วันจันทร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2557

จัดการกับความเห็นต่างเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่สร้างสรรค์



ผมเป็นแฟนคนหนึ่งของ SCANDAL โดยติดตามดูมาตั้งแต่ภาคแรกและภาคสอง ส่วนภาคที่สามที่กำลังออกอากาศอยู่ในขณะนี้ ยังไม่มีโอกาสได้นั่งลงดูอย่างจริงจัง

ละครดำเนินเรื่องอย่างรวดเร็ว บทพูดก็เร็ว และใช้แสลงค่อนข้างมาก แต่พล็อตเรื่องน่าสนใจ ฉากเยี่ยม และนักแสดงหลักทุกคนเล่นได้ดี จนคนดูบางทีก็เคลิ้ม จินตนาการไปได้ว่าตัวเองมีส่วนโลดแล่นอยู่ใน Washington D.C. กันกับพวกเขาด้วย

Kerry Washington ในบท Olivia Pope เจ้าของ Consulting Firm ที่มีเพื่อนร่วมงานหนุ่มสาวทันสมัย ปูมหลังการศึกษาดี พูดจาฉลาดฉะฉาน รับงานระดับชาติอันท้าทาย และ Well Informed อย่างยิ่งนั้น ทำให้หนุ่มสาวสมัยนี้เกิดแรงบันดาลใจได้เหมือนกัน

ผมหมายถึงแรงบันดาลใจในเชิงอาชีพ ที่เมื่อดูละครเรื่องนี้แล้ว หลายคนอาจอยากจะไปประกอบอาชีพ Lobbyist แบบตัวละครหลักกันบ้าง เพราะดูเหมือนมันเป็นอาชีพที่ทันสมัย ต้องตื่นตัว ต้องรู้เรื่องราวรอบตัวทั่วโลก แถมยังได้รับรู้ข่าววงในใจกลางความลับของรัฐบาลและเรื่องส่วนตัวของคนระดับผู้นำประเทศ และอยู่ใกล้อำนาจ และยังเป็นนักวางแผนที่ต้องใช้ปัญญา ช่วยสร้างภาพลักษณ์ จัดการข่าวสารให้เกื้อกูลต่อชื่อเสียงของลูกค้า นับเป็นงานท้าทาย และออกจะรับผิดชอบเกินตัว แถมยังไม่จำเจ จบเป็นกรณีๆ ไป

นับว่าเหมาะกับคนรุ่นใหม่ประเภท The Best and The Brightest

เพราะงานชนิดนี้ต้องการความรอบรู้ เป็นลักษณะสหวิทยาการ และต้องมีทีมงานที่มีส่วนผสมลงตัว ทั้งเก่งกฎหมาย การข่าว การประชาสัมพันธ์ การเมือง และการตลาด โดยเอาตัวของลูกค้าเป็น "ผลิตภัณฑ์" ซึ่งในเชิงการตลาดสมัยใหม่เรียกว่า Transformation Marketing นั่นเอง

ผมดูละคอนเรื่องนี้แล้วก็นึกถึงหนังเก่าๆ ที่ว่าด้วยอาชีพในฝันของคนอเมริกันรุ่นใหม่ ซึ่งอาชีพสำคัญๆ เหล่านี้ล้วนเป็นทัพหน้าของระบบทุนนิยมสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็น Margin Call ที่ว่าด้วย Hedge Fund หรือ Wall Street และ Working Girl ที่ว่าด้วย Investment Banker, Dealer, และ Broker หรือ Pirates of Silicon Valley ที่ว่าด้วยผู้ประกอบการไฮเทค และ Something Ventured ที่ว่าด้วย Venture Capitalist



SCANDAL อาจสมมติให้ตัวตนของตัวละครหลักแต่ละตัวเกินจริงไปสักนิด แบบว่า White House Chief of Staff เป็นเกย์โดยเปิดเผย และรองประธานาธิบดีเป็นผู้หญิง โดยที่ตัวประธานาธิบดีซึ่งมาจากพรรค Republican และเป็นพวก WASP มามีกิ๊กเป็นนางเอก ซึ่งเป็นหญิงผิวสีและบังเอิญเป็นเจ้าของกิจการ Consulting Firm ที่มีทีมงานชั้นคุณภาพจากหลากหลายเชื้อชาติผสมกันอยู่อย่างกลมกลืน

