วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ซั้ต


ผมเคยอ่านเรื่องราวชีวิตของ Jean-Paul Sartre มาบ้าง โดยเฉพาะก็ Sartre: A Life ของ Annie-Cohen Solal และ Simone de Beauvoir ที่เขียนโดย Claude Francis กับ Fernande Gontier เลยตั้งใจว่าสักวันจะนำข้อมูลเหล่านั้นมาเรียบเรียงและวิพากษ์วิจารณ์กันในภาคภาษาไทย แต่จนแล้วจนรอด โอกาสแบบนั้นก็ยังไม่มาถึง

คราวนี้ประจวบเหมาะที่จะต้องเขียนถึง Sartre เพราะ “เรื่องจากปก” ของ MBA ฉบับนี้ ว่าด้วย “ผู้หญิง” ซึ่งใครๆ ก็รู้ว่า Sartre นั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับนักคิดนักเขียนและบรรพสตรีคนสำคัญของขบวนการ “สิทธิสตรี” (Feminist) คือ Simone de Beauvoir ในฐานะชู้รักหรือเมียเก็บคนหนึ่งของเขา

ในความเห็นของผม “ปัญญาชนฝรั่งเศส” หรือ French Intellectual ที่ความคิดและข้อเขียน ตลอดจนวิถีชีวิตของพวกเขา มีเสน่ห์ น่าศึกษา มีอยู่ 4 คนด้วยกัน คือ Michel de Montaigne, Rene’ Descartes, Jean-Jacques Rousseau, และ Jean-Paul Sartre ในบรรดาบุคคลทั้งสี่ Sartre เป็นคนที่ร่วมสมัยกับพวกเรามากที่สุด เพราะเขาเพิ่งตายเมื่อปี 2523 นี้เอง ในขณะที่สามคนก่อนหน้านั้นจากเราไปกว่าร้อยถึงหลายร้อยปีแล้ว

อันที่จริง Sartre ก็เหมือนปัญญาชนคนสำคัญทั่วไป คือมีความเชื่อมั่นและยึดมั่นถือมั่นในตัวเองสูงมาก แต่เขาก็มีเหตุผลที่ต้องเป็นเช่นนั้น เขาได้รับการศึกษามาอย่างดีเลิศ เป็นคนดัง เป็นนักเขียนที่ขายหนังสือได้ในระดับหลายล้านเล่ม ได้รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมแต่ก็ปฏิเสธไม่ไปรับ ปรัชญา Existentialism ที่เขาคิดขึ้นก็ได้รับความนิยมแพร่หลายอย่างมากในหมู่คนหนุ่มสาวยุคหลังสงครามโลกและยุคแสวงหา แม้แต่ตอนตาย ผู้คนกว่าครึ่งแสนยังมาร่วมพิธีฝังศพของเขา

เขาเป็นลูกคนเดียว ของครอบครัวชนชั้นกลางที่มีอันจะกิน พ่อเขาตายแต่เขายังเล็ก เขาเคยพูดถึงพ่อว่า “ดีที่เขาตายก่อน มิฉะนั้นเขาต้องครอบงำผมแน่........พ่อผมก็เหมือนกับคนทั่วไปในสมัยนั้น เขาอ่านหนังสือประเภทไร้สาระ....ตอนหลังผมขายทิ้งหมด..พ่อมีความหมายต่อผมน้อยมาก”

เขาโตมากับห้องสมุดขนาดใหญ่ของปู่ ภายใต้การดูแลของแม่และญาติผู้ใหญ่ฝ่ายพ่อ ซึ่งค่อนข้างเปิดกว้าง เขาเหมือนกับ Rousseau ที่รักการอ่าน (อ่าน “ความหลงตัวเองของรุสโซ”) และอ่านหนังสือจำนวนมากตั้งแต่ยังเด็ก นั่นนับเป็นประโยชน์มากกับการเขียนหนังสือของเขาในเวลาต่อมา

