วันพฤหัสบดีที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2557

“ฉันเบื่อเธอ" ! ศัตรูที่มองไม่เห็นของธุรกิจเศรษฐกิจยุคใหม่ : ว่าด้วย Schopenhauer & Maslow



Warren Buffet เพิ่งจะพูดเมื่อต้นเดือนนี้ในงานประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นประจำปีของ Berkshire Hathaway ที่เมือง Omaha เกี่ยวกับ "รถยนต์ไร้คนขับ" ผลิตภัณฑ์ใหม่ของ Google ซึ่งคาดว่าจะนำออกจำหน่ายให้กับคนทั่วไปได้ในเร็ววันนี้ว่า มันจะเป็นภัยคุกคามต่อธุรกิจประกันภัยรถยนต์ในอนาคต

นั่นหมายความว่า หากรถยนต์ไร้คนขับเกิดได้รับความนิยมขึ้นมาจนมีนำ้หนักพอให้ผู้ผลิตในโลกหันมาผลิตรถแบบนี้กันหมด ธุรกิจประกันภัยรถยนต์ก็อาจต้องแสวงหา Business Model ใหม่ ในการรับมือกับโครงสร้างอุตสหกรรมใหม่และสถานการณ์อุบัติเหตุที่อาจจะพลิกแพลงไปในแบบที่เราไม่เคยรู้จักกันมาก่อน

อุบัติเหตุบนท้องถนนอาจลดน้อยลงมากหรือเกือบจะเป็นศูนย์ และถึงมีก็อาจไม่มีคู่กรณี อีกทั้งการโจรกรรมรถยนต์ก็เป็นไปได้ยากมาก ที่สำคัญคือกฎหมายที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเทศ แต่ละรัฐ ที่จะกำหนดว่าใครถูกใครผิดในแต่ละกรณีหากเกิดอุบัติเหตุ ก็ยังหาความชัดเจนไม่ได้

แม้แต่สิงห์เฒ่าอย่าง Buffet ยังแสดงความกังวลออกมาดังๆ ให้ได้ยินกันทั่ว
เพราะเรื่องพรรค์นี้ ประมาท Google ไม่ได้

Google เคยสร้างปรากฎการณ์ประเภท Disruptive Product และ Disruptive Business Model มาแล้วจาก Search Engine ของตน จนทำให้อุตสาหกรรมสื่อสารมวลชนและ Entertainment ทั่วโลกต้องปรับตัวขนานใหญ่อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

หนังสือพิมพ์ทะยอยเจ๊งหรือไม่ก็ลดขนาดลงเพราะสูญเสียคนอ่านและคนลงโฆษณา สำนักข่าวออนไลน์ยักษ์ใหญ่เกิดใหม่ในชั่วข้ามคืน วิทยุกับนิตยสารอยู่ได้แต่ก็ไม่อู้ฟู่เหมือนแต่ก่อน แม้แต่โทรทัศน์ก็กำลังหาที่ทางใหม่ให้กับตัวเองแบบขมักเขม้น มิฉะนั้นพวกเขาอาจพบจุดจบแบบหนังสือพิมพ์

เหล่านี้ล้วนเป็นผลพวงจากอินเทอร์เน็ตโดยมี Google และ YouTube และ Android เป็นตัวพลิกเกม



พวกเราจำได้เสมอว่า เมื่อสักยี่สิบปีมาแล้ว ตอนที่เริ่มมีการบริโภคข่าวสารออนไลน์กันบนหน้าจอใหม่ๆ ในต่างประเทศ เจ้าของหนังสือพิมพ์และนิตยสารใหญ่ๆ ของไทย (และเทศ) เคยออกมาพูดพ้องกันเสมอว่า ถึงอย่างไรพวกเขาก็ไม่เชื่อว่าคนจะหันไปอ่านหนังสือกันบนหน้าจอ 

