วันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2558

ปริศนาเงินผันกับการสร้างความมั่งคั่งแห่งชาติ


ระหว่างการกล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งให้กับภาคเอกชนเมื่อเร็วๆ นี้ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้ยกเอาตลกฝรั่งที่ล้อเลียนนักเศรษฐศาสตร์สองคน ทำนองว่าวันหนึ่งมีนักเศรษฐศาสตร์สองคนเดินผ่านกองขี้หมา นาย ก. เลยจ้างให้ นาย ข. กินขี้หมา 100,000 บาท โดย นาย ข. ยอมกินและได้เงินไป เสร็จแล้ว นาย ข. ก็กลับมาจ้าง นาย ก. 100,000 บาทเท่ากัน ให้กินขี้หมา โดย นาย ก. ยอมกินและก็รับเงินจาก นาย ข.

ตามท้องเรื่องเดิมนั้น เมื่อสองคนกินขี้หมาเสร็จสรรพ ก็เดินคุยกันต่อ พลัน นาย ข. ก็กล่าวกับ นาย ก. ทำนองว่า เขาไม่ค่อยสบายใจเท่าไหร่ เพราะเงินของเราทั้งสองก็มีอยู่เท่าเดิม ไม่ได้เพิ่มขึ้นอะไร แต่พวกเราต้องมากินขี้หมา แต่นาย ก. หันมาบอก นาย ข. ทำนองว่า "เฮ้ย! ลื้อต้องไม่ลืมว่าเราสองคนเพิ่งสร้างมูลค่าทางการค้าเพิ่มขึ้นตั้ง 200,000 น๊ะ"

ผมไม่ทราบว่านักทำบัญชีประชาชาติรุ่นใหม่จะนับเอามูลค่านี้ว่าเป็นรายได้ประชาชาติและบันทึกอยู่ใน GDP และถือเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยหรือไม่ แต่ดูแล้วกิจกรรมแบบนี้มันไม่ได้ทำให้มนุษย์ดีขึ้นหรือสูงส่งขึ้น และไม่น่าจะมีส่วนสร้าง "ความมั่งคั่งให้กับชาติ" หรือ Wealth of Nation ให้มั่นคงแข็งแรงได้ในระยะยาว

ยิ่งถ้าสมมติว่าเงินที่ทั้งคู่นำมาจ้างอีกฝ่ายนั้นเป็นเงินที่กู้ยืมมา ปัญหานี้ย่อมซับซ้อนไปอีกขั้นหนึ่ง

การสร้างหนี้มาผันเงินให้ประชาชนใช้จ่ายหรือลงทุนเพื่อให้เศรษฐกิจหมุนไป ย่อมต้องดูคุณภาพของการใช้จ่ายและการลงทุนนั้นๆ ด้วยเสมอ มิใช่ดูแต่เพียงว่า "รายจ่ายของฉันคือรายรับของเธอ และรายจ่ายของเธอก็คือรายรับของฉัน" และกลัวแต่เพียงว่า "ถ้าทุกคนพร้อมใจกันประหยัดหรือลดรายจ่ายลง รายได้ของประเทศย่อมลดลงตาม" เพียงเท่านั้น

แม้เราจะยังคงกำหนดให้ตายตัวลงไปไม่ได้แน่ชัดว่า Wealth” มันกินความกว้างขวางเพียงใดกันแน่ และมูลค่าที่ใส่เข้าไปแบบนั้นมันจะถูกคิดรวมใน GDP หรือไม่ก็ตาม ทว่า เรารู้ค่อนข้างแน่ว่า มูลค่าแบบนั้น (การผลัดกันจ้างกินขี้หมา) มันคงไม่ใช่แหล่งที่มาของความมั่งคั่งที่มีคุณภาพพอจะนำไปชำระหนี้สินคืนในอนาคตได้