Sartre ได้รับการศึกษาชั้นเลิศในระบบการศึกษาฝรั่งเศส ที่ออกแบบมาสำหรับผลิตชนชั้นนำ (Elite) โดยเฉพาะ เขาผ่านโรงเรียนมัธยมชั้นนำ (Ly’cee) ใน La Rochelle’ แล้วก็มาต่อที่โรงเรียนเตรียมสำหรับ Grandes E’coles ที่ดีที่สุดในสมัยนั้น คือ Ly’cee Henri Quatre ในปารีส เสร็จแล้วก็เข้า E’coles Normale Supe’rieure ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูงของฝรั่งเศสที่ผลิตนักคิดและนักวิชาการชั้นหัวกะทิตลอดจนชนชั้นปกครองของประเทศ

เขาเป็นนักศึกษาระดับหัวกะทิ เรียนหนังสือเก่ง เขียนหนังสือเก่ง เขียนบทละคร เล่นเปียโน (ตอนหลังเขาชอบฟังแจ๊ส) เล่นละคร ดื่มหนัก และคบผู้หญิง คนรักของเขาขณะนั้นคือ Simone Jollivet ระยะนั้นเขาตั้งเป้าว่าต้องอ่านหนังสือให้ได้ 300 เล่มต่อปี และเขายังคงนิสัยอ่านแบบนั้นไว้ต่อมาอีกนาน หนังสือที่เขาอ่านช่วงนั้นหลากหลาย แต่ส่วนมากจะเป็นนวนิยายอเมริกัน

เขาเริ่มอาชีพด้วยการเป็นครู ซึ่งเป็นอาชีพที่คนหนุ่มหัวดีในสมัยนั้นนิยม ประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศที่สอนวิชาปรัชญาตั้งแต่ชั้นมัธยม Sartre ก็สอนปรัชญาที่ Ly’cee แห่งหนึ่งในเมือง La Havre ระยะนั้นเขาเริ่มศึกษาปรัชญาเยอรมันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะงานของ Edmund Husserl และ Martin Heidegger ซึ่งมีอิทธิพลต่อตัวเขาอย่างลึกซึ้ง ถึงกับครั้งหนึ่ง เขาเคยบอกว่านักเขียนรุ่นก่อนและร่วมสมัยกับเขาส่วนใหญ่ ทั้ง Virginia Woolf, William Faulkner, James Joyce, Aldous Huxley, และ Thomas Mann นั้น ล้วนเขียนจากแนวคิดปรัชญาที่มีพื้นฐานมาจาก Rene Descartes และ David Hume แต่สำหรับตัวเขาเองนั้น เขาตั้งใจจะเขียนนวนิยายตามแนวปรัชญาของ Heidegger บ้าง และแล้วในปี 2479 เขาก็ออกหนังสือชื่อ Reserches Philosophiques และในปี 2481 ก็ออกนวนิยายแนวนั้นชื่อ La Nausee ซึ่งตอนแรกก็ยังไม่ดังนัก

เขาเป็นครูที่ให้เสรีภาพกับเด็กมาก ในห้องเรียนของเขา นักเรียนไม่จำเป็นต้องจด หรือแม้แต่จะถอดเสื้อหรือสูบบุหรี่ก็ทำได้ “เสรีภาพ” และ “การลงมือทำ” นับเป็นหัวใจสำคัญของปรัชญา Existentialism ในเวลาต่อมา

เมื่อฝรั่งเศสเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง เขาก็ถูกเกณฑ์ทหารด้วย และเมื่อเยอรมันบุกยึดฝรั่งเศสได้ เขาก็ถูกจับเป็นเชลย ทำให้เขามีเวลาว่าง และเริ่มเขียนนวนิยาย ทุกวันเขาจะต้องเขียนนวนิยายให้ได้วันละ 5 หน้า (ต่อมาตีพิมพ์ในชื่อ Les Chemins de la liberte) และเขียนบันทึกความทรงจำให้ได้วันละ 4 หน้า (ต่อมาตีพิมพ์ในชื่อ War Diary) อีกทั้งจดหมายถึงสาวๆ อีกเป็นจำนวนมาก เขาถูกข่มเหงโดยทหารเยอรมันพอสมควร แต่ในที่สุดก็ถูกปล่อยตัว ในปี 2484 เพราะสายตาสั้นมาก