มันแสดงให้เห็นความเป็นจริงของสังคมอเมริกันซึ่งผู้คนมาจากร้อยพ่อพันธุ์แม่แต่ก็ต้องอยู่ร่วมกันให้ได้อย่างสันติและสามัคคีกันเพื่อสร้างสรรค์และจัดการงานให้ทรงประสิทธิภาพ

ละครเรื่องนี้ช่วยให้เราเข้าใจความเป็นมาเป็นไปของการเมืองระดับสูงใน Washington D.C. และกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ตลอดจนวิธีการผลักดันความคิดดีๆ และข้อเสนอเชิงผลประโยชน์ของแต่ละกลุ่มให้กลายเป็นข้อต่อรองในเชิงนโยบาย อีกทั้งวิธีจัดการกับเรื่องส่วนตัวที่ล่อแหลมและอาจจะส่งผลต่อชื่อเสียงของผู้นำเหล่านั้น

ที่สำคัญ มันทำให้เราได้เห็นวิถีชีวิตของบรรดา Lobbyist และกระบวนการทำงานของพวกเขา ที่มีเป้าหมายให้กลุ่มผลประโยชน์กลุ่มต่างๆ ตกลงต่อรองกันได้สำเร็จภายใต้กรอบของกฎหมายอเมริกัน โดยในความเป็นจริงนั้น พวกเขาอาจใช้เล่ห์เหลี่ยมกลโกงสารพัด และวิธีการที่ล่อแหลม หักหลังกันแบบหลายตลบ ซึ่งดูแล้วอาจขัดต่อหลักศีลธรรมจรรยา แต่มันก็ยังเป็นไปภายใต้กรอบใหญ่ของรัฐธรรมนูญอเมริกันอยู่เอง

นับเป็น Management Wisdom ที่สำคัญมากแบบหนึ่งในโลกสมัยใหม่

อย่าลืมว่า สังคมอเมริกันนั้น มีความหลากหลายมาก มีคนอพยพเข้ามาอยู่จากทั่วโลก หลากหลายเผ่าพันธุ์ หลากหลายชนชั้น หลากหลายความเชื่อ ฐานคติ โลกทัศน์ และผลประโยชน์ยึดถือ

ดังนั้นหัวใจสำคัญของการตกลงต่อรองย่อมคือ "การประนีประนอม" เพื่อให้เกิดข้อสรุปที่ทุกคนรับได้ โดยจะต้องยื่นหมูยื่นแมวกันแบบไหน เป็นเรื่องที่ต้องตกลงต่อรองกันแบบสันติ

เพราะหากประนีประนอมไม่สำเร็จ การจัดการกับ "ความเห็นต่าง" ย่อมต้องหันไปใช้ "ความรุนแรง" ซึ่งคนอเมริกันรุ่นทวด ได้เคยใช้ Massive Violence จัดการกับ "ความเห็นต่าง" มาแล้วเมื่อสมัยสงครามกลางเมืองหรือ Civil War ในราวปลายรัชสมัยรัชกาลที่ ๔ ของเรา

สงครามกลางเมืองเป็นบาดแผลใหญ่ของสังคมอเมริกันมาจนทุกวันนี้ และทำให้คนอเมริกันและคณะผู้นำของเขาหลังจากนั้นหลีกเลี่ยงความรุนแรง ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคม

ดังเราจะเห็นว่า รัฐสภาอเมริกันนั้นสามารถตกลงเรื่องสำคัญๆ ได้ทุกครั้งด้วยการต่อรองทั้งทางลับและทางเปิดเผย แม้จะเป็นเรื่องสำคัญและก้ำกึ่งอย่าง Shut Down Crisis ที่ตอนแรกทำท่าว่าจะตกลงกันไม่ได้ แต่สุดท้ายก็ตกลงกันได้ทุกคราไป



กระบวนการประนีประนอมซึ่งกันและกันระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ นั้น สำคัญมากในสังคมอเมริกัน เพราะนอกจากจะระบุไว้เป็นกฎหมายแล้ว ยังมีกระบวนการในที่ลับซึ่งสำคัญมากพอกัน

