วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ว่าด้วยยูโร ทุนสำรอง และกลยุทธ์แบงก์ชาติ





ดร.ประสาร ไตรรัตนวรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นข้าราชการระดับสูงที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในเชิงเศรษฐกิจการเงินมากที่สุดคนหนึ่งในระบบราชการไทย เขารู้กว้าง รู้ลึก รู้ละเอียด และประสบการณ์ในอดีตก็ช่วยให้เกิดความช่ำชอง เขาสามารถให้อรรถาธิบายในประเด็นเศรษฐกิจโลกที่ซับซ้อนจนฟังดูง่าย ที่สำคัญ เขายังเป็นเทคโนแครตผู้ใหญ่ที่มีความสม่ำเสมอ คงเส้นคงวา และเปิดกว้าง พร้อมรับฟังคนรุ่นใหม่ที่อ่อนวัยวุฒิและคุณวุฒิกว่าตน เพราะนับแต่เรารู้จักและสังเกตเขาตั้งแต่ยังเป็นผู้อำนวยการฝ่ายเรื่อยมา จนได้มานั่งบัญชาการยังจุดสูงสุดในวันนี้ เขาไม่เคยเปลี่ยน เคยพูดเคยวางตัวยังไง ก็ยังปฏิบัติเช่นเดิม ซึ่ง MBA คิดว่าเหลือคนแบบนี้อยู่น้อยเต็มทีแล้วในระบบราชการไทย ดร.ประสาร เป็นความหวังหนึ่งของสังคมไทยได้ในอนาคต

เราหวังว่าบทสนทนาต่อไปนี้ จะช่วยเสริมวิสัยทัศน์ให้กับท่านผู้อ่านที่จำเป็นต้องคาดการณ์อนาคตอยู่เสมอ หรือต้องรับภาระชี้นำองค์กรหรือชี้นำกลยุทธ์องค์กรของท่าน หรือแม้แต่ท่านที่ต้องบริหารทรัพย์สินขององค์กรหรือของครอบครัวและของส่วนตัว ซึ่งนับวันระบบทุนนิยมโลกที่เราเป็นส่วนหนึ่งอยู่นี้ จะซับซ้อนและโหดหินขึ้นเรื่อยๆ และความถี่ของวิกฤติการณ์ใหญ่ๆ นับวันจะถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้นจนน่าขนลุก


MBA: ปัญหาสำคัญในโลกตอนนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการเงิน ในฐานะผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย มีการจัดลำดับความสำคัญของปัญหาต่างๆ อย่างไร

ดร.ประสารเวลานี้ของประเทศไทยเราเผชิญหนัก เรื่องคือเรื่องน้ำท่วม ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัว ก็คงกระแทกเราแรงพอสมควรแต่ว่าก็ไม่ได้ทำลายฐานการผลิตของเรา ในระยะยาวก็ฟื้นตัวได้ เราคุยกันวันนี้ก็ผ่านจุดที่เลวร้ายที่สุดของสถานการณ์ไปแล้ว ก็เป็นเรื่องการเอาน้ำออกจากพื้นที่ที่ยังท่วมอยู่ และซ่อมแซมฟื้นฟู เรื่องน้ำท่วมถ้าเอาเฉพาะรอบนี้ก่อนก็เป็นเรื่องปัญหาระยะสั้น ความจริงเดือนธันวาคมนี้ก็คงเริ่มซ่อมบ้าน ไตรมาสหนึ่งก็คงซ่อมแซมกัน เรื่องการซื้อการจับจ่าย ซ่อมบ้านซ่อมรถ อุปโภคบริโภค คงมา ส่วนการผลิตอุตสาหกรรมตั้งแต่ไตรมาสหนึ่งก็คงเริ่ม ไตรมาสสองก็คงฟื้นได้เยอะ น่าจะเข้าสู่ภาวะปกติได้ในไตรมาสสองไตรมาสสาม

ส่วนที่หนักอีกเรื่องคือ ภาวะเศรษฐกิจโลก ก็คงจะชะลอตัวค่อนข้างมาก มีโอกาสค่อนข้างสูงที่ทางยุโรปจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ส่วนของอเมริกา แม้ช่วงนี้อาจจะมีดัชนีบางตัวที่ดูเหมือนว่าดีขึ้นบ้าง โอกาสที่เข้าสู่ภาวะถดถอยดูจะลดน้อยลง แต่ปัญหายังต้องใช้เวลาในการแก้ไขอีกนาน ที่เราเรียกว่า “ค่อนข้างซึมยาว” เศรษฐกิจโลกก็คงจะชะลดตัวค่อนข้างมาก

คนก็หวังว่าจีน อินเดีย อาเซียน และอื่นๆ จะพอเข้ามาค้ำจุนบ้างแต่ว่าก็คงน้อยเพราะแค่หนึ่งในสามของโลก ดังนั้นในปีถัดไปเราต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่ค่อยดี

MBA: เศรษฐกิจโลกที่ไม่ค่อยดี มีโอกาสซ่อนอยู่ในนั้นสำหรับเราบ้างไหม

ดร.ประสารเวลานี้เงินทุนเราก็เห็นตั้งแต่ปีที่แล้วที่พวกเงินทุนในโลกนี้เขาก็รู้สึกว่าไปลงทุนในเศรษฐกิจที่เติบโตต่ำเช่นอเมริกา ยุโรป ผลตอบแทนไม่ค่อยดี บางทีเขาก็เคลื่อนย้าย เราก็ได้เงินทุนเข้ามาอยู่พอสมควร อยู่ที่ว่าเราสามารถใช้เงินตรงนี้ให้เป็นประโยชน์ได้หรือไม่

ถ้าเรามองย้อนกลับสัก 20 ปี เราจะรู้สึกว่าเรื่องเงินทุนเป็นปัจจัยที่หายากสำหรับประเทศทางบ้านเรา คราวนี้โจทย์กลับทิศกัน กลายเป็นเงินทุนมี แต่ใช้เป็นไหม หาโอกาสในการใช้ได้หรือไม่ ยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม ปีที่แล้วเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามาเยอะ ปีที่แล้วทั้งปีมากกว่า 30,000 ล้านเหรียญฯ ใน 30,000 ล้านเหรียญฯ เป็นเรื่องการค้าขายสัก 15,000 อีก 15,000 คือเขาเอาเงินมาลงทุนเพื่อหาผลตอบแทน

ตรงนี้เราก็มีนโยบายที่ผ่อนคลายธุรกิจไทย คนไทย สามารถไปลงทุนต่างประเทศได้มากขึ้น หรือทุนพวกนี้ก็อาจจะลงทุนในไทยหรือใช้ในรูปแบบต่างๆ เช่นอิมพอร์ต ซื้อกิจการ ต่างๆ เหล่านี้ ปรากฎว่าเราทำได้น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างเช่นมาเลเซีย เขาก็มีเงินทุนไหลเข้าประเทศเยอะ แต่เขาก็สามารถนำไปขยายกิจการเขาในต่างประเทศ หรือมีการลงทุนในประเทศ นี่เป็นตัวอย่างเชิงเปรียบเทียบว่าเรายังไม่ได้ใช้โอกาสให้เต็มที่

ความจริงถ้าพูดในเชิงอัตราแลกเปลี่ยน ปีที่แล้วเงินบาทเราก็แข็งขึ้นจาก 33 บาทมาเป็น 30 บาท การไปซื้ออะไรที่เป็นสินทรัพย์ต่างประเทศก็ย่อมได้เปรียบ แต่เราก็ใช้ได้น้อย
นี่ก็พูดเป็นตัวอย่างว่าเรามีโอกาส อยู่ที่ความสามารถของเรา เพราะการไปลงทุนต่างประเทศ นอกจากเรื่องเงินทุนแล้ว ยังมีเรื่องความรู้ ประสบการณ์ ก็จะเห็นว่าเราตามเขาอยู่



MBA: แนวโน้มเงินทุนไหลเข้าจะยังมีอยู่ใช่ไหม

ดร.ประสารยังมีอยู่ ปีหน้าก็ยังคิดว่าไหลเข้า ของเราปีนี้สุทธิก็ยังไหลเข้านะ เพียงแต่ว่าช่วงหลังที่ยุโรปเกิดปัญหารุนแรง ก็ไปกระทบพวกสถาบันการเงินด้วย ความน่าเชื่อถือต่างๆ ลดน้อยลง ตลาดเครดิตก็จะตึง คือคนจะเก็บเงินทุนของตัวเองในสกุลเงินที่ปลอดภัย ทุกคนก็วิ่งเข้าหาดอลลาร์ ระยะหลังเราก็จะเห็นดอลลาร์แข็งขึ้น คนก็จะไม่ค่อยกล้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เวลาต่างประเทศเขามองเข้ามาลงหุ้นในบ้านเรา ลงพันธบัตรบ้านเรา จากสายตาเขา เขาก็ยังคิดว่าเขายังไม่ค่อยคุ้น พอเกิดอะไรตกอกตกใจเขาก็จะขายเพื่อย้ายเข้าไปอยู่ในเขตปลอดภัยไว้ก่อน เราก็จะเห็นเงินบาทอ่อนบ้าง ไปแตะ 31 บาท แต่จะเห็นว่าพอเหตุการณ์ซา ก็จะกลับมา

