วันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2553

"นักทำดี" ไม่ใช่ "คนดี"



สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับมนุษย์ ก็คือการดำรงชีวิตให้ผ่านพ้นวันคืนไปโดยราบเรียบ และมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ตามสมควร

เพราะในความเป็นจริง มนุษย์มักอยากได้โน่นอยากได้นี่ มนุษย์อยากเป็นใหญ่เหนือคนทั้งปวง อยากจะมี อยากจะเป็น หรือบางกรณีก็ไม่อยากจะมีไม่อยากจะเป็น เช่นไม่อยากถูกเหยียด ไม่อยากเป็นแกะดำ หรือไม่อยากถูกไล่ล่า หรือถูกกันออกจากสังคมและพรรคพวกเพื่อนฝูง หลายต่อหลายครั้ง มนุษย์มักเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น แล้วก็น้อยใจในโชคชะตา หรือเกิดความหวาดระแวงต่างๆ นาๆ เช่น หวาดระแวงว่าคนรักจะเป็นอื่น กลัวว่าลูกจะไม่รัก กลัวว่าจะไม่เป็นที่รักและเคารพของมวลชน กลัวสูญเสียอำนาจและอภิสิทธิ์ต่างๆ กลัวสิ่งที่มองไม่เห็นและยังมาไม่ถึง เบื่อหน่ายกับสิ่งที่ตัวมีตัวเป็น จนหวานอมขมกลืนต่อวิถีชีวิตประจำวัน ฯลฯ

บางทีแรงจูงใจที่กล่าวมานั้น ก็แอบทำงานภายใต้จิตสำนึกอย่างเงียบๆ สะสมไปทีละเล็กทีละน้อยเป็นเวลานาน จนชักจูงหรือนำพาให้มนุษย์กระทำในเรื่องซึ่งนำความอับอาย และอัปยศ อดสู มาสู่ตัวเอง บางคนก็กลายเป็นคนขี้โกง อยากได้ของคนอื่นมาเป็นของตัว บางคนก็ชอบอวดอ้าง อวดร่ำอวดรวย บริโภคสิ่งของให้คนเห็นว่าเด่นดัง และบางคนก็แผลงฤทธิ์จนบ้านเมืองวุ่นวาย ผู้คนต้องเสียทรัพย์และสิ้นหวัง หดหู่ ฯลฯ

แต่ส่วนใหญ่ จะชอบคิด ชอบทำ ตามๆ กัน โดยไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง

ทว่า ตามประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติตลอดมาทุกยุคทุกสมัย มักจะมีคนบางคนหรือบางพวกที่ต้องการ “อยากทำความดี” อย่างแรงกล้า และคนเหล่านี้ เมื่อมีโอกาสได้เป็นผู้นำ ก็มักจะคิดแทนคนอื่น ให้คนอื่น “ต้อง” เป็นคนดีด้วย บางทีถึงกับขีดเส้นหรือบังคับให้คนอื่นเดินตามทางที่ตนเองคิดว่ามันจะดีต่อคนเหล่านั้น ด้วยซ้ำไป

สำหรับคนเหล่านี้ โลกและสังคมที่เป็นอยู่ มักจะยัง “ไม่ดีพอ” !

สำหรับพวกเขาแล้ว โลกจะต้องดีกว่านี้ เขียวกว่านี้ บริสุทธิ์กว่านี้ สันติกว่านี้ มั่งคั่งกว่านี้ รักกันกว่านี้ เสรีกว่านี้ เท่าเทียมกว่านี้ พอเพียงกว่านี้ อดออมกว่านี้ ต้องมีคนดีมาปกครองมากกว่านี้ มีคุณธรรมกว่านี้ พูดความจริงกันยิ่งกว่านี้ มีความต้องการทางเพศกันน้อยลงกว่านี้ (เพราะเขาว่าโสเภณีมีมาก) พนันขันต่อกันน้อยลงกว่านี้ (เพราะมีบ่อนแยะ) ดื่มแอลกอฮอล์กันน้อยกว่านี้ และ ฯลฯ

ตอนที่ Ronald Reagan ประกาศนโยบาย Star Wars ก็ว่าต้องการให้ผู้คนในโลกปลอดพ้นจากอาณาจักรปีศาจหรือ “Evil Empire” ที่เขาหมายถึงสหภาพโซเวียตในขณะนั้น

