วันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2553

จัดทัพ


ชุด "สงครามกลางเมือง" Trilogy, Part III

การเขียนเป็นเรื่องยาก ยิ่งงานเขียนที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการเข้าประกอบในดีกรีที่มากด้วยแล้ว ยิ่งยากเข้าไปใหญ่

โดยส่วนตัว ผมจึงนับถือกวีและผู้ประพันธ์ผลงานวรรณกรรมชั้นยอดทั้งหลาย ขนาดผมเขียนเพียงบทบรรณาธิการหรือคอลัมน์สั้นๆ ยังรู้สึกว่าตัวเองต้องใช้ความพยายามอย่างมากในแต่ละเดือน

ยิ่งสมัยนี้ ผู้อ่านสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูล ข้อเขียน และความคิดเห็นจำนวนมากในอินเทอร์เน็ตได้โดยง่ายและฟรี พวกผมที่หาเลี้ยงชีพด้วยการเขียนและแสดงความเห็นโดยการเรียงร้อยอักษร เลือกสรรคำ และจัดเรียงประโยค จึงต้องทำงานหนักขึ้นหลายเท่าตัว เพราะผมรู้ว่า “การอ่าน” เป็นความทรมานอย่างหนึ่ง มันกินพลังงานอย่างมหาศาล ทั้งกายและสมอง ฉะนั้น หากต้องเผชิญกับบทความประเภท “ขยะ” จึงนับเป็นความบัดซบสิ้นดี และสุดท้าย ท่านผู้อ่านก็คงจะไม่กลับมาซื้อนิตยสารฉบับนี้อ่านกันอีกทุกเดือน หรือท่านสมาชิกก็คงจะไม่ยอมต่ออายุอีกในปีถัดไป

พวกผมย่อมต้องระมัดระวังอย่างมากมิให้ตัวเองกลายเป็นสาเหตุของความบัดซบดังว่า ต้องหาทางอยู่เสมอให้ข้อเขียนของตน “โดน” คือถ้าไม่บอกข้อมูลใหม่ ก็ต้องแสดงวิธีวิเคราะห์ที่ลึกซึ้ง หรือไม่ก็ต้องกระตุ้นความคิด ยั่วให้แย้ง อ่านแล้วเพิ่มพูนความรู้ และอ่านสนุก เกิดความบันเทิง

ผมทราบว่าสมาชิกและผู้อ่านส่วนใหญ่ของเราเป็นนักธุรกิจ เป็นเจ้าของกิจการ เป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือไม่ก็เป็นคณาจารย์และนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา และเมื่อดูจาก Profile แล้ว ก็ทราบว่ามีจำนวนมากทีเดียวที่อยู่ในตำแหน่งบริหารหรือร่วมชี้นำองค์กรของตนๆ

ผมได้สอบถามไปยังท่านเหล่านั้นหลายท่านเพื่อขอความเห็นมาปรับปรุงหนังสือสำหรับปีหน้า และได้ถือโอกาสถามว่าทำไมพวกท่านยังคงสละเวลาอันมีค่ามาทนอ่านข้อเขียนของผมอยู่ ก็เลยทราบจุดเด่นของตัวเองในสายตาผู้อ่าน ว่าข้อเขียนมันมีลักษณะยั่วให้คิดโดยเฉพาะในมุมที่เขาไม่เคยคิดถึงมาก่อน และสามารถช่วยให้พวกเขาอ่านแนวโน้มสำคัญๆ ได้จากการสังเกตเรื่องราวต่างๆ รอบตัว โดยนำเอามาต่อเข้าด้วยกันแล้วกุมกันขึ้นบนพื้นฐานของความรู้เชิงธุรกิจ เศรษฐกิจ การเมือง และประวัติศาสตร์ จนมองเห็นเป็นแนวโน้มสำคัญของโลกและสังคมไทยได้ในแต่ละช่วง ซึ่งข้อคิดและความเห็นประเภทนี้มักเป็นประโยชน์กับบรรดาผู้นำที่ชะตากรรมของพวกท่าน ขึ้นอยู่กับความสามารถในการมองให้เห็นภาพรวมและต้องทะลุออกไปในอนาคตให้ได้ด้วย

