วันเสาร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2555

จีน: พี่เบิ้มผู้มั่งคั่งทว่าว่างเปล่า




ผมยังจำคำพูดของ Merton Miller นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลชื่อดังจากมหาวิทยาลัยชิคาโก ได้อย่างไม่มีวันลืมเลย สมัยเมื่อเขามาพูดที่เมืองไทยสักยี่สิบปีก่อน ว่าจีนอาจต้องใช้เวลาถึง 50 ปีกว่าจะตามไต้หวันทัน


โดยเขาให้เหตุผลหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นค่าแรงที่เริ่มแพงขึ้นในเขตซ่างไห่ (ปัจจุบันฝรั่งก็ยังอ้างเหตุผลนี้กันอยู่) ความไร้ประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจ ความไร้ทักษะฝีมือของคนงาน และความเหลื่อมล้ำของราษฎรระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษกับที่เหลือ


ตอนนั้นผมนึกในใจว่า Miller อเมริกันยิวคนนี้ออกจะดูเบาจีนมากไปนิด แม้ผมจะเห็นด้วยกับเหตุผลที่เขายกมาอ้าง เพราะก่อนหน้านั้นสักปีสองปี ผมเคยข้ามเข้าไปในเสินเจิ้นจากฮ่องกง และผมได้เห็นกับตาว่าเสินเจิ้นกำลังก่อสร้างทั่วไปหมด แต่การบริการในโรงแรมชั้นหนึ่งก็ยังไม่ได้มาตรฐาน และการวาดรูปเสือ รูปไก่ เพื่อขายให้นักท่องเที่ยว ยังมีลักษณะ “ติดจีนๆ” แบบว่าหน้าไก่หลิมๆ ตาเรียวๆ ชั้นเดียวมนๆ แบบจีนๆ ยังไม่ใช่ Taste แบบสากลที่จะ Export ได้


ซึ่งก็น่าเห็นใจ เพราะตอนนั้นคนจีนเพิ่งจะออกจากระบอบคอมมิวนิสต์ที่นิยมให้แต่งกาย ขี่จักรยาน หรือทำอะไรต่อมิอะไรเหมือนๆ กัน ได้ไม่นานนัก


เติ้งเสี่ยวผิงเพิ่งจะเปิดเขต Eastern Seaboard ให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนได้สักสิบปีนิดๆ



Time Fly....



เวลาผ่านไป ไวเหมือนโกหก


เผลอแป๊บเดียว จีนเปิดประเทศได้ 33 ปีแล้ว และก็ร่ำรวยมหาศาลด้วยการรับจ้างทำโรงงานให้กับโลก



ผลพวงจากความมั่งคั่งอันนั้น ช่วยให้จีนกลายเป็นบ้านเมืองที่ทันสมัย ตึกรามบ้านช่องสมัยใหม่ผุดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่และกว้างขวาง พร้อมด้วยเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน พรั่งพร้อมด้วยโภคทรัพย์และกิจกรรมเชิงเศรษฐกิจอันคึกคักทันสมัยแทบทุกประการในแบบที่บ้านเมืองซึ่งเจริญแล้วพึงมี



อย่าว่าแต่ไต้หวันเลย แม้แต่เยอรมนีและญี่ปุ่น จีนก็แซงหน้าไปเรียบร้อยแล้ว



ทุกวันนี้ เศรษฐกิจจีนใหญ่เป็นอันดับสองของโลก โดยถ้าเชื่อตามคำทำนายของไอเอ็มเอฟ อีกเพียงไม่ถึง 5 ปี เศรษฐกิจจีนก็จะใหญ่ที่สุดในโลก แซงหน้าสหรัฐฯ ไปได้ในปี พ.ศ. 2559



การขึ้นมาอย่างพรวดพราดของจีนแบบนี้ ทำให้คนทั่วไปพลอย “เห่อ” จีนไปด้วย ลูกจีนในเมืองไทยที่ครั้งหนึ่งเคยรู้สึกว่าตรงนี้เป็นปมด้อย ก็กลับพูดถึงการมีเชื้อสายจีนในฐานะปมเด่น


คนสำคัญๆ จำนวนมาก เชื่อว่าฝรั่งกำลังตกต่ำและจีนจะขึ้นมาแทนในฐานะพี่เบิ้มของโลก หรือมากไปกว่านั้นว่าอารยธรรมตะวันตกจะพ่ายแพ้ต่ออารยธรรมตะวันออก



ผมไม่คิดอย่างนั้น!



