วันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2553

คุณหมอลดาวัลย์ที่ผมรู้จัก



การเขียนประวัติบุคคลเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะคนทุกคนย่อมมีหลายด้านหลากมิติ มีทั้ง ถูก ผิด ดี เลว กิเลส ตัณหา ดำ ขาว เทา สำเร็จ ล้มเหลว แข็งกร้าว อ่อนโยน เมตตา อหังการ อลังการ ยึดมั่นในอุดมการณ์อุดมคติ ทว่าบางครั้งก็โลเลเหลวไหล ฯลฯ สุดแท้แต่ว่ามิติใดจะแสดงตนหรือเข้มข้นขึ้นในช่วงไหน เวลาใด และเมื่อเวลาเปลี่ยน คนส่วนใหญ่ก็มักจะเปลี่ยนไปด้วย ครั้นจะเขียนแต่เพียงด้านเดียว จุดเดียว หรือ Tone เดียว โดยละทิ้งด้านใดด้านหนึ่ง จุดใดจุดหนึ่งไป ในฐานะนักเขียนแล้ว มันก็จะเป็นการดูแคลนตนเองจนเกินไป

ดังนั้น ผมจึงพอใจที่จะเขียนถึงเฉพาะคนที่ผมสามารถประจักษ์กับตัวเองได้มากกว่าอย่างอื่น คือผมต้อง Observe เอง เห็นเอง ได้ยินเอง สัมผัสเอง รู้สึกเอง หรือถ้าเป็นเรื่องราวแต่หนหลัง ก็ต้องได้ยินได้ฟังจากผู้ใหญ่ที่ผมเชื่อถือได้อย่างสนิทใจ แล้วค่อยมาคิดหาเหตุผล สืบสวนสอบสวน ต่อยอดเอาเอง

คุณหมอลดาวัลย์เป็นบุคคลที่ผมอยากเขียนถึงมานานแล้ว เพราะชีวิตท่านมีสีสัน ทั้งในแง่พื้นฐานที่มาของวงศ์ตระกูล การศึกษา การงาน และความคิด ล้วนเชื่อมโยงกับเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์และบุคคลสำคัญอย่างกว้างขวาง และผ่านช่วงพลิกผันขึ้นลงอันน่าสนใจ

สำหรับผมแล้ว ผมสนใจพัฒนาการทางความคิดของท่านมากกว่าด้านอื่น เพราะผมถือว่าท่านเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์สูงมาก และได้รังสรรค์ Innovation สำคัญให้กับวงการแพทย์สมัยใหม่


ผมชอบศึกษา “Anatomy ของความคิดสร้างสรรค์” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ของบรรดาบุคคลสำคัญที่ความคิดของพวกเขามีส่วนเปลี่ยนแปลงโลกและสังคมมนุษย์ โดย Observe เอาจากชีวประวัติและอัตชีวประวัติจำนวนมาก ก็พบว่าความคิดสร้างสรรค์ส่วนใหญ่ มักจะมาจากความศรัทธาอย่างแรงกล้า ความรักหรือลุ่มหลงอย่างแรงกล้า ความอยากรู้อย่างแรงกล้า หรือไม่ก็ความทุกข์ หรือไม่ก็ความกลัว ความหวัง ความกล้าหาญ อยากพิชิต อยากครอบครอง อยากเอาชนะ หรือบางทีก็มาจากความเกลียดและเห็นแก่ตัวอย่างรุนแรง ก็มี ทว่าทั้งหมดนั้นย่อมต้องผ่านกระบวนการคิด ตรึกตรอง ฝึกฝน และสอนตัวเอง (Autodidact) อย่างหนักหน่วง ต้องคิดซ้ำแล้วซ้ำอีก สืบสวนสอบสวนซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำซ้ำแล้วซ้ำอีก ทดลองแล้วทดลองอีก แก้แล้วแก้อีก เกลาแล้วเกลาอีก ต้องกัดติด ต้องลุ่มหลงในความรู้อย่างหัวปักหัวปำ ฯลฯ ถึงจะสามารถผลิตความคิดหรือผลงานที่ “บิน” ไปได้ เป็นความคิดที่มัน Breakthrough และเป็น Creative Fecundity