ต้องอย่าลืมว่า หนี้สินที่ก่อขึ้นนั้นมันเป็นข้อเรียกร้องหรือ Claim” ต่อผลผลิตหรือทรัพยากรบางอย่างในอนาคต และมันยังมีลักษณะเหมือนการยืมเอาทรัพยากรหรือผลผลิตบางอย่างจากอนาคตมาใช้ก่อน ดังนั้น ถ้านำมาจ้างกันกินขี้หมาเสียแล้ว มันคงเป็นเรื่องหน้าเศร้าของลูกหลานในอนาคต

เมื่อต้นปี Paul Krugman นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลชื่อก้องโลก ได้เขียนความเห็นต่อหนี้สินลงในบทความชื่อ Nobody Understands Debt” ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ The New York Times ว่าคนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าถ้าประเทศในโลกก่อหนี้จำนวนมากโดยใช้นโยบายการคลังขาดดุล (เป็นประชานิยมแบบหนึ่ง) เท่ากับเป็นการขโมยเอาจากลูกหลาน หรือลูกหลานจะต้องลำบาก

เขาว่าคนคิดแบบนั้นเข้าใจผิด เขาว่าครอบครัวที่ติดหนี้สินเยอะย่อมทำให้ตัวเองจนลง เพราะครอบครัวติดหนี้คนอื่น ต่างกับระบบเศรษฐกิจของทั้งโลกที่ติดหนี้ตัวเอง และเพราะตัวเองเป็นหนี้ตัวเองนั่นแหล่ะ มันถึงไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจจนลงเมื่อก่อหนี้ และการชำระหนี้คืนก็มิได้ทำให้พวกเรารวยขึ้น

แม้เขาจะยอมรับว่าหนี้สินทำให้เกิดความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดวิกฤติทางการเงิน แต่มันก็ยังดีกว่า การเกิดภาวะเงินฝืดและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อันเนื่องมาแต่ความพยายามหยุดก่อหนี้หรือใช้หนี้คืน (คือเลิกอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบหรือดึงเงินคืนออกจากระบบนั่นเอง)

เขาว่า No, it isn’t. An indebted family owes money to other people; the world economy as a whole owes money to itself. (…) Because debt is money we owe to ourselves, it does not directly make the economy poorer (and paying it off doesn’t make us richer). True, debt can pose a threat to financial stability — but the situation is not improved if efforts to reduce debt end up pushing the economy into deflation and depression.”

ท่านผู้อ่านเห็นด้วยกับ Krugman หรือไม่?

ผมอยากให้ลองพิจารณาเรื่องสมมติเรื่องนี้ดู

"บนถนนคดเคี้ยวสายหนึ่งที่เชื่อมระหว่างเชียงใหม่กับแม่ฮ่องสอน เป็นที่ตั้งของตำบลท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง มีภูเขาโอบล้อม และแม่น้ำสายเล็กๆ ไหลผ่าน เศรษฐกิจที่ตำบลแห่งนี้ขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยวเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์

ที่นี่เคยคึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยว แต่บัดนี้เงียบเหงาลงถนัดตา บางค่ำคืนดูราวกับเมืองร้าง

มันเป็นเวลาที่ยากลำบาก ทุกคนล้วนติดหนี้ติดสินซึ่งกันและกัน และ "เชื่อ" กันไป "เชื่อ" กันมา

ทันใดนั้น ก็มีนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งมาจากต่างประเทศ พวกเขาเข้ามาที่โรงแรมบูติก ซึ่งมีอยู่แห่งเดียวในตำบลนั้น วางเงินมัดจำไว้บนเคาเตอร์ 10,000 บาท แล้วก็พากันขึ้นไปสำรวจห้องพักก่อนตัดสินใจ