พวกท่านนำเอา Analysis ของผมไปเป็นของท่านแล้วช่วยให้ท่านสามารถ “ต่อยอด” ออกไปได้ในแนวทางของตนเอง พวกท่านนำเอาจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของผมไปเสริมกับความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการของตัวเอง แล้วประยุกต์ให้เข้ากับจุดยืนของท่าน อุตสาหกรรมของท่าน องค์กรของท่าน งานการของท่าน และชีวิตของท่าน

เมื่อฟังแล้วกลับมาคิด ผมรู้สึกตัวเองเหมือน “หมอดู” ยังไงชอบกล แล้วก็กลับเป็นทุกข์ เพราะกังวลว่าแนวโน้มสำคัญบางเรื่องที่เคยพยากรณ์ไว้จะเป็นจริง โดยเฉพาะเรื่องสงครามกลางเมือง (ดู “ท่ามกลางความกลัว” และ “ตำนานสงครามกลางเมือง ฆ่ากันแล้วก็จบกันไป?”, นิตยสาร MBA ฉบับเดือนพฤษภาคม 2552 หน้า 56-83)

ระยะหลังผมหันมาสนใจและกำลังวิจัยถึงปัจจัยที่มีความสำคัญต่อความรุ่งเรืองและล่มสลายของเมืองหรืออาณาจักรตลอดจนย่านสำคัญๆ ต่างๆ ในอดีตและปัจจุบัน เพื่อจะเข้าใจอนาคต หลายปีมานี้ ผมได้เดินทางและเก็บข้อมูล หรือไม่ก็อ่านเอกสารสำคัญเกี่ยวกับโรม เชียงใหม่ ลพบุรี อยุธยา นครวัด ปารีส นิวยอร์ก ภูเก็ต เว้ ดานัง ฮ่องกง สิงค์โปร เซี่ยงไฮ้ มะละกา ปัตตาเวีย แบกแดด มัดราส อเล็กซานเดรีย เอเธนส์ เวนีส อามสเตอร์ดัมส์ ลอนดอน ตลอดจน Cote D’Azur, California, Torremolinos, Fort Lauderdale, Boca Raton, Montenegro, และ British Empire เป็นต้น อันนี้ยังไม่นับกรุงเทพฯ และย่านสุขุมวิทหรือเพชรบุรีตัดใหม่ ซึ่งต้องปะทะกันทุกเมื่อเชื่อวันอยู่แล้ว (อีกไม่นาน ผมจะเขียน Cover Story อันเนื่องมาแต่ความรู้เหล่านี้ให้ได้อ่านกัน ขอให้ท่านอดใจรอ)

นั่นทำให้ผมรู้ว่า สงครามกลางเมืองและสงครามกับเพื่อนบ้านและผู้รุกราน (หรือหลายกรณีก็เป็นการรุกรานคนอื่น) เป็นสาเหตุสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้เมืองหรืออาณาจักรใหญ่น้อยในอดีตถึงกาลล่มสลาย

แม้แต่อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่มากๆ อย่าง Roman Empire และ British Empire ก็ถูกกรัดกร่อนด้วยความยโส บริโภคและใช้จ่ายเกินตัว ตลอดจนภาวะสงคราม โดยเฉพาะสงครามที่ก่อขึ้นเพื่อรุกรานหรือยึดครองพื้นที่อื่นของชนกลุ่มอื่น และกลายเป็นปัญหาเรื้อรังสลัดไม่หลุด จนเป็นภาระต่อการคลังและทรัพย์ของอาณาจักร และเพาะศัตรูขึ้นทั่วไปโดยไม่รู้ตัว (อันนี้จะคล้ายๆ กับสหรัฐฯ ปัจจุบัน ที่การก่อสงครามในอัฟริกานิสถานและอิรักชักจะเป็นปัญหาพัวพันไม่สิ้นสุด) หรืออย่าง British Empire ก็ล่มสลายไปเพราะสงครามใหญ่สองครั้งที่ทำลายยุโรปทั้งยุโรป และทำให้ อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ที่เคยยิ่งใหญ่มาก กลายเป็นประเทศไก่รองบ่อนของสหรัฐฯ และรัสเซียไปเลย

