วันพุธที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ต้องลงทุนกับความเปลี่ยนแปลง



“ความเหลื่อมล้ำของผู้คนในสังคมเริ่มต้นมาแล้วเมื่อเกิด และจะถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเติบโตเจริญวัยขึ้น โดยจะเหลื่อมล้ำกันมากที่สุดเมื่อแก่เฒ่า”


นั่นเป็น Observation ของผมเอง

เพราะเท่าที่เห็นกับตามา ผมว่ามนุษย์เรามันไม่ได้เท่าเทียมกันมาตั้งแต่เกิดแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าใครเกิดมาจากท้องผู้หญิงคนไหน โชคดีหน่อยก็เกิดในท้องฝรั่ง แต่ถ้าดันไปจุติในหมู่บ้านกลางทะเลทรายอัฟริกาก็คงจะกลับกัน และถ้าเป็น “อุภโตสุชาติ” ก็เรียกได้ว่าโตขึ้นจะเป็นใหญ่กว่าคนทั้งปวง


Chance อันนี้ ไม่มีใครรู้ว่าแต่ละคนได้มันมายังไง แต่ถ้าเชื่อแบบคนพุทธเจือไสย ก็ว่ามันเป็น “กรรมเก่า” หรือเป็น “พรหมลิขิต” ที่สะสมกันมาแต่ชาติปางก่อน


เอ๊ะ อย่างนั้นพวกลูกหลานของวอเร็น บัฟเฟต หรือ บิล เกตส์ ก็ต้องเคยทำกรรมเก่ามาดีกว่าผู้คนจำนวนหลายพันล้านคนบนผิวโลกนี้สิน๊ะ!

หรือพวกที่มีบุญย่อมต้องได้เกิดมาในครอบครัวชนชั้นผู้นำของฝรั่งอเมริกันสิ เพราะมันมีโอกาสมากกว่า ได้มีชีวิตที่ดี บริโภคของดีมีคุณภาพก่อนใครเพื่อน มีโรงเรียนดีๆ มหาวิทยาลัยดีๆ โรงพยาบาลดีๆ สันทนาการเพียบพร้อม แถมยังมีเสรีภาพ มีรัฐบาลที่โอเค พึ่งพาข้าราชการได้ และเงินของมัน 1 บาท ยังแลกของเราได้ตั้ง 31 บาท (นี่ยังดีขึ้นมาบ้างแล้ว เพราะสามปีก่อนแลกได้ถึง 40 บาท) ฯลฯ


นั่นเป็นคำถามที่น่าคิด...อย่างน้อยก็ต้องคิดเผื่อลูกหลาน ในฐานะบรรพบุรุษที่ต้อง “สร้าง” สังคมของเราในวันนี้เพื่อส่งมอบต่อให้กับพวกเขาในอนาคต

ไม่งั้นมันจะมาตำหนิพวกเราได้...ใช่ไม่ใช่

ทีนี้ กลับมาเรื่องความเหลื่อมล้ำในชีวิตคนเรากันต่อ

ถึงแม้ว่าตอนเกิดมาจะเหลื่อมล้ำกันมาแล้วบ้าง แต่เมื่อยังเล็กๆ ความเหลื่อมล้ำมันก็ยังไม่มาก เพราะในเชิงปัจเจกแล้ว มนุษย์เรามี “กำลังกายและกำลังปัญญา” ใกล้เคียงกัน (ถ้าไม่นับว่าพิการ)


ถ้าพื้นฐานครอบครัวหรือทรัพย์สมบัติของพ่อแม่เป็นเพียงของนอกกายที่มันอาจหายวับไปเมื่อใดก็ได้ (โปรดสังเกตกรณียีดทรัพย์นักการเมือง) กำลังกายและปัญญานี้แหละที่เป็นของเราอย่างแท้จริง และมันจะติดตัวเราไปจนวันตาย


เจ้าตัว “กำลังกายและกำลังปัญญา” นี้แหละที่ปราชญ์แต่โบราณเรียกมันว่า “แรงงาน” บ้าง “Endownment” บ้าง “State of Nature” บ้าง “Gift” บ้าง “Human Resource” หรือ “ทรัพยากรมนุษย์” หรือ “ทรัพยากรบุคคล” บ้าง แต่ถ้าจะพูดเป็นภาษาสมัยใหม่ก็ต้องเรียกว่า “Human Capital” หรือ “ทุนมนุษย์”



Human Capital อันนี้เป็นของมนุษย์เราเฉพาะตัว เราเป็นเจ้าของมัน 100% เป็นสิทธิของเราโดยธรรมชาติ และไม่มีใครมายึดไปจากเราได้ (ยกเว้นจะใช้กำลังบังคับเพื่อจำกัดเสรีภาพและอิสระภาพเรา) และเราก็ต้องใช้มันหาเลี้ยงชีพ ด้วยการสร้างหรือแลกหรือช่วงชิงหรือ Acquire ให้ได้มาซึ่งปัจจัยสี่ และสินทรัพย์ ตลอดจนความมั่งคั่งทั้งมวล (และอาจจะอำนาจหรืออะไรก็ตามที่งอกต่อยอดมาจากความมั่งคั่งเหล่านั้น) ในช่วงชีวิตเรา

