วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีสมัยรัชกาลที่ 3 ว่าด้วย ปัญหาภาคใต้


“ปัญหาภาคใต้” นับเป็นปัญหาการเมืองในระดับ Classic ของไทย ที่เริ่มมาแต่ยุคกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน มากบ้าง น้อยบ้าง รุนแรงบ้าง เบาบางบ้าง ตามแต่สถานการณ์ในแต่ละยุคสมัย ทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก เช่น สถานการณ์ทางการเมืองของไทยและมาเลเซีย นโยบายของรัฐบาลไทยต่อภาคใต้ในขณะนั้นๆ การปฏิบัติตนของข้าราชการไทยในพื้นที่ สถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจในท้องถิ่น ตลอดจนความเข้มแข็งและทัศนะคติของผู้นำมุสลิมในท้องถิ่น เรื่อยไปจนถึงสถานการณ์ทางการเมืองของโลก

ขณะนี้ ถือเป็นยุคที่ปัญหาภาคใต้กลายเป็นปัญหาสำคัญ และทำท่าว่าจะลุกลามใหญ่โต แต่กระนั้นก็ตาม ก็ใช่ว่า “ทางออก” จะไม่มี เพราะอย่างที่บอกแล้วว่ามันเป็นเรื่องเก่า รัฐบาลไทยสมัยก่อนก็เจอมาแล้วและแก้กันมาแล้วทุกรูปแบบ ทั้งเอาคนไทยเข้าไปปกครอง ให้ปกครองกันเอง เอาญาติพี่น้องของผู้นำท้องถิ่นที่เคยผิดใจกันไปคานอำนาจกันเอง แยกซอยพื้นที่ให้เหลือหน่วยย่อยๆ หลายๆ หน่วย เพื่อทอนกำลังผู้นำท้องถิ่น จับญาติพี่น้องของผู้นำท้องถิ่นไว้เป็นประกันที่กรุงเทพฯ ตั้งศูนย์อำนาจปกครองภาคใต้โดยเฉพาะ (คล้ายๆ ส.อ.บ.ต. ปัจจุบัน) ทั้งที่นครศรีธรรมราชและสงขลา ใช้กองทัพเรือและทัพบกเข้าขู่ จนถึงใช้การปราบปรามแบบเหี้ยมโหด ทั้งขู่ทั้งปลอบ แม้แต่การขอความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการปิดแนวชายฝั่ง ก็เคยมาแล้ว

“จดหมายหลวงอุดมสมบัติ” เป็นหลักฐานสำคัญในเรื่องนี้ ว่าชนชั้นปกครองไทยมองและเผชิญกับปัญหาภาคใต้มากันอย่างไรบ้างในอดีต “หนอนสมัครเล่น” ไม่อยากแนะนำอะไรมาก เพราะอยากท้าทายผู้อ่านให้ค้นหากันเอาเอง จะได้เกิดฉันทะทางหนังสือ ซึ่งถือเป็นการลองภูมิกันในหมู่นักเลงหนังสือสมัยโบราณ แต่จะคัดจดหมายฉบับหนึ่งมาให้อ่านกันเป็นกระสาย

จดหมายฉบับนี้ เขียนบรรยายถึงความคิดความเห็นของชนชั้นปกครองไทยต่อปัญหาภาคใต้เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๑ หลังจากที่กองกำลังของตนกู โมฮำเหม็ด ซาฮัด และตนกู อับดุลลาห์ ญาติของสุลต่านเมืองไทรบุรีที่ถูกรัฐบาลไทยปลดออกเมื่อหลายปีก่อนหน้านั้น (รัฐ Kedah ปัจจุบัน) ได้รวบรวมสมัครพรรคพวกที่ยังคงภักดีต่อสุลต่าน พร้อมกับพรรคพวกของวันมาลี โจรสลัดมาลายู เที่ยวปล้นสะดมแถบภูเก็ต และต่อมาก็ยึดหัวเมืองแถบนั้นได้หลายเมือง เช่นเมืองตรัง จนตีเมืองไทรบุรีแตกในเวลาต่อมา ทั้งยังเข้าล้อมเมืองสงขลาไว้อย่างแข็งแรงอีกด้วย