ผมคิดว่า ยิ่งจีนมั่งคั่งขึ้น จีนจะยิ่ง “ตามก้นฝรั่ง” ย่ิงขึ้นกว่าเดิม และอาจจะหมดความเป็นตัวของตัวเองไปในช่วงเจนเนอเรชั่นที่กำลังจะเติบโตขึ้นมานี้แหละ



เศรษฐีรุ่นใหม่และผู้นำรุ่นใหม่ของจีนคิดแบบฝรั่ง แต่งตัวแบบฝรั่ง ดื่มไวน์ฝรั่งเศส นั่งรถเยอรมัน ผูกนาฬิกาสวิส ฟังซิมโฟนี ฟังแจ๊ส ดูโอเปร่า และส่งลูกเรียนโรงเรียนและมหาวิทยาลัยดีๆ ในเมืองฝรั่ง



Lifestyle และวิธีคิดของพวกเขากลายเป็นฝรั่งไปแล้ว เพียงแต่รูปร่างหน้าตาและวิธีพูดจายังดูเป็นจีน โดยบางครั้งพวกเขาอาจ Quote คำพูดขงจื้อ เหลาจื้อ หรือของกวีหลี่ไป๋ หรือเล่าเรื่องตอนโจโฉแตกทัพเรือ เรื่องโจโฉกับกุยแก เรื่องขงเบ้ง เรื่องหลิวปัง ช้อปาอ๋อง และคติพจน์เก่าๆ ของจีนซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ก็มุ่งหวังเพียงเป็นเครื่องประดับเชิงปัญญาเก๋ๆ เพื่อให้คนฟังทึ่งและเห็นว่า Civilized (เช่นเดียวกับฝรั่งชอบอ้างเปลโต้ อริสโตเติล และกวีโรมันนั่นแหละ) หรือไม่ก็มุ่งเอา Quote เหล่านั้นมาสนับสนุนรับใช้เหตุผลเชิงกลยุทธ์การค้า โดยที่ลึกๆ แล้วพวกเขามิได้คิดในแนวนั้นหรือเชื่อเช่นนั้น


เรื่องแบบนี้มิใช่เพิ่งมาเกิดกับจีน มันเคยเกิดมาแล้วกับชนชาติเอเซียอื่นๆ เช่นกัน คือยิ่งเรามั่งคั่งกันมากขึ้น เรายิ่งตามก้นฝรั่งยิ่งขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยลึกๆ ก็จะยอมศิโรราบฝรั่ง ไม่เขื่อลองหันไปมองรอบตัวเราดู...ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ หรือแม้กระทั่งตัวเราเอง


รัชกาลที่ 5 เป็นกษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ทรงชุดสูทสากลให้เห็นในที่สาธารณะ (อันที่จริงชุดแบบนี้มีรากเหง้ามาจากชุดไปงานศพของคนอังกฤษ) เช่นเดียวกับกษัตริย์เมจิ ซึ่งนอกจากจะทรงชุดฝรั่งแล้ว ยังสั่งเข้า Throne (จะแปลว่าราชบัลลังก์หรือเก้าอี้ก็ได้แล้วแต่สำนึกทางชนชั้นของผู้แปล) จากปรัสเซียด้วย


หลังจากนั้นเราก็มีรถไฟ รถยนต์ โทรเลข โทรศัพท์ หนังสือพิมพ์ กล้องถ่ายรูป ภาพยนตร์ ไวน์ เมนูอาหาร ตึกรามบ้านช่อง ออฟฟิส ห้าง โรงเรียน มหาวิทยาลัย ธนาคาร ตลาดหุ้น แบบฝรั่ง จนตลอดถึง ตัวบทกฎหมาย ตำรวจ ทหาร โรงพยาบาล การแพทย์ ยารักษาโรค ระบบราชการและการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และในที่สุดก็รัฐธรรมนูญแบบฝรั่ง ฯลฯ

ร้อยกว่าปีผ่านไป Lifestyle ของคนรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้ไม่ต่างอะไรจากฝรั่ง คนกรุงเทพฯ เดี๋ยวนี้ไม่ต่างอะไรกับคนนิวยอร์กหรือคนลอนดอน

เรามี Starbuck, McDonald’s, Pizza Hut, Louis Vuitton, รถไฟฟ้า รถไต้ดิน แท็กซี่ อินเทอร์เน็ต MTV, YouTube, CNN, CNBC, BBC, Bloomberg, Facebook, Twitter และ ฯลฯ


เด็กเราสมัยนี้จะไม่รู้สึกแปลกแยกอีกต่อไปเมื่อไปเมืองนอก และรู้สึกว่าความตื่นตาตื่นใจจะน้อยลง เมื่อเทียบกับคนรุ่นพ่อรุ่นปู่ซึ่งเคยตื่นตาตื่นใจกับเมืองนอกยิ่งกว่าคนรุ่นนี้หลายร้อยเท่า

