วันจันทร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ของขวัญปีใหม่: เมื่อ "เงินทอง ไม่ใช่ มายา" และ "ข้าวปลา ก็ เป็นของจริง"



ปีนี้มีเรื่อง Surprise หลายเรื่อง

ตั้งแต่การรัฐประหาร มาจนถึงการตกลงอย่างฮวบฮาบของราคาน้ำมัน และการปลดเจ้าหญิงสูงศักดิ์และดำเนินคดีกับวงศาณาญาติที่เป็นถึงนายตำรวจใหญ่ ซึ่งเก็บสินบนฝังดินไว้จำนวนมากมายมหาศาลอย่างน่าตกตะลึงพรึงเพริด

สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงโลกสันนิวาสที่ไม่เที่ยง ทั้งอำนาจ ทรัพย์สินเงินทอง ยศถาบรรดาศักดิ์ ต่างถูกพรากไปจากเราได้ทุกเมื่อ เป็นเครื่องเตือนใจให้ใช้ชีวิตโดยความไม่ประมาท

การผันผวนของราคาสินทรัพย์ก็แสดงถึงความไม่เที่ยงด้วย ในช่วงต้นปี ไม่มีใครคาดคิดว่าราคาน้ำมันจะดิ่งเหวอย่างรวดเร็วปานนี้ โดยผลกระทบทันทีทันใดของมันก็ได้ทำให้ราษฎรรัสเซียต้องเผชิญกับความยากลำบากอยู่ในขณะนี้ เช่นเดียวกับการตกต่ำของราคาพืชผลในตลาดโลกที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรไทย ทั้งยางพารา อ้อย มัน และข้าว

ยังไม่นับราคาทองคำและค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นตัวตัดสินความเป็นไปของภาวะเศรษฐกิจของโลกในปีหน้า

บทความนี้ จะเป็นบทความสุดท้ายของผมในปีนี้ และตั้งใจมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับแฟนๆ นิตยสาร MBA ทุกท่าน โดยจะนำท่านไปสู่ปุจฉาวิสัชนาในเรื่องที่คนส่วนมากสมัยนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด นั่นคือเรื่อง "เงิน"

มีคำกล่าวอันหนึ่งที่เรามักได้ยินได้ฟังเสมอๆ เมื่อต้องคิดหรือถกเถียงกันเรื่องเงิน

"เงินทองเป็นมายา ข้าวปลาเป็นของจริง"

คำกล่าวคลาสสิกอันนี้ ฟังดูเหมือนจะเป็นสิ่งจริงแท้

ยิ่งผู้กล่าวคือ หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ซึ่งเคยเป็นถึงอธิบดีกรมกษาปณ์ มีหน้าที่ผลิตเงินตราทั้งระบบในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และยังกล้าลาออกจากราชการมาทำกสิกรรม เลี้ยงสัตว์ เพาะปลูก ดำนา ขับรถไถ และใช้ชีวิตแบบเกษตรกรด้วยแล้ว การที่ท่านฟันธงลงไปถึงเพียงนี้ ย่อมทำให้คนทั่วไป เชื่อถือคล้อยตาม และมักยกเอาคำกล่าวนั้นมาอ้างซ้ำเสมอๆ เมื่อต้องการให้ฉุกคิดถึงเนื้อแท้ของนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของไทยที่ผ่านมา

คนสำคัญอีกคนหนึ่งที่ได้ยกคำกล่าวนี้มาอ้างเสมอคือ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นดั่ง "ซาร์เศรษฐกิจ" ที่มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานเศรษฐกิจไทยในยุคที่เริ่มเข้าพัวพันเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมสมัยใหม่

แต่เมื่อลองพิจารณาดูให้ถ้วนถี่ ผมคิดว่าประโยคหลังที่ว่า "ข้าวปลาเป็นของจริง" นั้น คงเถียงได้ยาก

ทว่า ไอ้ที่ว่า "เงินทองเป็นมายา" นั้น ผมว่าถูกแค่ครึ่งเดียว

เพราะเงินทองนั้น แม้มันจะ "สมมติ" ขึ้นมาก็จริงอยู่ แต่ในขณะเดียวกันมันก็มีส่วนจริงด้วย