เนื้อความจดหมายมีอยู่ว่า



“ข้าพเจ้า หลวงอุดมสมบัติ ขอพระราชทานจดหมายกราบเรียนท้าวพระกรุณาเจ้า (หมายเหตุบรรณาธิการ : หมายถึง พระยาศรีพิพัฒน์ ซึ่งต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ‘ทัด บุนนาค’) ให้ทราบ

ด้วย ณ วันเดือน ๑๐ แรม ๗ ค่ำ ปีจอสัมฤทธิศก เพลาค่ำ (หมายเหตุบรรณาธิการ : พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงตรัสถามคุณพิพัฒน์ว่า มีเรือราชการมาแต่ไหนบ้าง คุณพิพัฒน์กราบทูลว่าไม่มีเรืออะไรเข้ามา หามิได้ รับสั่งว่า อย่างไรหนอ เงียบหายไปเสียหมดทีเดียว คอยฟังเรือพวกสงขลา คอยข่าวเมืองตรังกานูก็ไม่ได้ความ ข่าวราชการเมืองไทรก็เงียบไป ไม่มีใครบอกกล่าวเข้ามาเลย คอยอกใจวาบๆ หวิวๆ อยู่ทีเดียว อย่างไรอยู่หนอ มันจะคิดไปทำเอาเมืองถลางด้วยฤาอย่างไรก็ไม่รู้ แล้วตรัสถามว่า พวกชุมพร ใครเข้ามาถึงบ้าง พระนรินทร์กราบทูลว่า ยังไม่มีใครเข้ามาหามิได้ ทรงตรัสว่า พระยาเสนาภูเบศร์จัดแจง ว่าจะเข้ามาจากชุมพร คอยๆ ก็หายไป แล้วตรัสถามพระยาโชฏึก ว่าไล่เลียงอ้ายจีนผ่อง ซึ่งเข้ามาจากสงขลาด้วยราชการเมืองไทรนั้น ได้ความอย่างไรบ้าง พระยาโชฏึกกราบทูลว่า ไล่เลียงเข้าดูก็ไม่ได้ความต่อไปหามิได้ รับสั่งว่า ลูกเรือ ลูกแพมันก็มีอยู่หลายคน คิดอ่านคอยสืบสาวเอาตัวมันไล่เลียงเข้าก็คงจะได้ความบ้าง ถ้ามันไม่บอกความ พูดจาเป็นไม่รู้เสียสิ้นแล้ว ก็เอาโทษตีมันเสีย ๔ ที ๕ ทีบ้างเถิด แล้วทรงตรัสเล่าคำให้การเดิมจีนผ่อง ให้กรมหลวงรักษ์รณเรศ (หมายเหตุบรรณาธิการ : ภายหลังถูกถอดเป็น หม่อมไกรสร และถูกประหารชีวิต เป็นต้นสกุล พึ่งบุญ ณ อยุธยา) ฟังว่า อ้ายจีนผ่องมันว่า พวกอ้ายแขกไทรยกเข้ามา ๓๐๐๐ จะมาตีเมืองสงขลา พระยาไชยาคนเก่าจัดแจงได้ ๘๐๐ ยกออกไปรบสู้กับอ้ายแขกอยู่ ๓ วัน อ้ายแขกแตกหนีไปตั้งอยู่ที่สเดานอก จากบ้านปริกทางวันหนึ่ง พระยาไชยาตั้งอยู่ที่บ้านปริก แล้วพระยาไชยาแบ่งคนใน ๘๐๐ แยกให้ไปตั้งรับที่พังลาในบ้านปริกเข้ามากองหนึ่ง ไปตั้งอยู่ที่นมควายกองหนึ่ง แล้วว่าผู้ช่วยสงขลาจัดคนได้ ๕๐๐ ให้หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ยกไปตั้งค่ายรับอยู่ที่หนองบัวกองหนึ่ง ฟังดูไม่น่าเชื่อเลย แม่ทัพตั้งอยู่บ้านปริก แล้วทำไมจะมาแบ่งคนเข้ามาตั้งรับอยู่พังลาข้างหลังเล่า ชอบแต่จะตั้งรับข้างหน้าออกไปจึงจะชอบ พากันแยกย้ายเป็นกองๆ ห่างกันทางวันหนึ่งคืนหนึ่งไปเสียสิ้นอย่างนี้ จะทันท่วงทีราชการที่ไหน ผู้คนน้อยๆ อย่างนี้กลับมาแยกย้ายให้ห่างกันไปอีกเล่า ชอบแต่มั่วสุมกันเข้าให้พรักพร้อม ตั้งเป็นชั้นๆ กันไปจึงจะชอบ ถึงอ้ายแขกจะตั้งอยู่ พากันยกไปให้พร้อมอ้ายแขกๆ ก็จะแตกหนีเข้าป่าไป จะทนอยู่ที่ไหนได้

