วันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2553

อยู่ท่ามกลางสงครามกลางเมือง

ชุด "สงครามกลางเมือง" Trilogy, Part I




“Conflict’ is to be in all situations in which transfers or redistribution occurs, and in all situations in which problems of distribution arise.”

Gordon Tullock
The Social Dilemma: The Economics of War and Revolution


กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว สมัยที่มนุษย์ยังไม่ก้าวหน้าถึงเพียงนี้ มีสามเหตุการณ์ที่มักฉุดรั้งสังคมมนุษย์ และสร้างความทุกข์ยากอย่างแสนสาหัสให้แก่มนุษย์อยู่เสมอ นั่นคือ สงคราม โรคระบาด และทุพภิกขภัย

ปัจจุบัน ความก้าวหน้าทางด้านเกษตรกรรม การผลิตและถนอมอาหาร ความรู้เรื่องโภชนาการ ตลอดจนวิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า ทำให้เหตุการณ์สองอย่างหลัง แม้ว่าจะยังไม่หมดไปจากโลกเสียเลยทีเดียว แต่ก็ไม่น่ากลัวหรือรุนแรงอย่างที่เคยเป็น (แม้จะมีคนเถียงว่า แต่ไหนแต่ไรมาเมืองไทยไม่เคยมีคนอดตายเพราะอุดมสมบูรณ์มาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเคยตายกันเพราะโรคระบาดเสมอมา)

อันที่ยังกำจัดให้หมดไปไม่ได้เหลืออยู่อย่างเดียวคือ “สงคราม”

“สงคราม” เกิดและอยู่เคียงคู่กับมนุษย์ตลอดมา และแก้ไขให้ตกไปไม่ได้ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ วิทยาการ ความเจริญทางวัตถุ และการพัฒนาเศรษฐกิจ หรือแม้แต่ “ประชาธิปไตย” ที่พวกเราอยากได้กันนัก

ไม่ว่าอารยธรรมของมนุษย์จะก้าวมาไกลสักเพียงใด พวกเราก็ยังคงทำสงครามกันเองอยู่ดี Will และ Ariel Durant เคยเขียนไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑ ว่า “ถ้านับย้อนหลังไป 3,421 ปี มีเพียง 268 ปีเท่านั้นที่โลกปลอดจากสงคราม” (The Lesson of History, 1st edition, 1968)

แค่ 8 ปีที่ผ่านมานี้ เราก็ได้เห็นสงครามใหญ่ถึงสองครั้ง คือสงครามระหว่างสหรัฐกับอัฟกานิสถาน และสงครามอิรัก ซึ่งยังคงยืดเยื้อเป็นสงครามกลางเมืองมาจนถึงขณะนี้

เรียกว่ามนุษย์ทุก Generation ที่เคยเกิดมาบนพื้นโลก ย่อมพบเห็นสงครามกันมาแล้วทั้งนั้น

ยกตัวอย่างเฉพาะกรณีคนไทยกับคนพม่า ในพงศาวดารเรื่อง “ไทยรบพม่า” งานวิจัยที่ค่อนข้างละเอียดเกี่ยวกับสงครามระหว่างไทยกับพม่า นิพนธ์โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ว่า “ตามเรื่องราวที่ปรากฏมาในพงศาวดาร เมื่อกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ไทยได้ทำสงครามกับพม่า ๒๔ ครั้ง ต่อมาถึงเมื่อกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ได้ทำสงครามกับพม่าอีก ๒๐ ครั้ง รวมเป็น ๔๔ ครั้งด้วยกัน ในจำนวนสงครามที่ว่ามานี้ ฝ่ายพม่ามาบุกรุกรบไทยบ้าง ฝ่ายไทยไปบุกรุกรบพม่าบ้าง........ไทยกับพม่ารบกันเป็นครั้งที่สุด เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๓๙๖ ในคราวไทยไปตีเชียงตุง เมื่อในรัชกาลที่ ๔ ต่อนั้นก็มิได้รบพุ่งกันอีกจนตราบเท่าทุกวันนี้” (พงศาวดารเรื่อง “ไทยรบพม่า”, สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ. ๒๕๕๑)

เห็นไหมครับ เอาแค่สมัยกรุงธนบุรีมาจนถึงรัชกาลที่ ๔ เพียงสามชั่วอายุคนเท่านั้น ไทยกับพม่าทำสงครามกันถึง ๒๐ ครั้ง อันนี้ยังไม่รวมที่เคยรบกับลาว ญวน เขมร และมาลายู หรือรบกันเอง อีกไม่รู้กี่สิบครั้งในช่วงนั้น

ถ้าลองคำนวณค่าเฉลี่ยดู ก็เท่ากับช่วง พ.ศ. ๒๓๑๐-๒๓๙๖ เพียง 86 ปี เกิดรบพุ่งกับพม่าเพียงกลุ่มเดียวถึง 20 ครั้ง เมื่อหารเฉลี่ยดูแล้วคือประมาณ 4 ปีกว่าต่อครั้ง สอดคล้องกับค่าเฉลี่ยของโลกที่ยกมาข้างต้นว่า 8 ปีที่ผ่านมา เกิดสงครามใหญ่สองครั้ง และถ้าย้อนหลังไปอีกก็จะเจอ “สงครามล้างเผ่าพันธุ์” ในคาบสมุทรบอลข่าน (เรียกว่า Yugoslav War) และ “สงครามอ่าวเปอร์เซีย” (Gulf War) ตามลำดับ เฉลี่ยแล้วประมาณ 4-5 ปีต่อครั้งเช่นกัน

และถ้ากรอภาพเหตุการณ์โลกย้อนกลับไปอีก เราก็จะพบสงครามเขมร (เพิ่งจบแบบถาวรเมื่อเกิดนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า”) สงครามในพม่ากับชนกลุ่มน้อย สงครามสั่งสอนระหว่างจีนกับเวียดนาม สงครามลาว สงครามอิรัก-อิหร่าน สงครามเวียดนาม สงครามหกวัน ระหว่างอิสราเอลกับอียิปต์ สงครามปลดแอกจำนวนมากในอเมริกาใต้และอาฟริกา สงครามเกาหลี สงครามกลางเมืองในจีนที่สุดท้ายฝ่ายคอมมิวนิสต์ชนะ สงครามโลกครั้งที่สอง สงครามกลางเมืองในรัสเซีย สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามบนคาบสมุทรบอลข่านทั้งสองครั้ง สงครามกลางเมืองในจีนยุคขุนศึก สงครามกลางเมืองในตุรกี สงครามญี่ปุ่นกับรัสเซีย สงครามญี่ปุ่นกับจีน สงคราม Boer สงครามระหว่างสเปนกับสหรัฐฯ สงครามตุรกีกับกรีซเพื่อแย่งเกาะครีต สงครามฝรั่งเศสกับปรัสเซีย สงครามกลางเมืองในสหรัฐฯ สงครามแหลมไครเมีย สงครามหลายสิบครั้งคราวนโปเลียนครองอำนาจ สงครามกลางเมืองฝรั่งเศส สงครามปลดแอกสหรัฐฯ........เอาเพียงแค่นี้ก่อน

Edward Dewey เคยศึกษาเรื่อง War Cycle อย่างจริงๆ จังๆ แล้วก็ประมาณว่า วัฏจักรของสงครามมีหลายรอบซ้อนกันอยู่ เช่น 142, 57, 22.2, และ 11.2 ปีต่อครั้ง โดยที่รอบของสงครามกลางเมืองจะเกิดทุก 170 ปีโดยประมาณ (อ้างจาก Mark Faber, Of War Cycles and their Economic Consequences, GBD Report 29th March, 2003)

เขายังศึกษาอีกว่า ธรรมชาติมีส่วนต่อการเกิดสงคราม เช่นสภาวะของดินฟ้าอากาศในแต่ละปี น้ำท่วม ฝนแล้ง วัฏจักรความแล้งของแม่น้ำไนล์และวงจรชีวิตของต้นไม้ ฯลฯ โดยที่ผมสะกิดใจกับข้อสังเกตอันหนึ่งที่ว่า “Warm periods were the time of dictators and international wars, while cold periods produced civil unrest and democracy.”

อันนี้ก็ฟังหูไว้หู แต่ถ้ามันเกิดมีมูลตามสถิติข้อมูลที่เขาเพียรเก็บมา ก็น่าเป็นห่วงว่า “ภาวะโลกร้อน” จะส่งผลสนับสนุนพวกเผด็จการและบ้าสงครามให้ขึ้นมาเป็นใหญ่

นอกจากนั้น เขายังพยายามหาความสัมพันธ์ระหว่าง Biological Cycle และ Economic Cycle โดยเขาศึกษาและเก็บข้อมูลปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและเศรษฐกิจ เช่นการเก็บเกี่ยว การเกิดโรค วงจรและวัฏฏะจักรของโรงระบาด การเพิ่มพันธุ์สัตว์ตามธรรมชาติ การเพิ่มจำนวนหรือลดจำนวนของสัตว์และพืชชนิดสำคัญๆ ผลผลิตและราคาพืชผล ตลอดจนโภคภัณฑ์ที่สำคัญ ฯลฯ

เขากล่าวไว้อย่างน่าคิดว่า “In my own mind I picture the space in which we live as filled with forces that alternately stimulate and depress all human beings—make them more or less optimistic, or make them more or less fearful. Those forces do not control us, they merely influence us. They create a climate that is sometimes more favorable to war and sometimes less favorable. War will come without the stimulus of those forces and wars will be avoided in spite of these stimuli, but, on the average, the probabilities for war are greater when “climate” is right. The evidence suggests that one of the major causes, may be mass hysteria or combativeness, which occurs at reasonably regular rhythmic intervals.”

ที่ผมขีดเส้นใต้ประโยคสุดท้ายไว้นั้น เพราะผมคิดว่าข้อสังเกตอันนี้ มันช่างเหมาะเจาะ และ “เข้า” กับสถานการณ์ของสังคมไทยปัจจุบันเสียนี่กระไร

เมื่อพิจารณาเรื่องนี้ประกอบกับระดับราคาพืชผลเทียบกับราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ราคาหุ้นของกิจการส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่หุ้น Blue Chip ภาวะความเป็นอยู่ของประชาชน ตลอดจนช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย และความสามารถในการปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงของระบบการเมือง ข้าราชการ พระสงฆ์ และสถาบันหลัก ฯลฯ อาจช่วยให้พวกเราเข้าใจตัวเองได้กระจ่างชัดยิ่งขึ้น ว่าตอนนี้เราอยู่ตรงไหน ใกล้ไกลจากภาวะสงครามกลางเมืองเพียงใด

ที่เขียนมาอย่างยืดยาวข้างต้น เพราะผมค่อนข้างมั่นใจว่าสภาวการณ์ของสังคมไทย ณ วันนี้อยู่ไม่ไกลจากภาวะสงครามกลางเมืองเท่าใดนัก

ในฐานะบรรณาธิการนิตยสารฉบับนี้ ผมตัดสินใจเสนอให้กองบรรณาธิการพิจารณาให้ยกเรื่อง “สงครามกลางเมือง” ขึ้นมาเป็น Cover Story ทันทีที่ผมทราบข่าวว่าสนธิ ลิ้มทองกุล ถูกยิงอย่างอุกอาจและทารุณ

และในฐานะนักเขียน ผมได้ Observe ความเป็นไปในสังคมไทยมาพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะสามปีหลังมานี้ ผมเห็นว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้น มันค่อยๆ Drag Down สังคมไทยลงไปเรื่อยๆ และก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด

อันที่จริง การต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจและความขัดแย้งระหว่างบุคคลหรือกลุ่มคนเป็นเรื่องธรรมดาของทุกสังคม ตราบใดที่มีกรอบกฏิกาที่ชัดเจนโปร่งใสโดยทุกคนยอมเคารพกติกา ก็ไม่จำเป็นต้องหวาดหวั่น ในอดีตเราก็เคยแก้ไขกันได้โดยวิธีการหรือกระบวนการ “แบบไทยๆ” ของเราเองในแต่ละรอบ โดยสามารถหลีกเลี่ยงสงครามกลางเมืองใหญ่โตและรุนแรงเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในสังคมอื่นได้ทุกครั้งไป แต่คราวนี้มันพิเศษ เพราะวิธีการที่เคยได้ผลมันกลับล้มเหลวขณะที่ยังหาหนทางใหม่ไม่เจอ ทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งมันยืดเยื้อยาวนาน ยาวนานจนมันได้บ่มเพาะให้คนไทยทั้งมวลเกิดความเกลียดชัง หมั่นไส้ ดูถูก เหยียดหยาม ชิงชัง เคียดแค้น กันเองในวงกว้างอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ผมอ่าน-ฟัง-ดู สื่อมวลชนสำคัญๆ ที่เอาใจช่วยและแอบเอาใจช่วยแต่ละ “สี” ใช้คำพูดต่อกันมาเป็นเวลาหลายปีดีดักแล้ว ผมคิดว่านั่นมันก็เพียงพอสำหรับการยกพวกรบกันแล้วหละ (ผมชอบคำของ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ใช้ว่า “...ความเกลียดชังระหว่างกันที่พร้อมจะเหยียดให้อีกฝ่ายหนึ่งสูญเสียความเป็นคนไป....” อ้างจาก “การเมืองที่พระยังยุ่งไม่ได้” มติชนสุดสัปดาห์ ประจำวันที่ ๑๕-๒๑ พฤษภาคม ๒๔๔๑)

