วันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

CROWDFUNDING เรี่ยไรไซเบอร์




เราเชื่อว่าผู้อ่านทุกท่านคงจะเคยได้รับ “ซองผ้าป่า” กันมาบ้าง ไม่มากก็น้อย


แม้บางคนจะเขวี้ยงทิ้งหรือแกล้งทำหายหรือทำลืม ทว่าบางคนอาจหยิบเงินใส่ซอง มากบ้างน้อยบ้าง ตามแต่ศรัทธา


จะยังไงก็ตาม การเรี่ยไรเงินแบบซองผ้าป่านี้ก็คงจะได้ผลดี เพราะถ้ามันไม่ได้ผล วิธีการแบบนี้คงเลิกไปนานแล้วหล่ะ แต่นี่เห็นระยะหลังมีการส่งผ่านอีเมลกันด้วยแล้ว สังเกตว่าบางปีที่เศรษฐกิจดี ซองผ้าป่าจะมากันตรึม


Key Success Factor ของวิธีการระดมทุนแบบซองผ้าป่านี้ คือต้องกระจายกลุ่มผู้รับให้กว้างที่สุด และจำนวนซองที่แจกจ่ายออกไปก็ต้องมากด้วย เพราะเงินบริจากที่จะได้รับกลับมา มักเป็นเงินจำนวนไม่มาก แต่อย่าลืมว่า “การเก็บเล็กผสมน้อย” เมื่อทับถมกันมากเข้า ก็กลายเป็นเงินก้อนใหญ่ได้


วัดหรือโรงพยาบาลบางแห่ง สามารถสร้างสิ่งปลูกสร้างใหญ่ๆ มูลค่าหลายร้อยล้าน ได้ด้วยการเรี่ยไรแบบนี้


ระยะหลัง นอกจากซองผ้าป่าแล้ว ยังมีมูลนิธิต่างๆ ร้อยแปดพันเก้า หันมาใช้วิธีแจกซองให้บริจากกันทางไปรษณีย์ ยิ่งถ้าใครเป็นสมาชิกบัตรเครดิตด้วยแล้ว จะได้รับซองพวกนี้ออกบ่อย เพราะมูลนิธิเหล่านี้มักไปขอเช่ารายชื่อจากบริษัทบัตรเครดิต โดยผู้ใจบุญสามารถบริจากเงินโดยให้ตัดบัตรเครดิตได้ด้วย นับว่าสะดวกดี


หรือบางทีก็ใช้วิธีเปิดบัญชีธนาคารแล้วประกาศออกทีวี วิทยุ อินเทอร์เน็ต และหนังสือพิมพ์ เพื่อขอรับบริจาก โดยให้ผู้ศรัทธาโอนเงินเข้าบัญชีนั้น (อันนี้เหมือนกับการตั้งกล่องรับบริจากตามวัดและโรงพยาบาล) หรือจะให้มาเป็นข้าวของก็ได้ เช่นตอนน้ำท่วมที่ผ่านมา การเรีี่ยไรแบบนี้ได้ผลมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางมูลนิธิช่อง 3


นับเป็น Case Study ที่น่าศึกษา


จะเห็นว่า “การเรี่ยไร” เป็นการระดมทุนจากคนหมู่มากที่ทำกันมานานและพัฒนามาตามลำดับ ตามพัฒนาการของเทคโนโลยีสื่อสาร


ภาษาทางการเงินเรียกการระดมทุนจากคนหมู่มากแบบนี้ว่า “CROWDFUNDING”


ที่ผ่านมา “การเรี่ยไร” มักใช้กับโปรแกรมการกุศลรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เช่น ซองผ้าป่า ซองกระถิน เททองหล่อพระ กาชาด สร้างวัด สร้างโรงพยาบาล บรรเทาภัยพิบัติ หรือ (ทันสมัยขึ้นมาหน่อย) ยูนิเซฟสำหรับเด็กยากจน พิการ และด้อยโอกาส ดังที่กล่าวไปแล้ว


