วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554

ผมได้อะไรจากเชอร์ชิล


แรกเริ่มเดิมที ผมศึกษาเชอร์ชิลในฐานะนักพูด เพราะสมัยโน้นผมมักต้องร่าง Speech ให้กับผู้ใหญ่ ทั้งที่เป็นอดีตรัฐมนตรีและสูงกว่านั้น

ผมศึกษาโครงสร้างของสปีช และการเลือกใช้คำ วลี ประโยค และจด Epigrams และ Vignettes ที่งามและกินใจลงไว้ในสมุดบันทึกส่วนตัวเป็นจำนวนไม่น้อย นอกจากนั้น ผมยังฟังไฟล์เสียงของเขาเวลาพูด เพื่อสังเกตลีลาและสไตล์

ผมพบว่าสไตล์ของเขาไม่หวือหวา เนิบๆ แต่มักเต็มไปด้วยศัพท์แสงและประโยคน่าฟัง และเมื่อศึกษาลงลึก ก็รู้ว่าเขาให้ความสำคัญกับสปีชมาก เขาต้องเตรียมแต่ละชิ้นด้วยตัวเอง ตั้งแต่บอกจด อ่าน แก้ไข เกลา และบางทีก็ซ้อมพูด (ตอนหลังมักลองพูดในใจก่อนเสมอ) เพื่อสังเกตจังหวะจะโคน และปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม

เมื่อเทียบกับฮิตเลอร์ (ซึ่งเป็นรุ่นน้องเขาและเขาถือเป็นศัตรูตัวฉกาจ แต่ก็เป็นนักพูดชั้นนำของโลกอีกคนนึง) ลีลาของเขาโลดโผนน้อยกว่า ผู้ดีกว่า แต่ก็เร้าใจมวลชนได้น้อยกว่า ทว่า เมื่อนำสปีชที่ตีพิมพ์แล้วมาอ่าน กลับไพเราะกว่า ลึกซึ้งกว่า และได้ความหมายกินใจกว่า จึงทำให้สปีชของเขาไปพ้นกาลเวลา

ผมว่าสปีชของเขามีลักษณะคล้ายกับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันของเรา พระบรมราโชวาทบางช้ินของพระองค์ท่าน ให้ความคิดและแรงบันดาลใจตลอดจนความลึกซึ้ง เมื่ออ่านมากกว่าเมื่อฟัง (พระบรมราโชวาทของรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเป็นคนรุ่นพ่อเชอร์ชิล ก็เป็นงานที่ผมชอบอ่าน และคิดว่า “ดีเมื่ออ่าน” แต่ก็ไม่เคยฟังพระสุรเสียงของพระองค์ท่าน จึงไม่สามารถประเมินได้ว่าตอนฟังจะเทียบได้กับตอนอ่านด้วยหรือไม่)

การศึกษาเชอร์ชิลในแง่มุมนี้ ส่งผลพลอยได้สำคัญกับผมประการหนึ่ง คือเรื่องของการเลี้ยงลูก


ท่านผู้อ่านคงทราบแล้วว่าพ่อของเขามาจากตระกูลขุนนาง เป็นศิษย์เก่า Eton และ Merton College ที่ Oxford และเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (อังกฤษเรียกว่า Chancellor of the Exchequer) อยู่ช่วงสั้นๆ แล้วก็ป่วยอย่างหาสาเหตุไม่ได้ จนสติฟั่นเฟือนและตายเมื่ออายุยังน้อย ส่วนแม่เขาเป็นอเมริกัน มาจากตระกูลเศรษฐีการเงินแห่งชิคาโกและนิวยอร์ก  

พ่อแม่เขาเคร่งครัดกับลูก แต่ก็ใกล้ชิดกับลูกน้อยมาก ปล่อยลูกให้อยู่กับพี่เลี้ยง แต่ก็ชอบตัดสินลูก