หรืออย่างที่ George Bush, Jr. ประกาศว่าจะบุกอัฟกานิสถาน ก็เพื่อปลดปล่อยชาวอัฟริกันจากปีศาจตอลิบัน “We are all alone in the universe, and only we can determine what is good and what is evil.” เขากล่าวก่อนบุก

หรืออย่างที่เขาเชื่อว่าได้ปลดปล่อยชาวอิรักจากเผด็จการซัดดัม ฮุสเซน เขาก็กล่าวกับ Condoleezza Rice ว่า “Let Freedom Reign” ทันทีที่รู้ว่ากองทัพสหรัฐฯ ยึดแบกแดดได้สำเร็จ

เหล่านี้ เป็นตัวอย่างเพียงบางเสี้ยวของ “นักทำดี”

เมืองไทยเรา นับเป็นดินแดนที่เปิดโอกาสอย่างมากให้กับ “นักทำดี” เพราะเรามีศาสนาประจำชาติเป็นเงื่อนไขให้ผู้นำและชนชั้นนำต้องเป็น “คนดี”

โอกาสที่ “คนดี” จะได้รับการยอมรับและยกย่องให้เป็นผู้นำในสังคมไทย มีสูงกว่าคนประเภทอื่น เช่น คนเก่ง คนขยัน คนทำงานหนัก คนทำงานมีประสิทธิภาพ มีประสิทธิผล หรือมี Productivity สูง

เหล่านี้ ส่งผลให้ชนชั้นนำมักวางตนต่อสาธารณะว่าเป็น “นักทำดี” เพราะพวกเขาเชื่อว่า สาธารณะชนให้คุณค่าแค่นั้น และจะไม่สนใจเลยไปกว่านี้ ว่าในทางส่วนตัวของพวกเขาจะกลับตาลปัตรอย่างไร (เช่น นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ประกาศว่าตัวเองยึดถือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเข็มทิศนำทาง ทว่ารัฐบาลของตัวกลับดำเนินนโยบายการคลังขาดดุล--พูดแบบชาวบ้านก็หมายความว่า รายจ่ายมากกว่ารายรับ—หรือนักธุรกิจใหญ่ที่พูดเสมอว่าเมืองไทยนี้ดี จะขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารไปจนชั่วกัลปาวสาน แต่ก็แอบถือพาสปอร์ตกันคนละสองสามเล่ม, หรืออย่างนายทหารใหญ่ที่ปากว่ารักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์อย่างแรงกล้า สามารถสละแม้กระทั่งชีพเพื่อปกป้องสถาบันหลัก แต่ก็แอบซื้อบ้านไว้ในต่างประเทศพร้อมจะหนีอยู่ตลอดเวลาเมื่อถึงคราวคับขัน, หรืออย่างผู้นำมวลชนหรือคอลัมนิสต์ที่ประกาศปาวๆ ให้ผู้คนเสียสละ แม้จะต้องรบกับต่างชาติเพื่อปกป้องดินแดนก็ต้องทำ แต่แอบจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อให้ลูกชายปลอดพ้นจากการคัดเลือกทหาร, หรืออย่างนักอนุรักษ์ที่เรียกร้องให้ปลูกต้นไม้เพื่อกู้โลก ทว่า ตั้งแต่เกิดมาตัวเองก็ไม่เคยปลูกต้นไม้เลย แถมยังปลูกต้นไม้และดูแลต้นไม้ไม่เป็นเอาเสียเลย, หรืออย่างทนายสิทธิมนุษยชนที่เอาเปรียบภรรยาตัวเองอย่างมาก, หรือแม้กระทั่งนักการเมืองและวิชาการที่เสนอว่าประเทศต้องเดินไปทางโน้นทางนี้ มีกลยุทธ์อย่างนั้นอย่างนี้ มีความคิดสร้างสรรค์แบบนั้นแบบนี้ แต่ตัวเองกลับลอกๆ ความคิดและคำพูดของฝรั่งมาพูดและเขียนอยู่ตลอดเวลา เป็นต้น)

ผมสังเกตเอาเองว่า ระยะหลัง Market Share ของ “คนดี” ในสังคมไทยเริ่มลดลง (ไม่เชื่อก็ลองสังเกตดูอิทธิพลของหัวขบวนบางท่านของบรรดาคนดีอย่าง "พลเมืองอาวุโส" หรือ "สี่เสาเทเวศร์" เป็นต้น)

