วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ม็อบเชิงยุทธ์



ผมเริ่มเขียนต้นฉบับนี้ในสถานการณ์สู้รบ ขณะที่ม็อบสามม็อบที่ราชดำเนิน นางเลิ้ง และมัฆวาน รวมเข้าด้วยกัน...เป็น M&A (Mergers & Acquisitions) หรือ Joint Venture "แบบม็อบๆ"

ในฐานะบรรณาธิการของนิตยสาร MBA ซึ่งว่าด้วยกลยุทธ์ธุรกิจและการจัดการเป็นหลักใหญ่ ผมย่อมสนใจศึกษาและสังเกตุม็อบในเชิงกลยุทธ์ตลอดถึงแง่มุมเชิงบริหารจัดการอยู่เสมอ

เช่น ผมมักสนใจว่าคนที่มาชุมนุมเป็นล้านบนถนนราชดำเนินนั้น จะอุจจาระปัสสาวะกันยังไง สะดวกสบายหรือทุลักทุเลหรือไม่ในมาตรฐานของแต่ละม็อบ (เช่นม็อบเสื้อเหลืองหรือฟ้าหรือหลากสีซึ่งเป็นชนชั้นกลางย่อมรู้สึกถึงความไม่สะดวกสบาย ในขณะที่ม็อบเสื้อแดงไม่ค่อยแคร์เรื่องแบบนี้เท่าใดนัก เป็นต้น) และกลยุทธ์การลุกขึ้นสู้ในแต่ละขั้นตอน โดยประเมินว่ามันสอดคล้องกับ Life Cycle ของม็อบในช่วงนั้นๆ หรือไม่ ตลอดไปจนถึงขั้นตอนเผด็ดศึกอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดนั้น แต่ละทีมทำกันยังไง และอะไรคือปัจจัยแห่งความสำเร็จหรือล้มเหลว และที่ละเลยไม่ได้คือสไตล์การนำของแต่ละทีมว่ามีดีกันตรงไหน

ที่สำคัญคือความคิดสร้างสรรค์ของม็อบแต่ละม็อบเหล่านั้นสำแดงออกด้วยวิธีใดกันบ้าง

ความคิดสร้างสรรค์นั้นสำคัญมากสำหรับการจัดม็อบและการนำม็อบ!

เพราะม็อบมันประกอบด้วยราษฎรธรรมดา ต่างคนต่างมา ไม่ได้ถืออำนาจรัฐ มีลักษณะเป็นเบี้ยล่าง จึงต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ค่อนข้างมากและหนักหน่วง กว่าจะให้ม็อบเดินไปในทิศทางเดียวกัน หรือยอมปฏิบัติการณ์เชิงยุทธ์ตามแผนที่วางไว้แบบลับๆ หรือกึ่งลับกึ่งแจ้ง...จนสามารถเผด็จศึกจนเอาชนะได้

ผู้นำม็อบที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่มักเปิดกว้างรับความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ และพร้อมที่จะ Improvise ไปกับจังหวะจะโคนของโอกาสที่เปิดให้ในแต่ละชั่วโมง

เพราะแม้จุดเริ่มต้นหรือการ "จุดติด" ของม็อบขนาดใหญ่ที่อาจสามารถโค่นล้มรัฐบาลได้ในที่สุดนั้น มักมีที่มาจาก "อุบัติเหตุ" ซึ่งเกิดจากความประมาทของฝ่ายตรงข้าม อย่างเช่นคราวนี้ที่ทักษิณ ชินวัตร ทำตามอำเภอใจและมองข้ามความรู้สึกของประชาชนคนชั้นกลาง หรือคราวก่อนที่จงใจหลบเลี่ยงภาษีจากการขายหุ้นให้กับเทมาเส็ก เช่นเดียวกับฝ่ายตรงข้ามที่เลือกใช้วิธีรัฐประหารและตั้งศาลเตี้ย หรือใช้เล่ห์เพทุบายให้เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีในค่ายทหาร เป็นต้น...ถึงกระนั้นก็ตาม การนำม็อบจำนวนมากๆ ให้เผชิญหน้าและกดดันต่อผู้กุมอำนาจรัฐในสถานการณ์สู้รบนั้น คงไม่มีใครสามารถอ่านสถานการณ์ล่วงหน้าได้แม่นยำเท่าใดนัก