โดยพวกเขามักอ้างเหตุผลว่าการอ่านบนจอมันไม่สะดวก ทั้งแสบตาและไม่สามารถพกติดตัวได้ (เพราะสมัยนั้นคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปยังไม่แพร่หลาย บางคนที่นิยมนำหนังสือพิมพ์ไปอ่านเวลาปลกทุกข์ ถึงกับยกตัวอย่างเชิงเย้าแหย่อยู่เสมอว่า "เอาคอมพิวเตอร์เข้าไปอ่านในส้วมไม่ได้")

ต่อมาเมื่อคนไทยเริ่มอ่านข่าวสารและบทความทางอินเทอร์เน็ตกันบ้างแล้ว (ประมาณปี 2537-2538) เจ้าของและสื่อมวลชนใหญ่ๆ ของไทย ก็ยังยืนยันความคิดเดิม

แม้กระทั่งเดี๋ยวนี้ที่อินเทอร์เน็ตแพร่หลายอย่างกว้างขวาง และการบริโภคข่าวสารได้ย้ายไปบนอินเทอร์เน็ตอย่างมีนัยะสำคัญแล้ว สื่อมวลชนใหญ่ๆ บางคนก็ยังคงกล่าวกับเราว่า "การอ่านหนังสือและสัมผัสกระดาษ ยังคงมีเสน่ห์ของมันอยู่" และยังแสดงความไม่เชื่อว่าหนังสือจะตาย

ทว่า ทุกส่ิงล้วนอนิจจัง!

สถานการณ์มันเปลี่ยนเมื่อคนรุ่นใหม่คิดและชอบไม่เหมือนคนรุ่นเดียวกับบรรดาเจ้าของหนังสือและสื่อมวลชนยักษ์ใหญ่เหล่านั้น

ประกอบกับการประดิษฐ์เครื่องมือการอ่าน (และการดู) แบบใหม่ที่ช่วยให้อ่านบนหน้าจอได้สะดวกขึ้นแยะ (และนำเข้าส้วมได้ด้วย) เช่น iPad, Kindle, และ Smart Phone

เผลอแป๊บเดียว อะไรๆ ก็กลับหัวกลับหาเสียแล้ว โอกาสที่จะพลิกตัวของผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมเป็นไปได้ยาก เพราะไม่ได้ทำแต่เนิ่นๆ

พวกเขาต้องขมขื่นที่เห็นคนอ่านและคนดูจากไปอย่างช้าๆ

ที่เจ็บปวดและน่าปวดหัวคือ ลูกค้าหรือผู้บริโภคเหล่านั้นจากไปแบบไม่บ่นหรือไม่ก่นด่าเลยแม้แต่น้อย

พวกเขาไม่ได้จากไปเพราะคุณภาพของสื่อหรือข่าวสารและบทวิเคราะห์และความเห็นของสื่อเก่าด้อยลง หรือเพราะความงาม Graphic และวิธีนำเสนอแย่ลง

เปล่า! พวกเขาไปเพราะเหตุอื่น

ในยุคอินเทอร์เน็ตที่เปิดทางให้ผู้บริโภคมีทางเลือกเยอะขึ้นชนิด "เกือบจะไม่จำกัด" แบบทุกวันนี้ เรามักเห็นผู้ประกอบการที่เคยลงตัวอยู่แล้วต้องปรับตัว

ไม่เว้นกระทั่งเจ้าตลาด

แม้แต่ Luxury Brand ก็เกิดปัญหา

แรกๆ พวกเขาก็ไม่เข้าใจ ว่าทำไมลูกค้าที่เคยภักดี มาทะยอยตีจากพวกเขาไป โดยไม่ติไม่บ่นให้ได้ยินเลยแม้แต่คำเดียว

เมื่อทำวิจัยเชิงลึกดู ก็พบว่าลูกค้ายังคงพอใจกับคุณภาพและบริการอยู่เหมือนเดิม และเมื่อให้ลูกค้าระบุข้อด้อยของสินค้าบริการหรือว่ากล่าวหรือตำหนิติเตียน ลูกค้าที่จากไปเหล่านั้นก็นึกไม่ออกเลยว่าจะตำหนิตรงไหน

พวกเขาจากไปเฉยๆ !