ผู้อ่านจำนวนมากคงจะไม่รู้จัก Merv, Fez, Cordoba, Ctesiphon, Akkad, Lagash, Ur, Thebes, Antioch, Antwerp, Potosi, Tyrus, Sidon, Carthage, Gades, Aden, Lubeck, Bruges, Cadiz หรือ Famagusta ทั้งๆ ที่เมืองเหล่านี้เคยเป็นเมืองที่มั่งคั่งและยิ่งใหญ่มาก่อน

ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะรู้ว่า ฉางอัน หรือ หางโจว นั้น เคยยิ่งใหญ่กว่าเซี่ยงไฮ้หรือแม้กระทั่งปักกิ่งเสียซ้ำ หรือสมัยที่ Los Angeles และ California ยังเป็นวุ้นอยู่นั้น เมืองสำคัญของสหรัฐฯ ในยุคแรกกลับเป็น Boston, Philadelphia, New York, Baltimore, Salem, Charleston, Newport, Providence, New Haven, New London, และ Norwich โดย Boston นั้นครองความยิ่งใหญ่มาจนถึงปี 1760 จึงเสียมงกุฎให้กับ New York ไป ท่านที่คุ้นเคยกับประเทศสหรัฐฯ และประวัติศาสตร์ของเขา ลองพิจารณาเปรียบเทียบกับปัจจุบันดูก็ได้ว่าหลายเมืองที่กล่าวมานั้น หมดความสำคัญลงไปแล้วโดยสิ้นเชิงหรือไม่ อย่างไร

ความรู้เหล่านี้ ทำให้ผมคิดหนัก หากไทยต้องเข้าสงครามกับเขมร หรือคู่ขัดแย้งสำคัญทางการเมืองของไทยจะใช้วิธีก่อสงครามกลางเมืองกันอีก

เพราะสำหรับผมแล้ว ความขัดแย้งกับเขมรมันไม่ใช่เรื่องเขาพระวิหาร แต่เป็นเรื่องตกค้างที่อยู่ในใจซึ่งกันและกัน นอนอยู่ลึกๆ อย่างนั้นมานานแล้ว ผมว่าแม้เราจะรบกันให้พินาศย่อยยับไปข้างหนึ่ง ความเกลียดและความหมั่นไส้อันนั้นมันก็จะยังคงอยู่เหมือนเก่า ซ้ำร้ายจะหนักกว่าเก่า ทำให้ความขัดแย้งยังคงอยู่ ผมว่าสงครามจะแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะ “รบกันเสร็จแล้ว ก็ไม่ต่างไปจากเดิม” สู้หาทางแก้ไขด้วยสันติวิธีดีกว่า จะได้ไม่สูญเสียกันทั้งสองฝ่าย เพราะยังไง เราทั้งสองฝ่ายก็เคยพิสูจน์กันแล้วไม่ใช่หรือ ว่าสามารถอยู่ร่วมกันโดยสันติมาได้เป็นเวลานาน แม้จะเกลียดกันปานใดก็ตาม

อันที่จริง ชาวนาที่ศรีสะเกษและคนอีสานจำนวนไม่น้อย ก็เคยสูญเสียที่ดินหรือดินแดนซึ่งตนหวงแหนให้แก่คนอื่นมามากแล้ว ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้านายทุนเชื้อสายจีนทั้งจากกรุงเทพฯ และตามเมืองใหญ่ หรือเสียไปให้กับธนาคารพาณิชย์ซึ่งอาศัยระบบจดจำนองและดอกเบี้ยอันยอกย้อน ยึดเอาที่ดินผืนงามของชาวบ้านมาเป็นของตัวแบบถูกกฎหมาย โดยทำกันอย่างนี้มานานแสนนาน จนคนอีสานยากจะลืมตาอ้าปากได้ (แม้แต่ชาวประมงภูเก็ต สมุย หรือหัวหิน ต่างก็สูญเสียที่ดินให้แก่ฝรั่ง จีนแผ่นดินใหญ่ แขกจากตะวันออกกลาง และจีนสิงคโปร์กันมาก โดยได้มูลค่าตอบแทนเพียงน้อยนิด)

