วันพุธที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2558

คู่มือสร้าง "ความเชื่อมั่น"



ผู้นำทุกคนรู้อยู่แก่ใจว่า "ความเชื่อมั่น" สำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ทว่า น้อยคนเท่านั้น ที่สามารถ "สร้าง" ความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นได้สำเร็จแบบตลอดรอดฝั่ง

ถ้าปราศจากความเชื่อมั่น แม้ว่านโยบายหรือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะดีและดูเข้าท่าถูกหลักการแค่ไหนก็ตาม ผลลัพธ์ที่ได้มักจะน่าผิดหวัง

หกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ประกาศออกมาแล้วและกำลังจะผ่านคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการในไม่ช้านั้น หากว่าไม่มีเชื้อของความเชื่อมั่นในหมู่ประชาชนเป็นตัวหนุนส่ง ก็ยากที่จะจุดไฟเศรษฐกิจให้ลุกโชนขึ้นได้

เพราะถ้าคนไม่เชื่อมั่น พวกเขาที่เป็นคนทั่วไปก็จะยังไม่กล้าจับจ่ายเต็มที่ ส่วนพวกที่เป็นนักธุรกิจและนักอุตสาหกรรมก็จะไม่ยอมตัดสินใจลงทุนเพิ่มในทันที สถาบันการเงินก็จะนั่งทับเงินไว้เฉยๆ ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อในโครงการที่ควรได้รับในเวลาปกติ และยิ่งช่วงนี้ เศรษฐกิจโลกชะลอตัว การส่งออกตกต่ำ ดังนั้น ถ้าการบริโภคและการลงทุนชะงักหรือกระเตื้องน้อยหรือช้า เศรษฐกิจภาพรวมและรายได้ย่อมแย่ตาม

ตรงกันข้าม หากมาตรการเหล่านั้นมาพร้อมกับความเชื่อมั่น หรือสามารถจุดประกายแห่งความเชื่อมั่นได้ ต่างคนต่างมั่นใจในอนาคต พวกเขาก็พร้อมจับจ่ายเต็มที่ การลงทุนย่อมเกิด เงินจะสะพัด หมุนไปในระบบเศรษฐกิจอีกหลายรอบด้วยสปีดที่น่าพอใจ ภาวะเศรษฐกิจที่กำลังย่อบแย่บย่อมพลิกผันเติบโตกระปรี้กระเปร่าขึ้นในทันทีทันใด

แน่นอน ผู้นำทุกคนรู้เรื่องทำนองนี้

พลเอกประยุทธ์เองก็ออกมาเน้นย้ำแทบทุกครั้งในรายการพบประชาชนของท่านว่า "ขอให้ประชาชนมีความเชื่อมั่น"

ที่จะปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ก็เพราะจะเรียกความเชื่อมั่นนั่นเอง

เร็วๆ นี้ เมื่อเกิดการเทขายหุ้นในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และเสินเจิ้น ทำให้หุ้นตกเป็นประวัติการณ์ และทำท่าจะเกิด Panic ใหญ่ จนถึงขึ้นที่จะทำให้ตลาดหุ้น Crash และดึงเอาเศรษฐกิจโดยรวมลงสู่หลุมดำ รัฐบาลจีนจึงได้ออกมาตรการแรงๆ หลายอย่าง นัยว่าเพื่อ สร้าง” และ "ฟื้นฟูความเชื่อมั่น" ให้กับนักลงทุน เพื่อให้เกิดความอุ่นใจว่ารัฐบาลจะไม่ทอดทิ้ง ไม่ยอมให้ราคาหุ้นไหลลงไปยิ่งกว่านี้

มาตรการเหล่านั้นรวมถึง การห้ามผู้ถือหุ้นใหญ่ขายหุ้น การห้าม Short Sell และตั้งกองทุนเพื่อพยุงราคาหุ้น เป็นต้น

ถ้ามองด้วยใจเป็นธรรม จะเห็นว่ามาตรการเหล่านี้ได้ผล อย่างน้อยก็ในระยะนี้ เพราะสามารถคงความเชื่อมั่นในหมู่นักลงทุนจีนให้เชื่อว่ารัฐบาลจะทำทุกวิถีทางเพื่อพยุงตลาดหุ้นเอาไว้

