วันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2553

ยึดแบงก์ชาติ

ในสังคมมนุษย์มีสิ่งสมมติมากมาย ที่เมื่อคนทั้งหลายสมมติเอาร่วมกันว่ามันเป็นจริง แล้วมันก็จะเป็นจริงตามนั้น

ยกตัวอย่างเช่นธนบัตร ที่แม้ตัวมันเองเป็นเพียงกระดาษแผ่นหนึ่ง ซึ่งแทบจะไม่มีค่าแม้แต่น้อย แต่เมื่อโรงพิมพ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยได้พิมพ์ตัวเลข “๑๐๐๐ บาท” ตราไว้บนนั้น แล้วมีลายเซ็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กำกับอยู่ รวมทั้งตำหนิทุกแห่งถูกต้องตามที่สมมติขึ้น (เช่นพระบรมฉายาลักษณ์ฯ ตลอดจนดิ้นทอง ดิ้นเงิน และอักษรบางตัวหรือเครื่องหมายบางอย่างที่ทำซ่อนเอาไว้ ฯลฯ) โดยที่ธนาคารแห่งนั้นรับประกันว่าจะรับแลกคืนตามมูลค่าที่ได้ตราไว้ (Face Value) ไม่ว่ากรณีใด ผู้คนก็จะถือว่ามันมีค่าเท่ากับ “หนึ่งพันบาท” ตามที่สมมติขึ้น แล้วก็ใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนกันโดยยึดเอาตามมูลค่าที่สมมติขึ้นนั้น โดยไม่รู้สึกอะไร

หรืออย่างธนาคารพาณิชย์ ที่รับฝากเงินไปจากพวกเรา แล้วนำไปปล่อยกู้เป็นทางหากิน (พูดง่ายๆ คือเอาเงินที่พวกเราอุตส่าห์เก็บหอมรอมริบ ไปใช้โดยเรายินยอม) ผู้คนก็ต่างคิดไปเองว่าธนาคารเหล่านั้น ทั้งโดยที่มีผู้บริหารมืออาชีพ และยังถูกควบคุมจากธนาคารแห่งประเทศไทยอีกชั้นหนึ่ง จะต้องจัดการกับเงินของพวกเราได้ดีแน่ ไม่ไปปล่อยกู้ซี้ซั้ว หรือปล่อยกู้แบบมีปัญหา Term Structure (เช่นรับฝากเงินระยะสั้น แต่ดันไปปล่อยกู้ระยะยาว แล้วเวลาคนฝากต้องการถอนเงินออกมาใช้ ธนาคารก็เรียกเงินกู้คืนมาให้เบิกไม่ทัน ก็เลยเกิดปัญหาด้านความเชื่อถือ แล้วลุกลามพลอยให้คนแห่มาถอน เป็นต้น) หรือนำไปลงทุนในทางเสี่ยง (เช่นซื้อหรือขาย Financial Instruments ที่เกี่ยวข้องกับ Sub-Prime หรือตราสารอนุพันธุ์ที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนจนคนธรรมดายากจะเข้าใจหรือประเมินความเสี่ยงได้ เป็นต้น)

