วันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2553

TOM PETERS IN MY MIND




ระหว่างปี 2534 ผมกับคุณนรรัตน์ ลิ่มนรรัตน์ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมและติดต่อธุรกิจกับ Bloomberg ซึ่งขณะนั้นเพิ่งตั้งมาได้ไม่นานและเพิ่งก่อร่างสร้างตัว ยังเป็น Bloomberg Limited Partnership ที่เน้นการขายข้อมูลทางการเงินและโปรแกรมวิเคราะห์ให้กับสถาบันการเงินใหญ่ๆ ไม่กี่แห่ง ยังมิได้มีสถานีโทรทัศน์และนิตยสารสำคัญๆ เป็นของตัวเองเหมือนอย่างทุกวันนี้ (ปัจจุบัน Michael Bloomberg ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการเมืองนิวยอร์ค)

ในครั้งนั้น นอกเหนือไปจากสำนักงานใหญ่ที่ Manhatan แล้ว คณะผู้บริหารยังได้พาเราไปดูงานที่สำนักงาน New Jersey ซึ่งเป็น Back Office ที่เป็นฐานการเก็บและประมวลข้อมูลทั้งหมดมาแต่ต้น เราได้พบกับ Joan Aubert ผู้บริหารรุ่นก่อตั้งที่ลาออกจาก Salomon Brothers มาบุกเบิกธุรกิจร่วมกับ Bloomberg ตั้งแต่วันแรก

ผมสังเกตเห็นสำนักงานของเขาโล่งโจ้ง ไม่เห็นมีห้องหับ แถมยังมีโรงอาหารยกพื้นอยู่ตรงกลาง ดูไปคล้ายโกดังสินค้ามากกว่าสำนักงานธุรกิจ แต่ก็ตกแต่งด้วยงานศิลปะอย่างน่าชม (สมัยโน้นการตกแต่งสำนักงานแบบ Loft ยังไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายเหมือนตอนนี้)

ดูเหมือนคุณ Aubert จะรู้ความในใจเรา ก็เลยสาธยายว่า "ที่นี่ไม่มีชนชั้น" ผู้บริหารกับพนักงานนั่งทำงานระนาบเดียวกัน เดินถึงกัน มองเห็นกัน พูดคุยกันได้ตลอดเวลา ไม่ต้องมีห้องผู้บริหาร ไม่ต้องมีเลขาฯ หน้าห้องคอยกันท่า ห้องประชุมก็มีเพียงกระจกกั้น ฯลฯ จะมีก็เพียงยกพื้นสักคืบหนึ่งสำหรับบริเวณที่นั่งของคุณ Aubert เพื่อให้เกียรติว่าเป็นผู้บริหารสูงสุดในที่แห่งนั่น

เราได้พูดคุยกับหัวหน้าแผนกต่างๆ ก็เห็นว่าเป็นกันเองและแต่งตัวกันตามสบาย ไม่มีพิธีรีตรอง ตรงข้ามกับเราที่ใส่สูทถือกระเป๋าหนังกันเต็มยศ คุณ Aubert อธิบายว่าแนวคิดของที่นั่นคือต้องการให้พนักงานเกิดความคิดสร้างสรรค์เต็มที่ เขาพยายามแหกกฎเหล็กของการจัดองค์กรขนาดใหญ่แทบทุกข้อ เช่น พยายามลดสายการบังคับบัญชาให้เหลือสั้นที่สุด จัดสถานที่ทำงานให้ทุกคนสื่อสารกันสะดวกและอิสระ มีโรงอาหารบริการพนักงานฟรี ให้กินร่วมกันเพื่อเน้นให้เกิดการปะทะสังสรรค์ทางความคิดกันตลอดเวลา และเป็นอยู่อย่างง่ายๆ ไม่มีพิธีรีตรอง แต่เน้น Productivity ฯลฯ