ลองย้อนไปเมื่อสมัยเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของโลก ราวๆ รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 สมัยนั้น คนงานในสหรัฐอเมริกาตกงานกันมาก ต้องเข้าคิวขอแบ่งปันอาหาร ธุรกิจเจ๊งระนาว และเกิดความสิ้นหวังไปทั่ว

Franklin D. Roosevelt ซึ่งเพิ่งชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดี ถึงกับกล่าวตอนหนึ่งในสุนทรพจน์ตอนรับตำแหน่งในปี 2476 ว่า "The only thing we have to fear is fear itself.” (สิ่งเดียวที่เราต้องกลัวก็คือตัวความกลัวนั่นเอง")

เขาและรัฐบาลของเขาพยายามทำทุกอย่างเพื่อเอาชนะความกลัวในใจของผู้คน

รัฐบาลของเขาสร้างความเชื่อมั่นโดยประกาศนโยบาย New Deal ที่มุ่งการสร้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจโดยโครงการของรัฐจำนวนมาก โดยรัฐเป็นผู้อัดฉีดเงินผ่านนโยบายการคลังอย่างมโหฬาร ตามแนวคิดของ John Maynard Keynes

อย่างที่รู้ๆ กันอยู่แล้วว่า แนวคิดของ Keynes นั้นแพร่หลายอย่างมากภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

รัฐบาลจำนวนมาก (รวมทั้งรัฐบาลไทยในยุคที่ผ่านๆ มาและยุคนี้ด้วย) มักกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการนำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมาใช้ โดยให้รัฐบาลกู้เงินมาอัดฉีดเข้าไปในระบบเศรษฐกิจผ่านโครงการต่างๆ

ทั้งนี้โดยความเชื่อใน "ตัวคูณ" หรือ "Multiplier” ที่เคนส์ว่าไว้ในหนังสือ The General Theory of Employment, Interest, and Money ของเขานั่นเอง

เคนส์อธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า เงินก้อนแรกที่รัฐบาลจ่ายออกไปผ่านโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบต่างๆ นั้น มันก็จะตกไปอยู่ในกระเป๋าประชาชน ซึ่งพวกเขาก็จะนำไปใช้จ่ายอีกทอดหนึ่ง

เงินที่รัฐบาลจ่ายถือเป็นการใช้จ่าย "ทอดแรก" ซึ่ง (มองในฝั่งคนรับย่อม) เป็น "รายได้" ของประชาชนจำนวนหนึ่ง ที่ได้รับมันไว้

พวกเขาเหล่านั้นย่อมใช้จ่ายเงินก้อนนั้นออกไปบางส่วน (ถือเป็นการใช้จ่าย "ทอดที่สอง") โดยเคนส์เรียกเงินส่วนนั้นว่า Marginal Propensity to Consume (MPC)

และในทำนองเดียวกัน รายจ่ายทอดที่สองนี้ย่อมเป็นรายได้ของคนอีกจำนวนหนึ่งที่ได้รับมันไปจากคนกลุ่มแรก โดยรับไปในจำนวนเท่ากับ MPC ซึ่งพวกเขาก็จะนำบางส่วนไปใช้จ่ายอีกทอดหนึ่ง (เป็นทอดที่สาม) และพวกที่ได้รับในทอดที่สาม ก็จะนำบางส่วนไปใช้จ่ายในทอดที่สี่ และที่ห้า ที่หก ที่เจ็ด ไปเรื่อยๆ จนทั่วทั้งระบบเศรฐกิจ (เขียนเป็นสูตรคณิตศาสตร์แบบง่ายๆ ของการใช้จ่ายแต่ละทอด และผลรวมของมันได้ว่า $1+$MPC+$MPC2+$MPC3+$MPC4.... = 1/(1-MPC) ซึ่งตัวนี้ เราเรียกในเวลาต่อมาว่า Keynesian Multiplier)

ดังนั้น เราจะเห็นว่าการประเดิมด้วยการใช้จ่ายก้อนแรกของรัฐบาล มันย่อมก่อให้เกิดแรงกระเพื่อม คือการใช้จ่ายโดยภาคประชาชนกันเองเลย ในทอดที่สอง ที่สาม ที่สี่ ที่ห้า และทอดต่อๆ ไป