MBA: ยังพูดได้ว่าปีหน้าเงินบาทเรายังจะอยู่ในโซนที่ “แข็งค่า” อยู่

ดร.ประสารผมว่าโดยสุทธิแล้ว คือเงินดอลลาร์จะอยู่ในโซนที่แข็งเกินจริง เพราะโดยพื้นฐานเศรษฐกิจก็ยังประสบปัญหาค่อนข้างมาก

MBA: จะพูดได้หรือไม่ว่าการที่เงินบาทเราแข็งค่า ไม่ได้เกิดจากพื้นฐานเศรษฐกิจของเราซึ่งไม่ได้เข้มแข็งขนาดนั้น แต่เป็นเพราะ Capital Flow ที่เข้ามามากผิดปกติ

ดร.ประสารต้องถามต่อว่า Capital Flow ที่เข้ามาเพราะปั่นหรือไม่ ไม่ใช่ เขาเข้ามาลงทุน เพราะศักยภาพการเติบโตของเราสูงกว่า อย่างปีนี้บังเอิญเพราะน้ำท่วมกับสึนามิที่ญี่ปุ่น ก็ทำให้อัตราการเติบโตเราอาจจะเหลือ 1.8 แต่ปีหน้าพอเข้าสู่ภาวะปกติ ก็คาดว่าเศรษฐกิจจะโต 4.8 ถ้าเปรียบเทียบกับยุโรปก็คงต่ำกว่า ของสหรัฐอเมริกาก็คง 1กว่าๆ คือเศรษฐกิจที่เติบโตมากกว่า มีโอกาสที่จะหากำไร หาผลตอบแทนได้ดีกว่า เพราะฉะนั้นการที่บาทแข็งเปรียบเทียบกับดอลลาร์เป็นเพราะพื้นฐานมากกว่า
และความจริงก็ไม่ได้แปลกอะไร ปีที่แล้วผมก็อธิบายในบางโอกาส ที่เงินบาทกลับมา 30 บาท ผมก็ย้อนถามว่าปี 97 หรือปี 40 ของเราตอนนั้นเราอยู่ที่แถวๆ 27 บาท แล้วเกิดวิกฤติบาทเราอ่อนไปเรื่อยๆ จนเป็น 40-50 บาทต่อดอลลาร์ ตลอด 14 ปีที่ผ่านมา เรามีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมาเกือบตลอด ขณะที่สหรัฐอเมริกาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างสม่ำเสมอ การที่บาทกลับมาแถว 30 บาท ก็ยังไม่เสมอตัวนะ ตอน 1997 อยู่ที่ 27 บาทด้วยซ้ำ การที่บาทแข็งเมื่อเทียบกับดอลลาร์จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ

MBA: หากคิดตามตรรกะนี้ ก็แสดงว่ายังมีโอกาสที่บาทจะแข็งค่าขึ้นไปอีก

ดร.ประสารก็เป็นไปได้ แต่เราก็พยายามดูแลว่า ของพวกนี้ต้องให้เวลาภาคเศรษฐกิจจริงเขามีเวลาปรับตัวด้วย คือเวลานี้เราก็พยายามออกมาเตือนภาคผลิตจริง โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกไปแข่งขันกับเขา ต้องคิดเสมอว่า บรรยากาศประเภท “บาทอ่อน ค่าแรงถูก ต้นทุนวัตถุดิบต่ำ” ไม่มีอีกต่อไปแล้ว แปลว่าเขาต้องปรับตัวไปสู่ Value Chain ที่สูงขึ้น ที่มี Value Added มูลค่าเพิ่มเพิ่มขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งถ้าพูดในเชิงประเทศก็คือเราต้องหนีออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

เวลานี้เราอยู่ในประเทศ Middle Income กลุ่มประเทศที่เราเรียกว่ารายได้ปานกลาง ตรงนี้ถ้าไม่พัฒนาให้ดีก็จะเป็นกับดัก หนีไม่พ้น คือทางข้างล่างก็ติดเพราะมีประเทศเกิดใหม่ที่เขามีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่า เช่นเพื่อนบ้านเรา กัมพูชา เวียดนาม หรือต่อไปพม่า เหล่านี้เขามีความได้เปรียบที่ค่าแรงงานถูกกว่า ทรัพยากรบางเรื่องอาจจะดีกว่าเราด้วยซ้ำ ข้างบนก็เป็นประเทศที่ผลิตภาพ (Productivity) สูงกว่าเรา เช่นเกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน คือถ้าเราไม่สามารถกระเถิบตัวเราเองขึ้นไป เราก็จะติดในกับดักนี้

ที่นี้เรื่องนี้โยงกับอัตราแลกเปลี่ยนอย่างไร ก็คือถ้าพื้นฐานเราไปอย่างนี้หนีไม่พ้นที่บาทมีโอกาสจะแข็งเมื่อเปรียบเทียบกับยูโร กับดอลลาร์ ถ้าเราไม่พัฒนาศักยภาพของเรา ทางเทคโนโลยี ทางแรงงาน เราก็จะยังติดอยู่ตรงกลางตรงนี้ ขึ้นบนก็ติด ข้างล่างก็ติด


MBA: คือบาทแข็งก็ยังต้องขายของได้

ดร.ประสารใช่ ต้องคิดอย่างนั้น เหมือนที่เราเห็นในเกาหลีใต้ ถ้ามอง 30 ปีที่แล้วเกาหลีใต้เป็นประเทศที่ยากจนกว่าหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย ถ้าเราเอา 20 ปีที่แล้วมาศึกษา เขาจะมีการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีสูง และเขามองเรื่องนี้เป็นปัจจัยสำคัญในเชิงการยกฐานะความสามารถการแข่งขันขึ้นไป ในเชิงรุก ขณะที่ประเทศเราเวลาพูดถึงเทคโนโลยีจะออกในเชิงรับ เช่น จะทำให้สินค้าเราถูกลงอย่างไร จะรับกับการแข่งขันอย่างไร แต่ไม่ได้คิดในเชิงรุกจะเป็นผู้นำอย่างไร เช่นเกาหลีเขาคิดว่าทำอย่างไรจะไปเก่งกว่าญี่ปุ่น แล้วเขาก็ทำสำเร็จในหลายเรื่อง ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนก็จะโยงกันอยู่ว่า มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ถ้าบาทแข็งเร็วไป ภาคเศรษฐกิจจริงก็ต้องทำให้ได้ ถ้าทำไม่ได้ก็จะถดถอย

MBA: เป็นไปได้ไหมว่าสหรัฐอเมริกาจะกลับมาดำเนินนโยบาย Strong Dollar แล้วทำให้ทุกอย่างกลับตาลปัตร

ดร.ประสารถ้าเขาไป Strong Dollar ก็เป็นการฆ่าตัวตายของเขา อเมริกาเวลานี้ถ้าจะหลุดพ้นจากสถานะเบื้องต้นของเขา เสถียรภาพด้านต่างประเทศไม่ค่อยดี ต้องไปเป็น Weak Dollar มากกว่า เพราะ Strong Dollar จะซ้ำเติมทั้งสองด้าน คือด้านต่างประเทศและในประเทศ ด้านต่างประเทศก็จะยิ่งขาดดุลการค้า ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดรุนแรงขึ้น ก็จะเป็นหนี้เป็นสินต่างประเทศเยอะ และ Strong Dollar จะไปช่วยกระตุ้นการบริโภคเขาด้วย ทำให้เขาสามารถบริโภคได้เกิน เพราะเงินเขาซื้อได้เยอะ ดังนั้น Strong Dollar ก็เป็นการฆ่าตัวตายเปล่าๆ (Suicidal Policy)

ตัวหนึ่งที่จะช่วยได้บ้างแต่ไม่ใช่ทั้งหมดคือ Weak Dollar แต่ไม่ใช่ว่าจะช่วยได้ทั้งหมด เพราะสกุลเงินที่อ่อน ต้องคู่ไปกับการปรับตัวในเรื่องของการออม ผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรม

MBA: หมายความว่านโยบายการเพิ่ม Money Supply ของเขายังต้องมีไปอีกระยะหนึ่ง

ดร.ประสารคือเรื่องนโยบายการเงินไม่ตรงเหมือนนโยบายการคลัง ต้องผ่านหลายต่อ นโยบายการเงินอย่างเช่นไปเพิ่ม Money Supply มีสมมติฐานว่าภาคธุรกิจจะนำเงินนั้นไปลงทุน แต่ไม่เสมอไป นโยบายการเงินข้อจำกัดเป็นอย่างนี้ คือการที่ธุรกิจจะตัดสินใจลงทุนหรือไม่ลงทุน ไม่ใช่เพียงแค่มีเงิน ยังขึ้นกับเขารู้สึกว่าลูกค้าของเขาหรือผู้บริโภคต้องการซื้อสินค้าหรือไม่ เขามีความเชื่อมั่นต่ออนาคตของเศรษฐกิจหรือไม่

กรณีอเมริกาก็ชัดเจน ปีที่แล้วที่ FED อัดเงินเข้าไปปรากฏว่าไม่ได้ไปช่วยเรื่อง Employment เลย เงินก็ไปค้างอยู่ในภาคธุรกิจ และกระจายออกมาข้างนอก มากกว่าจะไปเกิดการจ้างงาน ไม่ได้ผลอย่างเต็มที่อย่างที่เขาคิด ต่างจาก QE-1 ตอนนั้นตลาดการเงินชะงักงัน การเอาเงินเข้าไปช่วยลดการชะงักงันก็ได้ผล