ผมคิดว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะชนชั้นกลาง (บางส่วน) และชนชั้นล่าง (ส่วนใหญ่) เริ่มไม่แน่ใจต่อเจตนาและปฏิปทาของคนเหล่านั้น ว่าพวกท่านเป็น "คนดี" จริงๆ หรือเป็นแต่เพียง "นักทำดี" กันแน่ (สำหรับชนชั้นปกครองนั้นมักจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไรอยู่แล้ว) ทั้งนี้เพราะปัจจุบันพวกเขาสามารถเข้าถึงข่าวสาร ข้อมูล ข้อคิด ความเห็น อย่างกว้างขวางแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เดี๋ยวนี้ แม้แต่ชนชั้นล่างประเภทหาเช้ากินค่ำและลูกหลานของพวกเขา ก็ “Go Online” กันแล้ว

ที่พูดนี้ ไม่ได้หมายความว่าผมชอบหรือไม่ชอบ “คนดี” หรือคิดว่าคนเหล่านั้นเป็นคนไม่ดีจริงอย่างที่สร้างภาพหรือเป็นคนไม่มีประโยชน์ ผมเพียงแต่บอก Observation ของผมในฐานะนักเขียนที่ชอบสังเกตการณ์สังคมไทยคนหนึ่ง

แม้แต่ความคิดเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งเป็นความคิดที่สมเหตุสมผล และ Associated กับพระมหากษัตริย์พระองค์ซึ่งเป็นที่เคารพรักของปวงชนชาวไทยมากที่สุด ก็ยังมีมาร์เก็ตแชร์น้อยมากในหมู่ชนชั้นล่าง ผมได้พูดคุยกับคนชั้นล่างจำนวนมาก และพบว่าคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” สำหรับพวกเขาแล้ว มักมีความหมายในเชิงลบ แม้พวกเขาจะรัก เคารพ และเทิดทูน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างมากก็ตาม

พวกเขาบางคนบอกกับผมว่า บุคคลสำคัญส่วนใหญ่ (ไม่นับองค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์) ที่มักออกมาพูดหรือมาสอนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง มักเดินทางไปไหนมาไหนในกรุงเทพฯ ด้วย Mercedes หรือ BMW บางทีก็มีตำรวจล้อมหน้าล้อมหลัง คอยปิดถนน และใส่นาฬิกาเรือนละเป็นหมึ่นเป็นแสน อยู่บ้านหลังละหลายล้าน ถือครองที่ดินกันคนละหลายสิบไร่ มีเงินในธนาคารเป็นล้านๆ ทำงานในห้องแอร์ อีกทั้งตัวเองและลูกหลานยังเรียนหรือเคยเรียนที่ต่างประเทศอีกด้วย

สมัย "เขายายเที่ยง" (ซึ่งถือว่าอยู่ในกลุ่ม “คนดี”) ผมเคยคุยกับคนชั้นกลางคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในย่านเดียวกับนายกรัฐมนตรี เธอว่าเธอต้องตื่นแต่เช้า นั่งมอเตอร์ไซด์ออกมาเพื่อต่อเรือ เสร็จแล้วก็ต่อรถเมล์อีกสองต่อ กว่าจะถึงที่ทำงานทุกวัน

เธอบอกกับผมว่า ถ้านายกรัฐมนตรีลองทำแบบนั้นบ้าง นั่งมอเตอร์ไซด์ไปต่อเรือแล้วค่อยต่อรถเมล์ แล้วพอถึงทำเนียบฯ ก็เปิดพัดลม อย่าเปิดแอร์ “เขาก็จะรู้เองว่า ชีวิตนี้มันยังพอเพียงไม่ได้ มันต้องดิ้นรนให้ชีวิตดีขึ้น จะได้สบายตามสมควร” เธอว่างั้น

คนชั้นกลางสมัยนี้ ยังทราบอีกว่าชนชั้นปกครองบางคนที่เน้นย้ำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและคุณธรรมอยู่ตลอดเวลานั้น ในขณะเดียวกันก็เกี่ยวข้องกับธนาคารที่ปล่อยเงินกู้ให้กับโครงการที่ทำลายสภาพแวดล้อมอย่างหนัก หรือเกี่ยวข้องกับนักธุรกิจที่ต้องเลี้ยงชีพด้วยการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตอย่างมโหฬาร และค้าของมึนเมาให้กับชนชั้นล่าง เป็นต้น