คุณหมอลดาวัลย์ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับนักสร้างสรรค์เหล่านั้น และแน่นอน ความเป็นมาและประสบการณ์ของคุณหมอย่อมมีส่วนบ่มเพาะและเป็นอาหารชั้นเลิศให้กับความคิดสร้างสรรค์ดังว่า

ผมจำได้ว่าครั้งแรกที่ได้พบกับคุณหมอ แม้จะนานมาแล้ว เมื่อหวนนึกดูและลองตรวจสอบความทรงจำของตนดูอย่างละเอียด ก็จะพบมโนภาพว่าคุณหมอเป็นคนมีความเชื่อมั่นมาก มีศรัทธาอย่างแรงกล้าในสิ่งที่ตนทำและในแนวทางที่ตนเชื่อ ผมคิดว่ามันคง “แรงกล้า” และ “มุ่งมั่น” “กัดติด” จนผมรู้สึกและสัมผัสได้

ประการสำคัญคือ วันนั้นเป็นงานเลี้ยงวันเกิดคุณเฉลียว สุวรรณกิตติ สามีของคุณหมอที่เพิ่งจะป่วยได้ไม่นาน สมัยนั้นผมเพิ่งก่อตั้งนิตยสาร Corporate Thailand ใหม่ๆ และคุณพรศรี หลูไพบูลย์ ซึ่งเป็นประชาสัมพันธ์ใหญ่ให้กับเครือเจริญโภคภัณฑ์ขณะนั้น ได้เชิญผมไปกินเลี้ยงเพื่อเป็นกำลังใจให้กับคุณเฉลียวด้วย พร้อมกับผู้บริหารระดับสูงของซีพีอีกหลายท่าน และผมก็ได้เห็นกับตาว่าอาการของคุณเฉลียวดีขึ้นมาก ซึ่งอาการแบบนั้น ช่างห่างไกลจาก Perception ของผมที่มีต่อคนป่วยชนิดเดียวกันนี้มาก

แม้ปัจจุบัน เวลาจะล่วงเลยมานานและอายุอานามจะเข้าวัยที่ควรเกษียณ ทว่าคุณหมอก็ยังคงพูดและแสดงออกอย่าง “แรงกล้า” ดังเดิม ดีไม่ดี อาจจะมากกว่าเดิมเสียซ้ำ

พื้นฐานการศึกษาของคุณหมอเอง ก็น่าจะมีส่วน Shape ความคิดความอ่านมากโขอยู่ เพราะการที่คุณหมอเป็นนักเรียนแพทย์เยอรมันในยุคที่เยอรมนีเพิ่งจะฟื้นตัวจากสงครามโลกไม่นานนัก น่าจะส่งผลต่อความคิดความอ่านในช่วง Formative Years ของคุณหมอมาก

ใครๆ ก็รู้ว่าคนเยอรมันนั้นมีระเบียบวินัยมาก ให้คุณค่ากับความเที่ยงตรงและแม่นยำของความรู้ ทำงานหนักและลงลึก ที่สำคัญ ความรู้ที่สั่งสมมาในสังคมเยอรมันนั้นไม่เป็นสองรองใคร อีกทั้ง German High Culture ก็ถือว่าเป็นวัฒนธรรมตะวันตกที่สูง ไม่ว่าจะเป็นดนตรี ปรัชญา และวรรณกรรม

