วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2554

เชิงจัดการกับ "เศรษฐกิจสร้างสรรค์"

(บทความชุด "เศรษฐกิจสร้างสรรค์" ลำดับที่ 3)



1. Productivity


ถ้าทรัพยากรของสองประเทศมีพอกัน แต่ประเทศกอไก่อุดมไปด้วยราษฎรที่ขยันขันแข็งเอาการเอางาน กับประเทศขอไข่ที่ราษฎรขี้เกียจสันหลังยาว วันๆ เอาแต่นอนและเที่ยวเล่น  ท่านผู้อ่านว่าประเทศไหนจะมั่งคั่งกว่ากันละ...หรือท่านจะลดจากหน่วยประเทศลงมาเปรียบเทียบเอากับคนสองคน ครอบครัวสองครอบครัว หรือองค์กรสององค์กรดู ก็จะได้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกัน



“ความขยันขันแข็ง” เป็นนิสัยที่แฝงด้วยมูลค่าเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่งคั่งและคุณภาพชีวิตอีกทอดหนึ่ง


ผู้ประกอบการและองค์กรแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตลอดจนสถาบันและรัฐบาล จำเป็นต้องให้ความสนใจต่อ Productivity ของตน มิใช่มีแต่ส่วนครีเอตีฟ ส่วนวิสัยทัศน์ ส่วนวางแผน ส่วนคิด และส่วนนำเสนอ ซึ่งนักสร้างสรรค์มักจะชำนิชำนาญ แต่จะต้องมีครบทั้งหัวและหาง คือส่วน “ทำ” ส่วน “ควบคุม” ส่วน “วัดผล” และส่วนฟีดแบ็กและปรับปรุง


นักสร้างสรรค์ที่ประสบผลสำเร็จ ย่อมต้องรู้จักสร้างสรรค์กระบวนการผลิตและบริการ ตลอดจนกระบวนการจัดการภายในองค์กรของตนไปด้วย มิใช่มุ่งแต่สร้างสรรค์สินค้าและบริการและแบรนด์แต่เพียงด้านเดียว


พวกเขาย่อมต้องแสวงหาเทคโนโลยีเพื่อผ่อนแรง รู้จักแยกส่วนการผลิต และรู้จักเอาประโยชน์จากแรงงานราคาถูกตลอดจนเทคโนโลยีขนส่งที่รวดเร็วและแม่นยำ ในนามของ Global Supply Chain Management และรู้จักแสวงหาเงินต้นทุนต่ำที่มีอยู่ทั่วไปในโลกขณะนี้


คุณภาพการศึกษาจึงสำคัญกับความมั่งคั่งและคุณภาพชีวิตด้วยประการฉะนี้!






2. Efficiency


องค์กรหรือประเทศที่ประกอบด้วยสมาชิกหรือราษฎรที่เฉลียวฉลาด รู้จักสร้างงาน ประกอบการด้วยความพลิกแพลง รู้จักปรับปรุงเปลี่ยนแปลง รู้จักยักย้ายถ่ายเท ให้ทำงานง่ายขึ้น สบายขึ้น โดยได้ผลงานเท่าเดิม หรือมากขึ้น ดีขึ้น องค์กรหรือประเทศนั้นย่อมเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป



“ความฉลาดเฉลียว” ย่อมเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ผู้สร้างสรรค์ทำงานด้วยงาม “สง่างาม” (Work Smart) เพราะคนบางคน ด้วยอาศัยความฉลาด ก็เข้ายึดกุมหัวใจสำคัญของงานสร้างสรรค์หรือกระบวนการผลิต หรือทรัพยากรอันมีอยู่จำกัด แล้วก็เลยควบคุมความเป็นไปทั้งมวลของผลผลิตได้โดยปริยาย อีกทั้งยังได้รับส่วนแบ่งผลประโยชน์โภคผลมากมายกว่าคนอื่น


เศรษฐกิจสร้างสรรค์ส่วนใหญ่ตกอยู่ในข่ายนี้ ลองกวาดตาไปรอบๆ ท่านอาจเห็นดีไซด์เนอร์ค่าตัวเป็นล้าน แบงเกอร์โบนัสแปดหลัก นักร้องนักแสดงค่าตัวทะลุเมฆ เจ้าของแบรนด์แฟชั่นหรูที่ตั้งราคากระเป๋าหนังของตัวใบละหลายล้านแต่ก็มีคนซื้อ มหาเศรษฐีอายุน้อยที่สร้างตัวจากการคิดค้นเกม คิดค้นคอมพิวเตอร์ คิดค้นแอพพลิเคชั่น คิดค้นของเล่นใหม่ๆ บนอินเทอร์เน็ต ฯลฯ


