วันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2553

Sublime Bangkok



แม้การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะสิ้นสุดไปแล้ว แต่ทว่า ความคาดหวังของคนกรุงเทพฯ หาได้สิ้นสุดไปพร้อมกับบัตรเลือกตั้งที่หย่อนลงไปในกล่องเมื่อวันก่อนไม่

แน่นอน ความคาดหวังของคนกรุงเทพฯ ย่อมหลากหลาย หากไปถามแต่ละคน ก็อาจได้คำตอบไม่เหมือนกัน แม้จากคนๆ เดียวกัน หากลองถามวันนี้ แล้วเว้นไปอีกหลายวัน คำตอบที่ได้ก็อาจไม่เหมือนเดิม

MBA เราก็มีความคาดหวังเช่นกัน ทั้งในฐานะสมาชิกผู้หนึ่งของกรุงเทพฯ และในฐานะผู้เสียภาษีทุกปี ปีละหลายๆ ครั้ง (บ่อยครั้งถึงกับเสียเกิน ต้องขอคืนด้วยซ้ำไป)

อันที่จริงเราก็มีความคาดหวังหลายอย่างเหมือนคนกรุงเทพฯ ทั่วไป แต่ส่วนใหญ่ก็ได้รับการกล่าวถึงโดยผู้อื่นไปมากแล้ว เช่นเรื่อง การวางผังเมืองใหม่ การจราจร ความสะอาดและการสาธรณสุข และความปลอดภัย เป็นต้น

เชื่อไหม เดี๋ยวนี้ค่าเช่าแถวสุขุมวิทที่เราอยู่กัน ราคาขึ้นไปเกือบเท่าตัวแล้ว เมื่อเทียบกับที่เราเริ่มมาอยู่ย่านนี้ใหม่ๆ (ขนาดเราพยายามหาสำนักงานใหม่ที่ใหญ่และสะดวกสบายกว่าเก่ามาเกือบปีแล้ว เราก็ยังหาที่คิดค่าเช่าแบบเหมาะสมไม่ได้เลย) เราสังเกตว่ากิจการที่อาศัยหน้าร้านจำนวนมากแถวนี้ เปลี่ยนหน้าตาบ่อยเหลือเกิน แต่ละรอบที่เปลี่ยนไป เจ้าของใหม่ย่อมมาตกแต่งภายนอกภายในกันใหม่ทุกครั้งไป แต่พออยู่ได้ไม่นาน แม้จะมีลูกค้าพอประมาณ ก็เปลี่ยนอีกแล้ว นั่นเป็นเพราะว่า สัดส่วนผลตอบแทนที่ผู้ประกอบการเหล่านั้นต้องเจียดให้กับบรรดา Landlord แถวนี้ มันทำให้ Profit Margin ของพวกเขา ไม่คุ้มต่อการลงทุนอีกต่อไป

มันเป็นการสูญเสียทรัพยากรโดยใช่เหตุ และเราก็คิดว่า ในรอบหลายปีมานี้ เรื่องแบบนี้คงประสบกับผู้คนในย่านอื่นด้วย มิใช่ย่านสุขุมวิทแต่เพียงเท่านั้น

อันที่จริง เรื่องแบบนี้มันแก้ไขได้ด้วยการวางผังเมืองและแนวคิดในการสร้างเมือง ตลอดจนระบบขนส่งมวลชนทั้งหลาย และนั่นถือเป็นจุดตัดระหว่างสถาปัตยกรรมกับเศรษฐศาสตร์และการค้า (อย่าคิดว่ามันไม่เกี่ยวกันเชียวน่ะ) ที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ต้องคิดให้มัน Serious ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้ เพราะกลุ่มคนที่สามารถ (และ Willing ด้วย ในฐานที่เป็นการลงทุนแบบหนึ่งของพวกเขา) เอื้อมถึงได้ จะเหลือเพียงกลุ่มเดียวคือ “ต่างชาติ”

แล้วมันจะมีประโยชน์อะไรกับพวกเรากันเองเล่า ที่ต้องซื้อข้าวของกันแพงเกินจริง และคนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ต้องไปอยู่ในสลัม เพื่ออาศัยเป็นที่ซุกหัวนอก แล้วตอนกลางวันก็มารับใช้คนต่างชาติเหล่านั้น

อย่าลืมว่า “กรุงเทพฯ เป็น Retail Shop City” ร้านค้าข้างถนนเหล่านั้น มันทำให้กรุงเทพฯ เป็นกรุงเทพฯ และเศรษฐีไทยเกือบร้อยทั้งร้อย ก็เคยเติบโตมากับร้านแบบนั้น

นั่นเป็นเรื่องหนึ่งที่ MBA อยากจะเสริม แต่ที่ตั้งใจจะเขียนในฉบับนี้เป็นอีกประเด็นหนึ่ง

เราคิดว่า เมืองหลวงแบบกรุงเทพฯ แม้จะเทียบอายุกับเมืองเก่าแบบปารีส ลอนดอน โรม เกียวโต หรือปักกิ่ง ไม่ได้ แต่ระยะเวลาสองร้อยกว่าปีมันก็ไม่น้อย (อย่างน้อยก็พอๆ กับ New York และเก่ากว่า Washington D.C.) และการมีประชากรอาศัยอยู่ถึง 13 ล้านคน เคลื่อนไหวไปมา ขับถ่ายของเสียกันทุกวัน ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องเล่นๆ

มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในเมืองเก่าขนาดนี้ ย่อมสืบลูกหลานมาหลายชั่วอายุ แม้พวกมาใหม่ ก็ไม่ใช่ว่าจะมีชีวิตในมิติเดียว คือวันๆ แสวงหาแต่โภคทรัพย์ แล้วก็รับประทาน เสร็จแล้วก็ขับถ่าย สืบพันธุ์ สันทนาการ และก็นอน เท่านั้น พวกเขาย่อมต้องการสิ่งจรรโลงใจที่มีคุณภาพ มีความงาม มีความไพเราะ มีความลึกซึ้ง แยบคาย ละเมียดละไม มีความกินใจสะเทือนอารมณ์ มีความหมายต่อการดำรงอยู่ และ Sublime

พวกเขาอยากมีทางเลือกในการสันทนาการ และแสวงหาความรู้นอกตำรา ตลอดจนความหมายของการมีชีวิตอยู่ ให้มากกว่าเดิม หลากหลายกว่าเดิม เช่น เลิกจากงานแล้ว แทนที่จะต้องกลับบ้านไปดูทีวีอย่างเดียว ก็สามารถไปดูโขน ละคร ลำตัด คร่าวซอ ขับเสภา หุ่นกระบอก หนังตะลุง หมอลำแคน ละครใบ้ มายากล มวย ฯลฯ ที่มีสถานที่ให้แสดงและแสดงด้วยความถี่พอสมควร เสร็จแล้วก็เดินออกไปฟังเพลงแจ๊ส หรือเพลงร็อค หรือเพลงคลาสสิก หรือเพลงไทยเดิม หรือเพลงสากล แล้วดึ่มเบียร์สักแก้ว (ที่ไม่ใช่เบียรสิงห์ หรือไฮเนเก้น หรือเพียงไม่กี่ยี่ห้อที่ถูกผูกขาดอยู่) ก่อนกลับบ้าน

พรุ่งนี้อยากดูโอเปร่า หรือละครฝรั่ง ก็หาดูได้โดยง่าย เสาร์-อาทิตย์ อยากพาลูกไปดูภาพเขียน ไปพิพิทธภัณฑ์ ไปฟังสัมมนาสาธารณะ ไปฟังการอ่านบทกวี ไปดูหนังสารดีที่มีประโยชน์ หรือหนังแนวศิลปะ ไปอ่านหนังสือในห้องสมุด หรืออยากจะหาข้อมูลแนวลึก เช่นเกี่ยวกับโขนหรือลำตัดหรือแจ๊สหรือการออกแบบอย่างเดียว ก็ควรมีห้องสมุดเฉพาะให้ Access ได้โดยง่าย ถูก และอยู่ตาม Public Spaces มิใช่ตามห้างสรรพสินค้า หรือแม้แต่อยากให้ลูกหัดวาดรูปหรือถ่ายรูปก็ต้องให้มีห้องสตูดิโอให้เช่าพร้อมเครื่องไม้เครื่องมือและครูสอนอย่างเพียงพอ ไม่ใช่ปล่อยให้มีแต่โรงเรียนสอนภาษาในระดับงูๆ ปลาๆ แต่เพียงด้านเดียว

Public Space เอง ก็ควรมีให้มากกว่านี้หลายๆ เท่า (อย่าลืมว่าเรามีคนอยู่ตั้ง 13 ล้านคน แต่มีสวนสาธารณะ มีจตุรัส มีถนนหนทางที่คนสามารถเดินทอดน่องได้โดยไม่อันตราย มีพิพทธภัณฑ์ หรือหอสมุด สักกี่แห่งกันเชียว)

เรื่องเหล่านี้ เป็นเรื่องที่ผู้ว่าการกรุงเทพมหานครจะต้องคิด วางแผน และระดมทุนมาทำ มาสร้าง มาเนรมิต อย่างน้อยก็เพื่อลูกหลานจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าคนรุ่นเรา (เช่น ควรกำหนดไปเลยว่าแต่ละเขตจะต้องมี Public Space กี่ตารางกิโลเมตร แล้วทำการออกพันธบัตรเพื่อ Buy-back ที่ดิน โดยมีการออกแบบสถานที่ให้มีความงามและใช้ประโยชน์ได้ดีสำหรับคนทุกชนชั้น เป็นต้น)

อันนี้ไม่ใช่เหรอ ที่เป็นพันธกิจของนักการเมืองและผู้บริหารองค์กรของรัฐ

คือต้อง “สร้างความอุดมให้กับชีวิตของประชาชนในชาติ”

ถ้าทำไม่ได้ หรือทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ก็คงเป็นได้แต่เพียงนักเลือกตั้งและเสมียน ซึ่งอีกไม่นาน ผู้คนก็จะลืมเลือนคนอย่างท่านไปอย่างไม่มีความหมายอะไรเลยในเชิงประวัติศาสตร์

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
 
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนตุลาคม พ.ศ. 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น