บางคนก็เปรียบเปรยว่านโยบายการเงินเหมือนเครื่องบิน ถ้าร้อนแรงก็เหมือนขาขึ้นไปแตะเบรกจะมีผล แต่พอเครื่องบินจะร่อนลงไปปั้มเงินให้คล่องเยอะอย่างไรเครื่องบินก็จะลงอยู่ดี ต่างจากนโยบายการคลังที่ไดเร็กกว่าตรงที่ใช้เงินไปถึงมือแน่ ถ้าร้อนแรงก็เก็บภาษีหรืออะไรต่างๆ ได้ ส่งผลตรงมากกว่านโยบายการเงิน

MBA: ตอนนี้มีนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มหนึ่งที่มองโลกค่อนข้างแง่ร้าย แล้วเสนอความเห็นว่า ถ้าสหรัฐอเมริกายังคงพิมพ์เงินในอัตรานี้ วันหนึ่งจะเกิดวิกฤติแบบสมัยไวมาร์ 1923  Hyperinflation อาจารย์มีความเห็นอย่างไร

ดร.ประสารเขาก็ถกกันมาก ถาม FED อยู่เสมอว่าปั้มเงินไม่กลัว Inflation หรือ ทางโน้นเขาก็บอกเขาก็ดูอยู่ เขามักจะมี Comment เสมอว่า เขาทำเพราะเขายังไม่เห็นสัญญาณ Inflation และเขาก็พร้อมหากมีสัญญาณเขาจะลดลง อาจจะต่างกันตรงที่สมัยโน้น มีปัจจัยอื่นๆ มีเรื่องสงคราม มีการทำลายฐานการผลิตระยะยาว เที่ยวนี้ไม่ถึงขนาดนั้น

MBA: Trigger Points ที่จะทำให้เกิด Hyperinflation งวดนี้คิดว่าจะเป็นอะไร สมมติอยู่ๆ คนเกิดหมดความเชื่อมั่นในเงินดอลลาร์ขึ้นมาเฉยๆ

ดร.ประสารการใช้จ่าย สภาพความเป็นอยู่จะลดลง มาตรฐานการครองชีพจะลดลง เพียงแต่กรณีนี้ที่เราเห็นในช่วงยามนี้ ไม่ใช่เป็นเหมือนกัน (Uniform) ทั้งโลก กลายเป็น Multi-speed คือด้านหนึ่งเราเห็นยุโรปมีปัญหา ขณะที่ภูมิภาคเอเชียกลับตรงกันข้าม จีน อินเดีย อาเซียน ออสเตรเลีย ตรงกันข้าม เป็นเรื่องที่เขาใช้คำว่า Imbalance โลกที่ดุลยภาพกำลังเปลี่ยน ไม่ใช่ว่าทั้งโลกเป็นเหมือนกัน สมัยก่อน 1931 ตอนนั้นค่อนข้างจะทั้งโลก ตอนนี้ก็เป็นการปรับดุลยภาพ ลักษณะที่กำลังปรับไปคือ มาตรฐานการครองชีพ ทางภาคเอเชียน่าจะกระเถิบขึ้น เปรียบเทียบกับทางตะวันตก เวลานี้ Per Capita Income หรือรายได้ต่อหัวของภูมิภาคเอเชียโดยเฉลี่ยกับทางยุโรปอเมริกาต่างกัน เท่า เพราะฉะนั้นจะบอกว่าโลกกำลังจะเคลื่อนอย่างไร ก็น่าจะเคลื่อนตรงที่เราจะเห็นมาตรฐานการครองชีพ หรือพูดแบบรวมๆ รายได้ต่อหัวของประชากรเอเชียกระเถิบขึ้น ลดช่องว่าง เท่า ส่วนทางเขาก็คงต้องใช้ชีวิตในเชิงเปรียบเทียบลดลง
ถามว่าเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจไหม ก็ไม่น่าแปลกอะไร ถ้าเราถอยหลังไปในอดีตสัก 300 ปีก็จะเห็นว่า ภูมิภาคเอเชีย มาตรฐานหรือความมั่งมีดีกว่าทางยุโรป ไม่ต้องพูดถึงอเมริกาเพราะยังไม่เกิด สมัยก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ก็ไม่แปลกที่ภูมิภาคเอเชียจะขึ้นมาบ้างเพราะช่องว่างยังห่างมากตั้ง เท่า

MBA: จากมุมมองแบบนี้ มันจะมี Policy Implications อะไรต่อธนาคารชาติในอนาคต

ดร.ประสารบางตัวอย่างเราก็ได้พูดไปแล้วว่าโจทย์ความท้าทายก็จะกลับกับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ที่เราขาดเงินทุน และต้องกู้ยืม มาบัดนี้เอเชียเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งสินค้าไปให้เขาบริโภค และมีเงินทุนเข้ามา เราก็ต้องบริหารอีกแบบ ใช้โอกาส เช่นสมัยก่อนเราจะบังคับคนของเรามาก ไม่ยอมให้เอาเงินออกนอกประเทศ ควบคุมปริวรรตสูงมาก ใครจะเอาเงินออกต้องกรอกฟอร์มเยอะแยะ ภาคธุรกิจเราก็ความรู้น้อยเกี่ยวกับนอกประเทศ

มาบัดนี้เราก็ต้องเปลี่ยน ต้องเป็น Global Thinking เราก็พยายามยุนักธุรกิจเราให้ออกไป มีความรู้นอกประเทศ ซึ่งบางธุรกิจเขามีศักยภาพเขาก็ไปแล้ว พวกกลุ่มใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นปูนซิเมนต์ไทย ซีพี ปตทบ้านปู พฤกษา พวกนี้เขาก็ออกไปสู่ยุทธจักรของเขา เราก็อยากเห็นเอสเอ็มอีของเรา หรือนักลงทุนของเรา ที่มีความรู้ออกไปลงทุนข้างนอก พูดถึงตลาดหุ้นประเทศอื่นก็มี ทำไม่ค่อยเป็น เราไม่ค่อยมี Global Investor

MBA: ตามกฎหมาย พวกเราสามารถไปลงทุนซื้อหุ้นในต่างประเทศได้ไหม อย่างพวกผมจะไปซื้อหุ้น eBay, Amazon.com, Apple หรือปีหน้าถ้า Facebook กระจายหุ้นจะขอไปจองซื้อบ้างจะทำได้อิสระใช่ไหม

ดร.ประสารทำได้ เราให้โควต้าไปลงทุนต่างประเทศกับ กลตไปตั้ง 50,000 ล้าน รู้สึกว่าทางกลตเขายังให้ผ่านพวก บลจบลต่างๆ เราให้โควต้าไป 50,000 ใช้ไปประมาณหมื่นกว่าเอง

ทีนี้ตรงนี้สำคัญอย่างไร มีคนยังเข้าใจผิดเยอะ นักเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศที่มีชื่อเสียง บอกว่าสิบกว่าปีที่ผ่านมาเนื่องจากเราเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาโดยสม่ำเสมอ ความมั่งมีของคนไทยสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ซึ่งถ้าดูตัวเลขจริงๆ แล้วไม่ใช่ ความมั่งคั่งเราไม่ได้เพิ่มขึ้น สาเหตุเป็นเพราะอะไร
สาเหตุเป็นเพราะว่าดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นผลจากการค้าขาย แต่ดุลบัญชีชำระเงินนอกจากดูเรื่องค้าขาย ต้องดูดุลเงินทุน ถ้าเราดูดุลเงินทุนจะเป็นชาวต่างประเทศมาลงทุนในไทยมากกว่าคนไทยหรือธุรกิจไทยไปลงทุนนอกประเทศไทย แต่ต่างประเทศมาลงทุนในประเทศไทยมากกว่า การลงทุนในประเทศไทยมาได้หลายแบบเช่น มาตั้งโรงงาน หรือลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ที่นี้ช่วง 10 ปีนี้การลงทุนในประเทศไทยให้ดอกผล หรือผลตอบแทนโดยรวมดี ไม่ว่าจะเป็นการผลิตรถยนต์ หรือลงทุนในหุ้นต่างๆ เช่นปีที่แล้วราคาหลักทรัยพ์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยสูงขึ้นปลายปีเทียบกับต้นปี 40เกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ แปลว่ามูลค่าหรือความมั่งคั่งของชาวต่างประเทศที่มาลงทุนในประเทศไทยมีสูงขึ้น มากกว่าที่คนไทยไปลงทุนนอกประเทศ

มีสถิติตัวหนึ่งที่ใช้ในวงวิชาการทางด้านนี้เรียกว่า International Investment Position (IIP) เป็นตัววัดว่าคนไทยมีเคลมบนสินทรัพย์ต่างประเทศหักด้วยคนต่างประเทศมีเคลมในสินทรัพย์ไทย ปรากฏว่าติดลบ ก็แปลว่า แม้ในขณะที่เราได้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล แต่ว่าความมั่งคั่งในเรื่องการลงทุน ชาวต่างประเทศมาสร้างความมั่งคั่งในการลงทุนในประเทศไทยมากกว่าคนไทยได้รับความมั่งคั่งจากการลงทุนในต่างประเทศ ก็ไม่ได้หมายความว่าความมั่งคั่งเราสูงขึ้น

ส่วนเรื่องการออกไปลงทุนซื้อหุ้นโดยคนธรรมดา มันก็มีช่องทางนะ เราก็กำลังคิดเปิดเสรีมากขึ้น โจทย์อย่างนี้จากมุมทางแบงก์ชาติจะยาก แต่มุมทางกลตเข้าใจว่าเขามีกลไกให้ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ เขาจะห่วงในเชิงให้ความคุ้มครองผู้ลงทุน ว่าไม่ให้ถูกหลอก ตรงนี้ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ต้องปรับความคิดของเราว่า อาจจะกลายเป็นข้อจำกัดของเราไปในตัว ทำให้คนไทยเราเก่งน้อยลงในการออกไปโลดแล่นในต่างประเทศ

