วันอังคารที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

“รู้เขา รู้ลาว" กับพิษณุ จันทร์วิทัน


ในบรรดาคนไทยปัจจุบัน เขาน่าจะเป็นผู้ที่รู้เรื่องเกี่ยวกับลาวมากที่สุด

พิษณุ จันทร์วิทัน เอกอัครราชทูตไทยประจำ สปป.ลาว

เพราะนอกจากจะจับเรื่องลาวและอินโดจีนมาโดยตลอดตั้งแต่สมัยที่ยังทำงานอยู่ที่กองเอเชียตะวันออก ทั้งยังเคยร่วมวางยุทธศาสตร์ทางการต่างประเทศของไทยต่อลาว และต่อมายังเคยดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต และเอกอัคราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ณ กรุงฮานอย มาก่อนแล้ว ทูตพิษณุยังเป็นนักเขียนมีชื่อ และเคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับลาวไว้หลายเล่ม ไม่ว่าจะเป็น "เสน่ห์ภาษาลาว" “กงสุลไทยในเมืองลาว" และที่สำคัญคือเป็นผู้แปล "ในความทรงจำของพูมี วงวิจิต" ซึ่งเป็นอัตชีวประวัติของหนึ่งในผู้นำระดับสูงสุดของพรรคประชาชนปฏิวัติและ สปป.ลาว

การแปลหนังสือจากลาวเป็นไทย นอกจากจะต้องเข้าใจภาษาลาวอย่างลึกซึ้งแล้ว ผู้แปลยังต้องหาข้อมูลแวดล้อมเพิ่มเติม ทั้งที่เป็นเอกสารและมุขปาฐะ เพื่อที่จะทำความเข้าใจกับบริบทในขณะนั้นๆ ซึ่งจะทำให้การแปลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

นั่นน่าจะช่วยให้ทูตพิษณุ "รู้ตื้นลึกหนาบาง" ของลาวอย่างทะลุปรุโปร่ง

ทูตพิษณุได้ช่วย Conceptualize ยุทธศาสตร์การทูตของไทยต่อลาวให้เราฟังว่ามีอยู่ 3 ข้อ ที่ยึดถือมาโดยตลอดคือ ต้องทำให้ลาวเชื่อใจและไว้ใจไทย ต้องช่วยสนับสนุนส่งเสริมให้ลาวมั่นคงแข็งแรง และจับมือก้าวเดินไปด้วยกันในระดับภูมิภาคและระดับโลก

"ทำอย่างไรที่จะให้ลาวมีความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย ไว้ใจในตัวเรา กลับมาเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน เพราะครั้งหนึ่งเราอาจจะห่างเหินกันไปในยุคสงครามเย็น เนื่องเพราะความเห็นทางการเมืองต่างกัน แต่สายใยเราไม่ได้ขาดจากกัน และเมื่อสิ้นสุดสงครามเย็น ความสัมพันธ์ก็ฟื้นดีขึ้นเรื่อยๆ ผมว่าเรื่องนี้ Innovative มาก

เมื่อมีความไว้วางใจกันแล้ว ต่อไปก็คือทำอย่างไรที่จะให้ลาวมีความมั่นคงแข็งแรงเจริญก้าวหน้าในทุกๆ ด้าน เราต้องช่วยเขา ยิ่งลาวแข็งแรงเท่าไหร่ ยิ่งเป็นประโยชน์กับไทยในแง่ของความเป็นเพื่อน คือเราอยู่บ้านติดกัน ถ้าเขาร่ำรวยมีเงินมีทอง เขาก็ต้องมาจับจ่ายใช้สอยในบ้านเรา หรือถ้าเขามีความมั่นคงแข็งแรงไม่มีเรื่องมีราว เพื่อนบ้านก็สงบสุขไปด้วย เราจะรวยคนเดียวอยู่ในหมู่เพื่อนบ้านที่จนทั้งหมดมันเป็นไปไม่ได้

และเมื่อได้สองอย่างนั้นแล้ว ขั้นต่อไปคือเราจะเดินร่วมกันไปในระดับภูมิภาคและระดับโลกยังไง เช่นในอาเซียน ในกรอบอนุภูมิภาคต่างๆ แม่น้ำโขง ฯลฯ เราต้องเดินไปด้วยกัน สั้นๆ ง่ายๆ"