อเมริกาเกือบจะเป็นประเทศเดียวในโลกที่มี Lobbyist อย่างถูกกฎหมายจำนวนมากมายทำงานอยู่ในทุกวงการ พวกเขามีเป้าหมายให้คนที่มากกว่าสองกลุ่มขึ้นไปซึ่งมีความเห็นไม่ลงรอยกัน สามารถตกลงกันได้ด้วยวิธีเจรจา ประนีประนอม ตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน หรือยื่นหมูยื่นแมวกัน....ให้ทุกอย่างผ่านพ้นไปได้โดยราบรื่นภายใต้กรอบของกฎหมาย

รัฐธรรมนูญอเมริกันก็เขียนไว้เพื่อให้คนแต่ละกลุ่มอันมีที่มาหลากหลายได้ยึดถืออ้างอิง และหวังให้เกิดกระบวนการประนีประนอมเมื่อเกิดความคิดต่าง

อย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญอเมริกันที่ใช้มาแล้วกว่าสองร้อยปี เป็นกรอบโครงสำคัญที่วางพื้นฐานให้ประเทศสหรัฐฯ สามารถพัฒนาขึ้นมาทีละเล็กทีละน้อยจนยิ่งใหญ่ทั้งในทางทรัพย์สฤงคารและอำนาจอิทธิพล และยังคงสำคัญยิ่งต่อชีวิตและวิญญาณของชาวอเมริกันอยู่ในปัจจุบัน แม้เวลาจะล่วงเลยมานานมากแล้ว

ประเทศสหรัฐอเมริกานั้นเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับกรุงรัตนโกสินทร์ ย่อมผ่านการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มาไม่น้อยกว่าเรา แต่ด้วยกรอบรัฐธรรมนูญที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงปรับตัวและรับความคิดสร้างสรรค์ ภายใต้กระบวนการประนีประนอมเพื่อหาข้อสรุปร่วมกันโดยสันติอย่างต่อเนื่อง นับเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอันมีส่วนเกื้อกูลให้ประเทศของเขาได้รับความสำเร็จ

สำหรับผมแล้ว นั่นเป็น Management Wisdom อันหนึ่งที่แฝงอยู่ในระบบการการเมืองและการบริหารของพวกเขา

แน่นอน คนแต่ละชาติย่อมมีวิธีการจัดการกับความเห็นต่างและความขัดแย้งต่างกัน...แต่ละแบบ แต่ละสไตล์ เป็นแบบฉบับของตนเอง เพื่อหาข้อสรุปอย่างสันติ

อย่างญี่ปุ่นก็ใช้วิธีการของพวกเขาเอง ที่ฝรั่งเรียกว่า Absolute Consensus หรือ "มติสัมบูรณ์" คือต้องให้ทุกคนที่มีส่วนในกระบวนการตัดสินใจต่อเรื่องที่จะลงมติกันนั้นเห็นด้วยกันทั้งหมดทุกคน จึงค่อยถือว่ามตินั้นเป็นมติที่จะต้องนำไปปฏิบัติจริง ถ้ายังไม่เห็นด้วยกันทุกคนแล้ว ก็ยังไม่ยอมลงมติ

ในสมัยที่ฝรั่งส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยจะรู้ความลับเชิงการจัดการของญี่ปุ่น และถูกญี่ปุ่นแย่งความเป็นจ้าวทางเศรษฐกิจการค้าระดับโลกอยู่ในราวทศวรรษ 1970s-1980s นั้น Peter Drucker กูรูการจัดการได้เขียนบทความเรื่อง Japanese Management เปิดเผยเคล็ดลับที่ทำให้กิจการของญี่ปุ่นผงาดขึ้นมาในระดับโลกได้ โดยเขาได้ยกเอากรณี "มติสัมบูรณ์" เป็นองค์ประกอบหนึ่งด้วย



Drucker เล่าว่ากิจการของญี่ปุ่นนั้น เมื่อจะร่วมมือกับใคร พวกเขาย่อมต้องส่งคนมาดูงานก่อน และพอดูงานเสร็จ แทนที่จะตกลงทำสัญญาซื้อขายหรือร่วมธุรกิจกัน พวกเขากลับทอดเวลาออกไป สักพักก็จะส่งคณะที่สองมาดูงานซ้ำอีก และก็เงียบไป จนมีคณะที่สาม สี่ ห้า มาดูงานซ้ำเดิมอยู่อย่างนั้น จนคู่ค้าฝรั่งพากันงงและไม่เข้าใจ เพราะบางทีกระบวนการดูงานนี้ กินเวลาเป็นปีหรืออาจมากกว่านั้น

