วันพุธที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ความมั่งคั่งเกิดจากการออม ไม่ใช่การใช้จ่าย



ท่านผู้อ่านที่รู้เรื่องราวในประวัติศาสตร์มาบ้างย่อมทราบดีว่า ในสมัยโบราณนั้น คนที่เป็นหนี้สินล้นพ้นตัวและไม่มีปัญญาจ่ายคืน สุดท้ายมักต้องยอมตัวลงเป็นทาส

ในทางการเงินเราเรียกหนี้สินว่า Leverage”

อุปมาเหมือน "คานงัด" ที่ช่วยผ่อนแรง แบบที่อาร์คีมิดีสเคยเปล่งวาจาไว้อย่างอหังการ์ว่า "Give me a lever long enough and a fulcrum on which to place it, and I shall move the world.” ("หาคานงัดที่ยาวพอแล้ววางบนจุดหมุนที่เหมาะเจาะ (นอกโลก) แล้วข้าฯ จะงัดโลกนี้ให้ดู”)

แม้มันจะไม่ใช่ "ยูเรก้าโมเม้นต์" แต่มันก็เป็นคานงัดที่ช่วยผ่อนแรงมนุษย์ เสมือนมันกำลังช่วยผ่อนภาระการเงินของเราให้เบาลง เพราะ "หนี้สิน" นั้น ถือเป็นเงินของ "คนอื่น" หรือที่เรียกเป็นภาษากฎหมายว่า "เจ้าหนี้" นั่นเอง

เป็นการเอาเงินของคนอื่นมาช่วยผ่อนแรง ช่วยถัวมิให้ต้องใช้เงินส่วนตัวแยะเกินไปในการลงทุน

เพราะการลงทุนมีความเสี่ยง

ดังนั้น ตราบใดที่ผลตอบแทนในการลงทุนสูงกว่าดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้กับเจ้าหนี้ ท่านให้ถือว่าการก่อหนี้ยังทำได้ และคุ้มค่าที่จะก่อหนี้ต่อไป

เช่น นาย ก. กู้เงินนาย ข. ด้วยอัตราดอกเบี้ย 10% ต่อปี เพื่อนำมาลงทุนทำการค้าที่ได้รับอัตราผลตอบแทน 15% ต่อปี แบบนี้ก็ถือว่าการกู้หนี้ครั้งนี้สมเหตุสมผล เพราะนาย ก. ยังได้ผลตอบแทนสุทธิ 5% ในขณะที่นาย ข. ก็ได้ด้วย ดีกว่านำเงินไปฝังดินไว้เฉยๆ

ที่สำคัญ ทฤษฎีการเงินสมัยใหม่ค้นพบว่า "ต้นทุนของหนี้" หรือ Cost of Debt ต่ำกว่า "ต้นทุนของทุน" หรือ Cost of Equity

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่นักการเงินนิยมใช้เงินกู้ในสัดส่วนที่มากกว่าทุนจดทะเบียนตอนที่ต้องลงทุนทำโครงการใหญ่ๆ เพราะถือว่าต้นทุนของหนี้ต่ำกว่าการระดมทุนโดยการเพิ่มทุนหรือการนำหุ้นสามัญออกขายนั่นเอง (เพราะดอกเบี้ยนำไปหักภาษีได้ แต่การเพิ่มทุนจะทำให้สูญเสียความเป็นเจ้าของไปบางส่วนและยังต้องจ่ายเงินปันผลอีกเรื่อยๆ ในอนาคต)

ทว่า ความจริงอันนี้ย่อมใช้ไม่ได้กับหนี้สินที่กู้มาเพื่อการบริโภค

เพราะการบริโภคย่อมมิได้สร้างผลตอบแทน ดังนั้น ผู้กู้หรือลูกหนี้ย่อมต้องกันเงินจากรายได้ประจำส่วนหนึ่งเพื่อจ่ายชำระดอกเบี้ยและเงินต้น

ชีวิตของลูกหนี้ย่อมต้องผูกพันและพัวพันอยู่กับการชำระหนี้ก้อนนี้ (และดอกเบี้ยที่จะงอกเงยขึ้นทุกวันๆ) อยู่อีกระยะเวลาหนึ่ง

ยิ่งถ้าคนๆ นั้น ก่อหนี้หลายก้อนและมีมูลค่าหนี้สูง ชีวิตของเขาย่อมต้องพัวพันไม่มีที่สิ้นสุด รายได้ที่เขาหามาได้ ทั้งที่เป็นรายได้ประจำเดือนและรายได้พิเศษ ย่อมถูกกันส่วนไว้มากขึ้น เพื่อไปชำระหนี้ แทนที่เขาจะนำรายได้ก้อนนั้นไปออม เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเองและครอบครัว

คนบางคนที่ไม่มีวินัยในการใช้จ่าย ก็นิยมก่อหนี้ก้อนใหม่เพื่อมาจ่ายหนี้ก้อนเดิม ตัดโน่นโปะนี่ Roll Over ไปเรื่อยๆ ดอกเบี้ยทับถมไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด แล้วสุดท้ายก็กลายเป็นอิรุงตุงนัง เมื่อเผชิญกับวิกฤติหรือเจอปัญหารายได้ลดลง ก็เลยแก้ปัญหาหนี้สินไม่ตก จนถึงกับล้มละลาย หรือฆ่าตัวตายไปก็มี

จะเห็นว่าหนี้ส่วนบุคคลและหนี้ครัวเรือนที่กู้มาเพื่อการบริโภคนั้น นับเป็นการ "บั่นทอนกำลัง" หรือทอนพลังการออมและการบริโภคลงไปอย่างชัดเจน

จึงไม่แปลกที่ธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักวิจัยสำคัญๆ เริ่มกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้ครัวเรือนของสังคมไทยในขณะนี้

ผลงานวิจัยของศูนย์เศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ล่าสุด เปิดเผยให้เห็นว่าการเติบโตของหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของเราในรอบ 4 ปี ตั้งแต่ปี 2553-2556 สูงถึง 19.3% สูงกว่าทุกชาติในอาเซียน ส่งผลให้อัตราหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของเราไต่ระดับขึ้นไปถึง 83% เท่ากับสหรัฐอเมริกาและมากกว่าญี่ปุ่นที่มีอัตราส่วนเพียง 75%

แสดงว่าคนไทยใช้ชีวิตในเชิงบริโภคเหมือนคนอเมริกันเลยทีเดียว

สิ่งที่รัฐบาลกังวลอยู่ในขณะนี้คืออัตราหนี้ครัวเรือนระดับนี้มันบั่นทอนการบริโภค เพราะเมื่อคนได้รับเงินเดือนหรือรายได้เข้ามา ก็ต้องนำมาจ่ายหนี้ และเหลือไปบริโภคสิ่งจำเป็นก็หมดแล้ว ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมซบเซา เพราะแม้คนอยากใช้จ่าย แต่ก็หมดปัญญา เพราะต้องใช้หนี้ก่อน

งานวิจัยของไทยพาณิชย์แสดงให้เห็นชัดเจนว่ารายได้ 10 บาทของประชาชนผู้มีหนี้สินนั้น ต้องถูกกันไว้ถึง 4.6 บาทเพื่อการใช้หนี้สำหรับผู้มีหนี้สินมาก และ 3.3 บาทสำหรับผู้มีหนี้สินปานกลาง และ 2.2 บาทสำหรับผู้มีหนี้สินน้อย

ยิ่งออมเร็วยิ่งมั่งคั่ง

ถ้าเรามองอีกแง่หนึ่ง เราจะเห็นได้ชัดเจนว่าการออมของประชาชนย่อมลดลงจากการมีภาระหนี้ครัวเรือน

และคงไม่มีใครเถียงว่า "การออมเป็นหนทางไปสู่ความมั่งคั่ง” ดังนั้น ความมั่งคั่งย่อมต้องลดลงไปด้วยในระยะยาว

แน่นอนว่าในโลกทุนนิยมสมัยใหม่นั้น หนทางไปสู่ความมั่งคั่ง หรือ Wealth Building Style ของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันและหลากหลาย

กองทุนระดับโลก ถึงกับต้องจ้างกองทัพผู้สำเร็จปริญญาเอกทางด้านฟิสิกซ์หรือคณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์มาเพื่อเขียนโมเดลการลงทุนในสินทรัพย์อันหลากหลายบนโลกใบนี้ ซึ่งสามารถซอยย่อยออกเป็น Asset Classes ที่ซับซ้อน 

ทั้งหุ้นสามัญ หุ้นกู้ หุ้นกู้มีประกัน ไม่มีประกัน หุ้นกู้ขยะ พันธบัตรรัฐบาล ตราสารอนุพันธ์ อนุพันธ์บนอนุพันธ์ุ ทองคำ สินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้า ออฟชั่น อัตราแลกเปลี่ยน ฯลฯ หรือแม้กระทั่งของสะสมอย่างงานศิลปะหรือแสตมป์หรือวิสกี้หรือไวน์ ก็ยังมีคนเสนอขายกองทุนรวมเพื่อลงทุนในมันโดยเฉพาะ

แต่ถึงแม้สไตล์และเทคนิคการสร้างความมั่งคั่งของโลกสมัยใหม่จะซับซ้อนเพียงใด ก็ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า "การออมคือพื้นฐานของความมั่งคั่ง"

