วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

พระราชพินัยกรรม พระนั่งเกล้าฯ



ชีวิตมนุษย์กับวงจรชีวิตของธุรกิจนั้น เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง คือดำเนินไปสู่ความสูญสลาย หรือ Entropy แม้จะยิ่งใหญ่ มีชื่อเสียง เกียรติคุณสักเพียงใด ก็ต้องจากไปสักวันหนึ่ง

MBA เคยวิเคราะห์และรายงานถึงการจากไปขององค์กรธุรกิจมามากต่อมาก เราเลยอยากจะทยอยรายงานวาระสุดท้ายของผู้คนกันบ้าง โดยเฉพาะบุคคลสำคัญๆ ที่เรารู้จักกันดี เพราะความรู้เรื่องการจากไปของบุคคลสำคัญ น่าจะเป็นอุทาหรณ์สำหรับผู้ที่ยังอยู่ ให้ได้เกิดอนุสติ ถึงการครองชีวิตที่ยังเหลือ อีกทั้งยังสามารถสังเกตเห็นร่องรอยที่คนเหล่านั้น ต้องการทิ้งไว้ ให้คนรุ่นหลังพูดถึงพวกเขาว่าอย่างไร หรือในบางกรณี ก็อาจถึงขั้นหมายใจให้กระทำหรือไม่กระทำการใดๆ ในเรื่องที่พวกเขาคาดหวังให้เกิด หรือไม่เกิดขึ้น หลังจากที่เขาจากไปด้วย (End-Game Strategies)

ฉบับที่แล้ว เราประเดิมด้วยเรื่อง “วาระสุดท้ายของโสกราตีส” นักปรัชญากรีก สดมภ์หลักของปัญญาชนฝรั่ง ที่ตายด้วยยาพิษ เพราะถูกตัดสินประหารชีวิต ส่วนฉบับนี้ เราจะหันกลับมาวิเคราะห์วาระสุดท้ายของชาวเรากันบ้าง โดยขอเริ่มด้วยการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

หนังสือ “แผ่นดินพระนั่งเกล้าฯ” ที่พันเอก นิจ ทองโสภิต แปลมาจาก “Siam Under Rama III” ของ Walter F. Wella ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ไทยที่เอาชีวิตมาทิ้งบนท้องถนนเมืองกรุงเมื่อหลายสิบปีก่อน ถือเป็นหนังสือที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในแวดวงประวัติศาสตร์ ว่าได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเมืองไทยในสมัยรัชการที่ 3 ดีที่สุด

วอลเตอร์ เวลล่า ได้บรรยายถึงเหตุการณ์ในราชสำนัก ก่อนช่วงเวลาที่จะสวรรคตไว้ดังนี้

“ประเทศสยามในสมัยที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์อยู่นั้นมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองภายในราชสำนักเพียงครั้งเดียว คือตอนใกล้จะสิ้นรัชกาล การเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งนั้นก็เพื่อความประสงค์อย่างเดียว คือการเลือกผู้ที่จะสืบสันตติวงศ์ ระยะนั้นคณะและกลุ่มต่างๆ มีการไหวตัวกันมาก เนื่องด้วยเหตุผลหลายประการ คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงแต่งตั้งรัชทายาทและก่อนที่จะเสด็จสวรรคต พระองค์ทรงพระประชวรอยู่เป็นเวลานาน นอกจากนั้นก็มีผู้ทรงสิทธิ์ขึ้นครองราชย์อยู่หลายพระองค์ด้วยกัน

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรหนักเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2393 พระองค์ทรงระงับการให้ขุนนางเข้าเฝ้าถวายข้อราชการ แต่ก็ยังคงทรงรับสั่งราชการในพระที่ ครั้นถึงตอนต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2394 พระอาการทรุดหนักลง ทั้งๆ ที่แพทย์หลวงและพระเป็นจำนวนมากได้ถวายการรักษาพยาบาลอย่างสุดความสามารถ หลังจากนั้นไปอีก 3 เดือน พระกำลังก็ยิ่งลดน้อยลงทุกที

