วันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2553

แบงก์ชาติของราษฎร

(ชุดข้อเขียนแนะนำ Blog ทางการเงินโลก ลำดับที่ 1)

อ่านเรื่อง “ดร.ประสาร ไตรรัตนวรกุล ผู้ว่าฯ ธปธ.ยุคเหลื่อมล้ำ” ของคุณสุพิน ธนวัฒน์เสรีแล้ว(http://www.mbamagazine.net/home/index.php/component/content/article/51/207) Blogger ชอบมาก เพราะเธอเปิดประเด็นไว้น่าคิด ว่าบทบาทของแบงก์ชาตินับแต่นี้น่าจะขยายไปสู่ประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรม และจับต้องได้

แบงก์ชาติจะขยายบทบาทจากที่เคยเป็น “ธนาคารของธนาคาร” หรือธนาคารของนายธนาคารด้วยกัน ไปสู่การเป็น “ธนาคารของราษฎร” ได้หรือไม่เพียงใด และในดีกรีเท่าใดจึงจะเหมาะสม

Blogger จึงนำเรื่องนี้มาขบคิดต่อ และลงมือ “คลิก” หาข้อมูลจากธนาคารกลางสำคัญๆ ของโลก ที่เป็นแม่แบบให้กับแบงก์ชาติไทย เช่น Bank of England, European Central Bank, และ Federal Reserve โดยโฟกัสเจาะลึกลงไปที่อันหลัง เพราะดูเหมือนจะ “หนัก” กว่าใครเพื่อน เพราะต้อง “แบก” ทั้งวิกฤติซับไพร์ม และ Recession มาตั้งแต่กลางปี 2007


Blogger เชื่อว่า “วิกฤติ” มักนำมาซึ่ง “ความคิดสร้างสรรค์” เสมอ

ระบบการเงินของสหรัฐฯ องค์กรและสถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในระบบการเงิน ตลอดจนกฎบัตรกฎหมายหรือข้อบังคับสำคัญๆ ในเชิงการเงินที่ใช้บังคับกันอยู่ในปัจจุบัน ล้วนเป็นผลผลิตของ The Great Depression เมื่อสมัยรัชกาลที่ 7


เมื่อคลิกดูเว็บไซต์ธนาคารกลางสหรัฐฯ (www.federalreserve.gov) เห็นได้เลยว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา FED ก็แหกกฎเกณฑ์เดิมหลายเรื่อง สร้างเครื่องมือใหม่ๆ ในเชิงนโยบาย ที่ถือว่ามีลักษณะเป็น Innovation ทั้งนี้ก็เพื่อจะเอาวิกฤติให้ “อยู่” นั่นเอง

แต่เผอิญนโยบายหรือเครื่องมือใหม่ๆ เหล่านั้น มัน “โดนใจ” Blogger เพราะเห็นได้ชัดว่ามันเป็นการขยายบทบาทให้ FED สามารถปล่อยสินเชื่อหรือให้ความช่วยเหลือทางการเงินโดยตรงกับภาคเอกชนที่มิใช่ธนาคารหรือสถาบันการเงิน ดังที่ยึดถือเป็นประเพณีมาแต่เดิม

เท่ากับ FED ได้กรุยทางไว้ให้ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ทั่วโลกเห็นกันแล้วว่า หากจะยื่นมือไปหาราษฎร ควรต้องทำยังไง


ถ้าคลิกเข้าไปในหัวข้อ Policy Tools (ภายใต้หัวข้อใหญ่ Monetary Policy) จะเห็นเลยว่าโปรแกรมอย่าง Term-Asset Backed Securities Loan Facility นั้นเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัททั่วไปกู้เงินในโครงการนี้ได้โดยตรง เพียงแต่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งในกรณีนี้คือ Asset-Backed Securities (น่าจะเป็นหลักทรัพย์ของโครงการซับไพร์มทั้งหลายแหล่ที่กำลังมีปัญหาอยู่นั่นแหละ)


อันนี้นับเป็นนโบายที่ช่วยภาคเอกชนมากๆ ทว่าก็ (ดูเหมือน) เสี่ยงมากๆ ด้วย เพราะเป็นการผ่องถ่ายหนี้เสียจากภาคเอกชนเข้ามาสู่ภาครัฐ แต่ก็ถือเป็นการแก้ปัญหาโดยตรงคืออัดฉีดเงินไปที่เอกชนผู้ถือหลักทรัพย์ฯ (ซัพไพร์ม) และขาดทุนเป็นรายๆ ไป โดยไม่ต้องผ่านสถาบันการเงินให้เสียเวลา (FED ลดความเสี่ยงด้วยการตีราคาหลักทรัพย์เหล่านั้นเสียใหม่ โดยใช้ดัชนี Hair Cut เป็นตัวปรับราคา, ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.newyorkfed.org//markets/talf_faq.html#10)

นี่เป็นนโยบายที่ก้าวหน้ามากในความเห็นของ Blogger (FED เคยปล่อยกู้ตรงมาแล้วในอดีต เมื่อสมัยรัชกาลที่ 7 แต่เลิกไปแล้ว)

หรืออย่างโครงการที่หมดเขตไปแล้วเช่น Primary Dearler Credit Facility (PDCF) ที่ปล่อยกู้ตรงให้กับโบรกเกอร์หรือดีลเลอร์ค้าหุ้นและพันธบัตร หรือ Term Securities Lending Facility (TSLF) ที่ดูเหมือนกับจะอนุญาตให้เอาตราสารที่มีปัญหามาแลกเป็นตั๋วเงินคลัง (Treasury Bill) เพื่อนำไปสร้างสภาพคล่องให้กับกิจการ

หรืออย่างโครงการ Term Auction Facility ที่ร่วมกับ Bank of Canada, European Central Bank, Bank of England, และ Swiss National Bank ด้วยวิธีเชิญชวนให้กิจการภาคเอกชนที่ต้องการวงเงินกู้ เข้าประมูลเงินกู้ในแต่ละล็อต โดยสามารถใช้หลักทรัพย์ (แม้กระทั่งซับไพร์ม) เข้าค้ำประกันได้

เหล่านี้ แม้จะเป็นความพยายามในการแก้วิกฤติเฉพาะหน้าของธนาคารกลางสหรัฐฯ แต่กลับมาตรงใจ Blogger ในเชิงที่มันก็เป็นความพยายามอันสร้างสรรค์ที่จะขยายพันธกิจของธนาคารกลางไปสู่ราษฎรโดยตรงด้วย อีกโสตหนึ่ง

เป็นไปได้ไหม ที่แบงก์ชาติของเราจะนำแนวคิดทำนองนี้ มาประยุกต์ใช้กับสินเชื่อเพื่อคนเล็กคนน้อย หรือสินเชื่อเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมเรากันบ้าง

ภายใต้สถานการณ์ที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยขณะนี้ Blogger เชื่อว่าความคิดแบบนี้ย่อมจะได้รับความสนับสนุนจากทุกฝ่าย

ใครขัดขวางก็บ้าแล้ว

หมายเหตุ: บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนสิงหาคม ๒๕๕๓ ด้วยนามปากกา Blogger

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น