วันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2553

ตำนานสงครามกลางเมือง ฆ่ากันแล้วก็ยังไม่จบ

ชุด "สงครามกลางเมือง" Trilogy, Part II


IN WAR : RESOLUTION
IN DEFEAT : DEFIANCE
IN VICTORY : MAGNANIMITY
IN PEACE : GOODWILL

Winston Churchill
The Second World War Volume I: The Gathering Storm, 1st Edition 1948)


สงครามกลางเมืองและการลุกขึ้นสู้ของประชาชนต่อรัฐบาลหรือผู้ปกครองที่กดขี่นั้น มีมาช้านานและมีขึ้นเป็นช่วงๆ ถี่ห่างตามแต่ยุคสมัย นับแต่เริ่มมีการบันทึกประวัติศาสตร์สังคมมนุษย์อย่างเป็นจริงเป็นจังที่อียิปต์โบราณ จีนโบราณ เปอร์เซีย และอินเดียโบราณ ไล่เรียงมาจนถึงกรีก โรมัน ยุโรป อเมริกา อัฟริกา และเอเชีย ก็เกิดขึ้นอยู่เนืองๆ ตลอดมาทุกศตวรรษ แทบไม่เคยว่างเว้น

แม้ในรอบร้อยปีที่ผ่านมานี้เอง ก็ได้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นหลายสิบระรอกทั่วโลก บางระรอกก็เกิดลุกลามกลายเป็นสงครามโลกก็มี

เฉพาะในเมืองไทยเอง การสู้รบอย่างเปิดเผยระหว่างรัฐบาลกับกองทัพปลดแอกประชาชน (ทปท.) ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ก็มีขึ้นอย่างรุนแรงและต่อเนื่องยาวนาน เป็นเวลาร่วมสองทศวรรษ โดยที่บรรดานักการเมือง นักธุรกิจ นักกิจกรรมสังคมขององค์กรเอ็นจีโอ และนักเคลื่อนไหวชั้นนำ หลายคนในปัจจุบัน ก็เคยเข้าร่วมกับฝ่าย พคท. ก่อสงครามกลางเมืองกันมาแล้ว

อันนี้ยังไม่นับการปะทะกันอย่างรุนแรงบนท้องถนนราชดำเนิน และการล้อมปราบที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หรือทำเนียบรัฐบาล ในการลุกขึ้นสู้เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖, ๒๕๑๙, ๒๕๓๕, และ ๒๕๕๑

MBA เห็นว่า สงครามกลางเมืองใหญ่ของโลกบางระรอก เป็นเรื่องที่คนไทยปัจจุบันต้องรู้ อย่างน้อยเพื่อเตือนสติตัวเอง และรู้เท่าทันเหตุปัจจัยของการเกิด-ดับ ของความขัดแย้ง อันนำไปสู่-ดำรงอยู่-และสิ้นสุด ของสงครามแต่ละครั้ง ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ และผลของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากสงครามสิ้นสุดลง


กรีกฆ่ากรีก

แต่ไหนแต่ไรมา ก่อนการปฏิวัติใหญ่ในประเทศฝรั่งเศส (French Revolution) มนุษย์เราส่วนมากถูกปกครองโดยคนจำนวนหยิบมือ ทั้งที่เรียกกันภายหลังว่า นายทาสบ้าง เจ้าที่ดินบ้าง พระบ้าง เจ้าบ้าง ขุนนางบ้าง อำมาตย์บ้าง อีกทั้งยังสืบทอดอำนาจกันเองเป็นรุ่นๆ หลายชั่วอายุคน

จึงไม่แปลกที่ผู้ปกครองเหล่านั้นจะ Manage ไปเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มตน ซึ่งเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะต้องกีดกันและเอาเปรียบคนจำนวนมาก ที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงอำนาจหรืออยู่ภายในรัศมีของการเมืองการปกครอง

ระบบปกครองแบบประชาธิปไตยที่อนุญาตให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียงแบบเท่าเทียมกัน อย่างเรารู้จักกันในโลกปัจจุบันนี้ เพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นาน แม้ในสมัยกรีกโบราณ ที่อ้างกันว่าเป็นปฐมรัฐที่คิดค้นประชาธิปไตยขึ้น ก็มีนักประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า ในช่วงระหว่างที่เกิดสงคราม Peloponnesian War (ปี 431-404 B.C.) ประชากรทั้งหมดประมาณ 315,000 ของแคว้น Attica นั้น เป็นทาสเสีย 115,000 คน และก็มีเพียง 43,000 คนเท่านั้นที่มีสิทธิออกเสียง เพราะสมัยนั้นผู้หญิง พ่อค้า คนงาน และคนต่างชาติ ไม่ได้รับสิทธิดังกล่าว (Will and Ariel Durant, The Story of Civilization Volume I: The Life of Greece, 1st edition 1939)

เป็นธรรมดาอยู่เองที่การปกครองของคนหยิบมือโดยกีดกันคนหมู่มาก ย่อมนำมาซึ่งความขัดแย้ง

ที่อาณาจักรกรีกโบราณคราวนั้น แรกๆ ก็แสดงออกด้วยการด่ากัน ประณามกัน เขียนหนังสือว่ากัน แสดงละครเสียดสีกัน ประท้วงกัน ตั้งพรรคการเมืองแข่งกัน จนหนักเข้าก็ลอบสังหารกัน แล้วก็เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นจนได้

ประมาณปี 427 B.C. ที่ Corcyra (เดี๋ยวนี้เรียกว่า Corfu) พวกเจ้า (เรียกว่า Oligarchs ส่วนใหญ่เป็นเจ้าที่ดิน ชนชั้นสูง และเจ้าของกิจการขนาดใหญ่) ลอบสังหารผู้นำพรรคฝ่ายไพร่ (เรียกว่า Democrat ส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าเล็กๆ คนงานและประชาชนทั่วไป) 60 คน ฝ่ายไพร่ก็เลยล้มฝ่ายเจ้า จับฝ่ายเจ้า 50 คนขึ้นศาลเตี้ย (คล้ายๆ Committee of Public Safety ในสมัยหลังที่ฝ่ายสาธารณรัฐฝรั่งเศสตั้งขึ้นจัดการกับฝ่ายเจ้า ขุนนาง และพระ ระหว่างการปฏิวัติใหญ่ปี 1792-1793) แล้วประหารทั้งหมด อีกทั้งยังจับขังให้อดอาหารตายในคุกอีกหลายร้อย

ท่านผู้อ่านลองอ่านบทบรรยายของ Thucydides นักประวัติศาสตร์ร่วมสมัยนั้นดูก็ได้ว่า บรรยากาศของสงครามกลางเมืองครั้งนั้น มันน่าสยดสยองเพียงใด

“During seven days the Corcyreans were engaged in butchering those of their fellow citizens whom they regarded as their enemies………Death raged in every shape, and, as usually happens at such times, there was no length to which violence did not go; sons were killed by their fathers, and suppliants were dragged from the altar or slain on it……Revolution thus ran its course from city to city, and the places where it arrived last, from having heard what had been done before, carried to a still greater excess the…atrocity of their reprisals…..Corcyra gave the first example of these crimes,….of the revenge exacted by the governed (who had never experienced equitable treatment, or, indeed, aught but violence, from their rulers) and….of the savage and pitiless excesses into which men were hurried by their passions….Meanwhile the moderate part of the citizens perished between the two (warring groups)…..The whole Hellenic world was convulsed.” (Thucydides, Peloponnesian War, iii 10; อ้างใน Life of Greece)

ว่ากันว่า ยุคหลังจากนี้ เป็นยุคที่ประชาธิปไตยของกรีกโบราณเบ่งบานที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเธนส์ แต่ถ้าเราอ่านงานของ Plato ทั้งที่มักยืมปาก Socrates ให้เป็นผู้วิจารณ์และที่เป็นความเห็นของตนเอง ก็จะเห็นว่าทั้งเขาและโสกราตีส ค่อนข้างดูแคลนและรังเกียจพวก demos (ซึ่งอาจอนุโลมเทียบได้กับบรรดาคนชั้นกลางและชั้นล่างในปัจจุบัน) ที่เริ่มขึ้นมามีบทบาทในการปกครองเอเธนส์หลัง Peloponnesian War ในครั้งนั้น

เปลโต้ค่อนข้างรังเกียจพวกเศรษฐีใหม่ (neoplutoi) ที่ฟุ้งเฟ้อ อวดร่ำอวดรวย และเข้ามาปกครองแทนที่พวกเจ้าที่ดิน โดยอ้างประชาธิปไตย ทว่ามุ่งเอาแต่ผลประโยชน์ทางการค้า การเงิน และอุตสาหกรรม จนเกิดช่องว่าระหว่างคนรวยกับคนจน (เปลโต้เขียนไว้ใน Republic ว่าเอเธนส์ขณะนั้นแยกเป็นสองเมือง “two cities:…one the city of the poor, the other of the rich, the one at war with the other.”)

