วันพฤหัสบดีที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ความคิดสร้างสรรค์มาจากไหน




An Anatomy of Creativity

อย่างที่เขียนไว้แล้วในเรื่อง “ชีวิตอันแสนสร้างสรรค์และแสนห้าวของ Ernest Hemingway” ในเล่ม ว่าผมสนใจ “กระบวนคิด” ของนักคิด นักสร้างสรรค์ผลงานชั้นยอดทั้งหลายของโลก ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการหรือนักบริหารที่สร้างสรรค์ธุรกิจจนแผ่กิ่งก้านสาขาให้ผู้คนจำนวนมากได้อาศัยร่มเงา ไปจนถึงรัฐบุรุษ นักปราชญ์ราชบัณฑิต นักวิทยาศาสตร์ และบรรดาศิลปินผู้สร้างงานศิลปะ ให้ไว้เป็นมรดกสำหรับชนรุ่นหลัง

เวลาอ่านชีวประวัติหรือ Observe ชีวิตของคนพวกนี้โดยทางอื่น ผมมักตั้งคำถามเสมอว่า พวกเขา “คิดออก” ได้อย่างไร ทำไมความคิดของพวกเขาถึง “บิน” ไปได้ ผลงานของพวกเขาจึงแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับยุคสมัยหรือที่เคยมีมาก่อน นวัตกรรมหรือความคิดสร้างสรรค์เหล่านั้น มันมาได้อย่างไร พวกเขาเรียนรู้อะไรกัน เรียนรู้อย่างไร ฝึกทักษะกันแบบไหน นิสัยหรือสิ่งแวดล้อมแบบใดบ้างที่พึงปรารถนาต่อการงอกงามของความคิดสร้างสรรค์ในบุคคลนั้น เวลาพวกเขามีทุกข์ พวกเขาจัดการตัวเองให้ออกจากสภาวะทุกข์นั้นๆ หรือให้พ้นทุกข์ไปได้อย่างไร การดำเนินชีวิตของพวกเขาเป็นอย่างไร มีนิสัยที่น่ายกย่องและน่ารังเกียจบ้างไหม พวกเขาปฏิบัติต่อคนรอบข้าง เช่นเพื่อนฝูงหรือครอบครัว อย่างไร.........เป็นต้น



หลายเดือนมานี้ ตั้งแต่รู้ว่าต้องกลับมาเขียนหนังสืออีก ผมก็ลงมืออ่านอัตชีวประวัติ ชีวประวัติ และข้อเขียนของคนที่ผมคิดว่าเป็นนักสร้างสรรค์จำนวนมาก (บางเรื่องก็เคยอ่านมานานแล้ว) ยกตัวอย่างเช่น Hemingway, Newton, Marx, Adam Smith, Tolstoy, Ibsen, Shakespeare, T.S. Elliot, Bach, Mozart, Beethoven, Mahler, Drucker, Maslow, Porter, Picasso, Bertrand Russell, Wittgenstein, Fernand Braudel, Russo, Napolean, Montaigne, Sarte, Alexander, Wellington, Nelson, Washington, Jefferson, Lincoln, Bismark, Churchill, de Gaulle, Elizabeth I, Walter Ralegh, Walter Bageghot, Pulitzer, Walt Disney, Miles Davis, Alfred Lion, Marilyn Monroe, Musashi, Mitsui…….ไปจนถึงพุทธประวัติ ไบเบิล และพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งที่ทรงสั่งราชการและทรงมีไปถึงบรรดาเจ้านาย เสนาบดี และใครก็ตามแต่ เท่าที่จะมีในคลังหนังสือสะสมและที่เสาะแสวงหามาได้

ก่อนลงมือเขียนบทนำนี้ ผมก็กลับไปพลิกดูสมุดบันทึกที่ตัวเองจดความเห็น ข้อวิจารณ์ ตลอดจน Epigram ต่างๆ หลังจากได้อ่านงานพวกนั้นลงไว้ เพื่อที่จะประมวลความคิดรวบยอด แล้วเสนอเป็น Observation ของตัวเอง ทว่า จนแล้วจนรอด ผมก็ยังคิดไม่ออก และไม่สามารถจรดนิ้วลงบนแป้นคอมพิวเตอร์ได้เสียที ล่าช้าเสียจนล่อแหลมว่าหนังสือฉบับนี้อาจ “ตกเดือน” ได้

กระทั่งเช้ามืดวันหนึ่ง ผมเห็นแม่บ้านกำลังทำงาน ปัด กวาด เช็ด ถู และเก็บของเล่นจำนวนมากที่ลูกทั้งสามของผมทิ้งไว้อย่างรกรุงรังตั้งแต่เมื่อคืน พร้อมกับเตรียมอาหารเช้าให้เด็กไปด้วย แม่บ้านคนนี้อยู่กับครอบครัวผมมานาน เป็นคนทำงานดีมาก และเนื่องจากเธอเป็นคนต่างชาติ ผมจึงถามเธอว่า อุตส่าห์จากบ้านมาไกล เพื่อมาทำงานแบบนี้ ไม่เบื่อบ้างหรือ ไม่คิดอยากกลับบ้านเลยหรือไง เธอว่าเธอ Happy และชอบงานนี้ แบบว่ามันท้าทาย ที่ต้องตื่นมาเจอสภาพรกรุงรังทุกเช้า หน้าที่เธอคือต้องทำให้มันเรียบร้อย สะอาด และดูงาม ก่อนที่ทุกคนจะตื่น เธอว่าเธอหาวิธีใหม่ๆ อยู่เสมอ เธอจัด Schedule และ Priority เพื่อจะได้มีเวลาว่างไปดูทีวีที่เธอชอบ โดยที่ภรรยาผมจะไม่เขม่นเอาได้

