วันพุธที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2560

คนรุ่นใหม่ในสังคมสูงอายุ




     ในบรรดาคุณธรรมทั้งมวล "ความกตัญญู" เป็นคุณธรรมที่มี "มูลค่าทางเศรษฐกิจ" หรือ "Economic Value” สูงที่สุด


     สังคมตะวันออกที่ก้าวหน้า เปี่ยมด้วยอารยธรรมอันสูงส่ง ในกาลก่อน ก่อนที่ฝรั่งจะขึ้นเป็นใหญ่ในโลกหล้า ล้วนใช้ "ความกตัญญู" เป็นตัวจัดระเบียบสังคมเศรษฐกิจของตัวเองมาช้านาน


ทั้งอินเดียและจีน


     พระพุทธเจ้าเอง ก็ให้ความสำคัญกับ "ความกตัญญู" และตรัสยกย่อง "คนกตัญญู"



     ถึงกับตรัสเล่าว่าก่อนจะมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ก็เคยเสวยพระชาติเป็นลูกกตัญญูมาก่อน



     (หมายถึง "สุวรรณสามดาบส") โดยพระประวัติช่วงนั้น ถือเป็นชาติหนึ่งใน "ทศชาติ" หรือที่เรียกกันแบบภาษาชาวบ้านว่า "พระเจ้าสิบชาติ" หรือ "พระเจ้าสิบปาง" นั่นเอง



     พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้อย่างชัดเจน โดยไม่ต้องตีความใดๆ อีก ว่า “ภิกษุทั้งหลาย การเลี้ยงดูบิดามารดาเป็นวงศ์ของบัณฑิตทั้งหลาย"



     ไฮไลท์ของเรื่องที่พระพุทธองค์ทรงตรัสเล่านี้ เนื่องมาแต่ความเดิม ตอนที่ "สุวรรรณสามดาบส" ได้กลับแลเห็นเหมือนเก่า หลังจากสลบไสลไปเพราะถูกศรของพระเจ้ากบิลยักขราช



     โดยพระเจ้ากบิลยักขราชทรงพิศวงยิ่งนัก เลยต้องตรัสถามว่าสุวรรณสามฟื้นขึ้นมาได้อย่างไร และสุวรรณสามตอบพระราชาว่า "บุคคลใด เลี้ยงมารดาและบิดาโดยธรรม แม้เทวดาและมนุษย์ย่อมสรรเสริญผู้เลี้ยงมารดาและบิดานั้น บุคคลใดเลี้ยงมารดาและบิดาโดยธรรม นักปราชญ์ทั้งหลายย่อมสรรเสริญบุคคลผู้เลี้ยงมารดาและบิดานั้นในโลกนี้ บุคคลนั้นละจากโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์"


     และเมื่อพระเจ้ากบิลยักขราชนั้นได้ยิน จึงตรัสปฏิญญาณว่าจะประพฤติตนอยู่ในความดีแล้วพระราชาก็ทรงขอขมาโทษสุวรรรณสามดาบส แล้วพระองค์ก็เสด็จกลับพาราณสี ทรงปฏิบัติตามที่ได้ตรัสไว้ทุกประการจนตลอดพระชนม์ชีพ ฝ่ายสุวรรณสามก็เลี้ยงดูปรนนิบัติบิดา มารดา บำเพ็ญเพียรใน ทางธรรมเมื่อสิ้นชีพก็ได้ไปเกิดในพรหมโลก ร่วมกับบิดา มารดา ด้วยกุศลกรรมที่กระทำมา



     ท่านผู้อ่านบางท่านคงจะรู้ตำนานดังกล่าวดี ว่าสุวรรณสามนั้นเป็น "ยอดกตัญญู" โดยตำนานดังกล่าว มาจาก "สุวรรณสามชาดก" ซึ่งเป็นชีวประวัติเรื่องหนึ่งในทศชาติชาดก กล่าวถึงพระชาติของพระโคตมพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นสุวรรรณสามดาบส ในการบำเพ็ญเมตตาบารมี โดยสุวรรรณสามดาบสต้องรับภาระเลี้ยงดูบิดามารดาผู้ตาบอด วันหนึ่งพระเจ้ากบิลยักขราชแผลงศรมาถูกได้รับบาดเจ็บแสนสาหัส แต่ก็ไม่ได้โกรธ กลับแสดงเมตตาจิตต่อ และเทศนาทศพิธราชธรรมให้กบิลยักษ์ฟัง ด้วยอำนาจแห่งเมตตาธรรมทำให้พระสุวรรณสามหายเจ็บปวดรอดชีวิตมาได้ และบิดามารดาก็กลับมีจักษุดี