ผมไม่เห็นว่าคนไทยส่วนใหญ่จะเดือดเนื้อร้อนใจอันใดเลย...........ไม่มีม็อบ ไม่มีความเห็นของคอลัมนิสต์ใหญ่ ไม่มีความเห็นจากผู้ใหญ่ในรัฐบาล จากกองทัพ หรือจากพรรคการเมืองของคนอีสานเอง............เงียบสนิท

แต่พอเป็นคนเขมร เท่านั้นแหละ...ม็อบ ทูต นายกรัฐมนตรี อดีตแม่ทัพนายกอง พรรคการเมืองใหม่ วุฒิสมาชิก คอลัมนิสต์น้อยใหญ่ ต่างดาหน้ากันมาด่าว่าผู้นำเขมร จัดม็อบบุก ตัดทุนนักเรียนเขมร ยกเลิก MOU ตรึงกำลังทหาร ปิดด่าน งดค้าขาย ปิดทางนักพนันเข้าบ่อน ฯลฯ

ผมว่า คนไทยเราค่อนข้างจะ Selective เกินไปหน่อย เมื่อพิจารณาเรื่องการสูญเสียดินแดนอันเป็นที่รัก เพราะดูเหมือนเราจะชอบให้คนไทยปล้นกันเอง หรือถูกจีนปล้น ฝรั่งปล้น มากกว่าที่จะให้เขมรปล้น (คุณสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เคยให้ข้อมูลว่าการถือครองที่ดินของคนไทยประมาณ 75% ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และ 90% ของคนไทยทั้งประเทศ ถือครองที่ดินกันรายละไม่ถึง 1 ไร่ ส่วนอีก 10% กลับถือครองที่ดินมากกว่า 100 ไร่ นับว่าการครอบครองดินแดนไทยนั้นมีความเหลื่อมล้ำกันมาก)

ส่วนที่ว่าความขัดแย้งทางการเมืองของไทยในขณะนี้ จะนำไปสู่สงครามกลางเมืองหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่หลายคนคงคาดเดาได้เองแล้ว ทว่า ตราบใดที่ทหารในกองทัพไทยไม่แตกแยกกันชนิดแบ่งฝ่ายเข้ารบพุ่งกันเองแล้ว สงครามกลางเมืองที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ก็คงจะไม่ยืดเยื้อ เพราะเมื่อฝ่ายหนึ่งมีอาวุธหนักครบมือ เข้าพันตูกับฝ่ายที่ไม่มีอาวุธ การสู้รบย่อมจบเร็ว แต่ถ้าต่างฝ่ายต่างมีอาวุธก้ำกึ่งกัน สงครามย่อมจะยืดเยื้อ

ผมไม่แน่ใจว่า ขณะนี้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลซึ่งประกอบไปด้วยนายทหารนอกราชการจำนวนมาก กำลังสะสมอาวุธและซุ่มฝึกกองกำลังที่เชี่ยวชาญการใช้อาวุธเหล่านั้นกันด้วยหรือไม่

อีกอย่าง ผมก็ไม่แน่ใจว่าคุณทักษิณแกคิดลึกซึ้งไปกว่าที่เห็นกันหรือเปล่า เพราะถ้าแกเกิดขอให้ท่านฮุนเซนออกหน้าแทน ไปติดต่อขอซื้อนิวเคลียร์กันมาแบบลับๆ เอามาตั้งในเขมรแล้วเล็งมายังสถานที่พำนักของบุคคลสำคัญในกรุงเทพฯ เพื่อต่อรองทางการเมือง.....ซึ่งถ้าเป็นอย่างที่ผมจินตนาการมานี้ ผมว่ามันจะยุ่งมากเลยแหละ