สมัยโน้น ต้องถือว่าความคิดแบบนี้ยังใหม่อยู่ (พวกที่ Silicon Valley และวัฒนธรรมของพวกเขายังไม่ใหญ่คับฟ้าเหมือนทุกวันนี้) ยิ่งในวงการเงินด้วยแล้ว การปฏิบัติตัวแบบนั้น ถือเป็นข้อยกเว้นเลยทีเดียว

ขณะนั้น ผมเพิ่งจะอายุยี่สิบกว่าและเพิ่งเรียนจบได้ไม่นาน เมื่อเห็นวัฒนธรรมองค์กรแบบนั้น ก็เลื่อมใสเลยทันที และตั้งใจไว้ว่าสักวันหนึ่ง ถ้ามีโอกาสได้เป็นใหญ่เป็นโต ก็จะนำเอาแบบอย่างนั้นมาประยุกต์ใช้กับองค์กรของตนบ้าง ผมจึงซักถามความเห็นคุณ Aubert เกี่ยวกับประเด็นนี้ละเอียดหน่อย ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่เกี่ยวกับงานที่เราไปในวันนั้นเลย

แม้เวลาจะล่วงเลยมานานเกือบยี่สิบปีแล้ว ผมยังจำได้แม่นยำว่าคุณ Aubert บอกว่า Bloomberg และเขา ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือ In Search Of Excellence ของ Tom Peters กับ Robert Waterman ซึ่งที่จริงแล้ว แม้ผมจะไม่เคยอ่านหนังสือเล่มนั้นมาก่อน ผมก็เคยรับรู้ถึงความโด่งดังของมันและเคยดูเวอร์ชั่นที่เป็นวีดีโอ (สมัยนั้นยังไม่มี VCD) มาก่อนหน้านั้น 3-4 ปี และยังจำได้ว่า คนที่เอามาเปิดให้ดูก็คือ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ พร้อมกับชี้ให้เห็นจุดบกพร่องของวัฒนธรรมองค์กรแบบบริษัท Apple สมัยแรกๆ (ซึ่งมีแสดงอยู่ในวีดีโอ) ว่ามันคล้ายกับการทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย มีแต่เด็กหัวดีๆ แต่งตัวสบายๆ ทำท่าทางไม่แยแส ให้สัมภาษณ์ด้วยความมั่นใจสุดขีด ฯลฯ

หลังจากนั้น ผมก็หาหนังสือเล่มดังกล่าวมาอ่านดูบ้าง และค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Tom Peters แล้วก็พบว่าแนวคิดของเขายืนอยู่ตรงข้ามกับ Peter Drucker ที่ผมค่อนข้างนับถือในฐานะนักคิดนักเขียนที่ค่อนข้างลึกซึ้งกว่าเพื่อนที่เป็น Management Guru ด้วยกัน ผมก็เลยหมดศรัทธาในตัวเขาไปดื้อๆ แบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย

ยิ่งมาอ่านวิจารณ์ที่โจมตีหนังสือ Search ในช่วงนั้นกันมาก ว่าที่หนังสือเขาขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ติด Best Seller ตลอดกาลนั้น ก็เพราะคนอเมริกันช่วงนั้นขมขื่นกับธุรกิจของชาติตัวที่เริ่มพ่ายแพ้ญี่ปุ่น พอมีหนังสือที่ยกย่องกิจการของอเมริกันขึ้นมา ก็ย่อมขายดีเป็นธรรมดา แต่พอวันเวลาผันผ่าน กิจการที่เขานำมาเป็นต้นแบบในงานวิจัยหาความเป็นเลิศ ส่วนใหญ่ล้วนมีอันเป็นไป ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ทำให้ความศรัทธาในตัว Tom Peters ของผม ยิ่งน้อยลงไปอีก เพราะความตื่นตัวของผมต่อ Search และ Tom Peters มันอยู่ในช่วงที่ตัวอย่างกิจการทั้งหลายแหล่ของเขาทยอยพังพาบหรือไม่ก็ร่อแร่แล้ว เพราะเป็นยุคหลังวิกฤติ Junk Bond