เขากลับมาสอนปรัชญาที่โรงเรียนมัธยม Ly’cee Condorcet ในปารีส เขาเข้าร่วมกับกลุ่มใต้ดินที่ต่อต้านเยอรมัน แต่บทบาทของเขามีไม่มากนักและก็ไม่จริงจังเท่าใดนัก ระยะนี้เขาเริ่มเขียนนวนิยายและบทละครอย่างจริงจัง เขาเขียนงานทุกวันในร้านกาแฟริมถนนย่าน St.-Germain-des-pre ซึ่งต่อมาได้มีชื่อเสียงว่าเป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ของปัญญาชนและศิลปินเรืองนามต่างๆ ในยุคหลังสงคราม หนังสือเล่มสำคัญของเขา L’Etre et le Neant (Being and Nothingness) ก็เริ่มเขียนและจบลงในร้านกาแฟ Café de Flore ระหว่างปี 2485-2486 นี้เอง

เขาเขียนบทละครจำนวนมาก รวมถึง Les Mouches, Les Jeux sont faits, และ Huis clos ซึ่งนำชื่อเสียงมาสู่เขาอย่างยิ่งใหญ่ ละครเรื่องหลังนี้โด่งดังเป็นพลุแตก และได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วยชื่อ No Exit เป็นเรื่องของคนสามคนที่มาพบกันในห้องรับแขก ซึ่งตอนหลังพบว่าเป็นห้องโถงสำหรับรอที่จะผ่านไปสู่ประตูนรก นักวิจารณ์ให้ความเห็นว่าเนื้อหาของละครเรื่องนี้ได้รับอิทธิพลจากปรัชญาของ Heidegger และเป็นหัวใจสำคัญของ Existentialism ในเวลาต่อมา คนมักอ้างถึงประโยคเด็ดในบทละครที่ต่อมากลายเป็นยี่ห้อของปรัชญาเอ็กซิสต์ ที่ว่า “Hell is other people”

ระยะนี้เองที่เขาเริ่มเปิดการบรรยายสาธารณะ (Public Lecture) ที่มีชื่อเสียงก็คือการบรรยายที่ Rue St-Jacques และที่ Salle des Centraux ซึ่งเขาเริ่มยอมรับเอาคำว่า Existentialism ซึ่งคิดโดยสื่อมวลชนมาเป็นชื่อเรียกขานระบบปรัชญาที่เขาพยายามนำเสนอ โดยเขาตั้งหัวข้อการบรรยายนั้นว่า “Existentialism is a Humanism” นั่นคือราวปลายปี 2488

การบรรยายครั้งนั้น ประสบผลสำเร็จอย่างล้นหลาม คนฟังแน่นจนล้นห้องบรรยาย ผู้ฟังหญิงบางคนเป็นลม แม้แต่องค์ปาฐกเองยังต้องเบียดเสียดกับฝูงชนอย่างทุลักทุเล กว่าจะเข้ามาบรรยายได้ เช้าวันรุ่งขึ้น หนังสือพิมพ์รายงานเรื่องนั้นกันถ้วนหน้า ทำให้ Sartre และระบบคิดของเขาเริ่มได้รับความสนใจจากชาวฝรั่งเศสอย่างจริงจัง

คนที่สนใจอ่านงานของ Sartre คงเห็นด้วยกับผม ว่างานเขียนเชิงปรัชญาของเขามิได้เป็นระบบเท่าใดนัก แต่ระบบคิดปรัชญาของเขาปรากฏในวรรณกรรมหรือบทละครที่เขาเขียน โดยผ่านการดำเนินกิจกรรมและบทสนทนา ตลอดจนจินตนาการและการตัดสินใจภายใต้ทางเลือกต่างๆ ของตัวละครเสียมากกว่า หัวใจสำคัญของปรัชญาเอ็กซิสต์คือการลงมือกระทำ (Action) มิใช่นั่งคิด นั่งฝัน นั่งจินตนาการ (หรือแม้กระทั่งนั่งเขียนแบบที่เขาทำ) เขาเคยกล่าวว่า “Existentialism is a philosophy of action……Existentialism defines man by his actions…..It tell him that hope lies only in action, and that the only thing that allows man to live is action” และในหนังสือ Existentialist Catechism เขาเขียนอีกว่า “Existentialism like faith, cannot be explained: it can only be lived”

