ก่อนวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ถ้าไม่นับชนชั้นปกครองเพียงหยิบมือ คงไม่มีราษฎรญี่ปุ่นคนไหนที่เคยได้ยินพระสุรเสียงของจักรพรรดิฮิโรฮิโตของญี่ปุ่นมาก่อน
พระสุรเสียงที่ได้รับการถ่ายทอดทางวิทยุไปทั่วประเทศญี่ปุ่นวันนั้น (รู้จักกันในเวลาต่อมาว่า Kyokuon-hoso หรือ Jewel Voice Broadcast) อันที่จริงเป็นการขอให้คนญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ
ถ้าเราลองฟังแผ่นบันทึกเสียงคราวนั้นดู ก็จะเห็นว่าพระสุรเสียงราบเรียบ ไม่ฮึกเหิมเหมือนกับ Speech ของนักรบหรือผู้นำเผด็จการในยุคเดียวกันอย่างฮิตเลอร์หรือมุสโสลินี และถ้าอ่านคำแปลภาษาอังกฤษดู ก็จะมีตอนหนึ่งที่แสดงถึงความกลัวออกมาอย่างชัดเจนว่า
“But now the war has lasted for nearly four years. Despite the best that has been done by everyone– the gallant fighting of the military and naval forces, the diligence and assiduity of Our servants of the State, and the devoted service of Our one hundred million people– the war situation has developed not necessarily to Japan's advantage, while the general trends of the world have all turned against her interest.
Moreover, the enemy has begun to employ a new and most cruel bomb, the power of which to do damage is, indeed, incalculable, taking the toll of many innocent lives. Should We continue to fight, not only would it result in an ultimate collapse and obliteration of the Japanese nation, but also it would lead to the total extinction of human civilization.”
(ผู้สนใจคลิกฟังและอ่านฉบับเต็มได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Gyokuon-h%C5%8Ds%C5%8D)
(ผู้สนใจคลิกฟังและอ่านฉบับเต็มได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Gyokuon-h%C5%8Ds%C5%8D)
ท่านผู้อ่านที่รู้ประวัติศาสตร์ดี ย่อมอดคิดไม่ได้ว่า "ทำไมคณะผู้นำสูงสุดของญี่ปุ่น ซึ่งมีเพียงไม่กี่คนในตอนนั้น ถึงไม่ยอมแพ้สงครามแต่เนิ่นๆ ทั้งๆ ที่รู้มานานแล้วว่าญี่ปุ่นไม่มีทางชนะสงครามได้ และการต่อสู้จนตัวตายนั้น มีแต่จะนำความหายนะมาสู่คนญี่ปุ่น?"
ทั้งๆ ที่รู้อยู่เต็มอก ทำไมถึงไม่ยอมเปลี่ยนนโยบาย...มันมีอะไรค้ำอกอยู่อย่างนั้นเหรอ? หรือว่าระบบการบริหารของญี่ปุ่นมีความบกพร่อง หรือมีความขึงตึง ไม่ยืดหยุ่น และไม่สามารถให้พื้นที่กับความเปลี่ยนแปลงได้เมื่อต้องเปลี่ยนแปลง กระนั้นหรือ? ทั้งๆ ที่ต้นทุนของระบบที่ขึงตึง ไม่ยอมให้พื้นที่กับการเปลี่ยนแปลงนั้น มันมากมายเสียจนต้องสังเวยด้วยชีวิตคนจำนวนมหาศาล?
คำถามนี้น่าสนใจ โดยการแสวงหาคำตอบจะช่วยให้คนรุ่นหลังได้รับบทเรียนในเรื่องของการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจในเชิงกลยุทธ์ระดับสูง ไม่มากก็น้อย
จักรพรรดิฮิโรฮิโตได้ให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาว่า การประชุมในครั้งนั้น (หมายถึงการประชุมของ War Cabinet ซึ่งประกอบด้วยผู้นำระดับสูงมากที่สุดของญี่ปุ่นจำนวน 7 คนคือ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการทหารเรือ โดยมีสมเด็จพระจักรพรรดิเป็นประธาน) เป็นครั้งแรกที่พระองค์ได้แสดงความในใจ (หรือความเห็นของตัวเองแท้ๆ) ออกมา