จริงทั้งในแง่ของอำนาจซื้อ (เพื่อครอบครองทรัพยากร) จริงทั้งในแง่ของการเป็นสัญญลักษณ์และตัวความมั่งคั่งเอง ที่สำคัญคือมันจริงในแง่ที่เป็นตัวแทนของ "ทุน" หรือ Capital” ซึ่งจำเป็นมากสำหรับการผลิตและสร้างสรรค์ของสังคมมนุษย์

อย่าลืมว่า อารยธรรมของมนุษย์จะเดินหน้าต่อไปได้ สังคมมนุษย์จำเป็นต้องสั่งสม "ทุน"

แหล่งอารยธรรมในอดีตล้วนเกิดขึ้นในดินแดนที่มนุษย์บางเผ่าพันธุ์สามารถสั่งสมทุนได้มากพอ แล้วทำการลงทุนและผลิตจนเกิดความมั่งคั่ง ส่งผลให้มนุษย์มีเวลาว่างที่จะคิดค้น ทดลอง ผจญภัย และรับความเสี่ยงกับโครงการที่ใหญ่ขึ้นๆ

ผมจะยกตัวอย่างให้ท่านได้เข้าใจง่ายๆ

แบบว่า ถ้าทุกคนดำเนินชีวิตแบบพอเพียง ผลิตของใช้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตได้เอง ปลูกข้าวเลี้ยงสัตว์แบบพอกิน และที่เหลือเล็กๆ น้อยๆ แลกเป็นเสื้อผ้าและสมุนไพรรักษาโรคบ้าง ฯลฯ ระบบเศรษฐกิจแบบนั้นก็ไม่จำเป็นต้องมีเงินทอง

แต่ถ้าท่านลองคิดต่อไปอีกสักนิดว่า ภายใต้ระบบเศรษฐกิจพอเพียงแบบเดิมนั่นแหละ เกิดปีใดปีหนึ่ง น้ำดี ฝนดี ดินดีขึ้นมา แถมครอบครัวของท่านเกิดมีสมาชิกมาช่วยดำนาเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว เลยปีนั้นปลูกข้าวได้มากเป็นพิเศษ สมมติว่าได้ 1,000 ถัง แต่บริโภคจริงแค่วันละถัง ยังเหลืออยู่อีกตั้ง 1,000-365 = 635 ถัง

ไอ้จำนวน 635 ถังนั้นแหละ ที่เป็น "ทุน" ของครอบครัวท่าน

เพราะมันเป็นน้ำพักน้ำแรงของพวกท่าน เป็นผลลัพท์ของการลงแรงกาย แรงใจ และสติปัญญา เป็นทั้งผลผลิตจากความสุข ความทุกข์ ความเหนื่อย ความสนุก ความตั้งใจ ความพยายาม ความหวัง และการวางแผน คิดคำนวณ ตลอดจน มัดกล้าม เส้นเอ็น และหยาดเหงื่อ...

ดังที่ จิตร ภูมิศักดิ์ เคยแต่เป็นกลอนไว้อย่างเห็นจริงเห็นจังว่า

“...จากแรงมาเป็นรวง ระยะทางนั้นเหยียดยาว
จากรวงเป็นเม็ดพราว ล้วนทุกข์ยากลำบากเข็ญ
เหงื่อหยดสักกี่หยาด ทุกหยดหยาดล้วนยากเย็น
ปูดโปนกี่เส้นเอ็น จึงแปรรวงมาเป็นกิน
น้ำเหงื่อที่เรื่อแดง และน้ำแรงอันหลั่งริน
สายเลือดกูทั้งสิ้น ที่สูซดกำซาบฟัน"



ทีนี้ก็มาคิดต่อยอดไปอีก เพราะว่าท่านมิใช่สัตว์ ที่แม้พวกมันยังรู้จักเก็บสะสมอาหารไว้กินในหน้าหนาว ทว่าท่านเป็นมนุษย์ผู้ประเสริฐ มีความคิดอ่าน สติปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ และสามารถสร้างนฤมิตรกรรมด้วยพลังแห่งปัญญาได้

ท่านจึงต้องคิดหาทางนำ "ทุน" ดังกล่าวนั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์ (ทั้งต่อส่วนตัวและส่วนรวม) เช่นเอาไปแลกเป็นวัวควายสักหลายตัวเพื่อนำมาช่วยไถนา หรือเอาไปแลกเป็นเครื่องดนตรีมาเล่นกันในครอบครัว หรือเอาไปแลกเป็นเครื่องไม้เครื่องมือในการปั้น ในการแกะสลัก ในการหล่อโลหะ หรือกระดาษและหมึกเพื่อมาขีดเขียนวาดรูป หรือใช้ไปเพื่อให้การศึกษากับตัวเองและลูกหลาน