     สุวรรณสามชาดก ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกขุททนิกายชาดก และอรรถกถา ซึ่งพระโคตมพุทธเจ้าตรัสเรื่องสุวรรณสามขณะประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร อารามที่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีซื้ออุทยานพระกุมารพระนามว่าเชตสร้างถวาย



     พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญพระภิกษุรูปหนึ่ง ผู้บิณฑบาตเลี้ยงบิดามารดา เพื่อจะยกย่องพระภิกษุผู้เลี้ยงดูบิดามารดาด้วยสิ่งของที่ชาวบ้านถวายว่าเป็นพระภิกษุยอดกตัญญู ให้เป็นแบบอย่างแก่พระภิกษุทั้งปวง



     พระพุทธองค์จึงตรัสเรื่องราวในอดีตชาติของพระองค์ดังที่ว่ามานั้น แล้วตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย การเลี้ยงดูบิดามารดาเป็นวงศ์ของบัณฑิตทั้งหลาย"



     ตรัสดังนี้แล้ว ทรงประกาศอริยสัจ 4 เพื่อประชุมชาดก เมื่อแสดงเทศนาว่าด้วยอริยสัจ 4 จบ พระภิกษุนั้นได้บรรลุธรรมขั้นโสดาปัตติผล


     (หมายเหตุ: สำนวนภาษาไทยอันว่าด้วยสุวรรณสามนี้ ยกมาจากเว็บไซต์ https://th.wikipedia.org/wiki/สุวรรณสามชาดก โดยได้อ้างอิงมาจากแหล่งดั้งเดิมคือ สุวรรณสามชาดก พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๘ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๐ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒ ซึ่งผู้เขียนต้องขอขอบคุณเป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้)


      ส่วนสังคมจีนนั้นชัดเจนว่า ขงจื้อและผู้นำทุกยุคทุกสมัย ได้วางเอา "ความกตัญญ" ไว้เป็นสายใยสำคัญของสังคมเศรษฐกิจจีนอย่างเหนียวแน่น ผ่านวัฒนธรรม การศึกษา คำสอนทางศาสนา และ Social Networks มาแต่เก่าก่อน


     
องค์กรตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ ล้วนมี "ความกตัญญู" เป็นสายใยสำคัญ

อย่าลืมว่าสังคมจีนนั้น มีประชากรจำนวนมากมาแต่โบราณ และคิดระบบราชการมาก่อนใครเพื่อน

ระบบราชการของจีนใช้วิธีคัดเลือกเอาคนเก่งทั้งประเทศมาเข้าสนามสอบในส่วนกลางทุกปี แล้วอบรมให้การศึกษาในเรื่องการจัดการและบริหารระดับสูง ตลอดจนจริยธรรมแบบขงจื้อเพิ่มเติม เพื่อส่งไปปกครองยังเขตแคว้นต่างๆ ในจักรวรรดิ

     การใช้ความกตัญญูเป็นเครื่องมือหนึ่งในการปกครอง เป็นการช่วยแบ่งเบาภาระทางเศรษฐกิจของส่วนกลาง และช่วยให้การปกครองแบบรวบอำนาจจากส่วนกลางราบรื่นขึ้น


     เมื่อผู้คนยึดมั่นเอาความกตัญญูเป็นสรณะ สมาชิกของครอบครัว ชุมชน และสังคม ที่ช่วยตัวเองไม่ได้ ย่อมไม่เป็นภาระของส่วนกลาง


     เมื่อลูกๆ ยังเล็ก พ่อแม่ก็รับภาระดูแลลูก และเมื่อพ่อแม่แก่เฒ่า ลูกๆ ก็กลับมารับภาระดูแลพ่อแม่

