วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

AEC: TOO GOOD TO BE TRUE





ระยะนี้คนเห่อ AEC กันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงธุรกิจไทย

หลายเดือนมานี้ ท่านผู้อ่านคงจะได้ยินได้ฟังและได้อ่านความเห็นของนักธุรกิจใหญ่ นักการเมือง ข้าราชการระดับสูง คอลัมนิสต์ นักเศรษฐศาสตร์ นักการตลาด และนักวิชาการ มาแยะแล้ว

ส่วนใหญ่มอง AEC เป็นความหวังในเชิงการค้าขาย การทำมาหากิน การขยายตลาด และการลงทุน ซึ่งผมคิดว่าค่อนข้างตื้นและแคบไปนิด

อย่าลืมนะครับว่าการค้าขายมันต้องแย่งชิงผลประโยชน์กัน ดังนั้นคำว่า Economic Co-operation หรือ Cross Border Joint Venture หรือ Mutual Investment Benefits นั้น ในทางทฤษฎีแม้จะดูดี แต่ในทางปฏิบัติ มักล้มเหลวเสียมาก เพราะความเป็นจริงทางธุรกิจหรือทางการตลาดหรือเรื่องเงินเรื่องทอง มันจะมีการได้เปรียบเสียเปรียบกันตลอดเวลา หรือในทางกลยุทธ์ธุรกิจ มันก็ต้องมีการหลอกล่อกัน โกหกกัน ขุดหลุมพรางกัน หรือไม่ก็บอกกันไม่หมด

และประเด็นสำคัญที่มักถูกมองข้าม คือใจคอคนแถวนี้ มันถูกหล่อหลอมกันมาแต่อดีต ตั้งแต่บรรพบุรุษเป็นรุ่นๆ มา แต่ละพวกก็ผ่านร้อนผ่านหนาวมาต่างกัน และมันก็มีลักษณะ ชาติใครชาติมัน เชื้อใครเชื้อมัน พวกใครพวกมัน ยากที่จะไว้ใจกันได้หมด จะเข้าใจสิ่งเหล่านี้ให้ทะลุปรุโปร่งได้ มันต้องมองในเชิงวัฒนธรรม เชิงประวัติศาสตร์ หรือเชิงที่ไม่ใช่เอาเงิน เอาตลาด เอาตัวเลขประชากร เอาความมั่งคั่งของทรัพย์ในดินสินในน้ำ หรืออำนาจ เป็นตัวตั้ง

แล้วใจคอคนนี้มันกำหนดการค้า กำหนดเศรษฐกิจ กำหนดกลยุทธ์ธุรกิจ การตลาด การลงทุน อีกทอดหนึ่ง

อันนี้เป็น AEC ในมิติเชิงลึก เชิงละเอียด เชิงลึกซึ้ง ที่มักไม่เอามาพูดกัน ไม่เอามาถ่ายทอดให้กันฟังในวงกว้าง

ผมยกตัวอย่างคนเวียดนาม พวกเขามักไม่ไว้ใจคนต่างชาติ มันน่าเห็นใจ เพราะพวกเขาเคยอยู่ภายใต้จีนมาเกือบพันปี แล้วก็มาถูกฝรั่งเศสข่มเหงน้ำใจอีก พอทำท่าว่าจะเป็นอิสระ ก็มาถูกอเมริกันย่ำยี ซ้ำเข้าไปอีกมีดหนึ่ง ทำให้นิสัยใจคอคนเวียดนามเป็นอย่างนี้

พื้นฐานความไม่ไว้ใจคนต่างชาติของคนเวียดนามนี้เอง ที่ทำให้กิจการร่วมทุนต่างๆ ในเวียดนาม ไปได้ไม่ไกล และมักล้มเหลวเสียเป็นส่วนมาก

สมัยเวียดนามเปิดประเทศใหม่ๆ นักธุรกิจไทยเข้าไปร่วมทุนกันมาก สุดท้ายล้มเหลวกลับมาเสียเป็นส่วนใหญ่

ผมเคยพูดคุยกับนักธุรกิจใหญ่หลายท่านที่มีประสบการณ์กับเวียดนาม แทบทั้งหมดพูดตรงกัน บางคนไปไกลถึงว่าคนเวียดนามชอบหลอกคนไทยก็มี

หรืออย่างสิงคโปร์ มักดูถูกคนแถบนี้ ยิ่งตอนหลังรวยแล้ว ก็ยิ่งดูถูกเข้าไปใหญ่ แต่พวกเขาจะยอมลงให้ฝรั่ง