อารยธรรมย่อมเดินหน้าต่อไปได้ และถ้าทุกครอบครัวมีทุนเหลือ และรู้จักนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ ให้มันงอกงาม มันย่อมเกิดการสะสมทุนหรือ Capital Formation ที่กลายเป็นความมั่งคั่งของสังคมในระดับยิ่งๆ ขึ้นไป

เห็นไหมครับว่า ไอ้ข้าวส่วนเกินที่เหลือ 635 ถังซึ่งครอบครัวของคุณยังไม่จำเป็นต้องบริโภคในปีนี้ มันได้กลายไปเป็น "เงินตรา" หรือ Currency ที่ใช้แลกเปลี่ยนไปในตัว

นอกจากว่ามันเป็น "ทุน" ซึ่งถือเป็นทรัพยากรพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เกิด "การเติบโต" และ "การสั่งสมเพิ่มพูน" ยิ่งๆ ขึ้นไปอีกในอนาคต

ดังนั้น "เงิน" มันจึงมีอีกด้านหนึ่ง คือมันเป็นตัวเลข เป็นสิ่งที่นับได้ วัดได้ คำนวณได้ หักออกเพิ่มขึ้นได้ เป็นด้านที่มีลักษณะดิจิตัล ซึ่งในเวลาต่อมา เงินที่เป็นตัวเลขนี้แหละที่ทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งสำคัญอย่างมากในปัจจุบัน

เพราะเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวและซับซ้อนขึ้น การสมมติเอาสิ่งของอะไรสักอย่างหนึ่งขึ้นมาเป็น "เงิน" ย่อมมีความจำเป็น เพื่อความคล่องตัวของการแลกเปลี่ยน และการนับหรือวัดว่าทรัพยากรหรือผลผลิตแต่ละอย่างมีค่าเท่าใด และจะเปรียบเทียบว่าใครครอบครองอะไรก็ง่ายขึ้น

เปลือกหอย เบี้ย แร่เงิน ทองคำ กระดาษ หรือแม้กระทั่งตัวเลขในบัญชีธนาคาร

เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์เคยสมมติขึ้นมาแทน "เงิน" และ "ทุน" (และในบางแง่มุมของ "ความมั่งคั่ง”) แล้วทั้งสิ้น

เห็นไหมครับว่าเงินทองนั้นมันเป็นทั้งของสมมติ และในขณะเดียวกันก็เป็นของจริงด้วย

ตราบใดที่ด้านสมมติของมันยังไม่เป็นด้านเด่นหรือด้านหลัก เงินทองย่อมช่วยยังประโยชน์ให้กับการแลกเปลี่ยนผลผลิต และการสะสมทุนเพื่อลงทุนในการผลิตหรือในกระบวนการแปลงทรัพยากรธรรมชาติให้มารับใช้มนุษย์และการสร้างสรรค์นฤมิตรกรรม ส่งผลให้คุณภาพของชีวิตมนุษย์ดีขึ้น มีทางเลือกในการบริโภค เกิดความอุดมในชีวิต และอารยธรรมของมนุษย์ก้าวหน้าต่อไปได้ไม่สิ้นสุด ตราบที่ทรัพยากรธรรมชาติยังมีเพียงพอ

ระบบเศรษฐกิจมันก็ทำงานของมันไปเรื่อยๆ

ดังนั้น แม้ว่าเงินทองจะเป็นมายา มันก็ไม่ได้สร้างความย้อนแย้งอันใดให้ปวดหัว

ปัญหามาเกิดเมื่อด้านมายาหรือด้านสมมติของมันถูกขับเน้นจนกลายเป็นด้านหลัก เงินทองถูกสร้างขึ้นอย่างมากมายมหาศาล โดยเป็นแต่เพียงตัวเลข มากเกินจำเป็นต่อการผลิตเพื่อหล่อเลี้ยงมนุษยชาติ มีส่วนทำให้มนุษย์หลงมัวเมาติดยึดกับด้านสมมติของมันจนเข้าใจว่าตัวเลขเหล่านี้เป็นของจริง