แล้วตรัสถามท้าวพระกรุณาว่า ได้พูดจากับเจ้าพระยานคร (หมายเหตุบรรณาธิการ : เจ้าพระยานคร น้อย เชื้อสายพระเจ้ากรุงธนบุรี)ได้ความเป็นอย่างไรบ้าง ท้าวพระกรุณากราบทูลว่า ได้รับพระราชทานถามดูที่จะให้แม่ทัพนายกองกิน ก็ว่าจะได้รับพระราชทานเข้าข้างนอก ได้แต่พอสี่เดือนเท่านั้น จะอาศัยเข้าใหม่ในปีนี้เล่า ก็ไม่มีใครทำไร่นา คิดวิตกอยู่ด้วยเข้าจะขัดสน หาพอกองทัพรับพระราชทานไม่ จึงทรงตรัสว่า ฉันก็ว่าอยู่ก่อนแล้ว เข้าปลาอาหารมันก็คงจะจุดเผาเสียบ้าง จะได้มากินสักกี่มากน้อย แล้วตรัสถามว่าๆ ความอย่างไรต่อไปบ้างเล่า ท้าวพระกรุณาทูลว่า ถามดูที่การคิดจะทำเมืองไทรนั้น ว่าการครั้งนี้ง่ายกว่าครั้งก่อนเมื่อครั้นตนกูเดนนั้นทำยาก ด้วยตนกูเดนเป็นคนแข็งแรง กล้าแข็งสู้รบมาก ครั้งนี้เป็นแต่ลูกเด็กๆ หาสู้แข็งแรงไม่ ทรงตรัสว่าๆ อย่างนี้จะมิเป็นประมาทลูกผู้ชายไปฤา แล้วตรัสถามว่า ครั้งนี้ว่าง่ายอย่างไร มันทำเมืองไทรได้ แล้วมันทำเมืองตรังก็ได้เมืองตรัง ครั้งก่อนเมืองตรังมันได้ไปเมื่อไร ได้ไปก็แต่เมืองไทรเมืองเดียว ผู้คนเมืองตรังเมืองพัทลุงก็ดีอยู่หาเสียหายไม่ กะเกณฑ์เรียกเอาไป ก็ได้ทุกบ้านทุกเมือง ครั้งนี้จะเอาแต่คนเมืองพัทลุง เมืองนคร ก็ไม่ใคร่ได้เสียอีก ว่ามันแตกพ่านเข้าป่าไป จะต้องเรียกหาคอยรวบรวมอยู่ก่อน ยังไม่ใคร่ได้ทันราชการ อย่างนี้จะว่าง่ายกว่าครั้งก่อนอย่างไร ท้าวพระกรุณากราบทูลว่า ถามเจ้าพระยานครๆ ว่าการครั้งนี้ตัวเจ้าพระยานครเข้ามาอยู่ ณ กรุงเทพฯ การเกิดขึ้นภายหลัง เจ้าพระยานครอยู่ข้างนอกหาทราบความตลอดไม่ เมื่อครั้งตนกูเดนนั้นทราบความอยู่สิ้น รบสู้กับตนกูเดน ที่เมืองไทรเล่า อังกฤษก็ให้เอากำปั่นรบ ขึ้นมาคอยปิดปากน้ำเมืองไทร ช่วยระวังอยู่ทั้ง ๒ ลำ พวกทัพนครก็ไปมาหาอังกฤษไม่ขาด อังกฤษก็ไม่คิดทำให้พวกทัพนครขัดใจ พวกทัพนครก็คอยพูดว่ากล่าวไม่ให้อังกฤษขัดใจ การครั้งนี้แลไม่เห็นตลอด คิดไปไม่ถูก หารู้ที่จะคิดอย่างไรได้ไม่ จึงทรงตรัสกับกรมหลวงรักษ์รณเรศว่า ฟังดูพูดจาหาคิดเห็นเป็นแน่นอนลงที่ไหนได้ไม่ ครั้งก่อนก็ว่าอังกฤษเอากำปั่นรบมาช่วยปิดปากน้ำระวังอยู่ถึง ๒ ลำ อย่างนี้จะว่าครั้งก่อนยากอย่างไรมีแต่ความผิดไปเสียสิ้น อย่างนี้จะมิเสียทีแก่การฤา ฤาจะเห็นว่าครั้งนี้ว่าง่ายๆ ด้วยอ้ายแขกพวกขบถ (ในพื้นเมืองจำใจเข้าด้วยพวกหัวหน้าที่มาจากภายนอก) ถ้าอ้ายแขกพวกขบถพากันกลับใจ คิดเข้าหาเราแล้ว การเมืองไทรก็เป็นสำเร็จได้ ฤาจะคิดเห็นอย่างนี้จึงว่าง่าย ถ้าคิดเห็นอย่างนี้แล้วครอบครัวญาติอ้ายแขกพวกขบถที่กระจัดกระจายอยู่ตามบ้านเมืองป่าดง ก็คงมี มันจะพากันไปหมดทันที่ไหน มันก็คงเหลือพลัดพลายอยู่บ้างนั่นแหล่ะ ถ้าคิดสืบสาวหาเชื้อสายมันไปเกลี้ยกล่อมคืนเข้ามาบ้านเมืองได้สิ้นแล้ว การเมืองไทรก็เป็นสำเร็จได้ง่ายจริง คิดอย่างนี้ได้ ก็เห็นถูกกับความที่ว่าครั้งนี้ทำง่ายกว่าครั้งก่อน แล้วทรงตรัสเล่าถึงการครั้งก่อนว่า เมื่อครั้งตนกูเดนคิดตั้งรบสู้ที่ค่ายต้นโพธิ์นั้น ทัพเจ้าพระยานครยกออกไป จัดทัพแยกย้ายตั้งค่ายก็หลายค่าย กองละค่ายสองค่าย รายห่างกันไปเสียสิ้น รบสู้กันอยู่ถึง ๒ วัน ๓ วัน อ้ายแขกจึงแตกหนีถอยไป ต่างคนต่างก็จะคิดรักษาค่ายของตัวอยู่นั่นเอง ฟังดูท่านแต่ก่อนๆ ท่านจัดทัพ จัดค่าย ท่านไม่ประมาทจัดแจงให้ห่างเหินกันอย่างนี้ จะมีค่ายเป็นค่ายใหญ่ แม่ทัพตั้งอยู่ที่นี่ (หมายเหตุบรรณาธิการ : หมายถึงพระบรมมหาราชวัง) แล้ว ค่ายน่าก็ตั้งอยู่ราววัดสะเกษอย่างนี้ นี่ว่าห่างกันเป็นมากแล้ว ที่จะให้ห่างกันออกไปกว่านี้ไม่มี ถ้าการกวดขันแล้ว ท่านตั้งเป็นชั้นๆ ติดกันเดินไปมา เอาข่าวราชการได้ไม่ขาด มีราชการมาก็พรักพร้อม ช่วยกันทันท่วงทีราชการ แลการจัดทัพจัดค่ายนี้ ก็เป็นนิสัยแม่ทัพ ไม่ประมาทอยู่แล้ว การก็พรักพร้อมอยู่เอง ถึงการครั้งนี้มันจะมาตั้งรับอยู่ที่ไหนมั่นคง ก็เอาเถิด คิดเอาปืนจ่ารงค์ขึ้นไปปรายๆ ประเคนมันเข้า มันก็จะทนอยู่ที่ไหนได้ มันก็จะพากันวิ่งครืนๆ เข้าป่าไปหมดสิ้น