โอ้ว! มันเป็นปัญหาแบบ Post-Modern


"ความเบื่อ" คือรากเหง้าของปัญหาสมัยใหม่

การจะเข้าใจปัญหาของผู้บริโภคสมัยใหม่ เพื่อหาทางรับมือกับปัญหานี้ เราจะต้องหันกลับไปทำความเข้าใจกับความคิดและจิตวิทยาของผู้คนสมัยนี้อย่างลึกซึ้ง

Passion ของพวกเขามีหน้าตาเป็นอย่างไร? เราจะ Organize ความต้องการของเขาให้สอดคล้องกับของเราได้อย่างไร? และจะสื่อสารกับเขาแบบไหน? ฯลฯ

ความรู้แหล่งสำคัญซึ่งผู้บริหารและผู้ประกอบการตลอดจนนักการตลาดสมัยใหม่ควรต้องหันกลับไปพึ่งพาปรึกษาหารือ คือความคิดของปราชญ์

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ในธรรมขั้นสูงสุด อริยสัจ 4 ว่านอกจาก "สภาวทุกข์" ที่มนุษย์ทุกคนล้วนต้องเผชิญถ้วนหน้ากันคือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย แล้ว มนุษย์ยังต้องเผชิญกับ "ปกิณณกทุกข์" คือทุกข์จร ทุกข์ที่จรมาเป็นครั้งคราว ได้แก่ ความเศร้าโศก ความพร่ำเพ้อรำพัน ความไม่สบายใจ ความน้อยใจ ความคับแค้นใจ ความประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบ ความพลัดพรากจากสิ่งที่ชอบ และความผิดหวังไม่ได้ตามที่ต้องการ



Arthur Schopenhauer ปราชญ์เยอรมันยุคต้นรัตนโกสินทร์ซึ่งได้รับอิทธิพลจากการอ่านคำสอนของพระพุทธเจ้า และได้เขียนวิเคราะห์จิตใจมนุษย์ไว้หลายชิ้น 

เขาให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า เหตุที่มนุษย์เป็นทุกข์นั้นมิได้เกิดจากการที่เรามิได้ครอบครองสิ่งที่เราต้องการหรือสิ่งที่เราปรารถนา (Desire) แต่เพียงด้านเดียวเท่านั้น ทว่า ความทุกข์ยังเกิดจากการที่เราไม่มีความปรารถนา (หรือหมดความปรารถนา) ต่อสิ่งที่เรามีอยู่ครอบครองอยู่ ด้วยเช่นกัน

เราเรียกความรู้สึกนั้นว่า "ความเบื่อหน่าย" หรือ Boredom

ในบทความชื่อ On the sufferings of the world เขากล่าวไว้อย่างน่าสนใจในสมัยนั้นว่า 

Certain it is that work, worry, labor and trouble, form the lot of almost all men their whole life long. But if all wishes were fulfilled as soon as they arose, how would men occupy their lives? what would they do with their time? If the world were a paradise of luxury and ease, a land flowing with milk and honey, where every Jack obtained his Jill at once and without any difficulty, men would either die of boredom or hang themselves; or there would be wars, massacres, and murders; so that in the end mankind would inflict more suffering on itself than it has now to accept at the hands of Nature.”

ผมขอถอดความข้อความข้างต้นที่ผมเน้นขีดเส้นใต้ว่า "...แม้นว่าปรารถนาทุกปรารถนาได้รับสนองทันทีที่มนุษย์เราเกิดความอยาก แล้วมนุษย์จะดำเนินชีวิตต่อไปเช่นไรเล่า? พวกเขาจะใช้เวลาที่เหลือกันอย่างไรดี? ก็ในเมื่อโลกมนุษย์นั้นไซร้ เป็นสวรรค์บนดินที่อุดมไปด้วยสิ่งปรนปรือต่างๆ นาๆ คิดอะไรก็ได้มาโดยง่าย อยากได้อะไรก็ได้ตามใจปรารถนาในทันที บรรดามนุษย์ทั้งหลาย ถ้าไม่ตายเพราะความเบื่อหน่ายก็คงจะพากันแขวนคอตาย....”



