วันอังคารที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2553

Tocqueville กับ Social Networks


ผมไม่ชอบ ปีเตอร์ ดรักเกอร์ อยู่ข้อหนึ่ง



คือเขามักทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจไขว้เขวว่า ตัวเองเป็นคนก่อตั้งศาสตร์แห่งการจัดการหรือการบริหาร ที่เขาเรียกว่า Management Science



เพราะมันเป็นการโอ้อวดที่เกินจริงอย่างไม่ค่อยอ่อนน้อมถ่อมตนเท่าไหร่



อันที่จริง “การจัดการ” ย่อมมีมาแต่บุพกาล ตั้งแต่มนุษย์มาอยู่ร่วมเป็นสังคม ก่อนยุคสร้างบ้านแปลงเมืองเสียอีก



ดรักเกอร์เพียงแต่อ่านประวัติศาสตร์ แล้วนำเอาภูมิธรรมเดิมมาถ่ายทอดในอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง เป็นเวอร์ชั่นที่เหมาะกับสังคมสมัยใหม่ ที่ยึดเอาการค้าและธุรกิจอุตสาหกรรมเป็นแกนกลาง



ถ้าบอกว่าดรักเกอร์เป็นคนคิดศัพท์แสงเิชิงการจัดการสมัยใหม่ ผมจะไม่เถียงสักคำ แต่แก่นความรู้และกรอบความคิดที่เขานำมาแสดงนั้น หาได้เป็น Original ไม่



ยังไงเสีย เราก็ต้องให้เครดิตเขา ที่ได้ช่วยขุดลึกลงไปในรากเหง้าของอารยธรรมตะวันตก เพื่อหาความคิดแบบสรุปรวบยอด ผ่านกรอบวิธีคิดหรือแว่นของการจัดการ แล้วสร้างเป็นภูมิปัญญาใหม่ ที่เหมาะกับยุคสมัยของเรา



ดังนั้น ผู้อ่านรุ่นใหม่ที่สนใจในประเด็นการจัดการ การบริหาร การปกครอง การวางกลยุทธ์ การจัดองค์กร ตลอดจนภาวะผู้นำ ฯลฯ ต้องไม่จำกัดตัวเองอยู่กับนักคิดหรือผู้ที่อ้างตัวว่าเป็น “กูรู” ทางด้านบริหารธุรกิจหรือการจัดการหรือกลยุทธ์รุ่นใหม่ เท่านั้น เพราะย่อมมีนักคิดและความคิดสำคัญก่อนหน้านั้น ให้หยิบฉวยอีกมากมาย



ในบรรดานั้น Alexis de Tocqueville เป็นบุคคลที่น่าสนใจไม่น้อย



ผมเริ่มศึกษา Tocqueville เพราะได้แรงบันดาลใจมาจากอาจารย์ภูพาเนช มะเด็ง



อาจารย์ภูพาเนชท่านเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยชิคาโก ทันเรียนกับ Milton Friedman และก็ได้ด็อกเตอร์จากฝรั่งเศส ท่านเข้าใจความคิดความอ่านของคนฝรั่งเศสและคนอเมริกันดี เชี่ยวชาญทั้งภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และสเปน เคยอ่านหนังสือคลาสสิคเล่มสำคัญๆ มาก็มาก อีกทั้งยั้งเคยผ่านงานบริหารระดับสูงจากกิจการยักษ์ใหญ่ชั้นแนวหน้าของไทยมาหลายองค์กร



เมื่อท่านรับปากจะเขียนซีรี่ส์ “ปฏิวัติฝรั่งเศส” ให้กับเราเป็นจำนวน 8 ตอน (อ่านหน้า...) ท่านว่าตอนสุดท้ายจำต้องเขียนความคิดของ Tocqueville เพราะ แม้จะเป็นคนฝรั่งเศส แต่ความคิดเขาก็มีอิทธิพลต่อคนอเมริกันรุ่นหลังมาก และยังศึกษากันอยู่ในสถาบันการศึกษาระดับสูงของประเทศนั้นมาจนกระทั่งปัจจุบัน