ยิ่งออมเร็วเท่าไหร่ ถี่เท่าไหร่ ความมั่งคั่งย่อมทับถมขึ้นเป็นเงาตามตัวในระยะยาว และจะทับถมขึ้นเป็นอัตราเร่งเมื่อจำนวนเงินออมเพิ่มขึ้นในระดับที่มากพอ

เรียกว่า "ยิ่งมายิ่งพอกพูน ยิ่งมายิ่งมั่งคั่ง"

ดังนั้นคนที่ออมเงินมาตั้งแต่เด็กและทำมาเรื่อยๆ จนแก่เฒ่า พวกเขาย่อมมีเงินกองกลางที่พอกพูนขึ้นหลายร้อยหรืออาจจะหลายพันหลายหมึ่นเท่าเลยก็เป็นได้

ความลับของมันคือ "การทบต้นทบดอก" หรือที่รู้จักกันดีในหมู่นักลงทุนมืออาชีพว่า Compound Interest” ซึ่งหมายความว่าคุณจะได้ผลตอบแทน (ดอกเบี้ย) บนผลตอบแทน (เพราะดอกเบี้ยงวดแรกจะกลายเป็นเงินต้นในงวดที่สอง...) ทบต้นทบดอกไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ

คนที่ตระหนักถึงพลังของมันล้วนเป็นเศรษฐีไปแล้ว

Warren Buffet อภิมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของอเมริกา เคยกล่าวถึงปัจจัยแห่งความมั่งคั่งของตัวเองไว้ว่า "My wealth has come from a combination of living in America, some lucky genes, and a compound interest.”

มีนิทานเรื่องหนึ่งที่มักเล่ากันในหมู่นักลงทุนเพื่อชี้ให้เห็นพลังของ "การทบต้นทบดอก"

ฮ่องเต้กับชายผู้ประดิษฐ์หมากรุก ซึ่งฮ่องเต้ตกลงจะปูนบำเหน็ดตามที่ชายผู้นี้ขอโดยมิทันคิดให้ละเอียดและมิได้เฉลียวใจถึงพลังแห่ง Compound ว่าชายผู้นั้นขอเพียงเมล็ดข้าว 1 เมล็ด ประเดิมเป็นเมล็ดแรกวางไปบนตารางแรกของกระดานหมากรุก แล้วขอให้เพิ่มเมล็ดข้าวอีกเท่าตัวในตารางต่อๆ ไป

หมายความว่าเขาจะมีเมล็ดข้าว 2 เมล็ดในตารางที่สอง และมี 4 เมล็ดในตารางที่สาม และมี 16 เมล็ดในตารางที่สี่ และมี 32 เมล็ดในตารางที่ห้า และมี 64 เมล็ดในตารางที่หก และมี 128 เมล็ดในตารางที่เจ็ด และมี 256 ในตารางที่แปด และมี 512 ในตารางที่เก้า และมี 1,024 เมล็ดในตารางที่สิบ....ทบต้นทบดอกไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายไปจบที่ 18 ล้านล้านเมล็ด เมื่อครบทั้งกระดาน

สุดท้ายฮ่องเต้ก็เบี้ยวและขอเปลี่ยนข้อตกลงใหม่ ซึ่งเขาได้รับที่ดินและที่นาจำนวนมากไปแทน

หรือถ้าคิดอีกแบบง่ายๆ ว่าถ้าเราลองวางเงินลงทุนก้อนแรก 1 บาท แล้วสมมติว่าได้ผลตอบแทนเท่าตัวทุกๆ ปีที่เรา Re-invest ดังนั้นเงินต้นของเราก็จะเพิ่มขึ้นเป็นขั้นเป็นตอนดังนี้ 1, 2, 4, 6, 8, 16, 32, 64.....จนกระทั่งถึงการลงทุนในปีที่ 31 จำนวนเงินต้นก็จะเพิ่มเป็นมากกว่า 1,000,000,000 บาท

ไม่เลวเลยใช่ไหม?

การทบต้นทบดอก" เป็นแนวคิดในการลงทุนแบบใช้ "เงินต่อเงิน" ให้ได้ผลตอบแทนบนผลตอบแทน (หรือในทางตรงกันข้ามหากโชคไม่ดีก็จะ "ขาดทุนบนผลขาดทุน") ดีกว่าการได้รับผลตอบแทนจากเงินต้นโดยตรง โดยไม่มีการทบดอก

ความพิเศษของแนวคิดนี้อยู่ที่ว่า แม้อัตราผลตอบแทนจะเท่ากันทุกปี แต่ถึงอย่างไรผลตอบแทนที่ได้เป็นเงินสดกลับมาก็จะมากกว่าเดิมอยู่ดี (เพราะมันเอาดอกเบี้ยของปีก่อนหน้าทบไปเป็นเงินต้นของปีนี้แล้วคำนวณดอกเบี้ยของปีนี้จากฐานเงินต้นที่เพิ่มขึ้นนั้น)

ทว่า คุณจะต้องรู้จักอดทน อดทนรอคอยให้มันออกดอกออกผล เพราะพลังของมันจะยิ่งเพ่ิมขึ้นอย่างก้าวกระโดดในระยะหลังเท่านั้น

ดังนั้น ยิ่งคุณออมเร็วเท่าไหร่ และบ่อยครั้งเท่าไหร่ พลังแห่งการทบต้นทบดอก ก็จะออกผลให้เห็นเร็วขึ้นเท่านั้น

นั่นแหละคือ "ความลับ" ของการออม

การสอนลูกหลานให้รู้จักออม (ออมให้สม่ำเสมอ ยิ่งถี่ยิ่งดี ถ้ามีกำลังพอ) จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้อง

หากพิจารณาในเชิงส่วนตัวหรือในเชิงของการสร้างความมั่งคั่งส่วนบุคคลแล้ว "การออมย่อมดีกว่าการใช้จ่าย"

แต่ถ้าทุกคนพากันออมพร้อมกันหมดโดยไม่มีใครยอมใช้จ่ายเลย รัฐบาลก็คงไม่ชอบใจเป็นแน่

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
21 พ.ย. 57
ขอบคุณภาพประกอบจาก:
www.linkedin.com/pulse/article/20140707144749-8353952-the-one-word-answer-to-why-bill-gates-and-warren-buffett-have-been-so-successful

วันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

สำลักสินบน



ผมเห็นโคตรสมบัติของแก๊งอดีตนายพลสอบสวนกลางแล้ว รู้ทันทีว่านายตำรวจพวกนี้ไม่รู้เรื่องการเงินเอาเสียเลย

พวกเขาเก่งในการหาทรัพย์ แต่ไม่รู้จักวิธีใช้ทรัพย์และรักษาทรัพย์แบบฉลาดๆ ได้แต่นำไปซื้อของหรูหรา เช่นรถยนต์และมอเตอร์ไซด์หรู บ้านและเพนท์เฮ้าส์จำนวนมาก ที่เหลือก็แปลงเป็นพระเครื่องและพระบูชา ภาพวาด ทองแท่ง เครื่องประดับ แสตมป์ทอง และของสะสมต่างๆ โดยหลายอย่างเก็บแบบตามมีตามเกิด (เท่าที่เห็นในรูป ผมว่าของเหล่านั้นมีค่าเป็นพิพิธภัณฑ์ได้สบายเลย) และดูเหมือนว่าทั้งหมดนั้นฝังไว้ในห้องนิรภัยใต้ดินเสียเป็นส่วนใหญ่

นอกจากนั้นก็คงมีเงินบาทและเงินดอลล่าร์เป็นฟ่อนๆ แอบใส่ตู้เซฟฝังไว้ตามพื้นบ้าง กำแพงบ้าง ห้องลับบ้าง

พวกเขาเหล่านี้แม้จะคอรัปชั่นมานานจนรวบรวมทรัพย์สินได้มากมายมหาศาล แต่ก็มีปัญหาในเรื่องการรักษาทรัพย์สิน การบริหารทรัพย์สิน และการจะนำทรัพย์สินเหล่านั้นออกมาใช้สอย

ทั้งๆ ที่ตัวเองควบคุมงานอาชกรรมทางเศรษฐกิจไว้ในมือแท้ๆ น่าจะรู้เทคนิคต่างๆ ดีกว่าใคร

ข้าราชการระดับสูงของไทยที่รับเงินสินบนจำนวนมากๆ มักตายน้ำตื้น เพราะครั้งก่อนเราก็เห็นอดีตปลัดกระทรวงคมนาคมเก็บเงินสดไว้ที่บ้านเป็นกองๆ แบบนี้มาเหมือนกัน

กลายเป็น "สำลักสินบน"

พวกเขาไม่รู้จักใช้กลไกของระบบทุนนิยมสมัยใหม่อย่างตลาดหุ้น และบริการของ Tax Haven อย่างสิงค์โปร์ ฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ หรือเกาะหลายเกาะในแคริเบียนและบาฮามา เป็นต้น

นับว่าล้าสมัยกว่าทหารพม่าเป็นไหนๆ เพราะอย่างน้อยพวกเหล่านั้นก็รู้จักใช้บริการของ Private Banking และ Wealth Management ในสิงค์โปร์ให้ช่วยฟอกเงินให้