แต่กระนั้น ผมก็ยอมรับว่า "หลัก 8 ประการ" ใน Search นั้นดี เพราะลึกๆ ผมเป็นคนเชื่อในหลัก "ทฤษฎี Y" ของ McGrager อยู่ก่อนแล้ว และก็ได้ใช้หลักการแบบนี้ จัดการกับคนที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของตนตลอดมา

ผมมาคิดทีหลังว่า "หลัก 8 ประการ" อันนั้นแหละ ที่น่าจะมีส่วนช่วยให้ Bloomberg เติบใหญ่ขยายกิ่งก้านสาขามาถึงป่านนี้ได้ ถ้าหากคำกล่าวอ้างของคุณ Aubert ที่ว่า Mike Bloomberg และพรรคพวกรุ่นก่อตั้ง ได้รับอิทธิพลจาก Search ของ Tom Peters เป็นความจริง

ผมมาจับเรื่อง Tom Peters อีกครั้ง หลังจากก่อตั้งนิตยสาร MBA ได้ไม่นาน เพราะในฐานะนักเขียนเกี่ยวกับการจัดการ การเงิน การตลาด และกลยุทธ์ธุรกิจ ย่อมหลีกเลี่ยงที่จะต้องทำความเข้าใจกับความคิดของคนเหล่านี้ไปหาพ้นไม่ แต่ผมพบว่าคราวนี้ สถานะของเขามิได้เหมือนเดิม ที่เป็นเพียงนักเขียนนักบรรยาย อดีต Consultant จาก McKinsey แบบเก่า ทว่าเขาได้ถูกอุปโลกให้เป็น GURU ที่ได้รับการยอมรับจากสื่อมวลชนและผู้บริหารกิจการธุรกิจชั้นนำทั่วโลก ผู้คนต้องการฟังเขาพูด เพราะเขาบรรยายได้เฉียบ พูดเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย และเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้เลย ค่าตัวเขาสูงเป็นอันดับต้นๆ ในบรรดา GURU ด้วยกัน กระนั้นก็ยังมีคนเชิญเขาไปบรรยายเกือบตลอดทั้งปี ทั่วโลก

ยิ่งผมติดตามเรื่องของเขามาก ผมยิ่งรู้สึกแย่ เพราะผมรู้สึกว่า Tom Peters เป็นคนก้าวร้าวแบบปัญญาชนอเมริกันทั่วไป ไม่เหมือนคนแบบ Drucker หรือ Philip Kotler ที่ค่อนข้างอ่อนน้อมถ่อมตนและลึกซึ้งแบบปัญญาชนยุโรป

แต่เมื่อพิจารณาถึงปูมหลังของเขา ผมก็เริ่มเข้าใจและทำใจได้ เพราะอย่าลืมว่า Tom Peters เป็นพวก WASP (ความข้อนี้เขายอมรับเอง) มาจากครอบครัวที่ไม่ธรรมดาและได้รับการศึกษาแบบชนชั้นนำอเมริกัน ไม่เหมือน Drucker ที่ถึงแม้จะมาจากครอบครัวชั้นนำจากออสเตรีย แต่ก็เป็นยิว (แม้จะเปลี่ยนมานับถือคริสต์แล้วตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ) และไม่ใช่เยอรมันแท้ๆ เพียงแต่ได้นำแนวคิดและภูมิปัญญาเยอรมันมาเผยแพร่ ประยุกต์ และปลูกฝังในแวดวงการจัดการและธุรกิจวงในของอเมริกัน ส่วน Kotler ก็เป็นยิวเช่นกัน แถมยังเป็นยิวที่สืบสายมาจากยุโรปตะวันออกซึ่งไม่ใช่ยิวชั้นนำ แม้จะช่วยบุกเบิกงานวิชาการทางด้าน Marketing จนโด่งดัง แต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับจากนักวิชาการและชนชั้นนำในแวดวงธุรกิจกระแสหลักของสังคมอเมริกันเท่าที่ควร