ทูตพิษณุยังชี้ให้พวกเราเห็นความสำคัญของลาวต่อไทยและไทยต่อลาวในเชิงเศรษฐกิจโดยยกตัวอย่างเชิงประจักษ์ว่า

ผมทำงานเกี่ยวกับลาวมา 20 ปี เริ่มจากเป็นผู้อำนวยการกองเอเชียตะวันออก และเคยเป็นกงสุลใหญ่ที่สะหวันะเขต 3 ปี แต่หลังจากย้ายไปอยู่ที่อื่น 10 ปี และเพิ่งกลับมาลาวอีกครั้งเมื่อปลายปีที่แล้ว ผมพบว่ารายได้ต่อหัวของคนลาว (Per Capita Income) เพิ่มขึ้นสองเท่า จากหกเจ็ดร้อย (เหรียญสหรัฐฯ) ขึ้นมาเป็นพันกว่า และมูลค่าการค้าระหว่างไทยลาวก็เพิ่มขึ้นมาก ตัวเลขปีที่แล้วประมาณ 150,000 ล้านบาท โดยเป็นการค้าชายแดนประมาณ 130,000 บาท ขยายตัวเกือบ 25% จากปีก่อนหน้า และผมคิดว่ายังมีตัวเลขที่ไม่ได้บันทึกอีกจำนวนหนึ่งมากพอสมควรที่เกิดจากการข้ามไปซื้อสินค้าจากไทยของคนลาวโดยตรง ทั้งจากเวียงจัน คำม่วม สะหวันนะเขต และตามชายแดน แต่ตัวเลขเหล่านั้นมันถูกบันทึกไว้เป็นยอดการค้าภายในของไทย แต่มีคนเล่าให้ผมฟังว่า วันที่เปิดห้าโลตัสที่หนองคายนั้น ยอดขายสูงสุดในประเทศไทย ผมจึงคิดเอาเองว่ายอดตัวเลขกลุ่มนี้อาจจะเกินพันล้าน....และในทางกลับกัน ตัวเลขนักท่องเที่ยวของลาวปีที่แล้วมีประมาณ 3,300,000 คน ในจำนวนนั้นเป็นคนไทย 2,000,000 ล้านคน ลองสมมุติว่าใช้จ่ายกันเฉลี่ยสักคนละ 1,000 บาท เอาแค่ต่ำๆ เพียงแค่นี้ก็จะเห็นว่ารายได้ที่ลาวได้ก็ไม่น้อย...”

นี่ยังไม่นับความสำคัญต่อกันในเชิงการลงทุนซึ่งการลงทุนของไทยในลาวส่วนใหญ่เป็นการลงทุนที่มีคุณภาพ ทั้งในเชิงของการช่วยพัฒนาการเกษตร พลังงาน และอุตสาหกรรมให้กับลาว

แน่นอน การเติบโตแนวนี้มีแต่จะเพิ่มขึ้นเมื่อลาวและไทยแน่นแฟ้นต่อกันยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต

อันที่จริงไทยกับลาวนั้นใกล้ชิดกันมาแต่ไหนแต่ไร ก่อนที่จะมี ASEAN หรือก่อนที่จะมีประเทศไทยและประเทศลาวด้วยซ้ำไป

เพราะไทยลาวนั้นมีรากเหง้าเดียวกัน บรรพบุรุษของเรามาจากแหล่งเดียวกัน และมีสายเลือดใกล้เคียงกัน แม้แต่ภาษา วัฒนธรรม วิถีชีวิต โลกทัศน์ ความคิด ความเชื่อ ก็ใกล้เคียงกัน มากกว่าชาติอื่นใดทั้งสิ้น และยิ่งการเติบโตแพร่หลายของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต โซเชี่ยลมีเดีย ความรู้สึกใกล้ชิดที่มีต่อไทยยิ่งเพิ่มเป็นทวีคูณ โดยเฉพาะในหมู่คนลาวรุ่นใหม่ที่เสพสื่อไทยตลอดเวลา

ทูตพิษณุเรียกความแนบชิดแบบนั้นว่า "COMPLEMENTARITY”

ผมพูดกับผู้คนเสมอว่าสิ่งนี้แหละคือ Asset ของไทย และมันเป็น Advantage ด้วย พวกเรามีรากเหง้าเดียวกัน วัฒนธรรม ภาษา โลกทัศน์ และเราก็ใกล้ชิดกันมาก ญาติพี่น้องก็มีอยู่ทั้งสองฝั่ง สมัยผมอยู่สะหวันนะเขต ปีใหม่คนไทยข้ามไปเยี่ยมพี่น้องในลาวไม่น้อย คนไทยก็ชอบมาลาว คนลาวก็ชอบมาไทย กินอาหารก็อร่อย" ขากล่าวเสริม