การฝากเงินในสิงค์โปร์เดี๋ยวนี้ทำได้ง่ายๆ และสามารถฝากได้ 12 สกุลเงินรวมทั้งเงินบาทด้วย เพียงพวกเขาเลือกรับสินบนเป็นเงินโอนนอกประเทศ ก็คงตรวจสอบได้ยากกว่านี้มาก

นักการเมืองพวกที่ "เป็นมวย" มักรับสินบนเป็นเงินโอนนอกประเทศ แต่ถ้าจำเป็นต้องมีการแอบเอาเงินออกจำนวนมาก ก็เลี่ยงไปรับเป็นใบหุ้นแทน เช่นหุ้นของบริษัท ปตท. ปูนซีเมนต์ หรือของแบงก์และบริษัทสื่อสารต่างๆ ซึ่งเป็นที่นิยมของนักลงทุนต่างประเทศ แล้วให้นอมินีนำออกไปที่ฮ่องกงหรือสิงค์โปร์ เพื่อฝากโบรกเกอร์สำคัญๆ ขายเข้ามาอีกทอดหนึ่ง โดยเงินสดที่ได้ก็จะฝากไว้ยังต่างประเทศเลย และพอลูกไปเรียนเมืองนอกหรือตอนแอบไปเมืองนอกหรือตอนเกษียณแล้วก็ค่อยไปใช้ชีวิตกันให้สบาย

อีกวิธีหนึ่งที่สมัยก่อนใช้กันแยะคือการเปิดบริษัทลม (บางทีก็เรียกเก๋ๆ ว่า SPV) ไว้ในต่างประเทศ ถ้าเปิดหลายบริษัทก็ให้ไขว้หุ้นกันไปกันมาเพื่อให้ตรวจสอบยาก แล้ววางบิลมาเป็นค่าที่ปรึกษาหรือค่า Software แล้วทางเมืองไทยค่อยโอนจ่ายไปตามนั้น แต่วิธีนี้น่าจะเลิกใช้กันแล้วเพราะเสี่ยงและมีหลักฐานตรวจสอบได้ไม่ยาก

แต่คิดอีกที ก็ดีเหมือนกันที่ตำรวจระดับสูงไม่รู้เรื่องการเงินมากนัก เพราะแค่นี้ประชาชนก็จะรับกันไม่ไหวอยู่แล้ว

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
25 พ.ย. 2557
ภาพประกอบจาก เว็บไซต์มติชน www.matichon.co.th 
ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย

วันจันทร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

อนาคตอันใกล้ของญี่ปุ่นที่น่าสนใจ



ชินโสะ อาเบะ ตัดสินใจยุบสภาฯ แล้ว เมื่อเช้าวันนี้เอง

สะท้อนว่า นโยบาย “พระรามแผลงศร” หรือที่ฝรั่งพากันเรียกว่า “Abenomics” ของเขาส่วนใหญ่ล้มเหลว ส่งผลให้คะแนนนิยมตกต่ำลง

เดี๋ยวนี้ นักเศรษฐศาสตร์ต่างพากันพูดถึง “Triple Dip Recession” กันแล้ว เพราะเศรษฐกิจไตรมาส 3 ของญี่ปุ่นโตได้เพียง 1.6% ทั้งๆ ที่คาดการณ์ก่อนหน้านั้นกะว่าจะโตถึง 2.2% และรายได้ครัวเรือนก็ลดลงด้วย (ตั้งแต่อาเบะเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนธันวาคม 2555 รายได้ครัวเรือนลดลงกว่า 6%) ในขณะที่การจ้างงานไม่ดีขึ้นเลย

ทว่า มีสิ่งหนึ่งที่เขาทำสำเร็จคือการทำให้เงินเยนอ่อนตัวลง

ยุทธวิธีนี้เคยใช้ได้ผลมาแล้วสมัยที่ญี่ปุ่นกำลังฟื้นฟูชาติหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนนั้นรัฐบาลและธนาคารชาติแทรกแซงค่าเงินเยนสุดฤทธิไม่ให้แข็งค่า เพื่อช่วยให้กิจการของเอกชนส่งออกได้ แถมยังใช้กลยุทธ์ราคาเพื่อขยายตลาด เพิ่ม Market Share ในตลาดโลกอย่างช้าๆ

ทว่า คราวนี้ นโบายแบบเดียวกันนั้นกลับใช้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร ดูได้จากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นที่ไม่เพิ่มขึ้นเลยในรอบหลายปีมานี้

นั่นอาจเป็นเพราะประจวบเหมาะกับเศรษฐกิจโลกซบเซาด้วย นับเป็นโชคร้ายของนายกรัฐมนตรีอาเบะ

แต่ที่แย่ยิ่งกว่านั้น คือเงินเยนที่ลดค่าลง กลับส่งผลข้างเคียงอันไม่พึงปรารถนากับเศรษฐกิจเข้าให้อีก กล่าวคือ ญี่ปุ่นนั้นไม่เพียงขายของ แต่ยังต้องซื้อวัตถุดิบนำเข้าจำนวนไม่น้อยด้วย เงินเยนที่อ่อนค่าลงเกือบ 24% (เมื่อเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐฯ) ตั้งแต่อาเบะเข้ารับตำแหน่งเมื่อธันวาคม 2555 กลับทำให้ราคาวัตถุดิบและพลังงานที่ต้องนำเข้า (เช่นน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) สูงขึ้นด้วย

ค่าเงินที่ถูกลงยังส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคญี่ปุ่นที่เคยซื้อของต่างประเทศด้วยราคาที่ถูกกว่านี้ลดลงไปพร้อมกัน และแม้ว่าค่าเงินที่อ่อนลงนี้จะทำให้ค่าแรงของคนงานญี่ปุ่นถูกลงโดยเปรียบเทียบ ทว่าการจ้างงานก็ไม่ดีขึ้น เพราะอาจเป็นได้ว่ากิจการที่เป็นหัวหอกของญี่ปุ่นล้วนย้ายฐานไปตั้งอยู่นอกประเทศตั้งแต่สมัยที่เงินเยนแข็งค่าอันเนื่องมาแต่ข้อตกลง Plaza Accord โน่นแล้ว จึงสามารถเข้าถึงแรงงานราคาถูกนอกประเทศได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมาใช้แรงงานที่เป็นคนญี่ปุ่นสักเท่าใดนัก


ดังนั้น ค่าเงินที่อ่อนลงเลยกลับพลิกให้ดุลการค้าที่เคยได้ดุลมาตลอดกลับกลายเป็นเสียดุล เพราะขายของส่งออกไม่ได้แต่ต้องซื้อของนำเข้าด้วยราคาแพง (เมื่อปี 2553 ญี่ปุ่นมียอดเกินดุลการค้าถึง 5 ล้านล้านเยน แต่กลับขาดดุลการค้าถึง 11 ล้านล้านเยนในปีนี้) ส่งผลให้รายได้ของธุรกิจเอกชนตกลง และกระทบต่ออัตราเงินออมของประเทศที่เคยสูงถึง 10% ในสมัยก่อนปี 2543 (ค.ศ.2000) มาเหลือแค่ 3% ในขณะนี้ และทำท่าว่าจะลดลงไปอีก


อย่าลืมว่าในอดีต เศรษฐกิจญี่ปุ่นเคยรุ่งเรืองโดยมีกำไรของภาคเอกชนและอัตราการออมที่สูงของประชาชนเป็นตัวกระตุ้นหลัก ดังนั้นเมื่อสองเสาหลักนี้ง่อนแง่น กลยุทธ์การเติบโตจึงต้องหันไปพึ่งพาการอัดฉีดของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบาย QE ที่เน้นการพิมพ์เงินฉีดเข้าไปในระบบเศรษฐกิจโดยผ่านโครงการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลของธนาคารชาติ และล่าสุดธนาคารชาติญี่ปุ่นเริ่มขยายขอบข่ายการอัดฉีดเข้าไปในตลาดหุ้นโดยตรง ด้วยการเข้าซื้อกองทุน ETFs และ REITs แล้วด้วย

จนถึงขณะนี้ยอดหนี้สาธารณะของญี่ปุ่นสูงจนคิดเป็นเกือบ 250% ของ GDP แล้ว และถ้านับตั้งแต่ธนาคารชาติญี่ปุ่นเริ่มนโยบาย QE เมื่อปี 2544 เป็นต้นมา ว่ากันว่าปริมาณเงิน (Monetary Base) โดยคร่าวๆ เพิ่มขึ้นเกือบ 60% แล้ว

สถานการณ์แบบนี้ (ประกอบกับอัตราการเกิดที่่ต่ำลง) ยังส่งผลให้ฐานภาษีของรัฐบาลหดตัวลง จนต้องหาทางเพิ่มเอาจากภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรที่เรียกเก็บจากการขายสินค้า ซึ่งความคิดอันนี้แหละที่กลายเป็นจุดอ่อนของนายกฯ อาเบะ


ดูๆ ไปแล้ว โอกาสที่รัฐบาลจะลดปริมาณหนี้ลงคงเป็นไปได้ยากในระยะสั้น อีกทั้งภาคเอกชนและประชาชนยังเรียกร้องให้อัดฉีดแรงขึ้นไปอีก