ผมฟังแล้วเลยคิดได้ว่า อันที่จริง “ความคิดสร้างสรรค์” มันมีอยู่แล้วในตัวพวกเราทุกคน พูดแบบฝรั่งก็ว่า เพราะมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของ God ซึ่งเป็นที่สุดของความดี ความงาม ความจริง ความยุติธรรม ความรัก ความสมบูรณ์แบบ และเป็น “นักสร้าง” “ผู้สร้าง” หรือ “ต้นแบบ” ของสรรพสิ่งทั้งปวง ดังนั้นในฐานะที่มนุษย์ก็เป็นประดิฐกรรมหนึ่งของพระผู้เป็นเจ้า พระองค์จึงประทาน “พรสวรรค์” (ส่วนหนึ่งของ God) ให้เราติดตัวมาตั้งแต่เกิดด้วย

ทว่า “พร” ที่ให้มานั้น ก็ไม่ได้ให้มาเท่ากัน เพราะเมื่อหันไปมองชีวิตของคนอย่าง Leonardo da Vinci (แม้จะนิสัยเสีย ทำงานไม่เคยเสร็จ) Isaac Newton (ขี้อิจฉา และโมโหร้าย) หรือ Mozart (หยิ่ง ชอบยกตนข่มท่าน) ก็สามารถฟันธงลงไปได้เลยว่า คนพวกนี้ต้องมี “Gift” หรือได้รับ “พร” มาจาก God มากกว่าคนอื่นอย่างแน่นอน

แต่ Gift ก็ไม่ใช่เรื่องราวทั้งหมด เพราะมันยังต้องถูกฟูมฟัก และพัฒนาอย่างถูกทาง ต้องประกอบกับ ฉันทะ ความเพียร ความขยัน ตลอดจนความใส่ใจ ถึงขั้น “ลุ่มหลง” ในสิ่งที่ทำและสนใจ (ลุ่มหลงชนิดใจจดใจจ่อ คิดแต่เรื่องนั้นๆ ตลอดเวลา เช่น Adam Smith ชอบถือไม้เท้าเดินคิด และขี้ตกใจมาก จนแม่ค้าชอบหลอกให้ตกใจแล้วเผลอพูดผรุสวาทออกมาเป็นชุดอย่างไม่รู้ตัว เป็นที่ครื้นเครงเสมอ, Newton ใจลอยอย่างรุนแรง แม้ตอนจูงม้าแล้วม้าหลุดไปเหลือเพียงเชือก ก็ยังลากเชือกกลับบ้านโดยไม่รู้ว่าม้าหลุดไปแล้ว, Hemingway พกหนังสือตลอดเวลา เมื่อสะดวกก็เอาออกมาอ่าน แม้แต่ตอนเดิน บางทีก็อ่าน....อ่านไปด้วย เงยหน้าดูทางไปด้วย, Bach พกกระดาษเขียนโน้ตเพื่อแต่งและเกลาเพลงตลอดเวลา ตลอดชีวิตเขานิพนธ์ผลงานเพลงกว่า 1600 ชิ้น, นายพล Washington เก็บเอกสารทุกอย่างที่เกี่ยวกับตัวเอง ให้นายทหารดูแลอย่างดี และนำติดตัวไปทุกหนทุกแห่ง แม้ในสนามรบ, Churchill ก็เก็บเอกสารที่เกี่ยวกับตัวเองทุกชิ้น เข้าหมวดหมู่ไว้อย่างดีเยี่ยมตลอดช่วงสงคราม จนต่อมาเอามาประกอบการเขียนอัตชีวประวัติได้ถึง 6 เล่ม, Alexander และ Napolean บ้าอ่านแผนที่ ไปตีที่ไหนได้ต้องให้คนยึดแผนที่ชั้นดีมาสะสมเสมอ)



ร้อยทั้งร้อยของนักสร้างสรรค์ ล้วนเป็นพวกที่หาความรู้ด้วยตัวเอง แม้บางคนจะได้รับการศึกษามาในระบบหรือมีครูบาอาจารย์ชั้นเลิศ แต่ความรู้ ความชำนาญ ส่วนใหญ่ของพวกเขา ล้วนได้มาจากการแสวงหาด้วยตัวเอง ทั้งแบบ “ครูพักลักจำ” ทั้งแบบ “อ่านเขียนเอง” “ตรึกตรองเอง” และ “ทดลองเอง” พวกเขาล้วนเป็น Autodidact (ประธานาธิบดี Lincoln ไม่ได้เข้าโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเลย แต่เขียนและกล่าวสุนทรพจน์ได้งดงามมาก, Picasso ก็เรียนน้อย แต่เมื่อเจอเศษกระดาษ เป็นต้องหยิบมา Sketch สิ่งที่เห็นทันที ทั้งมือตัวเอง หรือหัวของคนที่นั่งอยู่ตรงข้าม วัดแสง วัดเงา ตลอดเวลา, Miles Davis กับ Thelonious Monk ลาออกจาก Juilliard กลางคันเพื่อตระเวนเล่นตาม Jazz Club ทั่วนิวยอร์กแล้วก็สามารถพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินวงการเพลง Jazz ได้, เช่นเดียวกับ Bill Gates ที่ทิ้ง Harvard ไปอย่างไร้เยื่อไย)