ฝรั่งเยอรมันนั้นศึกษาสันสกฤตก่อนฝรั่งชาติอื่น ดังนั้นภูมิปัญญาทางการแพทย์เยอรมันย่อมเปิดกว้าง ไม่คับแคบ และการที่คนเยอรมันเห็นความสำคัญของการศึกษาของลูกหลาน จึงเอาใจใส่เป็นพิเศษกับการให้เด็กรู้จักสังเกต ให้ลงมือฝึกหัดจริง และทำให้เห็นประจักษ์ ตลอดจนการคิดเป็นระบบ มิใช่มุ่นเน้นแต่เพียงทฤษฎีแบบแยกส่วนแยกเสี้ยวจนเกินไป นี้ยังไม่นับว่าคุณหมอเป็นผู้หญิงที่อยู่ท่ามกลาง Macho Society อย่างสังคมเยอรมัน

การเป็นแพทย์จากเยอรมนีและเป็นผู้หญิง ย่อมทำให้คุณหมอโดดเดี่ยว กระทั่งถูกกีดกัน เมื่อกลับมารับราชการที่ศิริราชท่ามกลางวัฒนธรรม “พรรคพวก” ในสังคมแพทย์ไทย สิ่งเหล่านี้ เมื่อประกอบกับพื้นฐานครอบครัวที่มีสถานะพิเศษของคุณหมอ ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศในยุคสงครามเย็น ย่อมทำให้คุณหมอเกิดความแปลกแยกและ Sensitive ต่อเรื่องราวรอบตัว ยิ่งเห็นจุดอ่อนและความบกพร่องของการแพทย์กระแสหลัก และระบบสาธารณสุขโดยภาพรวมได้ง่ายขึ้น และยิ่งกระตุ้นให้เกิด “การคิดต่าง” และความต้องการในการพัฒนากระบวนทัศน์ใหม่

เหตุการณ์เหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นกับใคร หากคนๆ นั้น มีความกล้าหาญพอ ย่อมจะสามารถแหวกวงน้ำเน่าออกมาได้ ซึ่งผมถือว่าเป็น Creative Courage ประเภทหนึ่ง

จุดหักเหทางความคิดที่สำคัญอันหนึ่งของคุณหมอน่าจะมาจากการได้เข้าไปศึกษาการฝังเข็มในประเทศจีนในยุคที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เดินทางไปสัมผัสมือกับประธานเหมาเจ๋อตง และสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวาในเมืองไทยกำลังจะยุติลงอย่างสิ้นเชิง นับเป็นการปะทะกับภูมิปัญญาดั้งเดิมหลังจากที่มีประสบการณ์กับการแพทย์สมัยใหม่มาระดับหนึ่ง และต้องถือเป็นแพทย์สมัยใหม่ของไทยกลุ่มแรกๆ ที่มีโอกาสได้สัมผัสกับภูมิปัญญาดั้งเดิมอันยิ่งใหญ่ผ่านแว่นของกรอบความรู้และปฏิบัติแบบฝรั่ง

การเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกและแนวนโยบายต่างประเทศ ทำให้วงการแพทย์และมหาวิทยาลัยแพทย์ไทยยุคหลังจากนั้นให้พื้นที่กับการทดลองใหม่ๆ ที่มาจากภูมิปัญญาจีน โดยเฉพาะจากจีนแผ่นดินใหญ่ และก็ทำให้ลูกจีนในเมืองไทยผ่อนคลาย และยอมรับกับกำพืดของตนอย่างเปิดเผยขึ้นตามลำดับ (ลูกจีนในไทยสมัยนี้ ซึ่งจีนยิ่งใหญ่แล้ว คงเข้าใจจิตวิทยาของลูกจีนสมัยก่อนยากสักหน่อย)

ผมรับรู้มาจากผู้คนร่วมสมัยกับคุณหมอว่า หลังจากกลับมาจากเมืองจีน คุณหมอได้ทดลองความคิดใหม่ๆ หลายอย่าง ซึ่งน่าจะเป็นยุคที่เกิด Fusion ทางความคิด โดยหยิบเอาจุดเด่นของความรู้แต่ละสายมาสานกันเข้าจนสามารถไปพ้นความคับแคบและมองเห็นป่าทั้งป่าได้แบบ “องค์รวม”

