วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

การใช้อำนาจแบบไทยๆ



เมื่อแรกนั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมึ่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ อดีตนายกราชบัณฑิตสถาน ทรงบัญญัติศัพท์คำว่า ภูว ขึ้น เพื่อใช้แทนความหมายของคำ “Power” ในภาษาอังกฤษ นัยว่า ตั้งพระทัยจะหาคำไทยที่ออกเสียงพ้องคำฝรั่งนั้นด้วย

ครั้นจำเนียรกาลนานมา คำว่า ภูว ก็เลือนไป ผู้แต่งหนังสือและนักพูดส่วนใหญ่ ยังคงนิยมใช้คำว่า อำนาจ ที่เป็นคำโบราณอยู่อย่างเดิม ไม่ยอมเปลี่ยนมาใช้คำว่า ภูว ที่ทรงดำริขึ้นใหม่นั้น โดยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับ ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นฉบับล่าสุด ก็ได้นิยามคำ ภูว ว่า แผ่นดิน และมีตัวอย่างคำบางคำ เช่น ภูวดล แปลว่า พื้นแผ่นดิน และ ภูวนาถ หรือ ภูวเนตร หรือ ภูวไนย ที่ล้วนแปลว่า พระเจ้าแผ่นดิน

ส่วนคำว่า อำนาจ นั้น กลับนิยามว่า สิทธิ เช่น มอบอำนาจอิทธิพลที่จะบังคับให้ผู้อื่นต้องยอมทำตาม ไม่ว่าจะด้วยความสมัครใจหรือไม่ หรือความที่สามารถบันดาลให้เป็นไปตามความประสงค์ เช่น อำนาจบังคับของกฎหมาย อำนาจบังคับบัญชาความสามารถหรือสิ่งที่สามารถทำหรือบันดาลให้เกิดสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ เช่น อำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย อำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์กำลังพลัง เช่น อำนาจจิต อำนาจฝ่ายสูง อำนาจฝ่ายต่ำความรุนแรง เช่น ชอบใช้อำนาจการบังคับบัญชา เช่น อยู่ใต้อำนาจการบังคับ เช่น ขออำนาจศาล.” (โดยได้นิยามคำใกล้เคียง เช่น อำนาจบาตรใหญ่ ว่า อำนาจที่ใช้ในทางข่มขี่ เช่น ถือว่ามีอำนาจบาตรใหญ่รังแกใครก็ได้ตามใจชอบ.” และคำว่า อำนาจมืด ว่า อิทธิพลที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือระเบียบเป็นต้น ที่บังคับให้ผู้อื่นต้องยอมตาม.”)

ผมไม่แน่ใจว่า กรมหมึ่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงคาดหวังให้คำใหม่ที่ทรงตั้งพระทัยจะให้ใช้แทน Power นี้ มีนัยยะถึง พระเจ้าแผ่นดิน ด้วยหรือไม่ เพราะแต่ไหนแต่ไรมา พระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นตัวแทนของ Power ทั้งมวลในขอบขัณฑสีมา และยังเป็น Sources of Power อีกด้วย เพราะ พระบรมราชานุภาพของพระเจ้าแผ่นดิน ย่อมเป็น "ที่ล้นที่พ้น" อย่างที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยทรงแถลงไว้ใน พระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน ว่า ไม่มีข้อใด สิ่งอันใด ฤาผู้ใด จะเป็นผู้บังคับขัดขวางได้

ประเทศไทยเรา เพิ่งจะมามีกฎหมายกำหนดและจำกัด พระบรมราชานุภาพของพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อ พ.๒๔๗๕ นี้เอง

แน่นอน ก่อนหน้านั้น พระบรมราชานุภาพของพระเจ้าแผ่นดิน ย่อมมีที่มาทั้งจาก บุญวาสนา บารมี สติปัญญา ความรู้ความสามารถ ชื่อเสียงเกียรติคุณ และ พระราชทรัพย์ รวมตลอดถึง พระราชอาญา

แม้ในทางทฤษฎี พระบรมราชานุภาพ จะ เป็นที่ล้นที่พ้น….ไม่มีข้อใด สิ่งอันใด ฤาผู้ใด จะเป็นผู้บังคับขัดขวางได้ แต่ในทางปฏิบัติย่อมต้องเป็นไปในแบบที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เคยทรงแถลงไว้อีกเหมือนกันว่า ต้องทรงประพฤติไปตามทางที่เปนสมควรแลที่เปนยุติธรรม 