นั่นคือเคล็ดลับของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยให้รัฐบาลประเดิมลงทุนหรือใช้จ่ายเงินอัดฉีดเข้าไปในระบบ เพื่อก่อให้เกิดผลทวีคูณที่จะตามมา

เห็นได้ชัดว่า "ตัวคูณ" นี้แหล่ะที่จะเป็น "ตัวเบิ้ล" ให้การกระตุ้นเศรษฐกิจสำเร็จมากหรือน้อยเพียงใด

ถ้าหากว่าตัวคูณสูง (หมายความว่า MPC มีค่าสูง คือประชาชนได้รับเงินมาเท่าใดก็นำออกไปใช้จ่ายเป็นสัดส่วนที่สูงในแต่ละทอด ไม่เก็บไว้กับตัวมากนัก) การอัดฉีดก้อนแรกจากรัฐบาลก็จะได้ผลดี

(ลองแทนค่าในสูตรคณิตศาสตร์ง่ายๆ ข้างต้นดูก็ได้ว่า ถ้า MPC มีค่าเท่ากับ 0.5 (หมายถึงประชาชนที่ได้รับเงินมา นำเอาออกมาใช้ในทอดต่อๆ มาเพียง 50%) ตัวคูณก็จะมีค่าเท่ากับ 2 แต่ถ้า MPC มีค่า 0.8 (หมายถึงประชาชนเอาเงินออกมาใช้ถึง 80%) ตัวคูณจะสูงขึ้นเท่ากับ 5 เป็นต้น)

ทว่า ในทางกลับกัน หากเรามองโดยใช้ตรรกะข้างต้นว่าในช่วง "ขาขึ้น" ตัวคูณย่อมทำหน้าที่เป็นตัวเบิ้ลหรือคานงัดให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น แต่ในช่วง "ขาลง" ตัวคูณก็ย่อมทำหน้าที่เบิ้ลหรือกระทืบให้เศรษฐกิจเตี้ยต่ำลงอย่างเป็นทวีคูณเช่นกัน

ยกตัวอย่างเช่นช่วงหุ้นตกมากๆ เพราะนักลงทุนเกิด Panic ต่างคนต่างแย่งกันขาย ตลาดย่อม Crash อุปมาเหมือนไฟไหม้โรงหนังแล้วคนดูกรูกันไปที่ประตู ก็อาจเกิดเหยียบกันตายได้

ดังนั้น แม้ตัวคูณจะมีคุณอนันต์แต่ก็มีโทษมหันต์เช่นเดียวกัน เพราะในช่วงขาลง มันอาจกลายเป็น Negative Multiplier ได้ ถ้าหยุดอารมณ์ความรู้สึกหวาดกลัว/ตกใจ/ตกตะลึง/วิตกกังวล ของผู้คนไว้ไม่ทัน

ตรงนี้แหละที่ "ความเชื่อมั่น" เข้ามามีบทบาทในทฤษฏีของเคนส์ ดังที่เขากล่าวไว้เองว่า

“With the confused psychology which often prevails, the Government programme may, through its effect on “confidence”, increase liquidity-preference or diminish the marginal efficiency of capital, which, again, may retard other investment unless measures are taken to offset it.” (อ้างจาก The General Theory of Employment, Interest, and Money”, 1st Edition, Macmillan and Co., Ltd., February 1936, หน้า 120)

และที่ชัดยิ่งขึ้นอีกว่า

“The state of long-term expectation, upon which our decisions are based, does not solely depend, therefore, on the most probable forecast we can make. It also depends on the confidence with which we make this forecast—on how highly we rate the likelihood of our best forecast turning out quite wrong. If we expect large changes but are very uncertain as to what precise form these changes will take, then our confidence will be weak.