ครั้น ณ วันพุธเดือน ๑๐ แรม ๘ ค่ำ เวลาเช้า ทรงตรัสถามเจ้าคุณหาบน (หมายเหตุบรรณาธิการ : หมายถึงเจ้าพระยาพระคลัง ‘ดิศ บุนนาค’ ซึ่งต่อมาเป็น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ ในรัชกาลที่ ๔) ว่า เป็นกระไร จัดแจงพูดจากับเจ้าพระยานครได้ความอย่างไร เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า เจ้าพระยานครว่าจะขอรับพระราชทานทัพกรุงเทพฯ ๓๐๐๐ ยกออกไปขึ้นที่เมืองนครแล้วจะคิดหาผู้คนที่ระบาดเก็บรวบรวมเข้าบรรจุทัพกรุงเทพฯ ยกออกไปทำการเมืองไทร ฉลองพระเดชพระคุณ รับสั่งว่าจะเอาทัพกรุงเทพฯไป ๓๐๐๐ อย่างนี้ก็เอาเถิด จะเอาไปขึ้นที่เมืองนครก็ตาม เจ้าพระยานครช่างคิดช่างว่า จะให้ไปขึ้นที่เมืองนครนั้นก็เหตุเพราะจะได้คิดหาว่ากล่าว เก็บรวบรวมผู้คนได้ง่ายแล้วรับสั่งว่า คอยฟังข่าวราชการดูอีกสักคราวหนึ่งเถิด ค่ำวันนี้ฤาพรุ่งนี้ก็คงจะมีข่าวมาถึงในวันหนึ่งสองวัน จะยกทัพใหญ่ออกไปก็เป็นฤดู จะไปติดฝนติดน้ำอยู่ จะยกไปทำไม่ได้ ก็จะต้องรอทัพอยู่สงขลา ป่วยงานไพร่พลเสบียงอาหารเสียเปล่า ไหนๆ ก็จะได้ทำต่อเดือนอ้ายเดือนยี่แล้ว จะยกทัพใหญ่ไปทำไม รอคอยฟังข่าวคราวสักสองสามวันก็คงจะได้ความ ถ้าได้ความว่าจะต้องยกทัพใหญ่แล้ว เดือนอ้ายเดือนยี่ก็ยกออกไปตี ทำเอาให้ได้เมืองไทรทีเดียว เห็นจะไม่ป่วยงานไพร่พลเสบียงอาหาร

ครั้งเพลาค่ำทรงตรัสถามราชการอื่นๆ ไป หาได้ทรงตรัสถึงราชการเมืองไทรไม่


หลวงอุดมสมบัติ

(พ.ศ. ๒๓๘๑)”


อ่านจดหมายฉบับนี้แล้ว ถ้าใครหาฉบับเต็มอ่านได้ ก็จะมีความรู้เกี่ยวกับ “ปัญหาภาคใต้” ขึ้นมาอีกมากโข ดีไม่ดี พวกที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหา อ่านแล้ว อาจช่วยให้ “คิดออก” บ้างก็ได้

ก็อย่างนี้เองไม่ใช่หรือ ที่เรียกว่า “ภูมิปัญญาไทย” น่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น