วันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2555

Re-MADE IN U.S.A.




หลังจาก Steve Jobs ตาย มีคนขุดคุ้ยเรื่องราวของเขาแบบทุกเม็ด เพราะเขาเป็นแบบอย่างของคนรุ่นใหม่ที่มามือเปล่า แต่กลับถีบตัวขึ้นมายืนอยู่แถวหน้าของโลกได้ด้วยความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองแท้ๆ เลยทีเดียว

พูดแบบคนอเมริกัน คือเขาเป็น Self-made Man แต่พูดแบบคนไทยที่ใส่เสื้อแดง ก็ต้องว่าเขาสังกัดชนชั้น “ไพร่” มาแต่กำเนิด แต่สามารถขึ้นมากระทบไหล่กับพวก “อิลิต” และพวก “เจ้า” ได้ ในชั่วเวลาเพียงเจนเนอเรชั่นเดียวเท่านั้นเอง

คนส่วนใหญ่จึงสนใจเขา ว่าเขามีดียังไง มีความลับอะไรและออกอาวุธลับท่าใด ไปได้ยาดีมาจากไหน วันๆ หนึ่งกินอะไร อ่านอะไร ดูอะไร เล่นอะไร ใช้ชีวิตยังไง พักผ่อนแบบไหน...ฯลฯ จึงคิดได้ถึงเพียงนี้

เพราะคนส่วนใหญ่อยากเป็นเหมือนเขา และเพราะคนส่วนใหญ่ในโลกล้วนรู้สึกว่าตัวเองไร้อภิสิทธิ์ (เหมือนเขา) แต่ก็อยากไต่เต้าเอาดีในชีวิตเช่นกัน

ชีวิตของ Jobs จึงเป็น Case Study แบบหนึ่ง

แม้กระทั่งแฟชั่นการแต่งตัว!

พอเขาตายปุ๊บ เสื้อคอเต่า (Turtleneck) ยี่ห้อ St.Croix ก็ขาดตลาดทันที...แถมกางเกงยีนส์ Levi’s รุ่น 501, 550, 559 แบบฟอก ที่ฝรั่งเรียกว่า Stonewash ก็พร่องไปแยะ...ยังไม่นับรองเท้ากีฬายี่ห้อ New Balance ที่ขายดีเป็นเทนั้ำเทท่า

Polo Ralph Lauren, Versace, Bottega Veneta, American Apprarel, Theory, Alexander Wang, Saks Fifth Avenu แบรนด์ดังเหล่านี้ล้วนฉวยโอกาสออกหรือโหมโปรโมท Turtleneck Men’s Collection ของตัวเองในช่วงนี้เช่นกัน

นักการตลาดเรียกกลยุทธ์แบบนั้นว่า “Piggy-back” หรือ “เกาะหลังหมา” นั่นเอง

เอาหล่ะ...ไม่ว่าจะยังไง มันมีประเด็นหนึ่งที่น่าคิดเกี่ยวการแต่งตัวของ Jobs

ลองสังเกตให้ดีจะพบว่า Jobs เลือกใส่แบรนด์ที่ผลิตในอเมริกาทั้งนั้นเลย ไม่เหมือนผลิตภัณฑ์ Apple ที่เขาทำขายคนอื่น ซึ่งเขามักจ้างจีนผลิต ไม่ว่าจะเป็น iPod, iPad, iMac หรือ iPhone

ทว่า สำหรับตัวเอง เขาต้อง “Made in U.S.A.” เท่านั้น

ทั้ง St.Croix และ Levi’s 501 Levi’s 550 Levi’s 559 (เขานิยมใส่ยีนส์ตัวเก่า) และ New Balance ล้วน “Made in U.S.A.” ทั้งสิ้น

คือ St.Croix ผลิตที่โรงงานใน Minnesota และ New Balance ผลิตที่โรงงานในรัฐ Massachusetts และ Maine ส่วน Levi’s ทั้งสามรุ่นนั้นก็กลับมาผลิตใหม่ที่ San Antonio หลังจากปิดไปได้ระยะหนึ่ง

ว่ากันว่า Jobs มักจ่ายเงินซื้อเสื้อยืดคอเต่าสีดำของ St.Croix ปีละ 24 ตัว คิดเป็นเงินราวๆ 4,200 เหรียญฯ ต่อปี (ราคาตัวละ 125 เหรียญฯ) แต่สำหรับกางเกงยีนส์และรองเท้า เราไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อของเขา (ผู้อ่านที่สนใจจะอ่านแบบลงลึกถึงเรื่องแฟชั่นแบบ Jobs ให้คลิกอ่านได้ที่ www.theurbangent.com/2011/10/steve-jobs-style-trend-turtlenecks.html)



สำหรับผมแล้ว กรณีของ Jobs มันแย้มให้เห็นแนวโน้มในอนาคตอันหนึ่งที่ผมคิดว่ามันจะเกิดขึ้นอีกไม่นาน และมันอาจจะเปลี่ยนกระแสและรสนิยมการบริโภคของคนในบ้านเราไปด้วย

กระแสนี้เรียกว่า Re-shoring U.S.A.

