วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2555

ความกล้าของยิ่งลักษณ์





เมื่อรู้สึกเบื่อหน่าย ท้อแท้ สิ้นหวัง กังวล สับสน หรือหวาดหวั่น กับความเสี่ยงในอนาคตของสังคมไทย และรู้สึกเป็นห่วงลูกๆ ว่าอาจจะต้องพานพบกับสงครามกลางเมืองหรือความขัดแย้งและรุนแรงอย่างยืดเยื้อจนถูกทำให้ล้าหลัง หรือถูกริดรอนเสรีภาพ หรือตกอยู่ในความหวาดกลัว ขมขื่น สูญเสีย พลัดพราก เศร้าสลด และเคียดแค้น เหมือนกับสังคมลาว เขมร เวียดนาม ลิเบีย หรือจีน ในครั้งกระโน้น และพม่า อิรัก หรือเกาหลีเหนือในบัดนี้ ผมมักเชียร์ตัวเองให้มีกำลังใจด้วยการฝากความหวังไว้กับผู้หญิง เพราะผมรู้สึกว่าผู้หญิงปัจจุบันมีบทบาทต่อการแก้ปัญหาสังคมมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด เมื่อเทียบกับสมัยที่ผมยังเป็นเด็ก และก็น่าจะมีบทบาทมากยิ่งขึ้นไปอีกในอนาคต

เมื่อหวนระลึกถึงความเมตตาและอบอุ่นของแม่ในยามเด็ก และสังเกตความรักที่ภรรยามีต่อผมและลูกๆ ผมก็สัมผัสได้กับพลังด้านบวกของผู้หญิง และคิดว่าถ้าผู้หญิงเข้ามาแชร์อำนาจจากผู้ชายแยะขึ้น ครอบครัว องค์กร สังคม ประเทศ และโลก น่าจะดีขึ้นด้วย


น่ายินดีที่ผู้หญิงในปัจจุบันสามารถหยิบยื่นโอกาสให้ตัวเองได้สำแดงพลังออกมาในแทบทุกวงการ

“พลัง” ในที่นี้ย่อมหมายถึง ความคิดสร้างสรรค์ ความหวัง ความฝัน ความเห็น อารมณ์ความรู้สึก และจินตนาการ

ลองมองไปรอบด้าน เราจะเห็นผู้หญิงเป็นใหญ่ในองค์กรจำนวนมาก

เอาแค่วงการสื่อมวลชนของพวกเราเอง ก็มีบรรณาธิการเป็นผู้หญิงจำนวนไม่น้อย และถ้ามองเจาะลึกเข้าไปยังฝ่ายขายขององค์กรสื่อทุกสำนัก ผมว่ากว่าเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ที่ผู้หญิงคุมอำนาจอยู่

ผมคิดว่าผู้หญิงแถวหน้าที่สามารถถีบตัวเองขึ้นมาแชร์อำนาจในองค์กรกับผู้ชายได้ ย่อมมี “ความกล้า” เป็นเจ้าเรือน

โดยเฉพาะในวงการเมืองด้วยแล้ว ยิ่งต้องอาศัยความกล้าเป็นอย่างมาก

คนอย่างอองซานซูจี, โกลด้า เมียร์, สิริมาโว บันดาไนยเก, อินทิรา คานธี, มากาเร็ต แทชเชอร์, หรือแม้แต่ แองเจล่า เมอร์เคล, คริสตินา เฟอร์นานเดซ เคิร์ซเนอร์, ดิลมา รุสเซฟ, จูเลีย กิลลาร์ด, เอลเลน จอห์นสัน-เซอร์รีฟ, ซีค ฮาสินา วะเจด, โจฮันนา ซิเคอดรอตเตอร์, ลอร่า ซินซิลล่า, ตรายา ฮาโลเนน, ดาเลีย กริโบสเกียต, กัมลา เปอร์ซาต-บิสเซสซ่าร์, และ ซาร่าห์ เพลิน ล้วนเป็นผู้หญิงที่กล้าหาญมากๆ

และความกล้าย่อมเป็นคุณธรรมข้อสำคัญของนักการเมือง

เพราะแม้ว่าคุณจะมีไอเดียดี หรือพูดเก่งพรีเซ้นต์เก่ง หรือสวยต้องตาต้องใจ หรือมีเสน่ห์คนรักคนหลง หรือฉลาดมีไหวพริบ แต่ถ้าคุณขาดความกล้า...กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง กล้าตัดสินใจ หรือแม้แต่กล้าพูดความจริง...คุณธรรมข้ออื่นก็จะไม่มีประโยชน์

ความกล้าคือหัวหน้าของคุณธรรมข้ออื่นทั้งสิ้น

คุณยิ่งลักษณ์ก็มีความกล้ามากๆ แบบหนึ่ง คือ “กล้าเอาคอขึ้นเขียง” แทนพี่ชาย

การตัดสินใจเข้ามาสู่การเมืองของเธอท่ามกลางปลายหอกแหลนหลาวของศัตรูอกสามศอกผู้ถือทั้งอาวุธและกฎหมายเปี่ยมด้วยอำนาจราชศักดิ์และบารมีทั้งในและนอกรัฐธรรมนูญอย่างเหลือล้น นับเป็นความกล้าหาญอันใหญ่หลวง แบบภาษานักเลงเรียกว่า “ใจถึง”