นั่นคงพอจะมองเห็นได้ไม่ยากว่า หากอาเบะอยากได้รับเลือกตั้งกลับมาอีกในกลางเดือนหน้า เขาต้องสัญญาว่าจะใช้ยาแรงยิ่งกว่านี้

นัยยะของสถานการณ์แบบนี้ทำให้เราเห็นได้ค่อนข้างชัดว่าโอกาสที่จะได้เห็นเศรษฐกิจญี่ปุ่นพลิกฟื้นในระยะอันใกล้นี้ยังริบหรี่เต็มที

แต่สิ่งที่จะดีคือตลาดหุ้นญี่ปุ่นนั่นเอง

ดังนั้น ชาวเราที่คิดจะลงทุนในหุ้นต่างประเทศ อาจถึงเวลาที่จะตัดสินใจเข้าลงทุนในตลาดญี่ปุ่นได้อย่างค่อนข้างวางใจ เพราะนอกจากธนาคารชาติมีแนวโน้มจะเข้ามาในตลาดหุ้นโดยตรงแล้ว ตลาดญี่ปุ่นเองก็มีราคาถูกลงมาแยะแล้ว และถูกกว่าตลาดสหรัฐฯ ในขณะที่ตลาดยุโรปยังไม่น่าสนใจ

MBA Magazine
21 พ.ย. 2557

วันจันทร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

"อาณาจักรเงินหยวน" และการหยุด QE กับผลกระทบต่อพวกเรา




การผงาดขึ้นมาของจีนย่อมท้าทายสหรัฐอเมริกาในทุกๆ ด้าน


หลายปีมานี้ หลังจากที่จีนร่ำรวยขึ้น มีความช่ำชองมากขึ้น และเริ่มมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น จีนได้พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะดิ้นให้หลุดพ้นจากการครอบงำและเอาเปรียบของสหรัฐฯ ในเชิงการเงิน โดยสร้าง "อาณาจักรเงินหยวน" ขึ้นมาเป็นเขตอิทธิพลของตัวเอง


ผมขอแสดงให้เห็นจากข้อมูลที่เราได้รวบรวมมาดังนี้


ก้าวแรกของการสร้าง "อาณาจักรเงินหยวน" ของจีน น่าจะเริ่มจากข้อตกลงระหว่างรัสเซียกับจีนที่จะค้าขายระหว่างกันโดยไม่ใช้เงินดอลล่าร์ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 2553 ครั้งที่ประธานาธิบดีปูตินและนายกรัฐมนตรีเหวิน เจียเป่า ได้แถลงร่วมกันว่าจีนกับรัสเซียบรรลุข้อตกลงที่จะจ่ายชำระราคาค่าสินค้าบางชนิดด้วยเงินหยวนและเงินรูเบิ้ล


นั่นเป็นครั้งแรกที่จีนและรัสเซียประกาศท้าทายความเป็นใหญ่ของเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ในทางปฏิบัติอย่างเป็นทางการ


และในช่วงต้นปี 2555 จีนก็ได้บรรลุข้อตกลงกับญี่ปุ่นในทำนองเดียวกัน โดยเพิ่มเติมเนื้อหาว่าคู่ค้าของทั้งสองประเทศจะสามารถคิดคำนวณราคาสินค้าและบริการเป็นเงินสกุลเยนและหยวนและชำระหรือหักกลบลบกันได้โดยตรงระหว่างสองสกุลโดยไม่ต้องผ่านเงินดอลล่าร์อย่างที่ผ่านมา ข้อตกลงนี้นับเป็นครั้งแรกที่จีนยอมให้มีการสว้อปเงินหยวนกับเงินสกุลอื่นนอกเหนือไปจากดอลล่าร์สหรัฐฯ โดยสถาบันการเงินทั่วโลกสามารถทำสว้อปเงินหยวน/เยน หรือ เยน/หยวน ได้ทั้งที่ตลาดโตเกียวและเซี่ยงไฮ้



ข้อตกลงนี้ส่งผลให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องเพิ่มเงินหยวนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทุนสำรองระหว่างประเทศ โดยรัฐบาลญี่ปุ่นได้เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลจีนเป็นเงิน 65,000 ล้านหยวน (หรือประมาณ 10,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ณ อัตราแลกเปลี่ยนขณะนั้น) และถึงแม้ทุนสำรองก้อนนี้จะคิดเป็นสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับทุนสำรองทั้งก้อนของญี่ปุ่นที่มีมูลค่าเกือบๆ 1.3 ล้านล้านเหรียญฯ ทว่า มันก็เป็นก้าวย่างที่สำคัญ เพราะมูลค่าทางการค้าระหว่างจีนกับญี่ปุ่นในแต่ละปีมีไม่น้อยเลย และก็ถือเป็นอีกก้าวย่างสำคัญอีกก้าวหนึ่งที่ท้าทายอำนาจของเงินดอลล่าร์ เพราะอย่าลืมว่าจีนกับญี่ปุ่นต่างมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองและสามของโลก (แม้มิตรภาพระหว่างจีนกับญี่ปุ่นยังไม่ราบรื่นเพราะความขุ่นข้องหมองใจกันในเรื่องอดีตก็ตามที)




หลังจากนั้น จีนก็ได้ยึดแนวทางแบบที่ทำกับญี่ปุ่นเพื่อขยายไปสู่ข้อตกลงกับประเทศคู่ค้าอื่นๆ ทั่วโลก เช่นในการเดินทางเยือนชิลีอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีเหวินเมื่อเดือนมิถุนายน 2555 ท่านก็ได้เสนอให้ทั้งสองประเทศทำข้อตกลง Currency Swap ระหว่างเงินเปโซของชิลีกับเงินหยวน เป็นต้น

และในราวปลายปีกลาย จีนกับเกาหลีใต้ก็ได้บรรลุข้อตกลงทางการเงินร่วมกันในประเด็นที่ว่าต่อแต่นี้ไปธนาคารพาณิชย์ของทั้งสองประเทศจะสามารถทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับการชำระราคาสินค้านำเข้าส่งออกและบริการระหว่างสองสกุลเงินได้โดยตรงกับธนาคารชาติของตัวเอง ภายใต้ข้อตกลงที่ธนาคารชาติของทั้งสองประเทศได้ทำสัญญาสว้อประหว่างกันไว้ในวงเงิน 64 ล้านล้านวอน (หรือประมาณ 59,000 ล้านเหรียญฯ ณ อัตตราแลกเปลี่ยนขณะนั้น)
ที่สำคัญ ก่อนหน้านั้นนิดหน่อย ในเดือนกันยายน 2556 รัฐบาลจีนได้ออกแถลงการณ์สำคัญว่านับแต่นี้ไปจะอนุญาติให้ธนาคารในประเทศจีนสามารถทำธุรกรรมกับคู่ค้าทั่วโลกที่ต้องการซื้อขายน้ำมันดิบโดยใช้เงินหยวนแทนเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ

และเพื่อรองรับนโยบายเพิ่มพลังและอิทธิพลของเงินหยวนในระดับโลกนี้ รัฐบาลจีนได้เปิดศูนย์ซื้อขายแลกเปลี่ยน (ของทุกธุรกรรมที่ซื้อขายกันด้วยเงินหยวน) ขึ้นที่สองศูนย์กลางการเงินของโลกคือลอนดอนและแฟรงก์เฟริต

ปีนี้รัฐบาลจีนได้เริ่มขยายเครือข่ายความสัมพันธ์เชิงการเงินให้กว้างไกลขึ้นไปอีก คือในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐบาลจีนก็ได้ตกลงทำสัญญา Currency Swap กับธนาคารชาติสวิตเซอร์แลนด์ (Swiss National Bank) เป็นเงิน 150,000 ล้านหยวนต่อ 21,000 สวิสฟรังค์ (คิดเป็นประมาณ 23,000 ล้านดอลล่าร์) โดยผลพวงอันดับแรกที่ได้คือการเปิดโอกาสให้ธนาคารชาติสวิสสามารถเข้าไปลงทุนโดยตรงในตลาดพันธบัตรของจีนได้ ทั้งในแง่ของการลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนและในแง่ของการนำมาเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศเพื่อรองรับการค้าขายระหว่างกันของภาคเอกชน

หลังจากนั้นในเดือนตุลาคมที่เพิ่งผ่านมา นายกรัฐมนตรีลีเซียนลุงแห่งสิงคโปร์ก็ได้ประกาศว่าหลังบรรลุข้อตกลงว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือทางการเงินกับรัฐบาลจีนในระหว่างการพบหารือทวิภาคีกับผู้นำจีนที่นครซูโจวเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2557 แล้ว ก็ได้บรรลุข้อตกลงสองฝ่ายว่านับแต่นี้เป็นต้นไป การค้าขายรวมถึงการทำธุรกรรมการเงินโดยตรงระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนของทั้งสองประเทศจะใช้สื่อกลางเป็นเงินหยวนและเงินดอลล่าร์สิงคโปร์เพียงสองสกุลเท่านั้น จะไม่มีการนำเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ มาใช้เป็นสื่อกลางอีกต่อไป

