วันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

สมเด็จพระสังฆราช: The Minimalist


การมาของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก องค์ที่ 20 นั้น เป็นเรื่องสมสถานการณ์ ในแบบที่ Victor Hugo ปัญญาชนใหญ่ของฝรั่งเศสผู้หนึ่ง เคยกล่าวไว้ทำนองว่า "One cannot resist an idea whose time has come.”

พระองค์ท่านทรงเป็น "The man of the hour.”

เพราะชนชั้นนำของสังคมไทยมีความเห็นกันว่า พระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่มีอาวุโสสูงสุด ไม่เหมาะสมที่จะขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช เพราะมีความเกี่ยวข้องกับเจ้าอาวาสวัดธรรมกาย ซึ่งมีคดีความสำคัญติดตัวจำนวนมาก หากได้ขึ้นในตำแหน่งประมุขสงฆ์แล้ว ย่อมจะเกิดการแตกแยกครั้งใหญ่ อีกทั้ง องค์ที่สังคมยกย่องเชื่อถือในปัญญา ว่ามีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในพระธรรมวินัย และวัตรปฏิบัติ อย่างสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์นั้น ก็ยังมีอาวุโสเป็นลำดับสุดท้าย แม้จะเป็นพระมหานิกาย ซึ่งน่าจะเป็นจังหวะที่ดีสำหรับพระฝ่ายนี้ให้ได้ขึ้นสู่ตำแหน่งประมุขฝ่ายสงฆ์ หลังจากฝ่ายธรรมยุตครองตำแหน่งมาถึง 2 สมัยแล้ว ก็ตามที

พระองค์ท่าน ยังมาในเวลาที่โลกและไทยกำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ

ทั้งการเปลี่ยนตัวผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งมีนโยบายสนับสนุนการกีดกันเชื้อชาติและศาสนา และนโยบายเศรษฐกิจและต่างประเทศแบบใหม่ที่อาจกระทบต่อระเบียบโลกและภูมิภาคเอเซีย ตลอดจนการขึ้นครองราชของประมุของค์ใหม่ของไทย และการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ออกแบบมาให้เป็นกรอบกติกาสำหรับการปกครองระบอบใหม่ของไทย นับแต่นี้

บทบาทของพระสังฆราชนับแต่นี้จึงน่าจะมีความสำคัญมาก คู่บุญไปกับบทบาทขององค์พระประมุข ภายใต้สถานการณ์โลกที่จะเปลี่ยนแปลงไป และสถานการณ์แห่งการปรองดองที่ทุกฝ่ายคาดหมายว่าจะเกิดขึ้นอย่างจริงจังในสังคมไทย

ที่มาของพระองค์นั้น ไม่ใช่ธรรมดา เพราะนอกจากจะได้รับการแต่งตั้งจากองค์พระประมุขโดยตรงแล้ว พระองค์ยังเคยเป็นลูกศิษย์รับใช้ใกล้ชิดของพระสังฆราชองค์ก่อน (วาสน์ วาสโน) และได้ชื่อว่าเป็นศิษย์องค์หนึ่งของหลวงปู่ฝั้น พระสายคามวาสีที่มีผู้นับถือเป็นอย่างสูง

บุคลิกของพระองค์เอง ก็นับว่าเหมาะแก่การณ์ และเสริมบารมีให้สูงส่งขึ้นไปอีก เพราะพระองค์ท่านแสดงออกชัดเจนว่าเป็น "Minimalist” ที่แท้จริง

ว่ากันว่า ท่านไม่สะสม ไม่มีรถยนต์ ไม่มีทรัพย์สินส่วนตัว หรือแม้แต่เหรียญของหลวงปู่ฝั้น ท่านก็ยังไม่เคยสะสมไว้

ความเป็น Minimalist ของพระองค์ท่าน ยังแสดงออกอย่างชัดเจน ในพระโอวาท ซึ่งท่านประทานเป็นครั้งแรกหลังจากได้รับสถาปนาว่า 

"ขออำนวยพรแก่สาธุชนทุกคนที่ได้มีศรัทธา และได้มาประชุมพร้อมกันด้วยจิตใจที่เปี่ยมด้วยกุศล ท่านทั้งหลายได้มาในวันนี้ เพื่อมาอำนวยพร หรือมาแสดงมุทิตาแก่อาตมา ที่ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

ขออนุโมทนาสาธุการ ขอบใจ อุบาสก อุบาสิกาทุกท่าน ท่านทั้งหลายมีธรรม ความดีความงามประจำใจอยู่ และขอให้รักษาความดี ความงามที่มีให้คงอยู่ตลอดไป ท่านทั้งหลายเป็นอุบาสก อุบาสิกา เพราะฉะนั้น ขอให้รักษาจิตใจที่เลื่อมใสศรัทธาในพระรัตนตรัยให้คงที่ไว้ หลักธรรมสำคัญ 3 ข้อ ที่พระพุทธองค์ทรงสอน และขอให้ยึดถือเป็นประจำ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา คือทำกาย วาจา ใจ ให้เป็นปกติ นึกถึงสภาวะธรรมที่ว่าง เป็นปกติ มีสมาธิ ปัญญาก็เกิดขึ้นตามลำดับ

ฉะนั้น ขอให้นึกถึงหลักธรรมที่พระพุทธองค์ได้สอนเราไว้ 3 ข้อง่ายๆ ทุกคนก็จะมีความสุขใจ อนึ่ง ในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้ทรงสร้างวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร ในสมัยของพระองค์ มีภาษิตอยู่บทหนึ่ง ซึ่งอาตมาขอมอบภาษิต "สัพเพสัง สังฆะภูตานัง สามัคคี วุฑฒิ สาธิกา ความพร้อมเพรียงแห่งชนผู้อยู่ร่วมกันเป็นหมู่ ยังความเจริญวัฒนาถาวรให้สำเร็จ" 

ให้รักษาคำนี้ไว้และนำไปปฏิบัติ เพราะความพร้อมเพรียงนำความเจริญรุ่งเรืองให้สำเร็จได้ ขณะนี้ ประเทศเรากำลังต้องการการพัฒนา ขอให้ท่านนึกถึงสุภาษิตนี้ รวมถึงหลักธรรมทั้ง 3 ข้อ หวังว่าทุกท่านจะเข้าใจและยึดถือ ศีล สมาธิ ปัญญา มีความสามัคคี เท่านี้ประเทศชาติของเราก็จะเจริญรุ่งเรือง"

สั้น กระชับ ตรงประเด็น และยังมีพลังโน้มน้าวให้รักชาติ รักสามัคคี ปรองดอง และเทิดทูลสถาบันพระมหากษัตริย์ ไปในตัว


นับเป็น Speech ที่บรรดาผู้นำ นักการเมือง และผู้สนใจเรื่อง Leadership ทุกคน ควรศึกษาเอาอย่าง


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว 
14 กุมภาพันธ์ 2560
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2560

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น