บอกได้เลยว่า ขณะนี้สังคมไทยอยู่ในภาวะล่อแหลมต่อการเกิดสงครามกลางเมือง

ขณะที่ผมกำลังนั่งเขียนบทความนี้ ความเคียดแค้นชิงชังก็ได้ลุกลามไปทั่วด้านแล้ว เพราะนอกจากแต่ละฝ่ายจะเขียนหนังสือด่ากัน พูดวิทยุด่ากัน และออกทีวีด่ากัน ตลอดจนใส่เสื้อกันคนละสีและปลุกม็อบปะทะกันแล้ว ยังสร้างละครด่ากัน สร้างหนังด่ากัน เขียนและอ่านบทกวีด่ากัน แต่งเรื่องสั้นด่ากัน ปาฐกถาด่ากัน โต้วาทีด่ากัน ด่ากันในที่ประชุมสำคัญๆ รวมถึงในที่ประชุมของนายตำรวจและทหารชั้นผู้ใหญ่ วาดภาพด่ากัน ปั้นรูปด่ากัน แต่งเพลงและร้องเพลงด่ากัน เขียนเว็บและโพสต์เว็บด่ากัน โพสต์ YouTube ด่ากัน ลอบยิงกัน สะสมอาวุธแข่งกัน แอบจัดทัพแข่งกัน บอยคอตสินค้ากัน หรือแม้กระทั่งตั้งพรรคการเมืองมาแข่งกัน

เหลืออยู่อย่างเดียวคือจุด Trigger Point ที่อาจเป็นเหตุการณ์แบบ “น้ำผึ้งหยดเดียว” ก็ได้

อีกอย่าง คนรุ่นนี้ที่รวมถึงแกนนำที่แท้จริงของกลุ่มสีที่ขัดแย้งกัน ตลอดจนผู้ที่กุมอำนาจส่วนใหญ่ในองค์กรสำคัญทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง อีกทั้งผู้นำมวลชนชั้นล่างที่รู้สึกว่าตัวเองถูกกดขี่มายาวนาน ล้วนเป็นคนรุ่นที่เกิดไม่ทันและไม่เคยซาบซึ้งถึงพิษภัยของสงครามมาก่อน หลายคนถึงกับแสดงออกมาว่าสงครามเป็นเรื่องจำเป็น และเห็นสงครามเป็นเรื่องสนุกเอาเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนเวทีปราศรัยและตามเว็บไซต์ที่เปิดให้โพสต์ความเห็นต่อท้ายบทความต่างๆ

Bismarck เคยตั้งข้อสังเกตว่า “a generation that has taken a thrashing is always followed by one that deals out of the thrashings” (อ้างจาก Alistair Horne: The Price of Glory, Penguin Books 1993)

สอดคล้องกับนักประวัติศาสตร์คนสำคัญ Arnold Toynbee ที่เคยกล่าวไว้ว่า “The survivors of a generation that has been of military age during a bout of war will be shy, for the rest of their lives, of bringing a repetition of this tragic experience either upon themselves or upon their children, and……therefore the psychological resistance of any move towards the breaking of a peace…..is likely to be prohibitively strong until a new generation….has had the time to grow up and to come into power. On the same showing, a bout of war, once precipitated is likely to persist until the peace-bred generation that has been lightheartedly run into war has been replaced, in its turn, by a war-worn generation.” (Arnold Toynbee, A Study of History, Abridgement of Volume I-VI by Oxford University Press, 1946)

ผมเคยอ่านงานของ Abraham Maslow ที่กล่าวถึงบรรดานักจิตวิทยารุ่นใหญ่ที่เติบโตมาในยุโรปหลังสงครามโลกครั้งแรกอย่าง Adler, Freud, หรือ Jung ล้วนเคยบำบัดทหารผ่านศึกเยอรมันที่เคยผ่านความโหดร้ายจากแนวรบตะวันตก แล้วก็ต้องแปลกใจที่คนเหล่านี้กลายเป็นคนสุภาพมาก ไม่ชอบความรุนแรง ไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับการทะเลาะเบาะแว้งอีกเลย แม้จะถูกเยาะเย้ยถากถาง ก็ไม่สนใจจะไปตอบโต้ (ใครอยากรู้ว่าความโหดของแนวรบตะวันตกมีผลกระทบต่อคนหนุ่มเยอรมันยุคนั้นยังไง ผมแนะนำให้อ่าน “แนวรบด้านตะวันตก เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง” ของเอริค มาเรีย เรอมาร์ค แปลโดยหม่อมเจ้าขจรจบกิตติคุณ กิตติยากร, สำนักพิมพ์อ่านไทย, ๒๕๔๒)