ความเฉลียวฉลาด เป็นพื้นฐานของความทรงประสิทธิภาพหรือ Efficiency

พระนารายณ์นั้น ตามตำนาญก็ว่าเป็นเทพที่เฉลียวฉลาดกว่าเทพทั้งปวง แม้อาวตารลงมาเป็น “ราม” แล้วก็เถอะ ยังสามารถเอาชนะทศกัณฑ์พญายักษ์ที่มีกำลังเหนือกว่า และเอาหนุมานและพลพรรคลิงซึ่งมีจำนวนมากและวิทยายุทธ์ลึกล้ำมารับใช้ได้อย่างศิโรราบ

กระบวนการปรับปรุงประสิทธิภาพเป็น Self-starting Process

ดังนั้น การผูกขาดการศึกษาไว้ให้อยู่ในมือของชนชั้นบนและชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นเพียงชนส่วนน้อยของสังคม ย่อมไม่เป็นผลดีต่อ Efficiency และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในระยะยาวอย่างแน่นอน!





3. Effectiveness


ความหมายใจมุ่งมั่น ต้องไปให้ถึงเป้าหมาย ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ไม่ล้มเลิกความตั้งใจและการกระทำกลางคัน แม้ล้มก็จะลุกขึ้นแล้วเดินต่อไปยังจุดมุ่งหมาย เป็นนิสัยอีกอันหนึ่งของนักสร้างสรรค์ผู้ประสบความสำเร็จ



ประวัติของนักสร้างสรรค์ทุกคนบ่งบอกไว้ชัดเจนว่าเป็นคนมุ่งมั่น กัดติด ลุ่มหลงในสิ่งที่ทำอย่างหัวปักหัวปำ


เจ้าชายสิทธถะใช้เวลาศึกษาด้วยตัวเองถึง 6 ปี กว่าจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไอชไตน์ครุ่นคิดคณิตศาสตร์ในหัวเกือบตลอดเวลา แม้แต่ตอนไปเที่ยวเล่น ก็ยังบันทึกลง Travel Journal เป็นสูตรคณิตศาสตร์ไปเสียฉิบ

บ้าคพกโน้ตเพลงติดตัวตลอดเวลา เผื่อความคิดแล่นเมื่อใด จะได้จดจารลงไปได้ทันควัน หรือขัดเกลาแก้ไขได้ทันที ปิกัสโซ่ทำงานศิลปะตลอดเวลาตั้งแต่อายุ 9 ขวบจวบจนตายเมื่ออายุ 91 ตลอดชีวิตเขาผลิตงานศิลปะกว่าสามหมึ่นชิ้น ทั้งภาพสเกชต์ ภาพสีนำ้ สีน้ำมัน งานปั้น งานตัดแปะกระดาษ งานเหล็ก งานวัสดุหลากหลายชนิด งานแกะ งานพิมพ์ งานออกแบบเสื้อผ้า งานโฆษณา งานโบรชัว งานแม็กกาซีน งานวาดภาพประกอบหนังสือ งานออกแบบฉากละคร และ ฯลฯ

ไมล์ เดวิส เป่าทรัมเป็ตมาตั้งแต่เล็กๆ แล้วมุ่งมั่นจนเข้าเรียนที่จูลิอาดได้ แต่ลาออกกลางคัน เพื่อร่วมเล่นกับนักดนตรีขั้นเทพในคลับแจ๊สเล็กๆ ทั่วนิวยอร์ก เขาเป่าทุกวัน วันละหลาย Gig และยังคิดค้นวิธีเป่าใหม่ๆ อยู่ตลอด เมื่อว่างก็จะไปขลุกอยู่ห้องสมุดเพื่อยืมโน้ตเพลงเก่าตั้งแต่สมัยบ้าค โมสาร์ท เบโธเฟ่น และศีตกรเอกอุ มาศึกษาอย่างละเอียด จนวันหนึ่งเขาก็ได้ยินเสียงในใจขึ้นมา และเมื่อเขาเพียรเป่าตามเสียงที่ได้ยินนั้น เขาก็ได้คิดค้น COOL JAZZ หรือ MODAL JAZZ ซึ่งถือเป็นการ Breakthrough สำคัญในวงการดนตรีตะวันตก  

