วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เวียดนาม รู้หน้าไม่รู้ใจ



ผมเติบโตขึ้นมาในยุค "สงครามเย็น" และทันเห็นกับตาว่ากำแพงเบอร์ลินถูกโค่นและสหภาพโซเวียตล่มสลายและจีนกลับลำแบบ 180 องศา จนสามารถวิ่งไล่กวดฝรั่งชนิดเขย่งก้าวกระโดด แบบว่าอะไรๆ ที่ฝรั่งใช้เวลาสะสมและสร้างให้สมบูรณ์นานถึงร้อยสองร้อยหรือสามร้อยปี แต่จีนใช้วิทยายุทธ์ย่นย่อให้สำเร็จโดยใช้เวลาเพียง 30 กว่าปีเท่านั้นเอง โดยจีนใช้วิธีทุ่มซื้อความเจริญสำเร็จรูปแทบทุกอย่างที่ฝรั่งพัฒนาจนเป็นแบบแผนล่าสุดแล้ว

สมัยที่ผมเริ่มเรียน ร.. (รักษาดินแดน) นั้น ไซ่ง่อนเพิ่งแตกได้ไม่เกิน 4 ปี และกองทัพเวียดนามเพิ่งจะบุกเขมรไปหมาดๆ ผมยังจำได้อย่างแม่นยำถึงเช้าวันหนึ่งที่ผมดันไปเดินข้ามปืนยาวที่นอนเรียงเอาไว้ในขณะพักพล ทำให้ครูฝึกเดือดขึ้นมาอย่างแรง และปรี่เข้ามาเตะผมจนผมล้มลงและยังรุกเข้ามาเตะอีกเป็นชุดในขณะที่ผมกระเถิบตัวถอยหนีและเอาฝ่าเท้ากันลูกเตะไปพลาง

“....(ป้าป!)...ต้องมีวินัย จำไส่กะโหลกไว้...(ป้าป ป้าป!)...มึงเห็นภูเขารอบๆ นี้ไหม (ป้าป!)...ไอ้แกวมันล้อมมึงไว้หมดแล้ว (ป้าป! ป้าป! ป้าป!)....มึงยังมาทำเล่นอีกเหรอ...(ป้าป! ป้าป!)....ไอ้แกวไอ้เกี๊ยบมันกำลังจะบุกมึงอยู่แล้ว...(ป้าป!)....”

นั่นไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมได้ยิน Analysis แบบนี้ เพราะสมัยนั้น ความเกลียดกลัวคอมมิวนิสต์และเวียดนามยังมีอยู่มาก ดังที่ท่านทูต อนุสนธิ์ ชินวรรโณ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงฮานอย ย้อนรำลึกให้ผมฟังเมื่อไม่นานมานี้ว่า "สมัยโน้น คอมมิวนิสต์ใหญ่เบอร์หนึ่งที่พวกเราเกลียดกลัวกันมากคือเมาเซตุง และเบอร์สองคือโฮจิมินห์"

ผมมาคิดได้ทีหลังว่าเพื่อนผมคนหนึ่งซึ่งเป็น "เวียดเกี่ยว" หรือ Oversea Vietnamese และเรียน ร.. อยู่ด้วยกัน เขาคงกล้ำกลืนฝืนทนมาก เพราะมีอยู่ครั้งหนึ่งที่เขาคุยกับผมแบบ Private ว่าพ่อแม่เขาได้ส่งเงินไปช่วยเวียดกงเพื่อรบกับอเมริกันและบอกว่าเขาได้ดูหนังที่กองทัพเวียดนามเหนือเอาชนะกองทัพอเมริกัน โดยเล่าด้วยความภูมิใจมาก

และผมก็มารู้ทีหลังอีกว่า "ไอ้เกี๊ยบ" ที่ครูฝึกคนนั้นพูดถึงในขณะที่กำลังระดมแจกลูกเตะให้ผม ก็คือนายพล "หวอเหวียนย๊าป" นักการทหารนามอุโฆษ มือขวาด้านการทหารของโฮจิมินห์ และอดีตผู้บัญชาการกองทัพประชาชนเวียดนามและวีรบุรุษสงครามของเวียดนามตลอดกาล ผู้พิชิตฝรั่งเศสในสมรภูมิเดียนเบียนฟูและรบชนะอเมริกันจนยึดเวียดนามใต้และรวมประเทศได้สำเร็จ และเพิ่งเสียชีวิตลงหมาดๆ ด้วยวัย 102 ปี...เพราะคนไทยในขณะนั้นรู้จักท่านแม่ทัพในนาม "โววันเกี๊ยบ"

