วันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2555

Euro Crisis และนโยบายพิมพ์แบงก์ของมหาอำนาจ และโอกาสของไทย




ท่านที่ติดตามความเป็นมาของ “วิกฤติยูโร” ในฐานะคนนอก คงมีความรู้สึกเหมือนผม ว่าวิธีแก้ปัญหาของพวกเขามันน่าขำ แต่ก็ขำไม่ออก


มันเหมือนหนังที่ทำท่าว่าจะจบๆ หลายทีแล้ว แต่ก็ลงเอยไม่ได้สักที

หลายครั้งหลายคราที่เราแอบลุ้นเอาใจช่วยแบบ “ลุ้นตัวโก่ง” แต่ผลลัพธ์กลับกลายเป็นแบบ “ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ แต่พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา” ไปเสียฉิบ

ถ้าได้อ่านหนังสือพิมพ์ธุรกิจไทยทุกวันในรอบสองปีมานี้ ก็จะเห็นว่าแต่ละวัน เวลาหุ้นขึ้นหุ้นลง ทองขึ้นทองลง และน้ำมันขึ้นน้ำมันลง บรรณาธิการก็จะพาดหัวข่าวว่าเป็นเพราะนักลงทุนเชื่อมั่นหรือไม่เชื่อมั่นต่อวิธีแก้ปัญหาใน Eurozone

นี่มันอะไรกัน? ความเชื่อมั่นมันจะพลิกไปพลิกมาได้เร็วขนาดนี้เลยเหรอ...บางทีเมื่อวานยังเชื่อมั่นอยู่หยกๆ วันนี้กลับไม่เชื่อมั่นละ แต่อ้าว! พรุ่งนี้กลับมาเชื่อมั่นอีกแระ แล้วก็กลับไปกลับมาอยู่อย่างเนี้ย...

Absurd!

ในรอบสองปีที่ผ่านมา เราเห็นนาย Nicolas Zarkozy กับนาง Angela Merkel สองผู้นำของชาติที่ยิ่งใหญ่และรวยที่สุดในยุโรป นัดพบกันบ่อยมาก เพื่อหารือร่วมกันเกี่ยวกับมาตรการที่จะกู้วิกฤติยูโร

และเมื่อฝรั่งเศสได้ประธานาธิบดีคนใหม่ Francois Hollande ก็ดูเหมือนว่าจะปุ๊บปั๊บมาพบกันทันทีเลยทีเดียว เพราะถือว่าวิกฤติยูโรเป็นวาระสำคัญมาก

แหม! แต่ละครั้งนี่ ผู้คน “เสมอนอก” กันมาก ว่าจะต้องมีมาตรการเฉียบขาด แบบว่าต้องมี ยาแรง” ออกมาแน่ เพื่อสะกัดมิให้โรคร้ายลุกลามเรื้อรังต่อไป

แต่สุดท้ายก็ “ไม่มีอะไรในกอไผ่” เพราะมันมักจะเป็นอะไรที่กว้างๆ เสร็จแล้วก็ไปติดขัดตามขั้นตอนราชการหรือกระบวนการล่าช้าในเชิงกฎหมายว่าจะทำขนาดนี้ต้องแก้รัฐธรรมนูญเลยแหละ และนอกจากจะต้องทำประชามติแล้ว ก็ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและตีความเสียก่อนจึงจะตราเป็นกฎหมาย แล้วจึงจะออกมาตรการกู้วิกฤติแบบที่ว่าเป็น​ “ยาแรง” ได้อย่างเป็นรูปธรรม...อะไรประมาณนั้น

มันเลยทำให้ความหวังเลือนๆ ไปเสีย

พวกเราที่เชียร์กันข้างเวที ก็พลอยผิดหวังกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า ดูๆ ไปแล้ว เหมือนมันไม่เป็นมวยกันเอาซะเลย

เหตุนี้แหละ ที่ทำให้วิกฤติยืดเยื้อเนิ่นนานมาโดยไม่จำเป็น

พลอยกระทบโลกทั้งโลกไปโดยใช่เหตุด้วย!

