วันอังคารที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ความ “เป็นเช่นนั้นเอง” ของนวัตกรรม คือปัญหาของสังคมพุทธ



ผมชอบฟังเพลงของเบโธเฟนและมาห์เลอร์

ลองคำนวณคร่าวๆ ดูแล้ว พบว่าในชีวิตที่ผ่านมา ตัวเองเคยเปิดฟังท่อนที่สามของซิมโฟนีหมายเลข 9 ของเบโธเฟน (Adagio molto e cantabileและท่อนสองของซิมโฟนีหมายเลข 2 (Andante moderato. Sehr gemächlich. Nie eilen.) และ Der Abschied (คือท่อนที่ 6 ของเพลง Das Lied von der Erde) ของมาห์เลอร์มาแล้วไม่ต่ำกว่าเพลงละหนึ่งพันรอบ

ผมฟังมาแล้วทุกรูปแบบ ทั้งจากแผ่นเสียง ซีดี คาสเซ็ท เทปรีล และไฟล์เสียง ทั้งแบบ Download และ Streaming และทั้งการอัดเสียงแบบโมโนและสเตอริโอ ยกเว้นจากการแสดงสดเท่านั้นที่ยังไม่เคยมีโอกาสได้ฟัง

มีเพื่อนชาวเยอรมันคนหนึ่งชอบฟังเพลงเหมือนกัน เมื่อเราพบกัน มักดื่มเบียร์หรือไวน์และนั่งฟังเพลงด้วยกันเป็นเวลานานๆ ทีละหลายชั่วโมง

เขามักสอนให้ผมฟังโปรเกสซีฟร็อก อย่างงานของ Gentle Giant, Yes, และ Peter Gabriel ฮีโร่ของเขา เป็นต้น โดยผมสอนให้เขาฟังแจ๊สสมัยฮาร์ดบ็อบอย่าง Miles Davis, Hank Mobley, Jackie McLean, และ John Coltrane

ผมเคยถามเขาว่าเป็นคนเยอรมันแท้ๆ ทำไมไม่ชอบฟังเพลงคลาสสิกเอาเสียเลย ทั้งๆ ที่คีตกวีสำคัญๆ ของโลกล้วนเป็นคนเยอรมัน

เขาตอบว่ามัน “ยาว ยืดเยื้อ น่าเบื่อ” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Wagner เขาไม่ชอบเอามากๆ

นานมาแล้ว ผมเคยถามถึงรายละเอียดของงาน Bayreuth Festival ว่าต้องจองตั๋วยังไง กะจะฝากเขาจองและชวนเขาไปด้วย แต่เขากลับบอกผมว่า “ให้รอไปเที่ยวงาน Oktoberfest น่าจะดีกว่า!”

เมื่อเราสนิทกันมากขึ้น เขาก็เริ่มเล่าเรื่องเก่าๆ ให้ผมฟัง โดยเฉพาะเรื่องพ่อกับแม่ของเขา ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นรุ่นใกล้เคียงกับพ่อแม่ผม แต่พวกท่านโชคร้ายกว่า เพราะเติบโตขึ้นมาท่ามกลางสงครามโลกครั้งที่สองในทวีปยุโรป

สมันโน้น พ่อเขาเป็นอาสาสมัครอยู่หน่วยแพทย์ จึงเห็นเรื่องเลวร้ายสุดๆ ในช่วงนั้นมานับไม่ถ้วน เขาว่าประสบการณ์ที่พ่อแม่เขาเล่าให้ฟัง ประกอบกับการเติบโตขึ้นมาในฐานะคนเยอรมันระหว่างยุคสงครามเย็น ทำให้เขากลายเป็นคนยึดมั่นในศรัทธาแห่งศาสนา

เขาเป็นคาทอลิก และเมื่อมาเมืองไทย สิ่งหนึ่งที่เขาขาดไม่ได้คือต้องไปอธิษฐาน ณ โบสถ์อัสสัมชัญ ตรงบางรัก ข้างๆ โรงแรมโอเรียนเต็ล