ไฮไลต์ของ CROWDFUNDING ในรอบหลายปีมานี้ ต้องยกให้ “หลวงตาบัว” แห่งวัดป่าบ้านตาด ที่สามารถเรี่ยไรทองคำมูลค่ามหาศาลให้กับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อเก็บเป็นทุนสำรองของประเทศ

แม้ผลดีผลเสียของโปรแกรมนั้นจะยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่จนกระทั่งบัดนี้ คือบ้างก็ว่าเป็นการเอาจากคนจนไปให้คนรวย แต่ก็ต้องถือว่าการระดมทุนครั้งนั้นประสบความสำเร็จมาก โดยถ้าวัดกันตามมูลค่าที่เป็นตัวเงินแล้ว CROWDFUNDING ครั้งนั้น น่าจะมีมูลค่าสูงที่สุดเท่าที่เคยมีการเรี่ยไรกันมาในประเทศไทยเลยก็ว่าได้

“หลวงพ่อคูณ” แห่งวัดบ้านไร่ ก็เป็นพระอีกองค์หนึ่งที่มีคนศรัทธามาก และบริจากเงินผ่านช่องทางของท่านนับเป็นพันๆ ล้าน

นับเป็น CROWDFUNDER ตัวยงอีกองค์หนึ่ง



เรี่ยไรให้ธุรกิจ

ปกติธุรกิจจะไม่ใช้วิธีเรี่ยไรเงิน จะมีข้อยกเว้นบ้างสำหรับธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ หรือธุรกิจสำหรับชุมชนใดชุมชนหนึ่งหรือกลุ่มเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจง (เช่นร้านค้าสำหรับชุมชน หรือโรงเรียนรับเลี้ยงเด็กเล็กในบางชุมชน เป็นต้น)

ในอดีต เคยมีหนังสือแม็กกาซีนบางเล่มที่ใช้วิธีเรี่ยไรเอาจากผู้อ่าน อย่างเช่น “ช่อการะเกด” สมัยที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นบรรณาธิการ และนิตยสาร A Day สมัยเริ่มแรกของ วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ ก็ใช้วิธีเรี่ยไรเช่นกัน


แต่การเรี่ยไรเงินเพื่อมาก่อตั้งกิจการธุรกิจมักสำเร็จยาก เพราะนอกจากผู้ระดมทุนจะเป็นผู้มีชื่อเสียงจริงๆ และเป็นที่รู้จักในวงกว้างแล้ว ยังจะต้องได้รับความช่วยเหลือจากสื่อมวลชน เพราะถ้าต้องใช้เงินซื้อสื่อเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการของตัวเองแล้ว (ซึ่งยังคงเป็นแผนการณ์บนแผ่นกระดาษ) ย่อมต้องใช้เงินจำนวนมาก แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับผู้ที่กำลังจะริเริ่มกิจการ


การจะเข้าถึงผู้คนจำนวนมาก เพื่อนำเสนอโครงการ (หรือแนวความคิดและแนวทางในการจะประกอบการ) โดยหวังว่าคนจำนวนหนึ่งจะเจียดเงินมาลงทุนกันคนละเล็กละน้อยจนรวมกันได้เป็นกอบเป็นกำ เป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อนที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับผู้ประกอบการในอดีต หรือถ้าได้ ก็อาจมีต้นทุนสูง สู้ลงเงินกันเองในหมู่ผู้ถือหุ้นหรือกู้เงินจากธนาคารไม่ได้


ต่างกับการเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไป (Public Offering) ซึ่งมีตลาดระดมทุนของมันค่อนข้างชัดเจนแน่นอน (เรียกว่า Primary Market) ทว่าผู้ระดมทุนจะต้องเปิดเผยข้อมูล (Filing) และต้องแต่งตั้งที่ปรึกษาการเงิน ตลอดจน Underwriter และมีผลประกอบการที่มีกำไร ตามเกณฑ์ของคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์​ (ก.ล.ต.) ซึ่งไม่เหมาะกับกิจการเกิดใหม่และกิจการขนาดเล็ก


ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ตลอดจนผู้กุมนโยบายตลาดทุนของประเทศ ไม่เคยมี Design อะไร เพื่อรองรับกิจกรรมการเรี่ยไรเงินสำหรับกิจการธุรกิจ หรือ Crowdfunding มาก่อนเลยแม้แต่น้อย


