วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

มอง ส. ศิวรักษ์ จากอีกมุมหนึ่ง



คนส่วนใหญ่มองและเห็น ส.ศิวรักษ์ หรือ “อาจารย์สุลักษณ์” เป็นนักคิด นักเขียน และปัญญาชนชาวพุทธคนสำคัญของยุคสมัย
ส.ศิวรักษ์ ยังเป็นอะไรอีกตั้งหลายอย่าง
ส.ศิวรักษ์ เป็นนักประวัติศาสตร์
ส.ศิวรักษ์ เป็นนักวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ตัวยงและอย่างต่อเนื่อง โดยมีความรู้เรื่องเจ้าและมีฐานข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าอย่างกว้างขวางลึกซึ้ง
ส.ศิวรักษ์ เป็นนักวิจารณ์วงการสงฆ์และรู้เรื่องพระสงฆ์ดีที่สุดคนหนึ่งในประเทศนี้
ส.ศิวรักษ์ เป็นนักต่อสู้เคลื่อนไหวในเรื่องสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมในสังคมระดับนานาชาติ
ส.ศิวรักษ์ เป็นนักระดมทุนที่เก่ง
ส.ศิวรักษ์ เป็นหัวขบวนคนสำคัญของบรรดาเอ็นจีโอไทย และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งหน่วยงานพัฒนาเอกชนและองค์กรไม่แสวงกำไรชั้นนำจำนวนมาก
ส.ศิวรักษ์ เป็นบรรณาธิการคนสำคัญของอุตสาหกรรมหนังสือไทย
ส.ศิวรักษ์ เป็นคอลัมนิสต์ปากกาคม
ส.ศิวรักษ์ เป็นนักเขียนที่มีผลงานจำนวนนับร้อยเล่ม ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ โดยทำงานเขียนมาตลอด 60 กว่าปี
ส.ศิวรักษ์ เป็นนักปาฐกถาที่มีลีลาเฉพาะตัว พูดกระชับ ตรงประเด็น มีพลังในการโน้มน้าว และอ้างอิงข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ที่แม่นยำ
ส.ศิวรักษ์ เป็นปัญญาชนคนแรกๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวโค่นล้มทักษิณ ชินวัตร ในรอบที่แล้ว
มิเพียงเท่านั้น ส. ศิวรักษ์ ยังเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ สำนักพิมพ์เคล็ดไทย (และสำนักพิมพ์ในเครือข่าย) สายส่งศึกษิต ร้านหนังสือศึกษิตสยามและร้านในเครือข่าย ล้วนเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ และมีส่วนช่วยเหลือนักเขียน กวี และเจ้าของสำนักพิมพ์เล็กๆ น้อยๆ จำนวนมาก

พูดภาษาเชิงการบริหารจัดการได้ว่า ส.ศิวรักษ์ นั้นมี “จิตวิญญาณแบบผู้ประกอบการ” หรือ “Entrepreneurial Spirit” อยู่เต็มเปี่ยม คือชอบริเริ่มสร้างสรรค์และรับความเสี่ยง แม้จะย่างเข้าปัจฉิมวัยแล้วก็ตาม จิตวิญญาณแบบนั้นก็ยังคงไม่มอดไหม้

MBA สนใจ ส.ศิวรักษ์ ในเชิงนี้ เพราะ ส. ศิวรักษ์ เป็นตัวอย่างของผู้สูงอายุที่ยังคงประกอบการและผลิตและสร้างสรรค์

คนอย่าง ส.ศิวรักษ์ พิสูจน์ให้เราเห็นว่า “จิตวิญญาณแบบผู้ประกอบการ” และความคิดสร้างสรรค์ หรือพลังที่จะริเริ่มกิจกรรมและธุรกิจ โดยพร้อมรับความเสี่ยง ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีอยู่แต่ในวัยหนุ่มสาวอย่างเดียว ดังที่เข้าใจกันในบัดนี้ (ส.ศิวรักษ์ ยังพร้อมรับความเสี่ยงต่อชีวิต ทรัพย์สิน และถูกพรากอิสรภาพ ทุกครั้ง เมื่อวิจารณ์สถาบันฯ และผู้มีอำนาจ)

สื่อมวลชนและนโยบายสร้างผู้ประกอบการของแทบทุกรัฐบาลล้วนพุ่งความสนใจไปสู่คนหนุ่มสาวในเยนเนอเรชั่น Google, Facebook, และ Groupon และ “เถ้าแก่น้อย”