MBA: เราเป็นธนาคารชาติของประเทศในประเทศที่กำลังร่ำรวยขึ้นมา เราจะสนับสนุนคนของเราให้ไปลงทุนในต่างประเทศ เป็นไปได้ไหมที่เราจะใช้นโยบายดอกเบี้ยหรือนโยบายการเงินสนับสนุนเหมือนตอนสมัยที่ญี่ปุ่นสร้างประเทศหลังสงครามโลก คือใช้ Industrial Policy ให้ Subsidize อัตราดอกเบี้ย หรืออัตราแลกเปลี่ยน

ดร.ประสารคือโลกเปลี่ยนไปพอสมควร เดี๋ยวนี้เขาถือเป็นปัจจัยที่ฟ้องร้องกันอยู่ อเมริกากับยุโรปก็ฟ้องร้องกันเกี่ยวกับเรื่อง Government Subsidy

MBA: หมายความว่าเราจะใช้จุดนี้มาช่วยเสริมความสามารถในการแข่งขันไม่ได้แล้ว คือใช้อัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนมาเป็นปัจจัยในเชิงกลยุทธ์ไม่ได้แล้วยังงั้นหรือ

ดร.ประสารได้บ้าง แต่ไม่ควรเป็นเรื่องใช้ถาวร เพราะว่าการใช้เครื่องมือพวกนั้นเปรียบเสมือนการสู้กันที่ราคา ถ้าจะให้ยั่งยืน สู้กันที่ Value Added ดีกว่า สู้กันที่คุณค่าของสินค้า เช่นแอปเปิ้ล คอมพิวเตอร์ หรือสินค้าของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่เงินตราเขาแข็งแต่สินค้าเขายังดี เช่น ยา เคมี นาฬิกา พวกนี้สู้กันที่แบรนด์ที่คุณภาพ

ผมคิดว่าไม่ควรใช้เป็นตัวหลัก ถ้าเป็นเรื่องชั่วคราวเข้าไปบางตลาด เช่นบทบาทของ BOI ซึ่งหลายคนก็พูดว่าน่าจะปรับเป็น Outbound บ้างไหม แทนที่จะทำเฉพาะ Inbound ส่วนใหญ่ผมคิดว่าไม่ใช่เป็นเรื่องดอกเบี้ย แต่เป็นเรื่องความเสี่ยง เช่นนักธุรกิจไทยที่ไปแอฟริกา กลัวว่าไปเดี่ยวแล้วใครจะดูแลความเสี่ยงด้วย เป็นต้น

MBA: ช่วงนี้เรื่องที่คนเป็นห่วงมากคือยูโร เพราะอาจจะ Break ได้เหมือนกัน อาจารย์มองอย่างไร

ดร.ประสารก็เป็นไปได้ เป็น Scenario หนึ่ง คือสต๊าฟทีมทางนี้จะค่อนไปทางนั้น พวก Base Case คือจะเกิด Recession กระดื๊บ กระดื๊บไป ป้องกันไม่ให้แตก แต่ว่าจะพันกันไป พันกันไป แล้วแบงก์ก็จะจำกัดการขยายสินเชื่อ

แต่ผมเองก็ค่อนไปในทางว่า Solution สุดท้าย จะต้องแยก เพราะเขามาใช้สกุลเดียวกัน แต่ด้านอื่นแตกต่างกันอยู่เช่น นโยบายการคลัง การเมือง และผลิตภาพแตกต่างกันมาก ตัวหนึ่งที่มักจะพูดกันมากในวงการสากลคือ Labor Unit Cost และอีกส่วนที่เป็นปัญหามากก็คือการคลังรัฐบาล การใช้จ่าย อย่างเช่นกรีซ ที่มาพบตอนหลังว่าตัวเลขไม่ตรงกับที่รายงาน หรือมีการใช้จ่ายภาครัฐที่ซ่อนอยู่

ประธานาธิบดีฝรั่งเศสก็พูดว่า จะเสนอให้มีการแก้สนธิสัญญามาร์ทริช ซึ่งเป็นข้อตกลงอันนำมาสู่ยูโร และเข้าใจว่าไม่มีการปฏิบัติตามหลายอย่างเช่นวินัยทางการคลัง เป็นต้น

MBA: ถ้าแยกกันช่วงนี้ มันจะไม่ได้แยกกันดีๆ แต่มันจะเกิดวิกฤติก่อน

ดร.ประสารบางคนก็ห่วงว่า หนึ่งตัวที่แยกออกไปถ้าเป็นตัวเล็กเงินก็จะอ่อนลงรุนแรง หนี้ต่างประเทศก็พุ่ง ความสามารถในการชำระหนี้ก็ลดลง เขาคงระดมทุนในตลาดการเงินไม่ได้ แต่ข้อดีก็คือเขามีโอกาสที่จะฟื้น เช่นค่าเงินจะอ่อนมากๆ เหมือนตอนวิกฤติต้มยำกุ้งที่ตัวหนึ่งที่ทำให้พวกเราหลุดมาได้คือค่าเงินเราอ่อน และเราก็ส่งออกอุตลุต

พวกประเทศแข็ง เงินก็จะแข็งขึ้น ค้าขายได้น้อยลง และกลัวพวกแบงก์ว่าจะเสียหายเพราะไปถือพันธบัตรของประเทศอ่อน ก็จะเสียหายเยอะ แต่ก่อนจะถึงจุดนั้นเขาควรจะต้องพร้อมที่จะมีตัวป้องกัน สร้างรั้วป้องกันไม่ให้ปัญหาลาม หรือแยกออกเมื่อดูว่าจะมีการกระจายของปัญหา เขาต้องมีทรัยากรหรือกระสุนในมือพอที่จะล้อมรั้วให้ความเสียหายอยู่ตรงนั้น ไม่ติดต่อลุกลาม

MBA: ถ้ายูโรเสียหายเฉียบพลัน เราจะมีปัญหาอย่างไร

ดร.ประสารทางตรงนี่น้อยมาก เพราะสถาบันการเงินของเราไปลงทุนในพวกยูโรโดยตรงน้อยมาก แทบไม่มีผล การส่งออกอาจจะชะลอลงเพราะอำนาจซื้อจะลดลง ทีนี้ระยะหลังเราก็กระจายการค้าขายออกมา เดี๋ยวนี้ค้าขายกับพวกยุโรปแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ อเมริกา 10 ญี่ปุ่น 10 ในอาเซียน 23 จีนใกล้ 11 ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดียต่างๆ

ที่สำคัญกว่านั้นคือภาคในประเทศ Domestic economy หรือ Domestic demand ของเราในภูมิภาคเอเชีย สัดส่วนเราค่อนข้างดี 50 กว่าเปอร์เซ็นต์ เรามีตลาดในประเทศที่เราเห็นอยู่ ของเราค่อนข้างใช้ได้ ส่งออกเราก็ดี และเรามีตลาดภายใน และมองจากแบงก์ชาติ เวลาประเมิน ปีที่ผ่านมาหลัง 2009 เราก็เห็นไส้ในบัญชีเรากระจาย ไม่ใช่เฉพาะส่งออก มีความต้องการในประเทศอยู่ด้วย เราก็จะเห็นว่าเรามีฐานรองรับอยู่

MBA: พูดได้เลยว่าถ้ายูโรเกิดวิกฤติรุนแรงก็จะไม่กระทบอะไรเรามาก

ดร.ประสารแต่จะเกิดความปั่นป่วนในตลาดการเงินระยะหนึ่ง เวลานี้ก็เห็นแล้ว ตลาดเครดิตดอลลาร์ตอนนี้แห้ง สภาพคล่องเป็นดอลลาร์เหือดแห้ง ตรงนี้ประเมินยาก ไม่มีใครให้กู้ซึ่งกันและกัน รอบแรกๆ เราก็ยังสามารถ Cope ได้ เพราะเงินสำรองที่เรามีไว้เยอะ แบงก์ชาติเราก็เข้าไปจัดหา (Provide) สภาพคล่องดอลลาร์ให้กับสถาบันการเงินและพวกค้าขาย

ที่นี้ที่ประเมินยากคือการกระทบทางอ้อมที่ภาษาอังกฤษเรียกกว่า Second-Round Effect และ Third-Round Effect คือเราจะเห็นรอบที่หนึ่งคือใครสัมพันธ์กับใคร แต่รอบที่สองลักษณะการทำงานของมันก็คือ มันอาจจะไปกระทบแบงก์ญี่ปุ่น แบงก์เอเชียนอื่น ที่เป็นคู่ค้าโดยตรงของเราอีกทอดหนึ่ง ลักษณะเช่นนี้วิเคราะห์ยาก ว่ามันจะมาวิกฤติที่ไหน ดังนั้น ต้องระวังการ “ชิ่ง” ว่ามันจะชิ่งอย่างไร