ระหว่างนั้น เจ้าของโรงแรมก็หยิบเงินก้อนนั้น รีบวิ่งไปชำระหนี้ที่ค้างไว้กับร้านขายผัก เจ้าของร้านขายผักรับเงินก้อนนั้นเสร็จก็รีบวิ่งไปให้ชาวสวนและคนเลี้ยงไก่ที่ตัวเองเป็นหนี้อยู่ ชาวสวนและคนเลี้ยงไก่รับเงินแล้วก็รีบวิ่งไปจ่ายหนี้ให้กับเจ้าของปั๊มน้ำมันและร้านขายอาหารและยาบำรุงสำหรับไก่ เจ้าของปั๊มและเจ้าของร้านขายอาหารและยาก็รีบวิ่งเอาเงินไปให้อีตัวที่เขาใช้บริการในยามยาก และขอค้างค่าตัวไว้ก่อน โดยอีตัวคนนั้น เมื่อรับเงินแล้ว ก็รีบวิ่งเอาเงินที่ได้ทั้งหมดกลับไปใช้หนี้เจ้าของโรงแรม เพราะเธอค้างค่าโรงแรมตอนที่พาแขกมานอน

เจ้าของโรงแรมจึงเอาเงินก้อนนั้นวางไว้บนเค้าเตอร์ดังเดิม

พอนักท่องเที่ยวกลุ่มนั้นสำรวจห้องเสร็จ ก็พากันลงมา แต่มีผู้หญิงสองคนบอกว่าเธอไม่ชอบวิว พวกเขาจึงตัดสินใจไม่พัก แล้วหยิบเงินมัดจำกลับใส่กระเป๋า เดินออก และสตาร์ทรถแล้วขับไปยังเมืองอื่นต่อไป"

จากเรื่องเล่านี้ เราจะเห็นว่าไม่มีผู้ประกอบการคนใดในตำบลนี้สร้างรายได้เพิ่มเลยแม้แต่คนเดียวจากนักท่องเที่ยวกลุ่มนั้น แต่ทว่า ทั่วทั้งตำบลขณะนี้ปลอดหนี้สินเสียแล้ว และทุกคนก็เริ่มอยู่อย่างมีความหวัง

นั่นมันคล้ายๆ กับความเห็นของ Krugman เพราะเมื่อมีการก่อหนี้ มันย่อมมีลูกหนี้และเจ้าหนี้ เป็นของคู่กันเสมอ ถ้านับโลกทั้งโลก มีคนกู้ก็ต้องมีคนให้กู้เสมอ มีเครดิตก็ต้องมีเดบิต ทุกๆ รายการจะต้องจับคู่กันได้ เมื่อหักกลบลบกันแล้วก็เป็นศูนย์ ตามหลักการบัญชีมาตรฐานที่ใช้กันทั้งโลก และผู้ประกอบการเหล่านั้นต่างก็ผลิตและให้บริการ แล้วก็รับผลผลิตและรับบริการซึ่งกันและกันในอดีตด้วยเงินเชื่อ ซึ่งน่าจะสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และบันทึกไว้ในบัญชีรายได้ประชาชาติและ GDP และสร้าง Wealth of Nation” ในแบบเศรษฐกิจพอเพียง เพราะอีกไม่นาน หากยังไม่มีนักท่องเที่ยวจากต่างถิ่นเข้ามา พวกเขาจำเป็นต้องก่อหนี้โดยการเครดิตซึ่งกันและกันซ้ำอีก

ทว่า ในชีวิตจริง ทุกอย่างมันจะง่ายเหมือนในนิยายเทียวหรือ?

ลองมาดูฉากต่อไปกัน ตามท้องเรื่องเดิม

อยู่มาวันหนึ่ง ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐและ อบต. ก็มาบอกให้ทุกคนว่า ขณะนี้มีเงินกองกลางจากบ้านเมืองมาให้กู้แบบไม่คิดดอกเบี้ย โดยตำบาลของเราได้มา 100 ล้าน

เจ้าของโรงแรมและบรรดาซัพพลายเออร์ทั้งหลายเมื่อรู้ดังนั้น ก็ร่วมกันทำโครงการเขียนแผนธุรกิจและทำรายงานความเป็นไปได้เชิงการลงทุนเพื่อยื่นเสนอขยายโรงแรมปีกใหม่เป็น Entertainment Complex ให้ทันสมัยขึ้น แล้วก็ได้เงินมาทั้งหมด ถือเป็น Flagship Project ของตำบล