The state of confidence, as they term it, is a matter to which practical men always pay the closest and most anxious attention. But economists have not analysed it carefully and have been content, as a rule, to discuss it in general terms. In particular it has not been made clear that its relevance to economic problems comes in through its important influence on the schedule of the marginal efficiency of capital. There are not two separate factors affecting the rate of investment, namely, the schedule of the marginal efficiency of capital and the state of confidence. The state of confidence is relevant because it is one of the major factors determining the former, which is the same thing as the investment demand-schedule.” (อ้างจาก The General Theory of Employment, Interest, and Money”, 1st Edition, Macmillan and Co., Ltd., February 1936, หน้า 148-149)

หน้าตาของความเชื่อมั่น

ความเชื่อมั่น" เป็นความรู้สึกที่อยู่เหนือเหตุผล เพราะมันเจือปนไปด้วย "ความเชื่อถือ" และ "ความไว้วางใจ" หรือ "ไว้เนื้อเชื่อใจ" ต่ออะไรสักอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นบุคคล คณะบุคคล คำพูด ภาพลักษณ์ การกระทำ หรือชุดความคิด นโยบาย มาตรการ หรือโครงการ ฯลฯ

ความหมายของ Confidence ในปทานุกรมภาษาอังกฤษคือ Trust หรือ Full Believe ซึ่งแปลว่า ความไว้วางใจ และ เชื่อแบบเต็มร้อย

คำๆ นี้ มีรากศัพท์มาจากคำภาษาละตินว่า fido แปลว่า I trust หรือ ฉันไว้ใจ ซึ่งความหมายของมันใกล้เคียงกับคำว่า Credit ที่มาจากรากละติน Credo แปลว่า I believe (ฉันเชื่อ)

วิกฤติของความเชื่อมั่น มักมาพร้อมกับวิกฤติของเครดิต

มิน่าเล่า สถาบันการเงินถึงไม่ยอมปล่อยกู้ในภาวะอึมครึมแบบปัจจุบัน

การวิเคราะห์เจาะลึกถึงความหมาย ที่มาที่ไป และ Anatomy ของ ความเชื่อมั่น ย่อมช่วยให้เรารู้ว่า เราจะสร้างความเชื่อมั่นขึ้นมาได้อย่างไร ถ้าเราเป็นผู้นำ

แน่นอน การจะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในใจประชาชน ต้องเริ่มจากการพูดความจริง และเอาความจริงมาพูด ว่าตอนนี้สถานการณ์โลกเป็นอย่างไร คู่ค้าของเราแย่ยังไง และสถานการณ์โลกนั้นมันจะ Play กับจุดอ่อนและจุดแข็งของเราอย่างไร

เสร็จแล้วค่อยกลับมาดูว่าเรามีทรัพยากรอะไรหรือมีไพ่ใบไหนที่ยังพอจะเล่นได้ และรัฐบาลจะสร้างโครงการเสริมเพื่อกระตุ้นตรงไหน โดยในหกมาตรการนี้มันจะสร้างผลสะเทือนหรือ Impact ตรงไหนอย่างไร และจะสร้างตัวคูณตลอดจนผลตามมาอย่างไร ใครจะได้ ใครจะเสีย โดยรัฐบาลจะมีมาตรการป้องกันหรือเยียวยากลุ่มที่จะเสียผลประโยชน์อย่างไร

ทั้งหมดนี้จะต้องทำภายใต้ผู้นำที่มีความมุ่งมั่น พูดจริงทำจริง และนำพร้อมกับขอร้องให้ทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันเป็นหนึ่ง เพื่อสร้างสรรค์อนาคตร่วมกัน ให้ผลลัพธ์เป็นไปดังที่หวังไว้ สามารถฝ่าวิกฤติและสร้างการเติบโตและรายได้ได้จริง

ขั้นตอนสำคัญต่อมาคือขั้นลงมือปฏิบัติ ซึ่งรัฐบาลจะต้องแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่พูดหรือวางแผนมานั้น รัฐบาลได้ลงมือทำจริง

ประชาชนจะต้องเห็นผู้นำที่ถลกแขนเสื้อ ลงพื้นที่ ตอกเสาเข็ม และ Kick-off โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจทุกอันที่วางแผนไว้