เขาถึงกับ Observe ว่า “The excessive increase of anything causes a reaction in the opposite direction;….dictatorship naturally arises out of democracy, and the most aggravated form of tyranny and slavery out of the most extreme form of liberty.” (อ้างตามคำแปลจากภาษากรีกเป็นอังกฤษของศาสตราจารย์ Jowett)

หลังจากเปลโต้ตายลงในปี 347 B.C. ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนก็ยิ่งห่างขึ้น ความขัดแย้งกลายเป็นความเกลียดและระแวงไม่ไว้ใจกัน คนรวยและคนชั้นกลางฝ่ายหนึ่ง รวมตัวกันต่อต้านพวก Democrat โดยฝ่ายหลังก็พยายามกดดันให้รัฐบาลจัดสรรความมั่งคั่งไปสู่ชนชั้นล่างให้มากขึ้น ผ่านระบบประชานิยม ซึ่งรัฐบาลก็ต้องหารายได้แหล่งใหม่ๆ แล้วก็หนีไม่พ้นการเพิ่มภาษีแปลกๆ บางปีที่เศรษฐกิจเกิดตกต่ำ ลูกหนี้ก็รวมตัวกันสังหารเจ้าหนี้แล้วพากันยึดทรัพย์สินมาแบ่งกันก็มี

ภาวะแบบนี้เป็นอยู่จนกระทั่งกษัตริย์ Philip แห่ง Macedon (พระราชบิดาของอเล็กซานเดอร์มหาราช) ยกทัพเข้ายึดเอเธนส์แล้วเปลี่ยนระบบการปกครองเป็นแบบเผด็จการ และนับจากนั้นจนกระทั่งเสียกรุงให้โรมัน เอเธนส์ก็ไม่ได้กลับไปใช้ระบบปกครองแบบประชาธิปไตยแบบเดิมอีกเลย


เนเธอร์แลนด์ ฆ่าเพื่อปลดแอก 1572-1609

ก่อนยุคพระอาทิตย์ไม่ตกดินบนจักรวรรดิอังกฤษ สเปนเคยเป็นมหาอำนาจมาก่อน จักรพรรดิ Philip II (1527-1598) แห่งสเปนยิ่งใหญ่และน่าเกรงขามกว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปัจจุบัน เป็นไหนๆ

จักรวรรดิสเปนสมัยนั้น ครอบคลุมอาณาเขตของสเปน และส่วนใหญ่ของประเทศอิตาลีเดี๋ยวนี้ รวมตลอดจนถึงดินแดน 17 มณฑลของเนเธอร์แลนด์ และทวีปอเมริกา แถมยังมั่งคั่งที่สุดในโลกขณะนั้น และแสนยานุภาพทางทะเลก็เป็นที่เลื่องลือ

สเปนใช้เนเธอร์แลนด์เป็นฐานการค้ากับยุโรปเหนือและยุโรปตะวันออกทั้งหมด ทำให้เศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์มั่งคั่งและชนชั้นนำตลอดจนชนชั้นพ่อค้าวาณิชมีทัศนะที่ทันสมัย ทว่าพระองค์ทรงเป็นคอทอลิกที่เคร่งครัด และเกลียดพวกโปรแตสเตนส์เป็นที่สุด พระองค์จึงหาทางกำจัดคู่แข่งที่ฝักใฝ่นิกายใหม่อย่างเอาเป็นเอาตาย (ภาพยนตร์เรื่อง Elisabeth ทั้งสองภาค สร้างได้ใกล้เคียงความจริง ในแง่ที่แสดงให้เห็นว่าพระองค์เกลียดพระนางเจ้า Elisabeth I มาก ในฐานะที่เป็นโปรแตสเตนส์ และพยายามหาเรื่องอังกฤษอยู่ตลอดเวลา โดยที่ชนชั้นนำอังกฤษยุคนั้น เมื่อประชุมกันครั้งใดก็มักจะถกเถียงกันให้เห็นว่าพระองค์เป็น Threat ที่สำคัญที่สุดของอังกฤษ)

ใครๆ ก็รู้ว่าสไตล์การปกครองอาณานิคมของสเปนนั้นเด็ดขาด ใช้ความอำมหิตกดให้กลัว แล้วก็ขูดเอาทรัพยากรและผลประโยชน์เต็มที่ ชาวพื้นเมืองในอเมริกาถูกฆ่าอย่างเลือดเย็นจำนวนมาก

ไม่เว้นแม้แต่ในเนเธอร์แลนด์ ที่สเปนตั้งภาษีสูงๆ และแทบจะไม่ให้ชาวเนเธอร์แลนด์มีสิทธิมีเสียงในการปกครองกันเลย จนแม้ชนชั้นสูงของทั้งสองนิกายต้องร่วมมือกันปลดแอกจากสเปนอย่างลับๆ

แต่ในหมู่คนธรรมดานั้น ชาวโปรแตสเตนส์ย่อมมีสถานะเป็นเบี้ยล่างสุด จึงทำให้เกิดกระทบกระทั่งกับชาวคาทอลิกอยู่เนืองๆ จนเมื่อปี 1566 เกิดปะทะกันหนัก ถึงชีวิตและเผาโบสถ์คาทอลิก Philip II จึงส่งกองทหารเข้ามาปราบ แถมแม่ทัพที่นำกำลังมาปราบนั้น ก็อำมหิตมาก จับผู้นำฆ่าประจาน และใช้กำลังกดศัตรูทุกทางไม่ให้หือ

การปราบปรามครั้งนั้น ทำให้ผู้นำชาวดัชต์ฝ่ายต่อต้านต้องพากันลี้ภัยการเมืองออกนอกประเทศ ที่เหลือก็ “ลงใต้ดิน” สะสมกำลัง อาวุธ และก่อการร้าย เช่น ยึดเมืองท่าบางเมือง หรือไขน้ำทะเลให้เข้ามาท่วมพื้นที่ที่ถูกยึดครอง เป็นต้น (อย่าลืมว่าเนเธอร์แลนด์นั้นเป็นพื้นที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ต้องสร้างเขื่อนกั้นน้ำไว้) ในขณะที่บรรดาผู้นำก็ลอบไปติดต่อกับอังกฤษและฝรั่งเศสให้ช่วยเหลือฝ่ายต่อต้าน จนผู้นำของ 12 มณฑลที่ต่อต้านสเปน สามารถรวมตัวกันติด แล้วประกาศทำสงครามอย่างเปิดเผยกับสเปนในปี 1572 และร่วมกันก่อตั้งสาธารณรัฐ Republic of the Seven United Netherlands หรือเรียกสั้นๆ ว่า United Provinces ในปี 1581 ส่วนมณฑลที่เหลือก็ยังอยู่ภายใต้สเปนต่อไป

สงครามกับสเปนหรือที่เรียกว่า “สงครามปลดแอก” (War of Independence) กินเวลาตั้งแต่ปี 1572 จนถึงปี 1609 เมื่อสองฝ่ายทำสัญญาสงบศึกกัน โดยระหว่างนั้นเกิดความสูญเสียมากทั้งสองฝ่าย เช่นผู้นำฝ่ายต่อต้าน เจ้าชาย William of Orange ถูกสังหาร หรือกองเรือสเปนถูกปล้นสะดมทั่วท้องน้ำเสมอๆ จนมาพ่ายแพ้ต่ออังกฤษอย่างหมดรูปในปี 1588 ในคราวที่เรียกกันว่า The Spanish Armada

การปลดแอกออกจากสเปน และอานิสงส์ของระบบปกครองแบบสาธารณรัฐ ตลอดจนแบบอย่างจริยธรรมโปรแตสเตนส์ ทำให้เนเธอร์แลนด์มั่งคั่ง สามารถก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจแทนสเปนและปอร์ตุเกส และรุ่งเรืองต่อมาอีกเกือบสองร้อยปีก่อนจะเสียแชมป์ให้กับอังกฤษ ระหว่างนั้นเนเธอร์แลนด์สามารถสร้างกองเรือที่เข้มแข็ง สร้างเครือข่ายกิจการค้าและล่าอาณานิคมไปทั่วโลก ทางด้านการเงินก็ก้าวหน้าไปมาก กิจการธนาคาร วาณิชธนกิจ และตลาดหุ้นเฟื่องฟูอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน (เกิดกรณีปั่นราคาสินทรัพย์จนฟองสบู่แตกเป็นครั้งแรก ที่เรียกว่า Tulip Mania) เป็นพื้นฐานและแบบอย่างที่อังกฤษเลียนแบบในเวลาต่อมา ยุคดังกล่าวถือเป็นยุคที่ระบบทุนนิยมแรกอุบัติขึ้น

(ผู้อ่านที่สนใจเรื่องราวของยุโรปในช่วงที่สเปนรุ่งเรืองสุดขีด และการผงาดขึ้นมาของ Amsterdam ในฐานะศูนย์กลางของระบบทุนนิยมระหว่างศตวรรษต่อมา ต้องอ่านหนังสือประวัติศาสตร์อันยอดเยี่ยมของ Fernand Braudel, The Mediterranean and the Mediterranean world in the age of Philip II, ของผมเป็น The Folio Society Edition, 2000 ทั้งหมดมี 3 เล่มใส่กล่องอย่างดี, และ Fernand Braudel, Civilization & Capitalism 15th-18th Century Volume 3, 1st U.S. Edition, 1984, ส่วนรายละเอียดเรื่อง Tulip Mania แนะนำให้อ่านจาก Edward Chancellor, Devil Take the Hindmost, 1st edition, 1999)


อังกฤษ ฆ่าเจ้าแผ่นดินเพราะเชื่อต่าง 1649

คนไทยยุคนี้จำนวนมากที่ผมเคยคุยด้วย ไม่เคยรู้เลยว่าคนอังกฤษก็เคย “ตัดคอ” กษัตริย์ของตนมาแล้ว นึกว่ามีแต่คนฝรั่งเศสและรัสเซียเท่านั้น ที่ฆ่ากษัตริย์ทิ้งระหว่างการปฏิวัติ

ตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าปราสาททองแห่งกรุงศรีอยุธยา ที่อังกฤษก็ได้เกิดสงครามกลางเมืองที่เรียกว่า The English Civil War (1642-1649) ระหว่างฝ่ายกษัตริย์กับฝ่ายต่อต้านกษัตริย์ และจบลงด้วยการประหารชีวิตกษัตริย์ Charles I แห่งราชวงศ์ Stuart แล้วอังกฤษก็ปกครองโดยไร้กษัตริย์ (ตอนแรกเรียกว่า Commonwealth แต่ต่อมาเรียกว่า Protectorate) มาอีก 9 ปีหลังจากนั้น

พวกฝรั่งร่วมสมัยกับยุคกลางของอยุธยานั้นแปลก เพราะพวกเขามักรบราฆ่าฟันกันขนานใหญ่เพราะความเชื่อที่ต่างกัน

ในอังกฤษเมืองผู้ดีก็ไม่เว้น ตั้งแต่ก่อตั้ง Church of England ปลดแอกจากสังฆมณฑลภายใต้อำนาจของสันตะปาปาแห่งวาติกันเป็นต้นมา ก็เกิดความขัดแย้งที่อ้างความเชื่อทางศาสนาที่ต่างกันอยู่เสมอ มิได้หยุดมิได้หย่อน

หลังจากพระนางเจ้าเอลิซาเบธสิ้นพระชนม์ลงโดยมิได้มีทายาทสืบสันตติวงศ์ ชนชั้นปกครองยุคนั้นก็พากันยกพระเจ้า James VI กษัตริย์แห่งสก๊อต ลูกชายของ Mary Stuart ญาติห่างๆ ของเอลิซาเบธที่ถูกพระนางสั่งประหาร ขึ้นครองบัลลังก์อังกฤษด้วย ถือเป็นการเปลี่ยนจากราชวงศ์ Tudor มาเป็นราชวงศ์ Stuart

พระเจ้าเจมส์เป็นพวกบ้าอำนาจ และดันไปประกาศแนวคิดว่ากษัตริย์คือ “สมมติเทพ” (Divine Right of the Kings) ในวันเปิดสภาไอร์แลนด์ครั้งแรก พระองค์ทรงตรัสกับสมาชิกสภาว่า “The state of monarchy is the supremest thing upon earth, for kings are not only God’s lieutenants upon earth and sit upon God’s throne, but even by God himself they are called gods….That as to dispute what God may do is blasphemy,….so is it sedition in subjects to dispute what a king may do in the height of his power…..I will not be content that my power be disputed upon…….” (ผมอ้างมาจาก Wallbank, Taylor, Carson, Civilization: Past and Present, Volume II, 5th edition 1965 หน้า 29)

ดังนั้นการบริหารของพระเจ้าเจมส์ มักมีแนวโน้มไปทางเผด็จอำนาจ สุดท้ายก็มีเรื่องกับรัฐสภาจนได้ เพราะพระองค์ท่านอยากเก็บภาษีเพิ่ม แต่รัฐสภาขัดขวาง ทำให้พระองค์ยุบสภาทิ้ง และปกครองโดยไม่มีสภาเป็นเวลาถึง 10 ปี

ต้องเข้าใจว่าสมัยนั้น ความขัดแย้งทางศาสนาก็ดำรงอยู่แบบ “หลายเส้า” เพราะแม้อังกฤษจะประกาศอิสระจากสันตะปาปา แต่นิกายอังกฤษก็ยังดำรงไว้ซึ่งความเชื่อและพิธีกรรมหลายอย่างที่มีกลิ่นอายของโรมันคาทอลิก แม้ในยุคของพระนางเจ้าเอลิสาเบธจะเอียงมาทางโปรแตสเทนส์มากหน่อย แต่คาทอลิกก็ยังไม่หมดไป

มาถึงยุคพระเจ้าเจมส์ ประชาชนเริ่มไม่พอใจสังฆมณฑล พวกคาทอลิกก็หวังว่าจะดึงทุกอย่างกลับ แต่ก็ไม่ปรารถณาจะกลับไปอยู่ใต้อาณัติของสันตะปาปาอีกแล้ว

ในหมู่โปรแตสเทนส์เอง ก็มีพวกสุดขั้วที่ต้องการปฏิวัตินิกายอังกฤษให้ “ปลอดพ้น” จากกลิ่นอายของคาทอลิก และปลอดพ้นจากอาณัติของสังฆราช (Bishop of England) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากกษัตริย์ พวกเหล่านี้เรียกตัวเองว่า “Puritans”

พวก Puritans ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางที่มีผลประโยชน์ทางการค้า คนเหล่านี้ไม่พอใจรัฐบาลของกษัตริย์ที่นึกจะเก็บภาษีก็เก็บ พวกเขาต้องการให้รัฐสภามีอำนาจในการออกกฎหมายอย่างโปร่งใสเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของการค้าขายและอุตสากรรมให้ชัดเจน

เป็นคราวเคราะห์ของคนอังกฤษ เมื่อพระเจ้า Charles I โอรสของพระเจ้าเจมส์ขึ้นครองราษฎร์ต่อจากพระราชบิดาในปี 1625 กษัตริย์องค์ใหม่บ้าอำนาจยิ่งกว่าพระราชบิดา ไม่ให้เกียรติขุนนางและสมาชิกสภาเลย ยิ่งกว่านั้นยังแสดงออกว่าสนับสนุนพวกคาทอลิกและบรรดา Bishop อย่างออกนอกหน้า

การกระทบกระทั่งมีขึ้นตลอดเวลา จากน้อยไปหามาก จนสังคมอังกฤษแตกแยกแบ่งเป็นสองฝ่ายใหญ่คือฝ่าย Cavaliers และฝ่าย Roundheads

ฝ่าย Cavaliers สนับสนุนกษัตริย์ ส่วนมากเป็นพวกเจ้า ขุนนาง เจ้าที่ดิน พวกนี้แม้ไม่พอใจอำนาจเผด็จการของกษัตริย์ แต่ก็ไม่ชอบพวก Puritans ด้วย เพราะเห็นว่า “สุดขั้ว” จนเกินไป

ส่วนฝ่ายต่อต้าน เรียกว่า Roundheads (เพราะตัดผมสั้น) ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางและชั้นล่างที่ต้องการอิสระในการนับถือศาสนาและทำมาหากิน ฝ่ายหลังนี้ค่อยๆ สร้างกองกำลังของตัวเองขึ้น โดยมีแม่ทัพอัจฉริยะผู้หนึ่งเป็นผู้ดำเนินการและบัญชาการ Oliver Cromwell

ในที่สุดสองฝ่ายก็รบกันเมื่อปี 1642 จนฝ่ายกษัตริย์พ่ายแพ้ และกษัตริย์ถูกควบคุมตัว แม้ต่อมาจะเกิดความขัดแย้งขึ้นในฝ่ายต่อต้านที่ตอนนี้เป็นฝ่ายชนะและปกครองอังกฤษ เพราะมีทั้งพวกสุดขั้ว Puritans พวก Presbyterian ซึ่งขอเพียงให้กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเท่านั้น แถมยังมีพวกสายกลางทางศาสนาแต่นิยมสาธารณรัฐในเชิงการเมืองอีกด้วย โดยที่กษัตริย์ชาลส์เองก็แอบส่งข่าวไปขอกำลังจากสก๊อตแลนด์และพวก Presbyterian ให้ยกมาถล่มอังกฤษเพื่อฟื้นสถานะของตน

ทว่า สุดท้าย Oliver Cromwell และฝ่ายนิยมสาธารณรัฐก็ตัดสินใจกระทำการคล้ายๆ รัฐประหาร โดยยกทัพไปต้านกองทัพสก๊อตจนชนะ แล้วก็หันมาจับสมาชิกสภาฝ่าย Presbyterian ที่เทใจให้ฝ่ายต่อต้าน แล้วสุดท้ายก็ดำเนินคดีกับกษัตริย์ จนให้ประหารชีวิตในปี 1649

หลังจากสิ้นกษัตริย์แล้ว Oliver Cromwell ก็มิได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ ตั้งราชวงศ์ใหม่ แต่ได้ปกครองด้วยระบบเผด็จอำนาจ จนกระทั่งสิ้นชีพ แล้วลูกชายก็ขึ้นมาแทน ได้พักหนึ่ง ชนชั้นปกครองของอังกฤษก็เห็นร่วมกันว่าควรไปเชิญกษัตริย์ Charles II โอรสของ Charles I กลับมาครองราชย์ในปี 1660

สังคมอังกฤษช่วงนี้ เป็นการต่อสู้ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะระหว่างฝ่ายปฏิกิริยากับฝ่ายก้าวหน้า ที่ต้องการให้คนส่วนใหญ่มีส่วนร่วมในการปกครองมากขึ้น สำทับด้วยความขัดแย้งในเชิงความเชื่อทางศาสนาที่ต่างกัน กษัตริย์เองก็ได้เจรจาในทางลับกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศส ให้สนับสนุนทางการเงินเป็นส่วนพระองค์ แลกกับการที่จะนำอังกฤษกลับสู่คาทอลิก (นับเป็นการคอรัปชั่นโดยกษัตริย์ที่คนอังกฤษรุ่นหลังอับอาย) โดยสุดท้ายตัวชาลส์เองก็กลับเป็นคาทอลิก แต่สภาก็แก้ลำโดยการออกกฎหมายห้ามคนคาทอลิกรับราชการในทุกตำแหน่ง