นอกนั้นพวกเขายังเป็นคนมุ่งมั่น ทำงานจริงจัง แม้บางคนจะมีภาพลักษณ์เหลวไหล ขี้เมา ไร้ระเบียบ สุรุ่ยสุร่าย และชอบไถเงินคน แต่เมื่อศึกษาชีวิตพวกเขาอย่างละเอียด จะเห็นว่าพวกเขาทำงานอย่างมีวินัยและมุ่งมั่น ไม่มักง่าย ไม่ขอไปที (ลองดูตัวอย่าง Van Gogh (เหลวไหล ขี้เมา) กับ Wagner (สุรุ่ยสุร่าย ชอบไถเงินคน), และผมว่าที่ Leonardo ทำงานไม่ค่อยเสร็จจนผู้ว่าจ้างพากันเอือมระอา ก็เพราะว่าเขาทำงานประณีตมาก งานน้อยชิ้นที่สำเร็จออกมาจึง “เป็นเลิศ”) พวกเขายังมีลักษณะที่สามารถทำอะไรซ้ำๆ แบบซ้ำแล้วซ้ำอีก (Repetition) ได้โดยไม่เบื่อ แม้จะดูเป็นงานที่ธรรมดาสามัญก็ตาม (อันนี้ว่ารวมถึงพวกนักข่าวแบบ Pulitzer หรือแบบคนจุดโคมในนิทาน “เจ้าชายน้อย” ของ Saint-Exupere)

ก่อนยุค Renaissance พวกฝรั่งมักสร้างสรรค์งานด้วย “ความศรัทธา” (Bach เป็นตัวอย่างที่ชัดที่สุด) และผลงานที่ทำถวายพระผู้เป็นเจ้านั้น ต้องสมบูรณ์ ต้องสุดยอด ต้องเป็นที่สุด แก้แล้วแก้อีก เกลาแล้วเกลาอีก ลองแล้วลองอีก จนไม่มีที่ติ และ Pious


นับเป็นการ “คั้น” เอาจากสมอง จิตใจ วิญญาณ และจากประสบการณ์เท่าที่มนุษย์จะพึงให้ออกไปได้

ทว่า สำหรับหมู่คนที่ปฏิเสธ God มักบอกว่า Gift เป็นปฏิกิริยาเคมีที่ฝังอยู่ใน Gene ของมนุษย์อยู่แล้ว ไม่ได้มีใคร “ประทาน” มาให้แต่อย่างใด แต่ก็ยังเชื่อว่า Gift มีจริงและเป็นผลจากบรรพบุรุษของคนๆ นั้น (เช่นคนบางกลุ่มเชื่อว่าพวกยิวมียีนอัจฉริยะ หรือพวกนาซีเชื่อว่าชนเผ่าอารยันเหนือกว่าเผ่าอื่น ต้องเกิดมาเป็นปกครองเท่านั้น หรือแม้แต่พวก Anglo-Saxon หรือพวก WASP ในอเมริกาปัจจุบัน เป็นต้น) หรือเป็นผลมาจากการกระทำของคนๆ นั้นเอง (เชื่อหลักกรรมเหมือนกับชาวพุทธ) พระพุทธเจ้าเอง ก็ยังเคยตรัสว่าความสามารถและศักยภาพของมนุษย์แต่ละคนไม่เท่ากัน (เรื่องบัวสี่เหล่า)

คนกลุ่มนี้ไม่เน้นเรื่องศรัทธา ดังนั้น ความคิดสร้างสรรค์ของคนกลุ่มนี้มักมีที่มาจาก “ความอยาก” “ความเบื่อ” “ความกลัว” และ “ความทุกข์” ทางใดทางหนึ่ง หรือหลายทางพร้อมๆ กัน

ว่ากันว่า พระพุทธเจ้า (ซึ่งผมถือว่าเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มี Creativity สูงมากๆ สามารถเสนอ Creative Solutions ที่ลึกซึ้งและครอบคลุมที่สุด แม้จะดู Simple ซึ่งมนุษย์จำนวนมากยังคงยึดถือเป็นประทีปนำทางชีวิตมาจนทุกวันนี้ โดยยากที่นักคิดรุ่นหลังที่ได้ลองคิดตามแล้ว จะล้มล้างหรือไปพ้นความคิดของพระองค์ได้) ตัดสินพระทัยทรงออกผนวช ก็เพราะความเบื่อ และความทุกข์ นั่นเอง

แม้พระพุทธองค์จะทรงเรียนรู้จากพราหมณ์ชั้นยอดในยุคนั้นมาก่อน (อย่าลืมว่าพระองค์เป็น Prince) แต่พระองค์ก็อาศัยกระบวนการ Self-taught อย่างหนักหน่วงถึง 6 ปี กว่าจะบรรลุโสดาบัน (หรือ “คิดออก”) ในรอบ 6 ปีนั้น เราไม่รู้ว่าพระองค์ต่อสู้ ผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะกับ ความกลัว ความทุกข์ ความเบื่อ ความโกรธ และความอยาก มาหนักหน่วงเพียงใด (ลองอ่าน “เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา” ของ ท่านพุทธทาส ดู ก็จะรู้ว่าการนั่งคนเดียวในป่า ท่ามกลางความมืด และเสียงแปลกๆ นั้น มันว้าเหว่ ปวดเมื่อย และน่าสะพรึงกลัวเพียงใด)

ในกรณีนี้ Creativity ย่อมได้มาจากการฝึกฝน เพียรพยายาม กัดติด ทดลอง ตรึกตรอง จดจำ และ Observe ความคิดและจิตใจตัวเองอย่างต่อเนื่องและหนักหน่วง หรือ บางที การระงับ อดกลั้น หรือ ปล่อยวาง ก็อาจมีส่วนในกระบวนการคิดสร้างสรรค์นั้นด้วย ไม่มากก็น้อย