เขายังกล่าวต่ออีกว่า If we carry our analysis a step farther, we shall find that, in order to increase his pleasures, man has intentionally added to the number and pressure of his needs, which in their original state were not much more difficult to satisfy than those of the brute. Hence luxury in all its forms; delicate food, the use of tobacco and opium, spirituous liquors, fine clothes, and the thousand and one things than he considers necessary to his existence.”

ผมขอถอดความทั้งย่อหน้าว่า "ถ้าเราลองวิเคราะห์ต่อไปอีกชั้นหนึ่ง เราจะพบว่า หากมนุษย์ต้องการเพิ่มความพึงพอใจให้กับตัวเอง เขาจำต้องเพิ่มจำนวนและดีกรีของความอยากให้ละเมียดขึ้น ให้เหนือกว่าความต้องการพื้นๆ ตามธรรมชาติที่เหมือนกับสัตว์ทั่วไป (ผู้เขียนหมายถึงความต้องการพื้นฐานที่สมัยนี้เราเรียกเป็นภาษาแบบบ้านๆ ว่า "กิน ขี้ ปี้ นอน”) ดังนั้น บรรดาสิ่งฟุ่มเฟือและฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมทั้งหลายย่อมจำเป็นต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ด้วย ไม่ว่าจะเป็น ยาสูบและฝิ่น (สมัยโน้นยังเป็นสินค้าราคาแพงสำหรับคนชั้นสูง) เหล้าชั้นดี เสื้อผ้าอาภรณ์อย่างปราณีต และอื่นๆ อีกร้อยแปด"

ความคิดแบบนี้ ถ้ามาฟังในสมัยนี้ก็ดูเหมือนเป็นความคิดพื้นๆ แต่ในสมัยนั้น ถือว่าน่าสนใจมาก เพราะอย่าลืมว่าอุตสาหกรรม Luxury Product Industry และบรรดา Luxury Brand สำคัญๆ ของโลกนั้น เพิ่งจะเกิดมาได้สักร้อยกว่าปีมานี้เอง

และผมว่าความคิดแบบ Schopenhauer วรรคนี้แหละที่ทำให้ผู้ประกอบการและนักธุรกิจและนักการตลาดของฝรั่งยุคหลังจากเขานำไปขบคิดเพื่อสร้างสินค้าและบริการประเภท Luxury ขึ้นมาในโลก เพื่อตอบสนองความต้องการอันละเมียดของมนุษย์ที่คิดว่าตัวเองมีอย่างอื่นเพรียบพร้อมแล้วนั่นเอง

เขายังพูดถึงความปรารถนาที่สูงขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งของมนุษย์ คือความพอใจทางปัญญา ซึ่งมีตั้งแต่การถกเถียงพูดคุยและได้รู้เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ได้จนถึงความสำเร็จทางปัญญาที่ยิ่งใหญ่ (เช่นการค้นพบทางวิทยาศาสตร์หรือการสร้างสรรค์งานวรรณกรรม กวี คีตกรรม เป็นต้น)

เขากล่าวไว้ว่า It is true that besides the sources of pleasure which he has in common with the brute, man has the pleasures of the mind as well. These admit of many gradations, from the most innocent trifling or the merest talk up to the highest intellectual achievements;.....”