ท่านผู้อ่าน MBA ไม่ควรพลาดข้อเขียนของอาจารย์ภูพาเนชด้วยประการทั้งปวง



ณ ที่นี้ ผมขอว่าของผมไปพลางก่อน



๋Alexis de Tocqueville เกิดในตระกูลขุนนางของฝรั่งเศสทางตอนเหนือที่เรียกว่าแคว้นนอร์มังดี ใกล้ๆ กับชาดหาดทั้งหลายที่ทหารสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกเมื่อวันดีเดย์นั่นแหละ เขาเกิดในยุคนโปเลียน พ.ศ. ๒๓๔๘ ตรงกับปลายรัชกาลที่ ๑ ก่อนหน้านั้น ระหว่างปฏิวัติใหญ่ พ่อแม่เขาถูกจับ แต่ยังไม่ทันถูกบั่นคอด้วยกิโยตินเพราะสิ้นโรเบียสปิแอร์เสียก่อน Tocqueville สำเร็จกฎหมายจากมหาวิทยาลัยปารีส และรับราชการที่แคว้นบ้านเกิด



ความสำคัญของเขาอยู่ที่ทริปทัวร์อเมริกา เมื่อเขากับเพื่อนอีกคนได้รับคำสั่งจากรัฐบาลให้เดินทางไปดูงานทางด้านการบริหารคุกตารางในอเมริกาเมื่อเขาอายุได้ 25 ตรงกับยุคของรัชกาลที่ ๓ เขาตระเวนไปทั่ว ตั้งแต่นิวอิงแลนด์ลงไปถึงนิวออร์ลินส์และเลี้ยวเข้าไปข้างในจนถึงทะเลสาบมิชิแกน รวมเวลาประมาณ 9 เดือน (เส้นทางของเขานี้มีนักเดินทางเลียนแบบกันมากในตอนหลัง)



อีกเกือบห้าปีต่อมา เขาเขียน Observation ต่อประชาธิปไตยของอเมริกาเป็นหนังสือเล่มแรกชื่อว่า De la Démocratie en Amerique และอีกห้าปีหลังจากนั้นก็ออกเล่มสองตามมา โดยหนังสือทั้งสองเล่มนั้น ทำให้เขามีชื่อเสียงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรปและอเมริกา ในฐานะที่สามารถให้อรรถาธิบายประชาธิปไตยในอเมริกาได้ดีที่สุด เท่าที่เคยมีมา แม้แต่ John Stuart Mill ปราชญ์ชาวอังกฤษร่วมสมัยผู้มีชื่อเสียง ยังยกย่องงานชิ้นนี้มาก



Democracy in America ยังคงสถานะอันยิ่งใหญ่มาจนกระทั่งบัดนี้ คนที่ต้องการเข้าใจประชาธิปไตยแบบอเมริกันอย่างลึกซึ้ง ย่อมต้องหวลกลับไปเช็คความคิดของเขาในเล่มนั้น เช่นเดียวกับที่ต้องอ่าน คำประกาศอิสรภาพ และ เฟดเดอรัลลิสต์เปเปอร์ เป็นพื้นฐานข้อบังคับ ฉันใดก็ฉันนั้น

การศึกษาของชนชั้นนำอเมริกันย่อมต้องมาในแนวนี้ด้วย ลูกหลานของพวกเขาที่ผลัดกันเติบใหญ่ขึ้นมารับไม้บริหารราชการแผ่นดินในแต่ละรุ่น ทั้งในสายบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติ ตลอดจนภาคเอกชนทั้งปวง ย่อมต้องถูกปลูกฝังกล่อมเกลาจิตสำนึกด้วยความเห็นของบรรดา Founding Fathers และ Tocqueville มาก่อนแล้วทุกคน แม้เขาจะเป็นคนฝรั่งเศสและไม่ใช่ Founding Fathers แต่สถานะของเขาก็เทียบชั้นกับพวกท่านเหล่านั้น

เนื้อหาของหนังสือสองเล่มนั้นมีมาก แต่ที่สะกิดใจผมและคิดว่าต้องนำมาเขียนก่อนในคอลัมน์ “กูรูการจัดการ” นี้ มีอยู่เพียงสองสามประเด็น ซึ่งเป็นความคิดหลักของหนังสือนั้น ที่น่า “คิดต่อ” หรือ “คิดแย้ง” และผมคิดว่ามันเป็นคำถามปลายเปิดที่ดีมาก ซึ่งควรจะสำเหนียกอยู่ในใจคนสมัยนี้ ที่รักและให้คุณค่ากับประชาธิปไตยทุกคน