ทว่า อินเทอร์เน็ตทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป


อินเทอร์เน็ตได้ช่วยขจัดอุปสรรคของการเรี่ยไรเพื่อนำเงินมาก่อตั้งกิจการด้วยเช่นกัน


อินเทอร์เน็ตช่วยให้คนเล็กคนน้อย “เข้าถึงทุน” ง่ายดายขึ้นและอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น


อินเทอร์เน็ตยังช่วยให้เกิดตลาดระดมทุนโดยการเรี่ยไรผ่านออนไลน์ที่ชัดเจนแน่นอน


การมีตลาด (Primary Market) หมายความว่าต้องมี Players คึกคัก ทั้งทางด้านผู้ลงทุน เว็บไซต์ตัวกลาง และผู้ระดมทุนหรือผู้ประกอบการที่ต้องการเงินไปลงทุนประกอบกิจการ


การมีตลาดชัดเจนแน่นอน ทำให้ต้นทุนในการระดมทุนลดลง และเป็นไปได้สำหรับผู้ประกอบการที่กำลังจะริเริ่มกิจการ แต่ขาดแคลนทุน





ธุรกิจเรี่ยไร

หลายปีมานี้ ตลาดระดมทุนโดยการเรี่ยไร หรือ CROWDFUNDING เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดในยุโรปและอเมริกา


มีเว็บไซต์จำนวนมากที่ทำตัวเป็นตัวกลางให้ผู้ประกอบการมาเสนอโครงการเพื่อระดมทุนจากผู้ลงทุนจากทั่วโลก


ท่านผู้อ่านที่ติดตาม MBA ในรอบสองปีมานี้ คงทราบว่าเราได้ติดตามพฤติกรรมของเว็บไซต์เหล่านี้มาวิเคราะห์ให้อ่านกันเป็นระยะๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคอลัมน์ Wiki Global และ Financial Blog


เว็บไซต์ CROWDSOURCING มีหลายประเภท แต่ละประเภทก็มีจำนวนมาก โดยเราจะกล่าวถึงตัวอย่างที่เด่นๆ ให้ได้อ่านกัน 


Kickstarter.com เป็นเว็บไซต์ Crowdsourcing ที่ได้รับความนิยมมาก เน้นระดมทุนสำหรับ Creative Project ที่ต้องการเงินไม่มากนัก (ส่วมมากแค่หลักแสน) โดยผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับ ส่วนใหญ่จะเป็น “ผลของงาน” หรือ “ตัวงาน” มากกว่าผลตอบแทนที่เป็นเงิน หรือ Capital Gain เหมือนกับ VC ที่ต้องคอย Exit  ด้วยการขายหุ้นเมื่อกิจการเป้าหมายเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือถูกเทคโอเวอร์โดยกิจการยักษ์ใหญ่ เป็นต้น


ฝรั่งเรียกผลตอบแทนแบบนี้ว่า Return-in-kind มิใช่ Return-in-cash


Kickstarter.com จึงมีลักษณะค่อนไปทางเว็บไซต์ขายของล่วงหน้าด้วยเช่นกัน


ถ้าใครลองคลิกเข้าไปดู Kickstarter.com ณ ขณะนี้ ก็จะเห็นหนังสั้นหรือ VDO Presentation ของห้าหกโปรเจกต์ที่เลือกสรรแล้วหราอยู่หน้าเว็บพร้อมกับคำอธิบายสั้นๆ เพียงให้ได้ใจความคร่าวๆ ว่าผู้ประกอบการแต่ละคนคิดจะผลิตหรือรังสรรค์อะไร หนังสั้น หนังสือการ์ตูน แอพพลิเคชั่นบนมือถือหรือไอแพท รองเท้าหนังตัดเย็บด้วยมือ หรือแม้แต่ผลงานศิลปะ ฯลฯ


หนึ่งในนั้นมีโปรเจ็กของคนไทยคือ Fabu Shu ที่มาขอระดมเงินทุนเพื่อไปเปิดโรงเรียนสอนทำรองเท้า


