วันอังคารที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ไทย-เขมร หลังคำตัดสินของศาลโลก




ในขณะที่อารมณ์ความรู้สึกร่วมของคนเอเชียอาคเนย์ช่วงนี้กำลัง “อิน” และ คึกคักไปกับความหวังที่จะได้พูดจาไปมาหาสู่และลงทุนค้าขายแลกเปลี่ยนกันให้มากขึ้น บ่อยขึ้น และใกล้ชิดยิ่งขึ้น ตามท้องเรื่อง AEC ที่กำลังโหมโปรโมทกันอย่างเอิกเกริกในทุกทั่วหัวระแหง ทว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชากลับดูเหมือนจะชะงักงัน

จะกลืนก็กลืนไม่เข้า จะคายก็คายไม่ออก

เป็นแบบนี้มาได้ระยะใหญ่ และยังไม่พ้นภาวะอึดอัดนี้ไปได้ อย่างน้อยจนกว่าศาลโลกจะมีคำตัดสินรอบใหม่ออกมา

ระหว่างนี้ อะไรๆ ที่ขุ่นข้องหมองใจกัน ย่อมถูกกวาดเข้าไว้ “ใต้พรม” ไปพลางก่อน

ทุกฝ่ายต่างซื้อเวลา แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง

แต่ความบาดหมางใช่ว่าจะไม่ส่งผลเสียต่อการค้าขาย เพราะนับแต่เกิด “กรณีเขาพระวิหาร” การค้าระหว่างไทย-กัมพูชาลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยกัมพูชาหันไปซื้อจากเวียดนามแทน

แน่นอน ความเกลียดชังและหมั่นไส้ย่อมส่งผลต่อการค้าและการลงทุน พูดอีกแบบคือ ปัญหาการเมืองย่อมสร้างปัญหาเศรษฐกิจ

และนั่นย่อมเป็นโจทย์ใหญ่ทางการทูต

ทำอย่างไร จึงจะทำให้เศรษฐกิจระหว่างกันราบรื่น และดำเนินต่อไปได้อย่างงดงาม โดยไม่รับความระคายเคืองจากความบาดหมางทางการเมืองที่ดำรงอยู่และอาจจะรุนแรงขึ้นในอนาคต

มันเป็นโจทย์ที่ยากสำหรับฝ่ายไทย

ยิ่งถ้าศาลโลกตัดสินให้ฝ่ายกัมพูชาได้ประโยชน์ โจทย์ก็จะยิ่งยากขึ้น

แม้กระทั่งท่านทูตธัชชยุติ ภักดี เอกอัครราชทูตไทย ผู้มีบุคลิกภายนอกน่ารัก สุภาพ นิ่มนวล สุขุม ไม่ถือตัว ทว่าภายในตื่นตัวคอยสังเกต ระแวดระวัง และคิดคำนวณ ผลประโยชน์ของชาติตลอดเวลา เหมาะกับหน้าที่ความรับผิดชอบและสถานการณ์ทางการทูตของสองประเทศในเวลานี้มาก...ยังยอมรับกับผมว่ามันจะยาก

“กัมพูชาเขาพูดได้อย่างเปิดเผยว่า เขาพร้อมที่จะปฏิบัติตามมติของศาลโลก” ทูตกล่าว

แต่สำหรับฝ่ายไทยเราเล่า ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเราคงไม่อยู่ในสถานะที่จะพูดแบบนั้น

ในความเห็นของผม ผมคิดว่าศาลโลกน่าจะตัดสินให้กัมพูชาชนะความ แต่จะชนะในดีกรีไหน มีเงื่อนไขหรือไม่ ผมยังไม่แน่ใจ

เท่าที่ผมสังเกตุดูประเทศใหญ่ๆ ล้วนเข้าข้างกัมพูชาอยู่ในทีแทบทั้งนั้น

ทว่า การทูตย่อมมีทางออกเสมอ!

เพราะหากเราศึกษาประวัติศาสตร์ เราจะพบว่ามันยังพอมีทางออกที่อาจเป็น Creative Solution ให้กับปัญหาไทย-กัมพูชา ให้สามารถเดินหน้า Breakthrough จากภาวะชะงักงันไปได้ ไม่ว่าคำตัดสินของศาลโลกจะออกมาแบบไหนก็ตาม

จะ “หัว” หรือจะ “ก้อย” การค้าการลงทุนก็ยังจะรุ่งเรืองต่อไปได้ในภายภาคหน้า

ผมแนะนำให้ย้อนกลับไปยังปี 2521 และมองไปที่เติ้ง เสี่ยว ผิง

มองไปที่นโยบายต่อญี่ปุ่นของเขา

เพราะใครๆ ก็รู้ว่าจีนกับญี่ปุ่นนั้นเคยบาดหมางกันแรงขนาดไหน

สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สองและระหว่างสงคราม ญี่ปุ่นเข้ายึดครองบางส่วนของจีน ฆ่าแกงราษฎรจีนเป็นผักปลา และข่มเหงน้ำใจคนจีนขนาดไหน พวกเราคงรู้กันดีอยู่แล้ว

มันเป็นบาดแผลใหญ่ซึ่งเปรียบเสมือน “หลุมดำ” ทางการทูตและระคายเคืองต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของจีน-ญี่ปุ่นเสมอมา จนกระทั่งบัดนี้คนจีนก็ยังไม่ยอมลืม แม้ว่าสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ปัจจุบัน จะออกมาคำนับขอโทษจีนอย่างเป็นทางการไปแล้วก็ตามที