เชอร์ชิลเป็นคนเรียนอ่อน พ่อเขาก็สรุปให้เลยว่าต้องไปเรียนทหารและต้องเป็นทหารม้า (เพราะมีทัศนคติว่าทหารราบต้องอาศัยความฉลาดสูงกว่า) แทนที่จะส่งไป Eton แล้วให้เข้ามหาวิทยาลัยเหมือนตัวเอง กลับประเมินว่าเด็กจะเรียนไม่ไหว หรือเอาดีไม่ได้ถ้าเดินไปบนหนทางสายนั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยถูกต้องมากนัก ผมว่าพ่อแม่สมัยใหม่คงรับกันไม่ค่อยได้


พ่อเขาส่งเขาไป Harrow แทน (ทั้งๆ ที่สามารถผลักให้เข้า Eton ได้) และผลการเรียนโดยรวมของเขาก็แย่ แต่ที่ Harrow นี้เองที่เขาได้ค้นพบศักยภาพแท้จริงของตน และสร้างพื้นฐานทักษะสำคัญซึ่งเป็น Key Success Factor ของอาชีพนักการเมืองของตัวเองในเวลาต่อมา

เขาพบว่าตนเองไม่เก่งคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ จึงมุ่งเอาดีด้านภาษา (เอาคณิตศาสตร์แค่ผ่านเป็นพอ) ตลอดสามปีในแฮร์โรว์ เขาฝึกพูด อ่าน เขียน ครูพักลักจำ และค้นคว้าศัพท์แสงเก่าใหม่จนแคล่วคล่อง และต่อมาเมื่อไปเรียน Sandhurst และจบออกมารับราชการทหารแล้ว เขายังมุ่งศึกษาภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง หมั่นอ่านหนังสือและวรรณคดีเก่าๆ จดศัพท์แสงลงไว้ และหมั่นเขียนบันทึกและจดหมายถึงคนโน้นคนนี้ และฝึกปรือการเขียนของตนอยู่เสมอ


ชั่วชีิวิตเขา เขาเขียนงานไว้เป็นจำนวนมากมาย ทั้งจดหมาย บันทึกความจำ คำสั่งราชการ (เขาไม่เคยสั่งราชการด้วยวาจา) Memorandum เล็กๆ น้อยๆ สปีชวิทยุ บทความในหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และหนังสือเล่ม


เขาใช้ทักษะเชิงภาษาสร้างตัวเองให้ดังและไต่เต้าเอาดีทางการเมือง ยามว่างงานเขาก็เขียนหนังสือหากินจนร่ำรวยขึ้นมาเพราะงานเขียน และได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม เขาเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับวีรกรรมของตัวเองไว้แยะ ชิงสร้างภาพลักษณ์ให้ตัวเอง ชิงบันทึกชีวิตตัวเองลงบนหน้าประวัติศาสตร์ ก่อนที่คนอื่นจะมาวาดให้เขาเป็นแบบโน้นแบบนี้ เขาเขียนประวติพ่อของเขาและตระกูลของเขา และเป็นคอลัมนิสต์ชื่อดังในสมัยของตัว

เขาให้ความสำคัญกับภาษามาก ถึงกับประกาศศักดาเอาไว้อย่างทรนงองอาจว่า “Words are the only things that last forever.”


นั่นทำให้ผมได้แง่คิดเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกและการศึกษาของลูกๆ

ต่อมา เมื่อผมเริ่มให้ความสนใจกับสุขภาพ ผมก็กลับไปศึกษาประวัติสุขภาพของเชอร์ชิลอีกเป็นครั้งคราว เพราะผมเห็นว่าเขาทำงานหนักเกือบตลอดชีวิต กินก็จุและแทบจะไม่เลือก กินเนื้อแยะ หอยนางรมก็แยะ ดื่มก็แยะ สูบก็แยะ ประสบอุบัติเหตุแรงๆ ก็เคย (ตั้งแต่คลอดก็ออกก่อนกำหนดเพราะแม่หกล้ม) แต่เขากลับอายุยืน