ก้าวสำคัญยิ่งของปีนี้ที่ถือเป็นการท้าทายอำนาจของเงินดอลล่าร์อย่างมีนัยสำคัญคือการที่กลุ่มประเทศ BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และอาฟริกาใต้) ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันในเดือนกรกฎาคม 2557 ในคราวประชุมสุดยอดที่เมือง Fortaleza ประเทศบราซิล ด้วยข้อตกลงใหญ่ๆ สองเรื่องด้วยกันคือ

หนึ่ง พวกเขาตกลงที่จะก่อตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งใหม่ขึ้นมา (นัยว่าจะมาแข่งกับธนาคารโลกหรือ World Bank) โดยกำหนดให้ตั้งอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ ด้วยเงินทุนขั้นต้น 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อให้การสนับสนุนเงินทุนกับประเทศในกลุ่ม BRICS และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ

สอง พวกเขาตกลงที่จะลงขันกันเป็นจำนวน 100,000 ล้านเหรียญฯ เพื่อก่อตั้งสิ่งที่เรียกว่า Contingent Reserve Arrangement (นัยว่าจะมาแข่งกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF) เพื่อให้เป็นทุนสำรองกองกลางสำหรับไว้ใช้ยามฉุกเฉินให้กับบรรดาประเทศสมาชิก เช่นการขาดสภาพคล่องอย่างฉับพลัน หรือเกิดวิกฤติทางการเงิน (Shock) อันเนื่องมาแต่ผลกระทบของวิกฤติโลก เป็นต้น

ทั้งนี้พวกเขายังมิได้เปิดเผยถึงแผนการในเชิงปฏิบัติว่าจะใช้เงินสกุลอะไรบ้างเป็นเงินกองกลาง แต่ที่แน่ๆ คือทั้ง 5 ประเทศนั้น เริ่มเดินไปบนแนวทางที่เป็นตัวของตัวเอง หันเหไปจากร่มเงาของ BIS (Bank for International Settlements) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งถือเอาเงินดอลล่าร์เป็นใหญ่อย่างชัดเจน

ที่กล่าวมานี้ล้วนเป็นก้าวย่างที่จะท้าทายความสำคัญและอิทธิพลของดอลล่าร์ทั้งสิ้น สิ่งเหล่านี้นอกจากจะส่งผลให้ดุลอำนาจทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงแล้ว มันยังจะส่งผลต่อไทยเราซึ่งเกี่ยวข้องอยู่ในระบบโลกในระยะยาวอีกด้วย อย่างน้อยเราก็จะมีเงินสกุลแข็งสกุลใหม่ที่สามารถนำมาเป็นทุนสำรองได้อย่างสนิทใจนอกเหนือไปจากดอลล่าร์และยูโร และจะมีตลาดเงินใหม่เกิดขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยง ในกรณีที่เกิดวิกฤติขึ้นกับ Dollar Zone

หยุดพิมพ์เงินเพิ่ม

แต่ถ้าไม่นับผลกระทบในเชิง Political Economy ในระดับโลกแล้ว ผมว่าสิ่งหนึ่งที่มันจะกระทบตามมาคือเรื่องของจำนวนสภาพคล่องในโลก ซึ่งถ้าวิเคราะห์ให้ลึกลงไปจะพบว่ามันอาจจะกระทบต่อราคาหุ้นและราคาสินทรัพย์ทางการเงิน (ตลอดจนราคาอสังหาริมทรัพย์) ที่พวกเรากำลังแฮปปี้อยู่ในขณะนี้ หากแนวโน้มอันนี้ยังคงดำเนินต่อไป

ในสมัยที่จีนยังไม่มีกำลังพอและยังเพิ่งจะเรียนรู้ระบบทุนนิยม จีนต้องพึ่งพาสหรัฐฯ มาก โดยเงินตราต่างประเทศที่จีนได้จากการส่งออกล้วนอยู่ในรูปดอลล่าร์สหรัฐฯ และในทางปฏิบัติ ธนาคารชาติของจีน (People's Bank of China) ย่อมต้องพิมพ์เงินหยวนขึ้นมาซื้อเงินตราเหล่านี้ไว้ แล้วเก็บเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ เพื่อลดความกดดันมิให้ค่าเงินหยวนสูงเกินไปเมื่อเทียบกับดอลล่าร์
นั่นทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโต เพราะยิ่งส่งออกได้มากก็ได้เงินดอลล่าร์เข้ามามาก และต้องพิมพ์เงินหยวนมาก แล้วคนย่อมเอาไปใช้จ่ายกันมากและแพร่สพัดเป็นเงาตามตัว

หลังจากนั้นธนาคารชาติจีนย่อมต้องหาทางนำเงินตราต่างประเทศก้อนนั้นไปลงทุนหรือเอาไปเก็บไว้ในที่ปลอดภัย มิให้มันเสื่อมค่าลงไปตามกาลเวลา โดยธนาคารชาติจีนเลือกที่จะนำมันกลับไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ หรือไม่ก็นำไปซื้อสินทรัพย์ที่เป็นเงินดอลล่าร์ หรือไม่ก็นำไปฝากไว้ ณ ศูนย์กลางการเงินของโลกตะวันตก เช่นนิวยอร์กหรือลอนดอน ในเงินตราสกุลดอลล่าร์ (เพื่อให้สหรัฐฯ นำไปหมุนหรือทำประโยชน์..หรือไม่ก็เอาไปเก็งกำไรอีกทอดหนึ่ง)

ธนาคารชาติจีนแทบไม่มีทางเลือกอื่น เพราะครั้นจะนำไปแลกเป็นเงินสกุลแข็งอื่นเช่นยูโรหรือเยนก็ลำบาก เพราะยูโรและเยนย่อมมีไม่มากพอตามที่ตัวเองต้องการ (เพียงแค่ลองหนีไปลงทุนในสินทรัพย์สกุลยูโรบ้างก็เผชิญกับภาวะขาดทุนดังที่ผ่านมา) หรือจะนำไปซื้อทองคำและ Precious Metals ชนิดอื่น (เช่นเพชร ทองคำขาว) ก็ไม่สะดวกอีก เพราะมันมีจำนวนจำกัดและต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาสูง อีกทั้งสภาพคล่องก็ต่ำด้วย (สุดท้ายจีนจึงหาทางออกด้วยการนำเงินไปซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ที่จีนจำเป็นต้องใช้ไว้ล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นข้าว ยางพารา น้ำมัน และแร่ธาตุต่างๆ อีกทั้งยังลงทุนซื้อกิจการในต่างประเทศและลงทุนทำโครงการใหญ่ๆ ในต่างประเทศ เช่นขุดเจาะน้ำมัน เหมืองแร่ และจัดซื้อเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศอย่างรถไฟความเร็วสูง เป็นต้น)

นโยบายแบบนี้ทำให้จีนต้องกินน้ำใต้ศอกอเมริกาทางด้านการเงิน และเท่ากับจีนช่วยฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยปริยาย ทำนอง "อัฐยายซื้อขนมยาย" (ทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนที่ดำรงไว้ในรูปของสินทรัพย์ที่เป็นเงินดอลล่าร์น่าจะมีมูลค่าสูงถึง 3.5 ล้านล้านเหรียญฯ เลยทีเดียว)

นั่นไม่ต่างอะไรกับนโยบาย QE ของธนาคากลางสหรัฐฯ ในระยะหลัง

มิเพียงจีนเท่านั้นที่ต้องตกอยู่ภายใต้แอกของเงินดอลล่าร์ คู่ค้ากับสหรัฐฯ เกือบทั่วโลกย่อมต้องเผชิญกับเรื่องกลืนไม่เข้าคายไม่ออกนี้เช่นกัน แม้กระทั่งคู่ค้าที่เข้มแข็งและร่ำรวยอย่างญี่ปุ่น รัสเซีย และบรรดาประเทศตะวันออกกลางที่ขายน้ำมันให้สหรัฐฯ อยู่

หากเราดูตัวเลขบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯ เราจะเห็นว่ามันขาดดุลมาตลอด โดยตัวเลขสูงสุดเคยขึ้นไปถึง 800,000 ล้านดอลล่าร์ ต่อปี นั่นหมายความว่าเงินจำนวนนี้ถูกนำออกจากสหรัฐฯ ไปซื้อสินค้าและบริการจากทั่วโลก และหลายส่วนในจำนวนนั้นถูกนำกลับเข้ามาลงทุนหรือซื้อทรัพย์สินในสหรัฐฯ หรือให้สหรัฐฯ กู้ในราคาถูก (แล้วสหรัฐฯ ก็นำกลับไปให้บุคคลที่สามกู้หรือนำกลับไปลงทุนในตลาดสินทรัพย์ทั่วโลกอีกทอดหนึ่ง)

จึงไม่แปลกที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เกิดฟองสบู่ถี่มากในระยะหลัง ไม่ว่าจะเป็นในช่วงก่อนและระหว่างปี 2532 ที่เรียกว่า DotCom Boom และช่วงก่อนปี 2008 ที่เรียกว่า Mortgage Bubble หรือ Subprime Bubble