ใครๆ ก็ทราบดีว่า Beethoven ตอนรู้แน่ว่าตัวเองต้องหูหนวกนั้น เขาทุกข์ทรมานเพียงใด และ Struggling อันนั้น ก็น่าจะเป็นที่มาของผลงานชั้นยอดของเขา ผมเองชอบฟัง Song-cycle ของ Mahler เพลง Das Lied von der Erde (Song of the Earth) โดยเฉพาะท่อน Der Abschied (The Farewell) นั้น บางครั้งถึงกับน้ำตาซึม เมื่อศึกษาจึงรู้ว่าเขาประพันธ์เพลงนี้ตอนเศร้าโศกและตระหนักดีว่าตัวเองอาจต้องตายในไม่ช้า บทร้องที่แปลมาจากบทกวีของ “หลี่ไป๋” นั้น ช่วยบรรยายถึงความงามของพื้นโลก จากสายตาสุดอาลัยของคนที่รู้ว่าตัวต้องจากไปในเร็ววัน จะไม่มีโอกาสได้กลับมายลความงามนี้อีกแล้ว ยิ่ง version ที่ Kathleen Ferrier ร้องกับ Vienna Philharmonic Orchestra ภายใต้การอำนวยเพลงของ Bruno Walter นั้น ยิ่ง “อิน” มาก เพราะตัวเธอเองตอนนั้น ก็เป็นมะเร็งขั้นสุดท้าย ว่ากันว่า เมื่อบรรเลงจบ แม้แต่ Conductor (ซึ่งเป็นศิษย์ใกล้ชิดคนหนึ่งของ Mahler และนำเพลงนี้มาบรรเลงเป็นคนแรก) และนักดนตรีบางคนถึงกับหลั่งน้ำตา

พวกเราที่เป็นคนเขียนหนังสือย่อมรู้ดี ผมเองเวลาจะเริ่มเขียนอะไร เมื่อเปิด Template ของ Microsoft Word ขึ้นมาเป็นหน้าว่างๆ เหมือนมีกระดาษเปล่าวางอยู่ตรงหน้า ก็เกิดความกลัวทุกทีไป กลัวว่าจะไม่สามารถเขียนได้ กลัวเขียนแล้วไม่ดี...กลัวสารพัด บางทีต้องปล่อยหรือวางทิ้งไว้เป็นวันๆ กว่าจะเริ่มจรดปลายนิ้วลงบนแป้นพิมพ์ได้

ผมว่าการระงับความกลัวอย่างเป็นระบบ หรือการหาทางออกจากความกลัวอันนั้นนั่นแหละ ที่เป็นที่มาของกระบวนการ Creativity ของตัวผมเอง นั่นอาจเป็นเหตุผลที่ผมมักรู้สึก “เบาๆ” “โหวงๆ” หรือ “ว่างเปล่า” เสมอ เมื่อเขียนหนังสือเสร็จ

หลายปีมาแล้ว ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ใหญ่คนหนึ่งซึ่งผมถือว่าเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์สูงมาก แม้นิสัยบางอย่างจะแปลกประหลาด แต่หลายเรื่องที่ท่านคิดมีลักษณะเป็น Innovation และ Originality โดยนายกรัฐมนตรีหลายคนในอดีตก็เคยใช้บริการความคิดท่านมา ท่านว่านโยบายปฏิรูปการศึกษาบ้านเราเพื่อให้เกิด Creativity ต้องอาศัย “ไม้เรียว” ฟังแล้วก็น่าคิดไม่น้อย




เป็นธรรมดาที่บรรดานักสร้างสรรค์จะเป็นคนมีนิสัยประหลาด และก็ไม่แน่ว่าจะต้องเป็นนิสัยที่ดีเสมอไป บางที “ความเกลียดแบบสุดๆ” ก็เป็นที่มาของความคิดสร้างสรรค์ได้เช่นกัน Marx เป็นคนเจ้าคิดเจ้าแค้น โมโหร้าย และชอบความรุนแรง เขาเกลียด “นายทุน” “เจ้า” และ “ระบบทุนนิยม” แบบเข้าไส้ โดยเฉพาะ “ระบบทุนนิยม” นั้น เขาเกลียดมาก ตลอดชีวิตเขา เขาจึง Observe ว่าประวัติศาสตร์ทั้งหมดของมนุษยชาตินั้นเป็นประวัติศาสตร์ของการกดขี่ และเขาก็ใช้ Intellectual Energy ของเขาทั้งหมดไปกับการวางแผนล้มล้างระบอบนี้

Frederick Engels เพื่อนสนิทที่สุดของ Marx ได้กล่าวสุนทรพจน์ ณ หลุมศพของ Marx ที่ Highgate Cemetary ไว้เมื่อวันฝังศพตอนหนึ่งว่า "For Marx was before all else a revolutionist.  His real mission in life was to contribute, in one way or another, to the overthrow of capitalist society and of the state institutions which it has brought into being,....."

Picasso ก็เป็นคนเห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจ ความเห็นแก่ตัวของเขายิ่งทำให้เขาเพิ่ม Focus กับความคิด ความเชื่อ การกระทำ และผลประโยชน์ของตัวเอง จนทำให้เขาผลิตงานที่แตกต่างและ “ทะลุกลางปล้อง” โดยไม่สนคำวิจารณ์ได้ในที่สุด คนเหล่านี้มักปฏิบัติต่อคนรอบข้างอย่างเลวร้ายมาก ทั้งที่เป็นเพื่อนและครอบครัว

นี่อาจจะเป็นบทบรรณาธิการที่ยาวที่สุดที่ผมเคยเขียนมา แต่ผมก็ว่ามันคุ้มค่า เพราะตลอดช่วง 10 ปีมานี้ ผม “อยาก” เขียนเรื่องทำนองนี้มาโดยตลอด

และอันที่จริง ที่ผมยังคงเขียนหนังสืออยู่ได้ ก็เพราะต้องการสนอง “ความอยากรู้” ของตัวเอง นั่นแหละ

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
17 พฤษภาคม 2551
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2551

จินตนาการ



ผมรู้สึกมาได้สักระยะหนึ่งแล้วว่า คนไทยส่วนใหญ่เดี๋ยวนี้ (โดยเฉพาะชนชั้นผู้นำ หรือชนชั้นปกครอง) ขาด “จินตนาการ” กันมากอย่างน่าใจหาย

เราให้คุณค่ากับ “เหตุผล” “ความสำเร็จ” “ความสมเหตุสมผล” “ความเป็นวิทยาศาสตร์” “ใช้งานได้” “ความง่ายต่อการนำไปประยุกต์ใช้และดัดแปลง” “ประโยชน์ระยะสั้น” “ประโยชน์ที่เห็นได้” “เห็นชัด” “จับต้องได้” “เห็นจริงเห็นจัง” “ทันท่วงที” “เดี๋ยวนี้เลย” และ “ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ” “เป็นเงินเป็นทอง” “ได้ไม่ได้” “ได้เท่าไหร่” “ได้ยังไง” “คุ้มไหม” ฯลฯ และซ้ำร้ายไปกว่านั้น ยังดูแคลน “จินตนาการ” อีกด้วย

หลายสิบปีมาแล้ว ที่เราขาดแคลนบทกวี วรรณกรรม จิตรกรรม ปติมากรรม สถาปัตยกรรม และบทเพลง ที่งดงาม ลึกซึ้ง กินใจ กระตุ้นจินตนาการ และ Sublime
อาจมีข้อยกเว้นบ้าง ก็เพียงน้อยนิด นับว่าน่าเสียดาย และน่าเสียใจ สำหรับคนรุ่นนี้ (ที่พูดนี้รวมถึงตัวผมเองด้วย)

คนมีความรู้สมัยนี้ ส่วนใหญ่รู้ด้านเดียว เน้นไปในเรื่อง “ทำมาหากิน” และวิธีแสวงหา “โภคทรัพย์” เป็นหลักใหญ่

เดี๋ยวนี้ แม้แต่ด็อกเตอร์ ก็ยังอ่านภาษาไทยไม่แตก น้อยคนจะอ่านศรีปราชญ์ได้ อ่านเจ้าฟ้ากุ้งได้ อ่านพระลอได้ อ่านโองการแช่งน้ำได้ อ่านมหาชาติได้ อ่านยวนพ่ายได้ อ่านไตรภูมิได้ อ่านศิลาหลักหนึ่ง หลักสอง หลักสาม...ได้ อ่านเพลงยาวต่างๆ ได้ แม้แต่ กฎหมายตราสามดวง หรือจินดามณี ก็อ่านกันไม่แตกเสียแล้ว

แต่ก็เห็นอ้างความเป็นไทย และเรียกร้องให้กลับไปหารากเหง้าความเป็นไทย กันมาก

ผมเคย Recruit คนจบปริญญาตรี ปริญญาโท มามาก ทั้งจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงและไม่มีชื่อเสียง ก็พบว่าส่วนใหญ่ อ่านและเขียนภาษาไทยได้จำกัด ซ้ำร้าย ความรู้ภาษาต่างประเทศ ก็ใช่ว่าจะดี

เป็นแบบ “หัวมังกุด ท้ายมังกร” ไทยก็ไม่ได้ อังกฤษก็ไม่ดี จีนก็ไม่รู้เรื่อง ทั้งๆ ที่มีเลือดจีนอยู่ในตัว ชัดเจน

ที่สำคัญ คนกลุ่มนี้ ขาดแคลน “จินตนาการ” อย่างน่าใจหาย


จินตนาการ และ ความคิดสร้างสรรค์ นั้นเกี่ยวโยงถึงกัน เมื่ออันหนึ่งขาด ก็ยากที่อีกอันจะงอกงามได้ (ความคิดสร้างสรรค์ในที่นี้ ผมหมายให้กินความกว้างกว่า เรื่องของชิ้นงานโฆษณา การพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือการดีไซน์สินค้า ที่มักคุ้นเคยกันในเวลานี้ นะครับ)

ผมไม่เชื่อว่า เด็กไทยจะไร้จินตนาการ แต่ผมคิดว่า ระบบการศึกษาบ้านเรา ทำลายจินตนาการในวัยเด็กของพวกเขาไปเสียจนเกือบหมด (หรือหมดเลยสำหรับบางคน)

สังคมไทยในตอนนี้ ต้องการและถวิลหา “ความคิดใหม่” อย่างยิ่งยวด และความคิดใหม่หรือ New Idea จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าปราศจากจินตนาการ

รัฐธรรมนูญอเมริกัน ที่เป็นพื้นฐาน เอื้ออำนวยให้สังคมอเมริกันสะสมความมั่งคั่ง และยิ่งใหญ่มาได้จนทุกวันนี้ เป็นผลผลิตของบรรดา Founding Fathers ที่เปี่ยมด้วยจินตนาการ ถึงสังคมที่ดีและพึงปรารถนา ในแบบของพวกเขา