Sartre เน้นความมีอยู่ของมนุษย์ และถือเอาความมีอยู่เป็นจุดหมายสูงสุดของมนุษย์ด้วย ดังนั้นการสร้างจุดหมายอื่น ย่อมเป็นการสร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนจุดหมายสูงสุดคือการมีอยู่ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้า กฎเกณฑ์ทางศีลธรรม และประเพณี ล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นในภายหลังจากที่ “มนุษย์มีอยู่ก่อน” เพื่อสนองและสนับสนุนความ “มีอยู่” ของมนุษย์ ดังนั้นมนุษย์จึงเป็นอิสระที่ไม่มีสิ่งใดมาจำกัดเสรีภาพของมนุษย์ได้ มนุษย์มิได้เป็นสิ่งใดเลยนอกเสียจากจะต้องเป็นไปตามลักษณะของจุดหมายที่มนุษย์ได้วางไว้ (และต้องลงมือกระทำ โดยการตัดสินใจเลือก และลงมือทำ)

การยกย่องเสรีภาพของมนุษย์อย่างกว้างขวางและให้ทุกคนหันกลับมายึดถือในตัวมนุษย์ และเอาจริงเอาจังกับมนุษย์ (แทนที่จะยึดพระเจ้า กฎเกณฑ์ทางศีลธรรม หรือประเพณี ตลอดจนคำสอนแบบเดิมๆ ของผู้ใหญ่) นี้ นับว่า “โดนใจ” คนหนุ่มสาวยุคหลังสงครามและยุคแสวงหา ประเภทเสรีชนและ Anti-establishment เข้าอย่างจัง Sartre จึงกลายเป็นดั่งผู้นำทางจิตวิญญาณของยุคสมัยและคนหนุ่มสาวในยุคนั้น

ในราวปี 2488-2489 Sartre ได้กลายเป็น European Celebrity ไปเสียแล้ว เขามักไปไหนมาไหนและถูกถ่ายรูปลงหนังสือพิมพ์และนิตยสารร่วมกับ Simone de Beauvior ชู้รักคนหนึ่งของเขาเสมอ อันที่จริง Sartre มีความสัมพันธ์กับ de Beauvior มาก่อนหน้านั้นเกือบ 20 ปี เข้าใจว่าตั้งแต่สมัยที่ทั้งสองยังเป็นนักศึกษา (เธออ่อนกว่าเขา 3 ปี) de Beauvior นั้น มาจากครอบครัวชั้นกลางที่ค่อนข้างลำบาก เธอเกิดในอพาร์ตเมนต์ย่าน Montparnasse เหนือร้านกาแฟเลื่องชื่อ Cafe’ de la Rotonde วัยเด็กเธอลำบาก ปู่ติดคุกและพ่อตกงาน แต่เธอเป็นคนเรียนเก่ง เธอจบจากมหาวิทยาลัยปารีส และสอบปรัชญาได้เป็นอันดับที่หนึ่ง เธอเป็นครูและเป็นนักเขียนเช่นเดียวกับ Sartre นวนิยายเล่มสำคัญของเธอคือ Les Mandarins

แต่ที่น่าแปลกคือผู้หญิงแบบเธอ ซึ่งเป็นปัญญาชนและปราดเปรื่อง ทำไมจึงตกเป็นเบี้ยล่างของผู้ชายแบบ Sartre เกือบจะตลอดชีวิต เธอรับใช้ Sartre ในหลายฐานะ ทั้งเป็นชู้รัก ผู้จัดการส่วนตัว แม่ครัว และพยาบาล ทั้งๆ ที่ Sartre ก็มิได้ยกย่องเธอในฐานะภรรยา และไม่เคยคิดจะให้มรดกที่เป็นทรัพย์สิ่งสินกับเธอแม้แต่น้อย อีกทั้งยังโกหกและนอกใจเธอเสมอมา ที่แปลกไปกว่านั้น คือบทบาทในทางสังคมของเธอที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมให้กับสตรีเพศมาตลอดชีวิต อาจกล่าวได้ว่าเธอเป็นบรรพสตรีของขบวนการสิทธิสตรี (Feminist movement) เลยทีเดียว ในปี 2492 เธอเขียนหนังสือเล่มสำคัญที่ถือกันว่าเป็น Manifesto ของขบวนการดังกล่าว คือ Le Deuxieme sexe (ต่อมาแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า The Second Sex) ซึ่งขึ้นต้นประโยคแรกว่า “On ne nait pas femme, on la deviant” (“One is not born a woman, one becomes one”) ที่ล้อกับประโยคขึ้นต้นของ Social Contract หนังสือเล่มสำคัญของ Rousseau ที่ว่า “Man is born free; but everywhere he is in chains”