ดังนั้น กลยุทธ์ที่ฝ่ายม็อบต้องใช้ ย่อมต่างกับฝ่ายรัฐบาลที่กุมอำนาจรัฐอยู่ในมือโดยถูกต้องตามกฎหมาย และสามารถใช้อำนาจผ่าน State Apparatus ได้อย่างรุนแรงและเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร ข้าราชการ หน่วยงานความมั่นคง หรือสื่อมวลชนในเครือข่าย เป็นต้น

นักเรียนหรือผู้บริหารที่ชอบและศึกษาเรื่องกลยุทธ์หรือ Strategy มักคุ้นเคยกับแนวการวางกลยุทธ์มาจากเบื้องบน

คือเข้าใจกันไปว่ากลยุทธ์ย่อมต้องถูกกำหนดโดยคณะผู้บริหาร บนยอดปิรามิดขององค์กรเสมอ

Vision+Mission+Strategy...

นั่นคือสูตรสำเร็จที่นักเรียน MBA และผู้บริหารองค์กรสมัยใหม่ทุกคนคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว

ถ้าเป็นธุรกิจก็จะว่าด้วยการที่คณะกรรมการและคณะผู้บริหารกำหนดกลยุทธ์การแข่งขันในแต่ละด้านอย่างละเอียด เพื่อเอาชนะคะคานคู่ต่อสู้ เพื่อแย่ง Market Share หรือ Mind Share หรือเพื่อสร้างปมเด่นในการแข่งขัน หรือ Competitive Advantage ให้เหนือกว่าคู่แข่งขันทั้งมวลในอุตสาหกรรม

หรือถ้าเป็นสงครามก็คือการจัดทัพ เคลื่อนทัพ การรุก การรับ การเข้าตี...ไปจนถึงการข่าวและการส่งกำลังบำรุง

ซึ่งทั้งหมดนั้นจะกระทำโดยคณะเสนาธิการ ในระดับแม่ทัพและผู้บัญชาการเหล่าทัพเท่านั้น

กระทั่งกลยุทธ์การแข่งขันระดับชาติ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของนโยบายเศรษฐกิจสมัยใหม่ ที่ว่าด้วยการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย การสร้าง Cluster ตลอดจนแนวทางการสนับสนุนผู้ประกอบการ และ ฯลฯ ที่เรียกว่า Industrial Policy ดังตัวอย่างของชาติที่เคยประสบความสำเร็จในแนวนี้มาก่อนเช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์....เหล่านี้ย่อมถูกกำหนดโดยข้าราชการระดับสูงและรัฐบาลทั้งสิ้น

ตำราที่ว่าด้วยกลยุทธ์ที่ได้รับการยกย่องในระดับโลก นับตั้งแต่ ซุนวู สามก๊ก Xenophon, Alexander, Julius Caesar, Machiavelli, Clausewitz, Napoleon มาจนถึง Nuclear Games ในยุคสงครามเย็น และ Michael E. Porter กูรูทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่ยังมีชีวิตอยู่ ล้วนว่าด้วยกลยุทธ์จากเบื้องบนเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์

ทว่า การเอาชนะด้วยม็อบ ต้องอาศัย "กลยุทธ์จากเบื้องล่าง"!

อหิงสา สัตยาเคราะห์ อนาระยะขัดขืน อนาธิปไตย ก่อการร้าย จรยุทธ์ ไปจนถึงการปิดล้อม หรือยึดสถานที่สำคัญ และ Insurrection Strategies ตามแนวทางของ Marx หรือ Lenin หรือเหมาเจ๋อตง ย่อมเป็นกลยุทธ์จากเบื้องล่างที่ผู้นำม็อบในโลกนี้ใช้ล้มผู้ปกครองเดิมแล้วเข้ายึดอำนาจรัฐสำเร็จมาแล้วนักต่อนัก

การยึดเมืองหลวงและสถานที่สำคัญหรือพื้นที่ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการกดขี่หรือระบบปกครองที่ฉ้อฉลนับเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ฝ่ายมวลชนมักใช้ต่อรองกับฝ่ายกุมอำนาจรัฐ