จินตนาการ อาจหาไม่ได้ในห้องเรียนหรือตำราเรียน แต่อาจหาได้ในป่าเขา ท่ามกลางพรรณไม้และสิงสาราสัตว์ ท้องทุ่ง ท่ามกลางความร้อนระอุและแมลง ขุนเขา แม่น้ำ ลำธาร ตรอกซอกซอย ตลาดสด สลัม ห้องสมุด หรือท่ามกลางซากปรักหักพังของอยุธยา สุโขทัย ศรีสัชนาลัย ลพบุรี นครศรีธรรมราช หรือจากวรรณกรรม บทกวี งานศิลปะ สิ่งปลูกสร้างที่สวยงาม วัด ปราสาท นิทานพื้นบ้าน เพลงพื้นบ้าน ตำนานพื้นบ้าน ประเพณีพื้นถิ่น เรื่องเล่า แหล่ ร่าย ลิลิต ฉันท์ ดอกสร้อย สักวา เพลงยาว เสภา นิราศ กลอนสวด ขับไม้ ตลอดจนความเชื่อผีสาง และเทวา อารักษ์ ที่มีอยู่มากมาย ให้ยึดถือกันทั้งเจ้าและไพร่
สิ่งเหล่านี้ มีอยู่แล้วในสังคมไทย ไม่จำเป็นต้องไปหาถึง Harvard, Stanford, Oxford, หรือ Cambridge

คำตอบของสังคมไทยในอนาคต อาจไม่ได้อยู่ในห้องเรียน มหาวิทยาลัย รัฐสภา หรือบนท้องถนนราชดำเนิน หรือขึ้นอยู่กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่ขึ้นอยู่กับจินตนาการของคนรุ่นต่อไป เป็นสำคัญ

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
20 มิถุนายน 2551
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2551
(รูปพระนารายณ์ข้างบนวาดโดยอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต)

วันพุธที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

คอลัมนิสต์ที่ดี



ใครจะปฏิเสธบ้างว่า การได้อ่านผลงานของคอลัมนิสต์ชั้นดี ที่เขียนออกมาด้วยความประณีตบรรจง ตรงประเด็น ให้ความรู้ ผสมผสานด้วยความเห็นและประสบการณ์ชั้นยอด และใช้ภาษาสละสลวย นับเป็นความเพลิดเพลินอย่างหนึ่งของชีวิต


การเขียนคอลัมน์ แม้จะสั้น แต่ก็เป็น Art Form แบบหนึ่ง ทั้งการเลือกประเด็น วาง Plot การใช้ข้อมูลสนับสนุน หรือบางทีอาจต้องหาตัวละคร และบทสนทนา ตลอดจนคำ วลี ประโยค ที่เลือกมาใช้ ย่อมต้องให้ประหยัด ทว่ากินความกว้างขวาง และมีพลังอำนาจในการโน้มน้าว จูงใจ ผู้อ่าน


สมัยที่ผมเริ่มสอนตัวเองเขียนหนังสือใหม่ๆ ผมก็อาศัยฝึกจากการเขียนบทความประเภทนี้แหละ แน่นอนว่าบทความส่วนใหญ่เหล่านั้น ไม่ได้ตีพิมพ์ที่ไหน ทว่า ผมก็ได้รับความเพลิดเพลินและได้เรียนรู้อะไรมาก ในกระบวนการทำแบบนั้น

นักเขียนใหญ่ของโลกและของไทย ที่มีชื่อเสียงทั้งหลาย ล้วนเคยเขียนงานประเภทนี้มาแล้วทั้งสิ้น อย่างของฝรั่งที่ถือเป็นแบบฉบับ โดยผมเองมักนำผลงานเก่าแก่ของพวกท่านมาอ่านซ้ำเสมอๆ ก็มีอย่าง Francis Bacon นักเขียนสมัยพระนเรศวร ที่เขียนในสไตล์ Essay เลียนแบบวิธีเขียนของ Michel De Montaigne ผู้บุกเบิกงานเขียนประเภทนี้



ประเด็นที่ทั้งคู่เลือกมาเขียน ล้วนเป็นเรื่องน่าสนใจ ใกล้ตัว และอยู่ในความสนใจของผู้คนในยุคสมัยของพวกเขา เช่น Of Truth, Of Death, Of Friendship, Of Innovations, Of Empire, Of Ambition, Of Riches, Of Fortune, Of Nature in Men, Of Beauty, Of Liars, Of Fear, Of Sadness, Of Books, Of Drunkenness, Of the Education of Children, Of War-Horses, Of Glory, Of Custom, Of Presumption, Of Thumbs, Of Vanity, Of Experience, Of Coaches, Of Repentance, Of Physiognomy, Of the Force of Imagination,..ฯลฯ

ประเด็นเหล่านี้ ยังคงเป็นประเด็นที่นักคิด นักเขียน ปัญญาชน นักหนังสือพิมพ์ ตลอดจนคอลัมนิสต์ ยุคหลัง นำมาเขียนซ้ำแล้วซ้ำอีก จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังเขียนกันอยู่ และผมว่า มันก็จะเป็นที่นิยมต่อไปตราบเท่าที่มนุษย์ยังนิยมอ่านหนังสือเพื่อแสวงหาความเห็นจากคนอื่น และตั้งคำถามเกี่ยวกับตัวเอง ตลอดจนสังคมที่พึงปรารถนา ว่าควรเป็นเช่นไร