เขาเริ่มจ้างสถาปนิก ผู้รับเหมา ซื้อหิน ดิน ทราย กรวด และจ้างช่างปูน ช่างไม้ ช่างไฟ ช่างประปา และคนงาน คนสวน คนนวด พนักงานบัญชี ฝ่ายการตลาด คนขับรถ กุ๊ก และขยายภัตาคาร จัดซื้อโต๊ะ เตียง เฟอร์นิเจอร์ ผ้าม่าน พรม ผ้าปูเตียง โคมไฟ กระจก เครื่องสุขภัณฑ์ ฯลฯ เพิ่มเติมจำนวนมาก

เงินหมุนไปทั่วทั้งตำบล

เจ้าของแปลงผักขยายพื้นที่เพาะปลูกแบบออร์แกนิกส์เตรียมรองรับภัตาคารใหม่ ผู้เลี้ยงสุกรและไก่ซื้อที่เพิ่มเพื่อสร้างโรงงานแปรรูปอาหารเล็กๆ ที่ได้มาตรฐาน ISO เจ้าของปั้มลงทุนเปิดปั๊มเพิ่มดักหัวดักท้ายตำบลเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว เถ้าแก่ร้านขายอาหารสัตว์และยาบำรุงสั่งออร์เดอร์เพิ่มในสต๊อก และอีตัวยกระดับตัวเองเป็นแม่เล้า เลี้ยงสาวๆ เตรียมรองรับเศรษฐกิจกลางคืน แม้แต่นักเลงยังเตรียมตัวเปิดบ่อน

เศรษฐกิจของตำบลย่อมเติบโตเกิดเป็นภาวะ "ฟองสบู่"

แน่นอน นักบัญชีประชาชาติย่อมบันทึก Transaction เหล่านี้ลงไปในบัญชี GDP ทำให้อัตราการเติบโตของ GDP ปีนี้เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด

เมื่อสร้างเสร็จ ตึกใหม่ของโรงแรมและสวนตลอดจนสระน้ำ และสปา ช่างสวยงาม สอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติป่าเขาและทุ่งนา เหมาะกับบรรดา Hipster คนรุ่นใหม่ที่นิยมไลฟสไตล์แบบ Slow Life

ผู้ว่าราชการเดินทางมากดปุ่มเปิดงานด้วยตัวเอง

เมื่อเวลาผ่านไป วันแล้ววันเล่า ก็ยังไม่เห็นนักท่องเที่ยวย่างกรายเข้ามา

ว่ากันว่า เพราะเศรษฐกิจโลกซบเซา และประเทศเพื่อนบ้านก็พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่คล้ายคลึงกับของเรามาแข่งแต่ราคาถูกกว่า ทำให้ผู้ประกอบการในตำบลนั้นหันมาติดหนี้ซึ่งกันและกันอีกครา

ทันใดนั้น พลันมีนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มหนึ่งโผล่มาที่โรงแรม พวกเขาวางเงินมัดจำไว้ 10,000 บาทที่เค้าเตอร์ เสร็จแล้ว เงินจำนวนนั้นก็หมุนผ่านมือไปจนครบหนึ่งรอบ เหมือนครั้งก่อน

หนี้สินหมดไป ทุกคนดูเหมือนจะแฮปปี้ ถึงแม้นักท่องเที่ยวกลุ่มนั้นจากไปโดยไม่ได้ Check-in

แต่คราวนี้ต่างกัน เพราะเจ้าของโรงแรมและบรรดาผู้ประกอบการไม่มีเงินไปจ่ายคืนเงินกู้ที่กู้มาจากธนาคารเฉพาะกิจ และอาจทำให้ธนาคารแห่งนั้นเจ๊ง และกระทบถึงผู้ฝากเงิน

เจ้าของโรงแรมมีแต่ตัวตึก เฟอร์นิเจอร์ สนามหญ้า สวน สปา และสระว่ายน้ำ ฯลฯ แต่ของเหล่านี้ใช้ชำระหนี้ไม่ได้ เพราะหากไม่มีแขกมาเข้าพัก ของเหล่านี้มันก็ไม่มีค่าอะไร

แปลงผัก เล้าหมู โรงงาน ปั๊มน้ำมัน ซ่อง ก็เช่นเดียวกัน

ทั้งๆ ที่มันใช้ทรัพยากร เวลา ดิน หิน ปูน ทราย และแรงงาน สารพัด ไปจนหมดแล้ว

บัดนี้ มันตั้งอยู่ทนโท่ ทว่า ว่างเปล่า...”