เมื่อคลิกเข้าไปอีก ก็จะเห็นรายละเอียดและ Mock-up ที่พวกเขาทำมาให้ดูเพื่อจูงใจ “ผู้ลงทุน/ผู้จองซื้อล่วงหน้า” เป้าหมายของพวกเขา

คนที่ “ปิ๊ง” กับไอเดียของใครคนไหน ก็ส่งเงินให้เจ้าของโปรเจกต์ได้โดยคลิกส่งให้ตั้งแต่เหรียญฯ เดียวจนถึง 10,000 เหรียญฯ ตามแต่ความชอบความศรัทธาส่วนตน โดยเจ้าของโปรเจกต์ต้องสาธยายผลตอบแทนอย่างละเอียดไว้บนหน้าเว็บเลยว่า 1 เหรียญฯ ได้อะไรตอบแทน (เช่นได้คำขอบคุณเฉยๆ) 5 เหรียญฯ ได้อะไรตอบแทน (เช่นได้ไปรษณียบัตรขอบคุณส่งถึงบ้าน) 10 เหรียญฯ ได้อะไรตอบแทน (ได้ผลงานหนึ่งชิ้นเมื่อผลิตเสร็จ) 50 เหรียญฯ ได้อะไรตอบแทน (ได้ผลงานพร้อมลายเซนต์) 100 เหรียญฯ ได้อะไร...ฯลฯ


Quirkey.com เป็นอีกเว็บหนึ่งที่กำลังมาแรงมาก


Quirkey มีคณะกรรมการสกรีนไอเดีย และมีคณะวิศวกร นักออกแบบ นักทำแม่พิมพ์ แถมมีเซ็กชั่น e-commerce ขายให้ด้วย เมื่อผลิตเสร็จแล้ว


ถ้าข้อเสนอของผู้ขอระดมทุนผ่านแล้ว เขาก็จะมีทีมช่วยผลิต แถมยังมีเซ็กชั่นที่ให้พวกเราที่คลิกเข้าเว็บเขา (ในฐานะผู้บริโภค หรือผู้จะซื้อสินค้าที่กำลังจะผลิตเสร็จ) ช่วยตั้งราคาให้ด้วย ว่าสินค้าแบบนั้นแบบนี้ ควรตั้งราคาเท่าไหร่ดี...

ProFounding.com มาแปลกที่จัดให้ผู้ระดมทุนเสนอจ่ายผลตอบแทนเป็นส่วนแบ่งจากรายได้ หรือ Revenue Sharing (ไม่ใช่ส่วนแบ่งจากกำไร) ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมใหม่ในวงการ


ที่ต้องทำแบบนี้ เข้าใจว่าเพื่อต้องการหลีกเลี่ยงกฎหมายหลักทรัพย์ของหน่วยงาน ก.ล.ต. (SEC) เพื่อไม่ต้อง Filing และตั้ง Underwriter

ProFounding จึงเลือกใช้วิธีให้เจ้าของโปรเจกต์และผู้ลงทุนทำสัญญาพิเศษต่อกัน ซึ่งเป็นสัญญาลงทุนที่ไม่เข้าลักษณะของการซื้อขายหรือเข้าถือหุ้นสามัญ (ที่ต้องจ่ายผลตอบแทนเป็นเงินปันผล) แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่เข้าลักษณะของสัญญาเงินกู้ (ที่ต้องจ่ายผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย) ทว่าให้จ่ายเป็นส่วนแบ่งจากรายได้ทันทีที่กิจการนั้นเริ่มทำกำไร

ProFounding จะเน้นสนับสนุนโครงการเล็กๆ และเน้นการระดมทุนจากเพื่อนฝูงพี่น้องในชุมชน คือเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน คล้ายๆ กับแนวคิดขององค์กรพัฒนาเอกชน

เว็บไซต์ประเภทนี้ยังมีอีกมาก ที่สำคัญและได้รับความนิยมเช่น Indiegogo และ OpenIndie ซึ่งเน้นไปที่ผู้กำกับหรือนักสร้างหนังแนวอินดี้สามารถมาระดมทุนผ่านเว็บนี้ได้ โดยผลตอบแทนที่ผู้ร่วมลงทุนจะได้รับคือส่วนแบ่งรายได้เมื่อหนังมีกำไร