นั่นเป็นข้อความที่เขียนไว้ก่อน Maslow จะคิดค้น Hierarchy of Needs ที่นักธุรกิจและนักการตลาดสมัยนี้รู้จักกันดีถึงร้อยกว่าปี

ยิ่งไปกว่านั้น Schopenhauer ยังได้พูดถึงความสุขและความพอใจของมนุษย์ที่เกิดจากความคาดหวัง หวังว่าจะได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ และในระหว่างที่ไขว่คว้าให้ได้มานั้น ก็จะมีความสุขไปพร้อมกับ (ความสุขที่เกิดจากความหวังว่าจะได้ครอบครอง) แต่เมื่อได้สิ่งนั้นมาครอบครองแล้วจริงๆ มนตร์ขลังของมันก็จะค่อยๆ หายไป ทำให้ความพอใจลดลงด้วย

เขาเขียนไว้ว่า "The delight which a man has in hoping for and looking forward to some special satisfaction is a part of the real pleasure attaching to it enjoyed in advance. This is afterwards deducted; for the more we look forward to anything, the less satisfaction we find in it when it comes.”

นั่นแหละที่เราต้องพบกับ "ความเบื่อ" เพราะในความพอใจนั้น มันจะมีความเบื่อเป็นด้านตรงข้ามกันเสมอ และความเบื่อนี่เองที่เป็นสาเหตุแห่งความทุกข์อย่างหนึ่งของมนุษย์

โดยที่ความเบื่อนี้ มนุษย์เท่านั้นที่ต้องเผชิญ สัตว์จะไม่รับรู้ถึงความเบื่อ (นอกจากสัตว์ที่ถูกนำมาฝึกให้ฉลาดบางตัว) แต่สำหรับมนุษย์นั้น ความเบื่อคือแส้ที่คอยหวดมนุษย์อยู่ก็ไม่ปาน 

และสำหรับมนุษย์ผู้ที่มุ่งแต่วัตถุหรือสะสมความร่ำรวยแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่สนใจความพึงพอใจทางปัญญาเลยนั้น ก็ย่อมจะต้องพานพบกับความเบื่อหน่าย โดยที่ความมั่งคั่งของพวกเขาจะกลายเป็นทุกขลาภ เป็นความว่างเปล่า ไม่รู้จะทำอะไร จนเขาต้องหาทางหนีมัน เขาจะเดินทางไปที่นั่นที่นี่ แต่สุดท้ายก็พบว่ามันคงว่างเปล่าและไม่ได้คำตอบที่ไขว่คว้า

เขากล่าวว่า ...but there is the accompanying boredom to be set against them on the side of suffering. Boredom is a form of suffering unknown to brutes, at any rate in their natural state; it is only the very cleverest of them who show faint traces of it when they are domesticated; whereas in the case of man it has become a downright scourge. The crowd of miserable wretches whose one aim in life is to fill their purses but never to put anything into their heads, offers a singular instance of this torment of boredom. Their wealth becomes a punishment by delivering them up to misery of having nothing to do; for, to escape it, they will rush about in all directions, traveling here, there and everywhere. No sooner do they arrive in a place than they are anxious to know what amusements it affords; just as though they were beggars asking where they could receive a dole! Of a truth, need and boredom are the two poles of human life.” 

(หมายเหตุ: ผมอ้างอิงข้อความภาษาอังกฤษจาก The Essays of Arthur Schopenhauer: A Study of Pessimism แปลจากเยอรมันเป็นอังกฤษโดย T. Bailey Saunders ใน An Electronic Classics Series Publication โดยท่านผู้อ่านที่สนใจฉบับเต็มก็สามารถคลิกดูได้ที่ www2.hn.psu.edu/faculty/jmanis/schopenhauer/schopenhauer-4.pdf)



ในปัจจุบัน เรามีคำที่น่าสนใจว่า PERFECTION ANXIETY”

ผมเพิ่งอ่านบทความใน Vanity Fair ฉบับล่าสุดไปหมาดๆ ที่ผู้เขียนซึ่งสัมผัสกับแวดวงอภิมหาเศรษฐีของโลกจำนวนมาก ได้กล่าวถึงความเบื่อหน่ายของบรรดา Super Rich เหล่านั้นว่าหลังจากพวกเขามีเงินมากจนถึงจำนวนหนึ่งๆ แล้ว "Money stop working” 