เหตุการณ์นี้ คล้ายคลึงกับเมืองไทยก่อนปี 2540 และเมืองจีน ณ ขณะนี้ ที่มีคอนโดมีเนียมร้างจำนวนมาก ห้างสรรพสินค้าและช็อปปิ้งมอลล์ขนาดใหญ่โหรงเหรง หรือไม่ก็มีคนเช่าพื้นที่ไม่ถึง 25% ถนนซูปเปอร์ไฮเวย์ขนาด 16 เลนส์ เชื่อมระหว่างตำบลเล็กๆ ที่มีรถวิ่งบางตา โรงงานขนาดยักษ์ที่เดินเครื่องจักรไม่ถึง 40% โรงแรมชนิดคอมเพล็กซ์ที่มีคนพักไม่ถึงครึ่งต่อเดือน และศาลากลางหรือออฟฟิสของพรรคฯ ขนาดใหญ่โตมโหฬาร ที่ใช้ทำงานจริงเพียงส่วนเล็กๆ ส่วนเดียว ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้เกิดจากการลงทุนที่ไร้คุณภาพ แม้ว่าก่อนหน้านี้จะปรากฎเป็นตัวเลขอย่างเขื่องในบัญชี GDP แสดงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สวยงาม ไร้เทียมทาน

ทีนี้เราลองกลับมาดูตัวละครของเราต่อ

มีคำกล่าวแต่โบราณว่า ถ้าเราเป็นหนี้ 1 ล้าน แล้วเราไม่มีปัญญาใช้คืน นั่นเป็นปัญหาของเรา แต่ถ้าเราเป็นหนี้ 100 ล้าน แล้วไม่มีปัญญาใช้คืน มันเป็นปัญหาของเจ้าหนี้ ไม่ใชปัญหาของเรา

ตอนนี้ปัญหาจึงย้ายข้างมาอยู่บนไหล่ของผู้บริหารธนาคารเฉพาะกิจเสียแล้ว

จะทำไงดี ถ้าไม่ฟ้องเจ้าของโรงแรม เดี๋ยวก็อาจจะต้องเจอคุก ซึ่งผู้บริหารคณะก่อนโดนไปแล้วคนละ 18 ปี...จึงตัดสินใจฟ้อง

แน่นอน กระบวนการยึดทรัพย์ต้องเกิดขึ้นตามมา โรงแรมต้องปิดตัวลง พนักงานทุกคนกลับไปบ้านใครบ้านมัน และซัพพลายเออร์ทั้งหลายก็กลับไปสู่ชีวิตพอเพียงตามเดิม ทุกคนปรับความคาดหวังกันใหม่ แล้วก็อยู่ไปวันๆ

เศรษฐกิจแบบนี้เรียกว่าภาวะฟองสบู่แตก และเข้าสู่เศรษฐกิจตกต่ำ หากเกิดเหตุการณ์ตาม Scenario นี้ อย่างที่นักเศรษฐศาสตร์กลุ่ม Austrian School เคยว่าไว้ว่า ภาวะเศรษฐกิจบูมที่เกิดจากการอัดฉีดเครดิต ย่อมจะจบลงด้วยฟองสบู่แตก

ร้อนถึงรัฐบาล ที่อาจมีคนหัวใส คิดกลวิธีเอาเงินภาษีของประชาชนทั้งประเทศ (หรือไม่ก็ให้ธนาคารชาติพิมพ์มาให้เหมือนที่อเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ทำกัน) มาผันลงไปที่ตำบลแห่งนี้ เพื่อกระตุ้นไม่ให้ตัวเลขในบัญชีเศรษฐกิจเลวร้ายลงตามที่มันควรต้องเป็น

