วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

โอบามากับพิธีแช่งน้ำ


เราเชื่อว่าสมาชิกและผู้อ่านส่วนใหญ่ของ MBA คงจะได้ดูถ่ายทอดสดพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีโอบามากันไปแล้ว

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ กล่าวสุนทรพจน์ได้กินใจ สมกับคุณภาพนักการเมืองอเมริกัน ซึ่งถือกันว่าความสามารถในการแสดงสุนทรพจน์เป็น Key Success Factor สำคัญ และปฏิบัติกันมาตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ

อันที่จริง “หัวใจ” ของพิธีสาบานตน มิได้อยู่ที่สุนทรพจน์หรือพิธีแวดล้อมอื่น เช่นการกล่าวอวยพรของผู้นำศาสนา การอ่านบทกวี หรือการร่วมร้องเพลงชาติของอดีตประธานาธิบดีทุกคนที่ยังคงมีชีวิตอยู่

แต่ทว่า อยู่ที่ “คำสาบาน” ซึ่งผู้จะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีต้องกล่าว ต่อหน้า Chief Justice และสักขีพยาน ที่รวมถึงประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งกำลังดูการถ่ายทอดสดขณะนั้น (เป็นประเพณีสืบมาว่า ผู้จะเข้ารับตำแหน่งฯ ต้องกล่าวคำสาบานต่อหน้า Chief Justice ยกเว้นการเข้ารับตำแหน่งฯ ของประธานาธิบดี George Washington สองครั้งแรก ที่ท่านได้กล่าวคำสาบานต่อหน้า Chancellor of State of New York ครั้งหนึ่ง และกับ Associate Justice of Supreme Court อีกครั้งหนึ่ง)

นั่นจึงเป็น “สัญญาประชาคม” ที่ประมุขสูงสุดของประเทศ ให้ไว้กับราษฏร (คล้ายกับหลัก “ทศพิธราชธรรม” ของบ้านเรานั่นแหละ เพียงแต่หลักทศพิธราชธรรมนั้น มิได้บัญญัติไว้อย่างเป็นทางการในรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีความหมายให้ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และสามารถถูกตรวจสอบได้)

ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ (Article II, Section I) ผู้จะเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี จะต้องกล่าวคำสาบาน (Oath) ว่า “I do solemnly swear (or affirm) that I will faithfully execute the office of President of the United States, and will to the best of my ability, preserve, protect and defend the Constitution of the United States.”

น่าสังเกตว่า เนื้อหาสาระของคำสาบานมีอยู่เพียง 2 ข้อใหญ่ใจความเท่านั้น คือการจะปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต และการจะปกป้องรัฐธรรมนูญอย่างแข็งแรงที่สุดเท่าที่จะทำได้

คำสาบานดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความคาดหวังที่ราษฏรอเมริกันมีต่อประมุขของพวกเขา

พวกเขารู้ว่า สิ่งนี้เท่านั้น ที่จะเหนี่ยวรั้งจิตใจประมุขของพวกเขาไม่ให้กลับกลายไปเป็น “ทรราช” และจะไม่ทำตัวเป็นอุปสรรคขัดขวางหน่วงเหนี่ยวประชาธิปไตย ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าเป็นวิถีที่จะนำให้เข้าถึงความสมบูรณ์พูนสุขอย่างเต็มที่ เข้าถึงความเสมอภาค สันติ ความหวัง ความสุข และความสงบใจ

นั่นคือ “หัวใจ” ของกติกาสำหรับอยู่ร่วมกันของพวกเขา ที่ได้ตกลงกันไว้ก่อนแล้ว

พวกเขาจึงยังคงยึดถือเรื่องทั้งสองนี้เป็นบรรทัดฐานต่อมา นับแต่ที่บรรดา Founding Fathers ซึ่งร่วมต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพ และประกาศเอกราช จนได้ร่วมร่างความคาดหวังดังกล่าวนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญเมื่อสองร้อยกว่าปีมาแล้ว

มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและจิตวิญญาณของพวกเขา ที่ไม่ว่าใครจะคิดทำลาย ก็ยอมไม่ได้!