คนไทยเองก็เกลียดคนสิงคโปร์ หาว่าชอบฉวยโอกาส และชอบใส่ร้ายประเทศไทยลับหลัง ผมเคยได้ยินกันหูตัวเองจากปากของผู้ใหญ่มากๆ ของไทยอย่างน้อย 3 คน ที่เรียกสิงคโปร์ว่า “เจ๊กสิงคโปร์”

ดังนั้นการค้าหรือการดีลกับสิงคโปร์ ย่อมต้องคำนึงถึงความรู้สึกนึกคิด หรือ Assumption  ในแง่นี้ด้วย

หรืออย่างญี่ปุ่นนั้นมักพูดน้อย ชอบเก็บงำความรู้สึก และที่พูดมักไม่ใช่สิ่งที่คิดอยู่ในใจ แต่ถ้าไว้ใจกันแล้ว จะคบกันไปนาน

ประเด็นเหล่านี้มิใช่การค้า แต่มันจะกำหนดการค้าและวิธีค้าขาย ตลอดจนแนวนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระหว่างกัน ทั้งในแบบทวิภาคีและพหุภาคี อีกทอดหนึ่ง

ดังนั้น การที่ในแบบเรียนลาว เขียนว่าไทยเคยย่ำยีพวกเขา แม่ทัพไทยหลายท่านเคยเผากรุงศรีสัตนาคนะหุต และแบบเรียนเขมรเขียนว่าไทยแย่งชิงเขาพระวิหารไปจากพวกเขา หรือแบบเรียนไทยบอกว่าพม่าเป็นศัตรูที่เคยข่มเหงน้ำใจชาวไทยทั้งประเทศ ฯลฯ เหล่านี้ย่อมจะมีผลกระทบต่อความเป็นไปและอนาคตของ AEC อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น   

ผมอยากให้ท่านผู้อ่านได้อ่านความเห็นในอีกแง่มุมหนึ่ง ซึ่งเป็นของ ส.ศิวรักษ์ ที่เคยพูดให้สัมภาษณ์ไว้ในประเด็นนี้ว่า

ถาม: อาจารย์คิดเห็นอย่างไร กับประเทศไทย ที่กำลังก้าวสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN) มีผลดี-ผลเสีย อย่างไรครับ

ส.ศิวรักษ์ : คือคนที่พูดถึงอาเซียน (ASEAN) เนี่ย เข้าใจอาเซียนขนาดไหน เข้าใจประเทศเพื่อนบ้านขนาดไหน ถ้าลึกๆ เรายังดูถูกพม่า ดูถูกลาว ดูถูกเขมร ดูถูกมลายู เข้าอาเซียน ไม่มีประโยชน์อะไรเลย เข้าไปเพื่อจะไปตักตวง เพื่อไปแข่งกับเขา นี่อาเซียน ประการแรก คือเป็นประเทศเพื่อนบ้านกัน ทำยังไงเราถึงจะรักประเทศเพื่อนบ้านได้ เราจะรักประเทศเพื่อนบ้านได้ เราต้องลดความเป็นชาตินิยมลง ให้เห็นว่าพม่า เขามีอะไรดีไม่แพ้เรา เขมร เขามีอะไรดีไม่แพ้เรา เขามีข้อบกพร่อง เราก็มีข้อบกพร่อง เป็นเพื่อนกันก็ต้องเข้าใจกัน เพราะฉะนั้นการอยู่ในอาเซียน คือเป็นเพื่อนกันในภูมิภาคนี้ เราต้องเคารพในความรักใคร่ ด้วยความเกรงใจกัน ให้อภัยกัน แล้วมองเขามีจุดเด่นอะไร จุดด้อยอะไร แต่ตอนนี้ไปมอง โอ้โห เช่น สิงคโปร์นี่รวยที่สุด จะเอาอย่างสิงคโปร์ มองไม่เห็นเลย สิงคโปร์เป็นเมืองที่ไม่มีมนุษย์อยู่ มีแต่สัตว์เศรษฐกิจทั้งนั้น มีเงินเยอะแยะ แต่ไม่มีความสุข ขากเสลด ถ่มน้ำลายก็ต้องออกไปนอกประเทศ จะเอาอย่างงั้นหรือ เพราะฉะนั้น ผมว่าเรื่องอาเซียน ต้องเข้าใจให้ชัดนะ นี่ตอนนี้ตื่นเต้น ว่าที่ยุโรปเขามี common market - ตลาดร่วม มี European Union จะเอาอย่างเขา ตอนนี้เอาอย่างฝรั่งทั้งนั้น มีความคิดที่บัดซบ ไม่ใช่ความคิดที่ฉลาด” (อ้างจากข้องความใน Facebook ของ Sulak Sivaraksa: 21 May, 2012)