พวกเขาอาจใช้คำว่า "อัดฉีด" หรือ "กระตุ้น" รากหญ้า

แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะยังไม่ดี และนักท่องเที่ยวต่างประเทศคงยังไม่มา แต่พวกเขาอาจหาทางต่ออายุให้กับเจ้าของโรงแรม เช่น ยืดอายุการชำระหนี้ ลดเงินต้นลดดอก หรือ "ตัดผม" (Hair Cut) หรือให้เงินกู้ก้อนใหม่กับผู้ประกอบการรายอื่นไปสร้างธุรกิจใหม่ที่จะเกิดการจ้างงาน การซื้อวัตถุดิบ ซื้อมอเตอร์ไซด์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ และผันเงินต่อได้ ฯลฯ แต่ที่ทำแน่ๆ คือ แจกเงินให้กับนักท่องเที่ยวเพื่อให้ไปกินใช้ที่ตำบลแห่งนั้น

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็เพื่อให้นักบัญชีประชาชาติมาบันทึก Transaction ที่คาดว่าจะเกิดใหม่นี้ลงไปในบัญชี GDP

พวกเขาอาจใช้เงินก้อนใหญ่ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้คนตำบลอื่นมาเที่ยว และอาจออกแพ็กเกจลดภาษีให้กับนักท่องเที่ยวที่มาใช้จ่าย ณ ที่ตำบลแห่งนี้

เป็นการซื้อเวลาและวัดดวงกันอีกทีในอนาคต

แต่ถ้าหาก ทุ่มเทไปแล้ว นักท่องเที่ยวก็ยังไม่มาอยู่ดี หรือมาแล้วไม่มาซ้ำ ความเสียหายที่จะตามมาในอนาคตย่อมมากกว่าเดิม

ใครคือผู้ที่จะต้องจ่าย?

แน่นอน คงไม่ใช่รัฐมนตรี นายธนาคาร เจ้าของโรงแรม และซัพพลายเออร์ทั้งหลายที่ได้ประโยชน์กันไปแล้ว"

ท่านผู้อ่านลองคิดดูว่า ผลลัพท์ที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องอาศัยการใช้ทรัพยากร พลังงาน และเวลา ทุ่มเทไปกับมัน อีกทั้งยังต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้นนั้น มันได้ก่อเกิดเป็น Real Wealth” หรือไม่

หรือเป็นเพียง การผลัดกันกินขี้หมาของคนกลุ่มหนึ่ง

Adam Smith ผู้ซึ่งทุ่มเทศึกษาประเด็นนี้อย่างเป็นระบบเป็นคนแรกๆ ได้เน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการสะสมทุน (Capital Accumulation) ที่มาจากการออมของสังคมว่าเป็นตัวสำคัญในการสร้างความมั่งคั่งของชาติ (Wealth of Nation) และเขาเชื่อว่า "ความมั่งคั่ง" ทั้งมวลนั้นมีที่มาจากแรงงาน (Labor theory of value)

จากการเพียรศึกษาของนักปราชญ์รุ่นหลังต่อยอดกันมา เราพบว่า “ความมั่งคั่งของชาติ” และระดับรายได้ของคนในชาติหนึ่งๆ มักขึ้นกับ ทักษะและความรู้ของผู้คนในชาติ วินัยและความขยันขันแข็ง ทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิศาสตร์ของชาตินั้น ความสงบและสงครามในอดีตและปัจจุบันที่เกิดในชาติหรือที่ชาตินั้นเข้าไปเกี่ยวข้อง ระบบปกครองและกฎหมาย และดีกรีของการทำมาค้าขายว่าเสรีมากน้อยเพียงใด สมัยใหม่นี้ยังได้รวมเอาความคิดสร้างสรรค์และการเปลี่ยนแปลงทางเทคนิกหรือนวัตกรรมเชิงเทคโนโลยีเข้าไปด้วย

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
3 กันยายน 2558


ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA
ภาพประกอบจาก www.positioningmag.com ผู้เขียนขอขอบคุณเป็นอย่างสูง