ผมพบว่าเขาต้องเผชิญกับ Organic Disease คล้ายๆ กับตัวผมเอง และเขาเอาชนะมันยังไง เขาดูแลสุขภาพยังไง เขาคิดและมีทัศนะคติกับชีวิตอย่างไรเมื่อเจ็บป่วย อารมณ์ขันเป็นแบบไหน สไตล์การดื่มการสูบเป็นยังไงถึงยังรักษาตับรักษาปอดให้แข็งแรงได้จนแก่เฒ่า พักผ่อนยังไง เล่นอะไรเป็นงานอดิเรก เจ้าชู้ไหม ฯลฯ ผมว่ารายละเอียดเชิงนี้ของเขาก็น่าสนใจไม่น้อย แต่จะไม่ขอสาธยายให้มากความ ผู้สนใจควรอ่านงานของ Lord Moran แพทย์ประจำตัวเขา (Winston Churchill: The Struggle for Survival) ซึ่งให้รายละเอียดกระจ่างมาก โดยเฉพาะในช่วงที่เขาต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำระหว่างสงครามโลกครั้งหลัง เขาเป็นปอดบวมและเกือบหัวใจวายถึงสองครั้งสองครา ฯลฯ

ล่าสุด เมื่อเริ่มสิ้นหวังกับการเมืองไทยและนักการเมือง อีกทั้งสังคมไทยยังถูกประชิดด้วยศึกเหนือเสือใต้ วุ่นวายรุนแรงสับสนถูกคุกคามมุ่งร้ายหมายขวัญไปหมด ผมก็เริ่มกลับไปอ่านเชอร์ชิลอีกครั้ง คราวนี้ผมอ่านภายใต้คำถามว่า นักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ดีและรักชาติและรับใช้ราษฎรอย่างทรงประสิทธิภาพและมีความคิดสร้างสรรค์และสามารถรวมใจให้คนทุกชนชั้นที่มีความคิดและผลประโยชน์ต่างกันให้บรรลุข้อตกลงร่วมกันได้โดยสันติ ควรเป็นเช่นไร


แม้เชอร์ชิลจะมีจุดอ่อนฉกรรจ์ในเชิงสิทธิมนุษยชน (ที่เขามีส่วนกระทำต่อมนุษย์ที่ไม่ใช่คนอังกฤษ) หลายประการ เช่นการสั่งให้ทิ้งระเบิดเยอรมนีอย่างหนักและต่อเนื่องจนประชาชนตาดำๆ ล้มตายเป็นจำนวนหลายล้านคน (อยากทราบความโหดร้ายของแคมเปญนั้น ผมแนะนำให้อ่าน Slugtherhouse-Five ของ Kurt Vonnegut) สั่งให้ปราบปรามขบวนการกู้ชาติของมาลายาที่ต้องการปลดแอกจากอังกฤษอย่างรุนแรง หรือให้คงจักรวรรดิอังกฤษอย่างหัวชนฝา ตลอดจนแสดงท่าหมิ่นแคลนคนเอเชีย (เช่นเรียกคานธีว่า A half-naked fakir เป็นต้น) ฯลฯ แต่ถ้าผมเป็นคนอังกฤษผมก็จะยกย่องเขา (แต่เขาก็มิใช่คนชอบผูกใจเจ็บ แม้รบกันในหน้าที่ จะกระทำอย่างรุนแรง โหดร้าย ป่าเถื่อน แต่พอเลิกแล้วก็แล้วกันไป ให้อภัยกันได้...กับคู่แข่งขันทางการเมือง เขาก็ปฏิบัติเช่นนั้น)


ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เขาเป็นแม่แบบให้เราได้เห็นว่านักการเมืองที่ขึ้นมาเป็นผู้นำที่ดีในระบอบประชาธิปไตยในยามบ้านเมืองวิกฤติควรทำตัวอย่างไร