เป็นเช่นนี้วันแล้ววันเล่า

     จึงไม่เป็นภาระของส่วนกลาง ซึ่งถ้าพูดเป็นภาษาสมัยใหม่ ก็คือไม่เป็นภาระทางการคลังของรัฐ เพราะค่าใช้จ่ายในเชิง Social Welfare ไม่จำเป็นต้องมากนัก (เพราะแต่ละครอบครัวหรือชุมชน ช่วยกัน Absorb ไว้เองแล้ว)


     ต่อเมื่อเรารับเอาวัฒนธรรมฝรั่งและการบริหารจัดการสมัยใหม่ของฝรั่งมายึดเป็นสรณะใหม่ นั่นแหล่ะ Social Welfare จึงมีความสำคัญขึ้นมาอย่างมาก


     นโยบาย Social Welfare แบบที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในปรัซเซียในสมัย Biscmark และต่อมาเมื่อรวมเยอรมันแล้ว ก็นำไปใช้ทั่วประเทศ โดยต่อมาประเทศสำคัญๆ อื่น ก็เอาอย่างไปใช้บ้าง

นับแต่บัดนั้นจนถึงบัดนี้ Social Welfare เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล และล้วนเป็นภาระของประเทศมหาอำนาจกันถ้วนหน้า (ในสหรัฐฯ เดี๋ยวนี้ เรียกเป็นภาษาสมัยใหม่ว่า "Entitlement")

     และในบรรดา Social Welfare ที่สำคัญที่สุดในสมัยนี้คืออันที่เกี่ยวกับ "การรักษาพยาบาล"

อย่างในสหรัฐฯ นั้น ค่าใช้จ่ายในเชิงการรักษาพยาบาล นับเป็นภาระทางการคลังมากที่สุด (ประธานาธิบดีทรัมป์ปาวารณาตอนหาเสียงว่าจะยกเลิก Obamacare เพราะเป็นภาระมาก และอาจจะทำให้รัฐบาลถังแตกในอนาคต ทว่าวุฒิสมาชิกเพิ่งตีตกไป)

     การเน้น "ความกตัญญู" จึงช่วยแก้ปัญหานี้ได้


     ดังนั้น การออกแบบนโยบายที่เกี่ยวกับสังคมสูงอายุของเรานับแต่นี้ไป ต้องให้ความสำคัญกับคุณธรรมข้อนี้ เพราะถ้าเราเน้นการเดินตามฝรั่ง สุดท้ายก็จะเกิดปัญหาใหญ่แบบที่ฝรั่งกำลังเผชิญอยู่


ONLINE HEALTHCARE


     การวางนโยบายสาธารณสุข โดยเน้นความกตัญญู ดังกล่าวมานั้น สอดคล้องกับเทรนด์ของเทคโนโลยีและแนวทางการปรับตัวของอุตสาหกรรม Healthcare ที่กำลังเกิดขึ้น และจะเติบโตไปอย่างก้าวกระโดดตามแนวนั้น ในสังคมสมัยใหม่ที่เจริญแล้ว

     คนรุ่นผม น่าจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่เข้าสู่สังคมสูงอายุ ในบริบทที่ Online Healthcare เริ่มจะสุกงอม

บริการรักษาพยาบาลที่ผนวกเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ อย่าง Doctor On Demand, Online Consultations, Intergrated OnlineCare, Remote ICU, ตลอดจนเครื่องไม้เครื่องมือสมัยใหม่อย่าง Wearable Devices, Deep Medic, หรือ Full Robocob-Style Surgery เมื่อบวกกับอุปกรณ์สื่อสารสมัยใหม่ทั้งปวง และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ตลอดจน Data Science และซอฟท์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถจัดเก็บและประมวลและวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาล ตลอดจนคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำ นั้น จะทำอุตสาหกรรม Healthcare เปลี่ยนแปลงไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ และจะส่งผลให้พฤติกรรมการรักษาพยาบาลและการหาหมอของคนในสังคม เปล่ียนไปด้วย