เรื่องทำนองนี้ มิใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เสียเลยทีเดียว ดร. ปรีชา ทิวะหุต ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่ผมนับถือและรอบรู้อย่างกว้างขวางลึกซึ้ง โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับฝรั่งเศส เคยเล่าให้ฟังว่าฝรั่งเศสเองก็มีขีปนาวุธหัวรบนิวเคลียร์ และมีเพียงอันเดียว ไม่จำเป็นต้องมีหัวรบมากมายก่ายกองอย่างสหรัฐฯ หรือรัสเซีย ทว่า ฝรั่งเศสติดตั้งมันไว้ในเรือดำน้ำ โดยให้เรือดำน้ำลำนั้นแล่นไปเรื่อยๆ ไม่อยู่กับที่ เพียงแค่นี้ก็เพิ่มอำนาจการต่อรองให้กับฝรั่งเศสมากโขอยู่

คุณทักษิณเอง ก็เคยเรียนโรงเรียนเตรียมทหารและโรงเรียนนายร้อยตำรวจมาก่อน คงต้องรู้วิธีเตรียมตัวเข้าสู่ศึกสงครามและการจัดทัพ ไม่มากก็น้อย

ตัวแปรที่สำคัญอีกอันหนึ่งก็คือ “ม็อบ”

ความเข้มแข็งและเหนียวแน่นของ “ม็อบ” เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะกำหนดว่าสงครามกลางเมืองที่อาจเกิดขึ้นนั้น จะรุนแรงมากน้อยเพียงใด หลายปีมานี้ “ม็อบ” ในเมืองไทยก้าวหน้าไปมาก ทั้งในแง่การจัดการ การระดมทุน ยุทธศาสตร์ยุทธวิธี และอุดมการณ์ ในขณะที่ฝ่ายบ้านเมือง ผู้ต้องรับมือกับม็อบหรือผู้ปราบม็อบ ก้าวหน้าไปน้อยมาก ไม่ว่าจะในแง่ของกำลังพล ยุทธวิธี และเครื่องไม้เครื่องมือ

ม็อบของทุกฝ่าย ต่างมีหนังสือพิมพ์ มีสถานีวิทยุ มีสถานีโทรทัศน์เป็นของตัวเอง มีกองกำลังของตัวเอง หรือแม้กระทั่งมีพรรคการเมืองและแนวร่วมเป็นของตัวเองด้วย โดยที่ในสถานการณ์ปกติพรรคการเมืองจะทำตัวเป็นองค์กรนำของม็อบ แต่ในสถานการณ์สงครามม็อบก็จะกลับเป็นองค์กรนำของพรรคการเมือง

ม็อบมีทั้งคุณและโทษ การปฏิวัติฝรั่งเศสสำเร็จก็เพราะม็อบ และล้มเหลวก็เพราะม็อบอีกเช่นกัน การล้มระบอบเผด็จการทหารสมัย 14 ตุลาคม 2516 สำเร็จได้ก็เพราะว่าม็อบมีส่วนมากอยู่ และความรุนแรงระหว่างปี 2517-2519 ส่วนหนึ่งก็เพราะม็อบอีกเช่นกัน Liddell Hart นักการทหารเชิงยุทธ์คนสำคัญของฝรั่ง เคยบอกว่าม็อบคือสิ่งที่ผู้บัญชาการทหารทุกคนกลัว

ความน่ากลัวของม็อบคือ “มันไม่มีความยั้งคิด หรือมันไม่ทันจะคิด” เพราะข้อมูลที่ม็อบได้รับ ณ ตอนนั้น มันไม่เพียงพอให้พวกเขาได้คิด และส่วนใหญ่มักจะเป็นข้อมูลด้านเดียว

ม็อบมีความ “รู้สึก”...รัก เกลียด ชิงชัง เคียดแค้น บูชา....และ ม็อบชอบ “ลงมือกระทำ”....บุก ล้อม เผา ทุบ ทำลาย สรรเสริญ เก็บกวาด โห่ร้อง......ฯลฯ แต่ม็อบมัก “ไม่คิด” และ “ไม่ใช้เหตุผล”