ตัวผมเอง เมื่อมีเรื่องให้ต้องเขียนความเห็นเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ ผมมักจะกลับไป Check ดูว่า สองคนนี้เคยคิดยังไง ต่อประเด็นนั้น มาแล้วบ้าง


นอกนั้นแล้ว ผมยังชอบ Walter Bagehot อดีตบรรณาธิการคนสำคัญของ The Economist ที่เขียนได้น่าสนใจทุกเรื่อง ตั้งแต่ บทวิจารณ์วรรณกรรม บทกวี การเมือง ไปจนถึงเรื่องการวิเคราะห์เศรษฐกิจ การเงิน และหุ้น งานรวมเล่มเกี่ยวกับหุ้นของเขา Lombard Street ถือเป็นงานระดับ Classic ที่นักการเงินทั่วโลกต้องศึกษา และ The English Constitution ของเขา ก็กลายเป็นคู่มือสำหรับกษัตริย์และราชินีของอังกฤษทุกพระองค์นับแต่มันได้รับการตีพิมพ์

ทางฝั่งอเมริกา ผมว่า H.L. Mencken เด่นมากกว่าใครเพื่อน ผมเองมีงานอดิเรกอย่างหนึ่ง คือการเก็บสะสมนิตยสาร The American Mercury ในยุคที่เขาเป็นหัวเรือใหญ่ และก็ได้เคยใช้มันเป็นแนวทางในการจัดทำนิตยสารในเครือที่ผมเป็นบรรณาธิการ อยู่หลายกรรมหลายวาระด้วยกัน

Ralph Waldo Emerson ก็เด่นในยุคของเขา และงานของเขาก็อ่านง่าย นำมาอ่านเล่นในยุคนี้ก็เพลิดเพลินและให้ความรู้เกี่ยวกับ “ความรู้สึก-นึก-คิด” ของคนอเมริกันและชาติอเมริกาสมัยที่กำลังสร้างตัว ได้ดีมาก

ของไทยเรา ผมก็เคยกลับไป Observe หนังสือพิมพ์ยุคแรกอย่าง Court ข่าวราชการ ที่พระบรมวงศานุวงศ์ระดับสูงในสมัย รัชกาลที่ ๕ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเขียน ก็เห็นว่าเป็นการเขียนแบบการเสนอข่าวเป็นหลัก มิได้เป็นแบบอย่างคอลัมนิสต์ หรืออย่างบทความที่เด่นๆ ใน วชิรญาณ หรือ วชิรญาณวิเศษ ก็เป็นการเขียนแบบเรื่องสั้น หลายเรื่องเป็นเรื่องสั้นที่มีชื่อเสียง เช่น “เรื่องสนุกนิ์นึก” (โดยกรมหลวงพิชิตปรีชากร) “อิล่อยป้อยแอ” “ตาบอดสอดตาเห็น” “ยังไงอิฉันจึงได้เป็นสาวทึนทึก” (ทั้งสามทรงพระนิพนธ์โดย กรมหมึ่นนราธิปประพันธ์พงศ์) และ “ปลาดถุ่ยถุ่ย” (โดยกรมหลวงดำรงราชานุภาพ—พระยศขณะนั้น) เป็นต้น



ผู้ที่นับได้ว่าเป็นคอลัมนิสต์ของไทยยุคแรก น่าจะเป็น เทียนวรรณ (ต,ว,ส, วัณณาโภ) และ ก.ศ.ร. กุหลาบ ตลอดจนบรรดาปัญญาชนรอบข้างรัชกาลที่ ๖ อย่าง ครูเทพ (เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี) พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส (น.ม.ส.) พระสารประเสริฐ (นาคะประทีป) และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เอง ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์โดยใช้พระนามแฝงนับสิบ โดยที่เด่นที่สุด เห็นจะเป็น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ Editor คนสำคัญพระองค์หนึ่งของอุตสาหรรมหนังสือไทย

หลังจากนั้น ก็ข้ามมายังยุคที่หนังสือพิมพ์ไทยรุ่งเรืองถึงขีดสุด ที่มีผู้เล่นสำคัญอย่าง กุหลาบ สายประดิษฐ์ มาลัย ชูพินิจ โชติ แพร่พันธุ์ ส่ง เทพาสิต ชิต บูรทัต อารีย์ ลีวีระ อิสรา อมันตกุล สุภา สิริมานนท์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ฯลฯ แล้วก็มาถึงรุ่นที่มี สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นหัวเรือใหญ่

คนเหล่านี้ ยึดกุมความเห็นบนหน้าหนังสือพิมพ์และนิตยสารสำคัญๆ เป็นเวลานาน จนสังคมไทยพัฒนาเข้าสู่ยุคใหม่ที่เศรษฐกิจผูกพันกับระบบโลกอย่างแน่นแฟ้น เราจึงมีคอลัมนิสต์ประเภททันสมัยที่ส่วนใหญ่ผ่านการฝึกฝนโดยระบบการศึกษาตะวันตกอย่าง สนธิ ลิ้มทองกุล สุทธิชัย หยุ่น ชัยอนันต์ สมุทวณิช รังสรรค์ ธนะพรพันธ์ และนิธิ เอียวศรีวงษ์ ฯลฯ เดี๋ยวนี้ เราก็ยังมีหนังสือพิมพ์ของคอลัมนิสต์ หรือหนังสือพิมพ์ที่อาศัยข้อเขียนจากคอลัมนิสต์เป็นหลัก ให้ได้พึ่งพาในด้านความเห็นต่อประเด็นสำคัญๆ รอบด้าน เช่น มติชนสุดสัปดาห์ เนชั่นสุดสัปดาห์ และสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ เป็นต้น