อันที่จริง ความคิดหลักของคุณหมอที่ว่าร่างกายเป็นหนึ่งเดียว แต่ละส่วนล้วนพึ่งพาอาศัยกัน สัมพันธ์กัน เนื่องกัน และส่งผลกระทบต่อกันกลับไปกลับมา นั้นเป็นเพียง “Common Sense” ที่ถูกละเลยในสมัยนั้น ซึ่งเป็นสมัยของผู้เชี่ยวชาญ

การรับราชการในมหาวิทยาลัยแพทย์และโรงพยาบาลชั้นนำอย่างศิริราช ประกอบกับการเป็นคนช่างสังเกตของคุณหมอ ย่อมทำให้เห็นความเลวร้ายของอุตสาหกรรมยาและการรักษาแบบแยกส่วน และแม้ในระบบราชการจะมีแพทย์อาวุโสที่น่ารัก เห็นอกเห็นใจ และหัวก้าวหน้า ทว่า สิ่งเหล่านี้คงหยุดยั้งคนกล้าและมุ่งมั่นอย่างคุณหมอไว้ไม่ได้

การหันหลังให้กับระบบราชการย่อมเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในกระบวนคิดของคุณหมอเอง โดยเฉพาะในเชิงนโยบายสาธารณสุขภาพรวม และการสามารถทดลองเชิงความคิดและปฏิบัติต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง ทำให้ความรู้เชิงวิชาการแน่นแฟ้นขึ้น สิ่งเหล่านี้ ย่อมช่วยให้ฐานคิดของกระบวนทัศน์ใหม่เป็นระบบและสมเหตุสมผลยิ่งขึ้น

แม้ความมุ่งมั่นและความหวังของคุณหมอที่อยากเห็นประชาชนมีสิทธิรักษาตัวเองได้จริงๆ อย่างมีประสิทธิภาพ จะยังไม่บรรลุผล ผมก็ว่าความไม่สำเร็จอันนั้น จะยิ่งทำให้ “พลังสร้างสรรค์” ของคุณหมอถูกหล่อเลี้ยงอย่างลุกโพลงได้ต่อไป

ผมประสบกับตัวเอง ทั้งคนใกล้ชิดและเพื่อนฝูงรอบข้าง มาหลายครั้งแล้วว่าความเจ็บป่วยที่ไม่ได้เกิดจากการจู่โจมของเชื้อโรค ตรงข้าม คือเกิดจาก Bad Habits หรือ Lifestyle ที่ผิดเพี้ยนของตัวเอง (คือตัวเองทำตัวเอง) เหล่านี้ ผมไม่สามารถพึ่งพาการแพทย์ตะวันตกที่อ้างตัวว่าสมัยใหม่ได้เลย

ทว่า การแพทย์ของคุณหมอ (Equilibropathy) สามารถให้คำตอบและรักษาให้ทุเลาลงได้ ความเป็นเลิศทางวิชาการของคุณหมอ เมื่อประกอบกับความศรัทธาในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ตัวเองทำ อย่างแรงกล้า ทำให้คนไข้มีความมั่นใจและมีกำลังใจ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ขาดแคลนมากในตัวแพทย์กระแสหลักรุ่นใหม่

ผมมั่นใจมาก ว่าความคิดและงานของท่าน จะต้องกลายเป็นประเด็นสำคัญ และจะได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในอนาคต เพราะมันจะสามารถชี้ทางแก้ปัญหาและผ่าทางตันให้กับวงการแพทย์ปัจจุบันได้อย่างสร้างสรรค์ และจะเป็นคุณูปการสำคัญต่อผู้คนที่จะต้องทนทุกข์ทรมานกับ Organic Disease อันเนื่องมาแต่การใช้ชีวิตในโลกสมัยใหม่ที่นับวันจะถอยห่างจาก “ความสมดุล” ยิ่งขึ้นทุกทีๆ


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
20 มกราคม 2553
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนมกราคม พ.ศ. 2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น