เพราะอย่าลืมว่า EU เป็นตลาดใหญ่ของใครต่อใครเยอะแยะไปหมด ที่พูดนี้รวมทั้งจีนด้วย

จีนเลยพลอยชะงักไปด้วย เพราะหลังปี 2008 ตอนที่อเมริกาฟองสบู่แตก และยูโรเริ่มจะเป๋ ทุกคนก็หวังว่าจีนจะเป็น “หัวขบวน” ฉุดเศรษฐกิจโลก (รวมทั้งของไทยเราด้วย) ให้ยังเติบโตได้

แต่การที่วิกฤติยูโรยืดเยื้อ มันกระทบไปหมด ทำให้ส่วนหนึ่งของจีนชะงักไปด้วย ในขณะที่สหรัฐฯ ก็ไม่ฟื้น เพราะค่าเงินยูโรที่เตี้ยลง ย่อมไม่เป็นผลดีต่อการส่งออกของสหรัฐฯ อีกทั้งจีนก็ไม่สามารถช่วยฉุดสหรัฐฯ ขึ้นมาได้ ฯลฯ

ไทยเราก็ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท (ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาในยุโรปและอีกส่วนหนึ่งก็เกิดจากนโยบายพิมพ์เงินของสหรัฐฯ) และการเพิ่มขึ้นของระดับราคาสินทรัพย์โดยไม่มีปี่มีขลุ่ย ทั้งหุ้น ทองคำ ที่ดิน คอนโด น้ำมัน ข้าว น้ำตาล และสินค้าโภคภัณฑ์ที่จำเป็น ทำให้ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นโดยปกป้องตัวเองไม่ได้เลย

คนชั้นกลางและคนชั้นล่างถูกกระทบมาก...พูดได้เลยว่าอันนี้เป็นผลจาก Free Flow of Capital แบบเห็นๆ...

ผมขอละประเด็นนี้ไว้ก่อน เดี๋ยวค่อยกลับมาพูดทีหลัง แต่ตอนนี้ขอวกกลับไปพูดถึงวิกฤติยูโรต่อ ว่าคนจำนวนมากพากันโทษความโลเลของเยอรมัน

คือแทนที่จะ Assume Leading Role และชี้นำมาตราการเฉียบขาดอย่างรวดเร็ว ก็ไม่ยอมทำ

คนเยอรมันรุ่นนี้พากันกลัวใจตัวเอง และมีความรู้สึก “Guilt Feeling” เป็นแผลใหญ่และลึกในใจ คิดไปเองว่าบรรพบุรุษของตนเป็นผู้ก่อสงครามโลกทั้งสองครั้ง จนทำให้คนอื่นเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส และยังเสียใจมาก ไม่ยอมหาย

มันเลยทำให้คนเยอรมันกลายเป็นคนประดักประเดิด และไม่กล้าจะทำอะไรเด่นเกินหน้าเกินตา กลัวจะเกิดฮิตเลอร์ขึ้นมาอีก จะทำอะไรทีต้องคิดแล้วคิดอีก และต้องหาฉันทามติจนแน่ใจว่าการตัดสินใจนั้นมันเป็นประชาธิปไตยแน่ๆ และไม่ไปกระทบศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แน่ๆ แล้ว จึงจะเดินหน้า

และพอไม่มีสหรัฐฯ มาชี้นำ เยอรมันก็ “ไปไม่เป็น” ทั้งๆ ที่ตัวเองแข็งแกร่งที่สุด ร่ำรวยที่สุด และพร้อมที่สุด ที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำ

วิกฤตินี้ทำให้ทุกคนเห็นแล้วว่ายูโรมีจุดอ่อนอะไร

นงนุช เพ็ชรรัตน์ เอกอัครราชทูตไทยประจำสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในฐานะที่ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับ Policy Makers ของเยอรมันมาแยะ บอกกับผมว่า คนระดับผู้นำเยอรมันนั้นเห็นและยอมรับกันแล้วว่าวิกฤติคราวนี้ทำให้พวกเขาได้เรียนรู้เพื่อจะปรับปรุงแก้ไขจุดอ่อนของยูโร

คือการเอาหลายประเทศมารวมกันโดยไม่ยอมแตะเรื่องอำนาจอธิปไตย มันเลยทำให้นักการเมืองในบางประเทศที่ขาดวินัย ใช้จ่ายมือเติบ โดยไม่รู้สึกรู้สา เพราะสามารถกู้เงินในยูโรโซนได้ง่ายๆ และเกณฑ์ในเชิงวินัยการเงินการคลังก็ไม่ได้ใช้บังคับเข้มงวด

มันเหมือนเปิดโอกาสให้พวกกาฝากมาแฝงตัวหากิน ในขณะที่คนอื่นเขาทำงานหนัก ชั่วโมงทำงานแยะ แต่อีกพวกทำงานน้อย สวัสดิการสังคมแยะ แต่อาศัยกู้เงินง่าย ก็เลยสุรุ่ยสุร่าย โดยไม่มีใครคุมได้ เพราะตัวเองยังมีอธิปไตยเต็มที่ ไม่จำเป็นต้องมี Accountable ต่อรัฐบาลกลางของยุโรปแต่อย่างใด