เหล่านี้แหละ ที่ทำให้มาร์เก็ตแชร์ของ “เศรษฐกิจพอเพียง” หดตัวลงในหมู่ชนเหล่านั้น

โดยส่วนตัว ผมเห็นด้วยกับแนวคิด “เศรษฐกิจพอเพียง” และเห็นว่าผู้นำของเราควรเป็นคนดี มีจิตใจเสียสละ เก่ง และมีเจตนาที่จะสร้างความอุดมบริบูรณ์ให้กับราษฎรอย่างเท่าเทียมกัน อย่างไม่เลือกที่รักมักที่ชักและไม่เลือกชนชั้น แต่ผมไม่เห็นด้วยว่าพวกเราควรจะให้ความสำคัญกับ “นักทำดี” จนเกินเหตุ เพราะแม้ “นักทำดี” บางคนจะเป็นคนดี แต่ผมก็ยังคิดว่า “นักทำดี” จำนวนมากอาจไม่ใช่ “คนดี” ที่มีคุณธรรมเป็นเครื่องชี้นำชีวิตก็ได้ เพราะคนดีที่มีคุณธรรมประจำใจที่แท้นั้น มักทำตัวเงียบๆ ฝึกฝนตนเอง ยกระดับจิตใจตนเอง เคารพเพื่อนบ้าน ต้อนรับผู้คนด้วยใจเมตตาอย่างเท่าเทียมกัน ปฏิบัติกับคนรอบข้างด้วยความเข้าอกเข้าใจและหวังดี ทำงานอย่างมีความสุข ไม่เกียจคร้าน และเป็นตัวอย่างที่ดีให้คนอื่นได้เอาอย่างหรือดำเนินชีวิตตาม คนเหล่านี้แหละที่เป็นเสมือน “แสงสว่าง” ส่องนำทางให้คนอื่น

ตรงข้ามกับ “นักทำดีสาธารณะ” ที่จำเป็นต้องพูดโกหก หรือพูดความจริงไม่ครบ และต้องแสดงละคร จนบางครั้งต้องยิ่งใหญ่เป็น Public Spectacle ซึ่งมักจบลงด้วยความเศร้า และความทุกข์ยากของราษฎร

ผมอยากจะจบบทความนี้ด้วยการยกคำสนทนาในภาพยนตร์เรื่อง Downfall (ซึ่งสร้างได้ดีมาก) ระหว่าง Adolf Hitler ซึ่งเป็น “นักทำดีสาธารณะ” คนสำคัญของเยอรมนี พูดกับบรรดาคนใกล้ชิดในบังเกอร์ที่เขตปรัชเซียตะวันออก ในช่วงสุดท้ายก่อนที่เขาและภรรยาจะสังหารตัวเองและกองทัพแดงของรัสเซียจะยึดเบอร์ลินสำเร็จ ว่า:

“I have devoted my entire life to making the world a better place,…….” เขากล่าว

“But, mein Fuhrer, Berlin is nearly surrounded. We have no more ammunition. We must try to negotiate.” นายพลของเขาคนหนึ่งกล่าวขึ้น

“You, too? I am surrounded by incompetents and traitors. We can never surrender. I’d rather put a bullet into my head. We have done all we could, so far. We must go all the way—to the end, if that is what is coming.” ฮิตเลอร์ตะคอกใส่อย่างมีอารมณ์

“But, mein Fuhrer, think of the suffering of the German people.” นายพลอีกคนกล่าวขึ้น

ฮิตเลอร์กลับตอบอย่างสีหน้าราบเรียบว่า “You want me to have compassion? My work was too important to let compassion or any personal motives interfere. So, don’t expect me to be compassionate now. And besides, the German people deserve to die, too; they let me down. They aren’t worthy of the great new world we were offering them.”………………..


ท่านผู้อ่านครับ พึงตรวจสอบและระมัดระวังบรรดา “นักทำดี” ไว้บ้าง ก็จะดีน๊ะครับ เมื่อถึงคราวที่ต้องเลือกคนเหล่านี้ขึ้นมาปกครองประเทศ !


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
20 ธันวาคม 2552
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนธันวาคม พ.ศ. 2552

(รูปประกอบจาก www.tnews.co.th)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น