ผมรู้สึกมาสักระยะหนึ่งแล้วว่า อุตสาหกรรมหนังสือไทย กำลังขาดแคลนคอลัมนิสต์รุ่นใหม่ โดยเฉพาะคอลัมนิสต์ทางด้านธุรกิจ เศรษฐกิจ การเมือง การต่างประเทศ และประเภทสรรพวิชา เพราะสังเกตุจากบรรดาคอลัมนิสต์หลายท่านที่กล่าวถึงข้างต้นและถือเป็นคนรุ่น Baby Boomer Generation ซึ่งล้วนล่วงพ้นวัยเกษียณกันแล้ว ทว่าก็ยังคง Active อยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์และนิตยสารฉบับสำคัญๆ ของไทยอยู่ งานของพวกท่านยังคงเป็นส่วนสำคัญของหนังสือเหล่านั้นอยู่ (ที่พูดนี้ ไม่ได้ดูถูกงานของพวกท่าน หรือไม่อยากเห็นพวกท่านทำงานทางความคิดต่อไป น่ะครับ อย่าเข้าใจผมผิด เพราะตัวผมเองก็ได้อาศัยงานของท่านเหล่านั้นเป็นครูมาช้านาน)

งานของคอลัมนิสต์รุ่นใหม่ ถึงแม้จะมีอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ค่อยต่อเนื่อง และที่จะทำให้ดีลึกซึ้งได้เท่าคนเก่าหรือดีกว่าที่คนเก่าได้ทำไว้ ก็มีจำนวนน้อยมาก นั่นอาจส่งผลทางอ้อมให้คนรุ่นใหม่อ่านหนังสือน้อยลง เพราะพวกเขาถือว่าความเห็นบนหน้าหนังสือเหล่านั้น ไม่ได้สะท้อนความเห็นของคนรุ่นเขา พวกเขาจึงหันไปบริโภคความเห็นจาก Website ต่างๆ จำนวนมาก ที่แม้จะมีคนร่วมลงความเห็นเป็นจำนวนร้อยจำนวนพันต่อท้ายข่าวหรือข้อเขียนแต่ละชิ้น แต่ก็หาความลุ่มลึกได้ยากยิ่ง

พูดได้เหมือนกันว่า Website เหล่านั้น ได้ร่วมผลิตคอลัมนิสต์ยุคใหม่จำนวนมาก เพราะทุกแห่งล้วนอนุญาตให้คนอ่านร่วมโพสต์ความเห็นต่อท้ายบทความแทบทุกบทความ ผมเองก็ชอบอ่านความเห็นเหล่านั้น เพราะบางทีก็ได้อะไรดีๆ เหมือนกัน แต่เนื่องจาก ผู้เขียนไม่จำเป็นต้องลงชื่อจริง ข้อเขียนส่วนใหญ่จึงเอาจริงเอาจังด้วยไม่ได้ เพราะผู้เขียนไม่มีความจำเป็นต้องรับผิดชอบต่อข้อความที่ตัวเองโพสต์ลงไป



ไม่เหมือนหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารที่คนอ่านต้องควักเงินซื้อ พวกเขาย่อม Demand คุณภาพ และต้องการรู้จักกับตัวตนของคอลัมนิสต์ เพราะพวกเขาและหนังสือที่เขาอ่าน มักมีสัมพันธ์ทางใจหรือมีเยื่อไยกันทางใดทางหนึ่ง เป็นความสัมพันธ์ในแบบที่ฝรั่งเรียกว่า Love-hate relationship นั่นแหละ ผมเองเคยเห็นกับตาตอนคุณ สนธิ ลิ้มทองกุล หยิบนิตยสารในเครือของท่านสมัยที่ท่านยังรุ่งเรืองสุดขีด มาพลิกดู แล้วก็วิพากษ์วิจารณ์อย่างมีอารมณ์ แล้วก็โยนลงถังขยะไป

นั่นทำให้คอลัมนิสต์และนักเขียนย่อมต้องพิถีพิถัน และรับผิดชอบต่อความเห็นของตัวเอง

โลกเรานั้นเต็มไปด้วยเรื่องเลวร้ายต่างๆ นาๆ มนุษย์ส่วนมากมักเผชิญอยู่กับความทุกข์ยากในขณะที่มนุษย์ส่วนน้อยเท่านั้นที่ชีวิตมีแต่ความสุข แม้ตัวเรา ถ้าดูจริงๆ ก็มีความทุกข์เกิดกับตัวเองแยะ ดังนั้นคอลัมนิสต์ที่เด่นดังและแสบสันต์ส่วนใหญ่มักเชี่ยวชาญการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเลวร้ายต่างๆ นาๆ เช่นเล่นงานผู้ยิ่งใหญ่ ผู้มีอำนาจ นายทุนผู้เอารัดเอาเปรียบ กดขี่ขูดรีด นโยบายและคนของรัฐบาล ตลอดจนอภิสิทธิ์ต่างๆ

แต่ก็อย่าลืมว่า โลกเรายังมีมิติที่งาม มีคนที่น่าสนใจ จริงใจ ไม่เสแสร้ง มีเรื่องราวที่ทำให้อิ่มเอมใจ และมีอุดมการณ์ที่สูงส่ง น่า Observe อีกมากมาย

สิ่งเหล่านี้แหละ ที่คอลัมนิสต์รุ่นใหม่ควรต้องใส่ใจ

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
20 กรกฎาคม 2551
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือน กรกฎาคม พ.ศ.2551
-----------------------