ช่วงนี้เองที่การเมืองอังกฤษแบ่งออกเป็นสองขั้วอย่างชัดเจน พวกเอาใจช่วยคาทอลิกรวมตัวกันเป็นกลุ่มซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นพรรค Whig โดยส่วนใหญ่เป็นพวกสมาชิกสภาขุนนางและเจ้าที่ดิน มีสโลแกนในตอนนั้นว่า “The King, The Church, and The Land” โดยที่อีกฝ่ายหนึ่งคือพรรค Tory ที่เน้นคำขวัญว่า “Life, Liberty, and Property” พวกนี้ส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าและชนชั้นกลาง สมาชิกสภาล่าง

จนล่วงเข้ารัชกาลของพระเจ้า James II พระอนุชาของ Charles II ความขัดแย้งก็ยิ่งแหลมคมขึ้นอีก พระองค์ทรงให้เลิกกฎหมายห้ามคาทอลิกเข้ารับราชการ และเริ่มแต่งตั้งข้าราชการคาทอลิก โดยเฉพาะในกองทัพ อีกทั้งยังหันไปคบใกล้ชิดกับฝรั่งเศส ทำให้บรรดาชนชั้นปกครองของอังกฤษเริ่มไม่สบายใจ และเห็นร่วมกันว่าจะต้องปลดพระองค์

พระเจ้า Charles II มีพระธิดาซึ่งเป็นรัชทายาทอยู่องค์หนึ่งชื่อ Mary เป็นโปรแตสเตนท์ อภิเษกกับเจ้าชาย William of Orange แห่งเนเธอร์แลนด์ ทว่า เมื่อพระเจ้าชาลส์ทรงให้กำเนิดพระราชโอรสคาทอลิกในปี 1688 และทำท่าว่าจะกลายเป็นผู้สืบราชสมบัติในภายภาคหน้า คนอังกฤษก็หมดความอดทน

ชนชั้นนำของอังกฤษสมัยนั้น รวมทั้งบรรดา Bishop ทั้งหลายด้วย จึงคิดการณ์ไปเชิญพระนาง Mary กับพระสวามีให้นำกองทัพเนเธอร์แลนด์เข้ามายึดอำนาจ โดยเมื่อกองทัพมาถึงลอนดอนก็วางแผนให้ทหารโปรแตสเทนส์วางอาวุธ จนสุดท้าย Charles II ก็ทรงลี้ภัยไปฝรั่งเศส หลีกทางให้กับพระราชธิดา

ชนชั้นปกครองของอังกฤษได้ตกลงให้เชิญพระนาง Mary และเจ้าชาย William ขึ้นปกครองอังกฤษคู่กันในฐานะองค์พระประมุข โดยรัฐสภาได้ออกกฎหมายจำกัดพระบรมเดชานุภาพของกษัตริย์และเพิ่มอำนาจให้สภา รับรองเสรีภาพในการพูดและแสดงออก อีกทั้งยังรับรองเสรีภาพในทางกฎหมายและความเท่าเทียมของราษฎร เรียกว่า Bill of Rights และในปี 1701 ก็ได้ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ (Act of Settlement) เพื่อกำหนดการสืบราชสมบัติให้อยู่ภายใต้กฎหมาย

นับแต่นั้นมา กษัตริย์อังกฤษก็ปกครองประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญและกลายเป็นเพียง “สัญลักษณ์” สืบมาจนกระทั่งปัจจุบัน

เหตุการณ์ในครั้งนั้น รู้จักกันในนาม The Glorious Revolution ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติประชาธิปไตยโดยสันติมิต้องเสียเลือดเนื้อ

การเปลี่ยนระบบปกครองของอังกฤษที่ขยายการมีส่วนร่วมของคนจำนวนมาก ประกอบกับกระบวนการปฏิวัติอุตสาหกรรมในประเทศ (Industrial Revolution) ได้ส่งผลให้อังกฤษก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ของโลก ในรอบสองร้อยกว่าปีต่อมา เริ่มจากการผนวกสก๊อตแลนด์ในปี 1707 แล้วก็อเมริกา แคนาดา อียิปต์ อินเดีย พม่า สิงคโปร์ มาลายู ฮ่องกง ฯลฯ จนเพิ่งจะมาหมดบุญบารมีลงอย่างสิ้นเชิงเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่สองนี้เอง


อเมริกัน ฆ่าเพื่ออิสรภาพ 1776

สงครามปลดแอกของอเมริกันจากอังกฤษเป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางในหมู่คนไทย แต่ถ้าเราไม่กล่าวถึงเสียเลย เนื้อหาใจความเรื่องสงครามกลางเมืองอาจไม่ครบถ้วน

แน่นอนว่า อาณานิคมย่อมถูกเอาเปรียบจากเมืองแม่ แม้คนอังกฤษจะรักอิสรภาพและรับรองสิทธิทางกฎหมายกันมาตั้งแต่ Glorious Revolution แต่กับอาณานิคมนั้น อังกฤษมัก “โหด” เสมอ

ไม่เว้นแม้แต่เลือดเนื้อเชื้อไขอย่างอเมริกา ที่อังกฤษขูดรีดผ่านภาษี เอาเปรียบผ่านการผูกขาดการค้า (มีกฎหมายห้ามคนอเมริกันค้าขายโดยตรงกับยุโรป การนำเข้าส่งออกต้องทำผ่านกิจการของคนอังกฤษเท่านั้น) แถมยังไม่เคยนับว่าอเมริกันเท่าเทียมกับอังกฤษ และไม่เคยรับรองสิทธิในการร่วมปกครองแต่อย่างใด

สถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศช่วงนั้น เป็นช่วงที่อังกฤษกับฝรั่งเศส สองมหาอำนาจกำลังเผชิญหน้ากันในสงครามที่เรียกว่า Seven Years’ War โดยสุดท้ายอังกฤษเป็นฝ่ายชนะในปี 1763 เลยได้ดินแดนอาณานิคมเดิมของฝรั่งเศสและสเปนผนวกเข้ามาในจักรวรรดิอังกฤษมากขึ้น รวมถึงแคนนาดาด้วย

สงครามทำให้อังกฤษเสียเงินไปแยะ จึงบังคับขึ้นภาษีในอเมริกา (เรียกว่า Stamp Act of 1765) ทำให้เกิดความไม่พอใจไปทั่ว

ปัญญาชนชั้นนำของอเมริกา ที่ศึกษาปรัชญาสำนัก “ตื่น” (Enlightenment) ของยุโรปรวมทั้งนิยม Bill of Rights ของอังกฤษ อย่าง John Adam และ Benjamin Franklin หรือ Thomas Jefferson กับ Alexander Hamilton ก็เริ่มปลุกระดมให้แยกตัวเป็นอิสระ และเรียกร้องการมีส่วนร่วมในการปกครอง ด้วยคำขวัญ “No taxation without representation” ซึ่งหมายถึงการส่งสัญญาณต่อรัฐบาลอังกฤษว่าชนชั้นนำอเมริกันอยากมีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษที่ลอนดอน

ระหว่างนั้น ได้เกิดการประท้วงขึ้นที่บอสตัน และทหารอังกฤษก็ทำการปราบปรามทำให้ผู้ประท้วงตายไป 5 คน แล้วก็แก้แค้นกันไปกันมา ตามสูตรสำเร็จ ในฐานะเงื่อนไขหนึ่งของสงครามกลางเมือง

เมื่อรัฐบาลอังกฤษปฏิเสธข้อเสนอของอเมริกันที่ขอส่งผู้แทนเข้าร่วมในรัฐสภาอังกฤษ พวกเขาก็เลยเปิดสภากันเอง โดยเรียกประชุมครั้งแรกในเดือนกันยายน 1774 (เรียกว่า Continental Congress) ที่ฟิลาเดลเฟีย มีผู้แทนจำนวน 56 คนมาจาก 12 รัฐ ตกลงกันว่าให้บอยคอตมาตรการของอังกฤษ

ผลของข้อสรุปนั้น ทำให้เกิดการเผชิญหน้ากันรุนแรงยิ่งขึ้น การประท้วงแต่ละครั้งมักจบด้วยความรุนแรง จนที่สุดเมื่อ 19 เมษายน 1775 กองกำลังของทั้งสองฝ่ายก็เกิดปะทะกันที่ Lexington ใกล้ๆ กับบอสตัน โดยฝ่ายอังกฤษเป็นฝ่ายปราชัย

นับแต่นั้น เลือดชาตินิยมของฝ่ายอเมริกันก็พุ่งพล่าน ฮึกเหิมขึ้น จนกระทั่ง Continental Congress ได้ออกประกาศอิสรภาพที่เรียกว่า Declaration of Independence (ร่างขึ้นโดย Jefferson) เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 1776 ตรงกับสมัยที่ชนชั้นนำของไทยที่นำโดยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ก็ทำการกู้ชาติจากพม่าเช่นเดียวกัน

เมื่อลองอ่านคำประกาศอิสรภาพฉบับนั้นดูแล้ว ผมยอมรับว่าร่างได้กินใจมาก มิน่ามันถึงได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักปฏิวัติรุ่นหลังทั่วโลก ประโยคที่มักได้รับการพูดถึงอยู่เสมอ ก็คือที่บอกว่า “We hold these truths to be self-evident, that all men are created equal.”