แต่สถานการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ดูเหมือนกำลังเปลี่ยนไปแล้ว เพราะการค้นพบเทคนิก Fracking ทำให้อเมริกาสามารถขุดเจาะก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบจากชั้นหินใต้ดินที่เคยเข้าถึงยากได้มากขึ้นอย่างมีนัยะสำคัญ จนทำให้ยอดนำเข้าพลังงานลดลง และเศรษฐกิจที่ซบเซาก็กระทบต่อยอดนำเข้าสินค้าและบริการไปโดยปริยาย ส่งผลให้ยอดบัญชีเดินสะพัดลดลงเกือบครึ่ง

เมื่อพิจารณาประกอบกัน ระหว่างการผงาดขึ้นมาของจีนและคู่ค้าสำคัญที่ต้องการจะปลดแอกจากดอลล่าร์ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น กับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของยอดบัญชีเดินสะพัดสหรัฐฯ มันย่อมกระทบต่อสภาพคล่อง โดยจะทำให้สภาพคล่องที่เคยได้รับการอัดฉีดจากช่องทางนี้ลดน้อยถอยลง

อย่าลืมว่าธนาคารกลางของสหรัฐฯ ได้ประกาศหยุดโครงการ QE ไปแล้วเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา (จะเป็นการหยุดชั่วคราวหรือหยุดถาวรต้องรอดูต่อไป)

การเปลี่ยนแปลงสองข้อหลักที่ว่านี้ ย่อมจะทำให้สภาพคล่องที่เคยมีอย่างล้นเหลือในระบบเศรษฐกิจอเมริกาและล้นออกมาสู่ระบบเศรษฐกิจโลกในรอบหลายปีที่ผ่านมา (อย่างน้อยก็ล้นออกมาสู่ตลาดหุ้นของ Emerging Markets ทั่วโลก รวมทั้งตลาดไทยด้วย) เหือดแห้งลงไปด้วย


ข้อพิสูจน์ข้อหนึ่งที่เริ่มส่งสัญญาณไปในแนวทางนั้นคือการแข็งค่าของดอลล่าร์ในรอบหกเดือนที่ผ่านมา


ถึงแม้ว่านโยบาย QE ในญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปจะยังไม่หยุด แต่มันกลับส่งผลให้ค่าเงินดอลล่าร์แข็งค่ายิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยนและยูโร (และสิ่งนี้ก็ส่งผลให้ราคาทองคำ ซึ่งกำหนดราคาซื้อขายในสกุลเงินดอลล่าร์ ลดต่ำลง)


หนังสือพิมพ์ Financial Times ได้รายงานเมื่อต้นเดือน พ.. ว่า Mario Draghi ผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank หรือ ECB) ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นเอกฉันท์จากคณะกรรมการให้ดำเนินโครงการอัดฉีดเงินจำนวน 1 ล้านล้านยูโร เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในยูโรโซนจากภาวะชะงักงัน

ในทำนองเดียวกัน Haruhiko Kuroda ผู้ว่าการธนาคารกลางของญี่ปุ่นหรือ Bank of Japan ก็ได้ประกาศนโยบายว่าจะเพิ่มวงเงินซื้อพันธบัตรและหลักทรัพย์ให้ได้จนแตะถึงระดับ 80 ล้านล้านเยน (ประมาณ 700,000 ล้านเหรียญฯ) ต่อไป โดยบางส่วนจะนำไปซื้อหลักทรัพย์เอกชน ตรงจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งที่เป็น ETFs และ REITs

นโยบายเหล่านี้ย่อมส่งผลให้เงินดอลล่าร์มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นไปอีก (แน่นอนว่าค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลล่าร์จะถูกลง) ซึ่งเรื่องนี้ไม่อยู่ในประเด็นที่บทความนี้ต้องการโฟกัส (และการที่ธนาคากลางของญี่ปุ่นและยุโรปเข้าไปทำให้ตลาดพันธบัตรรัฐบาลราคาสูงขึ้นย่อมบ่งบอกชัดเจนว่าพวกเขาไม่ต้องการให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น)
เราสนใจเพียงว่า เมื่อ QE หยุดลงและดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯ ดีขึ้น สภาพคล่องส่วนเกินย่อมจะเหือดแห้งลงด้วย ดังนั้นราคาสินทรัพย์ย่อมต้องมีแนวโน้มลดลง
คิดง่ายๆ ว่า "เมื่อพิมพ์เงินฉีดเข้าไปแล้วหุ้นขึ้น ดังนั้นเมื่อเลิกฉีดเงินเข้าไป หุ้นย่อมตกเป็นธรรมดา"

ตั้งแต่เริ่มใช้ QE มา ดัชนี้ S&P 500 เพิ่มขึ้นกว่า 200% จากจุดต่ำสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2552 และเมื่อหันมาดูหุ้นไทยบ้าง สภาพการณ์ก็มิได้ต่างกันมากนัก หลังจากวิกฤติซัพไพรม์เมื่อปี 2551 เป็นต้นมา และกองทุนต่างประเทศเริ่มหันเหเงินลงทุนจากตลาดสหรัฐฯ มุ่งสู่ตลาด Emerging Markets ดัชนี้ตลาดหลักทรัพย์หรือ SET Index เพิ่มขึ้นจากที่เคยต่ำสุด ณ ระดับ 400 จุด มาอยู่ในระดับ 1,580 จุดในปัจจุบัน โดยถ้าดูจากปลายปี 2553 ที่สหรัฐฯ เริ่มมีการใช้นโยบาย QE เป็นต้นมา SET Index ก็มุ่งหน้าเพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัว (จากระดับประมาณ 800 จุดในปลายปีนั้นมาสู่ระดับปัจจุบัน)

แน่นอน ตลาดหุ้นไทย (รวมถึงตลาด Emerging Markets อื่นๆ ทั่วโลก) ราคาแพงขึ้นมาได้เพราะนโยบายอัดฉีดเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ และภาวะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดดังที่กล่าวมาแล้ว

และการที่หุ้นมีราคาแพงขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน ย่อมทำให้เกิด Wealth Effect ที่แพร่สะพัดเข้าไปสู่สินทรัพย์ชนิดอื่น ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ ทองคำ งานศิลปะ และของสะสมบางชนิด เช่นรถยนต์คลาสิก นาฬิกา ของเก่า พระเครื่อง ฯลฯ

ท่านผู้อ่านคงจะจินตนาการได้เองว่าอนาคตของเรื่องนี้จะจบลงเช่นไร เมื่อการพิมพ์เงินหยุดลง


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
15 .. 2557
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือน พ.. 57

วันศุกร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

FED จะทำอะไรต่อ เมื่อหยุด QE



เมื่อเจ้าภาพสั่งถอย


สิ่งที่ตลาดหุ้นทั่วโลกหวาดกลัวและหวั่นวิตกมากนับแต่นี้คือการถอนตัวของธนาคารชาติสหรัฐฯ หรือ Federal Reserve ที่มักเรียกกันในชื่อเล่นว่า Fed

นักลงทุน นักเล่นหุ้น และผู้เกี่ยวข้องกับตลาดเงินตลาดทุนทุกคนรู้ดีว่า ในรอบหลายปีมานี้ โครงการ QE ของ Fed เป็นยาดีที่ช่วยดันราคาหุ้นและราคาพันธบัตรตลอดจนราคาสินทรัพย์ทางการเงินชนิดอื่นๆ ให้สูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่องและเกินจริง

อุปมาดั่งงานเลี้ยงที่กำลังสวิงกันสุดเหวี่ยง อาหารเครื่องดื่มไม่อั้น เปิดแชมเปญราดรดกันอย่างสนุกสนาน เคล้าเสียงเพลงกันอย่างอึกทึกครึกโครม จุดพลุปล่อยสายรุ้งกันขวักไขว่เคว้งคว้าง มองไปทางไหนมีแต่ใบหน้าเปื้อนยิ้ม เมามายกันได้ที่...  แต่ก็ยัง Up & Up & High และยังอยากจะอิ่มเอมเปรมปรียิ่งๆ ขึ้นไปอีก ... ฯลฯ

ทว่า ต้องมาหยุดลงกลางคันเพราะเจ้าภาพประกาศว่าถึงเวลาต้อง "บ้านใครบ้านมัน" แล้วทะยอยยกข้าวปลาอาหารและเครื่องดื่มออกไป

เผื่อใครยังไม่รู้หรือเพิ่งเข้ามาอ่านเป็นครั้งแรก ก็ขอบอกว่า QE หรือ Quantitative Easing เป็นชื่อของโครงการที่ Fed จะรับซื้อพันธบัตรรัฐบาลและของวิสาหกิจ (หรือกระทรวง) ต่างๆ (เช่น ตั๋วเงินคลังและ Mortgage-backed Securities โดยจะเป็นการซื้อผ่านตลาดรอง) ทุกๆ เดือน ราวๆ เดือนละไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ (เคยเพิ่มวงเงินขึ้นไปมากถึงเดือนละ 85,000 ล้านเหรียญฯ ในช่วงปีที่แล้ว) โดยเริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 2553 และเพิ่งจะสิ้นสุดลงเมื่อเดือนที่แล้วนี้เอง (ตุลาคม 2557)