วีรกรรมของนายพลย๊าปมีคนเขียนไว้แยะแล้ว ในหนังสือหลายเล่มของท่าน ท่านก็ได้เขียนไว้เองด้วย และมีแปลเป็นภาษาอังกฤษและวางขายทั่วไปตามแหล่งท่องเที่ยวของเวียดนาม โดยสำนวนเป็นแบบอ่านง่าย เพราะท่านนายพลเคยเป็นนักหนังสือพิมพ์และครูสอนประวัติศาสตร์มาก่อน

ในภาคภาษาไทยก็มีหนังสือของคุณศุขปรีดา พนมยงค์ ลูกชายของ ดร.ปรีดี ที่เข้าออกบ้านของท่านแม่ทัพได้ และมีโอกาสได้สัมภาษณ์ท่านแม่ทัพไว้หลายครั้งก่อนที่ผู้เขียนจะเสียชีวิตอีกด้วย

ท่านเขียนไว้ใน Memoir of Wars: Dien Bien Phu ว่า ที่ตัดสินใจเขียนหนังสือก็เพราะได้แรงบันดาลใจจากวันที่ท่านไปตรวจค่ายทหารฝรั่งเศส ณ สมรภูมิเดียนเบียนฟู (หรือที่ไทยเรียกว่า "เมืองแถน") หลังจากพิชิตได้แล้ว และท่านเห็นอะไรต่อมิอะไร ทั้งศพทหาร เลือดที่หลั่งจนผืนดินแดงกลายเป็นคล้ำ และปึกจดหมายถึงครอบครับของบรรดานายทหารฝรั่งเศสที่ยังเขียนไม่จบ โดยท่านอยากให้โลกรู้ว่ากองทัพของชาติด้อยพัฒนาก็สามารถเอาชนะกองทัพแห่งจักรวรรดินิยมอันยิ่งใหญ่ได้

ผู้อ่านหลายท่านคงรู้แล้วว่าท่านแม่ทัพบัญชาการให้ค่อยๆ ลำเลียงสรรพาวุธและเสบียงโดยอาศัยจักรยานต่างของหลายหมึ่นคันและแพและหาบเร่และรถสามล้อเข็นโครงไม้ไผ่ที่ต่อขึ้นแบบง่ายๆ อีกกว่าหมึ่น โดยปืนใหญ่ต้องถูกถอดออกเป็นชิ้นๆ และใช้กองลำเลียงกว่าสองแสนคน

แม่ทัพฝรั่งเศสไม่คิดว่าเวียดนามจะบุกขึ้นมาได้ เพราะชัยภูมิล้อมรอบด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อนและป่าทึบ แต่นายพลย๊าปยึดเอาคำของนโปเลียน ฮีโร่ในดวงใจท่าน ที่ว่า "ถ้าแพะผ่านได้ คนก็ต้องผ่านไปได้ และถ้าคนผ่านไปได้ กองทหารย่อมผ่านไปได้เช่นกัน"

ที่สำคัญ ท่านอ่านใจคู่ต่อสู้ขาด เพราะท่านรู้ภาษาฝรั่งเศสดีและเข้าใจวัฒนธรรมฝรั่งเศสอย่างลึกซึ้ง ท่านว่าบรรดาทหารฝรั่งเศสนั้น แม้ว่าจะได้รับการฝึกมาดี จบจากโรงเรียนทหารที่มีชื่อเสียง และระเบียบวินัยเข้มงวด แต่มันไม่มีอุดมการณ์อันแน่วแน่ พวกเขาไม่ได้มีเป้าหมายอะไรเป็นพิเศษ บางทีก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมารบถึงแดนอาณานิคมอันไกลโพ้นและลำบากเช่นนี้...ทำไปเพื่ออันใดกัน

ต่างกับชาวเวียดนามที่มีเจตนารมณ์ชัดเจน มีเป้าหมายและเข็มมุ่งอันแน่วแน่ คือต้องการอิสระภาพและเสรีภาพอย่างแรงกล้า ต้องการปลดปล่อยแอกอันหนักอึ้งของเจ้าอาณานิคม

ความคิดอันนี้แหละที่ผู้นำเวียดกงใช้เป็นตัวกระตุ้นแรงรักชาติในตัวคนเวียดนามให้ลุกขึ้นสู้กับฝรั่งทั้งฝรั่งเศสและอเมริกัน แม้จะต้องลำบากเข็นใจและสูญเสียเพียงใดก็ตาม

ลองฟังสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีโฮจิมินห์ เมื่อวันที่ 2 กันยายน 1945 ณ จตุรัสบ่าดิ่นห์ ตอนขึ้นไปประกาศเอกราชของชาติต่อหน้ามหาชน ก็สามารถพิสูจน์ชัดในข้อนี้ ดังตัวอย่างของความตอนหนึ่งว่า