ยิ่งต่อไป เมื่อการรวมตัวกันภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจ AEC เป็นผลสำเร็จ มันก็จะเกิดโอกาสใหม่ๆ ทั้งต่อไทยและต่อลาว

AEC เป็นเรื่องของความร่วมมือ ไม่ใช่เรื่องของการแข่งขัน ร่วมมือเพื่อให้เกิด Competitive Advantage ต่อไปการเคลื่อนของทุน สินค้า และคน มันจะมีอุปสรรคน้อยลง โอกาสจะเกิดขึ้นได้หลายทาง ที่เห็นๆ ก็ในเชิง Connectivity เพราะลาวจะกลายเป็นทางศูนย์กลางทางด้านการขนส่ง ไปเขมร ไปเวียดนาม ไปจีน...และคนลาวเขามองเราว่าก้าวหน้ากว่าเขา ดังนั้นเราต้องสนับสนุนให้เขาแข็งแรงขึ้น ให้เขาก้าวขึ้นมาเทียบเท่ากับเรา อย่าไปคิดว่าจะไปแข่งอะไรกับเขา AEC เป็นเรื่องของความที่จะต้องเดินไปด้วยกัน เดินไปพร้อมกัน"

ก่อนจากกัน MBA ได้ถามว่าจุดสำคัญที่จะประสบความสำเร็จในลาว หากต้องการมาลงทุน ร่วมทุน หรือค้าขาย หรือทำงาน หรือเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันกับลาวคืออะไร

ทูตพิษณุตอบขึ้นมาทันทีว่า "ความเข้าใจ"

นักธุรกิจและนักลงทุนไทยมีความเข้าใจต่อลาวน้อยมาก โดยเฉพาะความเข้าใจต่อระบบปกครองของลาว ซึ่งต่างกับไทยโดยสิ้นเชิง

ต้องถอดแว่นของเราออกก่อน และสวมแว่นของเขามอง"

การตัดสินใจทุกเรื่องในลาวย่อมต้องมาจากศูนย์กลางพรรค ไม่ใช่คณะรัฐมนตรีหรือสภาฯ หรือข้าราชการ ดังนั้นการศึกษาถึงที่มาที่ไปของระบบปกครองของเขาจึงจำเป็นมาก อย่างการเจรจาต่อรอง หรือลงมือทำสัญญาต่างๆ จะได้ “ถูกคน ถูกที่ และถูกเวลา”

และอย่าลืมว่าข้อมูลต่างๆ ในลาวเป็นข้อมูลที่ถูกควบคุม ลาวไม่มีฝ่ายค้าน หนังสือพิมพ์ต่างๆ ไม่นิยมวิจารณ์รัฐบาลเหมือนบ้านเรา" เขากล่าวเสริม

MBA คิดว่าความเข้าใจในเชิงวัฒนธรรมก็จำเป็น

เท่าที่เราสังเกตุ คนลาวไม่ชอบให้ใครมาดูถูก มาเหยียด มาข่ม และจะ Sensitive กับคนไทยค่อนข้างมาก

ในหนังสือ "ในความทรงจำของพูมี วงวิจิต" ที่ทูตพิษณุเป็นผู้แปล มีข้อความตอนหนึ่งที่ท่านพูมีเขียนไว้เองว่า "การที่ข้าพเจ้าตัดสินใจหนีจากแผ่นดินลาวอพยพไปอยู่ประเทศไทย ไปทำสวนยาสูบ ภายใต้การดูถูกเหยียดหยามของนายทุนเจ้าของเตาบ่ม....”

ดังนั้น นอกจากต้องระมัดระวังแล้ว "จุดสำคัญที่จะทำให้เขาไว้ใจเรา คือเราต้องจริงใจ ต้องทำอย่างที่พูด ถ้าอยากจะให้เขาทำกับเราอย่างไร ก็ต้องทำกับเขาแบบนั้นด้วย สิ่งไหนที่เราไม่ชอบก็อย่าไปทำกับเขา" ทูตพิษณุฝากบอกกับเรา


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือน ก.พ. 2557



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น