และหลังจากที่พวกเขามีคฤหาสน์แล้ว 15 หลัง มีเรือยอชจ์ทอดสมออยู่ใน 3 มหาสมุทรแล้ว มีเครื่องบินส่วนตัว มีห้องสมุดชั้นเลิศ มีห้องเก็บไวน์สุดแพง มีแพทย์ส่วนตัว มีบริวารจำนวนมาก แถมยังมีมูลนิธิส่วนตัวแล้ว พวกเขาส่วนใหญ่ก็ยังไม่พอใจแค่นั้น พวกเขายังต้องจับจ่ายอีก เพื่ออัพเกรดให้สิ่งที่พวกเขามีอยู่เหล่านั้น Perfect ยิ่งขึ้น

นัยว่าอภิมหาเศรษฐีเหล่านี้ยังคงไม่พอใจในส่ิงที่ตัวเองมีอยู่ ดังนั้น เขาจึงต้องประมูลซื้อภาพเขียนหรืองานศิลปะของศิลปินที่มีชื่อเสียงกว่าเดิม แพงกว่าเดิม มีเรือยอชจ์ที่ใหญ่กว่าเดิม หรูหรากว่าเดิม และมีไวน์ที่หายากกว่าเดิม ฯลฯ
(หมายเหตุ: ผู้อ่านที่สนใจอ่านฉบับเต็ม คลิกอ่านได้ที่ www.vanityfair.com/society/2014/05/super-rich-perfection-anxiety)



กลยุทธ์เอาชนะความเบื่อ

Schopenhauer ช่วยให้เราเข้าใจรากเหง้าของปัญหาได้กระจ่างขึ้น

เราทุกข์เพราะเราหมดความปรารถนาในสิ่งที่เรามีนั่นเอง

แน่นอน นอกจากปัญหาเชิงการตลาดของ Luxury Brands ที่สูญเสียลูกค้าโดยไม่ทราบสาเหตุนั้นแล้ว แนววิเคราะห์ของ Schopenhauer อันนี้ ยังสามารถใช้อธิบายกับปัญหาปัจจุบันได้อีกหลายเรื่อง เช่น ปัญหาเมียน้อย ปัญหาคอรัปชั่น ปัญหาความไม่รู้จักพอของเจ้าสัวบางคนที่ทำธุรกิจโดยเอาเปรียบผู้บริโภค และความไม่รู้จักพอของนักการเมือง ฯลฯ

Schopenhauer ให้ทางออกไว้ง่ายๆ ว่า มนุษย์ต้องจัดระเบียบชีวิตและความปรารถนาของตัวเองเสียใหม่ เพื่อให้เราเกิดความปรารถนาในสิ่งที่เรามีอยู่และครอบครองอยู่

เพียงเท่านี้ มนุษย์ก็จะเกิดความพอใจและมีความสุข

ปัญหาของ Boring Brands จึงแก้ไขได้ด้วยความคิดอันนี้เช่นเดียวกัน

ในเมื่อคุณภาพทุกอย่างอยู่ครบครัน ความเบื่อหน่ายของผู้บริโภคย่อมเป็นปัจจัยหลักที่พวกเขาตัดสินใจหันหลังให้เรา



Abraham Maslow ซึ่งอ่านงานของ Schopenhauer และได้ต่อยอมความคิดของปราชญ์ท่านนั้นออกไปในเชิงการวิเคราะห์เจาะลึกหน้าตา "ความอยาก" ของมนุษย์ ช่วยให้เราเข้าใจความอยากของมนุษย์ได้ละเอียดยิ่งขึ้นไปอีก โดยเขียนเป็นปิรามิดให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจและนำไปใช้ในเชิงการจัดการและการตลาด

"ปิรามิดแห่งความอยากของมาสโลว์" หรือ Maslow's Hierarchy of Needs ช่วยให้เราจัดการแก้ปัญหา Boring Brand ได้ง่ายขึ้น