ดังนั้น ในพิธีบรมราชาภิเษกทุกครั้ง ย่อมต้องปิดท้ายด้วยการให้กษัตริย์พระองค์ใหม่สดับพระธรรมเทศนากัณฑ์พิเศษคือ ทศพิธราชธรรม โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เคยทรงพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า “….เทศนากัณฑ์นี้ถือกันว่าเป็นอย่างครูบาอาจารย์สอนและเตือนพระเจ้าแผ่นดินใหม่ให้รู้จักกรณียกิจของพระเจ้าแผ่นดิน…….เมื่อได้ฟังเทศนานี้แล้วก็เปนอันเสร็จงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก.”

นั่นเป็น Anatomy ของพระราชอำนาจของกษัตริย์ไทยในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช ซึ่งผู้สนใจเรื่อง อำนาจ และคิดจะเดินทางไปบนเส้นทางสายอำนาจ หรือต้องการได้มาซึ่งอำนาจ จำต้องศึกษาเรียนรู้ เอาเป็นกรณีศึกษา และเอาเป็นครู เพราะพระราชอำนาจ ของพระมหากษัตริย์สมัยก่อนนั้น ถือกันว่าเป็นอำนาจสูงสุดในหมู่มวลมนุษย์หรือในสังคมมนุษย์ เหนือกว่านี้ ก็ต้องเป็นอำนาจของเทพยาดาฟ้าดินแล้ว

ถ้าเทียบแบบฝรั่ง พระบรมราชานุภาพของพระเจ้าแผ่นดินสมัยก่อน ย่อมถึงพร้อมด้วย Coercive PowerAuthoritative PowerLegitimistic PowerPersuasive Power, Knowledge PowerCharismatic PowerSpiritual PowerPower from Wealth and Social Classแถมยังเป็นที่มาของอำนาจให้ผู้ที่ทรงมอบหมายหรือผู้ใกล้ชิด ซึ่งฝรั่งเรียกว่า Reference Power อีกด้วย (เช่นการพระราชทาน พระแสงอาญาสิทธิ์ ให้กับแม่ทัพ หรืออำนาจขององคมนตรีในระยะหลังมานี้ เป็นต้น)

ทั้งหมดนั้น ถ้าใช้ด้วยความสุขุม รอบคอบ และทรงประสิทธิภาพ ย่อมเกิดผลให้คน ทั้งกลัวทั้งรัก ซึ่งถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของการใช้อำนาจ แต่ถ้าใช้ไป ตามทางที่ไม่เป็นสมควรและไม่เป็นยุติธรรม หรือโดยไม่รอบคอบ ไม่ถูกจังหวะจะโคน ก็มักจะก่อให้เกิดความ เกลียดชัง ซึ่งถือเป็น Side Effect ของ การใช้อำนาจ ได้เช่นกัน

ผู้นำที่ทรงปัญญา เก่ง และมีอำนาจ หรือเคยมีอำนาจมาก่อน ย่อมรู้เรื่องเหล่านี้เป็นอย่างดี ว่าอำนาจ เปรียบเหมือนเหรียญสองด้าน หรือเหมือนเสือที่ต้องขึ้นขี่ ถ้าใช้ไม่ระวัง อาจก่อให้เกิดความเกลียดชัง ถ้ายังคงสามารถใช้ความรักหรือความกลัวข่มความเกลียดนั้นไว้ได้ อำนาจก็ยังรักษาไว้ได้ แต่ถ้าความเกลียดมีมากเข้าๆ จนเกินกลัวแล้ว ผู้นำคนนั้น หรือคณะนั้นย่อมถึงกาลอาวสานอย่างยากจะหลีกเลี่ยง

ฉะนั้น การใช้อำนาจ จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่ผู้นำหรือผู้มีอำนาจจำต้องรู้ ควบคู่กันไปกับการแสวงหาให้ได้มาซึ่งอำนาจ

ประเพณีการใช้อำนาจ ของแต่ละสังคมย่อมแตกต่างกัน สังคมไทยเองก็มีประเพณีการใช้อำนาจเป็นเฉพาะของตน ผสมปนเประหว่างประเพณีการปกครองแบบเดิม ที่สืบทอดมาแต่โบราณ และ Associated อยู่กับสถาบันทางสังคมเก่าแก่ อย่างสถาบันพระมหากษัตริย์และระบบราชการ หรือแม้แต่ระบบวัฒนธรรมบางประการ เช่น การเคารพหรือให้เกียรติผู้อาวุโส เป็นต้น กับแนวคิดทางการจัดการสมัยใหม่ แบบฝรั่ง