ทว่า มีบ้างบางครั้ง หรือในบางสถานการณ์เหมือนกัน ที่คนทั่วไปเริ่มหูตาสว่าง และเริ่มรู้ว่าตัวเองถูกหลอก หรือไปติดยึดกับเรื่องสมมติแบบโรแมนติกจนเกินไป เมื่อนั้น สิ่งเลวร้ายมักจะเกิดขึ้นตามมา เช่น เมื่อผู้คนเริ่มรู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยได้แอบนำทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศไปซื้อขายในตลาดเงิน ตลาดทุน ตลอดจนตลาดซื้อขายล่วงหน้า แล้วก็ขาดทุนย่อยยับจนหมดหน้าตัก เมื่อนั้น คนก็จะเริ่มคิดได้ถึงความเป็นจริงว่า (เป็นแบบที่ฝรั่งเรียกว่า Moment of Truth หรือแบบนิทานเรื่อง “Emperer Has No Cloth” นั่นแหละ) กระดาษแผ่นเล็กๆ ที่พิมพ์ตัวเลข “๑๐๐๐ บาท” แผ่นเดียวกับที่เคยยึดถือว่ามันมีค่ามาก่อนหน้านั้น (แท้ที่จริงแล้ว) มันไม่มีค่าอะไรเลย ไม่ต่างอะไรกับ “แบงก์กงเต็ก” ฯลฯ…และแล้ว ผู้คนก็จะเริ่มทิ้งเงินบาทเพื่อเปลี่ยนไปเป็นสินทรัพย์ชนิดอื่น เช่น เงินตราสกุลอื่น หรือทองคำ หรือหุ้น หรือบ้าน หรือที่ดิน หรือภาพเขียน หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ (เขาคิดว่า) มันจะรักษามูลค่า (Store Value) ไว้ให้เขาได้ ฯลฯ…เสร็จแล้ว ค่าเงินบาทก็จะดิ่งเหวทันที (แม้ IMF จะเข้ามาช่วยแล้ว และสัญญาว่าจะนำเงินก้อนใหญ่มาให้กู้ใช้ไปก่อน ก็ตาม)

ไม่ต่างอะไรกับสถานการณ์ในอเมริกาและยุโรปขณะนี้ ที่ผู้ฝากเงินเริ่มรับรู้ว่าธนาคารพาณิชย์และบริษัทประกันที่พวกเขาฝากเงินอยู่นั้น พัวพันติดโรคขาดทุนจาก Sub Prime กันทั่วหน้า เดือดร้อนถึงรัฐบาลของประเทศยักษ์ใหญ่เหล่านั้นที่จำต้องนำเอาเงินภาษีของประชาชนเข้าไป “อุ้ม” ไว้ ทั้งโดยการตั้งกองทุนช่วยเหลือสถาบันการเงิน และเพิ่มมาตรการประกันเงินฝาก หรือแม้กระทั่งดำริจะตั้งกองทุนพยุงหุ้นแบบเดียวกับ “กองทุนวายุภักษ์” ของเรา เพราะถ้าไม่ทำเช่นนั้น ผู้คนที่กำลังหมดความเชื่อถือในระบบการเงิน ก็จะแห่กันไปถอนเงิน และธนาคารพาณิชย์เหล่านั้น แม้ว่าจะยิ่งใหญ่ขนาดไหน ก็ต้องล้มครืนลง ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง (ฝรั่งเรียกสถานการณ์แบบนั้นว่า Bank Run)

ในทางการเมืองการปกครองหรือการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ในสังคมหนึ่งๆ ก็มีเรื่องสมมติมากมาย ว่าไปทำไมมี กฎหมายต่างๆ ที่บัญญัติกันขึ้นมา ก็เป็นเรื่องสมมติกันขึ้นทั้งนั้น เมื่อผู้คนทั้งหลายสมมติร่วมกันว่าสิ่งนี้ดี สิ่งนั้นเลว แล้วถ้าใครทำเลวก็ต้องถูกลงโทษ หรืออย่างนี้ยุติธรรมอย่างนั้นไม่ยุติธรรม กฎหมายมันก็เลยศักดิ์สิทธิ์จริง (อันที่จริงกฎหมายที่ประมวลกันไว้ในประมวลกฎหมายอย่างที่เรารู้จักกันบัดนี้ ส่วนใหญ่เอาอย่างมาจากกฎหมายฝรั่งเศส ซึ่งบัญญัติกันขึ้นในสมัยนโปเลียน ที่เรียกว่า “Napolean Code” ราวปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ต่อรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยฯ แล้วหลายประเทศในยุโรปก็เอาอย่างไปใช้บ้าง สืบทอดมาจนบัดนี้)