ถามว่าถ้ายูโรวิกฤติ ถ้าเป็น Recession แล้วซึมเฉยๆ ก็โอเค แต่ถ้าเป็นวิกฤติแบบ Crisis นี่ประมาทไม่ได้ เพราะเวลามาก็ไม่เคยเหมือนกันสักครั้ง มาได้หลายรูปแบบ เหมือน 2008 เลย์แมนล้ม เพราะออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ซับซ้อน ตลาดการเงินประเมินมูลค่าไม่ถูก ก็เกิดความชะงักงันในตลาดเครดิต ต้นปี 2009 ก็ช็อกกันทั้งตลาดการเงินโลก Export/Import หยุดชะงักเพราะหา Trade Credit ไม่ได้ ไตรมาสแรก 09 เราติดลบ 7-8 เปอร์เซ็นต์ เพราะ World Credit Market Collapsed นั่นแหละที่เรากลัว เรากลัวสถานการณ์แบบนั้น

MBA: ถ้าอย่างนั้นหน้าที่ของเราก็คือต้อง Provide Liquidity

ดร.ประสารก็หน้าที่ Central Bank เราก็มีข้อจำกัดของเรา วิธีที่ดีที่สุดคือ Provide Liquidity

MBA: ดอกเบี้ยระยะสั้นจะขึ้น ก็คงต้องปล่อย

ดร.ประสารตรงนี้ก็ต้องคำนึงถึงกลไกตลาดด้วย เพราะถ้ายิ่งไปฝืนก็อาจจะเกิดปัญหา ก็แล้วแต่ ถ้าสูงมากไปจริงๆ ก็จะ Kill Market เหมือนกัน

อย่างน้ำท่วมเที่ยวนี้ พอเกิดปั้บเราก็ต้องเช็คเลยว่า Liquidity ในระบบเป็นอย่างไร ของสถาบันการเงินเป็นอย่างไร เราต้องเข้าแทรกแซง

MBA: ก็ถือว่าไม่น่ากลัวอะไรมากสำหรับยุโรป

ดร.ประสารผมก็ไม่ประมาท และพยายามเช็คจุดต่างๆ เช็คตลาดดอลลาร์อยู่เรื่อยๆ SWAP เป็นอย่างไร แต่ถามว่าเกิด Dollar Squeezed ไหม ก็เห็นเลย ดอลล่าร์หายาก พันธบัตรต่างประเทศก็ลดน้อยลง ตลาดการเงินก็ต้องระวัง แต่คิดว่าไม่ได้จะช็อกแบบ 09 ที่หาค่ากันไม่ได้ เที่ยวนี้เป็น Simple Product คือ Bonds

MBA: หากเกิดวิกฤติยูโรจริง เราจะพอหาประโยชน์ได้อย่างไร

ดร.ประสารคือเวลานี้เขาก็จะอ่อนแรง เหมือนเล่นกีฬา เราก็ควรจะรักษาสุขภาพเรา โดยธรรมชาติคือเราจะวิ่งได้ไกลกว่า

แต่ของเขาอย่างอเมริกาเขาก็ฉลาด โดยจงใจหรือไม่จงใจเขาทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวต่ำ การทำแบบนั้นทำให้ราคาสินทรัพย์ของเขาสูง ก็แปลว่าเราจะเข้าไปซื้อ ก็ต้องซื้อแพงกว่าที่ควรจะเป็นเพราะเขาทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวต่ำ (เพราะ Discount Rate ต่ำ ทำให้เมื่อทดค่ามาเป็นมูลค่าปัจจุบันหรือ Net Present Value แล้ว มันจะมีราคาสูง)

MBA: กลับมาประเด็นของไทยเราบ้าง ดร.วีระพงษ์ (รามางกูร) ได้ส่งสัญญาณมาว่าต้องการใช้เงินทุนสำรองฯ ไปฟื้นฟูหลังน้ำท่วม และทางอาจารย์ก็ส่งสัญญาณกลับไปแล้วว่า “ไม่ได้” หลังจากนั้นเป็นอย่างไร

ดร.ประสาร: ยังไม่มีข้อเสนออะไรเป็นทางการ ยังไม่มีความชัดเจนว่าเวลาพูดถึง International Reserve หมายถึงอะไร เอาไปใช้อย่างไร โดยทั่วไป ถ้าคนซื้ออิมพอร์ต เขาก็สามารถแลกเงินตราต่างประเทศได้อยู่แล้ว ในตลาดถ้าเงินตราต่างประเทศไม่พอ แบงก์ชาติก็ต้องเอาเงินตราต่างประเทศไปขายอยู่แล้ว และได้บาทเข้ามาเพื่อมาลดหนี้ของแบงก์ชาติ เพราะปกติเราได้ดอลลาร์มาเราก็มีหนี้นะ เพราะเราต้องเอาพันธบัตรรัฐบาลกับพันธบัตรแบงค์ชาติไปดูดซับ

สมมติว่าเขาต้องการซื้อเครื่องจักร ถ้าเขามีบาทเขาซื้อดอลลาร์ในท้องตลาดได้อยู่แล้วไม่มีข้อห้ามอะไร ทีนี้ก็มีคนแพลมๆ ออกมา ว่าถ้าเขาออกพันธบัตรเป็นรูปดอลลาร์ และแทนที่ตอนนี้แบงก์ชาติมี Reserve แล้วไปลงที่พันธบัตรสหรัฐฯ ซึ่งได้ดอกเบี้ยต่ำ ก็มาซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทยที่เป็นรูปดอลลาร์ดีกว่า และมีประโยคหนึ่งในสื่อบอกว่า “ถ้าให้รัฐบาลสหรัฐฯ กู้ได้ ทำไมถึงจะให้รัฐบาลไทยกู้ไม่ได้”

นี่เป็นเหตุที่ทำให้ผมต้องอธิบายกับสื่อ เพราะว่า ถ้าพันธบัตรสหรัฐอเมริกาเขาออกในท้องตลาดเวลานี้ 10 ปี เนื่องจากเขาเป็น AAA ต้นทุนก็ประมาณ 1.9-2 เปอร์เซ็นต์ เรียกว่าต่ำ ถ้ารัฐบาลไทยเวลานี้ไปออกก็ไม่ถึงกับเลวร้าย ของเรา Credit Default Swap ประมาณ กว่าๆ (เป็นพรีเมี่ยมรวม 1.9-2 ถ้ารัฐบาลไทยออกพันธบัตรจะอยู่ที่ประมาณ 4.3 เพราะเครดิตรัฐบาลไทยกับเครดิตรัฐบาลสหรัฐฯ ในตลาดเครดิตไม่เหมือนกัน แต่ของเราก็ไม่ได้เลวร้าย เพราะถ้าเป็นอิตาลีตอนนี้ประมาณ ถ้าเป็นกรีซกับโปรตุเกสนี่เกิน 10 ไปแล้ว

ที่ผมยังไม่ค่อยเข้าใจ Logic ของ อาจารย์โกร่งคือว่า ในประเทศไทย ตอนนี้ถ้ารัฐบาลออกพันธบัตรเงินบาท 10 ปี (น่าจะออกได้ที่) 3.44 ก็ต่ำกว่า และถ้ารัฐบาลได้เงินบาทอยากจะซื้อเครื่องจักรจากต่างประเทศก็แลกได้เหมือนพวกเรา เวลานี้เงินบาทซื้อดอลลาร์บ้านเราสบายมาก เพราะว่าเราเป็นระบบที่แลกได้ เราไม่มี Two-Tier เราแลกได้ตลอด เขาออกพันธบัตรรัฐบาลไทยเป็นบาทดีกว่า และถ้าจะใช้ดอลลาร์ก็แลกซื้อได้ หรือถ้าใช้เป็นเงินบาทก็ยิ่งง่ายใหญ่ และถูกกว่าด้วย
และพันธบัตรรัฐบาลไทยที่เป็นเงินบาท ตอนนี้ท้องตลาดต้องการ หายาก เพราะช่วงที่ผ่านมาออกน้อย ทั้งคนไทยและคนต่างประเทศอยากได้ พวกแบงก์เขาซื้อเก็บ เพราะแบงก์พาณิชย์เรามีสภาพคล่องเยอะ ผมเลยยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องนี้และแนะไปว่าถ้าออกพันธบัตรเงินบาทจะดีกว่า 3.44 ถ้าไปออกตรงโน้นจะเป็น 4.3 แล้วได้เงินบาทจะใช้ดอลลาร์ก็ซื้อได้

MBA: ออกเงินบาทนี่ขายแบงก์ชาติหรือขายประชาชนทั่วไป

ดร.ประสารนั่นเป็นอีกโจทย์หนึ่ง
ทีนี้ตัวที่อันตรายมากกว่า ประโยคที่อันตรายมากแล้วออกมาในสื่อ คือว่า “จะออกพันธบัตรแล้วให้แบงก์ชาติซื้อ” ตัวนี้กฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทย เขาเขียนห้ามเอาไว้ ในมาตรา ซึ่งถูกต้อง คือในประเทศไทยหรือประเทศอื่นๆ คนที่มีอำนาจเหนือแบงก์ชาติคือรัฐบาล และถ้ารัฐบาลเป็นลูกหนี้แล้วบังคับให้ธนาคารกลางซื้อ ก็เหมือนพิมพ์เงิน และมีอำนาจเหนือ ก็นำไปสู่สิ่งที่เป็นภยันตรายสูงมากสำหรับประเทศ

เคยมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในเม็กซิโก อิสราเอล ละตินอเมริกา ไม่ใช่ไม่เคยเกิด แล้วแต่ละครั้งก็ลงเหวไป เพราะคนจะขาดความเชื่อมั่น คือเมื่อไหร่ถ้ารัฐบาลไทยบังคับแบงก์ชาติไทยซื้อหนี้ของรัฐบาลในตลาดแรก พวกแรกๆ ที่จะมาเลยคือเครดิต เรตติ้ง มูดดี้ส์ เอสแอนด์พี ฟิตช์ ถัดมาคือพวกไอเอ็มเอฟ พวกเขาจะเข้ามาถามว่า “พวกคุณกำลังทำอะไรอยู่ มีความจำเป็นขนาดไหนที่จะให้ธนาคารกลางพิมพ์เงินให้ใช้” จะมีคำถามตามมาอีกเยอะ เช่น วันหน้าถ้าคุณใช้จ่ายจนเกินรายได้ที่หาได้ แทนที่จะไปลดการใช้จ่ายหรือไปขึ้นภาษี คุณก็ไปบังคับธนาคารกลางให้พิมพ์เงินให้คุณใช้อีก”

MBA: หมายความว่าแม้ไม่มีกฎหมายปี 51 ก็ไม่ควรทำ

ดร.ประสารไม่ควร ทีนี้ที่อันตรายคือบางมุมเขากำลังพูดถึงว่า เมื่อกฎหมายห้ามอย่างนี้เรามีเสียงข้างมากในสภาฯ ก็แก้กฎหมายเสียเลย นี่คำถามที่ผมถามแล้วสื่อบางฉบับก็เอาไปลง ว่าถ้าคุณเลือกวิธีนี้ ยุโรปตอนนี้จะไม่มีปัญหาหนี้สาธารณะ กรีซตอนนี้มีปัญหาเพราะมีหนี้สาธารณะ 180 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ถ้าคนยอมแฮร์คัตให้ 50 เปอร์เซ็นต์ จะลดมาเหลือ 120 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะชำระได้หรือไม่ ถ้าอย่างนั้นให้ธนาคารกลางของกรีซซื้อพวกนี้ไป ทำไมเขาไม่ทำ หนี้ก็โอนจากธนาคารพาณิชย์ไปที่แบงก์ชาติ การทำแบบนี้จะนำไปสู่เรื่อง Inflation คนจะขาดความเชื่อมั่นในระบบการคลังและการเงินของประเทศ

ต่อไป รถคันแรก บ้านหลังแรก ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ให้แบงก์ชาติพิมพ์เงินแจกกันอุตลุต ทุกพรรคการเมืองก็บอกให้แบงก์ชาติซื้อพันธบัตร

เวลานี้ก็ยังไม่แน่ใจว่าท้ายที่สุดจะออกมาในรูปแบบไหน ผมอยากจะฝากทาง MBA ด้วยว่าถ้ามีโอกาสเจออาจารย์ ก็อยากให้ถามให้ละเอียดเลย

MBA: เป็นการคิดจากฝั่งรัฐบาลและนักธุรกิจใหญ่บางคนว่าแบงก์ชาติมีเงินสำรองแยะ น่าจะเอาตรงนั้นมาใช้พัฒนาประเทศ

ดร.ประสารไม่เกี่ยว คนคิดเข้าไปพันกับเงินสำรอง แต่ตัวที่เขาต้องการ พันธบัตร กับ Reserve คนละเรื่องกัน และใครพยายามโยงเรื่องนี้ ช่วยเขียนออกมาให้ชัดว่ากำลังคิดถึงกลไกอะไร ผมก็กำลังงงอยู่
แยกก่อน Reserve คือเงินตราต่างประเทศ ซึ่งแบงก์ชาติได้มาก็ไปออกพันธบัตร คือบัญชีแบงก์ชาติก็เหมือนบัญชีบริษัท มีข้างสินทรัพย์ และหนี้สิน สินทรัพย์ของเงินสำรองคือเงินตราต่างประเทศ แต่ด้านหนี้สินก็คือธนบัตรที่เราเป็นลูกหนี้ คุณจะเอาตรงนี้ไปใช้แล้วหนี้สินของแบงก์ชาติคุณจะทำอย่างไร จะจัดการอย่างไร

ที่คนชอบบอกว่าเอา Reserve ไป อยู่ดีๆ คุณเอา Reserve ไปขายไม่ได้ คุณต้องเอาอะไรมาซื้อ แบงก์ชาติถึงเอาให้คุณได้ อยู่ดีๆ ยกให้คุณไม่ได้ ผมก็ยังงงๆ เวลาคนพูดถึง Reserve
สุดท้ายกลับมาคำถามง่ายๆ ว่าประเทศไทยสิ้นไร้ไม้ตอกถึงขนาดนั้นแล้วหรือ ไหนที่เราพูดสถานการณ์การเงินการคลังสิบกว่าปีที่ผ่านมา เราค่อนข้างดี ทำไมอยู่ดีๆ กระโดดมาบังคับแบงก์ชาติ ผมก็งงว่าทำไมไม่ไปคิดตรงอื่นให้เคลียร์ก่อน จะสร้างฟลัดเวย์หรือไม่ จะขุดแม่น้ำเท่าไหร่กันแน่ จะใช้เงินปีไหน ภาษีพอไหม ก่อนจะมาขั้นสุดท้าย คือเราดูอย่างรถไฟฟ้าสายม่วง สายแดง สายเขียว แต่ละสายเขาวางแผนกันกี่ปี ไม่ต้องพูดถึงสนามบินใช้เวลากี่ปี โครงการก็วางแต่ละปีต้องใช้เงินเท่าไหร่ แล้วมาประเมินกัน อย่าเพิ่งกระโดดข้าม

ผมก็เวียนหัว กระโดดมาที่แบงก์ชาติ แล้วนาย กนาย ขในประเทศไทยถ้าอยากได้ดอลลาร์ ก็ไปซื้อเอาก็ได้

MBA: ขอถามลึกไปกว่านั้นว่า Reserve ของเราเป็นของเราจริงๆ สักกี่เปอร์เซ็นต์

ดร.ประสารกลับไปเรื่อง IIP 200,000 ล้านเป็นตัวตั้ง เรามีหนี้ต่างประเทศประมาณ 100 เศษๆ คุณก็หักไป ผมว่าสัก 110 ได้ ตรง 90 ที่เหลือถ้ามองในเชิงการบริหาร Reserve คุณควรคิดถึงอะไรบ้าง มีธนบัตรที่หมุนเวียนในประเทศไทย ซึ่งกฎหมายบังคับว่าต้องมีเงินหนุนหลังอยู่ เพราะธนบัตรที่ใช้ว่าไปแล้วก็คือกระดาษที่แบงก์ชาติกับกระทรวงการคลังเป็นคนรับรอง ตรงนี้เราหมุนเวียนตอนนี้ใกล้ๆ 1.2 ล้านล้านบาท ถ้าคุณเอา 30 บาทหาร คุณต้องหนุนอยู่ 10,000 ล้านเหรียญฯ เหลือ 50 ถ้าอิมพอร์ตของคุณเดือนหนึ่งอยู่ที่ประมาณ 17,000-18,000 บางครั้งคนก็บอกว่าเผื่อไว้หน่อยสัก เดือนเผื่อส่งออกของคุณไม่ดีขึ้นมา ต้องมีเงินตราต่างประเทศสำรองไว้ซื้อของต่างประเทศ เดือน ก็ 51,000 ว่าไปแล้ว Reserve 200,000 ล้านเหรียญฯ ไม่มีอะไรที่เกินอยู่เยอะ อย่างนอร์เวย์ สิงคโปร์ หรือจีน

เอาละ เงินสำรองเงินบาทคุณไม่ต้องแบ็กอัพด้วยดอลลาร์ทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะกฎหมายบอกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ก็พอ ที่เหลือเป็นพันธบัตรรัฐบาลหรืออะไร ก็หย่อนลงมาหน่อย อิมพอร์ตก็โอเคเป็นเงินของคุณแต่ก็เผื่อไว้ นี่คือวิธีคิดวิธีหนึ่งว่าไม่ถึงกับเหลือเยอะ

ผมเอาอีกวิธีคิดหนึ่งคือ IIP คือ 200,000 ล้านเหรียญฯ อย่างน้อยทางการไทย มีเคลมบนสินทรัพย์ต่างประเทศ 200,000 ล้านเหรียญฯ ทีนี้เราก็ต้องมาคิดว่าคนต่างประเทศมีเคลมในไทยเท่าไหร่ หนึ่งหนี้ต่างประเทศ 110 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีต่างชาติถือหุ้นอยู่ประมาณ 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ ของมาร์เก็ตแคป 15 ล้านล้านบาท ก็เกือบ 1.5 แสนล้านเหรียญ โอเคว่าอาจจะมีโรงงานที่ย้ายไม่ได้ บวกตัวเลขนี้ดู คุณไม่ได้มีความมั่งมี หรือ Claim over ต่างชาติมากกว่า ที่ต่างชาติมา Claim over คุณนะ

MBA: รัฐบาลไม่รู้รายละเอียดนี้หรืออย่างไร

ดร.ประสารคุณพูดถึงรัฐบาลคุณพูดถึงใคร บางท่านมีความรู้เราก็ยอมรับ สมัยนี้เราต้องติดตามข้อมูลใหม่ๆ ที่ผ่านไป ถ้าเราไปใช้ข้อมูลเก่าความเข้าใจก็ต่างกันแล้ว คนไปมองเรื่อง Reserve บ้านเรายังมี Myth มีความเข้าใจที่ไม่ค่อยเคลียร์

คุณไปลองคำนวณตัวเลขละเอียดที่เที่ยงตรงอีกทีน๊ะ เพราะตัวเลยตลาดหลักทรัพย์ที่ยกาเมื่อกี้ อาจจะยกมาไม่ค่อยตรงหรือละเอียดมากก็ได้ เพียงต้องการชี้ให้เห็นแนวคิด หรือแบบรวมๆ