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงคำนึงถึงฐานะของพระองค์เกี่ยวกับการแต่งตั้งองค์รัชทายาท เมื่อตอนต้นเดือนกุมภาพันธ์ พระองค์ทรงเรียกขุนนางผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทสองสามคมเข้าเฝ้าและทรงพระราชปรารภว่า อาการประชวรของพระองค์นั้นเหลือความสามารถของแพทย์จะเยียวยารักษาได้เสียแล้ว และได้ทรงกล่าวต่อไปว่าที่พระองค์ยังมิได้ทรงแต่งตั้งองค์รัชทายาทนั้น ก็เนื่องด้วยพระองค์ไม่ทรงปรารถนาที่จะเลือกผู้ซึ่งไม่เป็นที่ถูกใจของบรรดาพระราชวงศ์ ข้าราชการน้อยใหญ่ ตลอดจนประชาราษฎร์สามัญ พระองค์ทรงกล่าวว่า พระองค์ทรงปรารถนาจะได้องค์รัชทายาทที่เฉลียวฉลาดและเหมาะสม สามารถเข้าได้กับทุกฝ่าย เพื่อว่าเมื่อถึงเวลาผลัดแผ่นดิน บ้านเมืองจะได้อยู่ในความสงบเรียบร้อย ท้ายที่สุดพระองค์ได้ทรงขอร้องคณะเสนาบดี ให้พิจารณาตกลงกันเองในการเลือกองค์รัชทายาทให้เสร็จสิ้นไป

มีเรื่องกล่าวว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์อย่างแรงกล้าที่จะให้พระราชโอรสองค์ใดองค์หนึ่งในสองพระองค์ ได้เสวยราชสมบัติสืบต่อจากพระองค์ แต่ก็ไม่กล้าแต่งตั้งพระราชโอรสองค์ใดดำรงตำแหน่งรัชทายาท เพราะเกรงว่าบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์และปวงมุขอำมาตย์จะพากันคัดค้านเป็นการใหญ่ เป็นไปได้ว่าเรื่องที่กล่าวมานี้มีความจริงอยู่บ้างเป็นบางส่วน เพราะตามเหตุผลนั้นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ไหนก็ตาม ย่อมมีพระราชประสงค์จะให้พระราชโอรสของพระองค์ได้ครองราชย์สืบสันตติวงศ์ ฉะนั้นการที่พระองค์ทรงขอร้องอย่างผิดธรรมดา ให้คณะเสนาบดีเลือกผู้สืบราชสมบัติในขณะที่พระองค์ยังดำรงพระชนมชีพอยู่ จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่า พระองค์มีพระราชประสงค์จะหลีกเลี่ยงข้อครหาที่อาจจะมีขึ้นได้ว่าพระองค์ทรงแต่งตั้งพระราชโอรสของพระองค์เองเป็นรัชทายาท จึงทรงโยนความรับผิดชอบไปให้แก่คณะเสนาบดี ซึ่งคงจะไม่ทำการเลือกเฟ้นให้ผิดไปจากพระราชประสงค์ อนึ่ง การที่ได้ทรงปรารภกับพวกขุนนางครั้งหนึ่ง โดยทรงตั้งข้อสังเกตเป็นเชิงตำหนิพระอนุชาทั้ง 4 พระองค์ผู้ทรงมีหวังจะได้เป็นรัชทายาท ก็เป็นเครื่องยืนยันว่าพระองค์ทรงพยายามเบิกทางให้พระราชโอรสของพระองค์ได้สืบราชสมบัติต่อจากพระองค์ พระองค์ทรงให้ข้อสังเกตว่ากรมขุนเดชอดิศร (ต้นราชสกุล เดชาติวงศ์) ทรงมีพระทัยเบาเกินไป ไม่เหมาะที่จะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน กรมขุนพิพิธภูเบนทร์ (ต้นราชสกุล พนมวัน) ก็ทรงมีพระอุปนิสัยเฉื่อยชา เจ้าฟ้ามงกุฎ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ซึ่งเป็นเจ้านายชั้นสูงสุดและทรงผนวชมาตลอดรัชกาลของพระองค์ก็ทรงมัวหมองในฐานที่ไม่ทรงครองผ้ากาสวพัสตร์ตามประเพณีนิยมของสงฆ์ไทย แต่กลับไปทรงครองตามแบสงฆ์รามัญ ส่วนกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) พระอนุชาของเจ้าฟ้ามงกุฎ ก็ไม่ค่อยจะสนพระทัยในเรื่องราวใดๆ ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม เรื่องราวที่เล่ากันว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพยายามจะให้พระราชโอรสของพระองค์ได้ทรงครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระองค์นี้ น่าจะเป็นความจริงอยู่ไม่น้อย ในอดีตพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็มิได้พระราชทานความชอบเป็นพิเศษอะไรแก่พระราชโอรสนัก ในจำนวนพระราชโอรสทั้ง 22 พระองค์ ก็มีเพียง 2 พระองค์เท่านั้นที่ได้ทรงกรมและก็ได้เป็นกรมหมึ่น ยิ่งกว่านั้น พระองค์จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระราชโอรสพระองค์ใดเป็นรัชทายาท หรือจะทรงยกย่องพระชายาพระองค์ไหนขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชินี เพื่อให้พระราชโอรส ธิดา ได้ทรงดำรงฐานันดรศักดิ์เจ้าฟ้าพระองค์ก็ทรงกระทำได้ แต่พระองค์ก็หาได้ทรงกระทำไม่ หรือแม้แต่จะทรงแสดงพระราชประสงค์ให้พระราชโอรสพระองค์ใดพระองค์หนึ่งสืบราชสมบัติต่อจากพระองค์ พระองค์ก็มิได้ทรงยืนยันในเรื่องนี้เลย จึงปรากฏเป็นความจริงว่า พระองค์ทรงสนพระทัยในกิจการของบ้านเมืองเหนือเรื่องส่วนพระองค์ พระองค์ได้แต่ทรงพระราชปรารภอยู่เสมอว่า พระราชประสงค์แต่เพียงประการเดียวของพระองค์ คือ ให้การผลัดแผ่นดินเป็นไปด้วยความสงบและเรียบร้อยเท่านั้น