ว่ากันว่าเมื่อ Sartre แรกคบกับเธอนั้น เขาได้บอกเธออย่างชัดเจนแล้วว่าเขาต้องนอนกับผู้หญิงอื่นด้วย และบัญญัติ 3 ประการที่เขายึดถือเป็นธงนำในการดำเนินชีวิตทางเพศของเขาก็คือ “การเดินทางท่องเที่ยว ลัทธิหลายผัวหลายเมีย และความโปร่งใสไม่ปิดบัง” (Travel, Polygamy, and Transparency) เขายังบอกเธออีกว่าเพศสัมพันธ์นั้นมีสองลักษณะ อันแรกเป็นแบบ “รักจำเป็น” (Necessary Love) ส่วนอีกแบบเป็น “รักประเดี๋ยวประด๋าว” (Contingent Love) ซึ่งไม่สลักสำคัญอะไร เพราะคนพวกนั้นเป็น “พวกชายขอบ” (Peripheral) อย่างมากก็อยู่ในความสนใจของเขาไม่เกินสองปี (Two-years Lease) ไม่เหมือนเธอซึ่งเป็น “แกนกลาง” (Central) ที่เขามอบ “รักจำเป็น” ให้ และในทางกลับกัน เธอจะไปมีใครอื่นที่เป็น “ชายขอบ” ของเธอเอง เขาก็ไม่ว่า ตราบใดที่เขายังเป็น “แกนกลาง” ของเธออยู่ และนั่นก็คือนโยบาย “โปร่งใสไม่ปิดบัง” (Transparency) นั่นเอง

แน่นอน นโยบายโปร่งใสย่อมก่อปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะนอกจากจะบอกกันไม่หมดทุกอย่างแล้ว คนที่ถูกกันให้เป็นชายขอบ และปฏิบัติต่อพวกเขาแบบชายขอบ ย่อมไม่พอใจ อย่างกรณีของ de Beauvoir กับ Nelson Algren นักเขียนอเมริกันซึ่งเป็น “ชายขอบคนสำคัญ” ของเธอ หรืออาจถึงขั้นเป็นคนที่เธอรักมาก แบบที่ฝรั่งใช้สำนวนว่า “the love of her live” ซึ่งเธอดันเอาจดหมายรักของเขามาเปิดเผยในหนังสืออัตตะชีวประวัติของตัวเอง The Prime of Live จนต่อมา เมื่อแก่แล้ว เขาต้องออกมาให้สำภาษณ์ตำหนิว่า ของพรรค์นี้มันน่าจะต้องเก็บเป็นเรื่องส่วนตัว เขาว่า “ผมเคยเที่ยวซ่องมาแล้วทั่วโลก ผู้หญิงเหล่านั้นล้วนต้องปิดประตูเมื่อจะมีอะไรกัน ไม่ว่าจะที่เกาหลีหรืออินเดีย แต่ผู้หญิงคนนี้กลับเปิดประตูอ้าซ่า แถมเรียกให้คนทั่วไปและนักข่าวมาชมอีกด้วย” (Hell, Love letters should be private…..I’ve been in whorehouses all over the world and the women there always close the door, whether it’s in Korea or India. But this woman flung the door open and called in the public and the press.”)

Sartre เองก็มักบอกและเขียนถึงเธอเสมอเมื่อมีสัมพันธ์กับหญิงคนใหม่ ยกตัวอย่างซึ่งผมจะไม่ขอแปลเป็นไทยว่า “this is the first time I’ve slept with a brunette…full of smells, oddly hairy, with some black fur in the small of her back and a white body…A tongue like a kazoo, endlessly uncurling, reaching all the way down to my tonsils” แน่นอนว่าผู้หญิงทั่วไป คงไม่อยากอ่านข้อความที่คู่รักของเธอเขียนบรรยายถึง “บุคคลที่สาม” ซึ่งถือเป็นคู่แข่งของเธอเอง แบบนี้หรอก แต่ Sartre เองก็ไม่ได้บอกกับเธอทุกเรื่อง เพราะมีหลักฐานสำคัญในเวลาต่อมาว่า เขาเคยขอแต่งงานกับ “ชายขอบ” ของเขาหลายคน สำหรับ de Beauvoir นั้น เขาเคยให้แหวนแต่งงานเธอสวมอยู่พักหนึ่งเมื่อก่อนสงครามโลกขณะไปเบอร์ลินด้วยกัน และนั่นคือช่วงที่เขาและเธอเข้าใกล้ความเป็นสามีภรรยาอย่างถูกต้องเป็นที่สุด แต่ก็ยุติอยู่เพียงแค่นั้น