อันนี้นับว่าไปกันได้กับความเชื่อและความเข้าใจของคนไทยที่มักเชื่อว่า “นักเลงจริง” คือพวกที่ไม่พูดมาก ไม่เอะอะมะเทิ่ง ท้าตีท้าต่อย อวดดี ข่มขู่คุกคามด้วยวาจาและการกระทำ ไม่เหมือนกับพวก “อันธพาล”

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้มิได้หมายความว่าผมอยากจะให้เกิดสงครามกลางเมืองนะครับ ผมวิงวอนทุกวันไม่ให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น เพราะจากการอ่านงานประวัติศาสตร์สงครามที่เคยเกิดมาในบ้านเมืองอื่น ผมรู้ว่ามันขมขื่น และความขมขื่นมันไม่จบที่คนรุ่นนั้น มันยังจะถ่ายทอดเหมือนกรรมพันธุ์ไปสู่คนรุ่นต่อไปอีก และความขมขื่นมันจะแบ่งแยกสังคมออกเป็นซ้ายเป็นขวา เป็นเหนือเป็นใต้ เป็นเจ้าเป็นไพร่ มิใช่ว่าปัญหาและความขัดแย้งทั้งมวลจะจบบริบูรณ์เมื่อได้ฆ่ากันเรียบร้อยไปแล้วซะเมื่อไหร่

ผมขออ้าง Karl Marx อีกสักคนเถอะ....ในข้อเขียนเรื่อง The Eighteenth Brumaire of Louis Napoleon (ซึ่งหาอ่านได้ในอินเทอร์เน็ตทั่วไปเลยครับ) เขาให้ข้อสังเกตถึงอิทธิพลของความรู้สึกนึกคิดของคนรุ่นก่อนต่อคนรุ่นต่อมาได้อย่างแหลมคมว่า “The tradition of all the dead generations weights like a mountain on the mind of the living.”

ผมรู้เลยว่าถ้าเกิดสงครามกลางเมืองขึ้น พวกเราและลูกหลานเราจะต้องพานพบกับความรู้สึกหลากหลายที่โดยปกติแล้วมนุษย์อยากจะหลีกไปให้พ้นๆ นั่นคือความเศร้าสลด หดหู่ สูญเสีย พลัดพราก ขมขื่น ลำบาก ยากแค้น เคียดแค้น พยาบาท หวาดกลัว ถูกกด ถูกจำกัด ถูกทำให้ล้าหลัง ถูกลิดรอน ทั้งทรัพย์สินและสิทธิเสรีภาพทั่วด้าน

ไม่มีใครเลยที่จะรอดพ้นจากความรู้สึกที่ว่านี้ได้........................


แล้วไงดี


แต่จะให้จบบทความแต่เพียงเท่านี้ มันก็กระไรอยู่ เพราะผู้อ่าน MBA ส่วนใหญ่คงจะไม่ยอม และคงจะถามต่อว่า “แล้วไงต่อ” ตามประสาปัญญาชนคนชั้นกลางที่มีปัญญาความคิดอ่านก้าวหน้า เป็นตัวของตัวเอง และดำเนินชีวิตด้วยสติสัมปชัญญะมั่นคง

เป็นธรรมดาอยู่เองที่ย่อมมีคนส่วนน้อยบางกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากสงคราม เถ้าแก่บางคนที่ตอนหลังสามารถต่อยอดจนยิ่งใหญ่กลายเป็น “ไทคูน” ครอบครองกิจการขนาดยักษ์ในเมืองไทย ก็เคยสร้างตัวมาระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่เชื่อลองศึกษาประวัติของ ชิน โสภณพนิช และ เทียม โชควัฒนา ให้ละเอียด ก็จะสามารถพบเครือข่ายเหล่านั้นได้

แต่ผมขอไม่กล่าวถึงโดยละเอียด ขอละไว้ในที่เข้าใจ เพียงแต่จะชี้ให้เห็นว่าคนเหล่านี้สามารถเอาประโยชน์จากสถานการณ์สงครามได้ เพราะอย่าลืมว่าในภาวะสงครามนั้น มักเกิดความขาดแคลน ทั้งอาหารและสินค้าอุปโภค ตลอดจนสินค้าฟุ่มเฟือยทั้งหลาย อีกทั้งกลไกควบคุมของรัฐที่เคยควบคุมราคาสินค้าอยู่ก่อนมักถูกละเลยในยามสงครามเพราะไปมัวมุ่งเน้นแต่ในด้านความมั่นคง พ่อค้าที่เห็นการณ์ไกลและคาดการณ์ได้ถูกต้องแม่นยำ ย่อมสามารถทำกำไรได้หลายเท่าตัว เพราะอัตรากำไรที่ได้กันในยามสงครามย่อมสูงผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดมืด

ภาวะขาดแคลนย่อมนำมาซึ่งการปันส่วนสินค้าจำเป็น เช่นอาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม และพลังงาน (เช่นน้ำมันและไฟฟ้า) ตลอดจนเงินตราต่างประเทศ ทำให้ “ตลาดมืด” เกิดขึ้นทั่วไป กิจการขนาดใหญ่ย่อมถูกจับตาจากรัฐบาลในยามสงคราม จึงไม่สามารถเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมในตลาดมืดได้สะดวก ช่องว่างนี้เองที่เอื้อให้บรรดา “เศรษฐีสงคราม” เกิดขึ้นได้

นอกจากนั้น ในเชิงเศรษฐศาสตร์แล้ว การจลาจลและการสู้รบยังขัดขวางการผลิตและการค้า ก่อให้เกิดความไม่แน่นอนต่อ Supply ของผลผลิต ซึ่งจะส่งผลให้ราคาผลผลิตเกิดความผันผวน เป็นช่องว่างสำหรับ “เก็งกำไร” ทั้งขึ้นทั้งล่อง ทั้ง Speculative Opportunity และ Arbitrage Opportunity ผู้ที่ควบคุมข้อมูลหรือเข้าถึงแหล่งข้อมูลวงในได้ก่อน หรือมีข้อมูลครบถ้วน เก็งได้ถูก ก็จะสามารถทำกำไรได้โดยไม่ต้องลงแรงอะไรเลย

เช่นเดียวกัน ราคาสินทรัพย์ประเภทอื่นนอกเหนือจากผลผลิตก็จะผันผวนไปด้วย เนื่องจากเงินตราที่เป็นกระดาษจะลดค่าลงเพราะคนมักหมดความเชื่อมั่นในยามสงคราม หันไปเก็บออมเป็นทองคำและสินทรัพย์มีค่าชนิดอื่น ซึ่งก็เป็นช่องว่างให้ Banker ยุคใหม่สามารถแทรกตัวขึ้นมาให้บริการแปลกๆ ใหม่ๆ ได้ท่ามกลาง Banking Monopoly ที่ยึดกุมระบบการเงินอยู่อย่างเหนียวแน่นในภาวะปกติ

โดยปกติแล้ว สงครามกลางเมืองมักทำลาย Monopoly ไปด้วยในตัว หลังการปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศส ชนชั้นพ่อค้ามั่นคงขึ้นและเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด โอกาสทางการค้าเปิดกว้างให้แก่พวกเขา ต่างกับก่อนการปฏิวัติฯ ที่กิจกรรมการค้า การเงิน และอุตสาหกรรมถูกผูกขาดอยู่ในมือของกลุ่มชนชั้นสูงไม่กี่กลุ่ม

ผมคิดว่าถ้าเกิดสงครามกลางเมืองในเมืองไทย สภาพการณ์ก็คงจะไม่ต่างกัน โครงสร้างการผลิตสินค้าที่จำเป็นในเมืองไทยนั้น กระจายกันอยู่ในมือของผู้ผลิตรายเล็กรายน้อยทั่วประเทศ ยกตัวอย่างการทำนา ทำสวน ก็จะเห็นได้ไม่ยาก เพียงแต่เมื่อผลผลิตเหล่านั้นหลุดออกจากมือของเกษตรกรต้นทางแล้ว ขั้นตอนการผูกขาดจะเข้ามาแทนที่ แล้วเป็นเช่นนั้นต่อไปจนกระทั่งถึงมือผู้บริโภคคนสุดท้าย

ฉะนั้นเมื่อเกิดสงครามขึ้น โอกาสที่กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่จะผูกขาดกระบวนการรับซื้อผลิตผลและกระบวนการกระจายสินค้าเช่นในภาวะปกติคงเป็นไปได้ยาก เพราะภาวะอนาธิปไตยจะนำมาซึ่งการขัดขืนทำให้ระบบผูกขาดแตกตัวออก หรือการจลาจลและการรบอาจทำให้เครือข่ายการสื่อสารคมนาคมระดับทั่วประเทศพังทลายลง ทำให้ตลาดถูกแบ่งออกเป็นหลายเขตแคว้น ผู้เล่นรายใหม่จำนวนมากจะสามารถแทรกเข้าไปในแต่ละพื้นที่แบบกระจัดกระจาย เพราะกำไรส่วนเกินในภาวะสงครามมันล่อใจ

แม้แต่สินค้าที่ดูเหมือนฟุ่มเฟือยทว่าลึกๆ แล้วบางทีก็จำเป็นต่อพลังงานของมนุษย์ (เพราะช่วยให้มนุษย์สามารถทำงานอึดขึ้นและยาวนานขึ้น) อย่างแอลกอฮอล์ (เหล้า เบียร์ ไวน์ อุ กระแช่) คาเฟอิน (กาแฟ ชา เครื่องดื่มบำรุงกำลัง น้ำอัดลม) นิโคติน (บุหรี่ ใบยา) หรือสารกระตุ้น (Stimulant) ประเภทอื่น ซึ่งมักถูกผูกขาดอยู่ในภาวะปกติ ก็อาจจะกลับพลิกผันได้ เพราะเมื่อสารกระตุ้นในตลาดที่คุ้นชินขาดแคลนในยามสงคราม ผู้คนก็จะแสวงหา Stimulant เอาเอง เช่นจากการต้มเหล้า หมักไวน์ หรือหมักเบียร์ ดื่มเอง เพราะอย่าลืมว่าความรู้ในการผลิตของเหล่านี้ มีอยู่แล้วในพื้นบ้านไทย

คนจีนอพยพที่หนีมาตายเอาดาบหน้าในเมืองไทยสมัยก่อน เพราะทนความยากแค้นในเมืองจีนยุคสงครามกลางเมืองย่อมทราบอยู่แก่ใจดีว่า “สงครามมักมากับเศรษฐกิจตกต่ำและความยากจน” ไม่เชื่อผู้อ่านที่ยังมี “อากง อาม่า” อยู่ ก็ลองถามดูก็ได้

มันเป็นเรื่องนอกเหนือจินตนาการของคนรุ่นหลังไปมาก ถ้าจะบอกว่าต้องแบกเงินเป็นปึกๆ ใส่ตะกร้าไปจ่ายตลาด เพื่อซื้ออาหารเพียงไม่กี่ชนิด

ผมยังจำได้ว่าเคยอ่านชีวประวัติของ Dr. Horace Greeley Hjalmar Schacht ผู้กุมหางเสือเศรษฐกิจคนสำคัญของเยอรมนี ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งแรกมาจนกระทั่งฮิตเลอร์สร้างประเทศก่อนเข้าสู่สงครามโลกครั้งหลัง ทั้งในฐานะรัฐมนตรีเศรษฐกิจและผู้ว่าการธนาคารชาติเยอรมนี (สมัยก่อนเรียกว่า Reichsbank) เขาได้เล่าถึงความยากลำบากในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของเยอรมนีหลังพ่ายแพ้สงคราม และต้องรับภาระหนักตามข้อตกลงในสนธิสัญญาแวร์ซาย ทำให้เศรษฐกิจเยอรมันตกต่ำอย่างหนัก และภาวะเงินเฟ้อก็สูงแบบไม่น่าเชื่อ ค่าเงินมาร์กตกลงแทบจะเหลือ “ศูนย์” เขาบอกว่า “น่าสงสารคนแก่ที่อุตสาห์ทำงานเก็บเงินมาชั่วชีวิต เพราะเงินเก็บและเงินฝากธนาคาร ถูก Wipe-out ไปหมดในพริบตา”

ผมจินตนาการถึงตรงนี้ทีไร ดูเหมือนที่คอจะมีก้อนอะไรขวางอยู่ทุกทีไป

เพื่อนคนไทยที่แต่งงานไปอยู่เยอรมันเคยเล่าให้ฟังว่า ช่วงที่เกิดสงครามอิรักใหม่ๆ คนแก่เยอรมันที่เคยผ่านสงครามโลกมาตอนยังเป็นเด็ก ล้วนมีพฤติกรรมแปลกๆ อย่างเช่นซื้อหาอาหารมาตุนจำนวนมาก เบิกเงินจากธนาคารมาซื้อทอง โดยแบ่งซื้อเป็นทองชิ้นเล็กๆ ไม่นิยมชิ้นใหญ่ เป็นต้น

พฤติกรรมแบบนั้นแม้จะดูตลกขบขันสำหรับคนรุ่นใหม่ แต่เป็น Defensive Strategy ที่ถูกต้อง