น่าคิดนะครับ ความเห็นของ ส.ศิวรักษ์

อีกอย่างหนึ่งที่ผมอยากจะพูดถึง คือนโยบายของไทยเกี่ยวกับคนต่างชาติ ก็เป็นนโยบายที่เอาเรื่องเงินเป็นตัวตั้งเช่นกัน

เรามีกฎหมาย 11 ฉบับที่ยอมให้ทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนเป็นเจ้าของกิจการของเราได้ เรายอมให้ต่างชาติที่แต่งงานกับคนไทยสามารถถือครองทรัพย์สินต่างๆ ได้ และเราให้วีซ่ากับผู้ที่นำเงินเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนเกินเท่านั้นเท่านี้ ทว่า อีกด้านหนึ่งเราก็ยังกีดกันคนงานต่างชาติ และนักวิชาชีพผู้มีทักษะสูงต่างๆ อย่างยิ่งยวด

ผมเห็นกระบวนการตรวจคนเข้าเมืองที่แม่บ้านไทยใหญ่ของผมต้องทำตามในแต่ละปีแล้ว ผมรู้เลยว่า นโยบายของไทยต่อคนงานต่างชาติมันมีลักษณะ Racism มาก

อย่ากระนั้นเลย แม้แต่คุณมาร์เซล บารัง ชาวฝรั่งเศสผู้มีคุณูปการสูงมากต่อวงวรรณกรรมไทย ผู้รู้ภาษาไทยอย่างลึกซึ้ง สามารถแปลวรรณกรรมชั้นยอดของไทยเป็นอังกฤษและฝรั่งเศส จนสร้างชื่อเสียงไปทั่วโลก และเขายังมีภรรยาเป็นคนไทย อยู่เมืองไทยมาช้านาน ทว่าก็ยังถูกกระบวนการวีซ่าและตรวจคนเข้าเมืองกีดกันและรังแกอยู่อย่างเรื้อรังและน่าน้อยใจ อย่าว่าแต่จะขอแปลงสัญชาติเป็นไทยเลย

อันนี้นับว่านโยบายของเราเป็นนโยบายที่โบราณล้าสมัย เพราะไม่คำนึงถึง “ทักษะ” หรือ “Talented” ใดๆ ทั้งสิ้น

เรา Treat คนงานต่างชาติเป็นแบบ Monotone ไม่แยกแยะ โดยเอา Skill เป็นตัวตั้ง ว่าคนไหนเป็นคนพิเศษและคนไหนเป็นคนธรรมดา

อย่าลืมว่า Competitive Advantage ในโลกสมัยใหม่มันมาจากทักษะและความรู้ที่อยู่ในหัวของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ประกอบการ นักวิทยาศาสตร์ หมอ นักพันธุกรรม Bio-engineer ดีไซเนอร์ สถาปนิก วิศวกร โปรแกรมเมอร์ นักการเงิน ครีเอตีฟ ศิลปิน ครู นักวิจัย Venture Capitalist นักสิ่งแวดล้อม และผู้เชี่ยวชาญ (จริงๆ) ฯลฯ

มันไม่ใช่อะไรๆ ก็ “เงิน”ๆๆ ลูกเดียว

ดังนั้น นโยบายการอนุมัติวีซ่าและ Immigration ในอนาคต ควรต้องยึดเอา “ทักษะ” และ “ความรู้ความสามารถ” ของคนเป็นตัวตั้ง

ยิ่งไปกว่านั้น สมาคมวิชาชีพต่างๆ ของไทยคงต้องหันมาทบทวนกฎเกณฑ์ของตัวเองที่กีดกันคนต่างชาติอย่างเอาเป็นเอาตาย ไม่ว่าจะเป็น แพทย์ วิศวกร สถาปนิก ฯลฯ เพราะมันเป็นการปิดโอกาสที่นักวิชาชีพต่างชาติเก่งๆ จะเข้ามาประกอบอาชีพในเมืองไทย และสังคมไทยก็คงจะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากทักษะและความรู้ของพวกเขาเมื่อเปิด AEC แล้ว

ผมไม่แน่ใจว่า คนอย่าง Steve Jobs, Bill Gates, และ Mark Zuckerberg เมื่อยังเป็นเด็กกะโปโล ยังไม่ดังและยังไม่รวย ถ้าเกิดอยากมาทำงานในเมืองไทย พวกเขาจะได้รับวีซ่าหรือไม่

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
18 กรกฎาคม 2555


ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนกรกฎาคม 2555


อ่านบทความของผมที่เกี่ยวเนื่องได้ตามลิงก์ข้างล่าง....

**จีน พี่เบิ้มผู้มั่งคั่งทว่าว่างเปล่า



***GERMAN INNOVATIONS




****PARIS INNOVATIONS



*EURO CRISIS กับนโยบายพิมพ์แบงก์ของมหาอำนาจและโอกาสของไทย



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น