อีกอย่าง Tom Peters เป็นคนรุ่นฮิปปี้ เติบโตมาในยุค 60 เคยผ่านการรบในเวียตนาม (ข้อนี้เขาไม่ค่อยอยากจะพูดถึง) จึงไม่แปลกที่เขาจะแสดงความเห็นแบบโต้งๆ คิดอะไรก็พูดแบบนั้น และไม่ชอบพิธีรีตรอง มีความคิดขบท และต่อต้านพวก Establishment โดยเฉพาะพวกชนชั้นนำในองค์กรธุรกิจ เขาต่อต้านมาตั้งแต่แนวคิดของ Drucker ต่อต้าน Frederick Tayler (นักเรียนเยอรมันทั้งคู่และเป็นเสาหลักของการจัดการสมัยใหม่) ต่อต้านวัฒนธรรมของ McKinsey (เสาหลักของธุรกิจที่ปรึกษาและศูนย์กลางของ Business Strategist ผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย) ต่อต้าน Robert McNamara (สัญญลักษณ์ของพวก The Best and The Brightest) และผู้นำองค์กรแบบเก่าที่ติดยึดกับระเบียบแบบแผน ฯลฯ

จะว่าเขาดังขึ้นมาเพราะ "ด่าผู้ใหญ่" ก็ไม่ผิด

อีกอย่าง เขาเป็นคน Arrogant มาก หลายปีก่อน ผมเคยฟังบรรยายของ Tom Peters ที่โรงแรมดุสิตธานี ผมเห็นกับตาว่าเขาตอบโต้อย่างรุนแรงกับฝรั่งคนหนึ่งที่แสดงความกังขาในความเห็นของเขา ท่าทีและโวหารตลอดจนน้ำเสียงของเขาล้วนยะโส ครั้งนั้น ผมสังเกตว่าคนที่ไปฟังบรรยายส่วนใหญ่ ไม่ได้เสียเงินไปฟังเอง (ถ้าจำไม่ผิด ผู้เข้าฟังต้องเสียเงินคนละกว่า 30,000 บาท) แต่เป็นบริษัทส่งไปเสียมากกว่า Tom Peters ฉายแผ่นใส แล้วก็บรรยายด้วยเสียงดังฟังชัด เดินไปเดินมาพร้อมกับแจกลายเซ็นต์ คล้ายดารา ส่วนเนื้อหาที่บรรยายนั้น ก็เอามาจากหนังสือที่เขาเขียนนั่นแหละ

ผมต้องยอมรับว่า คราวนั้น ผมไปนั่งฟังได้เพียงไม่ถึงยี่สิบนาที ก็จากมา

ข้อดีและจุดที่เด่นมากของ Tom Peters ในความเห็นของผม ก็คือเขาสามารถพูดเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย สามารถ Conceptualize แก่นความคิดหรือความคิดหลักของเรื่องราวต่างๆ แล้วอธิบายออกมาให้คนทั่วไปเข้าใจได้อย่างง่ายดาย มีตัวอย่างประกอบแบบง่ายๆ ที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน คิดศัพท์แสงจ๊าบๆ ซึ่งฟังแล้วเห็นภาพ หรือ "โดนเลย" จึงไม่แปลกที่เขาจะเป็น Popular Guru และเป็นขวัญใจของสื่อมวลชนและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่แสดวงหาไอเดียเก๋ๆ เท่ๆ ตลอดจนศัพท์แสงแนวๆ มาประดับความคิด

ที่สำคัญ ผมว่าเขาเป็นคนที่สามารถ "จับ Trend" ได้เก่งมาก ผมมักเงี่ยหูฟังเสมอว่าเขาออกมาพูดแนวคิดใหม่ๆ อะไรบ้าง เพราะไม่นาน มันมักจะ "ฮิต"