การศึกษาประวัติศาสตร์ทำให้ผมเห็นแง่มุมที่สำคัญของฝรั่งหรือการพัฒนาเศรษฐกิจแบบฝรั่งอย่างหนึ่ง นั่นคือฝรั่งสามารถสร้างอะไรบางอย่างที่มีคุณค่าต่อจิตใจ มีความจรรโลงใจ หรือสิ่งที่สามารถยกระดับจิตใจ ซึ่งเราอาจจะเรียกแบบรวมๆ ว่า “High Culture” หรืออะไรก็ตามแต่ ได้อย่างยิ่งใหญ่ถาวรเมื่อพวกเขามั่งคั่ง


คือพวกเขาสามารถสร้างให้มันงอกงามหรือต่อยอดออกมาจากความมั่งคั่งที่ตัวเองสะสมไว้ได้สำเร็จ


ที่สำคัญ ระบบเศรษฐกิจและการจัดการแบบฝรั่งสามารถสร้างมันให้กลายเป็นอุตสาหกรรมที่ยิ่งใหญ่ในตัวมันเองได้ด้วยในปัจจุบัน



เรารู้แล้วว่า หลังจากช่วงฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม (Renaissance) ฝรั่ง (หมายถึงยุโรป) เริ่มมั่งคั่งขึ้น และมามั่งคั่งถึงขีดสุดหลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม (ฝรั่งเรียกว่า Industrial Revolution)

ระหว่างช่วงเวลานั้นและหลังจากนั้น ฝรั่งได้สร้างงานศิลปะที่งดงามอาบใจ ดนตรีที่ละเมียด วรรณกรรมที่ลึกซึ้งกินใจ สถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่อลังการ และวิทยาศาสตร์ที่น่าทึ่ง ซึ่งเป็นที่มาของประยุกตวิทยาหรือเทคโนโลยีที่สนับสนุนระบบการผลิตและระบบเศรษฐกิจและความมั่งคั่งทางโภคทรัพย์ของสังคมตะวันตกและของโลกอยู่ในขณะนี้

นี่ยังไม่นับอะไรก็ตามที่งอกมาจากสิ่งเหล่านั้นอีกชั้นหนึ่งเช่น ละคร อุปรากร บัลเล่ต์ และการเต้นรำแบบต่างๆ ภาพยนตร์ ดนตรี ภาพถ่าย สิ่งพิมพ์ การ์ตูน เกมส์ ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่จรรโลงใจและอาบวิญญาณของมนุษย์ เติมเต็มความหมายให้ชีวิต ซึ่งมนุษย์ต้องการนอกเหนือไปจากโภคทรัพย์และปัจจัย 4

มันทำให้มนุษย์ยังดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความหมายบนโลกใบนี้

อารยธรรมตะวันตกสามารถสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาได้จากฐานความมั่งคั่งของสังคมของตน คือสร้างมันขึ้นจากฐาน Productivity ทางการผลิตและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจในช่วงนั้นได้สำเร็จ


สำหรับผมแล้วมันน่าทึ่งมาก!


ผมยกตัวอย่างเล็กๆ ในช่วงสั้นๆ ที่สังคมตะวันตกสามารถผลิตคนซึ่งสร้างสิ่งเชิงคุณภาพเหล่านี้ในปริมาณที่น่าทึ่ง โดยที่ผลผลิตทางปัญญาและทักษะของพวกเขายังคงทรงอิทธิพลมาถึงปัจจุบัน


เช่น Mozart เกิดปี พ.ศ. 2299 หลังจากนั้นอีกเพียงสิบสี่ปี Beethoven ก็เกิดในปี 2313 หรือช่วงต้นรัตนโกสินทรที่มี Mendelssohn (เกิดปี 2350) Schumann และ Chopin (เกิดปี 2353) Liszt (2354) Wagner และ Verdi (เกิดพร้อมกันในปี 2356) หรือหลังจากนั้นก็มีช่วงของ Karl Marx (2361) Johannes Brahms (2376) และ Nietzsche (2387) เป็นต้น


และอีกช่วงที่พวกอัจฉริยะเกิดกันอย่างเข้มข้นคือช่วงระหว่างพระชนชีพของรัชกาลที่ 5 เช่น Gustav Mahler (2403), Hermann Hesse (2420), Albert Einstein (2422), Pablo Picasso (2424), James Joyce (2425) John Maynard Keynes (2426), F. Scott Fitzgerald (2439), William Faulkner (2440), Ernest Hemingway (2442), และ Evelyn Waugh (2446) เป็นต้น


นี่ยังไม่นับ Shakespeare ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงเดียวกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และศิลปินหรือช่างฝีมืออีกจำนวนมากที่ผลิต Object of Arts จำนวนมหาศาลที่เก็บอยู่ตามพิพิธภัณฑ์ชั้นนำและตามบ้านหรือตู้เซฟของบรรดาเศรษฐีมีทรัพย์ทั่วโลก