ต่อมา เมื่อรู้แล้วว่าผมชอบเพลงคลาสสิก เขาจึงแนะให้ผมฟัง String Quintet in C Major ของ Schubert เทียบกับ String Quartet in C Sharp Minor ของ Beethoven ซึ่งเขาคิดว่ามันเจ๋งมากและมีมิติเชิงศาสนา และต่างก็เป็นเพลงสำหรับเครื่องสายที่ผู้ยิ่งใหญ่ทั้งคู่ประพันธ์ไว้ก่อนตาย ทำให้ผมฟังเพลงทั้งสองนั้นเรื่อยมา และบางทีก็รวมถึง Groze Fuge ด้วย

ที่สำคัญ เขายังแนะให้ผมฟัง St. Matthew Passion ของ Bach พร้อมทั้งอธิบายที่มาที่ไปของเนื้อหาซึ่งหยิบยืมมาจากพระคัมภีร์สำคัญๆ ของศาสนาคริสต์แทบทุกคัมภีร์

ผมฟังแล้ว อิ่มเอิบใจมากและรู้สึกว่า “ภายใน” ของตัวเอง ขยายออกทั้งแนวกว้าง แนวสูง และแนวลึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้หลับตาฟัง Erbarme Dich Mein Gott แล้ว รู้สึกว่าตัวเองค่อยๆ ลอยไปมาบนก้อนเมฆ ภายใต้การจ้องมองของ “อำนาจเหนือ” บางอย่าง และพอฟังมากเข้า หลายๆ รอบเข้า ผมจึงเริ่มเข้าใจความรู้สึกของชาวคริสต์ว่าการสัมผัสกับ “พระเจ้า” เป็นเช่นนี้นี่เอง


Caravaggio's Calling of St. Matthew

นั่นทำให้ผมเกิดแรงบันดาลใจที่จะหาหนังสือประวัติพระเยซูและประวัติคริสต์ศาสนามาอ่าน ทำให้ตัวเองตระหนักว่าความรู้เรื่องศาสนาคริสต์ของตัวเองมีอยู่น้อยมาก แม้ว่าสมัยเด็กจะเคยเรียนในโรงเรียนคาทอลิกอยู่ถึง 10 ปี และภรรยาก็เป็นคริสเตียน โดยสมัยแต่งงานก็ทำพิธีกันในโบสถ์

ผมเพิ่งรู้ว่าพระเยซูสวรรคตตั้งแต่ยังหนุ่มแน่น พระชันษาได้เพียง 33 เท่านั้น (บ้างก็แย้งว่า 36) และประวัติของพระองค์ขาดหายไปอย่างไร้ร่องรอยถึง 18 ปี คือตั้งแต่พระชนมายุ 12 กว่าๆ จนถึง 30 และเสด็จสั่งสอนผู้คนได้เพียงไม่กี่ปีก็ถูกตรึงกางเขน 

ต่างกับพระพุทธโคดมมาก ที่มีเวลาเสด็จสั่งสอนและเผยแพร่คำสอนอยู่นานถึง 45 ปี (พระพรหมคุณาภรณ์ (..ปยุตโต) เคยบรรยายถึงช่วงที่หายไปของพระเยซูว่ามีหนังสือตำราเกี่ยวกับพระเยซูจำนวนมากได้ค้นคว้ามาแสดงเหตุผลให้เห็นว่าระหว่างที่พระเยซูหายไปนั้น พระองค์ท่านได้เดินทางมาศึกษาพุทธศาสนาที่อินเดีย บางเล่มถึงกับบอกว่าเคยบวชเรียนด้วยซ้ำไป โดยมีเล่มหนึ่งชื่อ The Original Jesus ถึงกับเขียนไว้ชัดเจนเลยว่าJesus was not a Christian, he was a Buddhist. โดยได้เทียบคำสอนระยะแรกของพระองค์กับหลักศาสนาพุทธว่าเหมือนกัน นั่นหมายถึงว่าพระเยซูมาเรียนรู้พุทธศาสนาแล้วรับเอาไปพูดเป็นสำนวนใหม่)


พระพรหมคุณาภรณ์​

ประวัติของพระองค์เต็มไปด้วยอิทธิฤทธิปาฏิหาริย์ โดยสมัยของพระองค์นั้นเป็นสมัยที่โหดร้าย ป่าเถื่อน และอยู่ยากสำหรับคนที่มีความคิดสร้างสรรค์สูง เป็นตัวของตัวเอง และต้องการสร้างและผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

พระองค์เสด็จสั่งสอนผู้คนในบริเวณที่เป็นประเทศอิสราเอลในปัจจุบัน ทว่าสมัยนั้นยังเป็นเมืองขึ้นของจักรวรรดิโรมัน แห่งรัชสมัยจักรพรรดิทิเบริอุส (พระเยซูประสูติในรัชสมัยของจักรพรรดิออกุสตุส บุตรบุญธรรมของจูเลียสซีซ่าร์)

ท่านนำเสนอชีวิตอีกแบบหนึ่ง ให้เป็นทางเลือกสำหรับคนสมัยนั้น โดยมิใช่การปฏิวัติรัฐประหารหรือการลุกขึ้นสู้และยึดอำนาจรัฐแล้วค่อยเปลี่ยนแปลง แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงจากภายใน เปลี่ยนวิถีชีวิตและจิตใจตัวเอง ให้เกิดสันติ ให้รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน เปี่ยมด้วยความรักต่อมวลมนุษย์และสรรพสัตว์ ใจกว้างและมีเมตตากรุณา รู้จักให้อภัย และที่สำคัญคือให้อยู่อย่างมีความหวัง

หวังใน “ความรอด” และโลกหน้า

พระเยซูต่างกับพระพุทธเจ้าตรงที่ท่านประจันหน้ากับอำนาจเหนือและอำนาจบาตรใหญ่แบบตรงๆ ดังนั้น ผมจึงคิดว่าถ้าพระองค์มาประสูตในสมัยนี้ พระองค์ก็คงต้องพบจุดจบแบบนั้นอยู่ดี เพราะสมัยของเราก็โหดร้ายใช่ย่อย แม้จะมีที่ยืนให้กับนักสร้างสรรค์มากกว่าสมัยพระองค์ท่านก็ตาม

แต่การมาเกิด ดำรงอยู่ และตาย (รวมถึงการฟื้นคืนชีพ แล้วขึ้นสวรรค์) ของพระองค์นั่นแหละคือสิ่งที่เรียกว่า “ศาสนาคริสต์” ในเวลาต่อมา (I am the way, the truth, and the life)

พระคัมภีร์ไบเบิ้ลเอง เมื่อเทียบกับพระไตรปิฏกแล้ว ถือว่าคลุมเครือยิ่งกว่ามาก ดังนั้น “ศรัทธา” จึงสำคัญมากสำหรับคริสเตียน

ในความเห็นของผม การจะเริ่มเป็นคริสเตียนนั้นง่ายกว่าการเป็นพุทธมาก เพราะคริสเตียนนั้น เพียงแต่ต้อง “ศรัทธา” และ “รับเชื่อ” เป็นเบื้องแรก เท่านั้นเป็นพอ โดยหลังจากนั้นกระบวนการศึกษาจึงจะเริ่มขึ้นแบบเป็นขั้นเป็นตอน และศรัทธาก็จะแน่นแฟ้นมั่นคงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งระหว่างนั้นถ้าศรัทธาคลอนแคลนก็จะมีคนช่วยหนุนใจให้เป็นระยะๆ


Raphael's The Sistine Madonna

ส่วนพุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาของการใช้เหตุผลค่อนข้างมากแถมยังซับซ้อนด้วยเรื่องจิตและการทำงานของจิตซึ่งเป็นนามธรรมอันลึกซึ้ง ผู้ศึกษาต้องทำความเข้าใจเอาเอง เข้าถึงให้ได้ด้วยตนเอง เป็นศาสนาที่เรียกร้องต่อความตั้งใจและความพยายามของผู้ศึกษาสูงมาก จะเชื่อใครก็หาได้ไม่ และไม่จำเป็นต้องมาเชื่อมาศรัทธาอย่างขาดเหตุขาดผล ดังที่กาลามสูตรเตือนไว้นั้นแล

คำสอนจำนวนมากที่ละเอียด ลึกซึ้ง และครอบคลุมของพุทธเจ้า (และบรรดาสาวกที่ช่วยขยายความหรือให้อรรถาธิบายเพ่ิมเติมในเวลาต่อมา ตลอดระยะเวลาเป็นพันๆ ปี) นี้เอง ที่เป็นอุปสรรคสำหรับคนรุ่นหลัง ซึ่งคิดจะเถียงหรือโต้แย้งกับพระธรรมของพระพุทธองค์

คำสอนของท่านครอบคลุมไปหมดแล้วทุกเรื่อง แม้เรื่องที่ท่านไม่อยากลงรายละเอียด (อย่างปัญหาอภิปรัชญาทั้งหลาย) ท่านก็มีวิธีบอกปัดแบบที่โต้แย้งได้ยาก (เช่น อุปมาอุปไมยเรื่องใบไม้ในมือและใบไม้บนต้น ที่อุปมาอุปไมยว่าเป็น “ความรู้ที่ไม่นำไปสู่ความดับทุกข์”)

โอกาสที่จะ Breakthrough ในสังคมพุทธจึงเป็นไปได้ยาก เรียกว่าต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์สูงมากจริงๆ ถึงจะเอาชนะพระพุทธเจ้าได้

คนฉลาดๆ และบรรดาอัจฉะริยะบุคคลแทบทั้งหมดที่เคยอาศัยอยู่ในดินแดนแถบเอเชียซึ่งพระพุทธศาสนาได้เผยแพร่ไปถึง เมื่อได้ลองศึกษาพุทธศาสนาหรือได้ลองปะทะกับความคิดของพระพุทธเจ้าแล้ว เกือบทั้งหมดก็ยอมสยบให้กับพระพุทธเจ้าโดยสิ้นเชิง


พุทธทาสภิกขุคือตัวอย่างหนึ่งในรอบสองพันห้าร้อยกว่าปีของอัจฉริยะฝ่ายตะวันออกที่ยอมสิโรราบให้กับพระพุทธเจ้า

คนเหล่านั้น ถ้าไม่บวชและช่วยพัฒนาต่อยอดให้กับพระศาสนาทั้งในเชิงปรัชญาและแนวปฏิบัติและในเชิงเผยแพร่ ก็กลายเป็นผู้เชื่อถือศรัทธา และส่งเสริมสนับสนุนให้คำสอนของพระพุทธเจ้ายังคงทรงอิทธิพลสืบไป

โอกาสที่จะ “คิดแย้ง” จึงเป็นไปได้ยาก

อย่าว่าแต่ “เอาชนะ” หรือ “ลบล้าง” แล้ว “สร้างเป็นองค์ความรู้ใหม่” นั้นยิ่งเป็นไปไม่ได้เลย แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า 2500 ปีแล้วก็ตาม

มันเป็น Paradox ของการพัฒนาเชิงความคิดของมนุษย์

คือ “ความคิดสร้างสรรค์ที่สูงมากอย่างยิ่งยวด” ในอดีต กลับปิดกั้นมิให้เกิดนวัตกรรมทางความคิดอีกเลยหลังจากนั้น

ตามความเข้าใจของผม ผมคิดว่ามีเหตุมาจาก การที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบแก่นแท้ของธรรมชาติอย่างถึงที่สุดแล้ว และการค้นพบนั้นค่อนข้างครอบคลุมในประเด็นสำคัญที่จำเป็นและเพียงพอต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ไว้ก่อนแล้ว ดังนั้น จึงไม่เหลือพื้นที่ปริศนาให้คนรุ่นหลังค้นพบได้อีก

ความคิดสร้างสรรค์ขั้นสูงของพระพุทธองค์ที่ก่อให้เกิดความรู้อันสมบูรณ์ในทัศนะของชาวพุทธ กลับเป็นอุปสรรคต่อนวัตกรรมเชิงความคิดของคนรุ่นหลัง

ต่างกับวิทยาศาสตร์ที่บรรดาอัจฉะริยะบุคคลของตะวันตกได้ค้นพบความจริงของวัตถุและธรรมชาตินั้น มันเป็นการค้นพบทีละส่วนทีละเสี้ยว ทำให้เกิดการต่อยอดหรือไม่ก็คิดแย้งเพื่อหาข้อสรุปใหม่ได้ตลอดเวลา 