จะเข้าใจเรื่องแบบนี้ จำต้องเล่าย้อนไปเมื่อสี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา

สังคมอเมริกันสมัยนั้น นอกบ้านกำลังหมกมุ่นอยู่กับสงครามเวียดนาม และในบ้านก็หมกมุ่นกับโครงการประชานิยมต่างๆ ที่เรียกว่า Great Society”

สองปัจจัยนี้ทำให้รัฐบาลต้องใช้จ่ายเกินตัว เกิดปัญหาขาดดุลงบประมาณ ส่งผลให้คนหมดความเชื่อมั่นในเงินดอลล่าร์และพากันนำเงินมาแลกเป็นทองคำตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ทุกรัฐบาลเคยตกลงกันไว้ ณ เมือง Bretton Woods เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองเสร็จสิ้นใหม่ๆ

ทองคำในท้องพระคลังสหรัฐฯ จึงร่อยหรอลงอย่างน่าตกใจ

ประธานาธิบดี ลินดอน จอนห์สัน จึงประกาศไม่ให้ธนาคารกลางรับแลกเป็นทองคำ และต่อมาอีกไม่กี่ปี ประธานาธิบดีนิกสันก็ประกาศออกจากมาตรฐานทองคำ

ธนาคารชาติสหรัฐฯ สามารถพิมพ์เงินดอลล่าร์ขึ้นมาให้รัฐบาลกู้ไปใช้ได้โดยไม่ต้องมีทุนสำรองเป็นทองคำหนุนหลัง เท่ากับระบบ Bretton Woods ล่มสลายลง ณ บัดนั้น

นั่นเป็นการ "เสก" เงินกระดาษขึ้นมาเองได้ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Out of Thin Air หรือคว้ามาจากอากาศแบบพวกมายากลชอบทำกัน

นับแต่นั้น เงินได้กลายเป็นเรื่องสมมติเกือบ 100% โดยธนาคารกลางและระบบธนาคารพาณิชย์สามารถ "สร้างเงิน" ขึ้นมาได้โดยไม่ผิดกฎหมาย อีกทั้งบรรดาวาณิชธนากรที่ช่วยสร้างเงินผ่านการคิดค้นตราสารการเงินออกมาขายในตลาดหุ้นแบบมโหฬาร

เงินจึงเป็นแต่เพียงตัวเลข

คำเรียกขานเศรษฐีในภาษาอังกฤษ เปลี่ยนจาก Millionaire เป็น Billionaire และเป็น Multi-Billionaire คือเติบศูนย์ต่อท้ายเข้าไปเรื่อยๆ

นับแต่นั้น เงินจึงมิได้สะท้อนถึง "ทุน" ที่เกิดจากแรงกายและแรงสมองของมนุษย์ เพราะเงินที่เสกขึ้นมาใหม่นี้ ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็น "หนี้สิน"

ระบบทุนนิยมสมัยใหม่ช่วยสร้าง "หนี้สิน" ที่เป็นเงินดิจิตัล (คือเป็นแต่เพียงกระดาษและตัวเลขในบัญชี) มากขึ้นๆ อย่างก้าวกระโดดและในจำนวนมโหฬาร เกินกว่าทรัพยากรและผลผลิตพื้นฐานที่สังคมมนุษย์ผลิตได้

นโยบายสร้างหนี้ของรัฐบาลในโลกทุนนิยมคือการให้ธนาคารกลางหรือธนาคารชาติพิมพ์เงินขึ้นมาแล้วนำไปให้ตัวเองกู้ เป็นลักษณะ "อัฐยายซื้อขนมยาย" แล้วรัฐบาลค่อยอัดฉีดเงินจำนวนนั้นเข้ามาในระบบเศรษฐกิจอีกทอดหนึ่ง เช่น นโยบาย QE หรือ Quantitative Easing ของรัฐบาลสหรัฐฯ รัฐบาลของสหภาพยุโรป และรัฐบาลญี่ปุ่น เป็นต้น

ผมไม่มีตัวเลขในมือ แต่เข้าใจว่าถ้าเราไปเอากราฟของช่องว่างระหว่าง Financial Assets กับ Real Assets โดยรวมของโลกมาดู จะเห็นว่ามันถ่างขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งในช่วงที่หุ้นขึ้นและเกิดฟองสบู่แบบปัจจุบัน ช่องว่างจะยิ่งถ่าง