นายพล George Washington แม่ทัพใหญ่ฝ่ายอเมริกัน แม้จะมีบุคลิกที่อาจหาญ เป็นสุภาพบุรุษ แต่ก็เก่งในการรบแบบกองโจร ทั้งซุ่มโจมตี ตัดเสบียง ทำลายขวัญ และรบนอกแบบ แต่แม้จะใช้ยุทธวิธีการรบแบบกองโจรเสียเป็นส่วนใหญ่ นายพลวอชิงตันก็ไม่เคยยินยอมให้ฝ่ายอังกฤษมองกองทัพของเขาว่าเป็นกองทัพโจรโดยเด็ดขาด

เขาไม่เหมือนกับแม่ทัพปฏิวัติยุคหลังอย่าง ตร้อกสกี้ หรือนายพลจูเต๋อ นายพลหลินเปียว หรือนายพลหวนเหวียนย้าป ที่มักปิดตัว แต่งตัวธรรมดา และเป็นอยู่แบบง่ายๆ ดูเผินๆ ไม่รู้ว่าเป็นแม่ทัพใหญ่ ทว่า นายพลวอชิงตัน เป็นคนมีพิธีรีตองแบบทหารสุภาพบุรุษอังกฤษ แต่งตัวเต็มยศ เมื่อเจรจากับฝ่ายตรงข้าม เขาจะต้องสร้างบรรยากาศให้เหมือนการเจรจาระหว่างแม่ทัพสองประเทศ มิใช่ระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายกบฏ นั่นทำให้รัฐบาลอังกฤษยอมรับเขาในเวลาต่อมา

นายพลวอชิงตันชี้นำการรบสำคัญๆ หลายครั้ง เช่นที่ Saratoga ซึ่งตอนแรกทำท่าว่าจะแพ้แต่ก็กลับมาชนะอย่างงดงามเหลือเชื่อ และที่ Yorktown ซึ่งถือเป็นการปิดฉากสงคราม พวกเขาทำการรบติดพันอยู่เกือบ 6 ปี จนรัฐบาลอังกฤษยอมรับรองสถานะของอเมริกาว่าเป็นประเทศที่มีอิสรภาพโดยสมบูรณ์ตาม “สนธิสัญญาปารีส” ปี 1783 และเมื่อประกาศใช้ “รัฐธรรมนูญอเมริกัน” หรือ United States Constitution แทน Articles of Confederation และมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี เขาก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีคนแรกในปี 1789 (หนังสือเกี่ยวกับนายพลวอชิงตันที่อ่านง่ายและดีมากคือ Paul Johnson, George Washington, The Founding Father, 1st edition, 2005 ส่วนหนังสือที่เกี่ยวกับสงครามปลดแอกอเมริกัน ผมแนะนำ Gordon S. Wood, The American Revolution: A History, Modern Library Series, 2003)

ถ้านับเอาปี 1783 เป็นเกณฑ์ตัดสินว่าเป็นปีที่สงครามปลดแอกสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ ก็เทียบได้กับ พ.ศ. ๒๓๒๖ ยุคต้นรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เพิ่งทรงครองราชย์ได้เพียงปีเดียว นับว่าอเมริกาและกรุงเทพฯ มีจุด Start ใกล้เคียงกัน

แต่ไฉน เมื่อเวลาผ่านไป 226 ปี ถึงปีนี้ ผ่านไปเพียง 5 ชั่วคน อเมริกาถึงเจริญก้าวหน้า มั่งคั่ง และยิ่งใหญ่กว่าไทยหลายเท่าตัว

โดยระหว่างนี้ อเมริกาปกครองโดยระบบรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด ภายใต้การนำของประธานาธิบดี 44 คน และยังผ่านสงครามกลางเมืองใหญ่มาเมื่อสมัยปลายรัชกาลที่ ๔ ส่วนเมืองไทยปกครองโดยสมาชิกของพระราชวงศ์จักรีมาตลอด 227 ปี ในจำนวนนี้เป็นระบบที่กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญถึง 78 ปี

นั่นเป็นคำถามที่น่าคิด



ฝรั่งเศส ฆ่าเพราะเกลียด 1789


ในที่นี้ผมจะไม่อธิบายถึงเหตุการณ์ในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution) เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องดาษดื่น สามารถหาอ่านกันได้ในภาคภาษาไทย แต่ผมจะเขียน Observation ของผมที่มีต่อการปฏิวัติและผลกระทบในครั้งนั้น (ถ้าอยากรู้เรื่องเหตุการณ์โดยละเอียด ผมแนะนำให้อ่านหนังสือของหนึ่งในแกนนำคนเสื้อแดง จรัล ดิษฐาอภิชัย เรื่อง การปฏิวัติฝรั่งเศส เล่ม 1-2, จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เบรน เซ็นเตอร์ ในเครือ ASTV-ผู้จัดการ แกนนำสำคัญของคนเสื้อเหลือง, ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ปี 2542)

หากเราไม่อยากอธิบายว่าการปฏิวัติใหญ่ฝรั่งเศส เป็นการต่อสู้ทางชนชั้นครั้งสำคัญ เราจะอธิบายว่ายังไงดี

มีคนอธิบายเรื่องราวครั้งนั้นไปแล้วหลายแบบ เพราะการปฏิวัติครั้งนั้น ถือเป็น “ต้นแบบ” ของการปฏิวัติและลุกขึ้นสู้รุ่นหลังต่อมาจนกระทั่งปัจจุบัน

ที่ว่าเป็น “ต้นแบบ” นั้น เป็นทั้งในแง่ของอุดมการณ์ ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี แบบอย่างที่ต้องเอามาศึกษาผิดถูกว่าใครพลาดตรงไหน รวมถึงการออกแบบสังคมใหม่แบบทั่วด้าน ฯลฯ

สำหรับผม ผมคิดว่าการฆ่ากันครั้งนั้น เป็นเพราะความหมั่นไส้ และความเกลียดชัง ระหว่างคนสองสังคม สังคมแรกเป็นพวกเจ้าที่ดินและพระที่เรียกโดยรวมว่า “ฐานันดรที่หนึ่งและสอง” ส่วนอีกสังคมหนึ่งเป็นกลุ่มคนที่เหลือซึ่งสังกัด “ฐานันดรที่สาม”

ความขัดแย้งในฝรั่งเศสช่วงนั้น เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ นั่นแสดงว่าทั้งประเทศฝรั่งเศสขณะนั้นมีคนทั้งสองสังคมเผชิญหน้ากันอยู่ คล้ายๆ กับสถานการณ์ในเมืองไทยขณะนี้ ที่แม้เชียงใหม่จะเป็นฐานของ “เสื้อแดง” แต่ก็มี “เสื้อเหลือง” อยู่ด้วย ขณะเดียวกันกรุงเทพฯ และทางใต้ ที่เป็นฐานใหญ่ของ “เสื้อเหลือง” ก็มีชุมชน “เสื้อแดง” เช่นกัน

การยกพวกฆ่ากันของคนฝรั่งเศส ต่างกับสงครามกลางเมืองใหญ่ๆ ก่อนหน้านั้น ทั้งที่เนเธอร์แลนด์ที่ฆ่าเพราะต้องการปลดแอก ปลดเปลื้องภาระที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ปกครองต่างชาติ หรือที่อเมริกาเพราะต้องการอิสรภาพ และปลดแอกจากคนที่กำเนิดมาจากชาติพันธุ์และภาษาเดียวกัน อีกทั้งยังเป็นสงครามแย่งชิงเขตแดนหรือ Territory ส่วนอังกฤษก็ฆ่ากันด้วยยึดความเชื่อทางศาสนาที่ต่างกัน

กรณีของฝรั่งเศสนั้น พวกเขามิได้ปกป้องหรือแย่งชิงเขตแดน หรือต้องการอิสรภาพ หรือมีความเชื่อทางศาสนาที่ต่างกัน เพราะเกือบทั้งหมดเป็นคาทอลิกด้วยกัน แต่ผืนแผ่นดินฝรั่งเศสขณะนั้น กลับเป็นที่อยู่อาศัยของสมาชิกของคนสองสังคม ที่ต่างกันลิบลับ เพียงแต่พูดภาษาเดียวกัน ซ้อนกันอยู่ โดยที่ลึกๆ แล้ว ทั้งสองกลุ่มก็ได้แสดงความหมั่นไส้ รังเกียจ เดียดฉันท์ และกระทบกระทั่งกันเสมอมา

ที่พวกเขาลุกขึ้นมาฆ่ากัน เพราะก่อนหน้านั้น ความเป็นอยู่ของคนสองสังคมนั้นมันต่างกันราวฟ้ากับดิน ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมันกว้างดั่งมหาสมุทร บ้านของพวกเจ้ากับสลัมของคนจน ต่างกันหน้ามือเป็นหลังมือ (จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ยังหลงเหลือร่องรอยอยู่ ไม่เชื่อก็ลองไปเดินดู Chateau Versailles เทียบกับตึกแถวตามซอกเล็กซอยน้อยในย่าน Marais หรือหาดูภาพเขียนตาม Museum ในปารีสที่เผยให้เห็นบ้านช่องสมัยนั้น) แม้กระทั่งอาหารการกิน เสื้อผ้าอาภรณ์ก็ต่างกัน และเห็นกันอยู่ตำตาทุกเมื่อเชื่อวัน