Tocqueville มีความเชื่อว่าประวัติศาสตร์สังคมจำต้องดำเนินไปโดยมีเจตจำนงค์ คล้ายๆ Marx คือวิวัฒน์จากสังคมที่ปกครองด้วยชนชั้นขุนนางไม่กี่คน (Aristocrat) ไปสู่สังคมประชาธิปไตยโดยคนส่วนใหญ่ (Democracy) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพียงแต่ความหมายของประชาธิปไตยของ Tocqueville ไม่ตายตัวเหมือน Marx ที่มีลักษณะเป็นระบอบ (Regime) ตายตัว ทว่า Tocqueville มิได้คิดไปไกลขนาดนั้น เพียงแต่แสดงนัยะให้คิดไปได้ว่าประชาธิปไตยมันเป็น “กระบวนการ” หรือ “กลไก” (Process) แบบหนึ่ง ที่สามารถพัฒนาต่อไปได้เรื่อยๆ แบบปลายเปิด สุดแท้แต่เงื่อนไขของความคิดและยุคสมัย

นั่นจึงทำให้ความคิดของเขามีเสน่ห์และไม่ล้าสมัย

ประชาธิปไตยที่ Tocqueville สังเกตเห็นในอเมริกาเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นสิ่งที่เขายังเป็นห่วง โดยข้อสำคัญที่่สุดอยู่ที่พลังของสังคม ของเสียงส่วนใหญ่ ที่จะมีพลังมหาศาล และอาจเบียดบังเสรีภาพของผู้คนได้ ไม่ว่าผู้คนเหล่านั้นจะเป็นปัจเจกชน เป็นเสียงส่วนน้อย หรือเป็นเสียงส่วนใหญ่เองก็ได้

ประเด็นนี้ ยังเป็นประเด็นใหญ่ในสังคมไทยปัจจุบัน

Tocqueville มองว่าประชาธิปไตย ได้สร้างสังคมแบบใหม่ขึ้น เป็นสังคมที่ความเหลื่อมล้ำน้อยลงกว่าสมัยขุึนนาง แต่ก็ได้สร้าง Social Power แบบใหม่ที่มีอำนาจเหลือล้น เป็นอำนาจอธิปไตยของคนส่วนใหญ่ที่เป็นชนชั้นกลาง (Bourgeois Democracies) ซึ่งจะเติบโต พัฒนาขึ้นในประเทศอื่นด้วยในที่สุด และพลังอันนั้นแหละที่เขากลัวว่ามันอาจเป็นภัยกับเสรีภาพได้ในอนาคต

เขาเรียกมันว่า “เผด็จการของเสียงส่วนใหญ่” หรือ “Tyranny of the majority” ที่สุดท้ายอาจสร้างคนแบบนโปเลียน ขึ้นมาได้เหมือนกัน (หรือฮิตเลอร์ หรือสตาลิน หรือเหมาเจ๋อตง--อันนี้ผมพูดเองเพรา Tocqueville เกิดทันแค่นโปเลียน แต่ผมสังเกตนักเผด็จการรุ่นหลังที่อ้างเสียงส่วนใหญ่ขึ้นมาเป็นใหญ่ มักเอาอย่างนโปเลียน ในขณะที่นโปเลียนเอาอย่างจูเลียสซีซ่าร์อีกทอดหนึ่ง)

เขาค่อนข้างเห็นด้วยกับ Aristotle ที่ให้ความเห็นในประเด็นนี้มาก่อน เพราะ Democracy สำหรับอริสโตเติลคือเผด็จการของชนชั้นหนึ่งที่มีต่อชนชั้นอื่น และถึงแม้เขาจะทราบว่า James Madison (แกนนำคนสำคัญของกลุ่ม Founding Fathers) เคยให้ความเห็นแก้ต่างเรื่องนี้ไว้แล้วในเอกสารหมายเลข 10 (Federalist No.10) ว่าต้องแก้โดยการ “ขยายขอบข่ายของรัฐบาลให้กว้างขวางออกไปอีก” (“to enlarge the orbit of government”--อ่านประกอบใน เดอะเฟดเดอรัลริสต์เปเปอร์ สมบัติ จันทรวงศ์ และคณะ แปล สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.๒๕๓๐) เพื่อเจือจางส่วนใหญ่ลงให้กลายเป็นส่วนน้อย และสร้างฝักฝ่ายเพิ่มขึ้น เพื่อให้ผลประโยชน์ของแต่ละฝ่ายเกิด Check and Balance กันเอง