แต่ถ้าจะเผด็จศึก ก็จำเป็นต้องเข้ายึดครอง State Apparatus ที่เป็นกลไกการใช้อำนาจรัฐสำคัญ เช่นทหาร ตำรวจ และระบบราชการ หรืออย่างน้อยต้องให้ผู้มีอำนาจในองค์กรเหล่านั้นอยู่เฉยๆ ไม่ต่อต้านการลุกขึ้นสู้ของมวลชน การอภิวัฒน์จึงจะสำเร็จ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทยเป็นรัฐรวมศูนย์และอาวุธหนักส่วนมากอยู่ในกรมกองที่กองบัญชาการในกรุงเทพฯ สามารถเอื้อมถึงได้โดยง่าย (ไม่ว่าจะเป็นรถถัง ปืนใหญ่ เครื่องบินรบ หรือปืนกลหนัก) ดังนั้น การจะทำให้การอภิวัฒน์ของราษฏรประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องให้ฝ่ายทหาร ซึ่งเป็นผู้ถืออาวุธหนักเกือบทั้งหมดในสังคมไทยและมีศักยภาพสูงสุดในการจัดระเบียบสังคมหากเกิดวิกฤติการณ์ เข้าข้างราษฏรหรืออย่างน้อยต้องตั้งอยู่ในความเป็นกลาง

พูดง่ายๆ คือฝ่ายม็อบจำเป็นต้องเข้ายึดครองหัวใจของผู้บัญชาการขององค์กรราชการที่จัดตั้งมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ และรัฐบาลต่อจากนั้นรับช่วงสืบทอดมาจนถึงบัดนี้นั่นเอง

ม็อบที่ผ่านมาสำแดงความคิดสร้างสรรค์โดยการเข้ายึดครองสถานที่สำคัญทางเศรษฐกิจสมัยใหม่เพื่อต่อรองกับรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นสนามบินสุวรรณภูมิ และสี่แยกราชประสงค์

เดชะบุญที่ม็อบไทยยังไม่เคยถึงขั้นบุกเข้ายึดเส้นเลือดใหญ่ของระบบเศรษฐกิจอย่าง ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งควบคุมระบบการเงินและระบบการชำระเงินของประเทศไว้ทั้งระบบ แถมยังครอบครองโรงพิมพ์ธนบัตร และเป็นผู้ดูแลทรัพย์ก้อนใหญ่ของประเทศ คือทุนสำรองระหว่างประเทศ ไว้อีกด้วย

เพราะถ้าทำเช่นนั้น แม้รัฐบาลอาจพ่ายแพ้ไปโดยเร็ว แต่ความเสียหายของระบบเศรษฐกิจโดยรวมที่จะตามมาย่อมมากมายหนักหน่วงจนราษฎรบางฝ่ายตลอดจนนักธุรกิจอุตสาหกรรมรับไม่ได้ และหันมาเป็นปฏิปักษ์กับการอภิวัฒน์ในระยะยาว

ทว่า กลยุทธ์อันนั้นเป็นกลยุทธ์ที่เฉียบขาด รวดรัด และเบ็ดเสร็จ อันหนึ่งในสงครามประชาชน

Karl Marx บรมครูของนักปฏิวัติทั่วโลกเอง ยังเคยวิเคราะห์สรุปบทเรียนความล้มเหลวของการลุกฮือของ “ม็อบปารีส” ที่เรียกว่า Paris Commune เมื่อปี ๒๔๑๔ ทั้งๆ ที่สามารถยึดครองปารีสอยู่ได้ถึง 70 วัน ว่าความผิดพลาดฉกรรจ์ของฝ่ายคอมมูนที่สำคัญมีอยู่สองข้อ ข้อแรกคือการใช้กลยุทธ์ทางทหารที่ผิดพลาด คือแทนที่จะบุกไปตีกองกำลังฝ่ายรัฐบาล (ซึ่งตั้งทำการอยู่ที่แวร์ซาย) แล้วทำลายให้สิ้นซากเสียแต่ต้นมือ ขณะที่ยังตั้งตัวไม่ติด กลับใช้วิธีตั้งรับ สร้างปราการและ Barricade ทั่วปารีส แล้วรออยู่ในปารีสจนรัฐบาลตั้งตัวติดแล้วยกทัพมาปราบ ส่วนข้อที่สอง คือการเพิกเฉย ไม่ยอมเข้ายึด Banque de France ยังคงปล่อยให้ธนาคารแห่งนั้นดำเนินการอย่างอิสระ 