เห็นหรือยังครับ ว่า "เงินทอง" (ที่แทนด้วยกระดาษและตัวเลขในบัญชีธนาคารหรือบัญชีหลักทรัพย์) มี "หนี้สิน" เป็นส่วนสำคัญไปเสียแล้ว และด้านสมมติของมันได้กลายเป็นสรณะขึ้นมาอย่างน่าเสียดาย

มนุษย์กลุ่มที่เข้าถึงระบบธนาคารหรือระบบกู้หนี้ยืมสินและตลาดทุนหรือการระดมทุนได้ง่ายจึงสามารถกอบโกยเงินทองได้ง่ายกว่ามนุษย์ที่เป็นแต่เพียงเจ้าของแรงกายและแรงสมอง

แต่การเพิ่มจำนวนกระดาษและตัวเลขในบัญชี มันก็ช่วยให้มนุษย์สบายใจและรู้สึกมั่งคั่ง อีกทั้งยังรู้สึกว่ากำลังซื้อเพื่อครอบครองทรัพยากรและความสะดวกสบายต่างๆ ของตัวเองดีขึ้น (เพราะด้านที่เป็นของจริงของเงินก็ยังคงอยู่ ไม่ได้หายไปไหน)

โลกทุนนิยมจึงพากันสร้างหนี้สินขึ้นมามากมาย

สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อเพื่อการบริโภค บัตรเครดิต สินเชื่อเพื่อการศึกษา เพื่อการท่องเที่ยว เพื่อซื้อหุ้น เพื่อเอสเอ็มอี เพื่อการลงทุน ทั้งผ่านธนาคารพาณิชย์ และผ่านตลาดทุน ที่มีทั้งตราสารหนี้ ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน ตราสารอนุพันธ์ สารพัดสารพัน จนนับไม่ถ้วน

โดยที่มนุษย์ส่วนใหญ่ได้หันมานิยมเงินตรา นิยมตัวเลขในบัญชี นิยมเงินกระดาษ และนิยมก่อหนี้เพื่อนำไปสร้างเงินสร้างตัวเลข แทนที่จะมุ่งเน้นการผลิต การสร้างสรรค์ การคิดค้นเพื่อหาทางแปลงทรัพยากรธรรมชาติให้มารับใชมนุษย์ หรือการสร้างความมั่งคั่งและความเจริญเติบโตของอารยธรรมด้วยสมองและสองมือ หันไปเก็งกำไรในราคาสินทรัพย์และกิจกรรมเงินต่อเงินกันแยะขึ้น

มนุษย์หันเข้าสู่ด้านสมมติของเงินยิ่งกว่าก่อน

ข้อสำคัญคือมนุษย์เราลืมหรือแกล้งลืมไปว่าเงินตราที่ถูกสร้างด้วยหนี้นั้นมันมักมีข้อแม้เสมอ เพราะ "หนี้สิน" มันเป็นสัญญาชนิดหนึ่งที่เมื่อเวลาผ่านไปมันต้องมีการอ้างสิทธิเพื่อครอบครองทรัพยากรอะไรบางอย่าง

ดังนั้น "ฟองสบู่ของราคาสินทรัพย์" ที่สร้างขึ้นมาได้โดยหนี้สินหรือกระดาษที่เสกขึ้นมาจากโรงพิมพ์ธนบัตรเฉยๆ (เช่นโครงการ QE ของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยูโร) มันย่อมมีแนวโน้มกลับสู่ความเป็นจริงเสมอ เฉกเช่นแรงโน้มถ่วงของโลก

ไม่มีต้นไม้ใดที่จะโตขึ้นๆ จนถึงก้อนเมฆ

ปัญหาใหญ่ของมนุษยชาติในปัจจุบันอันหนึ่งคือวัฏจักรขึ้นลงของราคาสินทรัพย์ดังกล่าว ก่อให้เกิดความไม่มั่นคงต่อระบบทุนนิยมโลก และในระยะหลังวัฏจักรเศรษฐกิจ (คือเกิดฟองสบู่แล้วฟองสบู่แตกแล้วก็กลับมาเกิดฟองสบู่อีกแล้วก็แตกอีก...) หดสั้นลงเรื่อยๆ และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะจำนวนหนี้สินที่เสกขึ้นมานั้นมันเพิ่มมากขึ้นๆ นั่นเอง