ผมอยากจะยกคำของปราชญ์ฝรั่งที่เชื่อแนวนี้กันหน่อย เพราะความคิดของพวกเขามีอิทธิพลต่อโลกขณะนี้มาก แม้กับระบอบที่เราดำรงชีวิตอยู่นี้ก็ได้รับอิทธิพลจากพวกเขามาด้วย คนแรกคือ John Locke ที่เขียนไว้ในเซ็คชั่น 27 และ 28 ของหนังสือ Two Treaties of Civil Government ว่า “Everyman has property in his person: this no body has any right to but himself. The labour of his body, and the work of his hands, we may say, are properly his for labour being the unquestionable property of the labourer, no man but he can have a right to what is once joined to, at least where there is enough, as good left in common for others. That labour puts a distinction between him and the common: that added something to them more than nature, the common mother of all, had done; and so they become his private right.”

คุ้นๆ ไหมครับ แบบว่า โลกเป็นของทุกคนเท่าเทียมกันแต่เกิด แต่มาเหลื่อมล้ำกันเพราะคนที่ขยัน มีเหตุมีผล โดยการลงแรงกายแรงสมอง เพื่อสร้างและสะสมทรัพย์ จะสามารถสร้างความแตกต่างจากส่วนรวมขึ้นมาได้ และมันก็เป็นสิทธิของเขาที่จะหาทรัพย์เหล่านั้นและได้ครอบครองทรัพย์เหล่านั้นด้วย

นั่นแหละ Economic Man แบบที่อดัม สมิท รับสืบทอดมา และมีอิทธิพลต่อความเข้าใจของพวกเราในเวลานี้

ทว่า เพื่อความครบถ้วน ผมเลยต้องยกอีกสองข้อความมาให้อ่านอีก เพราะผมรู้ว่าท่านผู้อ่านของ MBA เป็นคนจริงจังและมีหน้าที่การงานที่สำคัญ นั่นคือ James Madison ที่ว่า “the protection of different and unequal faculties of acquiring property is the first object of Government.” (Federalist No.10, อ่านประกอบได้ใน “เดอะเฟเดอรัลลิสต์เปเปอร์ เอกสารความคิดทางการเมืองอเมริกัน” สมบัติ จันทรวงศ์ และคณะ แปล สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2530)

และ Thomas Jefferson ด้วยประโยคที่มีชื่อเสียงมากว่า “We hold these truths to be self-evident, that all men are created equal, that they are endowed by their Creator with certain unalienable rights, that among these are life, liberty and the pursuit of happiness. That to secure these rights, governments are instituted among men, deriving their just powers from the consent of the governed. That whenever any form of government becomes destructive to these ends, it is the right of the people to alter or to abolish it, and to institute new government, laying its foundation on such principles and organizing its powers in such form, as to them shall seem most likely to effect their safety and happiness.” (อ้างจากวรรคที่สองของ “คำประกาศอิสรภาพ” หรือ The Declaration of Independence, 4th July 1776)

ทีนี้ ย้ายจากเรื่องบ้านเมืองและสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์มาที่เรื่องส่วนตัวบ้าง กล่าวคือ ถ้าเราอยู่ในบ้านเมืองที่ไม่ได้มาจำกัดสิทธิเสรีภาพ เราก็จะสามารถใช้ “กำลังกายและกำลังปัญญา” หรือ Human Capital ตักตวงจากผิวโลกได้เต็มที่

ดังนั้น Human Capital หรือทุนส่วนตัวของเรานี้ จึงมีความสำคัญมาก เพราะเป็นสิ่งที่เราจะนำมันไปเปลี่ยนเป็นทรัพย์และความมั่งคั่งต่างๆ ในช่วงที่เรายังหายใจอยู่

พูดให้ถึงที่สุด Human Capital นั้นแยกเป็นสองส่วน คือส่วนที่เป็นตัวเรา เป็นความสมบูรณ์ของสุขภาพเรา กำลังวังชาของเรา หรือ Physical Condition ซึ่งมันต้องเสื่อมโทรมลงตามกาลเวลา และจะเกือบหมดไปเมื่อเราแก่ (หรือพิการ) และอีกส่วนหนึ่งที่ผมเรียกว่า Mentality หรือทักษะหรือความคิดหรือวิธีคิดหรือปัญญา ซึ่งสามารถเพิ่มพูน ขัดเกลา ให้ดีขึ้น งอกงามขึ้น ช่ำชองขึ้น ชำนาญขึ้น ฉลาดขึ้น สมบูรณ์ขึ้น หรืออาจถึงขั้นสูงคือหยั่งรู้ยิ่งขึ้นไปได้เรื่อยๆ และจะไม่สูญหายไปไหน (ยกเว้นว่าจะเป็นบ้า หรือเลอะเลือนหรือเป็นอัลไซเมอร์) จนกว่าจะตายจากโลกนี้ไป