ช่วงสงครามโลก เป็นช่วงที่ de Beauvoir ใกล้ชิดกับ Sartre มากที่สุด เธอเป็นทั้งเมีย เธอคอยดูแลเรื่องส่วนตัว เรื่องเงินทอง คอยหาอาหาร และซักเสื้อผ้าให้กับเขา แต่พอสงครามจบ เขาเริ่มโด่งดัง และเริ่มห้อมล้อมตัวเองด้วยสาวๆ เขาเคยมีชู้รักพร้อมกันถึง 4 คนในเวลาเดียวกัน ไม่นับเธอ และก็แน่นอน เป็นไปไม่ได้ที่เขาจะไม่พูดโกหกเมื่อต้องสลับฉากไปมา โดยเฉพาะเมื่อเขาอายุมากขึ้น บรรดาหญิงที่เขาอ้างว่าเป็น “ชายขอบ” ของเขา ล้วนเป็นสาวเอ๊าะๆ วัยสิบเจ็ดสิบแปด ผกผันกับอายุเขา

ชู้รักของ Sartre มีจำนวนนับไม่ถ้วน เฉพาะช่วงหลังสงครามที่เรารู้ก็มี Marie Ville, Olga Kosakiewicz, Wanda Kosakiewicz (คนนี้เป็นน้องของ Olga และเป็นลูกศิษย์ของ de Beauvoir), Michelle Vian (ภรรยาของ Boris Vian), Evelyne Rey, Arlette, และ Helene Lassithiotakis บางทีเรื่องแบบนี้ก็ทำให้เกิดคดีความถึงโรงศาล ชู้รักบางคนของ Sartre เช่น Nahalie Sorokine ก็เป็นศิษย์รักของ de Beauvoir และก็สนิทสนมกับเธอด้วย พ่อผู้หญิงไม่พอใจเรื่องนี้มาก เลยยื่นฟ้องศาลในข้อหาล่อลวงทางเพศ แต่เคราะห์ดีที่มีคนช่วยไกล่เกลี่ย เรื่องเลยจบ มิฉะนั้น de Beauvoir อาจโดนคุก แต่เธอก็ถูกห้ามสอนตามมหาวิทยาลัยและถูกถอนใบอนุญาตมิให้สอนหนังสือในประเทศฝรั่งเศสอีกเลยตลอดชีวิต

ลึกๆ แล้ว de Beauvoir เกลียดคนเหล่านั้น (เธอเกลียด Arlette ที่สุด) เธอมักบ่นว่าพวกเหล่านั้นมาปอกลอก Sartre และชักนำให้เขาหมกมุ่นมากเกินขนาด ทั้งเรื่องเพศสัมพันธุ์ เหล้า และยาเสพติด ช่วงนั้น Sartre ดื่มหนัก และใช้ยามาก เพราะเขาต้องเขียนหนังสือให้ได้วันละ 30-40 หน้า Annie Cohen-Solal เคยลองคำนวณดู และพบว่า ทุกวัน Sartre ต้องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อยหนึ่งส่วนสี่แกลลอน (ส่วนใหญ่เป็นไวน์ ว็อดก้า วิสกี้ และเบียร์ ตามลำดับ) สูบบุหรี่วันละ 2 ซอง สูบยาเส้นหลายไปป์ กินยากล่อมประสาทประเภทแอ็มเฟตตามินอีกประมาณ 200 กรัม แอสไพริน 15 กรัม ยังไม่นับชาและกาแฟ เขาเคยต้องเข้าโรงพยาบาลกะทันหันตอนเยือนรัสเซียในปี 2497