แต่โดยความเป็นจริงแล้ว ญี่ปุ่นเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ติดอันดับ Top 3 ของจีนเสมอมา (และอาจจะเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดหากเรานับรวมทั้งการลงทุนโดยตรงและลงทุนผ่านคนอื่น) นับแต่เติ้งเสี่ยวผิงเปิดประเทศเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน

อาจจะมีลดลงไปบ้างระยะหลัง เพราะเป็นผลจากความบาดหมางเรื่องหมู่เกาะและคนจีนประท้วงทำลายสินทรัพย์ของญี่ปุ่น ทำให้ญี่ปุ่นเริ่มแสดงท่าทีให้เห็นอย่างออกนอกหน้าว่าจะหันกลับมาเพิ่มการลงทุนในเอเชียอาคเนย์ให้มากขึ้นในอนาคต

แต่กระนั้น ญี่ปุ่นก็ยังเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในจีนอยู่วันยังค่ำ

มิเพียงเท่านั้น สมัยเมื่อเติ้งเสี่ยวผิงเปิดประเทศใหม่ๆ ยังได้ส่งข้าราชการดาวรุ่งมือดีกลุ่มหนึ่งไปฝึกงานในญี่ปุ่นอย่างลับๆ ทั้งจากกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง ธนาคารชาติ และกระทรวงเศรษฐกิจสำคัญอื่น

นับว่าญี่ปุ่นยอมให้ข้าราชการกลุ่มนี้ได้เข้าถึงหัวใจและความลับเชิงนโยบายของตนเอง

จูหรงจี ผู้วางรากฐานเชิงนโยบายเศรษฐกิจคนสำคัญของจีนในเวลาต่อมา จนหนังสือพิมพ์ฝรั่งขนานนามว่าเป็น “ซาร์เศรษฐกิจของจีน” ก็เป็นหนึ่งในข้าราชการกลุ่มที่ว่านั้น

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? ทำไมชาติที่ยังมีปัญหาการเมืองตกค้างมาจากอดีต จึงสามารถสานความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจที่แนบแน่นต่อกันได้ถึงขนาดนี้?

คำตอบอยู่ที่สุนทรพจน์ของเติ้งเสี่ยวผิง เมื่อครั้งที่เขาเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2521 ก่อนที่จะเลยมาเยือนไทยและเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว



ตอนนั้นเขาขึ้นมากุมอำนาจเบ็ดเสร็จในจีนแล้วหลังจากอสัญกรรมของประธานเหมาและรัฐประหารและกวาดล้างพวกแก๊งสี่คนและกำลังจะผลักดันนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจของเขา (ที่เรียกว่า “นโยบายสี่ทันสมัย”) แบบเต็มสูบ

ในครั้งนั้น หลังจากที่ได้เกริ่นนำว่าทั้งท่านประธานเหมาและท่านนายกโจวเอิ้นไหล เมื่อครั้งมีชีวิตอยู่ ทั้งสองท่านนั้นให้ความสำคัญอย่างมากต่อประเด็นความสัมพันธ์ของสองประเทศ เขาได้ท้าวความลงนามทางการทูตระหว่างกันที่เคยมีมานับแต่สมัยประธานเหมา

เขาได้แสดงให้ญี่ปุ่นเห็นจุดยืนของเขาชัดเจนว่า สำหรับเขาแล้ว ความขัดแย้งต่างๆ ระหว่างจีนกับญี่ปุ่นที่เคยมีมาในอดีตนั้น (ผู้แปลใช้คำว่า Sovereignty related conflicts) “ขอให้เป็นภาระของคนรุ่นต่อไปเถอะ” (left for the next generation)

คำกล่าวนั้น ส่งสัญญาณชัดเจนว่าจีนต้องการความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับญี่ปุ่น ความขัดแย้งที่มีมาแต่เดินนั้นควรพักเอาไว้ก่อน

คำกล่าวนั้น สรุปรวบยอดแนวคิดและนโยบายทางการทูตที่แคลสสิกมาก

ถือเป็นกรณีตัวอย่างที่สำคัญ และเป็น Creative Solution ให้กับปัญหา Deadlock ทางการทูตระหว่างจีนกับญี่ปุ่น

แม้การเมืองจะขัดแย้ง แต่เศรษฐกิจกลับแน่นแฟ้น

เป็นการแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง ตามหลักการของคอมมิวนีสต์ ที่แสดงให้เห็นในระดับปฏิบัติว่าทั้งคู่ได้ยึดถือตามนั้นอย่างเคร่งครัดในเวลาต่อมา

ที่สำคัญ คำกล่าวนั้น ทำให้เราเกิดความหวังว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชายังมีโอกาสที่จะสดใสได้ในอนาคต

ไม่ว่าคำตัดสินของศาลโลกจะออกมาเช่นไร


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
26 ก.ค. 2556
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนกรกฎาคม 2556


คลิกอ่านบทความเชิงการทูตของผมได้จากลิงก์ข้างล่าง

****ไทย-เขมร ในมุมมองของผม


และ


****รัฐปัตตานีจะไปรอดเหรอ?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น