วันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2553

Patient Capital การเงินเพื่อลดช่องว่าง


ข้อเขียนชุด "แนะนำ Blog การเงิน" ลำดับที่ 5



ผ่านพ้นไปอีกยกหนึ่งแล้ว สำหรับการต่อสู้ของฝ่าย "Have" กับ "Have Not"

Blogger ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับความสูญเสียของทุกฝ่าย และก็หวังว่าการต่อสู้ในยกต่อไปจะไม่รุนแรง โดยจะให้ดีก็ต้องสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันเปลี่ยนแปลงสังคมไปในเชิงสร้างสรรค์ และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ได้ด้วยวิธีสันติ เฉกเช่นสังคมที่มีความซิวิไลซ์ทั้งหลายบนพื้นโลกใบนี้

และด้วยพื้นที่อันน้อยนิดในคอลัมน์นี้ Blogger ขออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับด้วยข้อเขียนเรื่อง Patient Capital ด้วยหวังว่ามันจะสามารถเชื่อมช่องว่างระหว่าง Have กับ Have Not และระหว่าง "นายทุน" กับ "ผู้ไร้ทุน" ด้วยความเข้าใจอันดีต่อกันได้บ้างในอนาคต......

ผู้อ่านหลายท่านคงพอรู้จัก Patient Capital กันบ้างแล้ว ว่ามันเป็นรูปแบบหนึ่งของ Venture Capital ซึ่งไประดมทุนจากผู้ที่มีเงินเหลือใช้ มารวมเอาไว้เป็นกองกลาง แล้วให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าไปจัดการแบ่งเงินออกเป็นหลายก้อน เพื่อลงทุนไปกับกิจการที่ต้องการเงิน (ขาดเงิน) โดยหวังว่าจะทำกำไรจากการลงทุนเหล่านั้น เมื่อกิจการที่เข้าไปลงทุนนั้นตั้งตัวได้ หรือทำกำไรได้ดีในอนาคต

Venture Capital ได้เครดิตมากจาก Silicon Valley ที่ได้เคยเป็นแหล่งเงินทุนคอยอุ้มชูคนอย่าง Bill Gate, Steve Jobs, Jeff Bezos, และ ฯลฯ จากที่เคยเป็น "เด็กไร้ทุนหัวดี" ผู้หนึ่ง ให้สามารถแทรกตัวขึ้นมายืนแถวเดียวกับบรรดาเจ้าของกิจการยักษ์ใหญ่ได้

แต่ Venture Capital ก็ยังคงถูกขับเคลื่อนด้วยผลตอบแทนเฉพาะหน้าอยู่ดี จึงยังไม่สามารถลงไปถึงรากหญ้าได้

กิจการเล็กกิจการน้อย ของคนเล็กคนน้อย ตามหมู่บ้านเล็กหมู่บ้านน้อย ที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ห่างไกลจากความเจริญ หรือแอบซ่อนอยู่ตามซอกเล็กซอยน้อยของเมืองใหญ่ ที่ C.K. Prahalad เรียกว่า "At the bottom of the Pyramid" นั้น คงยังถูกทอดทิ้ง ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้โดยสะดวก เท่าที่ควรจะเป็น ทั้งที่เงินทุนในโลกนี้มีเหลือเก็บอยู่มากมายมหาศาล และหมุนไปมาทุกวันวันละหลายล้านล้านบาท

Blogger จึงขอก้มหัวให้คนอย่าง Mohammad Yunus และองค์กรพัฒนาเอกชนจำนวนมาก ที่ทำงานช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่คนรากหญ้า

แนวคิดเรื่อง Microfinance ของด็อกเตอร์ยูนูส นอกจากจะเป็นแรงบันดาลใจในหมู่นักพัฒนาด้วยกันเองแล้ว ยังเปล่งประกายออกสู่นอกแวดวงดังกล่าว ทะลุทะลวงเข้าสู่แวดวงธุรกิจ รัฐบาล นักเศรษฐศาสตร์ สื่อมวลชนกระแสหลัก Philanthropist และที่สำคัญคือ "นักการเงินที่มีจิตสำนึก" หรือถ้าจะพูดให้ถึงกึ๋นก็คือ "นักการเงินที่มีรูปการณ์จิตสำนึกแบบคนรากหญ้า"

คนเหล่านี้ เริ่มคิดหา Venture Capital Model ใหม่ และ Business Model ใหม่ ที่จะเป็นช่องทางผ่านเงินจากกองเงินที่เหลือใช้ให้ไหลไปสู่รากหญ้า โดยไม่ต้องผ่านช่องทางของรัฐ

นั่นแหละสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า Patient Capital

กองทุนเหล่านี้จะลงทุนในพื้นที่ยากจนจริงๆ เช่นอาฟริกา และเอเชีย และดำเนินการโดยอดีตนักการเงินที่เคยผ่านงานเอ็นจีโอสนามมาก่อน

นับเป็นทางเลือกทางอาชีพให้กับคนรุ่นใหม่ที่ได้รับการฝึกฝนมาทางด้านธุรกิจ MBA หรือเศรษฐศาสตร์ ให้ได้เลือกดำเนินชีวิตไปบนทางสายรองที่มีอุดมคติเป็นเดิมพัน มิใช่ต้อง Get-rich-quick แล้วก็ Early Retired แต่เพียง Track เดียวเหมือนแต่ก่อน

Blogger ขอแนะนำ Acumen Fund Blog (http://blog.acumenfund.org/author/jnovogratz/) ของ Jacqueline Novogratz ซึ่งเป็น Patient Capitalist คนสำคัญ

งานของ Novogratz ได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่มาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ Chris Anderson สามีจอม Hip ของเธอ ที่เป็นเจ้าของ TED Conference อันโด่งดังในหมู่คนรุ่นใหม่ที่ถือตัวว่าหัวก้าวหน้าทุกคนบนโลกใบนี้
 
ข้อเขียนนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนเมษายน ๒๕๕๓ ภายใต้นามปากกา Blogger


หมายเหตุ: คลิกอ่านบทความการเงินเพื่อลดช่องว่างได้ตามลิงก์ข้างล่าง


***กระแสสำนึกแห่งนายธนาคารแห่งอนาคต


และบทความแนะนำ Blog การเงินที่เด่นๆ:


****Greg Mankiw บล็อกเศรษฐกิจ No.1



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น