ยิ่งมา Sartre ยิ่งละเลยนโยบายโปร่งใสที่เคยบอกต่อ de Beauvoir มากขึ้นเรื่อยๆ ตอนที่เขาออกหนังสือ Critique de la raison dialectique ในปี 2503 นั้น เขาเขียนคำอุทิตผลงานดังกล่าวให้แก่ Simone de Beauvoir แต่เขาแอบขอให้ผู้จัดพิมพ์ พิมพ์ฉบับพิเศษที่เปลี่ยนคำอุทิตใหม่ ให้กับทั้ง Wanda และ Evelyne เป็นต้น อีกทั้งเขายังขอผู้หญิงอย่างน้อยหนึ่งคนแต่งงานในช่วงนี้ โดย de Beauvoir ไม่ระแคะระคายเลยแม้แต่น้อย นอกจากนั้นเขายังทำพินัยกรรมยกลิขสิทธิ์วรรณกรรมให้กับคนอื่นที่ไม่ใช่เธอ ผู้เป็น “แกนกลาง” ของเขา

นอกแวดวงใต้ร่มผ้าออกไป Sartre เริ่มเข้ายุ่งเกี่ยวกับการเมืองมากขึ้น เขาประกาศสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสอย่างออกหน้า ทั้งๆ ที่เขาไม่ใช่ Marxist เขายกย่องประธานเหมา เจ๋อ ตง และเห็นดีเห็นงามกับนโยบาย “ก้าวกระโดด” และ “การปฏิวัติวัฒนธรรม” ในเมืองจีน เขาเข้าร่วมกับขบวนการกรรมกร และขบวนการนักศึกษา ในการประท้วง และเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล ความคิดเขาในช่วงนี้รุนแรงขึ้นมาก เขาสนับสนุนการลุกฮือโดยวิธีก่อการร้ายของคนผิวดำในอาฟริกา แม้แต่แกนนำของ “เขมรแดง” ส่วนใหญ่ที่เคยเป็นนักเรียนฝรั่งเศสในช่วงนั้น ก็สดับเอาความคิดของเขาไปไม่น้อย ช่วงนั้น เรามักเห็นเขาซึ่งอยู่ในวัยสูงอายุแล้ว ถ่ายรูปอยู่ท่ามกลางฝูงชนคนหนุ่มสาวจำนวนมาก บนถนนในฝรั่งเศส เมื่อมีการประท้วงเสมอ

ครั้งหนึ่งในปี 2503 Sartre ได้นำปัญญาชน 121 คน ลงนามในข้อเรียกร้องให้ขัดขืนรัฐและพนักงานของรัฐ เพื่อเป็นการประท้วงการทำสงครามในอัลจีเรีย รัฐบาลฝรั่งเศสในตอนนั้น นำโดยนายพล Charles de Gaul ซึ่งเป็นนักการเมืองที่ใจกว้างและมีขันติธรรมต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ของผู้มีปัญญา ในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งหนึ่ง ท่านนายพลอ้างถึงกรณีที่ปัญญาชนในอดีตเคยขัดแย้งกับรัฐบาลฝรั่งเศส อย่าง Francois Villion, Voltaire, และ Romain Rolland แล้วท่านก็ให้ความเห็นในเรื่องนี้ไว้อย่างน่าฟัง และน่าที่นักการเมืองของเราจะพึงสำเหนียก ท่านว่า “คนพวกนี้มักสร้างความยุ่งยากในยุคของตน แต่มันจำเป็นที่เราต้องเคารพเสรีภาพทางความคิด ตราบใดที่มันยังเป็นไปตามครรลองของกฎหมาย” (“These people caused a lot of trouble in their day but it is essential that we continue to respect freedom of thought and expression in so far as this is compatible with the laws”)

Sartre เข้าข้างคนเล็กคนน้อย และฝ่ายที่เป็นเบี้ยล่าง เขาพูดและเขียนสนับสนุนคิวบาและการปฏิวัติขัดขืนในประเทศโลกที่สาม เขาเกลียดอเมริกาและรัฐบาลฝรั่งเศส ช่วงที่เกิดเหตุการณ์ “14 ตุลาฝรั่งเศส” ที่นักศึกษามหาวิทยาลัยปารีส (Sorbonne) ประท้วงครั้งใหญ่ ในเดือนพฤษภาคมปี 2511 นั้น เขาก็สนับสนุนให้นักศึกษาใช้ความรุนแรง เขาว่า “ความรุนแรกเป็นสิ่งเดียวที่เหลืออยู่ สำหรับบรรดานักศึกษาที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบที่พวกพ่อเขาสังกัดอยู่” (“Violence is the only thing remaining to the students who have not yet entered into their fathers system”) เขาลงมือสัมภาษณ์ผู้นำนักศึกษา Daniel Cohn-Bendit หรือ “เสกสรร ประเสริฐกุลของฝรั่งเศส” ด้วยตัวเอง แล้วเขียนสนับสนุนในนิตยสารชั้นนำว่านักศึกษาเป็นฝ่ายถูก