ก่อนกระทำการ ม็อบจะไม่ฉุกคิดถามตัวเอง......ไปกินไปนอนไปฟังเพลงในสนามบินจนเครื่องบินลงไม่ได้แบบนั้น แล้วเด็กหรือคนป่วยที่ติดอยู่ต่างประเทศจะกลับบ้านยังไง......เอารถขนแก๊สขนาดใหญ่ไปจอดไว้ใกล้กับแฟลตที่มีคนอยู่จำนวนมากแล้วเปิดให้แก๊สคลุ้งออกมาแบบนั้นมันจะระเบิดเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนเหล่านั้นหรือไม่.....ไปปิดล้อมถนนอยู่แบบนั้นเป็นเดือนๆ ผู้คนที่เคยสัญจรไปมาแถบนั้น จะเดือดร้อนหรือไม่เพียงใด.....ไปตั้งขบวนอยู่หน้าบ้านคนแก่แล้วตระโกนด่าแบบสาดเสียเทเสียผ่านเครื่องขยายเสียงทั้งวันทั้งคืนแบบนั้น มันจะสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้ใครบ้างหรือไม่.....ไปชักจูงคนมายัดเยียดอยู่กันเป็นจำนวนมากแบบนั้น มันต้องเสี่ยงต่อชีวิตพวกเขาอยู่แล้ว ทั้งโรคภัยและต่อการถูกปราบถูกถล่ม และถ้าพวกเขาตายหรือพิการ ญาติพี่น้องจะเสียใจเพียงใด ลูกหลานจะหันไปพึ่งใคร แล้วถ้าคนที่ตายหรือพิการนั้นเป็นตัวเรา จะสำนึกเสียใจไหม หรือจะเกิดผลพวงอะไรตามมากับคนรอบข้าง ฯลฯ.....(ผู้สนใจเรื่องม็อบและการก่อม็อบอย่างจริงจัง ผมแนะนำให้อ่านงานคลาสสิกสองชิ้นคือ The Crowd: A Study of the Popular Mind โดย Gustave Le Bon, และ Extraordinary Popular Delusions and the Madness of Crowds โดย Charles MacKay)

เหล่านี้เองที่ทำให้ม็อบมีความน่าสะพรึงกลัว และถ้าม็อบของทั้งสองฝ่าย ต่างฝ่ายต่างเข้มแข็ง ก็ยิ่งจะทำให้สงครามกลางเมืองยืดเยื้อยาวนาน และก่อความเสียหายได้มาก

ผมเชื่อว่าขณะนี้ ทุกฝ่ายต่างกำลังจัดทัพของตัวเอง ทั้งในแง่อาวุธยุโธปกรณ์ กำลังพล ม็อบ พรรคการเมือง หัวคะแนน และแนวร่วม รอวันที่จะต้องช่วงชิงอำนาจรัฐคราวต่อๆ ไป ซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชันษายิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้ก็จะเข้มข้นขึ้นเป็นเงาตามตัว เหมือนภูเขาไฟที่รอวันปะทุ

ผมภาวนาไว้อย่างเดียวว่า หากสงครามกลางเมืองเกิดขึ้นจริง มันจะไม่สร้างความเสียหายจนถึงขึ้นที่อารยะธรรมต้องล่มสลาย แล้วสิ่งที่เข้ามาแทนจะเลวร้ายกว่าเดิม....Fascism, Nazism, Militarism, Absolute Monarchy, Nationalism, Maoism, Republic, Unionism, Stalinism, Troskyite, Pol-Pot-styled Regime….?

ผมเคยทำ Scenario Analysis ส่วนตัวไว้คร่าวๆ แล้วว่าในอนาคต ระบบเศรษฐกิจไทยจะวางอยู่ตรงไหน ระหว่างทุนนิยมสุดขั้วแบบสหรัฐฯ ในยุคหลัง กับสังคมนิยมสุดขั้วแบบจีนสมัยเหมาเจ๋อตง หรือจะเป็นรัฐพอเพียงในความหมายแคบแบบพม่า ลาว และคิวบา

แล้วผมจะเล่าให้ฟังทีหลัง


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
10 พฤศจิกายน 2552
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2552

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น