เขาเป็นผู้นำที่องอาจกล้าหาญ สามารถ เข้มแข็ง หนักแน่น อยู่กับร่องกับรอย กล้าตัดสินใจ กล้าทำกล้ารับ รู้จักอันไหนเร่งด่วนอันไหนรอได้ รู้จักฟังความหลายทาง พูดรู้เรื่อง มีจินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์ ค้นคว้าหานวัตกรรมซึ่งจะไปพ้นระบบราชการและระบบพรรคพวก ใจกว้าง ไม่กระแนะกระแหน รู้จักลืม รู้จักให้อภัย แพ้เป็นแพ้ ชนะแล้วไม่ทับถมกระทืบซ้ำ และที่สำคัญ ไม่เห็นแก่เงินและรักชาติ และจงรักภักดีต่อราษฎรทุกชนชั้นด้วยความจริงใจ และยอมรับผลชี้ขาดของประชาชน เขาจึงสามารถรวมใจราษฎรทุกชนชั้นให้เป็นอันหนึ่งอันเดียว ร่วมกันต่อสู้ฝ่าฟันปัญหาอุปสรรคอันยากเข็ญมาได้


ตลอดชีวิตของเขา เขารักและเคารพรัฐสภา และให้เกียรติวุฒิสมาชิกและส.ส. เขาให้เกียรติสภาฯ และการตัดสินชี้ขาดของราษฎร เมื่อเขามีอำนาจ เขาถือว่าอำนาจนั้นมาจากราษฎรและสภาฯ และเขาก็ใช้มันเต็มที่อย่างรับผิดชอบ แต่เมื่อเขาหมดอำนาจ เขาก็ยอมรับในมตินั้น (ในช่วงสงคราม เขาได้รับอำนาจเกือบจะสิทธิขาด แต่ก็ใช้อย่างระมัดระวัง และก็คืนอำนาจนั้นให้สภาฯ และราษฎรเมื่อสงครามเสร็จสิ้นอย่างไม่หวง ไม่อาลัย และไม่น้อยใจ)


วิถีปฏิบัติของเขาสำแดงออกถึงความกล้าหาญ องอาจ รักอิสระ และการไม่ยอมจำนนหรือพ่ายแพ้ เหมาะกับการเป็นผู้นำยามหน้าสิ่วหน้าขวาน เขาไม่เหมือนจอมพล ป. จอมพล ส. พลเอก ป. จอมพลเจียง จอมพลสตาลิน ฮิตเลอร์ ท่านเหมา หรือลุงโฮ ที่ก็เป็นผู้นำที่เฉียบขาดกล้าหาญ ทว่า พวกเหล่านั้นล้วนเป็นนักการเมืองที่ได้อำนาจมาอย่างเผด็จการและความฉ้อฉล ปล้นฆ่าข่มขู่มุ่งร้ายยุแยงและกดให้ราษฎรลงใต้ความกลัวหรือหวาดระแวง

การกลับไปศึกษาชีวิตของเชอร์ชิล ทำให้ผมเกิดความหวัง คือได้เห็นว่านักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยก็ดีได้ สามารถได้ กล้าหาญได้ และรักชาติได้ มิใช่เลวหรือจำเป็นต้องเลวไปหมดเพราะระบบบีบบังคับ และทำให้ผมรู้ว่าระบอบประชาธิปไตยยังมีหวัง

ผมคิดว่า ชีวิตเชอร์ชิลเป็นบทเรียนให้กับนักการเมืองและกลุ่มการเมืองที่รักอิสระภาพและเสรีภาพและรักที่จะแสวงหาความสุข เท่าที่ระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยจะสามารถเอื้ออำนวยให้ได้ทุกคน


ประเทศไทยช่วงนี้ ต้องการนักการเมืองและเก่งบริหารแบบเชอร์ชิล



ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
27 เมษายน 2554
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนเมษายน 2554


**โปรดคลิกอ่านข้อเขียนที่ผมเคยอ้างถึงฮิตเลอร์ไว้ตามลิงก์ข้างล่างนี้


"คนดี" กับ "นักทำดี" ต่างกันอย่างไร



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น