หลังจากเหตุการณ์นั้น เขาก็เข้าร่วมประท้วงอย่างต่อเนื่อง เขาเริ่มเคลื่อนไหวกับพวกกรรมกร แต่งตัวแบบกรรมกร ยืนแจกใบปลิวบ้าง หนังสือใต้ดินบ้าง ท้าทายให้ตำรวจจับกุมตัวบ้าง หรือแม้กระทั่งนำคนงานบุกโรงงาน Renault ด้วยตัวเอง ทั้งๆ ที่ตอนนั้นเขาอายุ 67 แล้ว ในบั้นปลาย เขาเริ่มเขียนและพูดในเรื่องแปลกๆ และเข้าใจยาก ในด้านชีวิตส่วนตัว เขาดื่มหนักยิ่งขึ้น แทบจะเมาอยู่ตลอด เขาอยู่ไม่เป็นที่ เขามักใช้เวลา 3 อาทิตย์กับ Arlette ในบ้านตากอากาศที่ซื้อร่วมกันทางใต้ของฝรั่งเศส แล้วก็ 2 อาทิตย์กับ Wanda ในอิตาลี หลังจากนั้นก็หลายๆ อาทิตย์กับ Helene ตามเกาะแก่งต่างๆ ในทะเลเอเจียน แล้วค่อยมาอยู่กับ Simone de Beauvoir ในโรมอีกเดือนหนึ่ง และเวลาที่เขาอยู่ปารีส เขาก็มักย้ายไปตามอพาร์ตเมนต์ต่างๆ ของบรรดาชู้รักของเขาอยู่ตลอด

ในหนังสือ Adieux: A Farewell to Sartre นั้น Simone de Beauvoir บรรยายถึงช่วงปีสุดท้ายของ Sartre ว่า เขาเริ่มไม่คงเส้นคงวา เขาดื่มอยู่ตลอดเวลา ห้อมล้อมด้วยสาวๆ ที่ชอบมอมเหล้าเขา เพื่อดูดเอาพลังและความคิดที่พวกเธอคิดว่ามันยังพอหลงเหลืออยู่ในหัวสมองของเขาบ้าง และเมื่อเขาสิ้นลม ในวันที่ 15 เมษายน 2523 นั้น ก็ดูเหมือนว่าทุกคนจะโล่งอก

เมื่อปี 2508 เขาแอบรับชู้รักคนหนึ่งของเขาคือ Arlette มาเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมาย เธอจึงรับมรดกทุกอย่างของเขา รวมทั้งค่าลิขสิทธิ์และสิทธิ์ในการจัดพิมพ์ต้นฉบับลายมือเขียนของเขาด้วย นั่นเป็นการทรยศครั้งสุดท้ายต่อ Simone de Beauvoir ซึ่งเขามักบอกต่อเธอว่า เธอเท่านั้นที่เป็น “แกนกลาง” ของเขา ส่วนผู้หญิงคนอื่น ล้วนเป็นแต่เพียง “ชายขอบ” เท่านั้นเอง Simone de Beauvoir มีชีวิตอยู่หลังจากนั้นอีก 5 ปี ก็ตายตามเขาไป

Sartre เสียชีวิตเมื่ออายุ 75 ปี พิธีศพของเขาจัดอย่างยิ่งใหญ่ เดี๋ยวนี้ถ้าใครไปปารีส ก็มักจะต้องไปเคารพหรือเที่ยวดูหลุมฝังศพของเขาที่สุสาน Montparnasse ด้วยเสมอ

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
(บทความนี้ ผมใช้วิธีเรียบเรียงจากภาษาอังกฤษเพื่อให้อ่านง่าย โดยอ้างอิงจากหนังสือ Intellectual ของ Paul Johnson)
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนธันวาคม 2550

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น