ความไม่เท่าเทียมกันทางด้านความเป็นอยู่และในเชิงกฎหมาย (พวกฐานันดรที่สาม ต้องจ่ายภาษีมากกว่าพวกฐานันดรที่หนึ่งและสอง) เป็นตัวเพาะเชื้อในใจคนให้เกลียดกันได้ง่ายๆ และโดยที่โอกาสในการที่จะเข้าไปมีปากเสียง ร่วมเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ของสังคมทำไม่ได้เอาเลย เพราะกระบวนการทางการเมืองเป็นแบบตายตัว หนทางเดียวที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ก็คือต้องใช้กำลัง แต่เมื่อใช้กำลังบังคับแล้ว มันกลับยิ่งกระตุ้นให้ความเกลียดชังที่ฝังอยู่ในใจอยู่ก่อน พุ่งพล่านออกมาผสมโรงในเวลาเดียวกัน ทำให้ดีกรีความรุนแรง เป็นไปแบบเกินความคาดหมายและจินตนาการของทุกฝ่าย (Florine Aftalion: The French Revolution: An Economic Interpretation, Cambridge University Press, 2002 ให้รายละเอียดด้านเศรษฐกิจช่วงนั้นละเอียดดี)

พวกเขาลุกขึ้นมาฆ่ากันอย่างครึกโครมและเลือดเย็น ฝูงชนทำให้ระบบระเบียบในสังคมล่มสลาย เกิดความกลัวขึ้นทั่วไป จนเกิดพลังต่อต้านการปฏิวัติ ต้องการเห็นระเบียบกลับคืนสู่สังคม หลังจากล้มตายกันไปมากแล้ว

แล้วฝรั่งเศสก็เริ่มถลำลึกเข้าไปสู่ระบบเผด็จการ จนเต็มรูปแบบด้วยการสถาปนาตัวเองของนโปเลียน จนที่สุดก็เกิดความมั่นอกมั่นใจในตัวเองสุดขีด เที่ยวตีชิงไปทั่วยุโรป และก็พบจุดจบแบบที่เรารู้กันดีอยู่แล้ว

แต่แม้จะสูญเสียมากในระหว่างนั้น สังคมฝรั่งเศสก็ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านบวกขึ้นพร้อมกันเกือบทั่วด้าน อย่างน้อยบรรดาผู้นำกลุ่มใหม่ที่ยึดถืออุดมการณ์สาธารณรัฐ ก็ได้ช่วยกันประคับประคองและชี้นำระบอบสาธารณรัฐให้ดำเนินไปได้ระดับหนึ่ง เป็นการจุดเชื้อไฟให้กับคนรุ่นต่อมา อีกทั้งกฎหมายหลายฉบับก็ได้กลายมาเป็นพื้นฐานของระบบกฎหมายในโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Napoleon Code แม้กระทั่ง Speech ของผู้นำทั้งสองฝ่าย ก็กินใจ กระตุ้นจินตนาการอย่างน่าชม

ส่วนทางด้านการศึกษานั้นเล่า ผู้นำกลุ่มใหม่ของฝรั่งเศส ก็ได้สร้างโรงเรียนสำหรับผู้นำขึ้นจำนวนหนึ่ง เรียกว่า Grande E’coles เพื่อผลิต Elite ที่พร้อมจะรับใช้สาธารณรัฐ เป็นระบบการศึกษาที่เข้มข้น กรองเอาชนชั้นกะทิมาฝึกเป็นผู้นำ ถือเป็นจุดแข็งของสังคมฝรั่งเศส ที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน โดยที่ยังไม่มีนักการศึกษาในสังคมอื่นเลียนแบบไปทำให้สำเร็จได้เสมอเหมือน

การปฏิวัติฝรั่งเศสนั้น เป็นการตัดขาดกับอดีต (ยืมคำของ Edmund Burke) พยายามตัดขาดในทุกทาง ทั้งในแง่จารีต ประเพณี และวัฒนธรรม แม้แต่การนับเดือนและศักราช ยังต้องคิดระบบใหม่ขึ้นมา เป็นการลบอดีตและให้เริ่มนับหนึ่งใหม่ (ความคิดอันนี้ต่อมา เหมาเจ๋อตง และพอลพต ก็ลอกมาใช้ด้วยสไตล์ที่ต่างออกไป เป็นแบบเฉพาะตัว)

แม้ชนชั้นปกครองไทยในช่วงนั้น คือตรงกับรัชสมัยของรัชกาลที่ ๑ ยังไม่คิดอะไรมาก แต่การปฏิวัติฝรั่งเศสทำให้ยุโรปซึ่งเป็นศูนย์กลางของโลกในขณะนั้นสะเทือนไปด้วย กษัตริย์และชนชั้นสูงยุโรปเริ่มกังวลว่าความคิดปฏิวัติจะเผยแพร่มาสู่ดินแดนของตน (เพราะผู้นำสาธารณรัฐของฝรั่งเศสก็ประกาศสนับสนุนให้ราษฎรของต่างประเทศลุกขึ้นสู้รัฐบาลกษัตริย์ที่กดขี่ด้วย อย่างเปิดเผย) พวกเขารวมตัวเป็นฝ่ายสัมพันธมิตร พากันกดดันฝรั่งเศส ทำให้เกิดสงครามใหญ่ขึ้น เรียกโดยรวมว่า “สงครามนโปเลียน” (Napoleonic War)

ผลกระทบสำคัญอันหนึ่งของสงครามนโปเลียน ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือมันได้ปลุกจิตสำนึกและพลังชาตินิยมของคนเยอรมันขึ้นมา จนสุดท้ายก็ตั้งประเทศของตัวขึ้นมาได้ แล้วก็กลายเป็นชาติที่น่ากลัว เพราะมีวินัยสูง ทำอะไรทำจริง Productivity และ Efficiency ก็สูงด้วย แถมยังมีความมั่นใจในตัวเองสูงมาก จากชาติที่เคยเป็นไก่รองบ่อนก็กลับกลายมาเป็นมหาอำนาจใหม่ รบชนะแม้กับกองทัพฝรั่งเศส (ในปี 1870) ที่เคยยิ่งใหญ่เรียกว่า Grande Armee มาก่อน

ประวัติศาสตร์ยุโรปนับแต่นั้นมาถูกชี้นำโดยความขัดแย้งระหว่างเยอรมันกับฝรั่งเศส จนกระทั่งถึงขีดสุดเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง

สองชาตินี้ แค้นกันลึกนัก ผลัดกันกระทำ ผลัดกันทำให้อีกฝ่ายเสียหน้า กล้ำกลืน และเจ็บช้ำน้ำใจ ฆ่ากันตายไปแล้วไม่รู้กี่สิบล้านคน นับแต่สงครามนโปเลียน (1803-1815) สงคราม Franco-Prussian War ในปี 1870 มาจนถึงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ระหว่างปี 1914-1918 แล้วก็มาสงครามโลกครั้งที่สอง ปี 1939-1945

นอกจากในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งซึ่งสองฝ่ายยันกันตามแนวรบตะวันตกแล้ว ที่เหลืออีกสามครั้ง กองทัพเยอรมันล้วนสามารถเข้ามายึดปารีสได้ทั้งสามครั้ง

นักประวัติศาสตร์มักถือกันว่าวันที่นโปเลียนทำรัฐประหารเมื่อปี 1799 (เรียกกันว่า 18 Brumaire) เป็นวันสิ้นสุดของการปฏิวัติฝรั่งเศส แต่ผลของการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในครั้งนั้น ส่งผลสะเทือนต่อมาอีกนาน

ประเทศฝรั่งเศสเปลี่ยนระบบปกครองกลับไปกลับมาอีกหลายครั้ง คือเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐแล้วก็กลับไปปกครองโดยกษัตริย์แล้วก็กลับเป็นสาธารณรัฐแล้วก็กลับไปกษัตริย์อีก ฯลฯ ระหว่างนั้นก็เสียเลือดเสียเนื้ออีกมาก การเปลี่ยนแปลงทุกครั้งมักมีเรื่องราวของการปฏิวัติใหญ่ครั้งแรกมาหลอกหลอนเสมอ เช่นว่าพวก Commune ที่ก่อสงครามกลางเมืองในปี 1848 และปี 1871 ล้วนเป็นลูกหลานของพวก Commune สมัย 1789 ที่ยังแค้นกันฝังลึกอยู่ ฯลฯ

ตั้งแต่ก่อตั้งสาธารณรัฐที่หนึ่ง (First Republic) ขึ้นในปี 1792 มาจนถึงการปฏิรูปการเมืองและประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ในปี 1958 (Fifth Republic) ซึ่งทำให้การเมืองฝรั่งเศสเกิดเสถียรภาพภายใต้ระบอบประชาธิปไตย โดยไม่หันกลับไปหาระบบเผด็จการอีกเลย พวกเขาต้องใช้เวลาอดทนกันถึง166 ปี