(ผู้สนใจ ผมแนะนำให้อ่านข้อเขียนเรื่อง Civil War in France ของ Marx และคำนำใหม่ของ Engels ได้ที่เว็บไซต์ www.marxists.org/archive/marx/works/download/Marx_The_Civil_War_in_France.pdf ซึ่ง Engels พูดไว้ชัดเจนว่าIt is therefore comprehensible that in the economic sphere much was left undone which, according to our view today, the Commune ought to have done. The hardest thing to understand is certainly the holy awe with which they remained standing respectfully outside the gates of the Bank of France. This was also a serious political mistake. The bank in the hands of the Commune — this would have been worth more than 10,000 hostages. It would have meant the pressure of the whole of the French bourgeoisie on the Versailles government in favor of peace with the Commune.”)

ดังนั้น เมื่อเลนิน (Vladimir Llyich Lenin) ซึ่งเป็นสาวกคนสำคัญของ Marx นำพลพรรคบอลเชวิก (Bolshevik) เข้ายึดอำนาจรัฐในรัสเซียเมื่อปี ๒๔๖๐ เขาจึงใช้วิธีเชิงรุกอย่างต่อเนื่องและเข้ายึดธนาคารชาติไว้ในกำมือเสียก่อน

สมัยนโปเลียนยังรุ่งเรืองอยู่ในยุโรป ก็เคยคิดจะบุกเกาะอังกฤษ โดยสถานที่แห่งแรกๆ ที่นโปเลียนวางแผนว่าจะยึกครองทันทีที่ยกพลขึ้นบกได้ก็คือ Bank of England” ซึ่งมีความสำคัญมากต่อระบบเศรษฐกิจของจักรวรรดิอังกฤษ และว่ากันว่าเก็บทองคำและทรัพย์สินมีค่าของ British Empire ไว้เป็นจำนวนมหาศาล

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ผมกำลังเขียนถึงบรรทัดนี้ ม็อบก็ยังไม่สามารถเผด็จศึกรัฐบาลลงได้

ผมได้แต่หวังว่า เมื่อราษฏรชนะแล้ว ทุกอย่างจะไม่กลับไปเป็นเหมือนเดิมอีก

การอภิวัฒน์ควรต้องก้าวหน้าไปอีกขั้น โดยราษฏรจะมีอำนาจมากขึ้น และเพิ่มช่องทางให้สามารถต่อรองกันเอง ทุนผูกขาดจะถูกทำลาย เจ้าสัวที่ชอบผ่องถ่ายทรัพย์สินของสาธารณะไปเป็นทรัพย์สมบัติส่วนตัวจะถูกดำเนินคดี ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจจะถูกตราไว้ในกฎหมายและมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง อุตสาหกรรมสำคัญๆ ที่คนเล็กคนน้อยเคยเข้าถึงได้ อย่างค้าปลีกค้าส่งจะถูกดึงกลับมาเป็น Social Safety Net แทนที่จะถูกผลักเข้าไปอยู่ในกำมือของบรรษัทข้ามชาติแบบทุกวันนี้ ระบบตุลาการจะทรงประสิทธิภาพขึ้น ระยะเวลาในการพิจารณาคดีต่างๆ ควรสมเหตุสมผลยิ่งกว่านี้ และสถาบันแห่งนั้นควรมี Accountability ต่อราษฏร การคอรัปชั่นจะถูกกำราบอย่างเด็ดขาด การเลือกตั้งจะต้องบริสุทธิ์ยุติธรรม การใช้อำนาจของข้าราชการ ทหาร ตำรวจ จะต้องถูกตรวจสอบได้ การศึกษาและสาธารณสุขจะต้องมีคุณภาพและอย่างเพียงพอ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนจะถูกแก้ไขโดยมาตรการภาษี ฯลฯ

ผมขอจบบทความนี้ด้วยความตอนหนึ่งของ Marx ที่เขาเขียนไปถึง Dr. Kugelmann ต่อความเห็นเกี่ยวกับ "ม็อบปารีส" ว่า ...If you look at the last chapter of my Eighteenth Brumaire you will find that I say that the next attempt of the French revolution will be no longer, as before, to transfer the bureaucratic-military machine from one hand to another, but to smash it, and this is essential for every real people's revolution on the Continent....”

ผมก็หวังเช่นนั้น

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
25 พฤศจิกายน 2556
ภาพประกอบจาก ASTV/ผู้จัดการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น