ทว่า เมื่อผู้คนหลายกลุ่มเริ่มเห็นต่างกันในเรื่อง “ดี-เลว” และ “ยุติธรรม-ไม่ยุติธรรม” แล้วทำการ “อารยะขัดขืน” (หรือ “อนารยะขัดขืน” สำหรับพฤติกรรมบางประการก็แล้วแต่) ในจำนวนมากขึ้นๆ ๆ… มากจนกลายเป็นจำนวนอันมีนัยสำคัญ หรือ Critical Mass (นั่นถือเป็นการเดินข้ามเส้นสมมติเดิมที่ขีดเอาไว้) ซึ่งผู้รักษากฎหมายย่อมทำอะไรไม่ได้ เพราะถ้าต้องการบังคับใช้กฎหมายกับบรรดาฝูงชนเหล่านั้น ก็อาจหมายถึงการนองเลือด หรือสงครามกลางเมือง หรือไม่ก็ต้องมีการบาดเจ็บล้มตายโดยใช่เหตุ ฯลฯ… กฎหมายมันก็เลยสิ้นความขลังไปแบบง่ายๆ

สมัยปฏิวัติใหญ่ในประเทศฝรั่งเศสเมื่อปี 1789 นั้น (ตรงกับช่วงต้นรัชกาลที่ ๑) ฝูงชนก็ได้บุกเข้าไปในพระราชวังแวร์ซาย ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่กี่ปี มีความศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์มากในความคิดของคนฝรั่งเศสทั่วไป (พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ถึงกับเคยตรัสอย่างอหังการ์เป็นภาษาฝรั่งเศสว่า “L’e’tat, c’est moi” หรือ “I am the State” และเป็นภาษาละตินว่า “Ut vidi vici” หรือ “As I saw, I conquered”) แล้วบังคับให้กษัตริย์ย้ายมาปารีสและสละราชสมบัติ ซ้ำร้าย เมื่อรู้สึกว่าการข้ามเส้นสมมติเช่นนั้นมันง่ายดายมาก และชนชั้นสูงก็มิได้วิเศษวิโสไปกว่าพวกเขาเท่าใดนัก หรือมีฤทธิ์เดชมหัสจรรย์และคงกระพันชาตรีดังความเชื่อที่เคยถูกฝังหัวเอาไว้ มันก็เลยมีครั้งต่อๆ มาอีกหลายครั้ง ที่ฝูงชนได้บุกพระราชวังและทำลาย ตลอดจนหยิบฉวยทรัพย์สินมีค่าจำนวนมาก จนที่สุด ก็ถึงกับจับเอาพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินีของประเทศนั้น ไปสำเร็จโทษ ด้วยเครื่องประหารที่น่าสยดสยอง ต่อหน้าฝูงชนจำนวนมาก เป็นต้น

นับแต่นั้นมา แม้ประเทศฝรั่งเศสจะกลับมีพระมหากษัตริย์อีกหลายรอบ ทว่า ความศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ก็มิได้เป็นดังเดิม และก็ได้มีกรณีฝูงชนบุกพระราชวังและวังอีกหลายครั้ง (แม้รัฐบาลของพระมหากษัตริย์จะมีกองทหารที่เข้มแข็ง) ครั้งล่าสุดก่อนที่ฝรั่งเศสจะกลายเป็นสาธารณรัฐแบบถาวรในปี 1871 (ตรงกับช่วงต้นรัชกาลที่ ๕) ก็ปรากฎว่าได้มีการเผาพระราชวังตุยเลอรีจนกลายเป็นผุยผง แล้วเอาทรัพย์สินมีค่าจำนวนมากทิ้งลงในแม่น้ำ Seine ไปอย่างน่าเสียดาย

ในรอบสองสามปีมานี้ คนไทยเองก็เริ่มเห็นต่างกันในเรื่องใหญ่บางเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแง่ที่ว่า “อะไรดี อะไรเลว อย่างไหนถูก อย่างไหนผิด และแบบใดยุติธรรม แบบใดไม่ยุติธรรม” แล้วบรรดาผู้คนกลุ่มใหญ่ที่เห็นร่วมกันไปในทางเดียวกัน ก็ทำการรวมตัวเป็น “ฝูงชน” หรือ “ม็อบ” เพื่อทำการเคลื่อนไหวและขัดขืนกฎหมายโดยพฤติกรรมตามแบบอารยชน แล้วก็ทำการต่อรองทางการเมือง