Drucker บอกว่านั่นเป็นวิธีการตกลงต่อรองกันเองของญี่ปุ่นก่อนที่พวกเขาจะตัดสินใจ การที่พวกเขาส่งคณะที่สองสามสี่มาดูงานซ้ำเดิม ก็เพราะว่าในองค์คณะผู้บริหารที่จะต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของพวกเขายังตกลงกันไม่ได้ ยังมีผู้ไม่เห็นด้วยอยู่ ผู้บริหารระดับสูงจึงต้องส่งคนที่ไม่เห็นด้วยมาดูงานให้เห็นกับตา ฯลฯ

แต่เมื่อพวกเขาตกลงกันได้แบบสัมบูรณ์ คือเห็นด้วยกันทุกคนแล้ว ทุกอย่างก็จะรวดเร็วปรู๊ดปร๊าด เพราะทุกคนในองค์กรนั้นเห็นด้วยร่วมกันแล้วว่าการร่วมมือครั้งนี้จะเกิดประโยชน์กับพวกเขา จนไม่มีใครขัดขวาง และโครงการก็จะดำเนินไปอย่างรวดเร็วภายใต้การสนับสนุนของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และปัญหาอุปสรรคต่างๆ ก็จะไม่มี โครงการระยะยาวก็จะราบรื่น

ดีกว่าเซ็นต์สัญญากันไปแล้ว ต้องมาล้มเลิกในระยะต่อมาเพราะเกิดความขัดแย้งที่มองข้ามไปแต่แรก หรือเกิดความขัดแย้งอันเนื่องมาจากเจ้าหน้าที่บางส่วนไม่เห็นด้วยหรือไม่เต็มใจ

นั่นก็เป็นความลับในเชิงการบริหารจัดการของญี่ปุ่น ที่พวกเขาใช้ในกระบวนการตัดสินใจและตกลงต่อรองและแก้ปัญหาความคิดต่างขององค์กรอย่างสันติ ตั้งแต่ระดับครอบครัว หมู่บ้าน ธุรกิจ ไปจนถึงการเมืองระดับประเทศ

นับเป็น Management Wisdom อันหนึ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จ

สังคมไทยเราก็เป็นสังคมประนีประนอม แต่เป็นการประนีประนอมเฉพาะในระดับบน ถ้าเป็นการเมืองก็ตกลงกันเองเพียงไม่กี่คนหรือไม่กี่กลุ่ม

สมัยก่อน สังคมไทยปกครองโดยคนไม่กี่ตระกูล ก็ตกลงกันในระดับหัวหน้าของตระกูลเหล่านั้น เช่น ราชวงศ์จักรี ตระกูลบุนนาค และตระกูลขุนนางสำคัญๆ อีกไม่กี่ตระกูล เป็นต้น

ต่อมา หลัง 24 มิถุนาฯ 2475 มีกลุ่มข้าราชการประจำเข้ามาขอแชร์อำนาจ ก็ต่อรองกันเองในหมู่พวกเขา
และต่อมาอีก หลัง 14 ตุลาฯ 2516 มีกลุ่มนักธุรกิจและพ่อค้าต่างจังหวัดเข้ามาขอแชร์อำนาจเพิ่มเติมเข้าไปอีก ระบบต่อรองก็ซับซ้อนขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง

ปัจจุบัน อาจเรียกได้ว่าถึงยุคที่จะมีประชาชนคนทั่วไป ซึ่งเคยอยู่นอกสมการอำนาจ เข้ามาขอแชร์อำนาจเพิ่มขึ้นอีกพวกหนึ่ง

สังคมไทย จึงต้องแสวงหากระบวนการประนีประนอมในระดับ Mass Compromise เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ เป็นไปด้วยความราบรื่น และวางรากฐานเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์สืบไปในอนาคต

วีธีการนี้ ไม่มีคำตอบสำเร็จรูป แต่เราอาจเรียนรู้เอาจากสังคมอื่นที่เขาทำสำเร็จมาก่อนแล้ว ได้เช่นกัน

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
25 ธันวาคม 2556
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนธันวาคม 2556

1 ความคิดเห็น: