วันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2553

Blog สายล่อฟ้า ของ Paul Krugman


ข้อเขียนชุด "แนะนำ Blog การเงิน" ลำดับที่ 3

แฟนๆ MBA คงเห็นว่าเราได้เล่นเรื่อง Hyperinflation มาระยะหนึ่งแล้ว ตั้งแต่ไปสัมภาษณ์ Marc Faber แล้วก็ลงบทความเกี่ยวกับ Tulipmania และ South Sea Bubble อีกทั้งยังแนะนำ Blog ของ Jim Rogers ไปเมื่อเดือนที่ผ่านมา

เหล่านี้ ล้วนตั้งอยู่บนความเห็นที่เป็นห่วงว่า การเพิ่ม Money Supply อย่างไม่จำกัดของ FED จะทำให้เกิดวิกฤติเงินเฟ้ออย่างแรงเข้าสักวันหนึ่ง

ความเห็นแบบนี้ ย่อมยืนอยู่ฝั่งฟากตรงข้ามกับนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ที่ยังเป็นห่วงในเรื่องอัตราการว่างงาน และเชื่อว่ารัฐบาลจะต้องอัดฉีดงบประมาณให้มากกว่าที่เป็นอยู่

เดี๋ยวจะหาว่า พวกเราถือหางบรรดา Contrarian ทั้งหลายแบบเทใจให้ร้อยเปอร์เซนต์ ฉบับนี้ Blogger จึงอยากให้ผู้อ่านหันมาติดตามความเห็นของ Paul Krugman ซึ่งถือเป็น "หัวขบวน" คนสำคัญของความคิดกระแสหลักที่รวมถึงผู้กุมนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ด้วย เพื่อจะช่วยให้เราเข้าใจและอ่านเกม MarcroTrend ได้แม่นยำขึ้นในยุคที่อะไรๆ ก็ไม่แน่นอน และเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเร็วมากๆ ดังเช่นปัจจุบัน

อันที่จริง MBA ได้ติดตามเอาความคิดของ Krugman มาเผยแพร่ตลอดมานับแต่แรกตั้ง หรือตั้งแต่ Krugman ยังไม่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์

Krugman นั้น ดังขึ้นมาในหมู่คนเอเชียเพราะเขาวิจารณ์ Asia Miracle สมัยโน้น (ก่อนวิกฤติต้นยำกุ้ง) ว่าเป็นของปลอม เพราะเป็นการเติบโตที่ใส่แรงงานราคาถูกเข้าไปในระบบการผลิต หาได้เกิดจากการสร้างหรือเพิ่ม Productivity อันพึงปรารถณาไม่

เขาหยิบยืนงานวิจัยนั้นมาจาก Alwyn Young อีกทอดหนึ่ง แต่งานนั้นก็ทำให้เขาเป็นที่รู้จักทั่วโลก

ยิ่งมาเกิดวิกฤติเศรษฐกิจด้วยแล้ว คนยิ่งเห็นว่าเขาทำนายแม่น แถมมหาเธย์แห่งมาเลเซียดันประกาศนโยบาย Capital Control ตามที่เขาเสนอไว้ก่อนหน้านั้น ก็ยิ่งช่วยให้ชื่อเสียงของเขาระเบิดระเบ้อ ไปกันใหญ่

Krugman เป็นคนเขียนหนังสือสนุก ปากกล้า และปากกาคมกริบ คิดยังไงเขียนยังงั้น ด่าใครก็ด่าแรงเลย จุดแข็งของเขาคือการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายและพฤติกรรมเชิงเศรษฐกิจของรัฐบาล..สมัยโน้น เขาถูกจัดเป็นฝ่ายตรงข้ามและเป็นนักเศรษฐศาสตร์กระแสรอง

ก่อนได้รับรางวัลโนเบลไม่นานนัก เขาเคยมาเมืองไทยครั้งหนึ่ง คุณสมพงษ์ สุวรรณจิตกุล ซึ่งเป็นคนดูแลเขาระหว่างนั้น เล่าให้ Blogger ฟังว่าตัวจริงของ Krugman เป็นคนสุภาพมาก พูดน้อย และค่อนข้างซีเรียส

ตอนนั้น Blogger ฝากให้คุณสมพงษ์ถามเขาว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เอเชียจะรวมตัวกันสร้างระบบการเงินของตนเองขึ้นมาเหมือนยุโรปเพื่อลดความเสี่ยงหากเกิดอะไรขึ้นใน Dollar Zone เขาได้แสดงความไม่เห็นด้วย

นั่นแสดงว่า เขาได้กลายเป็นพวกกระแสหลักไปเสียแล้ว หรือยังไงๆ เขาก็ยังคงเป็นตัวแทนความเห็นของ American Elite อยู่นั่นเอง

ยิ่งรัฐบาลขณะนี้ เน้นเข้าแทรกแซงระบบเศรษฐกิจด้วยการอัดฉีดงบประมาณจำนวนมหาศาล เขาก็ยิ่งสนับสนุน เพราะเขาเป็น Keynesian

ปัจจุบัน เขาเป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญต่อแนวนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐฯ และ FED เขาเป็นหัวขบวนที่ Push ให้กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ต้องเพิ่มการอัดฉีดให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะเขาคิดว่าการทำครึ่งๆ กลางๆ จะทำให้เกิดผลเสีย แม้ในทางการเมืองจะเริ่มมีคนออกมาต้านมากขึ้นเรื่อยๆ แต่กระนั้น ก็ใช่ว่าเขาจะรักพวก Wall Street เพราะเขาด่าแบบสาดเสียเทเสียเสมอมา

ระยะหลัง Agenda ของเขาคือการเล่นงานจีน เขาต้องการให้รัฐบาลสหรัฐฯ กดดันรัฐบาลจีนให้เพิ่มค่าเงินหยวนเมื่อเทียบกับดอลล่าร์ เพื่อปรับ Global Imbalance นอกจากนั้น ยังมีเรื่อง Healthcare และอื่นๆ ที่เป็นประเด็นภายในประเทศสหรัฐฯ เอง

เขาเขียนคอลัมน์ประจำมาแล้วทั้งที่ Slate, Fortune, และมาจบที่ New York Times ซึ่งยังเขียน Op-Ed อยู่จนทุกวันนี้

งานของเขาอ่านง่าย ไม่ใช้ศัพท์แสงซับซ้อน และเนื่องจากเขาได้กลายเป็น "สายล่อฟ้า" ให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ ไปแล้ว การอ่านความเห็นของเขาจึงจำเป็น สำหรับผู้ที่ต้องการจะมองเห็นอนาคต

คลิก http://krugman.blogs.nytimes.com/


ข้อเขียนนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนมีนาคม ๒๕๕๓ ภายใต้นามปากกา Blogger


**โปรดคลิกอ่านเรื่องเกี่ยวกับ Paul Krugman ที่ผมเขียนได้ตามลิงก์ข้างล่างครับ 


***แผนถล่มจีนของครุกแมน



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น