กลยุทธ์ที่ฝ่ายหนึ่งใช้อย่างได้ผล (และเป็นตัวอย่างอันดีให้อีกฝ่ายหนึ่งได้เรียนรู้) คือการใช้ม็อบเข้ายึดสถานที่บางแห่ง ซึ่งก่อนหน้านี้ เคยสมมติร่วมกันว่าเป็นสถานที่สำคัญ อย่าว่าแต่มีคนไปยึดครองเลย แม้จะไปเดินเผ่นพ่านแล้วทำพิเรนห์ ก็ถือ (สมมติเอา) ว่า “ผิด” และอาจต้องได้รับโทษ (โดยคนทั่วไปก็ถือว่า “ยุติธรรม” แล้วที่ต้องถูกลงโทษ เพราะดันไปทำพิเรนห์แบบนั้น)

นั่นถือว่าพวกเราบางคนได้รับรสสัมผัสกับการเดินข้าม “เส้นสมมติ” บางเส้น ไปอย่างสบายๆ แล้วไม่เกิดอันตรายใดกับตัวเองเลย อย่างที่เคยถูกฝังหัวไว้ก่อนหน้านี้….หลายคนอาจเริ่มคิดว่า นับแต่นี้ “อะไรก็เป็นไปได้ทั้งสิ้น” ตราบใดที่พวกเขายังทำการเคลื่อนไหวแบบ “อารยะ”

สำหรับผมแล้ว ผมว่าเมื่อผู้คนจำนวนมากขนาดนี้ เห็นต่างกันในเรื่อง “ดี-เลว-ถูก-ผิด-ยุติธรรม-ไม่ยุติธรรม” (ในขณะที่สถาบันซึ่งเคยชี้ชัดหรือชี้นำในเรื่อง “ดี-เลว-ถูก-ผิด-ยุติธรรม-ไม่ยุติธรรม” ล้วนถูกทำให้อ่อนแอและขาดความน่าเชื่อถือ) และต่างฝ่ายก็แสดงออกด้วยคำด่าฝ่ายตรงข้ามที่รุนแรงเผ็ดร้อน ตอกย้ำความเห็นต่าง ตลอดจนเอามาเป็นเครื่องต่อรองทางการเมือง จนเกิดความแตกแยกอย่างรุนแรง และพร้อมใช้ “ม็อบ” เป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุจุดหมายด้วยนั้น ย่อมเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ถ้าไม่ระมัดระวัง อาจทำให้สังคมที่เคยสงบสุข เกิดความวุ่นวาย และถูกทำให้ล้าหลังได้โดยง่าย หรือแม้แต่อาจต้องเสียเลือดเสียเนื้อโดยใช่เหตุ ดังตัวอย่างที่สังคมอื่นจำนวนมากเคยเผชิญมาแล้วในอดีต (ลองอ่านประวัติศาสตร์ดูสิ แล้วจะรู้ว่ามันขมขื่น)

ประเทศชาตินั้น ไม่เหมือนบริษัทเอกชนเสียด้วย ที่คิดจะไล่คนที่คิดเห็นต่างออกไปเมื่อใดก็ได้ จะได้ไม่ต้องเห็นกันให้รำคาญกันอีกต่อไป แต่นี่ เมื่อไล่ออกไปจากตำแหน่งใดหรือสถานะใดแล้ว คนที่เห็นต่างเหล่านั้นก็ยังคงต้องอาศัยอยู่ในประเทศนี้อยู่ดี และยังคงเห็นต่างอยู่ดี (แม้อาชญากร เรายังต้องเอาพวกเขาไปไว้ในคุก แล้วก็ยังต้องตามไปดูแลอยู่ดี) ซ้ำร้าย อาจมีความแค้นฝังลึก รอวันเวลาอยู่อย่างเงียบๆ (ถ้าพวกเขาคิดว่าถูกไล่ไปแบบไม่ยุติธรรมกับเขาเลย)