ช่วยให้เรารู้ว่า เราจะ Re-design Product หรือ Services ของเราใหม่ได้อย่างไร หรือจะต้องปรับเติมเสริมแต่ง เพิ่ม Features ใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการแต่ละขั้นของผู้บริโภคที่เปลียนแปลงไป และเราจะสื่อสารกับพวกเขาด้วยข้อความและช่องทางใหม่ๆ ได้อย่างไร ประเด็นใดถึงจะ "คลิก" และ "ใช่เลย" โดย Package การนำเสนอแบบใหม่ควรเป็นเช่นไร ฯลฯ

ผมอยากจะอ้างข้อเขียนของตัวเองที่เคยเขียนถึง Maslow ไว้นานมาแล้วว่า "แน่นอนว่า มนุษย์ปุถุชนส่วนใหญ่ ที่ยังไม่บรรลุมรรคผลนิพพาน ย่อมมี ความอยาก” ด้วยกันทั้งนั้นแหละ ทั้งอยากกินโน่น กินนี่ อยากเป็นโน่น เป็นนี่ อยากมีโน่น มีนี่ อยากมีเงินมีทอง อยากร่ำอยากรวย อยากสวยอยากงาม อยากรู้อยากฉลาด อยากเด่นอยากดัง อยากมีอำนาจวาสนา มีบริษัทบริวาร ไปไหนคนรักคนหลง คนยกย่องกราบกราน......และเมื่อมีแล้ว ก็อยากจะมีมากและถี่ขึ้นไปอีก เพื่อทำลายสถิติเดิม.........แต่พอมีครบหมดทุกอย่างแล้ว อิ่มตัวแล้ว สถิติเดิมก็ทำลายจนเบื่อแล้ว ก็ยังอยากกลับมาเป็นคนธรรมดา ใช้ชีวิตสามัญ เรียบง่าย ติดดิน เป็นต้น

นี่แหละหนอ กิเลสมนุษย์

เจ้าชายสิทธถะแห่งอินเดียก็เคยคิดตรึกตรอง สำรวจใจตัวเอง ในเรื่องพวกนี้มาก่อน และก็ “คิดออก” มานานแล้ว เพียงแต่พวกฝรั่งส่วนใหญ่ไม่เคยรู้

แต่มาสโลว์เข้าใจเรื่องนี้ดี (อันที่จริง เขาสนใจอ่านงานของเต๋า” และ เซ็น” ตลอดจนงานของ กฤษณะมูรติ มานาน เขาจึงน่าจะเคยสัมผัสกับความคิดของพระพุทธองค์มาก่อนแล้ว) และเขาก็นำเสนอมันออกมาแบบง่ายๆ แบบ How-to พร้อมกับบอกว่าเราจะสามารถเอาประโยชน์จากความเข้าใจแบบนี้ได้อย่างไร

เมื่อรู้หรือเข้าใจแล้ว มาสโลว์กลับไปกันคนละทางกับพระพุทธเจ้า คือเขากลับนำเอาความรู้ความเข้าใจใน กิเลส” หรือ ความอยาก” ของมนุษย์นั้น มาใช้ให้เป็นประโยชน์ ต่อการ ชักจูง” หรือ จูงใจ” ให้มนุษย์ทำโน่น ทำนี่ หรือ ละเว้น โน่น ละเว้นนี่ เพื่อสนองความอยาก คือให้เกิดความ พอใจ” ในแต่ละช่วงของความอยาก หรือแต่ละลำดับขั้นแห่งความอยากนั้น เสียเอง

เรียกว่า เอาความเข้าใจเรื่อง ความอยาก” ของมนุษย์นั้นเอง มาเป็นประโยชน์ในการ Design กลยุทธ์การให้ผลตอบแทนหรือผลประโยชน์ เพื่อ ชักจูง” หรือ หันเห” พฤติกรรมของผู้คน โดยการหาอะไรมาสนองความอยากนั้น ให้เกิด “ความพอใจ” หรือพึงใจ” หรืออิ่มใจ”...