คณะเสนาบดีก็มิได้ปฏิบัติตามที่ทรงขอร้องให้แต่งตั้งผู้สืบสันตติวงศ์ ต่างพากันกราบบังคมทูลพระกรุณาว่าไม่เป็นการสมควรที่จะทำการในระหว่างที่ยังคงดำรงพระชนมชีพอยู่ แม้จะทรงพระประชวร แต่พระอาการของพระองค์ก็ยังไม่เป็นที่หมดหวัง กระนั้น พระองค์ก็ทรงผิดหวัง หากทรงปรารถนาที่จะให้คณะเสนาบดีเลือกพระราชโอรสพระองค์ใดพระองค์หนึ่งของพระองค์เป็นรัชทายาท ทั้งนี้เพราะคณะเสนาบดีต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจเจ้าพระยาพระคลัง ซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายสนับสนุนเจ้าฟ้ามงกุฎให้ได้ขึ้นครองราชย์ เจ้าฟ้าพระองค์นี้ทรงมีสิทธิ์อย่างสมบูรณ์ในราชสมบัติ เมื่อครั้ง พ.ศ. 2367 การเรียกร้องสิทธิ์อันนี้ไม่เคยลดน้อยถอยลงเลยตลอดรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กลุ่มของเจ้าพระยาพระคลัง ซึ่งเห็นควรให้เจ้าฟ้ามงกุฎได้ขึ้นครองราชย์ ยังได้รับการสนับสนุนจากพวกเจ้านายชั้นนำอีกหลายพระองค์ รวมทั้งพระอนุชาร่วมพระมารดาของพระองค์เอง และยังอาจมีกรมขุนเดชอดิศรและกรมขุนพิพิธภูเบนทร์อีกด้วย ทุกๆ พระองค์ได้เคยถูกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวหาว่าเป็นผู้อยากขึ้นเสวยราชย์มาก่อน

ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จะสวรรคต 1 สัปดาห์ พระองค์ทรงพระประชวรหนักจนไม่สามารถให้ใครเข้าเฝ้าได้ ทั้งไม่ทรงสามารถจะใช้อิทธิพลทางการเมืองใดๆ ได้อีก ความหวังที่พระราชโอรสของพระองค์อาจได้สืบราชสมบัติต่อจากพระองค์ จึงพลันสูญสลายไปสิ้น คือในวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2394 เจ้าพระยาพระคลังได้ทำให้ข้อกังขาใดๆ ที่อาจยังทรงมีอยู่หมดสิ้นไป โดยได้ทูลอัญเชิญอย่างเปิดเผยให้เจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จขึ้นครองราชย์ เจ้าฟ้าพระองค์นั้นก็มิได้ทรงปฏิเสธ ดังนั้น เจ้าพระยาพระคลังจึงส่งทหารเข้ารายล้อมพระอารามที่พระองค์ทรงผนวชอยู่ พอวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสู่สวรรคาลัย และในวันรุ่งขึ้น เจ้าฟ้ามงกุฎก็ได้เสด็จขึ้นครองราชย์”


บทวิเคราะห์


ถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นว่า End-game Strategy ของ ร.3 นั้นล้มเหลว เพราะผู้มีอำนาจในขณะนั้น ปฏิเสธที่จะทำตามพระราชประสงค์ ที่ต้องการจะให้พระราชโอรสของพระองค์ขึ้นครองราชย์ แต่กลับไปอัญเชิญเจ้าฟ้ามงกุฎ (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4) ขึ้นครองราชย์แทน

หากจะเข้าใจเรื่องนี้ ต้องย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น 27 ปี ตอนที่ ร.3 ได้ขึ้นครองราชย์ เนื่องเพราะการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากผู้มีอำนาจในขณะนั้น โดยผู้สนับสนุน “ฝ่ายเจ้า” ที่สำคัญก็คือ กรมหมึ่นศักดิพลเสพ สมเด็จอาของ ร.3 (ซึ่งหลังจากที่ ร.3 ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ก็ได้อุปราชาภิเษกให้เป็น พระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ “วังหน้า” ซึ่งสมัยนั้นถือเป็น “เบอร์ 2” รองจากพระมหากษัตริย์) และ “ฝ่ายขุนนาง” ที่สำคัญก็คือ สองพี่น้องตระกูลบุนนาค (ต่อมาในรัชกาลที่ 4 เป็น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์—ดิศ บุนนาค และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ—ทัต บุนนาค) ซึ่งยังคงเป็นขุนนางผู้กุมอำนาจสำคัญทั้งในตำแหน่งพระคลัง และสมุหกลาโหม ในช่วงปลายรัชกาลที่ 3 อยู่ด้วย

ช่วงปลายรัชกาลที่ 2 นั้น ผู้ที่อยู่ในข่ายที่จะสืบราชสันตติวงศ์คนสำคัญ คือเจ้าฟ้ามงกุฎ ซึ่งตอนนั้นอายุครบ 21 แล้ว และดำรงอิศริยยศเป็นถึง “เจ้าฟ้า” เพราะมีพระราชมารดาเป็นพระมเหสี ซึ่งถ้านับตามทฤษฎีแบบพราหมณ์ ถือว่าสูงกว่า ร.3 ในขณะนั้น ที่เป็นแต่เพียง “พระองค์เจ้า” ทว่า การที่ ร.3 ทรงพระราชสมภพก่อน และทรงมีประสบการณ์ในงานราชการมามากกว่าและยาวนานกว่า (ร.3 แก่กว่า ร.4 ถึง 15 ปี) ทำให้สามารถสะสมอิทธิพลและบารมีในหมู่ผู้กุมอำนาจรัฐขณะนั้นได้มากกว่า และการที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 มิได้ทรงเลือกผู้ที่จะสืบราชสมบัติไว้เหมือนกับที่พระราชบิดาทรงกระทำ ที่ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนาง ตลอดจนพระเถระชั้นผู้ใหญ่ จึงได้อัญเชิญให้พระองค์ท่าน (ขณะนั้น เป็น กรมหมึ่นเจษฎาบดินทร์) ทรงขึ้นครองราชย์ ตามราชประเพณีที่สืบมาแต่สมัยอยุธยา