The American Heritage Dictionary of The English Language ซึ่งเป็นพจนานุกรมที่นักปราชญ์อเมริกันภาคภูมิใจ ได้ให้คำจำกัดความของคำสามคำที่เน้นย้ำไว้ในคำสาบานดังกล่าวว่า “preserve” หมายถึง “To maintain in safety from injury, peril, or harm” หรือ “To keep in perfect or unaltered condition; maintain” และ “protect” หมายถึง “To keep from being damaged, attacked, stolen, or injured; guard” หรือ “To maintain in safety from injury, peril, or harm” โดยที่ “defend” หมายถึง “To keep in perfect or unaltered condition; maintain unchanged.” หรือ “To keep from danger, attack, or harm.” หรือ “To support or maintain, as by argument or action; justify.” (อ้างอิงจากฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 ปี 1992 โดยที่การขีดเส้นใต้เป็นการเน้นของบรรณาธิการนิตยสาร MBA เอง)

ขอให้สังเกตว่าบรรดา Founding Fathers ได้ตกลงใช้คำภาษาอังกฤษถึง 3 คำ ที่มีความหมายถึงการ “ปกป้อง” รัฐธรรมนูญ เป็นการเน้นย้ำถึงความสำคัญ ที่ประธานาธิบดีจะต้องปฏิบัติ โดยคำทั้งสามนั้น มีดีกรีความรุนแรงจากเบาไปหาหนัก จากสันติไปหารุนแรง คือจาก “preserve” ไปสู่ “protect” แล้วจึงไปสู่ “defend” ซึ่งอาจหมายถึงการใช้กำลังเข้าปกป้องด้วยก็ได้

MBA เห็นว่าประเพณีแบบนี้ แม้จะเป็นของฝรั่ง แต่ก็เป็นของดีและมีประโยชน์ น่าเก็บเอามาคิดต่อ เพื่อเป็นแบบอย่าง และหาทางประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม หากเราจะเดินต่อไปบนเส้นทางประชาธิปไตย

อันที่จริง คนไทยเองก็เป็นพวกที่ชอบสาบาน

และถ้าเราจะให้คณะผู้นำของเรา ที่รวมถึงนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ประธานรัฐสภา ประธานศาลสูง ตลอดจนประธานองคมนตรี ทำการสาบานตัวกันก่อนเข้ารับตำแหน่งกันแบบนี้บ้าง สังคมการเมืองไทยในอนาคต คงยากจะจินตนาการ

ก่อนจบบทความนี้ เราขอยกร่ายคำแช่งบางตอน ที่พราหมณ์ต้องอ่าน เพื่อเชิญผีทั้งปวงมาแช่งน้ำ ในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา สาบานตนของข้าราชการไทย ให้อ่านกันเพื่อเปรียบเทียบเล่นๆ กับ Article II, Section I of the U.S. Constitution ดังนี้

“……ผีดงผีหมึ่นถ้ำ ล้ำหมึ่นผา มาหนน้ำหนบก ตกนอกขอกฟ้าแมน แดนฟ้าตั้งฟ้าต่อ หล่อหลวงเต้า ทังภูตเหง้าพนัสบดี ศรีพรหมรักษ์ ยักษ์กุมาร หลายบ้านหลายท่า ล้วนผีห่าผีเหว เร็วยิ่งลมบ้า หน้าเท่าแผง แรงไกยเอาขวัญ ครั้นมาถึงกับเสียงเยียชระแรงชระแรง แฝงข่าวเยียชระรางชระราง รางชางจุปปาก เยียจะเจี๊ยวจะเจี๊ยว เขี้ยวสระครานอานม ลิ้นเยียละลาบละลาบ ตราบมีในฟ้าในดิน บินมาเยียพะพลุ่งพะพลุ่ง จุ่งมาสูบเอา เขาผู้บ่ซื่อ ชื่อใครใจคด ขบถเกียจกาย ว่ายกะทู้ฟาดฟัด คว้านแคว้นมัดศอก หอกดิ้นเด้าเท้าทก หลกเท้าให้ไปมิทันตาย หงายระงมระงม ยมพบาลลากไป ไฟนรกปลาบปลิ้นดิ้นพลาง เขาวางเหนืออพิจี ผู้บีดีบ่ซื่อ ชื่อใครใจคด ขบถแก่เจ้า ผู้ผ่านเกล้าอยุธยา...................จระเข้ริบเสือฟัด หมีแรดถวัด แสนงขนาย หอกปืนปลายปักครอบ ใครต้องจอบจงตาย งูเงี้ยว พิศมทงงหลายลุ่มฟ้า ตายต่ำหน้ายงงดินฯ.................”(คัดลอกบางตอนจาก “ลิลิตโองการแช่งน้ำ”)

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนมกราคม 2552

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น