ทว่า เขาก็ยังไม่มั่นใจ 100% เพราะเขาสังเกตคำขึ้นต้นในบทนำของรัฐธรรมนูญอเมริกันที่ร่างโดยบรรดา Founding Fathers มันดันขึ้นต้นว่า “We the People” ซึ่งแสดงนัยะของเสียงส่วนใหญ่ที่เขาใช้คำเสียดสีว่า “Empire of Majority” หรือ “จักรวรรดิแห่งเสียงส่วนใหญ่” นั่นเอง

ผมเชื่อว่าคนไทยจำนวนมาก ที่อยู่ตรงกลางระหว่างความขัดแย้งของสีเสื้อต่างๆ ในรอบหลายปีมานี้ จะรู้สึกว่าตัวเองถูก “เผด็จการของเสียงส่วนใหญ่” เล่นงานเอาอย่างจัง เพราะความเห็นของพวกเขาไม่ได้รับการรับฟังเอาเลย ในแทบทุกพื้นที่ที่สามารถแสดงออกได้

หรือแม้แต่ในยุคทักษิณเอง เราก็ได้ยินวลีนี้ออกบ่อย

ปัญหานี้เป็นปัญหาในเชิงการจัดการ เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง ที่องค์กรซึ่งคิดว่าตัวเองจัดระบบการบริหารเป็นแบบประชาธิปไตยแล้ว ย่อมต้องเผชิญเข้าสักวันหนึ่ง



On Social Networks



ในหนังสือเล่มแรกนั้น Tocqueville ยังเสนอความคิดหลักอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญสืบมาจนกระทั่งบัดนี้



เขาตั้งคำถามว่าทำไมประชาธิปไตยในอเมริกาที่เริ่มใช้มาแต่สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีจนพัฒนามาได้ถึงยุครัชกาลที่ ๓ ในขณะนั้น ต่างกับประชาธิปไตยแบบฝรั่งเศสหลังการปฏิวัติใหญ่ในยุครัชกาลที่ ๑ เพราะไม่ได้ก่อความรุนแรง อีกทั้งยังมีลักษณะยืดหยุ่น และเปิดรับกับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา



อะไรคือปัจจัยเชิงสังคมหรือจิตวิทยาเบื้องหลังที่ช่วยขัดเกลาให้ประชาธิปไตยในแบบอเมริกันสไตล์อ่อนข้อลงมาจนมีลักษณะเป็น Liberal Democracy ได้



เขาสังเกตเห็นอยู่ ๓ ข้อ คือความสำคัญของรัฐบาลท้องถิ่น องค์กรระดับท้องถิ่น หรือความเป็นท้องถิ่น (Township) และองค์กรประชาชนหรือราษฎรเข้มแข็ง (Civic Association) และความเชื่อทางศาสนาแบบเพียวริตัน (Puritanism) ที่คอยกำกับความคิดทางการเมืองและโลกทัศน์ของราษฎรอเมริกันอยู่ในใจอย่างควบคู่กัน



ผมติดใจกับข้อสังเกตที่สองนั้นมาก เพราะมันคือ “เครือข่ายสังคม” (Social Network) หากพูดเป็นภาษาสมัยใหม่ ที่กำลังฮ็อตฮิตอยู่ในขณะนี้



Tocqueville สังเกตเห็นสิ่งนี้ฝังรากลึกอยู่ในสังคมอเมริกันนานมาแล้ว และเขาก็ให้ค่าว่ามันเป็นเสาค้ำยันประชาธิปไตยที่สำคัญด้วย


เขาเขียนไว้ว่า “In democratic countries, the science of association is the mother science.” เพราะเขามองว่า Civic Association จะช่วยให้ราษฎรได้เรียนรู้ที่จะสร้างสรรค์ สังสรรค์ ร่วมมือร่วมใจ และรู้จักรับผิดชอบ รู้จักปกป้องผลประโยชน์ของส่วนรวม ซึ่งสุดท้ายก็คือผลประโยชน์ของตัวเองด้วย