ประมาณกันว่าจำนวนเงินที่ใช้ไปในโครงการนี้รวมๆ แล้วก็ไม่ต่ำกว่า 3.6 ล้านล้านเหรียญฯ และเมื่อรวมกับจำนวนเดิมของโครงการที่เคยช่วยเหลือสถาบันการเงินและกิจการต่างๆ ในช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2551 (วิกฤติซับไพร์ม) ใหม่ๆ ก็รวมได้ประมาณ 4.5 ล้านล้านเหรียญฯ หรือประมาณ 140 ล้านล้านบาท คิดเป็นประมาณเกือบ 14 เท่าของขนาดเศรษฐกิจไทย

นั่นเป็นมูลค่าคร่าวๆ ของ Bond Portfolio หรือตราสารที่ Fed ถือครองไว้เพื่อการนี้ ซึ่ง Fed ขอสงวนไว้ว่ายังจะใช้เป็น "หมัดเด็ดเชิงนโยบาย" ในอนาคต ดังจะกล่าวต่อไป

ความหมายของนโยบาย QE นี้ พูดให้ถึงที่สุดแบบชาวบ้านคือรัฐบาลสหรัฐฯ สั่งให้ธนาคารกลางพิมพ์เงินมาให้ตัวเองเอาไปใช้นั่นเอง โดยทำทีว่าให้รัฐบาลกู้เงินจากธนาคารกลาง แต่โดยเนื้อแท้แล้วธนาคารกลางก็คือรัฐบาล เท่ากับรัฐบาลกู้เงินตัวเอง แบบว่าจากกระเป๋าซ้ายไปกระเป๋าขวานั่นแหละ

ทีนี้รัฐบาลก็เอาไปอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอีกทอดหนึ่ง โดยผ่านโครงการต่างๆ ตามที่รัฐบาลเห็นสมควรและรัฐสภาสหรัฐฯ อนุมัติให้นำไปใช้ได้ เช่นโครงการประกันสุขภาพหรือ Obamacare โครงการป้องกันประเทศ (เช่นใช้สนับสนุนสงครามอิรัก อัฟกานิสถาน และตะวันออกกลาง) และโครงการโอบอุ้มสถาบันการเงินและอุตสาหกรรมหลักบางอุตสาหกรรม เช่นอุตสาหกรรมรถยนต์ เป็นต้น

แน่นอน รัฐบาลสหรัฐฯ ตัดสินใจทำแบบนี้เพราะต้องการอุ้มตลาดทุนและระบบเศรษฐกิจไม่ให้ล่มสลายและหวังว่าเศรษฐกิจจะค่อยๆ กระเตื้องขึ้น 

ท่านผู้อ่านที่ติดตามสถานการณ์มาตลอด ย่อมรู้ดีอยู่แล้วว่าหลังจากอัดฉีดเงินเข้าไปทุกๆ เดือน เป็นเวลา 4 ปีเต็ม รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ผลงานกลับมาอย่างละนิดอย่างละหน่อย ทั้ง GDP, อัตราการจ้างงาน, อัตราเงินเฟ้อ, อัตราเพิ่มของรายได้ครัวเรือน ทั้งหมดนั้นดูแล้วน่าพอใจสำหรับ Fed ถ้าพิจารณาจากคำแถลงล่าสุดเมื่อวันที่ 29 ของเดือนที่ผ่านมา

และท่านผู้อ่านที่ติดตามสถานการณ์มาตลอด ย่อมรู้อยู่แก่ใจอีกเช่นกันว่านโยบาย QE นี้ มันยังส่งผลข้างเคียงที่เป็น Side Effect อีกหลายประการ ที่สำคัญคือมันได้กดดันอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานของสหรัฐฯ ให้เหลือเกือบศูนย์เปอร์เซนต์และทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวถูกควบคุมไว้ให้ต่ำกว่าความเป็นจริงและขึ้นไม่ได้ ส่งผลให้ราคาหุ้นและราคาพันธบัตรเขยิบสูงขึ้นเกือบทั่วทั้งโลก ทั้งยังช่วยดันราคาทองคำและสินค้าโภคภัณฑ์และของสะสมอีกเป็นจำนวนมาก 

อสังหาริมทรัพย์ใน Emerging Markets และเมืองสำคัญๆ ของโลกก็เขยิบราคาขึ้นอย่างผิดปกติ ทั้งๆ ที่ตัวเลขเศรษฐกิจจริง (อย่างการเติบโตของ GDP, อัตราการจ้างงาน, รายได้ครัวเรือน, อัตราเงินเฟ้อ) ไม่ได้ดีขนาดนั้น (ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือภาวะที่กำลังเป็นอยู่ในประเทศไทยขณะนี้)

นโยบาย QE ของรัฐบาลสหรัฐฯ ยังทำให้เกิดลัทธิเอาอย่าง โดยรัฐบาลของสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นซึ่งถือเป็นเจ้ามือรายใหญ่ของโลกรองจากสหรัฐฯ ก็พากันดำเนินนโยบายก่อหนี้เพื่อเอามาอัดฉีดตามอย่างสหรัฐฯ แถมวัฒนธรรมการก่อหนี้ยังสะพัดไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ภาคเอกชนและภาคครัวเรือน ที่นิยมก่อหนี้เพื่อไปลงทุนและบริโภค เนื่องเพราะอัตราดอกเบี้ยต่ำอย่างน่าเย้ายวน

เราจึงเห็น "ฟองสบู่" อยู่ทั่วไปหมด โดยเฉพาะในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร

เพราะเงินมันท่วมโลก เมื่อมันหาที่ลงไม่ได้ มันก็ต้องลงไปที่ตลาดหุ้นและ Financial Assets ทั้งหลายเพราะมันง่ายและได้เสียเร็วแถมยังมีสภาพคล่องสูง และในเมื่อจำนวนหุ้นมันมีจำกัด แต่จำนวนเงินที่พร้อมจะมาซื้อมันถูกพิมพ์เพิ่มมากขึ้นทุกๆ เดือน ราคามันย่อมถีบตัวสูงขึ้นไปด้วยตามกฎธรรมชาติ (สังเกตุงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ผ่านมาว่ามันสะท้อนภาพฟองสบู่ได้ไม่ยาก เพราะพ็อกเก็ตบุ๊คประเภทแนะนำการลงทุนและเล่นหุ้นเต็มไปหมด ผู้เขียนบางคนถึงกับแนะนำให้คนลาออกจากงานมาประกอบอาชีพนักลงทุนอย่างเดียวเลยก็มี โดยจูงใจด้วยคำเท่ห์ๆ ว่า “การมีอิสรภาพทางการเงิน”)

ก็ในเมื่อ ส้มมันมีอยู่ผลเดียว แต่คนที่อยากกินส้มผลนั้นมันมีมากขึ้นและมีเงินในกระเป๋าแยะขึ้น ส้มผลนั้นมันก็ต้องแพงขึ้นเป็นธรรมดา


(Janet Yallen นับเป็นผู้ว่าธนาคารชาติคนที่ 3 แล้วที่นิยมใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการพิมพ์เงินอัดฉีดเข้าสู่ระบบ นับแต่ Greenspan และ Bernanke)


นโยบายปล่อยผีแบบนี้ยังเอื้อต่อผู้เล่นรายใหญ่โดยเฉพาะพวกวาณิชธนกิจ ธนาคารพาณิชย์ กองทุน โบรกเกอร์ นักเล่นหุ้นรายใหญ่ เศรษฐี และกิจการที่เข้าถึงตลาดทุนได้ เพราะพวกเหล่านี้เข้าถึงเงินได้ง่ายกว่ารายย่อย และพวกเหล่านี้แหละที่ช่วยดันราคาหุ้นและสินทรัพย์สำหรับเก็งกำไรทั้งหลายให้ยิ่งๆ ขึ้นไปอีก

สถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นทั่วไป ไม่เว้นแม้แต่ในเมืองไทย ซึ่งผมอยากจะขออ้างคำพูดของบัณฑูร ล่ำซำ เจ้าของธนาคารกสิกรไทย ซึ่งพูดออกสื่อสาธารณะแบบตรงไปตรงมาเมื่อเดือนที่ผ่านมาในทำนองว่า

"ในช่วงที่ผ่านมาได้มีข้อเสนอให้ช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งนายบัณฑูรยอมรับว่าในส่วนของธนาคารพาณิชย์อาจทำไม่ได้เต็มที่ โดยการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีทำได้ในกรอบที่จำกัดไม่สามารถปล่อยกู้ได้ทั้งหมด เนื่องจากไม่แน่ใจเกี่ยวกับกระแสเงินสดของธุรกิจว่าหากปล่อยสินเชื่อไปแล้วอีก 1 ปีข้างหน้าจะได้รับเงินคืนหรือไม่ นอกจากนั้น ยังเป็นเรื่องยากที่จะทำ เพราะการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ถูกตลาดทุนควบคุมอยู่ ทั้งผู้ถือหุ้นและนักวิเคราะห์จะสอบถามในกรณีที่ปล่อยสินเชื่อมากเกินไป

ส่วนกรณีที่ต้องการให้เกิด “สินเชื่อไมโครไฟแนนซ์ในต่างจังหวัด” นั้น นายบัณฑูรกล่าวว่า ในส่วนของธนาคารพาณิชย์คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากไม่เข้าใจวัฏจักรชีวิต และเข้าถึงชีวิตในชนบท หรือกลุ่มคนรากหญ้า ทำให้การปล่อยสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์ของธนาคารพาณิชย์แบบลงลึกทำได้ยาก แต่จะทำได้เพียงการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มคนทำงานในเมือง ส่วนกลุ่มคนต่างจังหวัด รัฐคงต้องอุ้มกลุ่มคนเหล่านี้ไว้ด้วยการช่วยเหลือเป็นครั้งคราว