จึงไม่แปลกที่คนเยอรมันจะรู้สึกว่ากรีซมันเกินเยียวยา และควรจะต้องใช้ “ยาแรง” ถ้าจะช่วย (ก่อนหน้านี้ก็มีความรู้สึกแบบนี้มาแล้วกับโปรตุเกสและไอร์แลนด์...คือรู้สึกว่าขี้เกียจและสุรุ่ยสุร่าย ฯลฯ)

แต่ก็เอาละ! แม้จะมาสาย แต่ก็ยังดีกว่าไม่มาเลย

กว่าเยอรมันจะยอมลงมติสนับสนุนกองทุนช่วยเหลือยูโรแบบถาวร ESM ต้องคิดแล้วคิดอีก จนเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญ

พอศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้เดินหน้าได้ ยูโรจึงดูมีอนาคตขึ้นแยะ

แต่ทีนี้หันมามองตัวเราเองบ้าง ว่าการที่เงินอีก 700,000 ล้านยูโร (เยอรมันต้องลงขัน 190 ล้านยูโร) จะทะยอยทะลักเข้ามาในระบบ ซึ่งถ้ารวมกับ QE 3 ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (และอาจจะมี QE 4,5,6 ในอนาคตเพิ่มเข้ามาอีก...ใครจะไปรู้) มันต้องกระทบกับเราแน่

คือ “เงิน” มันต้องท่วม “ของ”

และ “ของ” ก็จะแพงขึ้น โดย “เงิน” จะถูกลง หรือดูเหมืนไร้ค่าลงเมื่อเทียบกับราคา “ของ”

มันเป็นสัจธรรมครับ

นโยบายพิมพ์เงินเพิ่มนี้มันจะทำให้คนรวยและสถาบันการเงินได้เปรียบครับ เพราะระดับราคาสินทรัพย์มันจะเพิ่มขึ้นทั่วโลก แทนที่จะมุ่งทำมาหากินกัน มันก็จะหันมาจ้องว่าวันนี้กูจะเอาเงินไปปั่นอะไรที่ไหนดี คอยแต่จะ Move เงินไปหากินทั่วโลก...แบบว่า “ให้เงินทำงาน” นั่นแหละครับ เพราะน้ำขึ้นให้รีบตัก

อีกไม่นานเราก็จะได้เห็นภาพวาดของปิกัสโซ่ทำลายสถิติตัวเองซึ่ง Nude, Green Leaves and Bust เคยทำไว้ไม่นานมานี้ที่ 106.5 ล้านเหรียญฯ และผมเชื่อว่าจะต้องมีงานที่ขายได้แพงกว่า The Card Players ของ Cezanne (เคยขาย 250 ล้านเหรียญฯ) โดยผู้ซื้ออาจเป็นเศรษฐีแขก หรือไม่ก็รัสเซีย หรือไม่ก็จีน หรือไม่ก็พวกยิว...คอยดูน๊ะ

สมเด็จวัดระฆังก็จะเขยิบขึ้นไปอีก

คอนโดแถวทองหล่อ และที่ดิน และหุ้น และทองคำ ก็ไม่ต้องพูดถึงครับ หรือแม้แต่ส้มสักผล พริกสักเม็ดและกระเทียมสักกลีบ ก็จะต้องถีบตัวขึ้น เพราะส้มมันมีผลเดียว แต่เงินมันมีแยะ ราคาส้มมันก็ต้องเพิ่มขึ้นเป็นธรรมดา

ข้อแนะนำของผมก็ยังคงเหมือนเดิมครับ คือพวกเราต้องสร้าง “ทุนสำรองส่วนตัว” ของเราขึ้นมา อย่าไปไว้ใจธนาคารชาติมากนัก (เพราะธนาคารกลางของเราจำต้องแบกดอลล่าร์และยูโรไว้แยะ จนสุดท้ายก็ต้องพิมพ์เงินบาทเพิ่มขึ้นอยู่ดี)

แต่ด้วยความขี้เกียจ ผมขออ้างถึงข้อเขียนของตัวเองที่เคยเขียนนานมาแล้ว แต่คิดว่ามันยังทันสมัยอยู่ดังนี้