อย่างไรก็ตาม คำขวัญของการปฏิวัติครั้งนั้น “เสรีภาพ เสมอภาพ และภาราดรภาพ” ที่ดูเหมือนว่าจะช่วยให้คนละความเกลียดชัง หันมารักสามัคคีกัน กลับกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับการลุกขึ้นสู้ทั่วโลก โดยชีวิตและทรัพย์สินที่ต้องสังเวยไปกับสงครามกลางเมืองนับแต่นั้น คงประเมินค่ากันไม่ได้


รัสเซีย ฆ่าเพื่ออุดมการณ์ 1917



การปฏิวัติในรัสเซียครั้งนั้น สะเทือนขวัญคนที่เกลียดคอมมิวนิสต์ทั่วโลก แม้แต่รัชกาลที่ ๖ และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในขณะนั้นก็ทรง Aware

ใครๆ ก็รู้ว่าเลนิน (Vladimir Lenin) ผู้นำการปฏิวัติรัสเซีย เป็นสาวกคนสำคัญของ Karl Marx เขาอ่านงานของ Marx อย่างขึ้นใจ และเป็นผู้ตีความและให้อรรถาธิบายความคิดของ Marx ที่สำคัญคนหนึ่ง ระหว่างลี้ภัยอยู่ในยุโรปก็ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ไปกับการอ่านและศึกษางานของ Marx จนสามารถเขียนหนังสือชี้นำการปฏิวัติเล่มสำคัญๆ ได้หลายเล่ม

และใครๆ ก็รู้อีกว่า Marx เกลียดระบบทุนนิยมเข้าไส้ เป้าหมายทางปัญญาของเขาที่เขายึดถือและพยายามทุ่มเททั้งชีวิตให้กับมัน มีเพียงเป้าหมายเดียว คือเขาต้องการล้มระบบทุนนิยม และแทนที่มันด้วยระบบสังคมนิยมแบบคอมมิวนิสต์ เพราะเขาเชื่อว่าจะทำให้สังคมมนุษย์พัฒนาไปสู่ความเท่าเทียมเสมอภาค และความอุดมบริบูรณ์ แบบที่เรียกกันในภาษาศาสนาว่า “ยุคพระศรีอาริย์”

แก่นความคิดหลักของ Marxism ก็คือการ “รวมศูนย์ทุน” เข้ามาสู่ส่วนกลาง เพื่อให้รัฐบาล (มิใช่กลไกตลาด) เป็นผู้ออกแบบ ตัดสินใจ และชี้นำ การใช้ทุนก้อนนั้นเพื่อผลิตหรือดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (เพิ่มอีกนิดว่า รัฐบาลจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของชนชั้นกรรมาชีพ หรือ Proletariat เท่านั้น)

ทว่า การที่จะทำแบบนั้นได้ จำเป็นที่จะต้องใช้ “อำนาจรัฐ” เข้าจัดการ ดังนั้นชนชั้นกรรมาชีพจะต้องรวมตัวกันเข้าทำการยึดอำนาจรัฐเสียก่อน ไม่มีทางเลือกทางอื่น

แน่นอน ว่าการยึดอำนาจรัฐนั้นจำเป็นต้องใช้ความรุนแรงซึ่ง Marx ก็สนับสนุนอยู่แล้ว

กรณีรัสเซีย ถือว่าเป็นการยึดอำนาจรัฐโดยพวกคอมมิวนิสต์เป็นครั้งแรกของโลก และเมื่อยึดประเทศทั้งประเทศได้แล้ว ก็ได้ประกาศใช้วิธีการแบบ Marxism ทันที จึงถือเป็นรัฐแรกในโลกที่นำความคิดของ Marx ไปใช้

การปฏิวัติในรัสเซีย จึงเป็น “ต้นแบบ” ให้ชาวคอมมิวนิสต์ทั่วโลกได้ศึกษา เรียนรู้ เลียนแบบ และประยุกต์ดัดแปลงให้เข้ากับความเป็นจริงในประเทศตน

แม้การปฏิวัติครั้งนั้น จะได้มาด้วยการสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อของผู้คนจำนวนมหาศาล ทั้งจากการก่อจลาจลต่อต้านพระเจ้าซาร์และราชวงศ์โรมานอฟ และจากสงครามกลางเมืองหลังจากซาร์สละราชบัลลังก์ตั้งแต่ปี 1917 จนถึงปี 1920 (ทั้งตายเพราะขาดอาหารและถูกฆ่า) อันนี้ยังไม่นับการต่อต้านพลังปฏิกิริยาหลังจากนั้น และยังไม่นับการกวาดล้างใหญ่ของสตาลิน (Joseph Stalin) ภายหลังเลนินเสียชีวิตในปี 1924 เป็นต้นมา

มีข้อสังเกตอันหนึ่งที่น่าสนใจ คือระหว่างที่เกิดสงครามกลางเมืองขึ้น ก่อนที่พรรค Bolshevik จะกุมอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จทั่วประเทศนั้น ก็ได้เกิดปรากฏการณ์ “สี” ขึ้นทั่วประเทศรัสเซีย คล้ายๆ กับที่กำลังเป็นอยู่ในเมืองไทยขณะนี้

คือถ้านับว่า Bolshevik และชาวคอมมิวนิสต์เป็นสีแดง ฝ่ายต่อต้านที่ยังนิยมซาร์ก็คือสีขาว ฝ่ายคอมมิวนิสต์มี “กองทัพแดง” (Red Army) ฝ่ายต่อต้านก็มี “กองทัพขาว” (White Army)

แกนนำของพวกสีขาวส่วนใหญ่คือพวกเจ้าที่ดิน อดีตนายทหารและข้าราชการ และพวกที่กลัวคอมมิวนิสต์ พากันตั้งกองกำลังเข้ายึดครองพื้นที่ห่างไกลกระจัดกระจายไว้ได้จำนวนพอสมควร พวกนี้อ้างว่าเลนินเป็นพวกขายชาติ เพราะไปยอมเซ็นสัญญาสงบศึกกับเยอรมันแบบเสียเปรียบ โดยต้องเฉือนดินแดนบางส่วนให้เยอรมันไป (Brest-Litovsk Treaty)

การต่อสู้ระหว่าง “กองทัพแดง” กับกองกำลังฝ่าย “รัสเซียขาว” เป็นไปอย่างรุนแรงและเหี้ยมโหด เพื่อข่มขวัญให้เกิดความกลัว ขณะเดียวกันฝ่ายแดงในเมืองที่นำโดยเลนินและตร๊อกสกี้ (Leon Trotsky) ก็เข้าควบคุมช่องทางสื่อสารมวลชนที่สำคัญๆ ทำโฆษณาชวนเชื่ออย่างต่อเนื่อง เพื่อแย่งมวลชนหรือให้ประชาชนส่วนใหญ่เลิกสนับสนุนฝ่ายสีขาวและสนับสนุนฝ่ายตน

Messages ที่ฝ่ายสีแดงนำเสนอมีหลายแบบ แต่หัวใจสำคัญคือสาดสีใส่พวก “สีขาว” ว่าเป็นพวกนิยมซาร์ทั้งหมด ถ้าสีขาวชนะก็จะนำซาร์กลับมาปกครองรัสเซียอีก (หมายถึงจักรพรรดิ Nicholas II) เพราะเลนินอ่านใจประชาชนออก ว่าส่วนใหญ่ขณะนั้นยังเกลียดซาร์อยู่ เนื่องจากพระองค์นำประเทศเข้าสู่สงครามโลก เป็นผลให้เกิดความตกต่ำทางเศรษฐกิจ ข้าวยากหมากแพง และขาดอาหาร อีกทั้งญาติพี่น้องก็ต้องถูกเกณฑ์ไปรบ กลับมาพิการและตายเป็นจำนวนมาก โดยที่รัฐบาลของซาร์แต่ก่อนแก้ไขอะไรไม่ได้เลย

แม้สมัยนั้นจะยังไม่มีทีวีดาวเทียมเช่นทุกวันนี้ แต่หนังสือพิมพ์อย่าง Pravda และ Izvestia ก็เพียงพอที่จะเกื้อให้กลยุทธ์ของฝ่ายแดงได้ผล แม้ในความเป็นจริงแล้วฝ่ายขาวก็ไม่ได้เป็นพวกสนับสนุนซาร์ไปเสียทั้งหมด อีกอย่าง ตัวซาร์เองและครอบครัวก็ถูกฝ่ายแดงประหารชีวิตไปแล้ว (เมื่อ 17 กรกฎาคม 1918) เพื่อส่งสัญญาณให้ทุกคนรู้ว่า การปฏิวัติต้องเดินหน้า จะไม่มีการหวนกลับไปอีก เพราะฉะนั้น ถ้ากองทัพแดงพ่ายแพ้ในสงครามกลางเมือง ฝ่ายแดงและฝ่ายสนับสนุนแดงทั้งหมดก็จะต้องถูกแก้แค้น จุดนี้ทำให้ความโหดเหี้ยมของสงครามทวีขึ้นไปอีก

สงครามมักมาพร้อมกับความยากจน

สงครามระหว่างสีแดงกับสีขาวทำให้เศรษฐกิจและการผลิตชะงักงัน เกิดภาวะขาดแคลน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหาร ผู้คนอดอยากล้มตาย แม้แต่กองทัพแดงเองก็เริ่มปล้นชิงประชาชน ทำให้ประชาชนบางส่วนในชนบทเริ่มเกลียดชังกองทัพแดง