ฝรั่งเศสได้หนีไปแล้ว ญี่ปุ่นก็ยอมจำนน จักรพรรดิบ๋าวได่ก็สละราชบัลลังก์แล้ว ประชาชนของเราได้ตัดพันธะซึ่งผูกมัดพวกเขามาเกือบศตวรรษ และได้ช่วงชิงเอกราชให้แก่เวียดนาม.....เวียดนามมีสิทธิที่จะได้รับเสรีภาพและอิสรภาพ และได้เป็นประเทศอิสระและเสรีแล้วจริงๆ ชาวเวียดนามมุ่งจะใช้กำลังกายและกำลังปัญญาทั้งหมด และสละชีพและทรัพย์สินเพื่อรักษาอิสรภาพและเสรีภาพไว้"

                                              (รูป: เสกสรรค์ ประเสริฐกุล จากนิตยสาร Way)
ความคิดและเจตนารมณ์หรือจิตใจอันแน่วแน่แบบเดียวกันนี้แหละ ที่ทำให้ขบวนการนักศึกษาประชาชนไทยเอาชนะเผด็จการทหารในการลุกขึ้นสู้ครั้งสำคัญ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ผู้นำนักศึกษาในขณะนั้น ได้หวลวิเคราะห์ทบทวนในหนหลังและให้เครดิตกับ "จิตใจอันแน่วแน่" ว่าเป็นปัจจัยชี้ขาดแห่งชัยชนะ เขาได้กล่าวไว้ในงานรำลึก 40 ปี 14 ตุลาฯ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อไม่กี่วันมานี้ว่า

"ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาอยู่ท่ามกลางผู้รักประชาธิปไตยทั้งรุ่นใหม่รุ่นเก่า และยิ่งยินดีเป็นพิเศษที่ได้พบปะกับมิตรสหายที่ร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ เมื่อ 40 ปีก่อนในวันเวลาเดียวกันนี้ คนหนุ่มสาวแห่งยุคสมัยได้พร้อมใจกันเคลื่อนกำลังออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับมวลมหาประชาชนประกาศตนไม่ยอมรับอำนาจเผด็จการ มันเป็นการต่อสู้อันมีชีวิตเป็นเดิมพัน เพราะฝ่ายหนึ่งกุมอำนาจรัฐด้วยอำนาจกระบอกปืน ขณะที่ฝ่ายเรามีสองมือเปล่าและหัวใจเปี่ยมความฝัน ชัยชนะในครั้งนั้นสอนเราว่าเจตนารมณ์เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าในชีวิตของคนคนหนึ่งหรือการเติบโตของประชาชาติหนึ่ง เจตจำนงแน่วแน่เป็นเรื่องสำคัญโดยตัวมันเอง โดยเฉพาะเมื่อมาจากคนเรือนแสนเรือนล้านที่ผนึกกันเป็นหนึ่งเดียว....”

และยังต่อด้วยประโยคอันงดงาม ที่เน้นย้ำในเรื่องเดียวกันอีกครั้ง หลังจากนักศึกษาประชาชนจำนวนหนึ่งหันไปก่อสงครามกลางเมือง โดยเข้าป่าจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับรัฐบาลในขณะนั้นว่า

"...อันที่จริงสงครามไม่ใช่สิ่งพึงปรารถนาของผู้ใด เนื่องจากมันคือกองไฟที่อาศัยชีวิตมนุษย์เป็นฟ่อนฟืน กระนั้นก็ตาม เมื่อต้องเลือกระหว่างการต่อสู้อย่างถึงเลือดถึงเนื้อกับการยอมจำนนกับการกดขี่ข่มเหง ก็คงมีน้อยคนนักที่จะเลือกชีวิตอยู่อย่างไร้ศักดิ์ศรี..."