ดังนั้น เมื่อขึ้นเป็นกษัตริย์แล้ว พระองค์จำต้อง Share อำนาจการเมืองกับฝ่ายเจ้าและฝ่ายขุนนางที่สนับสนุนและเป็นฐานอำนาจให้พระองค์ก้าวขึ้นสู่ราชบัลลังก์ได้ พระองค์ทรงตั้งให้สมเด็จอาเป็น “วังหน้า” ซึ่งเป็นตำแหน่งรัชทายาทในทันที อีกทั้งยังปูนบำเหน็จให้ขุนนาง ทำให้ฐานอำนาจของขุนนางตระกูลบุนนาคเป็นปึกแผ่นและเข้มแข็งขึ้นไปอีกในรัชสมัยของพระองค์ แต่เมื่อ “วังหน้า” สวรรคตลงระหว่างรัชกาล และการที่พระองค์ไม่ทรงแต่งตั้ง “วังหน้า” อีก ก็ทำให้ดุลอำนาจของฝ่ายขุนนางมีน้ำหนักยิ่งขึ้น ยิ่งต้องมาสูญเสียกรมหลวงรักษรณเรศร พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ก็ยิ่งทำให้อำนาจต่อรองของฝ่ายเจ้าลดน้อยถอยลงไปอีก เมื่อเทียบกับฝ่ายขุนนาง และปัจจัยสำคัญอีกอันหนึ่ง ก็คือเจ้าฟ้ามงกุฎ ซึ่งมีสิทธิในราชสมบัติ (แต่ถูกข้ามไป) ก็ยังคงดำรงพระชนมชีพอยู่ในสมณเพศ ตลอดรัชกาล

ดังนั้น เมื่อพระองค์ท่านไม่ทรงเลือกผู้ที่จะสืบราชสมบัติ ทำให้ผู้กุมอำนาจฝ่ายขุนนาง ซึ่งเป็นผู้กุมอำนาจการเมืองอย่างมีนัยสำคัญในช่วงนั้น กลายเป็นผู้ชี้ขาด และทำให้ราชสมบัติเปลี่ยนมือไปตกอยู่กับเจ้านายอีกสายหนึ่ง (ที่สืบต่อมาจนกระทั่งทุกวันนี้) อย่างที่ Walter Wella วิเคราะห์ไว้ ทั้งๆ ที่ตอนนั้น พระราชโอรสองค์สำคัญที่ทรงพระปรีชาสามารถ อย่าง กรมหมึ่นอมเรนทรบดินทร (พระองค์เจ้าคเนจร) และ กรมหมึ่นราชสีหวิกรม (พระองค์เจ้าชุมสาย) ก็มีประสบการณ์ช่ำชองในราชการงานเมือง พอสมควรแล้ว อันนี้ยังไม่นับพระอนุชาร่วมพระมารดาที่ร่วมบริหารราชการแผ่นดินมาอย่างใกล้ชิด อีกหลายพระองค์

การที่ขุนนางตระกูลบุนนาคได้กลายเป็นผู้ชี้ขาดสำคัญในขณะนั้น ก็ทำให้เกิดปัญหากับราชวงศ์จักรีสืบมา ซึ่งจะมาปะทุหนักและถึงจุดแตกหักในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 อย่างที่เราท่านทราบกันดีอยู่แล้ว จึงจะไม่ขอกล่าว ณ ที่นี้

***โปรดคลิกอ่านบทความเกี่ยวเนื่องได้จากลิงก์ข้างล่างนี้ครับ

****ศรีปราชญ์ ยักษ์ใหญ่ที่ไม่มีตัวตน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น