สงครามกลางเมืองดำเนินไปด้วยความเหี้ยมโหด ฝ่ายแดงที่กุมอำนาจรัฐอยู่ ใช้วิธีใต้ดินทุกวิธี ทั้งการจัดตั้งตำรวจลับคอยจับตาและปราบปรามประชาชน จัดตั้งค่ายกักกันสำหรับผู้ต่อต้าน ตลอดจนการลอบสังหาร

สีแดงกับสีขาวสู้กันมาตั้งแต่ปี 1917 จนถึงปี 1920 กองทัพแดงก็ตี Crimea ซึ่งเป็นฐานบัญชาการของฝ่ายขาวแตก แต่แม้จะเอาชนะสีขาวได้แล้ว ก็ใช่ว่าสงครามกลางเมืองจะสงบลง เพราะบรรดาชาวนาที่เกลียดชังพฤติกรรมและความไร้วินัยของกองทัพแดง ก็ได้รวมตัวกันขึ้นต่อต้าน โดยเรียกตัวเองว่า “กองกำลังสีเขียว” กลายเป็นสีแดงต้องมาปราบสีเขียวอีก

กองทัพแดงช่วงนั้นบัญชาการโดยตร๊อกสกี้ ได้ทำปราบสีเขียวแบบไร้ความปราณี ทำให้ชื่อเสียงของกองทัพแดงกระฉ่อนไปทั่วยุโรป แม้เมื่อเบอร์ลินกำลังจะแหลกเป็นผุยผงภายใต้อุ้งมือของกองทัพแดงในอีก 25 ปีต่อมา ฮิตเลอร์และบรรดาผู้นำนาซีเยอรมัน ยังแสดงอาการดูถูกกองทัพแดงอย่างออกนอกหน้า และก็สั่งให้สู้ตาย เพราะรู้ว่าถ้าถูกกองทัพแดงยึดก็จะพบชะตากรรมที่ไม่ต่างกัน

เมื่อปราบฝ่ายตรงข้ามราบคาบแล้ว ทีนี้ก็เหลือสีแดงสีเดียว

สีแดงเข้าควบคุมเครื่องมือของรัฐทุกด้านทั่วประเทศ ปกครองโดยเผด็จอำนาจ และทำการปิดประเทศ โดยไม่สนใจการคว่ำบาตรใดๆ ทั้งสิ้น

อันที่จริง สหภาพโซเวียตเริ่มประกาศใช้แผนเศรษฐกิจตามแนว Marxism แบบเป็นทางการในปี 1928 เป็นแผนระยะ 5 ปี โดยเริ่มบังคับใช้ระบบนารวม และมุ่งเน้นการสร้างฐานอุตสาหกรรมให้ยิ่งใหญ่ อย่างที่เลนินเคยฝันไว้

เป็นที่น่าเสียใจและน่าผิดหวัง สำหรับผู้คนที่เอาใจช่วยเลนินและสีแดงมาตั้งแต่ต้น เพราะเมื่อเลนินเสียชีวิตลงเมื่อปี 1924 สีแดงก็หันมาฆ่ากันเอง

เมื่อสตาลินผงาดขึ้นมากุมอำนาจได้สำเร็จ เขาก็เริ่มกวาดล้างสหายครั้งใหญ่ แม้ตร๊อกสกี้ที่เคยเป็นแกนนำผู้ยิ่งใหญ่หนึ่งในสามของสีแดงและคู่บุญเลนินมาตลอด ก็ยังต้องระเห็จไปต่างประเทศ แต่ก็หนีไม่พ้นเงื้อมมือของมัจจุราช เพราะสตาลินได้ส่งทีมล่าสังหารไปถล่มยับถึงเม็กซิโก

ว่ากันว่า ในยุคที่สตาลินปกครองสหาพโซเวียตนั้น ผู้คนถูกกวาดล้างไปเป็นล้านๆ ถูกจับไปทรมานในค่ายกักกันก็มาก และถูกเนรเทศไปไซบีเรียก็ไม่น้อย ประชาชนอยู่ด้วยความหวาดกลัว ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเสรีภาพหรือสิทธิของการแสดงออกเอาเลย

ทว่า โซเวียตยุคนั้นกลับเจริญ อุตสาหกรรมก้าวหน้า และแสนยานุภาพทางทหารก็มีขีดความสามารถสูง สามารถเผื่อแผ่ให้การสนับสนุนเงินทองและอาวุธแก่พรรคปฏิวัติทั่วโลกที่กำลังขะมักเขม้น ทำงานใต้ดินเพื่อวางแผนยึดอำนาจรัฐในประเทศของตัว

สองในนั้นก็มี “เหมาเจ๋อตง” และ “โฮจิมินห์” ซึ่งต่อมาจะได้มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงโลกอย่างมีนัยะสำคัญ รวมอยู่ด้วย

ยิ่งหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา โซเวียตก็ผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจคู่กับอเมริกา คราวนี้โซเวียตทำตัวเป็นพี่เบิ้มของยุโรปตะวันออกและประเทศสังคมนิยมทั้งหมด ให้การสนับสนุนทางอาวุธและทรัพยากรเพื่อสร้างเครือข่าย Communist Bloc ขึ้นทั่วโลก ทำให้โลกเข้าสู่ยุคสงครามเย็น ซึ่งคนรุ่นผมก็เติบโตมาในบรรยากาศแบบนั้น

บัดนี้ สหภาพโซเวียตเป็นอดีตไปเสียแล้ว และระบบคอมมิวนิสต์ก็กลายพันธุ์ไปมากแล้ว นักประวัติศาสตร์บางคนถึงกับบอกว่า มันมาถึงยุคสิ้นสุดของประวัติศาสตร์ ไม่มีใครสนใจ Marx อย่างจริงจังอีกต่อไป

แต่ถึงอย่างไร สงครามกลางเมืองเพื่ออุดมการณ์แบบนั้น ตลอดจนความทุกข์ยากทั้งมวลที่มากับสงคราม มันก็ได้เกิดขึ้นไปแล้วจริงๆ และคนตาย ก็ตาย “จริง” แม้จะตาย “ไปแล้ว” ก็เถอะ


ผมใคร่ขอจบการบรรยายตัวอย่างของสงครามกลางเมืองไว้เพียงนี้ แม้หลังจากนั้น จะเกิดสงครามกลางเมืองอีกแยะ แต่เพราะว่ามันเป็นเหตุการณ์ที่ใกล้ๆ และเป็นที่รับรู้กันอยู่ทั่วไปแล้ว ผมจึงไม่อยากจะกล่าวอีก

ประเด็นที่ผมขอตั้งข้อสังเกตไว้ก็คือว่า สงครามกลางเมืองเกิดขึ้นเสมอและตลอดมาในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ แม้มนุษย์จะรู้ว่าสงครามนำมาซึ่งความทุกข์ยากแสนสาหัส แต่มนุษย์ก็พร้อมจะก่อสงคราม เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งของตนเสมอ

ดูแค่ร้อยปีที่ผ่านมานี้ มนุษย์ต้องสังเวยชีวิตไปในสงครามไม่รู้กี่ร้อยล้านคน นี่ยังไม่นับทรัพย์สินที่สูญเสียไปกับสงคราม ทั้งที่รัสเซียซึ่งกล่าวมาแล้ว ทั้งที่บาดเจ็บล้มตายระหว่างสงครามโลกทั้งสองครั้งซึ่งครอบคลุมถึงมนุษย์เกือบทุกชาติทุกภาษา ไม่จำกัดเฉพาะคนยุโรปเหมือนแต่ก่อน ไหนจะพวกยิวที่เกือบถูก Wipe out อีกเล่า ยังไม่นับคนจีนที่ต้องตายไปกับสงครามปฏิวัติ ตอนที่เหมาเจ๋อตงรวบรวมแผ่นดินจีน และหลังจากนั้นที่ต้องอดตายเพราะนโยบายก้าวกระโดดและปฏิวัติวัฒนธรรม เรื่อยมาจนถึงยุคเทียนอันเหมิน ฯลฯ

ใกล้ตัวเราเข้ามาหน่อยก็ช่วงสงครามอินโดจีน รบกันยาวนานตั้งแต่เวียดนาม ลาว เขมร เรื่อยมา ซึ่งไม่เพียงสร้างความเจ็บปวดให้แต่เฉพาะคนชาตินั้นๆ ก็หาไม่ เพราะแม้อเมริกันเองก็เจ็บปวดไปด้วย

ผมเชื่อว่าทุกคนต้องเคยดูหนังฝรั่งที่ท้องเรื่องว่าด้วยสงครามเวียดนาม โดยมักมีตัวเดินเรื่องเป็นบรรดาชนชั้นกลางอเมริกัน ที่เห็นสงครามเป็นเรื่องสนุก แต่พอเจอเข้ากับตัว ก็ล้วนมีอันเป็นไปต่างๆ นาๆ เป็นความทุกข์ของตัวและญาติพี่น้อง ตลอดจนเพื่อนฝูงและผู้เกี่ยวข้อง

แม้แต่ “แรมโบ้” ที่มีภาพลักษณ์เข้มแข็ง เป็นฮีโร่ของคนอเมริกันอยู่ระยะหนึ่ง ก็ยัง “เพี้ยน” เลย


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
20 กันยายน 2552
ตีพิพม์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนกันยายน 2552



อ่านคู่มือการใช้ชีวิตท่ามกลางสงครามกลางเมืองได้โดยคลิกบทความข้างล่าง


อยู่ท่ามกลางสงครามกลางเมือง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น