“ในทุนสำรองส่วนตัวนั้น นอกจากจะต้องถือเงินตราต่างประเทศสกุลหลักๆ หลายๆ สกุลไว้บ้างแล้ว (รวมทั้งดอลล่าร์ด้วย) ก็ควรถือทรัพย์สินประเภท Hard Assets ให้เป็นหลักไว้ ถ้าเป็นที่ดินควรเป็นย่านสำคัญ และควรถือ Collectible Items ไว้บ้าง ส่วน Financial Assets นั้นควรถือเป็นทองและหุ้นสามัญ ไม่ควรถือเป็นหุ้นกู้ หรือพันธบัตร เพราะในยามที่รัฐบาลยึดแนวทาง Reflate เศรษฐกิจ (John Maynard Keynes เรียกนโยบายแบบนี้ว่า “Inflation as a method of Taxation” เช่นนโยบายประชานิยม หรือปล่อยให้เงินลดค่าลงเมื่อเทียบกับสินค้าและบริการ หรือพิมพ์เงินเพิ่ม ฯลฯ) ยิ่งจะทำให้มูลค่าหนี้ที่แท้จริงของกิจการที่เป็นผู้ออกหุ้นกู้ (หรือรัฐบาลผู้ออกพันธบัตร) ลดลงในอนาคต และ Yield ของพันธบัตรจะสูงขึ้น

ฉะนั้น ในทางกลับกัน ถ้าเราเป็นเจ้าของกิจการ หรือเป็นผู้บริหารธุรกิจ เราต้องฉวยโอกาสนี้ใช้เงินกู้ให้มากหน่อย ยิ่งเป็นเงินกู้สกุลดอลล่าร์สหรัฐฯ ยิ่งดี

ยังไงๆ ดอลล่าร์สหรัฐฯ ก็ยังคงเป็นเงินสกุลหลักที่ผู้คนในโลกจะหันเข้าหาเมื่อโลกเกิดวิกฤติ โปรดสังเกตว่าดอลล่าร์จะแข็งค่าเสมอเมื่อยูโรทำ่ท่าจะแย่เพราะปัญหาวิกฤติหนี้สินในกรีซ และล่าสุดเมื่อเกาหลีเหนือเปิดฉากโจมตีเกาหลีใต้ เป็นต้น

แต่แน่นอนว่า ราคาของเงินหรือของสินทรัพย์หรือภาวะเศรษฐกิจโดยรวมนั้น ย่อมมีขึ้นมีลง ไม่ขึ้นทางเดียวตลอดไปหรือลงทางเดียวตลอดไป คล้ายๆ กับโชคชะตาของมนุษย์

เมื่อเข้าใจโลกสันนิวาสแบบนี้ พวกเราย่อมทำใจได้ว่าทรัพย์ทั้งมวลที่กล่าวมานั้น ล้วนเป็นของนอกกาย แม้จะถูก Economic Crisis พรากมันจากเราไปบ้างหรือทั้งหมดในคราวเดียว ตราบเท่าที่เรายังมีชีวิตอยู่ และยังครอบครองกำลังกายและกำลังปัญญาอย่างครบถ้วนและแหลมคม เราย่อมสร้างมันขึ้นมาใหม่ได้

ข้อสำคัญที่สุดคือเราต้องไม่ลืมลงทุนใน Human Capital ของตัวเราเอง หรือสร้าง “ทุนสำรองทางปัญญา” ของเราเองขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ต้องหมั่นให้การศึกษากับตัวเองอยู่ตลอดเวลา หัดสังเกตุสิ่งต่างๆ อย่างลึกซึ้งกว้างขวาง แม้กระทั่งจิตใจของตัวเอง เก็บบทเรียนของตัวเองและจากผู้อื่นเป็นเครื่องเตือนใจ ให้สติตั้งมั่น รู้จักใช้เหตุผล รู้จักเปลี่ยนแปลง และพัฒนา Intellectual Capital ของตัวเองให้สุงขึ้น ลึกซึ้งขึ้น ขอบเขตกว้างขวางยิ่งขึ้น และแยบคายขึ้น ยิ่งเมื่อเวลาผ่านไป อายุมากขึ้น ก็ยิ่งจำเป็น มิใช่เพียงเพราะ “แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน”

มีแต่หนทางนี้เท่านั้น ที่จะรับมือกับระบบทุนนิยมโลกที่นับวันจะโหดหินและเปราะบางต่อวิกฤติขึ้นเรื่อยๆ ได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาโชคลางแต่เพียงถ่ายเดียว

แต่ถ้าแน่กว่านั้น ก็ต้องอาศัยช่วงจังหวะที่เงินบาทแข็งนี้ ออกไปลงทุนซื้อ Assets ในยูโรโซนซะเลย เข้าไปหาซื้อของถูก เข้าไปเทคโอเวอร์หรือร่วมทุนกับกิจการขนาดเล็กและขนาดกลางของเขาเพื่อเอาความรู้หรือเทคโนโลยี และผลิตเพื่อขายในยูโรโซนและส่งกลับมายังเอเชียก็ยังได้ ฯลฯ

นั่นจึงจะเรียกว่าพลิกวิกฤติ (ของเขา) ให้เป็นโอกาส (ของเรา)

พบกันใหม่ฉบับหน้า..

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
30 กันยายน 2555


ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนกันยายน 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น