ผมเห็นเดี๋ยวนี้มีเศรษฐีจีนเริ่มประมูลภาพเขียนของ Picasso ด้วยราคาหลายร้อยล้านบาท หรือไม่ก็กว้านซื้อต้นฉบับลายมือเขียนและหนังสือที่พิมพ์ครั้งแรกของ Hemingway หรือของ Joyce ด้วยราคาเหลือเชื่อเช่นกัน อีกทั้งศิลปินจีนรุ่นใหม่จำนวนมาก ก็หันมาวาดภาพหรือปั้นรูปสไตล์ฝรั่งกันทั้งสิ้น

นี่ผมยังไม่นับสิ่งจรรโลงใจที่เป็นของอเมริกันยุคหลังจากนั้นอีก ไม่ว่าจะเป็น Rock & Rool, Rythm & Blues, Jazz, Broadway, Hollywood, Performing Art, Hip Hop, หรือแม้กระทั่งสถาปัตยกรรมแบบตึกระฟ้า เป็นต้น

ที่ผมพูดนี่ ไม่ใช่ยกย่องฝรั่งเพื่อมาทับถมกันเอง เพราะเราเองก็มีของดีอยู่แยะ ทั้งของอินเดียและจีนโบราณ ซึ่งเป็น Original ไม่ได้ลอกเลียนแบบฝรั่งมา


รามายาณะ มหาภารตะ และสามก๊กนั้น อาจจะมันส์กว่า Iliad หรือ Odyssey เป็นไหนๆ แต่ถ้ามองจากยุคหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ฝรั่งเริ่มมั่งคั่งขึ้นมาแล้วนั้น เราเทียบเขาไม่ติดเลย

ยิ่งผมมาได้ยินว่าชนชั้นนำของจีน (แม้กระทั่ง Xi Jinping ซึ่งคาดหมายกันว่าจะได้ขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดคนต่อไป) ก็ส่งลูกไปเรียนโรงเรียนประจำแถวนิวอิงแลนด์และเข้าเรียนต่อที่ Harvard (โดยอาศัยชื่อปลอม) ด้วยแล้ว ผมก็ไม่คิดว่าจีนจะสร้างสิ่งเหล่านี้ (ที่เป็นตัวของตัวเอง) ขึ้นมาได้จาก Productivity ทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นและมั่งคั่งขึ้นเหมือนที่ครั้งหนึ่งฝรั่งเคยสร้างสำเร็จมาแล้ว เพราะนั่นหมายความว่า ชนชั้นผู้นำจีนยุคนี้ตระหนักดีว่าฝรั่งสามารถเลี้ยงดูกล่อมเกลาลูกหลานของตัวเองได้ดีกว่าพวกเดียวกันเอง ซึ่งเรื่องแบบนี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับเอเซียชาติอื่น (ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ชนชั้นนำของเราก็นิยมส่งลูกไปให้ฝรั่งเลี้ยงดูสั่งสอน แล้วผลลัพธ์ก็ได้อย่างที่เห็นว่าเรายิ่งตามก้นและยอมศิโรราบให้ฝรั่งยิ่งขึ้นแทบทุกทาง)


ความมั่งคั่งและ Productivity ของเอเซีย ไม่ได้สร้างสิ่งเหล่านี้ให้สำเร็จขึ้นมาจนทรงอิทธิพลต่อจิตใจคนในระดับสากลได้เลยในรอบ 500 ปีที่ผ่านมา


เรายังคงต้องยืม High Culture จากฝรั่ง เพื่อสนอง Passion ที่ไปพ้นเรื่องทำมาหากินและโภคทรัพย์ของเราเอง และเพื่อให้เรารู้สึกว่าตัวเราและชีวิตเรานั้นมีความหมาย


มองในแง่นี้แล้ว ผมไม่คิดว่าจีนจะยิ่งใหญ่กว่าฝรั่งไปได้ในเร็ววันนี้ ถึงแม้เศรษฐกิจจีนจะเติบโตยิ่งใหญ่ มั่งคั่งไปด้วยทรัพย์ศฤงคาร และมีทุนสำรองระหว่างประเทศทะลักท้องพระคลังสักเพียงไหนก็ตาม (และอย่าลืมว่าทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนที่ว่ามีมากล้นนั้น ส่วนใหญ่ก็อยู่ในรูปของเงินดอลล่าร์ ซึ่งฝรั่งเป็นเจ้าของ นั่นหมายความว่าความร่ำรวยของจีนนั้น หามีความมั่นคงไม่)

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
31 พฤษภาคม 2555


บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนพฤษภาคม 2555

คลิกอ่านบทความเรื่องความสัมพันธ์ 4 เส้า ไทย-พม่า-จีน-ฝรั่ง ของผมได้จากลิงก์ข้างล่างนี้ครับ