แน่นอนว่า ทุนส่วนที่สองย่อมได้มาจากการศึกษากล่อมเกลา ทั้งจากโรงเรียน มหาวิทยาลัย วัด ครูบาอาจารย์ และจากธรรมชาติ ตลอดจนสิ่งแวดล้อม ด้วยวิธี Self-Taught หรือ Autodidact

เห็นหรือยังครับ ว่าทำไมผมถึงบอกมาแต่ต้นว่า ความเหลื่อมล้ำมันจะถ่างกว้างมากที่สุดเมื่อคนเราแก่

ก็เพราะตอนที่เราแก่ เราหมดทุนส่วนแรก (กำลังวังชาถดถอย) โดยที่ทุนส่วนหลังอาจแตกต่างกันมาก และถ้าตลอดชีวิตของเรา เราไม่สามารถเปลี่ยน Human Capital ของเราให้เป็นทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็น บ้าน ที่ดิน เงิน ทอง หุ้น พันธบัตร เพชรพลอย ของสะสมที่มีค่า ฯลฯ เราก็จะหมดโอกาส และก็แน่นอนอีกว่า ในสังคมที่เสรีนั้น คนแต่ละคนย่อมมีความสามารถในกระบวนการเปลี่ยนเป็นทรัพย์นี้ได้ไม่เท่ากัน ทำให้ความมั่งคั่งมันเหลื่อมล้ำกันเป็นธรรมดา

นั่นเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะยื่นมือเข้ามาโอบอุ้ม (ด้วยสวัสดิการ ฯลฯ) หรือมาทำให้ช่องว่างตรงนี้แคบลงไปบ้าง (ด้วยการเก็บภาษี) แต่ก็ต้องไม่ใช้วิธีจำกัดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ผมได้แสดงปรัชญาของมันไว้ข้างต้นนั้น

เมื่อท่านผู้อ่านรู้อย่างนี้แล้ว Implication ของมันก็ชัดเจน นั่นคือเราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเราเอง เพื่อเพิ่มพูน “ทุนส่วนตัว” หรือ Human Capital ในส่วนที่สองอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะโลกมันเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา

เราต้องลงทุนในการศึกษาหรือให้การศึกษากับตัวเองและลูกหลานอย่างเต็มที่ เพิ่มพูนทักษะและวิธีคิดอย่างต่อเนื่อง และถูกทาง เพราะถ้าเราอยู่เฉยๆ ในขณะที่โลกเปลี่ยนไป ทักษะและวิธีคิดของเราอาจล้าสมัย จนอาจทำให้กระบวนการหาทรัพย์และสะสมทรัพย์ หรือกระบวนการสร้างความมั่งคั่ง (Wealth Creation) ของเรา ติดขัดได้

มันเป็นความเสี่ยงแบบหนึ่ง คือเสี่ยงกับการ “ตกยุค” และ “ล้าสมัย” หรือ “หมดประโยชน์ไปโดยปริยาย” ซึ่งจะทำให้เราทำมาหากินได้น้อยลงหรือไม่ได้อีกต่อไป

นี่ยังไม่นับว่า ตลอดช่วงชีวิตเรายังถูกกดทับด้วยความเสี่ยงประเภทอื่นอีกสารพัด เช่นเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ ต่อภัยธรรมชาติ และความเจ็บไข้ได้ป่วยทั้งปวง ฯลฯ

ที่สำคัญคือ Economic Crisis ที่อาจ “พราก” ทรัพย์และความมั่งคั่งทั้งหมดที่เราสู้อุตส่าห์หามาได้ทั้งชีวิต ไปจากเราจนหมดตัวในคราวเดียวเลยก็ได้

วิธีคิดที่ผมแสดงมานี้ทั้งในระดับมหภาคและจุลภาค ย่อมสามารถประยุกต์ใช้กับคน องค์กร และประเทศไทยได้อย่างไ่ม่ติดขัด โดยเฉพาะสังคมไทยในขณะนี้ที่กำลังโหยหาการเปลี่ยนแปลง แต่จะต้องเปลี่ยนไปอย่างมีเป้าหมายที่ผมพูดมานี้แหละครับ ถึงจะดี

เห็นหรือยังครับ ว่าการลงทุนเพื่อความเปลี่ยนแปลงนั้นสำคัญเพียงใด ทั้งในระดับชาติ ระดับองค์กร และระดับปัจเจกชน


หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้ประโยชน์และพึงพอใจ



ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๓


ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนสิงหาคม 2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น