MBA แปลว่าเราไม่ได้มั่งคั่งอะไรมาก

ดร.ประสารนี่เป็นโจทย์ใหญ่เลย อย่างนอร์เวย์ ผมยอมรับ เขาขุดพบน้ำมันเขาตั้ง Oil Fund มีเปล่าๆ ปลี้ๆ ที่เกินจากปกติตั้ง แสนล้านเหรียญฯ หรือสิงคโปร์เขามีเกินดุลการคลังมาตลอด จีนก็มีดุลบัญชีเดินสะพัด ซาอุดิอารเบียก็มีน้ำมัน พวกนี้คือเงินสำรองที่ได้จากการทำมาหาได้ (Earned Reserve) แต่ของเรานี่เป็นเงินที่ได้จากยืมเขามา เป็น Borrowed Reserve

MBA: หมายความว่า หนึ่งหน้าตักเราไม่ได้มาก สองถ้าเอามาใช้จริงก็จะมีปัญหาเรื่องเครื่องมือและเรื่องสกุลเงิน เช่นถ้ารัฐบาลจะออกบอน์ดเป็นสกุลดอลลาร์ ก็ไม่สมควร เพราะอัตราดอกเบี้ยจะสูงกว่าที่ออกในเงินบาท และดีมานด์สำหรับพันธบัตรรัฐบาลในเงินบาทก็ยังมาก

ดร.ประสารผมมีอีกข้อหนึ่งที่รัฐบาลไม่ควรไปออกบอนด์ดอลลาร์ ตัวนี้จะทำให้พวกเรากระอักกระอ่วนใจมาก คือคุณนึกภาพถ้ารัฐบาลไทยไปออกบอนด์เป็นดอลลาร์เยอะๆ แล้วให้แบงก์ชาติถือไว้ คราวนี้ไปถึงภาวะการณ์หนึ่งที่เรามีความรู้สึกว่า ด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่เงินบาทควรจะอ่อน เช่นสมมติมีเงินทุนไหลออก หรือเพื่อส่งเสริมการส่งออก เราลองนึกภาพตอนนั้น ความรู้สึกของแบงก์ชาติกับกระทรวงการคลัง ถ้าเราปล่อยให้บาทอ่อนในขณะที่อีกข้างหนึ่งรัฐบาลไทยมีหนี้เป็นดอลลาร์ หนี้ก็จะเพิ่ม เพราะบาทอ่อน ก็จะไปสร้างกับดักในอนาคตที่ทำให้เราขาดเครื่องมือเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนในทันที คือการดำเนินนโยบายตอนนั้นก็จะชะงัก ไม่กล้าให้บาทอ่อน เพราะบาทอ่อนเมื่อไหร่ก็รู้แล้วว่าตาย รัฐบาลมีหนี้เพิ่ม แล้วทีนี้ไม่ใช่เอกชน อย่างปี 40 ที่เขากัดฟัน จำเป็นต้องให้บาทอ่อน เอกชนก็พังกันไปเยอะ คราวนี้นึกภาพใหม่ รัฐบาลเป็นหนี้ดอลลาร์แล้วแบงก์ชาติก็มีความจำเป็นจะให้บาทอ่อน แต่รัฐบาลอยู่เหนือแบงก์ชาติ ก็วุ่นเลย ผมก็ยังไม่รู้ความคิดพวกนี้

MBA: ท่านรับตำแหน่งผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยโดยพรรคการเมืองหนึ่งตั้งขึ้นมาแต่เปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลปัจจุบันซึ่งบริหารโดยพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม ท่านลำบากไหม มีความในใจอะไรบ้างหรือไม่

ดร.ประสารถ้าคุณสังเกตุตั้งแต่รัฐบาลประชาธิปัตย์ผมก็ออกมาให้ความเห็นคัดค้านรัฐบาลประชาธิปัตย์ที่แต่งตั้งผมด้วยซ้ำไป ตั้งแต่คราวเราขึ้นดอกเบี้ยแล้วรัฐมนตรีกรณ์ กับนายกฯ อภิสิทธิ์ออกมาบอกว่าไม่ควรขึ้นดอกเบี้ย ตั้งสองครั้งมั้ง หรือตั้งแต่ตอนที่คุณกรณ์ลดหนี้ ผมก็ออกมาให้ความเห็นว่าระวังให้ดีอาจจะเสียวินัยทางการเงิน ที่แบงก์เขาคิดดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลสูง สาเหตุหนึ่งก็เพราะว่าหนี้เสียเยอะ ผมก็ให้ความเห็นตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว
และตั้งแต่ยังไม่รู้ผลเลือกตั้ง นโยบายลดแลกแจกแถม ผมก็ออกมาให้ความเห็นแล้ว

ส่วนการทำงาน มาถึงจุดนี้ผมก็ดูว่าอะไรเป็นเรื่องที่ถูกต้องสำหรับประเทศมากกว่า มาถึงตอนนี้เราก็ทำอะไรมาในชีวิตเยอะแล้ว และเรายังสามารถทำงานที่อื่นได้ คือถ้าเราเห็นว่าไม่ถูกต้อง จะสร้างความเสียหายให้ประเทศ เราก็ออกมาเตือน

MBA: มอง Career Path ตัวเองต่อไปอย่างไร

ดร.ประสารตำแหน่งนี้ก็มีวาระ ผมเจอคนที่เขาแก้กฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทยปี 2551 ก็ล้วนแต่เป็นคนที่มีความหวังดีต่อประเทศ เขาก็พยายามสร้างระบบคัดเลือกให้มีวาระ มีเงื่อนไขการเข้าการออกที่ชัดเจน เพราะเขารู้จุดอ่อนคือเปลี่ยนง่าย ขึ้นกับรัฐมนตรีคลัง ซึ่งทำให้การทำงานของธนาคารกลางเป็นได้ไม่ดีพอ นำความเสียหายมาสู่ประเทศได้ บังเอิญผมเป็นกรณีแรกที่เข้ามาในกรอบใหม่ ถ้าจะพูดถึงความรับผิดชอบก็มีส่วนนั้นอยู่ด้วย เราต้องพยายามรักษาระบบเอาไว้เพื่ออนาคตมากกว่าตัวเราเอง เพื่อให้ตรงนี้เป็นหลักของบ้านเมือง ซึ่งระยะหลังก็มีความน่าเป็นห่วงมากขึ้นเรื่อยๆ เราเห็นการเลือกตั้งแต่ละครั้งก็จะเต็มไปด้วยเรื่องการให้สัญญาในลักษณะลด แลก แจก แถม และเที่ยวที่ผ่านมาไม่ใช่พรรคเดียว ทุกพรรคเลย เสนอแจก ไม่มีเหตุผล ไม่ซับซ้อน แจกกันซื่อๆ ซึ่งก็น่ากลัว

ผมก็พยายามศึกษาประเทศอื่นเขามีแบบนี้ไหม พวกประเทศที่ระบบการเมืองเขาพัฒนาเขาบอกในอดีตก็เคย แต่พอถึงจุดหนึ่งประชาชนก็จะรู้ทันว่าเกิดผลเสียหายต่อประเทศ คนที่ไปแข่งเลือกตั้งก็ต้องปรับตัว เพราะมันจะนำไปสู่ฐานะการคลังที่ทรุดลง แล้วคนจะกลับมาเรียกร้องว่าไม่ควรทำแบบนี้ ก็จะนำไปสู่สวัสดิการที่โปร่งใสเป็นระบบมากขึ้น

MBA: หมดวาระแล้วจะเข้าสู่การเมืองไหม

ดร.ประสารผมไม่เคยคิดจะเข้าการเมือง อาจจะมีงานสาธารณะอย่างอื่นที่น่าสนใจทำ แต่ให้ถึงจุดนั้นก่อน ยังไม่ถึงเวลาที่จะไปพูดเรื่องนั้น

(หมายเหตุ: คำสนทนาข้างต้น เป็นบางส่วนของบทสนทนาที่มีขึ้นระหว่างผมกับดร.ประสาร เมื่อวันที่ ธันวาคม 2554 เวลา 13.30-15.00 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ถ่ายภาพโดย ฐิติวุฒิ บางขาม และตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนธันวาคม 2554 ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่)

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว

วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ขอให้มีความสุขครับ


ขอให้สิ่งที่ปกปักรักษาโลกและจักรวาลนี้อวยชัยให้ท่านผู้อ่านทุกท่านมีความสุขตลอดปีใหม่นี้ด้วยครับ


วันพุธที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2554

พระเจ้าอยู่หัวกับการคอรัปชั่น






โชคดีที่คุณปลัดกระทรวงฯ คนที่ถูกขโมยขึ้นบ้านแล้วขนเงินสดไปหลายสิบล้าน (แล้วยังอ้างว่าเห็นถุงใส่เงินวางอยู่ข้างๆ อีกหลายร้อยล้าน) มีพื้นเพมาทางวิศวกรรมศาสตร์และคิดแบบวิศวกร นี่ถ้าเขาเป็นนักบัญชีหรือคิดแบบนักการเงินหรือทนาย ป่านนี้คงยักย้ายถ่ายเท เล่นแร่แปรธาตุ เสกเป่าเงินสดจำนวนมหึมาเหล่านั้นไปเป็นทรัพย์รูปอื่นอันหลากหลาย หรือหาทางซ่อนทรัพย์เหล่านั้นไว้ในโลกกว้างจนยากที่สังคมไทยจะจับได้ไล่ทัน