พระองค์ทรงกล่าวว่า "At the time of the surrender, there was no prospect of agreement no matter how many discussions they had.....When Suzuki (นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น—ผู้เขียน) asked me at the Imperial conference which of the two views should be taken, I was given the opportunity to express my own free will for the first time without violation anybody else's authority or responsibilities.” (อ้างจาก The Rising Sun: The Decline and Fall of Japanese Empire, 1936-1945 ของ John Tolland)
ประเด็นนี้น่าสนใจมาก ที่วัฒนธรรมการประชุมและการบริหารของญี่ปุ่นสมัยนั้น เป็นอุปสรรคต่อการแสดงความเห็นของผู้บริหารเสียเอง เพราะแม้แต่กษัตริย์ยังไม่สามารถแสดงความเห็นที่แท้จริงออกมาได้ในเวลาประชุม
ระบบแบบนี้ นอกจากจะขึงตึงไม่ยืดหยุ่น ทำให้โอกาสในการเปลี่ยนแปลงน้อยอยู่แล้ว มันยังจะนำไปสู่ "ความผิดพลาดหมู่" ได้ง่ายๆ (สมัยนั้น แม้แต่จักรพรรดิก็ไม่อยากเผยความในใจให้ใครได้ยิน หรือเพื่อปลุกระดมให้ผู้คนเข้าใจทะลุปรุโปร่งถึงความคิดความอ่านของตน แล้วลุกขึ้นสู้ทางการเมือง)
Peter Drucker กูรูการจัดการคนสำคัญของโลกเคยบอกไว้ว่า การบริหารสไตล์ญี่ปุ่นนั้นเขาเน้นที่การเห็นด้วยร่วมกันทุกเสียง ซึ่งเรียกว่า Consensus-based Management คือต้องเห็นด้วยร่วมกันทั้งหมดก่อนถึงจะประกาศมติที่ประชุมออกไป หากยังมีคนหนึ่งคนใดไม่เห็นด้วย พวกเขาจะยังไม่ลงมติ ต้องโน้มน้าวให้คนที่เหลือนั้นเห็นด้วยกันเสียก่อน มติที่ประชุมจึงจะถูกประกาศออกมาอย่างเป็นทางการว่า "เป็นเอกฉันท์" ไม่มีความเห็นต่างแม้แต่เสียงเดียว (โดยรายละเอียดของการประชุมจะถูกปิดเป็นความลับเฉพาะในหมู่ไม่กี่คนนั้น ฉะนั้นคนนอกจึงไม่สามารถล่วงรู้ได้เลยว่าใครบ้างที่แสดงความเห็นต่างออกมาก่อนหน้านั้น)
นั่นเป็นหัวใจสำคัญของ Japanese Management
ในทางปฏิบัติ วัฒนธรรมแบบนี้ ถึงแม้จะก่อให้เกิดความสามัคคีและเกิดพลังอันเนื่องมาแต่ความร่วมแรงร่วมใจกันแบบ "เต็มร้อย" แล้ว (เพราะไม่มีคนไม่เห็นด้วยเลย) มันกลับเป็นอุปสรรค์ต่อการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในช่วงที่องค์กรต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ดังตัวอย่างของการประกาศยอมแพ้ที่กล่าวมา
เพราะหากว่าคณะผู้นำชุดนั้นประกาศยอมแพ้ก่อนหน้านั้นสักสองอาทิตย์ คนจำนวนหลายแสนคนก็ไม่จำเป็นต้องตกเป็นเหยื่อของปรมาณู (ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ในวันที่ 13 สิงหาคม 2488 แต่ปรมาณูลูกแรกถูกทิ้งที่ฮิโรชิมาในวันที่ 6 และลูกสองที่นางาซากิในวันที่ 9 โดยก่อนหน้านั้นสหรัฐฯ ได้ทิ้งระเบิดเมืองอื่นอย่างหนัก และได้โปรยใบปลิว 720,000 แผ่นมาก่อนหน้านั้นว่าจะมีการทิ้งปรมาณู แต่ผู้นำญี่ปุ่นก็ไม่นำพา)
รายงานที่น่ากลัว บอกว่าในจำนวนประชากรของฮิโรชิมา 245,000 คน 100,000 คนตายทันที และอีก 100,000 คนทะยอยตายหลังจากนั้น บางคนตายลงเฉยๆ โดยไม่มีเหตุของการเจ็บป่วยมาก่อน จำนวนมากมีจุดพุพองตามตัว บ้างเป็นสีขาวและบ้างก็หลากสี หลายคนอาเจียนเป็นเลือด มีอยู่คนหนึ่งที่เอาแขนจุ่มลงในน้ำ แล้วรู้สึกว่าเนื้อหนังยุ่ยออกเหมือนควัน อีกคนที่ตาเกือบบอดกลับมองเห็น แต่เส้นผมบนหัวหลุดร่วงแบบไม่มีสาเหตุ...