มาร์ค ซุกเคอเบิก ก็หมกมุ่นเรื่องธุรกิจ เรื่องความฝัน แรงบันดาลใจ เรื่องแรงผลักดันของการประสบความสำเร็จ และเรื่อง Social Network จนเหลือเชื่อ แม้แต่ตอนจีบสาว หรือนัดสาวไปออกเดท ก็เอาแต่พล่ามถึงเรื่องทำนองนั้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เคยตรัสครั้งหนึ่งว่า แม้พระองค์จะทรงครองราชตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทว่าพระองค์ได้ทรงพระราชดำริมาแต่ต้นว่าจะทรงพระวิริยะอุตสาหะและมีความมุ่งมั่นจะเป็นกษัตริย์ที่ดี

ขัตติยะมานะและความมุ่งมั่นอันยิ่งยวดไม่ยอมอ่อนข้อย่อมนำมาซึ่งประสิทธิผลอันยิ่งใหญ่




4. Synergy


ประเทศหรือองค์กรกอไก่ประกอบขึ้นด้วยราษฎรที่มีความสามัคคีกลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เมื่อมีทุกข์ก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน รวมพลังกันต่อต้านทุกข์ และแสวงหาวิธีพ้นทุกข์ร่วมกัน เมื่อมีสุขก็เสพสุขร่วมกัน กระจายกันไปทั่วหน้า ย่อมมั่งคั่งรุ่งเรืองกว่าประเทศหรือองค์กรขอไข่ที่สมาชิกแตกสามัคคี เอาแต่ขัดแย้งรบพุ่ง และทอนกำลังซึ่งกันและกัน อย่างแน่นอน



โลกยุคใหม่เป็นโลกแห่งเครือข่าย เป็นสังคมเครือข่าย และแข่งขันกันระหว่างเครือข่าย ผู้ประกอบการแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์ย่อมต้องรู้จักแสวงหาพันธมิตรมาเติมเต็มในส่วนที่เราอ่อนหรือขาด


ผู้ประกอบการแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์ย่อมต้อง “กินแบ่ง” ไม่ “กินรวบ” 


Apple Applications อาศัยพลังจากเครือข่ายพันธมิตรกว่าแสนราย ยังมิพักต้องกล่าวถึง Amazon.com หรือ eBay ที่มีจำนวนนับล้าน


ผู้ประกอบการแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์ย่อมต้องรู้จักร่วมแบ่งปัน แม้ศัตรูก็อาจร่วมกันได้ในบางแง่มุม


ผู้ประกอบการแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต้องรู้จักแสวงหาพลังผนึก หาน้ำดีมารวมกับน้ำดี ต้องตาถึง ต้องรู้จักหาเพชรในตม และเจียรนัยเพชร


เมื่อ 1+1 แล้วได้ผลลัทธ์มากกว่า 2 นั่นจึงเป็น Synergy ที่แท้จริง


ท่านผู้อ่านลองใช้แนวคิดนี้ไปจับเอาแนวนโยบายด้านชายแดนกัมพูชาดู ว่ากลยุทธ์ที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น เป็น Zero-sum Game หรือ Negative-sum Game หรือ Positive-sum Game กันแน่


ทั้งๆ ที่สองประเทศนี้ก็มีนักสร้างสรรค์อยู่เป็นจำนวนมาก...ทำไมถึงคิดกันไม่ออก!


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
22 มีนาคม 2554
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุด "เศรษฐกิจสร้างสรรค์" ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนมีนาคม 2554


**โปรดคลิกอ่านบทความในชุดเดียวกันได้ข้างล่างนี้


1. สร้าง "เศรษฐกิจสร้างสรรค์" ในความเห็นผม


2. สิ่งสร้างสรรค์ง่ายๆ แบบไทยๆ ที่จะสร้างความมั่งคั่งได้อย่างยิ่งใหญ่


3. ความคิดสร้างสรรค์มาจากไหน


4.ไอ้เสมา หัวหมู่ทะลวงฟันแห่งยุคเศรษฐกิจใหม่ 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น