“Sentiments and ideas renew themselves, the heart is enlarged and the human mind is developed.” เขารังสรรค์ถ้อยคำให้สะท้อนความหมายนั้น



เห็นไหมครับว่าเขาให้ความสำคัญกับ Social Network มากเพียงใด เขาว่ามันจะช่วยทัดทานอำนาจของส่วนกลาง ทัดทานแนวโน้มเผด็จการ และเป็นอู่ข้าวอู่น้ำให้กับจิตวิญญาณประชาธิปไตย



พอรู้แบบนี้แล้วก็ไม่แปลกที่ฝรั่งสมัยนี้จะเชื่อกันว่าเครือข่ายสังคมประเภท Facebook, Twitter, MySpace, Ning, Google และ ฯลฯ จะมีความหมายต่อมนุษยชาติและประชาธิปไตยมากไปกว่าพื้นที่สำหรับเจ๊าะแจ๊ะและสำหรับโฆษณาบนอินเทอร์เน็ต เพราะเขาเหล่านั้นต่างก็เป็นทายาททางความคิดของ Tocqueville



เครือข่ายสังคมเหล่านี้มันฟิตเปรี้ยะกับจริตของสังคมประชาธิปไตยพอดีๆ มันจึงสามารถอวดอ้างความวิเศษวิโสในดีกรีที่มากไปกว่าที่เห็นและสัมผัสได้ด้วยประสาททั้งห้า


ทว่า พวกเราในสังคมไทยที่ใช้มันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน วันละหลายๆ ครั้ง ครั้งละหลายๆ ชั่วโมง ย่อมรู้อยู่แก่ใจว่ามันเป็นดาบสองคม



เพราะแม้ว่ามันจะเป็นประโยชน์มากในช่วงวิกฤติที่ผ่านมา แต่มันก็มีลักษณะ “Tyranny of majority” อันไม่พึงปรารถนาแฝงลำอยู่ด้วยไม่มากก็น้อย มันมีลักษณะ “พวกใครพวกมัน” “สาวกใครสาวกมัน” “พวกฉันเธอไม่เกี่ยว” และ “พวกมากลากไป” “เอาไหนเอาด้วย” “กินอะไรกินด้วย” “ซื้ออะไรซื้อด้วย” “เกลียดใครเกลียดด้วย” “ถ้าเธอว่าไอ้นั่นโกง ฉันก็ว่ามันโกง” “ถ้าเธอว่ามันไม่รักพระเจ้าอยู่หัว ฉันก็ว่างั้นแหละ” ฯลฯ อย่างเห็นได้ชัด



สิ่งเหล่านี้จะไม่ก่ออันตรายอันใด หากผู้คนในเครือข่ายย่อยต่างๆ ใช้สติและวิจารณญาณ แต่ส่วนใหญ่ก็อดที่จะเชื่อเพื่อนฝูงญาติพี่น้องไม่ได้...มันเป็นลักษณะของคนไทย ประชาธิปไตยแบบไทยสไตล์



ผมอยากจะตั้งคำถามต่อไปอีกสักนิดว่า “แล้วเราจะแน่ใจได้ยังไงว่า “เสรีภาพ” จะไม่ถูกคุกคาม ไม่ถูกเบียดบัง ไม่ถูกกีดกัน”



มันเป็นคำถามเดียวกับที่ Tocqueville เองก็เคยถามมาแล้ว



หากเสรีภาพเป็นอุดมการณ์ที่มีค่าสำหรับมนุษย์ มีค่าเพียงพอให้มนุษย์ยังคงดำรงชีวิตอยู่ต่อไปอย่างมีความหวังแล้ว เราจะมีวิธีป้องกันไม่ให้ “Tyranny of majority” กลายเป็นภัยคุกคามได้อย่างไร ทั้งในเชิงการจัดการและในเชิงโครงสร้าง



แม้ Tocqueville เอง จะไม่มีคำตอบให้ แต่ผมว่าถ้าเราจริงจังกับมัน ก็ต้องคิดออกสักวัน




ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
๗ กันยายน ๒๕๕๓

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น