Track Record ของเขาที่เด่นๆ ในรอบสิบปีนี้ ก็คือ "Women: The New Economy's Top Opportunity" และ "The Brand Called You" เป็นต้น

ปัจจุบัน Tom Peters อายุ 68 แล้ว เขาเลิกดื่มและเดินทางไปบรรยายที่โน่นที่นี่น้อยลง อยู่เย้าเฝ้าไร่ของเขาที่ Vermont แต่ก็ยัง Active ผ่าน Blog ของตัวเองอยู่อย่างสม่ำเสมอ นักอ่านที่สนใจ ก็ตามกันได้ที่ www.tompeters.com

ยิ่งมี Facebook และ Twitter ด้วยแล้ว ผมว่าเข้าทางเขาเลยแหละ เพราะ Tom Peters ถนัดนัก เรื่องเขียนสั้นๆ แต่ได้ใจความ ยิ่งประเภท Anecdote และ Epigram แล้ว เขารวมรวมไว้แยะเลย

ณ วันที่ผมเขียนต้นฉบับนี้ ตรงกับวันที่ 17 มีนาคม 2553 เวลา 12.48 น. ในหน้า Facebook ของเขามีผู้ติดตามอยู่ 2,268 Fans (โฟสต์วอลล์ได้ที่ http://www.facebook.com/profile.php ref=profile&id=100000576047145#!/pages/Tom-Peters/10666812395?v=wall&ref=mf) ส่วนหน้า Twiitter ของเขามีผู้ติดตามอยู่ 11,613 ราย และสามารถ @tweet ได้ที่ http://twitter.com/tom_peters เช่นกัน

ล่าสุด เขาเพิ่งจะออกหนังสือใหม่มาวางตลาดสดๆ ร้อนๆ ชื่อ The Little Big Things นัยว่าเป็นแนวคิดเล็กๆ 163 แนวคิดที่จะช่วยให้กิจการก้าวหน้าเข้าสู่ความเป็นเลิศตามพาดหัวรองของหนังสือที่บอกว่า "163 Ways to Pursue Excellence"

ผมได้ลองอ่านตัวอย่างแนวคิดหนึ่งของเขา คือแนวคิดที่ 131 (#131.The Case of the Two-Cent Candy) ก็เห็นว่าน่ารัก กระจุ๋มกระจิ๋มดี เป็นแนวคิดหรือเครื่องเตือนใจสำหรับผู้ประกอบการ ผู้บริหาร และนักการตลาดได้ (ผู้สนใจลองเข้าลิงค์นี้ดูได้ที่ http://theharperstudio.com/authorsandbooks/tom_peters/the-book/the-little-big-things/)

ถ้าไม่ซีเรียส หรือคาดหวังมากว่าหนังสือเล่มนี้จะมีความลึกซึ้ง ผมก็คิดว่าน่ามีไว้ เพราะมันเข้าถึงง่ายและมีตัวอย่างแยะ เป็นตัวอย่างพื้นๆ ที่จับต้องได้และเคยเกิดขึ้นจริงกับตัว Tom Peters ผู้เขียนเอง อย่างกรณีประสบการณ์แย่ๆ ที่เขาเจอจากตรวจคนเข้าเมืองของเราคราวมาบรรยายที่ดุสิตธานีครั้งนั้น เขาก็เก็บไว้ไม่ลืม แล้วยังเอาไปตำหนิในหนังสือเล่มนี้ด้วย โดยยกไปเปรียบกับประสบการณ์อันงามและน่ายกย่องของสิงคโปร์ในสายตาของเขา เป็นต้น

นี่แหละหนา ที่โบราณว่า "กินบนเรือน ขี้รดบนหลังคา"

แต่ผมก็ต้องซื้อหนังสือของเขาอยู่ดี

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
17 มีนาคม 2553

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนมีนาคม 2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น