โดยเรามักคิดว่าคนอายุ 50, 60, 70 ย่อมบุกเบิกสร้างกิจการไม่ได้แล้ว เพราะเป็นวัยอันควรเกษียณและพักผ่อนหรือเลี้ยงหลานอยู่กับบ้าน

โอกาสที่จะเข้าถึงทุนของพวกเขาแทบจะเป็นไปไม่ได้ (มันค่อนข้างนอกเหนือจินตนาการของบรรดานายธนาคารไปมาก ถ้าจะให้พวกเขาปล่อยสินเชื่อให้กับคนในวัย 50 หรือ 60 เพื่อมาลงทุนสร้างกิจการ)

แต่อย่าลืมว่าคนอย่าง Ray Krock ก็เริ่มสร้าง McDonald’s ตอนอายุ 50 กว่า และพันเอก Harland Sanders ก็เริ่มสร้าง Kentucky Fried Chicken เมื่ออายุ 60 กว่าแล้ว Verdi ประพันธ์โอเปร่าเรื่อง Falstaff ตอนอายุ 80 เช่นเดียวกับเบโธเฟนที่แต่งซิมโฟนีหมายเลข 9 เมื่ออายุ 54 และตอนที่รัชกาลที่ 1 สร้างกรุงก็ทรงมีพระชนมายุมากกว่ากึ่งหนึ่งของพระชนม์ชีพแล้ว และ Peter Drucker ก็เพิ่งจะมาดังสุดขีดและสร้างสรรค์สุดขีดในฐานะ Management Guru ระหว่างช่วงอายุ 60-94 นี่เอง เชอร์ชิลนำอังกฤษสู้ฮิตเล่อร์เมื่ออายุ 65 เช่นเดียวกับนายพลไอเซนฮาวที่นำกองทัพสัมพันธมิตรยกพลขี้นบกในวัน D-Day เมื่ออายุ 54 และไมเคิลแองเจโลก็ปีนขึ้นไปวาดภาพบนเพดานโบสถ์เซนต์ปีเตอร์ตอนอายุ 71 แล้ว หรือคนอย่าง แอ็ด คาราบาว เพิ่งจะก่อตั้งบุกเบิกกิจการ “คาราบาวแดง” ตอนอายุ 50 นี่เอง และยังคงแต่งเพลงและ Produce งานเพลงให้ศิลปินรุ่นหลังอยู่อย่างต่อเนื่องแม้จะย่างเข้าวัยเกษียณแล้ว (อย่าลืมว่า Rolling Stone ยังตระเวนแสดงสดอยู่ และสมาชิกวงก็ยังแต่ตัวสไตล์เดิม ไม่ต่างจากสมัยที่พวกเขายังเป็นวัยรุ่น และ Mick Jagger ก็ยังกระโดดโลดเต้นอยู่อย่างเดิม แม้จะอายุ 69 แล้ว)

คนอย่าง ส.ศิวรักษ์ และปีเตอร์ ดรักเกอร์ และ Ray Krock และพันเอก Harland Sanders และ Mick Jagger และสมาชิกวง Rolling Stone และหลายคนที่กล่าวมานั้น ทำให้คนรุ่นหลังอย่างเราไม่กลัวความแก่ และทำให้เราวางใจได้ว่าสังคมในอนาคตที่คาดกันว่าจะเต็มไปด้วยคนแก่นั้นจะยังสร้างสรรค์ต่อไปและไม่หยุดผลิต

ที่สำคัญ มันยังสร้างความหวังให้กับคนที่กำลังย่างเข้าวัย 40-50-60 ซึ่งคิดว่าตัวเองหมดหนทาง หมดเวลาแล้วสำหรับงานตั้งต้นบุกเบิก งานสร้างสรรค์ และรับความเสี่ยง ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะทำงานอยู่ในภาคราชการหรือเอกชนหรือเป็นนายตัวเองหรือทำงานสร้างสรรค์นฤมิตกรรมเพื่อยกระดับจิตใจมนุษย์ (Sursum Corda)

จะไม่มีคำว่า “อยู่ไปวันๆ” “รอเกษียณ” หรือ “รอวันถูกโละออกจากงาน”



ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
27 กุมภาพันธ์ 2555


ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น