เช่นถ้ารัฐบาลประกาศว่าจะกระตุ้นโดยโครงการก่อสร้างภาครัฐ ทั้งรถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน รถไฟรางคู่ หรือโครงการน้ำ ประชาชนจำต้องเห็นความคืบหน้าโดยเร็ว คือต้องเห็นการตอกเสาเข็ม การสำรวจราง การเวนคืนที่ดิน ฯลฯ โดยเร็ว

เพราะถ้าพวกเขาเห็นประจักษ์แล้วว่ารัฐบาลเอาจริง พวกที่เป็นนักธุรกิจก็จะเริ่มขยับ เช่น บรรดากิจการอสังหาริมทรัพย์ก็จะเริ่มมองหาที่ดินตามแนวรถไฟ ออกแบบโครงการก่อสร้างที่พักอาศัย หรือผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับวัสดุก่อสร้างก็อาจจะเพิ่มกำลังผลิตเพื่อรองรับโครงการของรัฐบาลและการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งการจ้างงานก็จะเริ่มกระเตื้องขึ้น เป็นต้น

อีกทางหนึ่ง ข้าราชการทุกภาคส่วนที่สัมผัสกับประชาชนกลุ่มต่างๆ ต้องสามารถสร้าง Trust ให้เกิดขึ้นต่อประชาชนกลุ่มนั้นๆ ให้ได้ ทั้งนี้โดยการรับฟังปัญหาของเขาอย่างอดทนและลงลึก เพื่อหาทางเยียวยาและช่วยเหลือบรรเทาในกรณีที่ทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในภาคเกษตรกรรม ต้องมีความร่วมมือในทุกกลุ่มพืชผลและสัตว์เลี้ยง เช่น กลุ่มชาวนา ชาวสวนที่ปลูกพืชแต่ละชนิด จะต้องได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างไร หากแผนการกระตุ้นไม่เป็นไปดังคาด

ทางด้านธุรกิจเอกชนก็เช่นเดียวกัน หน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะสถาบันการเงินภาครัฐ จะต้องทำตัวเป็นหัวหอก ทำการปล่อยสินเชื่อและหามาตรการเคลื่อนทุนอย่างสร้างสรรค์ไปให้กับภาคเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ เพื่อจุดประกายให้สถาบันการเงินภาคเอกชนเกิดความเชื่อมั่นแล้วทำตาม

ทางด้านการแข่งขันและความยุติธรรมในแต่ละอุตสาหกรรมนั้น รัฐบาลต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด มิให้ผู้ประกอบการรายใดหรือกลุ่มใดมีอำนาจเหนือตลาด ทำการผูกขาดตัดตอนหรือกีดกันคู่แข่งขันที่อ่อนแอกว่าด้วยอำนาจเหนือตลาดของตน ต้องทำลายและป้องกันการ "กินรวบ" โดยคนจำนวนหยิบมือ

คนผิดต้องถูกนำมาลงโทษโดยเร็ว

การคิดถึงหัวอกของคนทุกกลุ่มที่ร่วมสร้างรายได้และความมั่งคั่งให้กับส่วนรวมเป็นเรื่องจำเป็นและถือเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญในอันดับต้น

ระบบการ "กินแบ่ง" อย่างสมน้ำสมเนื้อ เพื่อมีส่วนกับความสำเร็จที่จะได้รับ ย่อมทำให้ทุกคนรู้สึกถึงความเป็นธรรมและจะช่วยเขม็งเกลียวให้ความไว้เนื้อเชื่อใจกันในสังคมแน่นแฟ้นขึ้นอย่างแน่นอน

ท่องให้ขึ้นใจเลยว่า ไม่มีใครอยากได้เศษเนื้อและเศษสตางค์แล้วในยุคนี้

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
6 สิงหาคม 2558


บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA
หมายเหตุ: ความคิดในการเรียบเรียงท่อนแรกของต้นฉบับของบทความนี้ได้อ้างอิงมาจากเนื้อหาของบทที่ 1 ของหนังสือชื่อ Animal Spirits: How Human Psychology Drives the Economy, and Why It Matters for Global Capitalism เขียนโดย Robert Shiller และ George Akerlof


ภาพเปิดก็อปปี้มาจากไทยรัฐ www.thairat.co.th 

ผู้เขียนขอขอบคุณเป็นอย่างสูง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น