ข้อนี้พิสูจน์ว่าเธอรักพี่ชายและพร้อมที่จะเสี่ยงชีวิตเพื่อครอบครัว

ความกล้าแบบนี้ย่อมทำให้ศัตรูนับถือ ลูกน้องกลัว คนที่ยังกลางๆ หันมาเข้าด้วย และพวกที่ชอบแทงม้าเริ่มลงขัน

ถ้าเปรียบรัฐบาลเป็นองค์กรธุรกิจ การเข้ามาของเธอทำให้พี่ชายวางใจได้ว่ารัฐบาลจะไม่เกิดปัญหาที่เรียกว่า Agency Problem อย่างแน่นอน เพราะผู้ถือหุ้นและผู้บริหาร (ซึ่งในกรณีนี้มีหน้าที่ใช้อำนาจรัฐ) เป็นกลุ่มเดียวกัน ดังนั้นโอกาสที่คุณยิ่งลักษณ์และคณะผู้บริหารที่คุณยิ่งลักษณ์ควบคุมอยู่ในฐานะ COO จะใช้อำนาจรัฐไปขัดผลประโยชน์ของพี่ชายคงไม่มี

กิจการที่ผู้บริหารกับผู้ถือหุ้นเป็นคนละคนกัน มักเกิดปัญหาดังว่านั้น เพราะผู้บริหารมิได้บริหารงานเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้น แต่กลับใช้อำนาจหน้าที่และทรัพยากรของกิจการไปเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง เช่น ตั้งเงินเดือนตัวเองสูงๆ บวกโบนัสก้อนโตๆ พร้อมผลตอบแทนรูปอื่นสารพัด หรือจัดซื้อจัดจ้างพรรคพวกตัวเอง หรือแอบใช้ทรัพยากรและเครือข่ายของกิจการเพื่อแสวงประโยชน์ส่วนตน ทุจริตคอรัปชั่น หรือยอมให้กิจการต้องเสียค่าโง่ เพีียงเพราะต้องการให้กลุ่มของตนได้รับประโยชน์....

Agency Problem เป็นปัญหาคลาสสิกในเรื่องกรรมสิทธิ์ของการบริหาร หรือ Corporate Control ซึ่งในสังคมตะวันตกนิยมแก้ไขโดยวิธี Takeover หรือ Mergers & Acquisitions คือเข้ายึดหรือครอบครองกิจการแล้วเปลี่ยนผู้บริหาร (ซึ่งเป็น Agent) เสียใหม่ ให้เป็นคนกลุ่มเดียวกับผู้ถือหุ้น (ซึ่งเป็น Principal)

แน่นอน รัฐบาลย่อมมิใช่บริษัท และนายกรัฐมนตรีย่อมมิใช่ตำแหน่งสัมปทานที่ได้มาเพราะการเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองหรือเป็นผู้สมัครหมายเลขหนึ่งของพรรคเท่านั้น เพราะมันต้องมี Accountability ต่อราษฏรเป็นภาระกิจหลักด้วย มิใช่ต่อผู้ถือหุ้นของพรรคแต่เพียงแง่เดียว

นับแต่นี้ ถ้าการใช้อำนาจรัฐของเธอเป็นผลดีต่อพี่ชายและในขณะเดียวกันก็เป็นผลดีต่อราษฎรด้วย การณ์ครั้งนั้นย่อมไม่เป็นไร...แต่ถ้ามันไม่ใช่แบบนั้น เธอก็ต้องกล้าเตือนหรือพูดกับพี่ชายตรงๆ ว่าต้องไม่ขอหรือสั่งให้เธอฝืนใจทำและทำอีก

เพราะการใช้อำนาจรัฐเพื่อผลประโยชน์ของพี่ชายแต่ดันไปขัดกับผลประโยชน์ของราษฏร ย่อมทำให้กิจการล่มสลายและพี่ชายก็จะเป็นที่เกลียดชังไปยิ่งกว่านี้

ไม่ว่าจะมองในแง่ไหน มีแต่ความกล้าหาญของเธอเท่านั้นแหละ ที่จะช่วยพี่ชายเธอได้

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
14 มกราคม 2555
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนมกราคม 2555
ภายใต้ชื่อเรื่อง "Better to reign in Hell than serve in Heaven"
(ภาพประกอบจาก The Bangkok Post)


หมายเหตุ:


อ่านเรื่อง ดร. ทักษิณ กับการจัดการรัฐบาลนี้จากนอกประเทศ ได้ตามลิงค์หัวข้อข้างล่างครับ

ทักษิณกับการจัดการระยะไกล (Managing from Afar)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น