Boston Consultant Group เพิ่งจะสำรวจเมื่อไม่นานมานี้ว่า หลายแบรนด์ของอเมริกาเริ่มโยกย้ายฐานการผลิตกลับบ้านเกิด หลังจาก Sub-contract ไปให้จีน เพราะระยะหลัง เมื่อจีนรวยขึ้น ต้นทุนค่าจ้างก็เพิ่มขึ้นด้วย และเมื่อเทียบฝีมือแล้ว คนงานในอเมริกามีทักษะสูงกว่า ทำให้การกลับมาผลิตในอเมริกาเริ่มจะคุ้ม อาจจะแพงกว่าสัก 10-15% แต่เมื่อนับค่าขนส่งที่แพงขึ้นเพราะราคาน้ำมันแพงแล้ว กลยุทธ์ “Re-shoring” ก็ไม่เลว

อีกทั้งเศรษฐกิจตกต่ำก็ทำให้โรงงานในอเมริกาปรับตัวกันแยะ คือตั้งใจทำงานกันมากขึ้น และลงทุนปรับปรุงเครื่องจักรและโรงงานให้ทันสมัย ทำให้ประสิทธิภาพในการผลิตสูงขึ้น...นั่นแหละ พอคนเรามันลำบาก มันก็ต้องสู้ Creativity ต่างๆ มักจะเกิดในช่วงที่ผู้คนลำบากนี่แหละ

ตอนที่ผมย่างเข้าวัยรุ่นและเริ่มบริโภคของนอก แบรนด์เสื้อผ้ารองเท้าและรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าและเฟอร์นิเจอร์และเครื่องจักรเครื่องมือที่ Made in U.S.A. นั้นเป็นเรื่องของความ “เท่ห์” “ทันสมัย” และ “คุณภาพสูง” โดยพวกเรามักจะเรียกคนที่นิยมบริโภคแนวนี้ว่า “คนเล่นของ”

“Made in Japan” ยังเป็นอะไรที่ “ห่วย” ในใจคน และรู้สึกว่า “คุณภาพแย่”...“Made in China” ยังไม่มี เพราะเติ้งเสี่ยวผิงเพ่ิงจะยึดอำนาจได้ไม่กี่ปี และเริ่มจะเปิดโซน Eastern Seaboard ให้เป็นเขตโรงงาน เพื่อรับจ้างฝรั่งผลิตข้าวของ

ผมเห็นเสื้อผ้ารองเท้าแบรนด์ฝรั่งซึ่ง “Made in China” ครั้งแรกที่ร้าน Macy’s ใน Manhattan เมื่อปี 1992 และผมได้ซื้อเสื้อ Arrow มาตัวนึงกับรองเท้าผ้าใบ Converse อีกคู่หนึ่ง โดยที่ขณะนั้น เสื้อผ้า Mass Brand ยี่ห้อเดียวกันนี้ที่วางขายในประเทศไทย ฮ่องกง สิงคโปร์ ยังติดป้าย “Made in U.S.A” กันอยู่ ผมเข้าใจว่าระยะนั้นยังเป็นยุคทดลองของแบรนด์ใหญ่ๆ ว่าคนอเมริกันจะรับ “Made in China” กันได้หรือไม่ 


ต่อมาเมื่อพิสูจน์ว่าตลาดอเมริกันรับได้และราคาสินค้าก็ถูกลง ระบบ Global Supply Chain จึงพลิกโฉมมาเป็นแบบที่เราเข้าใจกันอยู่ในบัดนี้

 “ของฝรั่งแต่เจ๊กทำ” จึงเป็น Co-creation โมเดลที่ลงตัวนับแต่บัดนั้น

คนรุ่นหลังผมคงไม่ค่อยรู้สึกรู้สาอะไรมากนักกับ Made in U.S.A.” เพราะสินค้าไลฟสไตล์อย่างคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่พวกเขาใช้อยู่ทุกวัน มันแทบจะไม่มีให้เห็นอีกเลย...ทุกอย่างล้วนผลิตในเมืองจีน และก็ไม่รู้สึกว่าคุณภาพมันจะแย่

แต่ผมก็ยังสังเกตว่าถ้าเป็นของที่แพงขึ้นมาหน่อย เช่น เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้าหรือรองเท้า และสินค้าอุตสาหกรรมบางชนิด คำว่า “Made in U.S.A.” ก็ยังสามารถ Command Premium Price ได้สูงกว่า

ในใจคนลึกๆ ยังไงฝรั่งก็ยังเท่ห์กว่าจีน

Steve Jobs เป็นคนที่คิดการณ์ไกล และเขาได้ส่งสัญญาณบางอย่างให้เราเห็นถึงเทรนด์ใหม่นี้แล้ว

“ว. 1 เรียก ว. 2…peep peep..1..2..3.. peep peep...ทราบแล้วเปลี่ยน”

------------------

หมายเหตุ: ผู้อ่านที่สนใจลงลึกเรื่อง Made in U.S.A ผมแนะนำให้คลิกสำรวจ 3 ลิงก์ข้างล่างนี้

www.bloggingstocks.com/2007/09/19/made-in-the-u-s-a-what-products-are-still-made-in-america
www.thedailybeast.com/newsweek/galleries/2010/03/19/brands-no-longer-made-in-the-usa.html
www.businessweek.com/magazine/content/11_14/b4222057084776.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น