ซึ่งถ้าใครศึกษาประวัติของความคิดทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญๆ ก็จะเห็นประเด็นนี้ได้ชัด ทั้งในเชิงดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ และล่าสุดที่กำลังมาแรงในปัจจุบันคือ Biotechnology และ Genetic Science และ Molecular Biology

แม้แต่ความคิดในเชิงปรัชญาของปราชญ์และบรรดาอัจฉริยะบุคคลของตะวันตกนับแต่แต่พวกยิว กรีก โรมัน และยุโรป ก็หามีผู้ใดที่สามารถครอบงำหรือมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อนักคิดรุ่นหลังอย่างเบ็ดเสร็จได้ (ในแบบที่พระพุทธเจ้ามีอิทธิพลต่อนักคิดรุ่นหลังในเอเชีย)

แม้แต่สดมภ์หลักของระบบคิดแบบตะวันตกที่มีอิทธิพลอย่างมากต่ออัจริยะทั้งหลายในรอบสองพันกว่าปีมานี้คือ เพลโต และ อริสโตเติล ยังคิดไปคนละทาง แม้จะเป็นอาจารย์ลูกศิษย์กัน และความคิดที่ขัดแย้งกันสองแนวทางนั้นเอง ที่ได้ช่วยสร้างพลวัตของระบบคิดแบบตะวันตกให้พัฒนามาจนกระทั่งบัดนี้

พัฒนาการเชิงแนวคิดของสังคมตะวันตกจึงมีลักษณะ “กระทบไหล่” กันอยู่ตลอดเวลา และนวัตกรรมมักจะเกิดขึ้นเสมอเป็นระยะๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถึงจุดหักเหที่นักคิดรุ่นใหม่สามารถสั่นคลอนและ “โค่น” เสาหลักหรือสดมภ์หลักในอดีตลงได้ โดยอาศัยเหตุผลเป็นเครื่องมือ เช่นเมื่อ Copernicus, Kepler, และ Galileo ปฏิเสธอริสโตเติล หรือ Descartes ปฏิเสธเปลโต หรือ Kant บอกให้เดินสายกลาง หรือ Nietzsche ปฏิเสธพระเจ้า และ Marx ปฏิเสธ Adam Smith และบรรดานักเศรษฐศาสตร์คลาสสิก และคิดว่าตัวเองสามารถค้นพบความลับหรือกฏเกณฑ์ตายตัวของประวัติศาสตร์และเปิดโปงมันออกมา โดยอาศัยการประยุกต์ใช้วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

เรื่องนี้มีส่วนอย่างมากต่อวิวัฒนาการสองแนวทางของโลกทัศน์แบบตะวันตกและตะวันออก ซึ่งครอบคลุมไปถึงการพัฒนาองค์ความรู้ การจัดการผลิต การสร้างนวัตกรรม การสร้างสินค้าและบริการ สถาบันทางสังคม/การเมือง และไลฟ์สไตล์

และมีส่วนอย่างมากในการกำหนดความ “ก้าวหน้า” และ “ล้าหลัง” ของอารยธรรมในแต่ละช่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลายร้อยปีมานี้

ส่วนว่าผู้ใดจะคิดว่าใครก้าวหน้า ใครล้าหลัง ช่วงไหนใครวิ่งนำหน้า และใครวิ่งไล่กวด ก็สุดแท้แต่ความเห็นของตน

ผมคิดว่ามันไม่ใช่เรื่อง “ดี” “เลว” “ถูก” “ผิด”

ทว่ามัน “เป็นมาของมันแบบนั้น" และ “เป็นเช่นนั้นเอง”


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
พ.ค. 2557
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือน พ.ค. 57


คลิกอ่านบทความในชุดเดียวกันนี้จากลิงค์ข้างล่าง


"ฉันเบื่อเธอ" ปัญหาของธุรกิจการตลาดยุคใหม่: ว่า
ด้วย Schopenhauer & Maslow

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น