มาสโลว์รู้ว่า มีมนุษย์บางคนที่ไปพ้นความต้องการพื้นฐาน แล้วก็สามารถบรรลุถึงศักยภาพที่แท้จริงแห่งตนได้ เขาจึงเริ่ม Observe ชีวิตของคนเหล่านั้นจำนวนมาก ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่และตายไปแล้ว เขารู้อีกว่า ถ้าคนแบบนี้มีจำนวนมากขึ้น รูปแบบของสังคมและจิตวิทยาของสังคมก็จะเปลี่ยนไปด้วย 

เขากล่าวคำพูดประโยคหนึ่งในสมัยนั้นที่ทันสมัยมาก คำกล่าวนี้ สามารถอธิบายความอยากของมนุษย์ยุคปัจจุบันได้อย่างถึงกึ๋น ถ้าจะว่าแบบภาษาสมัยใหม่ ก็ต้องว่า มันช่างเป็น Post-modern เสียนี่กระไร 

นักบริหารและนักการตลาดสมัยใหม่ทุกคน ถ้าไม่เข้าใจเรื่องแบบนี้ ย่อมไม่เข้าใจยุคสมัย และต้องตกยุคเป็นแน่

เขาว่า “มนุษย์ผู้สามารถบรรลุถึงศักยภาพแห่งตนส่วนใหญ่ สนใจในความลึกลับ ความแปลกใหม่ ความเปลี่ยนแปลง ความไร้ระเบียบ และชอบที่จะดำรงชีวิตอยู่กับมัน ว่าไปทำไมมี ก็สิ่งเหล่านี้แหละที่มันทำให้ชีวิตของพวกเขาตื่นเต้น คนเหล่านั้นเขาเบื่อกับอะไรที่มันเดิมๆ ไร้สีสัน เบื่อกับเรื่องที่คาดการณ์ได้ กับการที่ต้องติดยึดอยู่กับอะไรนานๆ หรือภาวะไร้การเปลี่ยนแปลง......พูดง่ายๆ คือมนุษย์ทุกคนเกลียดความเบื่อ”

(“Self-actualizing people are attracted to mystery, to novelty, change, flux, and find all of these easy to live with.  As a matter of fact, these are what make life interesting.  These people tend to be easily bored with monotony, with plans, with fixity, with lack of change………Practically all people hate being bored”)...” 

(ผมจะไม่ขอกล่าวถึงงานของ Maslow โดยละเอียดในทีนี้ เพราะผมเคยเขียนถึงชีวิตและงานของเขาไว้ที่อื่นแล้ว ผู้สนใจสามารถหาอ่านได้ในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนเมษายน พ.2551)

ที่กล่าวมานั้น เป็นเพียงกรณีศึกษาเรื่องหนึ่งที่คนรุ่นเราจะได้รับจากคุณค่าแห่งภูมิปัญญาดั้งเดิมของปราชญ์รุ่นก่อน ซึ่งถือเป็นขุมทรัพย์อันมีค่า ที่รอคอยให้เรากลับไปหาและนำมาต่อยอด

ถ้าผู้อ่านชอบใจกับบทความแนวนี้ ผมและทีมงานจะได้กลับไปขุด ไปเจาะ ไปวิเคราะห์เพิ่มเติม แล้วนำมาแบ่งปันกันในโอกาสต่อไป

สุดท้ายนี้ ผมขอให้ท่านผู้อ่านพอใจกับวิถีชีวิตของตน และมีความสุขกับสินทรัพย์และเครือข่ายที่ตนครอบครองอยู่ Enjoy กับมัน และยังคงแบ่งปัน Passion ให้กับมันอย่างลุ่มหลงเมื่อตื่นขึ้นมาในเช้าวันใหม่ ทุกๆ วัน

ที่สำคัญ รักแฟนคนปัจจุบันให้มากๆ

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
10 พ.ค. 2557
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือน พ.ค. 2557

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น