คำพูดของเสกสรรค์ช่วยให้เราคนไทยเข้าใจภาวะจิตของคนเวียดนามในตอนนั้นได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการ "เอาใจเราไปใส่ใจเขา" หรือ "เอาใจเขามาใส่ใจเรา" มันก็เหมือนกันเด๊ะ

จิตใจของชาวเวียดนามตอนนั้นก็อยู่ในภาวะที่ “เหลืออด” จากการถูกกดขี่ข่มเหงโดยผู้ปกครองที่เป็นเจ้าอาณานิคมคล้ายๆ กันนี้แหละ

พันปีภายใต้จีน และอีกเกือบร้อยปีภายใต้ฝรั่งเศส

ดังนั้นเมื่ออเมริกันทำท่าจะเข้ามาอีก ด้วยการยุแยงให้คนเวียดนามเข่นฆ่ากันเอง และขัดขวางเหนี่ยวรั้งไม่ให้เวียดนามเหนือใต้ได้รวมกันและปกครองตัวเองอย่างมีอิสระด้วยแล้ว พวกเขาจึงต้องลุกขึ้นสู้ และเป็นการลุกขึ้นสู้อย่างมีเป้าหมาย อย่างมีเข็มมุ่ง หรืออย่างมีเจตนารมณ์อันแน่วแน่ เพื่อให้ได้มาซึ่งอิสระภาพและเสรีภาพนั่นเอง

สงครามเวียดนามสำหรับพวกเขาจึงเป็นสงครามที่ต้องทุ่มสุดตัว ต่างกับฝ่ายอเมริกันที่บางทีก็ยังเบลอๆ อยู่ว่า ตัวเองพากันมายังดินแดนอันไกลโพ้นที่มีแต่ป่าดิบ ฝน หนองน้ำ ทุ่งนา โคลน และแมลง และต้องตกระกำลำบาก และต้องฆ่าแกงชาวเวียดนามไปเพื่ออะไรกัน....

ด้วยที่ต้องผ่านประวัติศาสตร์กันมาแบบนี้กระมังที่ทำให้นิสัยคนเวียดนามในเชิงลึกนั้นยากจะไว้ใจคนอื่น โดยเฉพาะคนต่างชาติ

ประวัติศาสตร์ของคนเวียดนามเป็นประวัติศาสตร์ของการถูกคนอื่นเอารัดเอาเปรียบและการลุกขึ้นสู้และการปลดปล่อย

เป็นประวัติศาสตร์ที่กลัวว่าเดี๋ยวจะมาหลอก จะมาเอาเปรียบ จะมากดตัวเองลงเป็นเบี้ยล่าง จะมายุให้พี่น้องแตกแยกและฆ่าฟันกันเอง จะมาหลอกใช้ เหมือนกับที่เคยเจอมาแล้วในรอบพันกว่าปี

                                         (อนุสนธิ์ ชินวรรโณ กับ ผู้เขียน ที่สถานทูตฯ)
จุดนี้เป็นจุดสำคัญและไม่ควรมองข้าม เมื่อเราต้องพิจารณายุทธศาสตร์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือการร่วมมือในระดับภูมิภาคอย่าง AEC หรือการร่วมทุนและหุ้นส่วนในระดับเอกชนและวิสาหกิจ หรือแม้กระทั่งความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนร่วมงานในระดับองค์กรและปัจเจกบุคคล

ท่านผู้อ่านเคยรู้บ้างไหมว่านักธุรกิจใหญ่ของเราหลายคน ในอดีตก็เคย "ล้มเหลว" และ "เข็ด" กันมาแล้วที่เวียดนาม และนับตั้งแต่เวียดนามเปิดประเทศมานี้ กิจการร่วมทุนระหว่างเวียดนามกับฝรั่งหรือกับญี่ปุ่นหรือกับใครๆ ก็มักจะฝ่อไปด้วยความระหองระแหงเช่นเดียวกัน

ผมว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะนิสัยที่ยากจะไว้ใจและวางใจคนต่างชาตินี้เอง ที่ทำให้กิจการร่วมทุน ทั้งในเชิงของ Equity Participation, Joint Venture, หรือ Mergers & Acquisitions ระหว่างคนเวียดนามฝ่ายหนึ่งกับคนต่างชาติอีกฝ่ายหนึ่งมักล้มเหลว

นั่นทำให้ผมนึกถึง Fish Can't See Water: How National Cultures Can Make or Break Your Corporate Strategy” หนังสือเล่มใหม่ของ Kai Hammerich และ Richard Lewis ที่แสดงให้เห็นอย่างค่อนข้างละเอียดว่า Walmart ล้มเหลวไม่เป็นท่าอย่างไรบ้างในเยอรมนี

ก่อนจะขยับตัวไปกับท่วงทำนองของ AEC ผมอยากจะขอร้องให้ท่านทั้งหลายได้พิจารณาอย่างท่องแท้ถึงนิสัยใจคอของเพื่อนบ้านแต่ละชาติ ว่ามีข้อไหนบ้างที่จะเกื้อกูลหรือเหนี่ยวรั้งมิตรภาพและความสำเร็จของเราในอนาคต

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
15 ตุลาคม 2556

คลิกอ่านบทความชุด AEC เพิ่มเติมได้จากลิงก์ข้างล่างนี้:




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น