หนังดัง IRON SKY ก็ได้ OpenIndie นี้แหละเป็นที่พึ่ง

Crowdcube.com, Fundingcircle.com, Microventures.com, Peerbackers, Pozible, Rocky Hub, Co.fundos, FanNextDoor, Appbacker, และ 33 Needs็ล้วนแต่เป็นเว็บไซต์แนวนี้ บ้างก็ให้ระดมทุนโดยลงเป็นหุ้น และบ้างก็เป็นแค่การปล่อยกู้

ส่วน Receivableexchange.com และ Marketinvoice.com นั้นเป็นคล้ายๆ Factoring ที่เปิดโอกาสให้ธุรกิจเอา Invoice ที่ยังไม่ได้เก็บเงิน (เป็นลูกหนี้ค้างรับ) มาเปลี่ยนเป็นเงินสดได้

เว็บ Crowdsourcing อีกกลุ่มหนึ่ง เป็นไปเพื่อโครงการที่ไม่หากำไร ส่วนใหญ่ดำเนินการโดยเอ็นจีโอ มูลนิธิ โดยใช้แนวคิดแบบ Microfinace ในสายของ ดร.โมฮันหมัด ยูนูส
ที่เด่นที่สุดเห็นจะเป็น Kiva.com ซึ่ง Active มากในประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งไทย กัมพูชา เวียดนาม ลาว ฟิลิปินส์ อินโดนีเชีย และมาเลย์เชียด้วย

ที่ดังๆ อีก ก็เห็นจะเป็น Buzzbnk, CauseVox, Give.fm, Ioby, MicroPlace, OpenIDEO, Sparked, Sponsume, StartSomeGood เป็นต้น

ด้วยเนื้อที่จำกัด เราคงไม่สามารถสาธยายได้หมด เราอยากให้ท่านผู้อ่านลองคลิกดูรายละเอียดกันเอง


อันที่จริง เราอยากให้เว็บไซต์ประเภทนี้เกิดขึ้นในเมืองไทย เพราะจะเป็นประโยชน์มากต่อผู้ประกอบการ SME และคนที่คิดจะเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งอาจจะมีความคิดสร้างสรรค์สูง และพร้อมที่จะเสี่ยง พร้อมที่จะสร้างอะไรเป็นของตัวเอง ทว่าขาดแคลนเงินทุน


เว็บไซต์ประเภท Crowdsourcing นี้ ทำง่ายกว่ากองทุน Venture Capital พราะอย่างหลังนี้ เหมาะกับกิจการที่ใหญ่ขึ้นมาสักหน่อย และต้องตั้งเป็นกองทุน มีนักวิเคราะห์และ Fund Manager ยุ่งวุ่นวาย โดยรัฐบาลไทยก็ได้ส่งเสริมมานานแล้ว แต่ก็ไม่เห็นจะโตและแพร่หลาย หรือเข้มแข็งพอจะเป็นที่พึ่งสำหรับผู้ประกอบการได้จริงจัง


เว็บ Crowdsourcing เป็นแต่เพียงตัวกลาง ซึ่งรัฐบาลอาจมอบหมายให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดทำขึ้นและเป็นผู้ดำเนินการตลอดจนกำกับดูแลก็ได้ ถ้ารัฐบาลไม่ไว้ใจเอกชน กลัวจะทำกันเลยเถิด


เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังจากทราบว่าประธานาธิบดีโอบามาได้ลงนามใน JOBS ACT ซึ่งจะเป็นแรงผลักสำคัญให้ Crowdfunding เติบโตอย่างก้าวกระโดดในอเมริกา (ด้วยการลดเกณฑ์การระดมทุนบางอย่างของ SEC ให้เข้มข้นน้อยลง) เราได้ตั้งคำถามกับ ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. ถึงโอกาสแบบเดียวกันนี้บ้างในประเทศไทย


“บ้านเรา คงยังไม่เร็ว” คือคำตอบที่เราได้รับ



ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
22 เมษายน 2555
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนเมษายน 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น