     การรักษาพยาบาลในอนาคต จะกลับไปเป็นเหมือนยุคโบราณ คือเทคโนโลยีสมัยใหม่จะพลิกสถานการณ์ให้หมอและการรักษาพยาบาลมาหาคนไข้ถึงบ้าน


     คนไข้สามารถเข้าถึงหมอผ่านอุปกรณ์สื่อสารพกพา และหมอ พยาบาล และผู้เชี่ยวชาญ จะให้คำปรึกษาผ่านจอ ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ คนไข้ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล (ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน หรือกรณีที่ต้องผ่าตัดใหญ่ อาศัยเครื่องไม้เครื่องมือราคาแพง หรือบริการเฉพาะทางที่ซับซ้อน เช่น คีโมเทอราปี เป็นต้น) และโรงพยาบาลจะลดฟังชั่นลง เป็นศูนย์รวมของหมอ พยาบาล และผู้เชี่ยวชาญ ทุกด้าน คอยดูแลรักษาวิเคราะห์และเฝ้าติดตามข้อมูลและอาการของลูกค้าอยู่ในศูนย์บัญชาการ โดยจะรับรู้ข้อมูลทุกด้านของคนไข้ (เช่นชีพจร ระดับอ็อกซิเจนในเลือด ระดับน้ำตาล ความดัน ฯลฯ) และสั่งการไปยังคลีนิคเครือข่ายปลายทางหรือบ้านคนไข้ผ่านเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่ ตลอด 24 ชั่วโมง ทุกๆ วัน ไม่มีวันหยุด

อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์จะผนวกเข้ากับฟังชั่นการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมาก กลายเป็นอุปกรณ์อัจฉริยะ โดยหุ่นยนต์ที่ควบคุมโดยหมอจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ช่วยให้การผ่าตัดมีความแม่นยำและซอกซอนเข้าไปในซอกเล็กซอยน้อยได้ อีกทั้ง Deep Medic จะมีบทบาทในการวิเคราะห์หาสมุฎฐานของโรค โดยอ้างอิงกับดาตาเบสของงานวิจัยระดับโลกที่เคยมีมาในอดีตทั้งหมด หรือแม้กระทั่งสามารถวิเคราะห์สมุฎฐานโรคเบื้องต้นได้จากการมองหน้าผู้ป่วย ด้วยเทคโนโลยี Face Recognition เป็นต้น

     สถานพยาบาลในอนาคต จะคำนึงถึงสภาพแวดล้อมมากขึ้น เพราะเชื่อกันมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วว่า สภาพแวดล้อมที่ดีจะทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว ดังนั้น การตกแต่งให้เกิดความสงบ เงียบ และก่อให้เกิดความสงบใจและจรรโลงใจ จึงเป็นหัวใจสำคัญ โดยโรงพยาบาลบางแห่งในยุโรปขณะนี้ ถึงกับลงทุนซื้องานศิลปะมาจัดวางเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะสำหรับคนไข้เลยก็มี


     เทรนด์อันนี้ จึงสอดคล้องและเน้นย้ำให้เห็นความสำคัญของ "ความกตัญญู" เพราะเมื่อการรักษาพยาบาลเคลื่อนย้ายมาอยู่ที่บ้าน ก็หมายความว่า ลูกหลานและสมาชิกในครอบครัว ต้องคอยดูแลซึ่งกันและกันเวลาสมาชิกคนใดคนหนึ่งเจ็บป่วย หากเปี่ยมด้วยความกตัญญูเสียแล้ว ทุกอย่างก็จะออกมาจากใจ สภาพแวดล้อมของผู้ป่วยก็จะดีด้วย


     ที่สำคัญระบบการรักษาพยาบาลภายในบ้าน ก็ต้องพร้อมรองรับกับเทรนด์การรักษาพยาบาลและเทคโนโลยีที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปด้วย


     แนวคิดเรื่อง "หมอประจำบ้าน" (Family Med) และ "Self-Healing" จึงจำเป็นอย่างมากในอนาคต

คนรุ่นใหม่ต้องสอนตัวเองในประเด็นเหล่านี้

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
31 กรกฎาคม 2560
บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในฐานะบทบรรณาธิการ นิตยสาร MBA ฉบับเดือน ก.ค.60

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น