แม้การรับเงินใต้โต๊ะเป็นเงินบาทจะถูกต้องตามหลักวิชาการในเชิงเศรษฐศาสตร์การเงิน เพราะแนวโน้มเงินบาทยังอยู่ในแดนแข็งค่า แต่ทว่า กฎหมายฟอกเงินและการจับตาของสื่อมวลชนต่อนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงแบบเข้มข้น ก็ทำให้กระบวนการซ่อนเงินหรือแปลงเงินเหล่านั้นให้เป็นสินทรัพย์ชนิดอื่นในทอดต่อๆ ไป (เช่นเป็นเงินฝาก เป็นอสังหาริมทรัพย์ เป็นหุ้นหรือหลักทรัพย์ หรือเป็นเพชรนิลจินดา) ทำได้ยากลำบากกว่าแต่ก่อนมากนัก และทำได้ยากกว่าการคอรัปชั่นโดยเงินสกุลอื่นด้วยเช่นกัน

เห็นไหมครับว่าการคอรัปชั่นในสกุลเงินบาทนั้นมีความเสี่ยงที่จะถูกเปิดโปงมากกว่าการคอรัปชั่นโดยอาศัยเงินสกุลอื่น โดยเฉพาะเงินตราต่างประเทศสกุลแข็ง

พูดแบบชาวบ้านคือ นักคอรัปชั่นหรือ “นักกินเมือง” ควรจะรับเงินใต้โต๊ะเป็นเงินดอลล่าร์มากกว่ารับเป็นเงินบาท เพราะเสี่ยงที่จะถูกจับได้ไล่ทันน้อยกว่านั่นเอง

ผมเห็นจุดนี้มาตั้งแต่ปลายยุคทักษิณแล้วหล่ะ

ผมคิดว่าคุณทักษิณและครอบครัวพลาดมากที่ตัดสินใจรับเงินค่าหุ้นชินคอร์ปเป็นเงินบาท แทนที่จะรับเป็นเงินดอลล่าร์หรือเงินตราต่างประเทศสกุลอื่น

เพราะการขอรับเป็นเงินบาทในจำนวนมากขนาดนั้น ทำให้ผู้ซื้อ (ซึ่งก็คือเทมาเส็ก รัฐวิสาหกิจผู้รับผิดชอบต่อการลงทุนในต่างประเทศ แขนขาใหญ่ของรัฐบาลสิงคโปร์เขา) ต้องโอนเงินเข้ามาชำระค่าหุ้นกันในประเทศไทย

จุดนี้เองที่ทำให้ปมปัญหาเรื่องภาษีแดงขึ้นมา และเงินจำนวนนั้นก็เริ่มถูกจับตา ยากแก่การยักย้ายถ่ายเท จนตอนหลังก็ถูกอายัดไปโดยง่ายดาย เมื่อคุณทักษิณหมดอำนาจลง

หากว่าคุณทักษิณและครอบครัวยอมให้เทมาเส็กชำระเป็นเงินดอลล่าร์เข้าบัญชีในสิงค์โปร์หรือฮ่องกงหรือสวิสหรือนิวยอร์กหรือลอนดอนหรือเคย์แมนหรือบาฮาม่าหรือ Tax Haven อื่น หรือแบ่งกระจายไปตาม Offshore Account ที่ไหนก็ได้นอกประเทศ เรื่องราวก็อาจไม่จบลงแบบนี้

ใช่...มันคงเป็นหนังอีกม้วนนึงเลยหล่ะ หรือถ้ายังเป็นม้วนเดิม ท้องเรื่องและบทก็คงเปลี่ยนไปแยะ การสืบสวนสอบสวนคงทำได้ยากหรือทำไม่ได้เลย และการยึดทรัพย์ก็ทำไม่ได้เช่นกัน เพราะการขอความร่วมมือจากธนาคารและรัฐบาลต่างประเทศโดยหน่วยงานของรัฐบาลไทยที่มาจากรัฐประหารนั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

ใช่ว่าคุณทักษิณจะไม่รู้จุดนี้ แต่ผมว่าเพราะความที่อยากได้กำไรสองต่อ ทั้งค่าหุ้นและค่าเงินด้วย ทำให้เกิดติดหล่มในที่สุด

สมัยที่เงินบาทยัง Peg อยู่กับเงินดอลล่าร์ที่ 25 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์นั้น การรับเงินใต้โต๊ะเป็นเงินบาทหรือเงินดอลล่าร์ย่อมมีค่าไม่ต่างกัน เพราะมันไม่มี Exchange Rate Risk แต่ทว่า นับจากธนาคารชาติลอยค่าเงินบาทเมื่อปี 2540 เป็นต้นมา การรับเงินใต้โต๊ะจึงต้อง Sophisticated ขึ้นเป็นเงาตามตัว (แต่คงไม่ถึงขั้นต้องอาศัย Derivative Products และต้องทำ Dynamic Hedgeing กันบ่อยๆ)

สมัยที่เงินบาทยังอ่อนค่าและยังไม่มีแนวโน้มแข็งค่าหรืออยู่ในเทรนขาขึ้นแบบทุกวันนี้ นักการเมืองและข้าราชการระดับสูง (หรือบริวาร) ที่หากินโดยการคอรัปชั่นโครงการใหญ่ ได้ค่านายหน้าทีละมากๆ นิยมรับเงินใต้โต๊ะเป็นเงินดอลล่าร์ โดยให้ฝากเข้าบัญชีในต่างประเทศกัน

เงินเหล่านั้น ส่วนใหญ่ก็ไม่ถูกนำเข้ามาในประเทศ แต่เอาทิ้งไว้ในต่างประเทศกันเลย ไว้ลูกหลานไปเรียนหนังสือก็ค่อยเปลี่ยนเป็นบ้านเป็นอพาร์ตเมนต์หรือเป็นทรัพย์สินชนิดอื่น และถอนเอาไปใช้กัน บางคนเก่งหน่อย พอนานไปก็นำเข้ามาซื้อหุ้นโดยผ่านกองทุนหรือโบรกเกอร์ต่างประเทศกันบ้าง แล้วค่อยหาทางขายเปลี่ยนเป็นเงินบาทภายหลัง โดยกระจายไปตามบัญชีของลูกหลานญาตพี่น้องและบริษัทบริวาร จนยากที่จะจับได้ไล่ทัน

บางคนใช้วิธีตั้งบริษัทบังหน้าแล้ววางบิลจาก Shell Company หรือบริษัทกระดาษบังหน้าของตัวที่เปิดไว้ในต่างประเทศ อ้างว่าเป็นค่าที่ปรึกษาบ้าง ค่าซอฟท์แวร์บ้าง ค่าวางระบบบ้าง หรือค่าอะไรต่อมิอะไรที่ไม่ต้องมีการส่งมอบจริง แล้วก็ให้กิจการรับสัมปทานในเมืองไทยหรือกิจการที่ได้ประโยชน์จากโครงการตามน้ำเหล่านั้นในเมืองไทย โอนชำระเงินไปให้ตามจำนวนที่ตกลงกันไว้แล้วก็มี

บางคนรับเป็นใบหุ้นแล้วให้คนแอบขนใบหุ้นไปต่างประเทศ แล้วค่อยฝากโบรเกอร์ในต่างประเทศขายเอาเงินสดไปก็มี

บางคนรับเป็นอพาร์ตเมนต์สวยๆ ในปารีส ลอนดอน หรือนิวยอร์ก ก็มี

แต่เมื่อเงินบาทเริ่มแข็งค่าเพราะสหรัฐอเมริกาดำเนินนโยบาย Weak Dollar แถมแนวโน้มเงินปอนด์และเงินยูโรก็ไม่สดใส นักคอรัปชั่นจึงหันมารับเงินใต้โต๊ะเป็นเงินบาทแทน

นั่นจึงนำพวกเขาเข้ามาติดกับความเสี่ยงในแบบที่ว่ามา

การคอรัปชั่นในสกุลเงินบาทต้องเกี่ยวพันกับเงินสดจำนวนมาก อาจต้องมีหลักฐานการเบิกเงินและฝากเงินและโอนเงินอย่างชัดเจนและสะดุดตา แถมยังยากต่อการยักย้ายถ่ายเท ต้องอาศัยเครือข่ายทางการเงินและเครื่องมือทางการเงินอันหลากหลายและผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายให้ความช่วยเหลือร่วมมือ ทำให้เก็บความลับได้ยาก และเกิดจุดอ่อนหลายจุดตามข้อต่อต่างๆ ของกระบวนการยักย้ายถ่ายเทและเล่นแร่แปรทรัพย์หรือซ่อนทรัพย์ดังกล่าว

ทนายและนักการเงินเก่งๆ ก็ใช่ว่าจะไม่ปากโป้ง

ผมได้ยินผู้ใหญ่ที่เชื่อในบุญบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ไว้ว่า “เป็นเพราะธนบัตรเงินบาทมีพระบรมฉายาลักษณ์ประทับอยู่ เสมือนหนึ่งพระองค์คอยปกปักรักษาทรัพย์สมบัติของชาติไทยเอาไว้ และผู้ที่ทำการคอรัปชั่น เท่ากับลบหลู่พระองค์โดยตรง จึงต้องมีอันเป็นไป....”

ขอพระองค์ทรงพระเจริญ!

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
11 ธันวาคม 2554

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนธันวาคม 2554