ทั้งนี้ ตนมองว่าในเรื่องของไมโครไฟแนนซ์ในต่างจังหวัดมีผู้รู้ และกลุ่มที่ดำเนินการอยู่คือ คนที่ค้าพืชไร่ ค้าปุ๋ย คนในกลุ่มนี้รู้วัฏจักรชีวิตในชนบทเป็นอย่างดี แต่เป็นการใช้เงินทุนของตัวเองในการปล่อยกู้ จึงไม่ได้ถูกกำกับดูแลจาก ธปท. นอกจากนั้น ยังมีธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งมีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ดูแลในเรื่องกลุ่มคนรากหญ้า"  (อ้างจาก ไทยรัฐ วันที่ 17 ต.ค. 57)

เหตุผลทำนองนี้แหละที่นโยบาย QE  ได้ซ้ำเติมปัญหา "ความไม่เท่าเทียม"  หรือช่องว่างรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจนให้ถ่างยิ่งขึ้น เพราะมันเอื้อต่ออัตราการเพิ่มของความมั่งคั่งของคนรวย (ที่ส่วนใหญ่ได้มาจาก Capital Gains, ค่าเช่า, ดอกเบี้ย) ในอัตราเร่งยิ่งกว่าอัตราการเพิ่มของรายได้คนจน (ที่ส่วนใหญ่ได้มาจากเงินเดือนและค่าจ้างเป็นหลัก) นั่นเอง

ถ้าพูดด้วยภาษาของ Thomas Piketty นักเศรษฐศาสตร์ผู้โด่งดังจากงานเขียนขายดี Capital In The Twenty-First Century ก็ต้องบอกว่า r > g (เขาจึงบอกว่าการหาคู่ครองที่มีมรดกแยะย่อมจะสร้างความมั่งคั่งได้มากกว่าการหางานทำดีๆ ที่ได้เงินเดือนสูงๆ เพราะผลตอบแทนที่มาจากกิจกรรมประเภท "เงินต่อเงิน" นั้นย่อมได้มากกว่าผลตอบแทนที่ได้มาด้วยสมองและสองมือ (ในการผลิต))



พักเรื่องความไม่เท่าเทียมไว้ก่อน ท่านผู้อ่านคงเข้าใจแล้วว่า การพิมพ์เงินอัดฉีดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจโลกในรอบหลายปีมานี้ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ราคาหุ้น ราคาพันธบัตร ราคาของสะสม (รวมถึงพระสมเด็จวัดระฆังและเบญจภาคี) ราคาทองคำและราคาสินทรัพย์ทางการเงินทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ลองคิดในทางกลับกันแบบง่ายๆ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยทฤษฎีเศรษฐศาสตร์อะไรมาก ว่าถ้าหยุดพิมพ์เงินและหยุดอัดฉีด ราคาสินทรัพย์เหล่านั้นย่อมต้องตกต่ำลง

ถ้าเจ้ามือหยุดเล่น ตลาดก็ต้องวาย และถ้าเจ้าภาพสั่งให้ยกถาดอาหารและเครื่องดื่มออกไปเก็บ งานเลี้ยงก็อาจต้องเลิกรา

แต่ในเมื่อเจ้าภาพไม่อยากให้เกิดอาการเสียขวัญ และไม่อยากได้ชื่อว่าเป็นคนทุบฟองสบู่ให้แตกคามือหรือเป็นคนที่ทำให้บรรยากาศการลงทุนเสียหาย เจ้าภาพจึงใช้วิธีค่อยๆ ถอนตัวออก โดยพูดจากำกวมมิให้คนจับได้ว่าเจ้าภาพจะถอนตัวโดยสิ้นเชิง และทิ้งท้ายแบบชวนคิดว่าพร้อมกลับเข้ามาแทรกแซงเสมอเมื่อชาติต้องการ (ในอนาคต)

ลองพิจารณาคำแถลงของ Fed ตอนประกาศหยุด QE เมื่อวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมาดู

“The Committee judges that there has been a substantial improvement in the outlook for the labor market since the inception of its current asset purchase program. Moreover, the Committee continues to see sufficient underlying strength in the broader economy to support ongoing progress toward maximum employment in a context of price stability. Accordingly, the Committee decided to conclude its asset purchase program this month. The Committee is maintaining its existing policy of reinvesting principal payments from its holdings of agency debt and agency mortgage-backed securities in agency mortgage-backed securities and of rolling over maturing Treasury securities at auction. This policy, by keeping the Committee’s holdings of longer-term securities at sizable levels, should help maintain accommodative financial conditions.

ถ้าอ่านที่ผมขีดเส้นไว้ให้ ก็จะจับความได้ว่า พันธบัตรรัฐบาลและ Mortgage-backed Securities ของวิสาหกิจที่ Fed ถืออยู่ใน Portfolio ขณะนี้ เมื่อครบกำหนดไถ่ถอนแล้ว Fed จะนำเงินต้นที่ได้รับชำระคืนมานั้นกลับไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลและตราสารของวิสาหกิจอีกรอบหนึ่ง ถือเป็นการ Roll Over หนี้ก้อนนี้ต่อไปเรื่อยๆ หล่อเลี้ยงปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจในระดับนี้ไปเรื่อยๆ ต่อไปสักระยะหนึ่งก่อน (เพราะ Fed ยังไม่ต้องการให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวสูงขึ้นนั่นเอง...โปรดสังเกตุคำแถลงในประโยคสุดท้ายที่ว่า “should help maintain accommodative financial conditions”)

เห็นไหมว่า แทนที่เมื่อหยุด QE แล้ว พันธบัตรและมูลหนี้ (และปริมาณเงินที่เคยอัดฉีดเอาไว้ในระบบ) ต้องสูญสลายไปเมื่อตราสารเหล่านั้นครบอายุและรัฐบาลจ่ายหนี้คืนให้กับ Fed แต่ Fed กลับจะไม่ยอมให้มันหยุดลงง่ายๆ ทว่ายังคงต่อลมหายใจของการอัดฉีดให้ยืดยาวไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีกำหนด (อย่างน้อย ณ ตอนนี้ยังไม่ได้กำหนด)

นั่นแสดงว่างานเลี้ยงก็ยังไม่เลิกราเลยทีเดียว แต่จะหวังให้ตื่นเต้นสุดเหวี่ยงแบบที่ผ่านมาคงไม่ได้แล้ว ถึงแม้การทำเช่นนี้จะยังคงไม่ส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยให้เพิ่มขึ้น และก็ไม่ส่งผลให้ญี่ปุ่นกับสหภาพยุโรปต้องหยุดอัดฉีดเงินตามไปด้วยก็ตามที

ทว่า สุดท้ายแล้ว เจ้าภาพก็จะต้องถอนตัว ณ ช่วงใดช่วงหนึ่ง เพราะการกู้หนี้ยืมสินไปเรื่อยๆ ย่อมเพิ่มความเสี่ยงให้กับประเทศชาติและเพิ่มภาระให้คนรุ่นหลัง เพราะเป็นการผลักภาระไปในอนาคต

ประวัติศาสตร์สอนให้เรารู้ว่า จักรวรรดิยิ่งใหญ่ในอดีตล้วนมีส่วนล่มสลายเพราะขยายมากจนต้องก่อหนี้เกินตัวกันทั้งสิ้น และมนุษย์ที่ก่อหนี้จนล้นพ้นตัวในอดีตมักจบลงด้วยการยอมตัวลงเป็นทาส

ดังนั้น ยังไงๆ บรรดาผู้กุมนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ย่อมต้องหาช่วงเวลาเหมาะๆ เพื่อที่จะหยุดนโยบายแบบนี้ให้ได้

ถ้าช่วงนั้นมาถึง ราคาหุ้นในตลาดไทยก็คงจะค่อยๆ ถอยหลังกลับไปสู่ยุคก่อนที่จะมี QE และนักลงทุนที่ออกไม่ทันหรือยังมองตลาดด้วยความหวังแบบลมๆ แล้งๆ ก็คงจะได้แต่นั่งปลอบใจกันเอง

แต่ในขณะเดียวกัน ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงก็จะได้ประโยชน์ เพราะเงินบาทย่อมจะอ่อนค่ากลับไปด้วยเมื่อเทียบกับเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ โดยราคาสินค้าที่เราขายและผู้ซื้อชำระเป็นเงินดอลล่าร์ก็จะลดลงไปด้วย เช่นราคาพืชผล น้ำมันปาลม์ และสินค้าส่งออกแทบทุกชนิด ในขณะที่ราคาสินค้าที่เราต้องซื้อและชำระเป็นเงินดอลล่าร์ก็จะแพงขึ้น

นั่นย่อมทำให้รายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และรายได้ของคนส่วนใหญ่ย่อมดีขึ้นด้วย

ว่าแต่ว่า ช่วงเวลาเหมาะๆ ที่ว่านั้น น่าจะมาถึงแล้วหรือยัง?

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
1 พ.ย. 2557
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับ พ.ย. 57