แม้แต่คนไทยยุคนี้ ผมยังอยากจะแนะนำให้กระจายการถือครองสินทรัพย์ เผื่อเกิดสงครามขึ้นโดยไม่คาดฝัน เช่นถือเงินตราต่างประเทศสกุลแข็งหลายสกุล ถือทองคำ หรือฝากเงินกับธนาคารนอกประเทศ เพราะหลายครั้งเมื่อเกิดสงครามกลางเมือง ธนาคารพาณิชย์ในประเทศจะตกเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการปราบปรามฝ่ายต่อต้านทันที หลายคนที่ถูกสงสัยว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม ก็อาจจะถูกอายัดเงินฝาก (อย่างกรณีของพวกยิวในเยอรมนีสมัยพรรคนาซีครองอำนาจก็เคยเจอแบบนี้มาแล้ว หรือแม้แต่คนในอาณัติเยอรมันที่อาศัยอยู่ในเมืองไทยช่วงสงครามโลกครั้งแรกหลังจากที่ไทยประกาศสงครามกับฝ่ายอักษะก็เคยเจอแบบนี้มาบ้าง)

กิจกรรมการเงินที่เคยเป็นแบบ “เสรี” (เช่นการเบิกเงิน โอนเงิน แลกเงิน) ก็อาจถูกควบคุมอย่างเคร่งครัด และกิจกรรมการค้าที่เคยแลกเปลี่ยนกันได้แบบ “เสรี” ก็อาจถูกจำกัดโควตา ถูกบล็อก ถูกตรวจสอบอย่างละเอียด และการส่งออกนำเข้ากับบางประเทศอาจถูก Embargo

เป้าหมายของสงครามกลางเมืองคือ “การยึดอำนาจรัฐ” ดังนั้น การสู้รบหรือการจลาจลจะรุนแรงและก่อความเสียหายมากในเมืองใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางอำนาจรัฐ เช่น กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น หรือสงขลา เป็นต้น

ผมเคยคุยกับคนแก่ที่เคยผ่านสงครามโลกครั้งที่สองมามาก หลายคนเคยหลบภัยลูกระเบิดไปอยู่ต่างจังหวัด ตามจังหวัดใกล้ๆ เช่นฉะเชิงเทรา อยุธยา ชลบุรี หรือแม่กลอง เหตุผลเพราะอุดมสมบูรณ์ ถ้าไม่เป็นแหล่งปลูกข้าว ปลูกมัน ก็เป็นแหล่งประมง

นับว่าเป็นความคิดที่ฉลาด เพราะถ้าหาคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนจากข้าวไม่ได้ ก็หาจากถั่วจากมันแทน หรือถ้าหาจากข้าวและถั่วมันไม่ได้ ก็ต้องหาโปรตีนเอาจากปลา

แต่ถ้าเกิดสงครามกลางเมืองกันคราวนี้จริง ผมว่ามันจะซับซ้อนกว่า เพราะแต่ละพื้นที่ล้วนมี “สี” เป็นของตัวเอง คือถ้าไม่สีแดง ก็สีเหลือง สีน้ำเงิน หรือไม่ก็สีเขียว ดังนั้น ผมคิดว่าถ้าใครอยากจะลงทุนอสังหาริมทรัพย์ที่คิดเผื่อเรื่องหลบภัยสงครามไปด้วยในตัว ผมว่าเมืองที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน อากาศดี อุดมสมบูรณ์และ “ปลอดสี” แถมราคาที่ดินยังไม่สูงมากนักอย่าง “น่าน” น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด

ส่วนการลงทุนในหุ้นหรือหลักทรัพย์เอกชนนั้น ผมว่าเสี่ยงมากในยามสงคราม เพราะกิจการหลายกิจการจะเจ๊ง โดยเฉพาะสถาบันการเงินมักถึงกาลอวสานเมื่อเกิดสงคราม นั่นอาจส่งผลกระทบต่อบรรดาตราสารอนุพันธ์ทั้งหลาย ซึ่งคงจะม้วยมลายหายสิ้นไปด้วย เพราะสัญญาเหล่านี้ส่วนใหญ่คู่สัญญาจะเป็นสถาบันการเงินและกิจการในเครือข่ายแทบทั้งสิ้น เมื่อคู่สัญญาหายไปจากโลก แล้วจะไปเคลมเอากับใคร หรือส่งมอบให้ใคร

ผมไม่มีอะไรจะสรุปมากไปกว่าจะบอกว่า

“ผมกลัว”


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว

20 กันยายน 2552

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนกันยายน พ.ศ.2552

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น