ผู้นำหรือนักการเมืองที่ประสบความสำเร็จในโครงสร้างสังคมไทยส่วนใหญ่ ย่อมต้องรู้จักและช่ำชองใน วัฒนธรรมการใช้อำนาจ แบบไทย เป็นอย่างดีด้วย มิใช่รู้แต่เพียง เศรษฐกิจ การเมือง การทหาร การจัดการ หรือกฎหมาย เท่านั้น

ความล้มเหลวของ ทักษิณ ชินวัตร และสหาย ในครั้งกระโน้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะขาดความรู้ความเข้าใจ (หรือมองข้าม) ในเรื่องของ วัฒนธรรมการใช้อำนาจ นั่นเอง ผู้มีอำนาจในรัฐบาลทักษิณส่วนใหญ่ มักใช้อำนาจโดยขาดความเข้าใจต่อประเพณีการใช้อำนาจที่เคยมีมาในสังคมชั้นสูงของไทย เลยถูกมองว่าเป็นพวกที่ ไร้วัฒนธรรมการใช้อำนาจ และเพาะความเกลียดชังขึ้นทีละเล็กทีละน้อย เบื้องแรกก็แต่ในหมู่ชนชั้นสูง ข้าราชการ และแวดวงปัญญาชนก่อน ต่อมาก็ขยายวงกว้างไปในแทบทุกวงการ

ว่าไปก็น่าเห็นใจ เพราะผู้นำในรัฐบาลทักษิณจำนวนมาก ล้วนเป็นพวกที่มาจากนอกแวดวงอำนาจ หรือไม่ก็เคยผ่านประสบการณ์ในแวดวงอำนาจแบบจำกัด แต่จู่ๆ ก็กลับมีอำนาจขึ้นมาอย่างมากมาย เกือบจะไร้ฝ่ายต่อต้านหรือการคานอำนาจ เลยใช้อำนาจกันไม่ถูก และเอาไว้ไม่อยู่

ผมสังเกตว่าผู้นำในรัฐบาลทักษิณ มักโน้มเอียงไปในเชิงการใช้อำนาจ แม้ปัญหาบางประการที่ไม่ควรใช้อำนาจเข้าแก้ไข ก็มักใช้อำนาจเข้าแก้ปัญหาในที่สุด นัยว่าต้องการให้จบเร็วและเบ็ดเสร็จ

นอกไปจากนั้น การมีอำนาจโดยไร้การคานเป็นเวลานาน ก็ย่อมทำให้นิสัยใจคอ เปลี่ยนแปลงไปได้ด้วยเหมือนกัน ที่เคยน่ารักในสายตาคนอื่นเมื่อยังไม่มีอำนาจ ก็กลับกลายเป็นตรงกันข้ามไปอย่างน่าเสียดาย

ท้ายที่สุด คือผู้นำเหล่านั้น อาจเข้าใจไขว้เขวไปว่าอำนาจที่ตัวเองมีอยู่เวลานั้นมัน เที่ยงแท้ ทั้งๆ ที่มันเป็นแต่เพียง สมมุติอำนาจ ที่ราษฎรทั้งหลายยอมให้พวกท่านมีอำนาจ ท่านถึงมีอำนาจอยู่ได้ ดังนั้น เมื่อดุลแห่งความเกลียดชังหนักหน่วงกว่าความรักและความกลัว พวกท่านจึงถึงที่สุดเท่านั้นเอง

ว่าไปทำไมมี ก็อำนาจทั้งมวลในระบอบประชาธิปไตย ล้วนเป็น สมมุติอำนาจ ทั้งสิ้น

ผมหวังว่า ความเข้าใจและช่ำชองในเรื่องของ อำนาจ ประเพณีการใช้อำนาจ และวัฒนธรรมการใช้อำนาจ ของสังคมไทย จะมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยมในหมู่ผู้นำรุ่นใหม่ของเรา นับแต่นี้เป็นต้นไป

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2552

***โปรดคลิกอ่านความเห็นเรื่อง "อำนาจใหม่" และสูญญากาศแห่งอำนาจได้ตามลิงก์ข้างล่าง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น