วงรู้หรือประมาณการณ์ได้เลยว่ามันจะจบลงอย่างไรและด้วยราคาเท่าไหร่

เสมือนหนึ่งผู้ป่วยหรือญาติต้อง "เซ็นเช็คเปล่า" ให้หมอไว้เติมตัวเลขเอาเอง

ระหว่างนั้น หมอจะสั่งให้ผู้ป่วยต้องทำโน่นนี่นั่น X-Ray, MRI, CT Scan, CAT Scan, ECHO, Ultrasound, ตรวจเลือด, ตรวจห้องปฏิบัติการ, ฉีดสี,......เสร็จแล้วก็กลับมา X-Ray, MRI, CT Scan, ECHO, Ultrasound, ตรวจห้องปฏิบัติการ อีกครั้งในวันถัดไป หรือตามที่หมอวินิจฉัยแล้วว่ามีความจำเป็น...เสร็จแล้วก็จะส่งคนไข้ต่อไปให้กับหมอเฉพาะทางคนอื่นที่เกี่ยวข้องกับอาการหรือกลุ่มอาการ แล้วหมอคนที่สองอาจสั่งให้กลับมาทำ X-Ray, MRI, CT, ECHO หรือฯลฯ ซ้ำอีกรอบ...แล้วอาจต้องส่งต่อไปให้กับหมอเฉพาะทางคนที่ 3, 4, 5....ตามความจำเป็น

ทั้งหมดนี้ คงไม่มีผู้ป่วยหรือญาติคนไหนจะมีกะจิตกะใจหรือกล้าลุกขึ้นมาต่อรอง เพราะความรู้ความเชี่ยวชาญและข้อมูลที่พวกเขามี ตลอดจนอำนาจต่อรอง ล้วนด้อยกว่าหมอและโรงพยาบาล ณ ขณะนั้น

ยิ่งการจะนำคนไข้ออกจากโรงพยาบาลยิ่งนับเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ เพราะต้องต่อรองกับหมอซึ่งจะพล่ามถึงความเสี่ยงต่างๆ บางทีถึงกับฉายภาพ Worst Case Scenario ให้เกิดความกลัว แต่ถ้ามุ่งมั่นจะออกจริงๆ ก็ต้องเซ็นเอกสารยินยอมเพื่อให้หมอและโรงพยาบาลพ้นมลทินทั้งปวงในกรณีคนไข้เป็นอะไรไปหลังจากนั้น ตรงข้ามกับพฤติกรรมของโรงพยาบาลรัฐบาล ที่เมื่อคนไข้ทรงๆ หรือดีขึ้นบ้างแล้ว เป็นต้องไล่ให้คนไข้กลับบ้านให้เร็วที่สุด

วิถีธุรกิจแบบนี้ (ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว) ทำให้ต้นทุนการรักษาพยาบาลเพิ่มสูงขึ้นโดยใช่เหตุ ญาติผู้ป่วยบางรายถึงกับต้องกู้หนี้ยืมสินหรือบ้างก็หมดตัว ทั้งๆ ที่บางครั้งการรักษานั้นก็ไม่หาย จนมีคำพูดเป็นแนวเสียดสีว่า "คนตายขายคนเป็น"

ยิ่งเดี๋ยวนี้กลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ได้ควบกิจการเข้าด้วยกัน ทำให้เครือโรงพยาบาลเอกชนสำคัญๆ ทั้งโรงพยาบาลกรุงเทพฯ สมิติเวช พญาไท เปาโลฯ บีเอ็นเอช รอยัลอินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งมีโรงพยาบาลกว่าสี่สิบแห่งทั่วประเทศ ตกไปอยู่กับกลุ่มทุนเพียงไม่กี่กลุ่ม

การผูกขาดนี้ยิ่งจะทำให้ต้นทุนรักษาพยาบาลเพิ่มสูงขึ้นไปอีกในอนาคต โดยการคิดราคาจะยิ่งกลายเป็น "Discriminatory Pricing” เต็บรูปแบบ คือคิดราคาสำหรับคนไข้แต่ละคน ทีละคน ไม่เท่ากัน...

เราคงสามารถฟันธงได้ตรงนี้เลยว่าคนชั้นกลางจะยิ่งลำบากขึ้นในอนาคต เพราะจะถูกกำหนดราคาแบบเอาแต่ได้โดยกลุ่มผูกขาดนี้ เพราะคนรวยย่อมไม่กระทบ และคนจนก็สามารถเข้าสู่ระบบการประกันสุขภาพทั่วหน้าของรัฐบาล

การแก้ไขปัญหานี้ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลและการรวมตัวของกลุ่มผู้บริโภคที่จะกดดันให้โรงพยาบาลต้องแสดงราคาของทุกบริการอย่างโปร่งใส เหมือนกับสินค้าที่วางขายในห้างฯ หรือซูเปอร์มาร์เก็ต มิใช่แสดงแต่ราคาค่าห้องแต่เพียงอย่างเดียว (ซึ่งปัจจุบันราคาค่าห้องนั้น คิดเป็นสัดส่วนน้อยมากของค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลรวม)

นั่นจะช่วยให้ผู้ใช้บริการรับทราบราคาและทำการคำนวณค่าใช้จ่ายคร่าวๆ ได้ก่อนตัดสินใจรักษา ว่าบริการแต่ละชนิดราคาเท่าไหร่ และเมื่อเปรียบเทียบกับที่อื่นๆ แล้วเป็นยังไง ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาตัดสินใจได้ดีขึ้นและมีอำนาจต่อรองสูงขึ้น โดยสามารถเลือกไปใช้บริการกับโรงพยาบาลที่ตั้งราคาสอดคล้องกับกำลังทรัพย์ของเขาได้ด้วย

นอกจากนั้น ยังต้องหันกลับมาพิจารณาอย่างจริงจังในเรื่องของการเพิ่มจำนวนแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางด้านสาธารณสุข ทั้งโดยการอนุญาตให้มหาวิทยาลัยเอกชนผลิตแพทย์อย่างจริงจัง และสมาคมวิชาชีพแพทย์ก็ต้องไม่กีดกันแพทย์ต่างประเทศ หรือแพทย์ไทยที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการเพิ่ม Supply ให้มากขึ้น โดยพร้อมกันนั้น ต้องปรับปรุงระบบการบริการของสถานพยาบาลของรัฐให้เพียงพอ ไม่รอคิว สะอาด รวดเร็ว และสะดวกสบาย ให้ยิ่งกว่านี้ ยิ่งเหนือกว่าสถานพยาบาลของเอกชนได้ยิ่งดี

ปัจจุบันรัฐบาลต้อง Subsidize นักศึกษาแพทย์คิดเป็นเงินกว่า 5 ล้านบาทต่อคนจนจบหลักสูตร โดยเมื่อพวกเขาเหล่านั้นจบออกมาไม่นาน ก็มักถูกโรงพยาบาลเอกชนซื้อตัวไป นับเป็นการใช้เงินภาษีจากราษฎรไปสนับสนุนให้โรงพยาบาลเอกชนได้เปรียบ สามารถใช้ทรัพยากรที่สังคมช่วยอุ้มชูให้โดยตัวเองไม่ต้องแบกต้นทุน ให้กลายมาเป็นจักรกลสำคัญในกระบวนการธุรกิจที่จะกลับมาขูดรีดเอากับราษฎรอีกทอดหนึ่ง

คิดๆ ดูแล้วก็น่าเจ็บใจ

เทคโนโลยีสมัยใหม่บางอย่างอาจช่วยเก็บข้อมูลเบื้องต้นได้บ้าง ตัวอย่างเช่นอุปกรณ์ของ FitBit ที่ช่วยสกรีนขั้นต้นให้ผู้ป่วยได้รู้ตัวตนตลอดว่าถึงจุดไหนควรไปพบแพทย์ ไม่ใช่เป็นอะไรนิดหน่อยก็ต้องไปโรงพยาบาล โดยอุปกรณ์เหล่านี้จะเก็บข้อมูลที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นค่าของหัวใจ น้ำตาล ความดัน ฯลฯ ซึ่งอาจช่วยลดความจำเป็นที่จะต้อง X-ray, หรือ CT Scan, หรือ MRI, หรือ ECHO ลง เป็นการช่วยลดต้นทุนการรักษาพยาบาล เพราะการเข้าเครื่องพวกนั้นในปัจจุบัน ต้องเสียเงินหลายหมึ่นบาทต่อครั้ง ที่เป็นเช่นนั้นเพราะต้องร่วมเฉลี่ยต้นทุนค่าเครื่องจักร (Amortization) หรือช่วยจ่ายค่าเครื่องมือเหล่านั้น ซึ่งผู้ผลิตต่างประเทศขายมาในราคาแพงมาก ไม่ว่าของ GE หรือ Siemens คิดเป็นเงินเครื่องละหลายล้านบาท บางเครื่องหลายสิบล้านก็มี

ทางที่ดีที่สุด พวกเราต้องรู้จักดูแลตัวเอง หาความรู้ทางด้านโภชนาการ หลีกเลี่ยงการกินดื่มอะไรที่เป็นภัยต่อร่างกาย โดยต้องรู้จักตัวเองให้ดี รู้จักวิธีการบำรุงรักษาตัวเองเบื้องตน แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเข้าโรงพยาบาล ก็จะต้องรู้จักต่อรอง ไม่ปล่อยให้การตัดสินใจทุกอย่างอยู่ในมือหมอฝ่ายเดียว

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
25 ก.ค. 2557
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือน ส.ค. 2557
ภาพประกอบ: เบลล่า ราณี และ เจมส์ จิ (จาก www.sabysabynew.blogspot.com)