การปกครองโดยมติสัมบูรณ์นั้น ยังมีข้อเสียคือหาคนรับผิดชอบที่แท้จริงไม่ได้ เพราะทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน ทุกคนได้แต่ "แอบซ่อน" จิตสำนึกที่แท้จริงของตัวไว้ภายใต้มติของกลุ่ม ซึ่งถ้าพิจารณาดูให้ถ่องแท้แล้ว การตัดสินใจแบบนี้ ดูเหมือนกล้าหาญ แต่จริงๆ แล้วทำให้ผู้บริหาร "ขี้ขลาด" ไม่กล้ายืนยันความเห็นของตัว (ทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่ามันถูกต้องดีงามกว่า) เพราะกลัวการเป็น "แกะดำ" (วัฒนธรรมญี่ปุ่นถือว่า "แกะดำ" น่ารังเกียจมาก) หรือไม่ก็กลัวว่าจะถูกลอบสังหาร (ในขณะนั้น ผู้นำที่คิดยอมแพ้หรือมีความเห็นไม่ตรงกับกลุ่มทหารหนุ่มที่บูชาลัทธิบูชิโดคลั่งชาติ จะถูกลอบสังหาร ไม่เว้นองค์พระจักรพรรดิ)
มีรายงานว่าหลังจาก War Cabinet มีมติให้ยอมแพ้ ก็มีความพยายามทำรัฐประหารในคืนนั้น โดยทหารระดับกลางกลุ่มหนึ่งบุกเข้าเขตพระราชฐาน เพื่อค้นหาและทำลายแถบเสียง (ของพระจักรพรรดิที่ได้บันทึกไว้เพื่อออกอากาศในวันรุ่งขึ้น) แต่ถูกปราบเสียก่อน ผู้รอดชีวิตหลายคนฆ่าตัวตายโดยการคว้านท้อง (ฮาราคีรี) รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงคราม (Minister of War) โคเรชิกะ อานามิ (Korechika Anami)
เห็นหรือยังว่า "ความกลัว" ซึ่งพัฒนามาเป็น จิตสำนึกที่เหนี่ยวรั้งการเปลี่ยนแปลง นั้นทำงานได้หลายรูปแบบ
แน่นอน จิตสำนึกที่เหนี่ยวรั้งการเปลี่ยนแปลง ยังมีบ่อเกิดอีกหลายแห่งนอกจากความกลัว ไม่ว่าจะเป็นความโง่หรือความไม่รู้ (กรณีซูสีไทเฮาที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงหรือเปลี่ยนช้าไม่ทันกาลก็เพราะขาดความเข้าใจต่อสภาวะความเป็นไปของโลกและของราษฎรของตน) ความเกลียดคร้าน หรือติดยึกกับความสะดวกสะบายและอภิสิทธิ์ที่ได้รับอยู่ ขาดวิสัยทัศน์ ขาดจินตนาการ ขาดความคิดสร้างสรรค์ ได้รับข้อมูลผิด และไม่เข้าใจกฎธรรมชาติ อีกทั้งยังมีนิสัยบางอย่างประเภท "ยอมหักไม่ยอมงอ" และดีกรีของการกุมอำนาจว่าเด็ดขาดหรือไม่อย่างไร ฯลฯ
เราสามารถใช้ปัจจัยเหล่านี้ในการประเมินคนหรือองค์กรทุกองค์กรได้ว่า แต่ละคน แต่ละองค์กร มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาวิกฤติ
เพราะถ้าพวกผู้นำและ/หรือวัฒนธรรมขององค์กรมีความขึงตึง โอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงโดยสันติคงไม่มี ซึ่งถ้าเป็นการเมืองแล้ว ก็คงต้องใช้วิธีรุนแรง (อย่างญี่ปุ่นช่วงนั้น การเปลี่ยนนโยบายการเมืองทำได้ทางเดียวคือลอบสังหาร)
แต่ความรุนแรงทางการเมือง มันมักทำให้ผู้คนที่ไม่เกี่ยวข้องต้องบาดเจ็บล้มตาย เป็นเหยื่อของความรุนแรงจากการตัดสินใจของบรรดาตัวละครข้างบนไม่กี่ตัว
ที่น่ารังเกียจที่สุดคือลัทธิก่อการร้าย ซึ่งพวกนรกแตกเหล่านี้ใช้วิธีสังหารผู้บริสุทธิ์เพื่อหวังให้เกิดความเปลี่ยนแปลง
สถานการณ์ในเมืองไทยขณะนี้ กำลังอยู่ในช่วงนั้น ทั้งที่ภาคใต้และในเมืองหลวง
ผมอยากจะขอจบบทความนี้โดยการอ้างอิงข้อเขียนของ Carlos Marighella นักปฏิวัติและก่อการร้ายตัวยงของอเมริกาใต้ ที่ได้เขียนไว้ในหนังสือ For the Liberation of Brazil (Penguin, 1971) เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจว่าเป้าหมายที่แท้จริงของการก่อการร้ายเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนั้นเป็นเช่นไร โดยเมื่ออ่านจบแล้ว ท่านจะอ่านเกมการเมืองไทยในอนาคตอันใกล้นี้ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง
เขากล่าวว่า “It is necessary to turn political crisis into armed conflict by performing violent actions that will force those in power to transform the political situation of the country into a military situation. That will alienate the masses, who, from then on, will revolt against the army and the police....The government can only intensify its repression, thus making the lives of its citizens harder than ever....police terror will become the order of the day....The population will refuse to collaborate with the authorities, so that the latter will find the only solution to their problems lies in the physical liquidation of their opponents. The political situation of the country will become a military situation.”
แผ่นเสียงที่อัดพระสุรเสียงของสมเด็จพระจักรพรรดิคราวประกาศยอมแพ้
และเครื่องรับวิทยุสำหรับประชาชนในยุคนั้น
ที่ยังคงเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์จนกระทั่งทุกวันนี้
ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนเมษายน 2557
คลิกอ่านบทความที่เกี่ยวกับญี่ปุ่นตามลิงก์ข้างล่าง
###ความลับของญี่ปุ่น###
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น