ที่เป็นเช่นนี้เพราะเมื่อราคาสินทรัพย์ลดลงแบบฮวบฮาบและทันที (ตอนฟองสบู่แตก) ผู้คนก็ไม่สามารถชำระหนี้สินที่เสกขึ้นมาก่อนหน้านั้นได้ ทำให้สถาบันการเงินล้ม ธุรกิจล้ม คนตกงาน และผู้คนรู้สึกว่าตัวเองจนลง (เพราะมูลค่าทรัพย์สินที่ตัวเองถือครองอยู่มันลดลง)

เดือดร้อนถึงนักเศรษฐศาสตร์และผู้กุมนโยบายเศรษฐกิจกลุ่มหนึ่งที่เชื่อว่าจะสามารถเอาชนะวัฏจักรขาลงแบบนี้ได้โดยการ "เสก" เงินเพิ่มเข้าไปอีกในระบบเศรษฐกิจ

แนวคิดแบบนี้เป็นของ J.M. Keynes และสาวก ที่เชื่อว่าเศรษฐกิจตกต่ำเพราะดีมานด์มวลรวมมีไม่เพียงพอ จึงต้องสร้างดีมานด์ด้วยวิธีเสกโครงการประชานิยมต่างๆ ขึ้นมาเป็นช่องทางในการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบโดยรัฐบาล

โครงการอัดฉีดเงินที่เรียกว่า QE ก็มีที่มาจากแนวคิดแบบนี้เอง

มันเป็นการเสกเงินขึ้นมาเพื่อให้เกิดกิจกรรม "เงินต่อเงิน" โดยหวังว่าปัญหาฟองสบู่แตกจะคลี่คลายไปเองและจะไม่ฉุดเศรษฐกิจให้เข้าสู่ภาวะตกต่ำ

พูดแบบนักเศรษฐศาสตร์คือคนคิดนโยบายแบบนี้เพื่อต้องการฝืน "วัฏจักรเศรษฐกิจ" นั่นเอง

ทั้งโดยการเพิ่มปริมาณเงิน การกดดันอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าความเป็นจริง และการพยุงราคาสินทรัพย์ทั้งระบบ

แต่คนลืมนึกไปว่า เงินที่เสกขึ้นมานั้น มันมีลักษณะเป็น "หนี้สิน" เสียเป็นส่วนใหญ่ มันจึงเท่ากับว่า เราพร้อมใจกันประวิงปัญหาไปในอนาคต

อย่าลืมว่า ทุกครั้งที่เกิดฟองสบู่แตก หนี้สินที่รัฐบาลต่างๆ ต้องเสกขึ้นมาเพื่อพยุงเศรษฐกิจไว้ ต้องเป็นหนี้ก้อนใหญ่ขึ้นเรื่อยๆๆๆๆ

ดังนั้น มันจะต้องกลับสู่ความเป็นจริงสักวันหนึ่ง แต่ไม่รู้ว่าเมื่อใด

อาจจะเป็นวันที่เกิดสงครามใหญ่ วันที่เกิดโรคระบาดร้ายแรง วันที่ฟ้าถล่มดินทลาย หรือวันที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งน่าจะอีกไม่นาน

ผมหวังว่า แนวการวิเคราะห์ข้างต้นจะช่วยให้ท่านเข้าใจปัญหาของเศรษฐกิจโลกที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน และคงช่วยให้ท่านวางท่าทีต่อทรัพย์สินเงินทองที่มีอยู่ได้ถูกต้องยิ่งขึ้น อีกทั้งยังจะสามารถประเมินโอกาสและความเสี่ยงในเชิงการลงทุนได้แม่นยำขึ้นนับแต่นี้

พบกันใหม่ปีหน้า ซึ่งจะเป็นปีที่น้ำมันถูก เงินของเราจะเหลือเมื่อเติมน้ำมันเต็มถัง และเงินที่เหลือจะถูกนำไปชำระหนี้หรือซื้อข้าวของเครื่องใช้ ตั๋วเครื่องบินก็จะถูกลง แต่สินค้านำเข้าจะแพงขึ้นเพราะเงินดอลล่าร์แข็ง และที่สำคัญดอกเบี้ยก็จะขึ้นด้วยอย่างแน่นอน

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
28 ธันวาคม 2557

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น