ผมมีความเห็นว่า “ขันติธรรม การใช้เหตุผลอย่างมีสติ ตลอดจนการถกเถียงอย่างกว้างขวางถึงสมมติฐานและรากเหง้าของสังคมไทย เพื่อหาทางวางรากฐานสำหรับตัวแบบสังคมไทยที่พึงปรารถนา ที่สามารถ Share อำนาจกันระหว่างกลุ่มต่างๆ ซึ่งล้วนแต่มีพลังต่อรองเข้มแข็งและทรัพยากรก้ำกึ่งกันและกันด้วย” เท่านั้น ที่น่าจะเป็นกระบวนการแสวงหาทางออกร่วมกันได้อย่างสร้างสรรค์และอาจจะถาวรด้วย

จะอาศัยการใช้กำลังทหาร “กด” เอาไว้ หรือพึ่ง “พระบารมีปกเกล้าฯ” โดยไม่ยอมเปลี่ยนโครงสร้างใหญ่ทางการเมืองและเศรษฐกิจเลย ก็ไม่อาจจะแก้ปัญหา Fundamental ในระยะยาวได้ เป็นแต่เพียงทอดเวลาออกไป เพราะวิธีการดังกล่าวนั้น แม้จะแก้ไขได้อย่างดูเหมือนจะลงล็อกในระยะเฉพาะหน้า แต่ก็ยังคงต้องยอมรับ Ripple Effects ที่อาจจะเกิดขึ้นอีกหลายระรอก แล้วต้นตอของวิกฤติเดิมก็จะวนกลับมาอีกอยู่ดี

ดูอย่างนี้แล้ว ผมคิดว่า ในอนาคตอันใกล้ พวกเราคงต้องทำใจได้เลยว่า อาจมีการใช้ม็อบไปยึดสถานที่นั้น สถานที่นี้อยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าฝ่ายใดจะได้เป็นรัฐบาล อีกฝ่ายก็จะใช้ม็อบเป็นเครื่องมืออยู่ดี

สถานที่ทั้งมวลซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเบื้องสูงนั้น ผมคิดว่าคงไม่มีใครกล้าคิดไปแตะต้องอยู่แล้ว เพราะแค่คิด ก็จะพ่ายแพ้ไปในทันทีทันใดและอย่างสิ้นเชิง แต่สถานที่อื่น โดยเฉพาะที่อยู่ภายใต้รัศมีของ State Apparatus ล้วนมีความเป็นไปได้ที่จะถูกยึดครองโดยฝูงชนทั้งสิ้น

ในบรรดาสถานที่เหล่านั้น มีสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งผมเป็นห่วงมากที่สุดว่าจะถูกยึดครอง นั่นคือ “ธนาคารแห่งประเทศไทย”

เพราะผมคิดว่า ถ้าธนาคารแห่งนั้นถูกยึดครองแบบเดียวกับกรณีของทำเนียบรัฐบาลหรือรัฐสภา ประเทศชาติอาจเข้าสู่วิกฤติอย่างรุนแรง

คงไม่ต้องสาธยายกันมากว่าธนาคารกลางหรือ “ธนาคารชาติ” มีความสำคัญเช่นไรต่อระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และมันจะเกิดวิกฤติทันทีที่ธนาคารแห่งนั้นต้องตกอยู่ในเงื้อมมือของฝูงชน หรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่รัฐบาลของประเทศชาติ (อันนี้ ยังไม่นับว่าธนาคารแห่งนั้น ยังทำหน้าที่คลังหลวง ผู้รักษาเงินแผ่นดิน และทุนสำรองระหว่างประเทศ ที่มีทั้งทองคำและทรัพย์สินมีค่า ตลอดจนเงินตราต่างประเทศสกุลสำคัญ รวมถึงเป็นเจ้าของโรงพิมพ์ธนาบัตรที่ใช้กันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันด้วย)

สมัยนโปเลียนยังรุ่งเรืองอยู่ในยุโรป ก็เคยคิดจะบุกเกาะอังกฤษ โดยสถานที่แห่งแรกๆ ที่นโปเลียนวางแผนว่าจะยึกครองทันทีที่ยกพลขึ้นบกได้ก็คือ “Bank of England” ซึ่งมีความสำคัญมากต่อระบบเศรษฐกิจของจักรวรรดิอังกฤษ และว่ากันว่าเก็บทองคำและทรัพย์สินมีค่าของ British Empire ไว้เป็นจำนวนมหาศาล

เดชะบุญที่นโปเลียนทำไม่สำเร็จ

Karl Marx เอง ก็เคยวิเคราะห์สรุปบทเรียนความล้มเหลวของการลุกฮือของ “ม็อบปารีส” ที่เรียกว่า Paris Commune เมื่อปี 1871 ทั้งๆ ที่สามารถยึดครองปารีสอยู่ได้ถึง 70 วัน ว่าความผิดพลาดฉกรรจ์ของฝ่ายคอมมูนที่สำคัญมีอยู่สองข้อ ข้อแรกคือการใช้กลยุทธ์ทางทหารที่ผิดพลาด คือแทนที่จะบุกไปตีกองกำลังฝ่ายรัฐบาล (ซึ่งตั้งทำการอยู่ที่แวร์ซาย) แล้วทำลายให้สิ้นซากเสียแต่ต้นมือ ขณะที่ยังตั้งตัวไม่ติด กลับใช้วิธีตั้งรับ สร้างปราการและ Barricade ทั่วปารีส แล้วรออยู่ในปารีสจนรัฐบาลตั้งตัวติดแล้วยกทัพมาปราบ ส่วนข้อที่สอง คือการเพิกเฉย ไม่ยอมเข้ายึด Banque de France ยังคงปล่อยให้ธนาคารแห่งนั้นดำเนินการอย่างอิสระ

ดังนั้น เมื่อเลนิน (Vladimir Llyich Lenin) ซึ่งเป็นสาวกคนสำคัญของ Marx นำพลพรรคบอลเชวิก(Bolshevik) เข้ายึดอำนาจรัฐในรัสเซียเมื่อปี 1917 เขาจึงใช้วิธีเชิงรุกอย่างต่อเนื่องและเข้ายึดธนาคารชาติไว้ในกำมือเสียก่อน

ผมไม่แน่ใจว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมีแผนสำรองไว้ใช้ในยามวิกฤติหรือไม่ ว่าหากธนาคารถูกยึดครองแล้ว จะทำอย่างไรให้ระบบการเงินฝากและการชำระเงินตลอดจนระบบเครดิตในระบบการเงินไทยยังทำงานได้เป็นปกติ

ที่สำคัญ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีแผนอะไรหรือไม่ ที่จะธำรงความเชื่อมั่นหรือหล่อเลี้ยงระบบ “Trust” ของประชาชน ซึ่งเป็นตัวค้ำจุนสำคัญของระบบการเงินไทย ไม่ให้ตื่นตระหนก หรือมีพฤติกรรมไปในทางเสริมให้วิกฤติรุนแรงยิ่งขึ้น หากธนาคารแห่งนั้นถูกยึดครอง

ผมทราบว่า นายธนาคารจำนวนมาก รวมทั้งผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย อ่านนิตยสารฉบับนี้เป็นประจำ ผมจึงตัดสินใจเขียนบทความนี้ขึ้น เพราะผมเป็นคนคิดมาก และผมก็คิดว่าตรงนี้เป็นจุดอ่อนที่สุดของเรา โดยโอกาสที่จะเกิดมันก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เสียเลยทีเดียว

ผมคิดว่า ประชาชนเองก็ต้องเป็นฝ่ายช่วยป้องกันไม่ให้ธนาคารแห่งนั้นถูกยึดครองโดยม็อบด้วย ไม่ว่าม็อบนั้นจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม หรือม็อบนั้นจะอ้างตัวว่าเป็นประชาชนก็ตาม แม้เป็นประชาชนผู้บริสุทธิ์จริง ก็ต้องผละจากม็อบนั้นทันที เมื่อทราบว่าผู้นำม็อบคิดจะเข้าไปยึดสถานที่แห่งนั้น

ตีพิพม์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น